วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยือนถ้ำสิงห์บิน(1)


ถ้าชื่อหัวเรื่อง”เยือนถ้ำสิงห์บิน”ที่ผมเขียนไว้นี้อาจทำให้แฟนคอลัมน์สับสน ผมก็ขออธิบายได้ว่า”สิงห์บิน”นั่นไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่ไหน นอกจากสัตว์ในเทพนิยายกรีกที่มีตัวเป็นสิงโตและมีปีกอย่างนกอินทรีชื่อกริฟฟิน(Griffin),กริฟฟอน(Griffon) หรือในภาษาสวีดิชคือ”Gripen”ชื่อเดียวกับเครื่องบินขับไล่ที่กำลังจะเข้าประจำการในกองทัพอากาศของเราพร้อมกับระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการ อันประกอบไปด้วยสถานีเรดาร์ เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศSAAB340”อีรีอาย”(Irieye)และตัวเครื่องบินขับไล่JAS39กริพเพนรุ่นซีและดีรวม12ลำ

และการเยือนถ้ำสิงห์บินดังกล่าวนี้ จริงๆแล้วก็คือการติดตามคณะของผู้บัญชาการทหารอากาศไปยังประเทศสวีเดน เพื่อตรวจเยี่ยมและประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการร่วมไทย-สวีเดน ในโครงการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนระหว่างวันที่15-22สิงหาคม เป็นการประชุมร่วมของคณะกรรมการร่วมไทย-สวีเดนทุกระดับรวมสามระดับคือ1.ระดับรัฐบาล มีผ....เป็นผู้แทนฝ่ายไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.ระดับกองทัพมีเสนาธิการทหารอากาศเป็นหัวหน้าคณะ และ 3.ระดับผู้ปฏิบัติงานมีเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศเป็นหัวหน้าคณะ สรุปคือเป็นการประชุมตั้งแต่ระดับสูงลงมาถึงระดับปฏิบัติการ ด้วยจุดประสงค์คือเพื่อให้ทั้งไทยและสวีเดนได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการพีซ สุวรรณภูมิ(Peace Suvarnabhumi) ชื่อเป็นทางการของโครงการจัดหาระบบเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์กริพเพน

นอกจากนี้ก็คือการเยี่ยมชมศูนย์จำลองการบินกองทัพอากาศ เยี่ยมชมกองบิน7ของสวีเดนที่มณฑลสคาราบอร์ก(Skaraborg)ซึ่งเป็นทั้งศูนย์ฝึกนักบินกริพเพน และเป็นฐานทัพอากาศหลักของเครื่องบินลำเลียงC-130”เฮอร์คิวลิส”ของสวีเดน และเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินกริพเพนที่เมืองลินเชอปิง

ก่อนจะเข้าถึงเรื่องราวของศูนย์จำลองการบินและกองบิน7 ความคิดหนึ่งที่ผมได้จากการมาสัมผัสถึงแหล่งกำเนิดของกริพเพนคือสวีเดนเป็นประเทศเล็ก คนน้อยแค่เก้าล้านสี่แสนคน ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ร้านอาหารหลายแห่งมีบริกรไม่มากและบางร้านพ่อครัวต้องเสิร์ฟเอง โรงแรมระดับ4ดาวไม่มีพนักงานยกกระเป๋าแต่ได้ทำระบบลิฟต์และประตูให้เปิดปิดอัตโนมัติเข้าถึงได้ง่าย ห้องพักใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว เมื่อเขาต้องใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่า หลักคิดนี้จึงสะท้อนออกมาในวิธีการสร้างยุทโธปกรณ์ด้วยคือมันต้องใช้บุคคลากรเพื่อปรนนิบัติน้อย ใช้เครื่องมือง่ายๆ ใช้เวลาทำงานสั้น

หลักการคิดแบบสวีเดนได้สะท้อนให้เห็นชัดในวิธีการป้องกันประเทศของเขา เครื่องบินรบสัญชาติสวีดิชได้ถูกพัฒนาให้ราคาไม่แพงแต่ประสิทธิภาพสูง ง่ายต่อการบำรุงรักษาตลอดมาตั้งแต่เครื่องบินขับไล่รุ่นแรกคือซาบ21อาร์ จนถึงซาบเอเจ37วิกเกนเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นรุ่นพี่ของยาส39กริพเพน อันเป็นไปตามหลักยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันน่านฟ้าของสวีเดนเท่านั้นไม่ใช่รุกราน เครื่องบินขับไล่สวีเดนจึงบินไม่ต้องไกลมาก บรรทุกอาวุธทั้งจรวดและกระสุนได้พอเหมาะแต่เน้นที่ความคล่องตัวสูง เน้นความรู้เท่าทันสถานการณ์(situation awareness)เพื่อให้นักบินคงความอยู่รอดได้สูงในยุทธเวหา

พอคนน้อย ของน้อย ก็ต้องคิดกันให้หนักว่าทำอย่างไรถึงจะใช้งบที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ผลก็เลยออกมาที่การสร้างเครื่องบินในยุคที่4ที่ใช้ระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบให้เบากว่าเดิม ราคาถูกกว่า ซ่อมบำรุงง่ายกว่า กริพเพนจึงเบากว่าและราคาถูกกว่าวิกเกนครึ่งหนึ่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พร้อมมูลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจึงทำให้มันมีเครื่องช่วยฝึกและอุปกรณ์สนับสนุนพร้อมกว่า ท่ีน่าสนใจคือเครื่องจำลองการบินนี่เองซึ่งเป็นผลงานของศูนย์จำลองการบินสวีเดน หน่วยงานขึ้นตรงต่อสำนักวิจัยกลาโหมที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน1998นี้เอง ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสร้างระบบจำลองการบินและอุปกรณ์สนับสนุนกับเครื่องบินต่างๆให้กองทัพอากาศสวีเดน

ระบบจำลองการบินนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้ใช้การได้กับเครื่องบินหลายแบบ ทั้งซี130,ยูโรค็อปเตอร์รวมทั้งเครื่องบินขับไล่หลักคือกริพเพน ประกอบด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ระบบบอกพิกัดภูมิศาสตร์(จีพีเอส)และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบหลักคือตัวโดมจำลองการบินที่จำลองห้องนักบินของกริพเพนมาตั้งไว้หน้าจอโค้งลักษณะคล้ายกะลาผ่าครึ่งฝังดินตั้งไว้ นักบินทั้ง8นายสามารถทำได้ทั้งแบ่งข้างรบกันเองหรือรวมหัวกันทำยุทธเวหากับคอมพิวเตอร์ ทั้งหมู่บินสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ด้วยระบบLANขนาดกิกะบิต ติดต่อได้ทั้งจากจอภาพและด้วยหูฟังเชื่อมต่อกับระบบ

ข่าวดีของเราคือการสร้างภาพภูมิประเทศเพื่อใช้จำลองการบินนี้สวีเดนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งเราสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งการจำลองภูมิประเทศเพื่อฝึกรบ และเพื่อควบคุมทรัพยากรธรรมชาติหรือจะใช้เพื่อกิจการใดก็ได้ในเมื่อรู้”วิธีทำ”แล้ว

ถึงแม้ระบบจำลองการบินนี้จะปรับเปลี่ยนไปใช้กับเครื่องบินรบได้หลากหลาย แต่ความเหมาะสมที่สุดคือเครื่องบินรบที่ใช้ระบบเชื่อมต่อข้อมูลดิจิตอลสมบูรณ์แบบเช่นกริพเพน ค่าพิกัดภูมิศาสตร์ ลักษณะเด่นทางภูมิประเทศทั้งหมดจะปรากฎขึ้นบนจอดิจิตอลข้างหน้านักบิน ให้เขาได้รู้เท่าทันสถานการณ์เพียงแค่กดปุ่มเรียกดู สวีเดนเองก็ใช้ระบบนี้แบบครบเครื่องจนสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่ามันจำลองการรบได้จริงๆ ในการฝึกจำลองการรบระหว่างสหรัฐฯและชาติพันธมิตรใหญ่ที่สุดชื่อ”Red Flag”ที่มีขึ้นทุกปีในฐานทัพอากาศเนลลิส ประกอบด้วยเครื่องบินชนิดต่างๆร่วม700ลำจากทุกชาติที่เข้าร่วม ฝึกทั้งการส่งกำลังบำรุง รบแบบพื้นสู่พื้น พื้นสู่อากาศจนถึงการกู้ภัยและช่วยเหลือนักบินที่ถูกยิงตก

สวีเดนใช้ระบบจำลองการบินหมู่8ของตนจำลองสภาพการฝึกทั้งหมดของเรดแฟล็ก สร้างประวัติการด้วยการเอาชนะF16ของสหรัฐได้จากการเข้าร่วมฝึกเรดแฟล็กครั้งแรก ด้วยการจำลองภูมิประเทศของทะเลทรายเนวาดาแล้วให้นักบินสวีดินบินกริพเพนจำลอง รบกับข้าศึกสมมุติในเครื่องจำลองการบินจนชำนาญก่อนจะปล่อยให้ไปเจอของจริงกับสหรัฐฯและพันธมิตรในพื้นที่การฝึกจริง ด้วยสภาพพื้นทีี่จำลอง ข้าศึกสมมุติและระบบอาวุธสมมุติ เครื่องจำลองการบิน(หรือเรียกให้ถูกว่าเครื่องจำลองการรบ)ของสวีเดนได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นกับระบบการฝึกของโลกแล้ว

เมื่อคิดในแง่ของความคุ้มค่า ระบบนี้ทั้งระบบจะช่วยให้กองทัพประหยัดงบฝึกซ้อมได้มาก สมมุติว่าเครื่องบินต้องใช้ค่าน้ำมันชั่วโมงละแสนเจ็ดหมื่น การขึ้นบินเพียงหมู่8ลำจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมันอย่างเดียวเป็นล้านในเวลาแค่ชั่วโมงกว่าๆ ไม่รวมค่าอะไหล่และค่าสึกหรออื่นๆรวมทั้งค่าอาวุธจริง,อาวุธฝึกอีกมาก นักบินบินกับเครื่องจำลองการบินนี้จนคล่องแล้วปล่อยบินจริงอัตราการอยู่รอดก็จะสูงตาม ลดความเสี่ยงความเสียหายจากการฝึกได้มากทั้งตัวเครื่องบินและนักบิน

สวีเดนฉลาดตรงที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์ใช้งานทางพาณิชย์ทั่วไปเช่นVAPS,StageและVega Prime ร่วมกับซอฟต์แวร์โมดูลสร้างโดยบริษัทอีริคสันไมโครเวฟกับแอโรเทค เทลูบและบริษัทอื่นๆในสวีเดน โดยให้บริษัทซาบพัฒนาระบบหลักๆ ที่ระบบจำลองการบินของกองทัพอากาศสามารถทำได้เช่นนี้เพราะมันถูกออกแบบใหม่ด้วยความคิดใหม่หมด ให้ประหยัด ซับซ้อนน้อย แต่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ผมเห็นว่าชัดเจนที่สุดคือการออกแบบจอให้โค้งครอบห้องนักบินไว้ทั้งหมด แล้วฉายภาพจากโพรเจคเตอร์เข้าจอให้เลยระยะการมองเห็นของนักบิน ซึ่งเขาจะรู้สึกคล้ายอยู่ในสถานการณ์จริงเมื่อมองข้างๆซ้าย,ขวาและบนพบแต่ท้องฟ้าและภูมิประเทศ ต่างจากระบบจำลองการบินแบบเดี่ยวที่เครื่องบินลำเดียวต้องเล่นกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ตั้งแต่บินเกาะหมู่ไปจนถึงต่อตีเป้าหมายทั้งบนพื้นและในอากาศ

ดูระบบจำลองการรบของกริพเพนแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของศูนย์ฝึกนักบินกริพเพนในกองบิน7ซึ่งจะสาธิตสมรรถนะของเจ้าสิงห์บินให้ดูทั้งในอากาศและบนพื้น จบด้วยการเข้าถึงถิ่นกำเนิดของมันในเมืองลินเชอปิง ตอนต่อไปเราจะได้เห็นกันล่ะว่าที่สวีเดนคุยว่าใช้เวลาแค่10กว่านาทีตั้งแต่เครื่องบินจอดนิ่งเพื่อเติมน้ำมันและประกอบอาวุธจนออกบินนั่นจริงหรือไม่ และกว่าจะมาเป็นกริพเพนให้เห็นเป็นลำๆได้นั้นเขาทำยังไงกันบ้าง

เยือนถ้ำสิงห์บิิน(2)


การไปเห็นศูนย์จำลองการบินกองทัพอากาศสวีเดน ได้ทำให้เข้าใจว่าถ้าใช้ระบบจำลองการบินกันอย่างจริงจังครบเครื่องจะช่วยกองทัพได้มาก ทั้งด้านทักษะการบินและงบประมาณ วันถัดมาเป็นการเยี่ยมกองบิน7ของสวีเดนที่ช่างบังเอิญมาพ้องจองกับกองบิน7ของเราในสุราษฎร์ธานีที่เป็นฐานของกริพเพนทั้งคู่ แต่ก่อนจะถึงกองบิน7 เรื่องปลีกย่อยที่ผมอยากจะเล่าก็คือยุโรปโดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวียนั้น สตรีน่าจะมีความเสมอภาคบุรุษที่สุดแล้ว ที่นี่สตรีทำหน้าที่สำคัญๆเคียงข้างบุรุษมากมายในทุกๆเรื่อง สิ่งที่จะได้ไปพบในต่อไปในกองบิน7นี้คือเครื่องยืนยันความเสมอภาคได้ดี

คณะของเราขึ้นเครื่องบินลำเลียงซี-130ของกองทัพอากาศสวีเดน จากเมืองบรอมมาถึงเมืองลิดเชอปิง(Lidkoping)อันเป็นที่ตั้งของกองบิน7ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่1กรกฎาคม 1940 เคยเป็นฐานบินของเครื่องบินทิ้งระเบิดซาบ บี17,ซาบ บี18บีตลอดสงครามโลกครั้งที่2 ในช่วงหลังสงครามยังเป็นฐานของซาบ เอ21(อาร์),ซาบ เอ29”ทุนนัน”,ซาบ เอ32”ลันเซน” เป็นกองบินแรกที่รับเครื่องบินขับไล่/โจมตีรุ่นพี่ของกริพเพนคือซาบ 37”วิกเกน”เข้าประจำการในปี1973 ยังคงเป็นฐานหลักของวิกเกนรุ่นปรับปรุงใหม่อยู่จนกระทั่งถึงปี1997 ก่อนจะเปลี่ยนแบบมาเป็นเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ยาส39กริพเพนถึงปัจจุบัน

กองบิน7หรือSatenas F7คือหนึ่งในสี่กองบินใหญ่ที่สุดของสวีเดน รับผิดชอบทั่วประเทศด้วยกำลังพลคือทหาร620นายและพลเรือน240คน มีหน้าที่หลักคือเป็นศูนย์ฝึกนักบินกริพเพนของทั้งสวีเดนและชาติอื่นที่ใช้เครื่องบินของเขา นักบินไทยชุดแรกทั้งสี่นายรวมทั้งช่างอากาศก็มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

กองบิน7ป็นกองบินแรกในยุโรปที่ใช้เครื่องบินลำเลียงซี-130 ”เฮอร์คิวลิส” และเฮอร์คิวลิสทั้ง8ลำยังปักหลักประจำการอยู่ที่นี่จนปัจจุบัน เป็นฐานฝึกบินและซ่อมบำรุงเครื่องบินลำเลียงและโจมตีซี-130และเอ/ซี-130 ให้การสนับสนุนต่อประเทศภาคีที่ใช้เครื่องบินกริพเพนทั้งหมด และที่เพิ่งผ่านมาในหน้าร้อนของปีนี้คือการบินลำเลียงสนับสนุนให้กับกองกำลังนาโตในอาฟกานิสถาน(ISAF)

ที่กล่าวว่าสตรีสวีดิชมีบทบาทเท่าเทียมบุรุษในทุกเรื่องเมื่อต้นบทความ มาเห็นจริงก็ตอนที่เยี่ยมกองบิน7นี้เอง ผู้บังคับกองบินคือนาวาอากาศเอกหญิงอินเกล่า มาเธียสโซน ผู้การหญิงผมบลอนด์ร่างเพรียวสวมแว่นวัย50กว่าหน้าตาเหมือนครูโรงเรียนมัธยมมากกว่าจะเป็นทหาร ความไม่ธรรมดาของเธอคือไม่ได้เป็นนักบินแต่สามารถกำกับดูแลนักบินจากห้าชาติที่ใช้กริพเพน นักบินซี-130และเจ้าหน้าที่อื่นๆอีกร่วมพันคน ถ้าสวีเดนจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเราก็ต้องถือว่าแปลก เพราะเคยเห็นแต่นักบินชายที่ไต่เต้าเลื่อนยศขึ้นไปแล้วได้เป็นผ..กองบินมาคุมนักบิน ไม่่เคยเห็นนายทหารที่ไม่ใช่นักบินซ้ำยังเป็นผู้หญิงมาเป็นผู้บังคับบัญชานักบิน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คิดได้อีกอย่างหนึ่งว่าชาวสวีดิชยึดมั่นในหน้าที่ของตนมากกว่าความแตกต่างทางเพศ

หลังจากผู้การมาเธียสโซนได้บรรยายสรุปภาระหน้าที่ของกองบิน ตามด้วยนายทหารผู้บรรยายอีกสองนายก็เป็นการเยี่ยมชมโรงเก็บเครื่องบินกริพเพน ความพิเศษในส่วนนี้คือกริพเพนใช้ระบบการเก็บเครื่องบินแบบเดียวกับเครื่องบินโดยสาร(แอร์ไลน์)อย่างโบอิง,แอร์บัส (ห้ามถ่ายรูป)

แทนที่จะเป็นระบบของเครื่องบินทหารอันต่างจากพลเรือนสิ้นเชิงอย่างของสหรัฐฯ กริพเพนทุกลำถูกเก็บในโรงเก็บปิดประตูหน้าต่างมิดชิดปราศจากฝุ่นผง สะอาดเต็มที่เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ปลอดภัย พร้อมสำหรับการอยู่ในอากาศได้นานที่สุด ซึ่งโรงเก็บและซ่อมบำรุงกริพเพนที่สุราษฎร์ธานีของเราก็ใช้มาตรฐานเดียวกับสวีเดน ความแตกต่างของสวีเดนอีกอย่างคือเมื่อต้องย้ายเครื่องบินไปจอดในภูมิประเทศอื่นนอกจากฐานบินหลัก โรงเก็บมาตรฐานสูงนี้ต้องถูกย้ายตามไปด้วยในรูปของเตนต์พลาสติกห่อหุ้มมิดชิดไร้ฝุ่น เช่นเดียวกับอาคารหลักสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

ถัดจากการดูโรงเก็บเครื่องบินช่วงเช้า ก็เป็นการชมสาธิตการบินและการประกอบอาวุธของกริพเพนสองลำในช่วงบ่าย กองทัพอากาศสวีเดนทำให้เห็นชัดๆและท้าให้จับเวลาด้วยว่าเขาประกอบอาวุธเครื่องบินได้เร็วจริง

กริพเพนทั้งสองลำบินขึ้นด้วยระยะรันเวย์สั้นกว่าปกติได้จริง ตามยุทธศาสตร์ของเขาที่กำหนดให้เครื่องบินต้องขึ้นและลงได้ในถนนหลวงด้วยระยะเพียง200-300เมตร ซาบ37วิกเกนเครื่องบินรุ่นพี่ของกริพเพนทำได้ด้วยการเปลี่ยนกระแสเจ็ตย้อนกลับ(thrust reverser)เพราะใช้เครื่องยนต์เครื่องบินโดยสารเจที8ดีของแพรท แอนด์ วิทนีย์ เสริมด้วยสันดาบท้ายเพื่อความเร็วกว่าเสียงสองมัค แต่กริพเพนซึ่งถูกรื้อคิดแนวทางการสร้างใหม่หมด ลดระยะวิ่งขึ้นและร่อนลงด้วยปีกเล็กหน้า(canard) และเบรกซึ่งนักบินเลือกเหยียบได้เมื่อต้องการลดระยะร่อนลงให้สั้นกว่าปกติ

ขณะเครื่องกำลังบินอยู่นั้น หน่วยประกอบอาวุธและเติมเชื้อเพลิงอันประกอบด้วยพลทหาร10นาย รถปิคอัพสี่คัน ประกอบด้วยรถขนอาวุธและเชื้อเพลิงอย่างละคันต่อกริพเพนหนึ่งลำได้วิ่งเข้ามาเตรียมพร้อมในลานบินแล้ว รถทั้งสองคันต่อกริพเพนหนึ่งลำนี้จะต้องคอยทำหน้าที่เดียวกัน เมื่อเครื่องบินร่อนลงจอดบนถนนหลวงในประเทศที่ใช้มันทั่วโลก

เมื่อเครื่องบินทั้งสองลำเสร็จสิ้นการบินแล้วแท็กซี่มาจอด พลประจำเครื่องทั้ง10นายสำหรับกริพเพนทั้งคู่ก็วิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกฝึกมา หนึ่งนายเข้าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะอีกสี่นายประกอบด้วยทหารไทยที่เข้ารับการฝึกและสวีดิช แยกหน้าที่กันประกอบอาวุธปีกซ้ายและขวาข้างละสองนาย สิ่งที่น่าสนใจคือการประกอบอาวุธนั้นใช้เครื่องมือง่ายๆเป็นกว้านมือสีฟ้าน้ำหนักเบาไม่กี่ตัว ติดรถมาให้ทหารเพียงหนึ่งนายก็ยกได้ ในชุดที่ประกอบอาวุธก็ยังมีทหารหญิงลูกครึ่งญี่ปุ่น-สวีดิชอยู่ด้วยซึ่งเธอทำหน้าที่ได้เข้มแข็งไม่แพ้ทหารชาย ทั้งหมุนกว้านและยกจรวดขึ้นประกอบปลายปีกและทุกตำแหน่งใต้ปีกเครื่องบินเสร็จสรรพด้วยเวลาอันสั้น

ประมาณเวลาตั้งแต่ช่างคนแรกเขาแตะลำตัวกริพเพน จนประกอบอาวุธเสร็จแล้วถอยออกมาคือ17นาที เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากเมื่อเทียบกับเครื่องบินสัญชาติอเมริกันคือF16ซึ่งว่ากันว่าดูแลรักษาและประกอบอาวุธได้เร็วแล้วก็ยังใช้เวลาถึงลำละชั่วโมงครึ่ง แต่เครื่องบินกริพเพนกลับใช้เวลาน้อยกว่าและเสร็จพร้อมกันจนบินต่อได้ภายใน17นาทีเท่านั้น!

สวีเดนทำได้จริงๆด้วยการวางแนวความคิดใหม่หมดตั้งแต่ศูนย์ ให้ครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์รุ่นใหม่ในยุคที่4หรือกริพเพนต้องเบากว่า,ราคาถูกกว่าแบบเดิมคือซาบ37วิกเกนครึ่งหนึ่ง ความน้อยกว่ากันครึ่งหนึ่งนี้รวมถึงค่าซ่อมบำรุงและเวลาในการปรนนิบัติบำรุง ด้วยวัตถุประสงค์เดียวคือเพื่อให้กริพเพนบินอยู่ได้นานที่สุด เพราะใช้เวลาเติมน้ำมันน้อยและเลือกลงที่ไหนก็ได้ในสวีเดน กริพเพนจึงไม่ง้อเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ ประเทศสวีเดนซึ่งเล็กกว่าไทยอยู่ในพิสัยบินของมันทุกตารางนิ้ว น้ำมันหมดที่ไหนก็แวะเติมในฐานบินใกล้เคียงหรือถ้าในยามสงครามก็เติมได้บนถนนรวมประกอบอาวุธด้วยในเวลาเพียง17นาที(หรืออาจจะน้อยกว่านี้ได้ถ้าต้องการ)

ผู้ดูการสาธิตประกอบอาวุธและเติมน้ำมันของกริพเพนทั้งสองลำในวันนั้นมีทั้งไทยและสวีดิช ท่านผ....ได้ใช้ไอโฟน4ของท่านถ่ายวิดีโอการสาธิตนี้ไว้ด้วย ผ....สวีเดนและผู้บังคับการกองบิน7เองก็ร่วมเป็นสักขีพยานในความน่าทึ่งนี้ สิ่งที่เห็นนี้คงพอทำให้เรามั่นใจได้ว่าเป็นของจริง เมื่อพิจารณาประกอบสถิติจากชาติอื่นที่ใช้กริพเพนเช่นอาฟริกาใต้และสาธารณรัฐเช็ครวมทั้งสวีเดนเองด้วยยิ่งช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่ามันใช้การได้จริง มิฉะนั้นสวีเดนคงไม่บรรจุเครื่องบินรุ่นนี้เป็นกำลังรบหลักของประเทศ

ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบจะเป็นการเยี่ยมชมโรงงานผลิตกริพเพนที่เมืองลินเชอปิง(Linkoping) ตรงนี้เป็นอีกแห่งที่พลิกความคาดหมาย สวีเดนทำเซอร์ไพรซ์เราอีกในโรงงานประกอบเครื่องบินกริพเพน หนึ่งในเครื่องบินรบที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับยุคนี้

เยือนถ้ำสิงห์บิน(จบ)


ลินเชอปิง(Linkoping)เป็นเมืองเล็กๆทางภาคใต้ของสวีเดน มีประชากรแสนกว่าในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อสวีเดนในฐานะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบเครื่องบินกริพเพนของบริษัทซาบ(SAAB)ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างอากาศยานมาก่อนจะสร้างรถยนต์ และขณะนี้ชื่อเสียงของเมืองก็มาจากการเป็นฐานประกอบเครื่องบินที่จะเข้าประจำการในกองทัพอากาศของเราในปีหน้า

ด้วยสภาพภูมิประเทศและยุทธศาสตร์ของสวีเดน ทำให้เขาต้องหาระบบอะไรสักอย่างที่เข้ากันได้กับรูปแบบการป้องกันประเทศ การรบแบบเครือข่าย(Network Centric Operation :NCO)นั้นกองทัพสวีดิชใช้กันมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่1960แล้ว ในขณะที่อเมริกายังรบแบบทุ่มกำลังไม่อั้นอยู่ ถ้าจะว่าสวีเดนคิดค้นนวัตกรรมด้านการทหารก็ใช่ และสิ่งที่เกิดกับกริพเพนก็คือความใหม่ โดยเฉพาะวิธีการประกอบเครื่องบิน

กริพเพน39ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมJAS(Industry Group JAS:IG JAS) ร่วมทุนกับหุ้นส่วนเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องบินและระบบ ซาบ แอโรสเปซทำหน้าที่ประกอบระบบขั้นพื้นฐานให้เครื่องบิน ตั้งแต่แอร์เฟรม(ตัวเครื่อง),ระบบจ่ายน้ำมัน,ระบบไฮดรอลิกส์,ระบบควบคุมสภาพในห้องนักบิน,เก้าอี้ดีดตัว,ระบบดำรงชีพและอื่นๆ ส่วนบริษัทวอลโว แอโรก็รับผิดชอบเครื่องยนต์รุ่นRM12 บริษัทอีริคโซน ไมโครเวฟซิสเต็มรับผิดชอบระบบเรดาร์ รวมทั้งพัฒนาและผลิตคอมพิวเตอร์ของระบบ บริษัทซาบ อาวิโอนิกส์รับผิดชอบระบบดิจิตอลแสดงผลและคอมพิวเตอร์จอภาพ ในขณะที่แอโรเทค เทลูบรับผิดชอบระบบสนับสนุนและการบำรุงรักษา เห็นได้ชัดว่ากริพเพนไม่ได้ถูกผลิตมาด้วยบริษัทซาบเพียงแห่งเดียวตั้งแต่ต้นจนเป็นเครื่องบิน แต่มันเกิดจากการร่วมมือกันโดยบริษัทต่างๆของสวีเดนที่เข้ามารวมตัวกันเป็น”กลุ่มอุตสาหกรรม”

ในการส่งออกซาบก็ยกให้เป็นหน้าที่ของกริพเพน อินเตอร์เนชันแนล หนึ่งในสมาชิกของIGเช่นกัน อันหมายความว่าคนสร้างเครื่องบินก็สร้างไป บริษัทจัดจำหน่ายก็ทำหน้าที่ของตนไป ตั้งแต่การขายไปจนถึงการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการและรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มลูกค้า

จุดหนึ่งที่ช่วยให้กริพเพนแต่ละลำราคาไม่สูง ก็คือระบบการจัดซื้อระบบที่ใช้อุปกรณ์จากบริษัทต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เปรียบเสมือนเมื่อเราต้องการคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานสักเครื่อง ก็ต้องเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อหนึ่ง คีย์บอร์ดและซีพียูอีกยี่ห้อตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับงานที่จะใช้ เราเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ได้ในราคาสมเหตุสมผลได้ประโยชน์เต็มที่ กริพเพนเองก็ใช้หลักการเดียวกัน ไม่ว่าอุปกรณ์จะมาจากชาติไหนหรือบริษัทอะไร ทั้งหมดต้องมาประกอบกันเป็นเครื่องบินด้วยมาตรฐานสูงของสวีเดน

การสร้างเครื่องบินในสมัยก่อนนั้นบริษัทจะวิจัย พัฒนาและผลิตทุกระบบกันภายในประเทศ ไม่ยอมให้เทคโนโลยีหรือกรรมวิธีอันเป็นรูปแบบเฉพาะตัวรั่วไหล แต่โครงการกริพเพนใช้แนวคิดใหม่คือให้บริษัทต่างๆทั้งในและนอกประเทศแข่งขันกันเข้ามามีส่วนร่วม ใครทำของได้ดีมีราคาต่ำสมเหตุสมผลก็เอามาประกวดกันให้กลุ่มบริษัทซาบเลือก พอเลือกได้ของดีราคาไม่แพงเพราะไม่ต้องวิจัยและพัฒนาเองเช่นนี้ ระบบของเครื่องบินไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ดีดตัว เครื่องยนต์ ระบบควบคุมการบิน ไฮดรอลิกและอื่นๆจึงมีมาได้จากหลายประเทศรวมทั้งในสวีเดนเอง

เมื่อมาลองแยกระบบหลักๆของกริพเพนดูจะพบรายละเอียดดังนี้ คันบังคับและคันเร่ง,เก้าอี้ดีดตัว,ล้อเครื่องบินและระบบลงจอด,จากอังกฤษ เครื่องยนต์หลักจากสหรัฐฯและสวีเดน คอมพิวเตอร์ข้อมูลอากาศจากสหรัฐฯ ระบบจ่ายพลังงานสำรองจากอังกฤษและสหรัฐฯ ระบบจ่ายน้ำมันจากฝรั่งเศส ระบบเรดาร์จากสวีเดน ตัวเครื่องบิน(แอร์เฟรม)จากสวีเดน,อังกฤษและเช็ค,ปืนใหญ่อากาศจากเบลเยียม ฯลฯ

ในวันที่คณะไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบเครื่องบินกริพเพนที่เมืองลินเชอปิงนั้น หัวหน้าโครงการชาวสวีเดนคือผู้นำชมกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มจนสำเร็จเป็นเครื่องบินทั้งลำ ท่ีฝาผนังมีผลงานของซาบตั้งแต่เครื่องบินขับไล่เจ็ตลำแรกคือซาบ21อาร์ ไล่เรียงกันมาหลายแบบจนถึงผลงานชิ้นล่าสุดคือซาบ39กริพเพน แสดงให้เห็นวิวัฒนาการการสร้างเครื่องบินตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

เครื่องยนต์RM12เดี่ยวของกริพเพน แบบเดียวกับเครื่องยนต์จากบริษัทจี.อี.คือเจเนอรัล อีเลคทริกF412คู่ของเอฟ18”ฮอร์เน็ต”ของสหรัฐฯ ถูกวางรอประกอบในท่อเหล็กติดล้อเลื่อนตรงใกล้ประตูทางเข้า มันถูกวอลโว แอโรนำมาพัฒนาใหม่ให้แรงข้ึนแล้วยัดลงท้ายของกริพเพนเพียงเครื่องเดียว ให้กำลังผลักดันเหลือเฟือสำหรับเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์เพื่อการป้องกันประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงสองเครื่องเพราะไม่ได้แบกน้ำหนักมากและบินไกลเหมือนฮอร์เน็ต

ด้วยโรงงานขนาดกว้างและยาวแค่ด้านละร้อยกว่าเมตร ไม่น่าเชื่อว่าซาบจะสร้างเครื่องบินรบเทคโนโลยีสูงได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพการทำงานของชาวสวีดิชที่รัฐให้ทั้งประเทศหยุดงานถึง1เดือนในช่วงฤดูร้อนแล้ว ยิ่งน่าประหลาดใจว่าคนของเขาทำงานทันส่งเราและชาติอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินรบแต่ละแบบจากแต่ละชาติต่างก็วางกำหนดการส่งมอบไว้ใกล้เคียงกันคือสองถึงสามปี แต่สวีเดนก็ทำของส่งเราได้ทันตามกำหนดทั้งที่วันทำงานน้อย

กริพเพนที่ถูกประกอบช่วงลำตัวเสร็จถูกนำขึ้น”จิ๊ก”(Jig) หรือแท่นจับหน้า/หลังให้หมุนได้รอบแนวระนาบเหมือนกลิ้งถัง ให้ช่างและวิศวกรประกอบชิ้นส่วนในมุมที่ถนัดที่สุดอย่างง่ายและเร็ว ตรวจสอบชิ้นส่วนได้ง่าย ทุกลำถูกประกอบระบบด้วยมือจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือพ่นสี โรงประกอบมีสภาพแวดล้อมดี สะอาดสะอ้านต่างจากที่คิดไว้ว่าคงต้องสกปรก เสียงดัง หลังจากเสร็จขั้นตอนในจิ๊กแล้วก็จะเป็นการประกอบระบบร่อนลงทั้งล้อ,เบรกและระบบไฮดรอลิกที่เกี่ยวข้อง กริพเพนจะถูกตั้งบนขาหยั่งแล้วช่างจะทดสอบความเคลื่อนไหวของระบบไฮดรอลิกด้วยคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป

ดังที่กล่าวแล้วว่าตัวระบบของกริพเพนมาจากหลายบริษัทหลายชาติ เป็นไปได้ว่าเมื่อมีผู้สนใจจะเข้ามาร่วมผลิตกริพเพนมากขึ้น เมื่อนั้นราคาของมันก็จะถูกลง พูดถึงราคาแล้วข้อคิดประการหนึ่งที่ได้จากการเยือนโรงงานผลิตเครื่องบินก็คือเครื่องบินแต่ละกลุ่มที่ส่งออกราคาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันเพราะจำนวน และการที่ราคาต่างกันที่จำนวนก็เพราะยิ่งผลิตมากยิ่งซื้อวัตถุดิบได้ถูกเพราะซื้อทีละมากๆ เข้าทำนองซื้อยกโหลถูกกว่า

เครื่องบินรบแต่ละแบบนั้นไม่ใช่ว่าพอสั่งซื้อวันนี้แล้วของจะมาถึงในอาทิตย์หน้า ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบอื่นๆให้เหมาะกับสภาพภารกิจที่ลูกค้ากำหนด กว่าจะส่งมอบได้ก็กินเวลา2-3ปี เมื่อสั่งซื้อแล้วโรงงานก็ต้อง”ตัด”เครื่องบินให้พอดี”ความต้องการ”ของลูกค้า หลักการนี้ใช้เหมือนกันหมดตั้งแต่เสื้อผ้าแถวประตูน้ำไปจนถึงเครื่องบินรบราคาเป็นพันล้าน สั่งซื้อน้อยก็ผลิตน้อย แต่ต้องใช้ทรัพยากรราคาแพงกว่าเพราะซื้อมาน้อยแบบจำเพาะเจาะจงตามจำนวนเครื่องบิน เราซื้อกริพเพนด้วยจำนวนเท่านี้จึงได้ราคาหนึ่ง ซื้อล็อตใหญ่กว่านี้ราคาของมันก็จะต่ำลง ถ้าซื้อกันทีละ50-60ลำ เขาก็จะมาตั้งโรงงานในบ้านเราและราคาก็จะต่ำลงอีก เรื่องของราคาเครื่องบินจึงเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะตอบยากในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันตอบเป็นราคาตายตัวได้ยากจริงๆ จนบางครั้งกองทัพอากาศตกเป็นจำเลยของสังคมไปเพราะตอบคำถามตรงๆไม่ได้

หลังจากกริพเพนลำแรกล้อแตะพื้นสนามบินไทย เราคงต้องมาดูกันอีกว่าด้วยสภาพของเครื่องยนต์เมืองหนาวอย่างสวีเดนนั้นจะทนความร้อนชื้นแบบบ้านเราได้หรือไม่ ปัญหาอื่นๆถ้ามีก็คงเกิดขึ้นในช่วงที่รับเครื่องบินเข้าประจำการซึ่งก็น่าจะแก้กันได้เหมือนตอนที่รับเอฟ16มาใช้ใหม่ๆ

ปัญหาใหญ่น่าหนักใจของซาบและกองทัพอากาศสวีเดนในตอนนี้ คงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือกลไกอื่นใด แต่น่าจะเป็นเรื่องการแย่งกันจะมาประจำการที่เมืองไทยเสียมากกว่า ซึ่งน่าจะเข้าใจถึงเหตุผลได้ไม่ยากเมื่อพบว่าชาวสวีดิชมาเที่ยวบ้านเราถึงปีละ400,000คน จากประชากรทั้งหมดเก้าล้านสี่แสน!

(ภาพประกอบจากแฟ้มของSAAB ในโรงงานห้ามถ่ายภาพ)