วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

M16 ปืนที่พระเอกเลือกใช้!


หลังสงครามโลกครั้งที่2สงบลงสามปี หนึ่งในความพยายามพัฒนายุทโธปกรณ์และกำลังรบของกองทัพสหรัฐฯ คือการสร้างเกราะป้องกันร่างกายเพื่อรักษาชีวิตกำลังพล เมื่อกระสุนปืนประจำกายทหารราบมีพื้นที่หน้าตัดเล็กลงแต่ความเร็วสูงขึ้น รายงานการสู้รบจากสงครามโลกครั้งที่1และ2ถูกรวบรวมได้กว่า3ล้านชิ้นเพื่อนำมาวิจัย ให้ทราบเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ของการบาดเจ็บ
จากศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่กี่ปีก็ได้ข้อสรุปว่าทหารมักจะยิงกันใกล้ๆในระยะเห็นหน้าเพื่อความแม่น ส่วนใหญ่กองกำลังจะปะทะกันโดยบังเอิญ โอกาสถูกยิงจึงบังเอิญตาม ทหารชอบสาดกระสุนมากกว่าเล็งประณีต เมื่อความบาดเจ็บนั้นไม่ได้เกิดจากการเล็งประณีตเพราะเป้าหมายเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา เมื่อปะทะแล้วต้องการเอาตัวรอดให้ได้จากเหตุเฉพาะหน้าก่อน พวกที่ใช้ปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติ(M1และปืนเล็กยาวร่วมสมัย)จะมีโอกาสยิงน้อยกว่าพวกถืออาวุธยิงเร็วอย่างBAR(Browning Automatic Rifle)หรือปืนกลอย่างM3 ที่เหนี่ยวไกครั้งเดียวสามารถสาดกระสุนได้เป็นสาย มีโอกาสถูกเป้ามากกว่าเล็งประณีต
ยิ่งรบอเมริกันยิ่งรู้ว่าทหารอยากพกกระสุนเข้าสนามรบมากขึ้น ปืนเดิมสร้างจากไม้กับเหล็กหนักอึ้งเป็นภาระ ลำพังปืนอย่างเดียวกับสัมภาระส่วนตัวก็บั่นทอนสมรรถนะของทหารมากอยู่แล้ว ยังต้องหอบหิ้วกระสุนหนักและใหญ่โตเกินจำเป็นแรงถีบก็สูงเข้าสนามอีก แทนที่จะเคลื่อนไหวได้เร็วมีกำลังเหลือมากเพื่อรบได้ยาวนาน กลับจะเป็นเป้าได้ง่าย
ปืนใหม่ที่จัดหามาในค.ศ.1954ระหว่างการวิจัยและพัฒนา คือM14ที่ยังตอบปัญหาเรื่องน้ำหนักและจำนวนกระสุนไม่ได้ มันยังหนักและใช้กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง7.62ม.ม.มาตรฐานนาโตที่หนัก ทหารนำเข้าสนามได้น้อย ความยาวของปืนและน้ำหนักยากต่อการรบระยะประชิดที่นับจะเกิดถี่ขึ้น ทั้งในป่า เมือง หรือสงครามเต็มรูปแบบเคลื่อนที่เร็วด้วยยานยนต์ ร้อนถึงสำนักวิจัยและพัฒนาอาวุธเบาต้องทบทวนแนวความคิดเดิม เพื่อรับมือกับการคุกคามของค่ายคอมมิวนิสต์และรูปแบบการสู้รบอันเปลี่ยนไป
กระสุนขนาดต่างๆเรียงแถวเข้าสนามทดสอบเพื่อหาความเหมาะสม ให้ยิงหวังผลได้จากศูนย์เปิดในระยะ300-400เมตร ในที่สุดก็มาหยุดอยู่ที่กระสุนขนาด5.56ม.ม.ที่มีน้ำหนักและปริมาณสมเหตุสมผลกับสภาพการรบจริงๆ ทหารอุ่นใจได้เมื่อมีมันในรังเพลิงปืนข้างกาย โครงการ”ซัลโว”(Project Salvo)จึงเกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1953-1957เพื่อคิดค้นปืนเล็กยาวให้ใช้ยิงกระสุนขนาดนี้ ด้วยกรอบความคิดว่าต้องเบา ทหารนำกระสุนติดตัวได้มาก เลือกระบบการยิงได้ทั้งกึ่งอัตโนมัติ(semi)และอัตโนมัติ(auto) เพื่อทดแทนM14เดิมทั้งยาวและหนัก แม่นยำแค่นัดแรกๆแต่กลายเป็นยิงนกตกปลาในนัดถัดๆไปเมื่อยิงแบบอัตโนมัติ
เพื่อให้ได้อาวุธประจำกายทหารราบอายุใช้งานนานปี โครงการซัลโวจึงรื้อสร้างแนวคิดเรื่องการพัฒนาปืนใหม่หมดตลอดเวลาสองช่วง ด้วยกระสุนหลายขนาดไม่เฉพาะแต่5.56ม.ม. แต่กระสุนขนาดเดิมคือ7.62ก็ถูกนำเข้าทดสอบด้วยเพื่อหาทางออกให้ปืนแบบใหม่ ระหว่างนั้นบริษัทผลิตอาวุธของเบลเยียมคือฟาบรีค นาซิญ็องนาล(FN)เสนอแบบปืนเข้าเสนอแบบแข่งขันพร้อมกับบริษัทอเมริกันเกิดใหม่คืออาร์มาไลต์ต้นสังกัดของนักออกแบบอาวุธหัวก้าวหน้า ยูจีน สโตเนอร์ โดยยังใช้กระสุนขนาด7.62 ม.ม.เคียงข้างกันมาตลอด
AR-10จากฝีมือออกแบบของสโตเนอร์จัดว่าแหวกแนวที่สุดในยุคนั้น ด้วยรูปทรงแทบไม่ต่างจากM16ในปัจจุบัน เช่นแนวเส้นตรงจากปลายลำกล้องถึงสุดพานท้าย หูหิ้วประกอบศูนย์เล็งหลังรูปร่างแปลกตาและศูนย์หน้าทรงสามเหลี่ยมยกตัว กระโจมมือและพานท้ายทำจากพลาสติก โครงปืนสร้างจากอัลลอยทำให้น้ำหนักเบากว่าปืนของFNถึง0.9ก.ก. การวางแนวลำกล้องเป็นเส้นตรงถึงปลายพานท้ายไม่ลาดลงเหมือนปืนรุ่นก่อน ส่งแรงรีคอยล์(ถีบ)เข้าหาไหล่คนยิง ปืนจึงกระแทกถอยหลังตรงๆแทนที่จะสะบัดขึ้น ยิงต่อเนื่องได้เร็วกว่า
AR-10ของสโตเนอร์ทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่เพราะความรั้นของจอร์จ ซัลลิแวนประธานบริษัทอาร์มาไลต์ที่ยืนยันให้ใช้ลำกล้องอลูมินัมอัลลอยในปืนทดสอบ แทนเหล็กกล้าตามแบบของสโตเนอร์เพื่อลดน้ำหนัก หลังจากยิงต่อเนื่องตามข้อบังคับของกองทัพขณะส่งแข่งขันในค.ศ.1957 ลำกล้องAR-10ต้นแบบระเบิดและถูกปฏิเสธ
ถึงAR-10จะไม่ได้รับใช้ชาติแต่นวัตกรรมของมันเข้าตากรรมการ เมื่อพลเอกวิลลาร์ด จี. ไวแมนหัวหน้าคณะทดสอบปืนใช้กระสุน5.56ม.ม.ขณะนั้นเคยร่วมทดสอบและพบว่ามันเป็นปืนที่ดี หากเปลี่ยนวัสดุทำลำกล้องแล้วใช้กระสุน5.56ม.ม.วินเชสเตอร์ ด้วยข้อกำหนดว่าปืนต้องหนัก2.7ก.ก.รวมกระสุน20นัด ยิงทะลุหมวกเหล็กมาตรฐานหรือแผ่นเหล็กหนา3.4ม.ม.ได้ในระยะไกลสุด460เมตร สร้างความเสียหายให้เป้าหมายได้เท่ากับกระสุน.30คาร์บีน จะทำเช่นนี้ได้ปืนต้องฉกาจพอกับกระสุน และAR-10จากอาร์มาไลต์ยังไม่เคยทดสอบ
ผลการทดสอบเป็นไปตามคาด AR-10ลดขนาดกระสุนตามความคิดของไวแมน กระสุน5.56ม.ม.นั้นมากพอให้ทหารขนติดตัวได้อย่างอุ่นใจ ควบคุมทิศทางได้ง่าย จึงเบียดคู่แข่งจากFNและสปริงฟีลด์ตกขอบเข้าสู่การทดสอบใช้งานในสถานการณ์จริงด้วยชื่อใหม่ว่าAR-15 ปรับปรุงใหม่ให้เล็กและเบากว่าเดิมด้วยน้ำหนักเปล่า2.5ก.ก.และ2.7ก.ก.พร้อมกระสุน20นัด แต่ดูเหมือนจะมีมารผจญตลอดเวลากว่าจะได้ปืนดีๆสักกระบอก AR-15ลำกล้องระเบิดอีกระหว่างทดสอบกลางฝน เมื่อจะนำไปทดสอบในสภาพหนาวเย็นของอลาสกาสโตเนอร์จึงต้องตรวจสอบในฐานะผู้ออกแบบและให้เปลี่ยนชิ้นส่วน
เมื่อถึงสนามจึงพบว่าปืนถูกประกอบผิดวิธีจึงเกิดปัญหาขึ้นอีก จะเป็นการวางยาหรือผิดโดยไม่ตั้งใจไม่มีใครทราบ ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือกองทัพปฏิเสธมันตั้งแต่ก่อนล้อเครื่องบินยังไม่ทันแตะพื้น ราวกับยังยึดติดอยู่กับกระสุนใหญ่อย่าง6.5ม.ม. พอเกิดเรื่องกับปืนทดสอบใช้กระสุนเล็กกว่าก็เลยไม่ฟังเสียง พลเอกแม็กซ์เวล เทย์เลอร์ผู้ดูแลโครงการขณะนั้นจึงสั่งให้ผลิตM14ต่อเนื่อง ระหว่างที่ยังหาปืนใหม่ทดแทนไม่ได้และที่เข้าทดสอบก็ยังให้ผลแบบผีเข้าผีออก
แต่ก็ใช่ว่ารายงานผลการทดสอบของAR-15จะมีแต่ด้านเลวร้าย จากบันทึกในการซ้อมรบที่นำทั้งปืนนี้,M14และAK47เข้าทดสอบ พบว่าข้อได้เปรียบตรงที่มันเล็กและเบาช่วยให้ทหารยิงได้คล่องและเร็ว ผลสรุปขั้นสุดท้ายคือชุดยิง8นายที่ใช้AR-15จะมีกำลังชนเท่ากับชุดยิง11นายที่ใช้M14เดิม มันให้ความมั่นใจในภาพรวมได้มากกว่าM14 กลไกขัดข้องและกระสุนขัดลำกล้องก็น้อยกว่าหลังจากยิงทดสอบไปแล้วหลายพันนัด บริษัทผลิตอาวุธแฟร์ไชลด์เห็นอนาคตของมันจึงตัดสินใจทุ่มงบ1.45ล้านดอลลาร์เป็นงบวิจัยและพัฒนา ก่อนจะขายสิทธิบัตรการผลิตต่อให้โคลต์ ไฟร์อาร์มผู้เชี่ยวชาญปืนเล็กในเดือนธันวาคม ค.ศ.1959 โดยหวังทำกำไรจากสวนแบ่งการขาย ปีถัดมาอาร์มาไลต์ปรับเปลี่ยนกลไกในองค์กร ยูจีน สโตเนอร์ผู้หวังติดตามความสำเร็จของAR-15จึงตามไปอยู่กับโคลต์
หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมาได้ AR-15จึงได้เข้าประจำการเมื่อค.ศ.1964ในชื่อใหม่ว่าM16ปืนเล็กยาวเลือกระบบการยิงได้ ทำงานด้วยแก๊ซ ก่อนจะส่งเข้าสู่สมรภูมิเวียตนามเต็มรูปแบบในปี1966 ระหว่างกองทัพสหรัฐขยายตัวเพื่อยันคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นและM14ผลิตได้ไม่พอความต้องการ M16รุ่นแรกเปิดตัวในเวียตนามแบบไม่น่าประทับใจ สภาพร้อนชื้นแถบนี้สร้างปัญหาให้ดินขับแบบเม็ดที่เยิ้มเหลวขัดลำกล้องบ่อย มีเสียงบ่นจากทหารว่ามันเบาจริง แบกกระสุนได้มากจริงแต่บอบบาง แช่น้ำแล้วยิงไม่ค่อยออก บางครั้งปืนก็ระเบิดใส่หน้าทหารถ้าไม่เขย่าน้ำออกให้หมด ถูกสบประมาทจากทหารกร้านศึกบ่อยๆว่าเป็น”ปืนเด็กเล่น”จากโครงสร้างอัลลอยผสมพลาสติกน้ำหนักเบา(พานท้าย,ด้าม,กระโจมมือ)
ปัญหาขัดลำกล้องและลำกล้องสึกหรอเร็วถูกแก้ด้วยการเปลี่ยนชนิดดินขับ เคลือบลำกล้องด้วยโครเมียม และปรับปรุงกลไกรับแรงสะท้อนในรุ่นใหม่กว่าคือM16A1(A1: first adjustment ปรับปรุงครั้งที่1)ที่ยังใช้กระสุน5.56ม.ม.เดิม เพิ่มแส้ทำความสะอาดลำกล้องและน้ำยาเก็บในพานท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทหารจะใช้มันด้วยความปลอดภัย M16A1ล็อตแรกถูกผลิตจำนวนมากถึง840,000กระบอกให้กองทัพสหรัฐ ทหารอเมริกันและพันธมิตรได้ใช้มันเป็นหลักตลอดสงครามเวียตนาม และในความขัดแย้งครั้งต่อๆมาทั่วโลก
เมื่อเทียบกับปืนเล็กยาวใช้กระสุนขนาด5.56ม.ม.รุ่นเดียวกัน ปืนตระกูลM16คือนวัตกรรมจากการออกแบอันชาญฉลาดมุ่งเน้นความแม่นยำในกระสุนนัดแรกและนัดถัดๆไป แนวลำกล้องเป็นเส้นตรงถึงปลายพานท้ายช่วยลดแรงสะท้อนและสะบัดขึ้น เพื่อให้เล็งได้ง่ายศูนย์หน้าจึงถูกยกขึ้นพร้อมศูนย์หลังทำหน้าที่หูหิ้วในตัว โครงปืนอัลลอยน้ำหนักเบาชดเชยน้ำหนักกระสุนที่ทหารเอาติดตัวไปได้มากกว่าเดิม เมื่อยิงกระสุนนัดแรกแล้วทหารจะเล็งประณีตได้เร็วในกระสุนนัดต่อไป
ถึงจะมีปัญหาเรื่องการน้ำและโคลนเข้ากลไกทำให้ติดขัดในรุ่นแรกๆแต่ก็ถูกปรับปรุงให้ไว้ใจได้ในรุ่นถัดมาและแตกรุ่นมาได้ถึงM16 A4 ถูกนำโครงปืนไปใช้เป็นปืนซุ่มยิงบางรุ่น ส่วนแบบที่ใช้รบระยะประชิดหรือในเมืองมีนามเรียกขานใหม่ว่าM4แทนปืนกลมือM3(Grease Gun)เดิมสมัยสงครามเวียตนาม เมื่อติดรางอาวุธจะเลือกอุปกรณ์เสริมได้หลากหลาย ทั้งเครื่องชี้เป้าอินฟรา-เรด,กล้องเล็งระยะประชิดจุดแดง(red dot sight)และอื่นๆ บริษัทH&Kจากเยอรมนีได้ซื้อลิขสิทธิ์M4ไปพัฒนาเองในชื่อHK 416 ใช้กระสุน5.56มาตรฐานนาโตและHK417ใช้กระสุน7.62X51วินเชสเตอร์ นอกจากนี้ยังแตกรุ่นออกไปให้ใช้ยิงกระสุน9ม.ม., .22และอื่นๆ เป็นปืนหนึ่งในไม่กี่ตระกูลในโลกที่แตกรุ่นได้มาก
แม้M16จะไม่สมบุกสมบันเท่าAK47 แต่เรื่องความแม่นยำมันไม่เป็นรอง กลไกภายในต้องได้รับการดูแลสม่ำเสมอโดยทหารที่ถูกฝึกตามระเบียบจึงจะใช้งานได้ดีเต็มร้อย เราจึงไม่ค่อยได้เห็นM16ในมือของกองกำลังจรยุทธ์ซึ่งอ่อนฝึกเน้นแต่ปริมาณและการยิงคลุมพื้นที่มากกว่าความแม่นยำ
ถึงปัจจุบันจะมีวัสดุใช้สร้างโครงปืนที่เบาและทนเช่นโพลิเมอร์ แต่ปืนตระกูลM16ยังรับใช้ในกองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรแพร่หลายทั่วโลก ในงานแสดงอาวุธนานาชาติทั้งยูจีน สโตเนอร์ผู้ออกแบบM16 และมิคาอิล คาลาชนิคอฟผู้ให้กำเนิดAK47 ยังพบกันบ้างเป็นครั้งคราวในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ ทั้งสองไม่เคยโกรธเคืองขัดแย้งกันเลยแม้อาวุธจากสมองของทั้งคู่จะถูกใช้ประหัตประหารกันโดยนักรบอยู่คนละฝ่ายมานานปี!







3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 มีนาคม 2552 เวลา 09:03

    อยากให้ พี่โต ทำบทความเรื่องที่เกียวกับ อาวุธของทหารไทยแบบต่างๆ

    จำพวก M1 garand,อริซากะ,คาร์บิ้น ทั้งหลายทั้งปวงไปจนถึง HK33

    รุ่นต่างๆ M16 M16A1 ถึง A4 ที่เรามี รวมทั้งพวกอาวุธนอกอัตราแบบ

    ต่างๆ Negev Tarvor.....

    (พี่โตยังใช้ SR16 อยู่รึป่าวครับ ^ ^ )

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ26 มีนาคม 2552 เวลา 12:48

    เขียนหนังสือทุกอาทิตย์ เดี๋ยวก็เวียนมาถึงเรื่องที่คุณอยากรู้เองครับ ตอนนี้ผมเปลี่ยนมาใช้M4A1แล้ว เปลี่ยนเสื้อเกราะมาเป็นอินเตอร์เซ็ปเตอร์แบบมีแผ่นป้องกันเป้ากางเกงด้วย^_^

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ20 เมษายน 2552 เวลา 23:17

    m16 ak 47 hk 416 หรือจะสู้ hk33 made in thailand หนัก ถีบ และ ดีด ปลอก(เบี้ยว)แถมขึ้นลำยาก ถ้าแรงไม่มีกระสุ่นค้างแน่ๆยิง สาม ขัด ห้า สงสัยจังเลยครับทำไม่ เราเลือก ใช้ปืนแบบนี้เข้าประจำการ สงสัยจริงๆครับ ว่างๆเขียนตอบให้ที่นะครับ

    ตอบลบ