วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าจากค็อกพิท JAS39 Gripen (1)



ในบทความชุดก่อนคือ ”JAS39 ความจำเป็นและเหตุผล” นั้น ผมได้นำเอารายละเอียดในแง่มุมกว้างๆมาบอกเล่า เช่น ความเป็นมาของกองทัพอากาศสวีเดน ประวัติของบริษัท SAAB ที่สร้างชื่อมาจากการผลิตอากาศยาน และแพ็กเกจนอกเหนือจากตัวเครื่องบินเมื่อเราตกลงปลงใจกับ ”กริปเปน” คาดว่าจะช่วยให้ผู้สนใจเรื่องนี้ได้รับทราบรายละเอียดพอสมควร แต่ความน่าสนใจของเครื่องบินขับไล่แบบนี้ ไม่ได้อยู่ที่ ”แพ็กเกจ” ซึ่งดูเหมือนลดแลกแจกแถมล่อใจลูกค้า หากแต่อยู่ที่ความทันสมัยในราคาสมเหตุผล และที่สำคัญคือความใจกว้างในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้จากสวีเดนมากกว่า
ถึงไม่ได้เป็นทหารอากาศ แต่ความโชคดีของผมคือ การได้บินกับเครื่องบินขับไล่ทันสมัยที่สุดเท่าที่เรามีตอนนี้คือ F-16B ไม่นานมานี้ยังได้ใช้เครื่องจำลองการบิน (simulator) ของกริปเปน มันอาจเป็นแค่เครื่องจำลองการบินก็จริง แต่สภาพภายในห้องนักบินหรือ ”Cockpit” ที่จำลองของจริงมาทุกรายละเอียด ทำให้ต้องเขียนถึง การได้สัมผัสทำให้เข้าใจว่า กริปเปนเป็นเครื่องบินที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของนักบินอย่างแท้จริง เป็นเครื่องบินรบยุคดิจิตอลแท้ๆ ที่ราคาสมเหตุสมผลที่สุด และดูจะคุ้มค่าที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของเราในยามนี้ที่ต้องหายุทโธปกรณ์มาทดแทนของเก่าซึ่งทยอยปลดประจำการ
แต่ก่อนจะเข้าสู่ห้องนักบิน ผมอยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนถึงยุคสมัยต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องบินรบตามความหมายของนักการทหาร เพื่อเข้าใจถึงความแตกต่างของเครื่องบินที่เรามีอยู่เช่น F-5, F-16 และกริปเปนที่กำลังหมายตาว่าจะรับเข้าประจำการอีก 12 เครื่อง เพื่อให้ง่ายเข้า เมื่ออธิบายถึงการทำงานของระบบภายในห้องนักบิน และความจำเป็นในการจัดหาอาวุธทดแทน
กล่าวคือ นักการทหารได้แบ่งห้วงเวลาแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยาน โดยเฉพาะเครื่องบินรบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ตไว้ 6 ช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบัน ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมอากาศยาน แบ่งช่วงต่างๆนี้ ด้วยตัวเลขเป็นยุคตั้งแต่ยุคที่ 1 เรียงลำดับต่อไปเป็นยุคที่ 2, 3, 4, 4.5 และยุคที่ 5 อันเป็นยุคสุดท้ายของเครื่องบินใช้นักบิน ก่อนเข้าสู่ยุคของอากาศยานไร้นักบินที่ปฏิบัติการได้เหมือนเครื่องบินปกติทุกอย่าง เพียงแต่นักบินไม่ต้องเสี่ยงเหมือนเครื่องบินในยุคต้นๆ หากจะเปรียบเทียบยุคต่างๆเป็น ”เวอร์ชั่น” 1, 2… ตามสมัยนิยมก็พอจะกล้อมแกล้มไปกันได้
นับแต่พี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบิน ”คิตตี้ฮอว์ก” สำเร็จเมื่อ ค.ศ.1903 อากาศยานได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เครื่องบินรบที่เคยถูกใช้แค่ถ่ายรูปที่ตั้งทางทหาร ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อครองอากาศ กรุยทางให้กองกำลังภาคพื้นดินเข้ายึดพื้นที่ จากเครื่องบินเครื่องยนต์ลูกสูบปีกสองชั้นกลายเป็นเครื่องบินไอพ่น ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ตในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
ยุคที่ 1 ของเครื่องบินเจ็ตจึงเริ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1944 ถึง ค.ศ. 1953 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรและอักษะเริ่มนำเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตของตนเข้าสู่สมรภูมิ เยอรมนีทำสำเร็จเป็นชาติแรกด้วยเครื่องบินเมสเซอร์ชมิดท์ Me-262 ในยุทธเวหาเพื่อป้องกันกรุงเบอร์ลิน หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945 โลกแบ่งเป็นสองค่าย ทั้งโลกเสรีและฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่างเร่งพัฒนาเครื่องบินรบของตน
แม้จะมีรูปพรรณสัณฐานแตกต่าง แต่องค์ประกอบหลักๆ ที่เหมือนกันคือ มีความเร็วยังต่ำกว่าเสียง โครงสร้างและพื้นผิวเป็นโลหะ เทคโนโลยีขีปนาวุธนำวิถียังพัฒนาได้ไม่มาก อาวุธหลักๆ จึงเป็นปืนใหญ่อากาศ โจมตีภาคพื้นดินด้วยจรวดและระเบิดธรรมดา เล็งได้แต่หวังผลไม่ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนปัจจุบัน ผลพวงของการพัฒนาอากาศยานยุคที่ 1 คือ กองทัพอากาศไทยได้รับเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น F-84 ”ธันเดอร์เจ็ต” และF-86 ”เซเบอร์” เป็นเขี้ยวเล็บโดยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากสหรัฐฯ
ยุคที่ 2 ระหว่าง ค.ศ.1953 ถึง ค.ศ.1960 หลังจากเรืออากาศเอกชัค ยีเกอร์ บินเร็วกว่าเสียงได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก เครื่องบินรบได้ถูกพัฒนาให้เน้นที่จุดนี้ การแผนแบบของรูปร่างและปีกเอื้ออำนวยต่อการทำความเร็ว เรดาร์ถูกพัฒนามาให้ใช้กับเครื่องบินได้ ถูกนำมาใช้นำวิถีระยะใกล้ จะยิงปืนใหญ่อากาศหรือจรวดแต่ละลูก นักบินยังต้องมองเห็นเป้าหมาย นอกจากเน้นที่ความเร็วซึ่งเชื่อว่าเป็นคำตอบของทุกสิ่ง และการใช้เรดาร์ เครื่องบินยังไม่พัฒนามากนักในด้านอื่นๆ
ยุคที่ 3 ระหว่าง ค.ศ.1960 ถึง ค.ศ.1970 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวสงครามเวียตนาม และเกิดสงครามเย็นในทุกภูมิภาค เครื่องบินค่ายโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ถูกทดสอบอย่างหนัก ในสมรภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสบการณ์ในสมรภูมิทำให้นักออกแบบเครื่องบินตระหนักว่า เพียงความเร็วยังไม่พอ การเผชิญหน้ากลางอากาศระหว่างเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่เน้นความเร็ว กับเครื่องบินจากโซเวียตที่เน้นความคล่องตัว และอัตราการทำลายที่เกือบแลกกัน 1 ต่อ 1 ทำให้แนวความคิดในการออกแบบเครื่องบินของสหรัฐฯ เปลี่ยนไป
นอกจากความเร็วแล้ว ต้องคล่องตัวสามารถเปลี่ยนทิศทางได้ว่องไว แม้เครื่องบินตามแนวคิดนี้ยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นมากคือ การใช้อาวุธจรวดนำวิถีระยะใกล้ เรดาร์ประสิทธิภาพสูงขึ้น เครื่องบินรบถูกแบ่งประเภทชัดเจนเป็นประเภทขับไล่, โจมตี, สกัดกั้น กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มีเครื่องบิน 4 แบบประจำการในยุคนี้คือ F-5 รุ่น A/B (ฟรีดอมไฟเตอร์) และรุ่น E
/F (ไทเกอร์ ทูว์) เครื่องบินขับไล่ส่งออกราคาต่ำ และบางครั้งก็ให้เปล่าแก่พันธมิตร เพื่อยันกับ MiG-21 ของค่ายโซเวียต
ยุคที่ 4 ระหว่าง ค.ศ.1970 ถึง ค.ศ.1990 เป็นพัฒนาการด้านขีดความสามารถให้เครื่องบินเครื่องเดียวปฏิบัติหน้าที่ได้หลากหลาย เป็นเครื่องบินขับไล่/โจมตีเอนกประสงค์ ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์การบิน(avionics) เข้ามาควบคุมการทำงานของเครื่อง เรดาร์ถูกพัฒนาให้กวาดจับได้ไกลกว่าเดิม จรวดนำวิถียิงเป้าหมายได้แม้ระยะไกลกว่าสายตา (Beyond Visual Range : BVR) เครื่องบินทำลายเป้าหมายได้ทั้งในอากาศและภาคพื้นดินพร้อมกัน ด้วยอาวุธอากาศสู่อากาศและอากาศสู่พื้นความแม่นยำสูง นอกจากความเร็วสูงยังต้องเปลี่ยนท่าทางการบินได้ว่องไว โครงสร้างและพื้นผิวถูกเปลี่ยนจากโลหะมาเป็นคอมโพสิต ที่เบากว่าและแกร่งกว่าเดิม แสดงผลด้วยจอดิจิตอล (Glass Cockpit)
มีการนำระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL) เข้ามาใช้ เป็นยุคแรกของการรบแบบใช้เครือข่ายหรือ Network Centric Operations หรือ NCO อันเป็นขีดความสามารถเดียวกับเครื่องบินขับไล่ในยุคที่ 4.5 และยุคที่ 5 ที่ส่งข้อมูลในหมู่บินเดียวกันได้โดยไม่ต้องใช้วิทยุ เครื่องบินในยุคนี้คือ เครื่องบินตระกูลF-16 และเครื่องบินอีกหลายแบบในยุคเดียวกัน ประเทศไทยได้ F-16 รุ่น A,B มาประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 (เริ่มจัดหาในปี ค.ศ.1985) เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ F-16 และได้ F-16 รุ่น ADF เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.2002ยุคที่ 4.5 ระหว่าง ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ.2000 คุณลักษณะอันแน่ชัด 4 อย่างได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นบรรทัดฐานคือลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์เพื่อหลบหลีกจากการตรวจจับของฝ่ายข้าศึก (stealth), ความแม่นยำในการทำลายเป้าหมาย (Strike Precision), ขีปนาวุธโจมตีระยะไกลที่สามารถค้นหาเป้าด้วยตัวเอง (Stand-off / Fire-and-Forget) และนักบินต้องหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์ (Situation Awareness) โดยเครื่องบินในยุคนี้มีอุปกรณ์และเครื่องวัดเป็นดิจิตอล,เรดาร์ตรวจจับระยะไกล แสดงผลการทำงานด้วยจอดิจิตอล มีโครงสร้างและพื้นผิวเป็นวัสดุคอมโพสิต ทำงานร่วมกับระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลางหรือ NCO ติดต่อระหว่างเครื่องบินกับ เครื่องบินด้วยกัน กับภาคพื้นดิน น้ำ และศูนย์ควบคุมได้ในเวลาเดียวกัน เป็นการทวีอำนาจกำลังรบ ประสานงานกับหน่วยภาคพื้นและรบร่วมทุกเหล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องบินในยุคนี้คือ F-15, F-16 บล็อกหลังๆ และกริปเปน
ยุคที่ 5 ในศตวรรษที่ 21 หรือยุคปัจจุบันคือตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เน้นการออกแบบรูปร่างลักษณะเครื่องบินทั้งลำไม่ให้สะท้อนคลื่นเรดาร์ พร้อมทั้งใช้คุณสมบัติดูดซึมคลื่นเรดาร์ด้วยเทคโนโลยี stealth, ทำงานเป็นเครือข่าย NCO, คงความอยู่รอดสูงในสนามรบ, นักบินหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์, สร้างด้วยวัสดุคอมโพสิตทั้งเครื่อง, ปรับทิศทางแรงขับได้ เป็นเครื่องบินรบเอนกประสงค์ (Multi-role) สมบูรณ์แบบ สามารถบินเร็วกว่าเสียงได้โดยไม่ต้องเปิดสันดาปท้าย (Supercruise) ที่เด่นชัดขณะนี้คือ ยูโรไฟเตอร์ ”ไต้ฝุ่น” ของยุโรป F-22 และ F-35 ของสหรัฐฯ เลยจากยุคที่ 5 ไปจะเป็นยานรบไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) ที่นักบินสามารถบังคับเครื่องได้จากทุกส่วนของโลกผ่านระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบนำร่องGPS และอินเตอร์เน็ต
จากการแบ่งยุคสมัยของการพัฒนาเครื่องบินรบเจ็ต จะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะเครื่องบินรบหลักๆ ที่เรามีประจำการอยู่คือ F-5, F-16A/B กับกริปเปนที่ตกลงใจไปแล้วว่า มันเป็นเครื่องบินคนละยุคเรียงลำดับกัน แบบแรกเป็นเครื่องบินในยุคที่ 3 (เร็วกว่าเสียง,ใช้อาวุธนำวิถี) แบบที่สองอยู่ในยุคที่ 4 (ขับไล่/โจมตีเอนกประสงค์ทำงานเป็นเครือข่าย) และกริปเปนเป็นเครื่องบินในยุค 4.5 (ขับไล่/โจมตีเอนกประสงค์, ทำงานเป็นเครือข่าย, จอแสดงผลแบบดิจิตอล, ระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินทันสมัย)
ปัจจุบันหากจะเปรียบเทียบกันระหว่างเพื่อนบ้านไม่นับเขมรกับลาว จะเห็นว่าต่างก็ใช้เครื่องบินขับไล่/สกัดกั้นในยุคที่ 4 พม่ามี MiG-29 ”ฟัลครัม” พอฟัดพอเหวี่ยงกับเราอยู่ 40 เครื่อง (โดยประมาณ ข่าวบางกระแสบอกว่าจ้างนักบินรัสเซียมาบินด้วย) มาเลเซียมีทั้ง MiG-29N/NUB(ส่งมอบใน ค.ศ.1995), F/A-18D ”ฮอร์เน็ต” (ส่งมอบใน ค.ศ.1997) และSu-30MKM ที่เพิ่งส่งมอบในปีนี้อีก 18 เครื่อง เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ ( Airborne Warning and Control System : AWACS) คือยุทโธปกรณ์ใหม่ที่กองทัพอากาศมาเลเชียกำลังเลือกสรร แต่ยังไม่มีข่าวแน่นอนว่าตกลงใจใช้แบบไหน ส่วนอินโดนิเซียมี Su-30 อยู่ 2 เครื่อง
การเลือกใช้เครื่องบินในยุค 4.5 จึงนับว่าเป็นการพัฒนากองทัพ และพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย ใช้งานได้นานคุ้มค่า โดยเฉพาะระบบอิเล็กทรอนิกส์การบิน (Avionics) และการแสดงผลด้วยจอดิจิตอลทันสมัยกว่ายุคก่อน ตามความรวดเร็วในการพัฒนาซอฟต์แวร์และเครื่องช่วยต่างๆ เพื่อลดภาระ นักบินให้เหลือแค่ตัดสินใจใช้อาวุธได้แม่นยำขึ้น ไม่ต้องพะวงกับการประมวลผลข้อมูลมหาศาล จึงมีโอกาสอยู่รอดสูงกว่าเดิมเมื่อเข้าสู้รบ
กริปเปนจึงเป็นทางเลือกที่นับว่าคุ้มค่าที่สุด นอกจากองค์ประกอบอื่นๆที่จะกล่าว การใช้จอแสดงผลแบบดิจิตอล (Glass Cockpit) ทั้งหมดยังถือเป็นเครื่องช่วยที่ทำให้การบินง่ายขึ้นเกินคาด ขณะที่F-16 A/B ที่เราใช้อยู่นั้นนักบินต้องบริหารจัดการเองเกือบทุกอย่าง แต่การออกแบบอุปกรณ์ภายในห้องนักบินของกริปเปนกลับลดภาระเหล่านี้ลงได้มาก เป็นเครื่องบินฉลาดที่ช่วยให้นักบินทำงานสบายขึ้น (และช่วยให้นักบินดูดีกว่าเดิม)จริงๆ สำหรับ F-16 รุ่น C/D ถึงจะฉลาดเท่ากับกริปเปน คงไม่ต้องพูดถึงเพราะแพงกว่ามากและติดเงื่อนไขหยุมหยิมมากมายจนไม่น่าซื้อ
ต้องขออภัย ที่ตอนนี้ยังไม่ได้พาคุณๆ เข้าไปนั่งในที่นั่งนักบินได้ เพราะผมอยากชี้ให้เข้าใจถึงความแตกต่างและความจำเป็นในการใช้งาน ไปบินกับผมฉบับหน้า เข้าไปนั่งหน้าจอดิจิตอลด้วยกันครับแล้วจะเข้าใจว่า ”เครื่องบินฉลาด” นั้นมันฉลาดอย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น