วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

Terrorism...อย่างไรจึงเรียกว่าการก่อการร้าย?



คำว่า”การก่อการร้าย”และ”ผู้ก่อการร้าย”คือคำที่เราคุ้นเคยกันดีในสื่อต่างๆ และได้ยินคำพูดทำนองนี้หนาหูขึ้นหลังเหตุการณ์9/11เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชแห่งสหรัฐประกาศสงครามกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายสากล ที่พุ่งเป้าไปยังสหรัฐและประชาชนชาวอเมริกันทั่วโลก ทำให้เข้าใจได้ว่าการก่อการร้ายนั้นจำกัดอยู่แค่การขับเครื่องบินชนตึก หรือจับผู้บริสุทธิ์ไว้เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับทางการให้บรรลุผลทางการเมืองกระนั้น? ในความเป็นจริงแล้วความหมายของคำว่า”การก่อการร้าย”(Terrorism)นั้นค่อนข้างกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้อาวุธเข้าข่มขู่ แต่ยังรวมถึงกิจกรรมทั้งปวงที่ก่อเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ,สังคมและขวัญของชนในชาติด้วย
คำว่าการก่อการร้ายในความหมายสากล คือการใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมืออย่างเป็นระบบให้บรรลุผลทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับสากล การก่อการร้ายยังกินความหมายถึงความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และมุ่งสร้างผลกระทบต่อเป้าหมายโดยไม่นำพาต่อความปลอดภัยของพลเรือน ในบางความหมายยังกินกว้างถึงการกระทำอันผิดกฎหมายและก่อเกิดสงคราม
ในปี1988 กองทัพบกสหรัฐฯซึ่งทำงานต่อต้านการก่อการร้ายอยู่แล้วทั่วโลก ได้รวบรวมสถิติพบว่ามีความหมายของ”การก่อการร้าย”มากถึง100กว่าความหมาย ไม่ว่าจะกระทำการร้ายด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อการร้ายจะต้องถูกเรียกว่า”ผู้ก่อการร้าย”(Terrorist)
น่าสังเกตว่าการก่อการร้ายนั้นถูกใช้สร้างผลกระทบในองค์กรทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองจดทะเบียน หรือเป็นกลุ่มการเมืองอิสระได้รับการสนับสนุนจากในหรือนอกประเทศ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หรือแม้แต่กลุ่มการเมืองที่รวมตัวกันเรียกร้องผลประโยชน์ ต่างมีสิทธิ์ก่อการร้ายได้เท่ากันถ้าผลทางการเมืองที่ตนปรารถนาไม่สามารถบรรลุได้ด้วยวิธีปกติ เช่นการประท้วงอย่างสันติ,การยื่นหนังสือประท้วง หรือด้วยการดำเนินนโยบายของรัฐตามกฎหมาย
ตามความหมายกว้างๆของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ คำจำกัดความของคำว่า”ก่อการร้าย”คือ “การใช้มาตรการความรุนแรงอันถูกไตร่ตรองไว้ก่อน หรือใช้ความรุนแรงผิดกฎหมายให้เกิดความหวาดกลัว ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อบีบบังคับหรือข่มขู่รัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายทั้งทางการเมือง ศาสนาและลัทธิความเชื่อของกลุ่มก่อการ”
ส่วนที่ว่าดำเนินกิจการอย่างไรจึงจะเข้าข่ายว่า”ก่อการร้าย” จากความหมายกว่า100ความหมาย ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯสรุปใจความได้เป็นหัวข้อย่อยพอสังเขปได้ดังนี้
ใช้ความรุนแรง : คุณลักษณะหลักๆของการก่อการร้ายที่ยอมรับกันในสากลคือต้องมีความรุนแรง และการคุกคามว่าจะทำให้เกิดความรุนแรง โดยต้องหวังให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ดังนั้นแค่ความรุนแรงอย่างเดียวอาจไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย เพราะยังต้องรวมเอากิจกรรมอีกหลายอย่างเพื่อให้เข้าข่าย เช่นก่อสงครามกลางเมือง ก่อการจลาจล(ม็อบ) ก่ออาชญากรรมหรือการทำร้ายร่างกายธรรมดา แม้แต่ยั่วยุให้ฝ่ายรัฐบาลเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรงก็เข้าข่ายก่อการร้าย เพราะมีความปรารถนาให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง การทำลายอาคารสถานที่ยังถือว่าเป็นอาชญากรรมตามปกติ แต่เมื่อใดที่การทำลายอาคารสถานที่นั้นถูกกระทำโดยกลุ่มบุคคลมีชื่อเรียกแน่ชัดและหวังผลทางการเมือง จะเข้าข่ายก่อการร้ายทันที
สร้างผลกระทบด้านจิตใจ ก่อความหวาดกลัว : การทำร้ายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเมื่อต้องการก่อการร้าย มุ่งเพิ่มผลของความเสียหายที่ไม่ได้กระทบเพียงสิ่งของอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอีกยาวนานด้วย การวางระเบิด ปิดสี่แยก ยึดสนามบิน ทำให้จราจรติดขัดหรือกระทำการใดก็ตามที่ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกไม่มั่นใจในการสัญจรหรือดำเนินชีวิตประจำวัน ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนจนเศรษฐกิจชาติเสียหายอย่างรุนแรง ใช้ความวิบัตินั้นบีบบังคับรัฐบาลให้ดำเนินกิจกรรมตามที่ตนต้องการ การกระทำนั้นถูกจัดเข้าอยู่ในประเภทของการก่อการร้าย
กระทำการผิดกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง : สิ่งที่มีเหมือนกันหมดในหมู่ผู้ก่อการร้าย คือการสร้างหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพื่อบรรลุผล เป็นการทำผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดความหวาดหวั่น สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้ไม่เห็นด้วยให้เข้ามาเป็นพวกเพราะความหวาดหวั่น หวังผลประโยชน์บางอย่างที่คิดว่ากลุ่มก่อการร้ายจะหยิบยื่นให้ หรืออย่างน้อยก็ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเข้าเป็นพวก
การก่อการร้ายจึงเป็นยุทธวิธีเพื่อให้กลุ่มอำนาจบรรลุผลทางการเมือง มันต่างกันชัดเจนจากการประณามด้วยจดหมายหรือประท้วง ผู้ก่อการเลือกวิธีดังกล่าวเพราะไม่เชื่อว่าวิธีอื่นจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับวิธีนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วคือการมุ่งผลแพ้ชนะมากกว่าสนใจในสวัสดิภาพของผู้ถูกดึงเข้าร่วมหรือฝ่ายปราบปราม
จงใจใช้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นเหยื่อ : จุดเด่นหรือธรรมชาติของการก่อการร้าย คือ”ความจงใจ”เลือกพลเรือนผู้หลงเชื่อและปราศจากอาวุธเป็นเป้า ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็ก สตรีหรือคนแก่ ไม่ว่าจะใช้เป็นเป้าทำลายหรือใช้เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ตนแอบแฝง
เมื่อเกิดเหตุให้ถึงเลือดตกยางออกหรือความรุนแรงขึ้นจะใช้เป้าเหล่านั้นเป็นเหยื่อเรียกร้องความชอบธรรม เป็นการส่งสัญญาณบอกผู้คนวงนอกกลายๆว่าเพราะอำนาจรัฐไม่ยอมตามความต้องการของตนจึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ยิ่งถ้าเอาความขัดแย้งด้านการเมืองไปโยงเข้ากับศาสนา ความเสียหายของพลเรือนจะแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง กลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาขยายวงออกไปมากกว่าแค่เป็นความขัดแย้งภายในประเทศ ลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆที่มีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกัน
ซ่อนพรางกิจกรรมและตัวตนที่แท้จริง : ผู้ก่อการร้ายมักจะแสร้งหรือพรางตัวเป็นพลเรือนปราศจากอาวุธ ซ่อนตัวหรืออยู่ในวงล้อมของผู้ไร้อาวุธ ต่อสู้ออกมาจากท่ามกลางวงล้อมแห่งโล่มนุษย์นั้น พอสบโอกาสก็จะชี้นำหรือยั่วยุให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายหรือทหารโจมตีเป้าหมายผิดซึ่งก็ไม่พ้นประชาชนผู้บริสุทธิ์
ผลก็คือรัฐบาลจะถูกต่อต้าน ถูกประณามทั้งในประเทศและบนเวทีโลกว่ากระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รัฐมนตรีลาออก,ยุบสภาไปจนถึงเกิดกลียุคบ้านเมืองไร้ขื่อแป แต่การต่อสู้จากวงล้อมของโล่มนุษย์นั้นต้องคลุมเครือไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เมื่อสามารถระบุตัวได้คำว่า”ก่อการร้าย”จะถูกใช้น้อยมาก
ดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำจำกัดความของการก่อการร้ายว่าต้องทำการโดยผิดกฎหมายเท่านั้น เพื่อแยกออกจากการกระทำที่เกิดจากรัฐบาลและถูกกฎหมาย เป็นไปได้ตั้งแต่ตัดน้ำ,ไฟ,บุกรุกสถานที่ราชการ,ทำให้เกิดเสียงดังจนประชาชนธรรมดาไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข มีกองกำลังติดอาวุธของตนเองเพื่อใช้ข่มขู่รัฐบาลและประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเพื่อข่มขู่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยกลับข้างมาเข้าพวก
แต่ถ้าหากกิจกรรมดังกล่าวกระทำโดยกลไกของรัฐเพื่อปราบปรามหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จะไม่ถือว่าเป็นการก่อการร้าย เช่นตำรวจตัดน้ำตัดไฟอาคารเป้าหมายที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึด แต่หากกิจกรรมดังกล่าวสลับข้างกันมันจะถูกจัดให้เป็นการก่อการร้ายทันที เพราะจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่และก่อเกิดความหวาดกลัว เช่นการยึดอาคารสถานที่ราชการ ยึดโรงไฟฟ้า ประปา ศูนย์การคมนาคมฯลฯ แล้วเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามความต้องการทางการเมืองของตน
โดยสรุปการก่อการร้ายจึงต่างจากการก่ออาชญากรรมธรรมดาชัดเจน มีเครื่องแบ่งแยกชัดเจนคือต้องหวังผลทางการเมือง เมื่อใดที่บุคคลหนึ่งเอามีดจี้คอใครสักคนแล้วบอกคนอื่นๆว่าต้องการแค่ค่าไถ่ชีวิตไม่งั้นจะฆ่า จะถือว่ากิจกรรมนั้นเป็นความผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าหรือเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อใดที่เขาเอามีดจี้คอใครอีกคนแล้วบอกให้ปล่อยนักโทษการเมืองหรือผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกันจากที่คุมขัง หรือเอาชีวิตคนถูกจี้แลกกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นให้รัฐเข้ามาประกันราคาข้าวหรือต้องการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทั้งคณะหรือคนหนึ่งคนใดลาออก เมื่อนั้นคนถือมีดคือ”ผู้ก่อการร้าย” และสิ่งที่เขาทำก็คือ”การก่อการร้าย” เพราะใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง
เมื่อการก่อการร้ายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นการทำผิดคดีอาญา จึงไม่มีรัฐบาลที่ไหนเจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้ายนอกจากจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ใช้มาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นเข้าจัดการตั้งแต่ละมุนละม่อมไปจนถึงการใช้กำลังขั้นเด็ดขาด เมื่อรัฐเล็งเห็นแล้วว่าการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ ทำให้ประชาชนหวาดหวั่นในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำลายความเชื่อมั่นของชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนและมีความสัมพันธ์ทางการทูต
เขียนอธิบายมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกโล่งใจมากๆครับ ที่พฤติกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯซึ่งเพิ่งหยุดลงนี้ไม่เข้าข่ายการก่อการร้ายเลย”แม้แต่ข้อเดียว”!

2 ความคิดเห็น:

  1. แสดงว่าพฤติกรรมของกลุ่มนปช.ก็ไม่เป็นการก่อการร้ายด้วยใช่ไหมครับ ดีจัง

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช30 มีนาคม 2552 เวลา 07:47

    ที่จริงทั้งพันธมิตรและนปกมันก็เลวทั้งคู่ ผมเขียนแดกๆว่าไม่ใช่การก่อการร้ายไปงั้นเอง คนที่มีวิจารณญาณอ่านแล้วจะเข้าใจครับ

    ตอบลบ