วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

“แบล็ควอเตอร์”...อีกหนึ่งเหล่าทัพของอเมริกา?


ถ้าการสู้รบเป็นหน้าที่ของทหาร การรักษาความปลอดภัยก็ต้องเป็นหน้าที่ของพลเรือน ยามธรรมดาที่พกแค่กระบองหรือปืนพกรีวอลเวอร์.38คงไม่มีอะไรให้กล่าวถึง แต่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วนี้ไม่ได้พกแค่ปืนสั้นหรือกระบอง แต่มีทั้งรถSUVหุ้มเกราะติดปืนกลM249กระสุน5.56 มม.บนหลังคา ใช้อาวุธประจำกายทั้งAK47(อาก้า),M4A1(ปืนกลมือตระกูลM16)และอาวุธสงครามหลากหลาย
พนักงานส่วนใหญ่มีอดีตเป็นทหารพลร่ม,หน่วยรบพิเศษ,ซีลจากกองทัพเรือสหรัฐฯ หรืออดีตหน่วยปฏิบัติการพิเศษอื่นๆที่มีขีดความสามารถสูงในการรบระยะประชิด คุณสมบัติข้างต้นทำให้นึกถึงชื่อเดียวคือ”BLACKWATER” หรือในชื่อเต็มว่า”BLACKWATER WORLD WIDE” บริษัทรักษาความปลอดภัยข้ามชาติของบุรุษทายาทมรดกหลายพันล้านสัญชาติอเมริกันนามเอริก พรินซ์
บริษัทรักษาความปลอดภัยที่ชื่อแปลเป็นไทยว่า”น้ำครำ”นี้ ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพรินซ์กับเพื่อนคืออัล คลาร์กเมื่อปี 1997 ไม่ว่าสื่อจะเรียกลักษณะการทำงานของบริษัทนี้ว่า”บริษัทรักษาความปลอดภัย”(security contractor) หรือทหารรับจ้าง(mercenary) ลักษณะงานที่ทำก็คือการใช้อาวุธระวังป้องกันสถานที่และบุคคลในเขตสงคราม และตอบโต้ได้ตามความจำเป็นเมื่อถูกโจมตีก่อนเท่านั้น
แบล็ควอเตอร์มีสำนักงานใหญ่ในรัฐนอร์ธ แครโรไลนา สหรัฐอเมริกา ถึงพร้อมทุกอย่างด้านยุทโธปกรณ์และเป็นสนามฝึกทักษะของพนักงานซึ่งถูกอ้างว่าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทฯสามารถฝึกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธได้ถึงปีละ 40,000 คน ทั้งหมดนี้มาจากทั้งกองทัพประจำการและหน่วยงานอื่น
ในบรรดาบริษัทรักษาความปลอดภัยใหญ่3บริษัทของสหรัฐฯ แบล็ควอเตอร์คือกลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รปภ. 987 คน ในจำนวนนี้ 744 คนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ รายได้ทั้งหมดมาจากการรับเหมางานรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและทรัพย์สินของทางการสหรัฐฯ ที่น่าสังเกตคือ 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดที่ทำให้หลวงนั้นไม่ต้องประมูลงานแข่งขันกับบริษัทอื่น แสดงให้เห็นถึงความ”ปึ้ก”ของเอริก พรินซ์กับนายจ้างคือรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
ก่อนจะเป็นแบล็ควอเตอร์ พรินซ์คือลูกชายผู้คาบช้อนทองของเอ็ดการ์ ดี. พรินซ์ ผู้ก่อตั้งพรินซ์ คอร์โปเรชั่น บริษัทสร้างชิ้นส่วนรถยนต์กับมารดาคือเอลซา พรินซ์ เป็นลูกชายคนสุดท้องรองจากพี่สาว 3 คน ได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินตั้งแต่อายุ 17 ก่อนจบจากโรงเรียนฮอลแลนด์ คริสเตียน ไฮ แล้วจึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือแอนนาโพลิส รัฐแมรี่แลนด์ แต่เรียนได้แค่ 3 เทอมก็ออกมาเรียนต่อที่ฮิลส์เดล คอลเลจในปี 1992 และอาสาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงกับนักดำน้ำกู้ชีพ ในสำนักงานสำรวจฮิลส์เดลไปด้วยระหว่างนั้น รวมทั้งเข้าฝึกงานในทำเนียบขาวสมัยจอร์จ บุช(พ่อ)เป็นประธานาธิบดี และทำงานการเมืองร่วมกับนายเดนา โรห์ราบาเชอร์ส.ส.พรรครีพับลิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย
หลังจบจากฮิลส์เดล คอลเลจ พรินซ์สมัครกลับเข้าเรียนในโรงเรียนนายทหารสัญญาบัตร(Officer Candidate School)ของกองทัพเรือจนจบออกมาเป็นนายทหาร ถึงพ่อจะรวยแต่พรินซ์ก็ใช่ว่าจะประพฤติตัวเสเพล ระหว่างอยู่ในโรงเรียนนายทหารฯนี้เองที่เขาฝึกหลักสูตร SEAL จนสำเร็จ ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในความขัดแย้งที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันด้วย ทั้งในไฮติ ตะวันออกกลางและแถบเมดิเตอเรเนียน รวมทั้งในบอสเนียที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง พอพ่อตายกระทันหันเมื่อปี 1995 แม่ของพรินซ์ก็ขายบริษัทพรินซ์ คอร์โปเรชั่นให้กับจอห์นสัน คอนโทรล อิงค์ในราคา 1.3 พันล้านดอลลาร์ อีกสองปีถัดมาพรินซ์จึงย้ายมาตั้งหลักปักฐานในเวอร์จิเนียเพื่อก่อตั้งบริษัทแบล็ควอเตอร์ เวิลด์ไวด์ ด้วยจุดมุ่งหมายคือการเข้ารับงานรักษาความปลอดภัย ให้การฝึกด้านความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน พรินซ์ใช้มรดกของพ่อไปครึ่งหนึ่งซื้อที่ดินมากถึง 6,000 เอเคอร์เพื่อตั้งศูนย์ฝึกพนักงานของตัวเองและหน่วยงานอื่นในเขตบึงเกรท ดิสมอลบริเวณรอยต่อรัฐนอร์ธ แคโรไลนากับเวอร์จิเนีย ต่อมาไม่กี่ปีจึงซื้อเพิ่มอีก 1,000 เอเคอร์ ที่นี่เป็นเสมือนเมืองเล็กๆอันพร้อมพรั่งทั้งอุปกรณ์และบุคคลากร น้ำสีดำคล้ำของบึงนี้เองคือที่มาแห่งนาม”แบล็ควอเตอร์”
เมื่อสงครามรุกรานอิรักระเบิดในปี 2003 แบล็ควอเตอร์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนต์ บริษัทในเครือที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2002 คือหนึ่งใน 60 บริษัทที่ปรึกษาความปลอดภัยที่ตามหลังกองทัพเข้าสู่ดินแดนยึดครอง เพื่อรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่,บุคคล รวมทั้งฝึกอาวุธยุทธวิธีให้กองทัพอิรักหรืออื่นๆตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
ความ”ปึ้ก”ระหว่างแบล็ควอเตอร์กับรัฐบาลกลาง ปรากฏได้จากชื่อของบุคคลต่อไปนี้เริ่มจากกรรมการผู้จดการคือแกรี่ แจ็คสันนั้นเคยเป็นทหารหน่วยSEALเหมือนพรินซ์ รองประธานกรรมการคือโคเฟอร์ แบล็คก็เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของซีไอเอ หลังลาออกแบล็คตั้งบริษัทข่าวกรองเอกชนคือโทเทิล อินเทลลิเจนซ์ โซลูชั่น อิงค์ขึ้นเพื่อรับงานจากรัฐบาล ควบคู่กับตำแหน่งรองประธานกรรมการของแบล็ควอเตอร์ โจเซฟ อี. ชมิตซ์ผู้บริหารพรินซ์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของกลุ่มแบล็ควอเตอร์ก็เช่นกัน เคยเป็นผู้ตรวจการกระทรวงกลาโหมสมัยจอร์จ บุช(ลูก) โรเบิร์ต ริชเชอร์ผู้บริหารระดับสูงอีกคน ก็เคยเป็นหัวหน้าแผนกตะวันออกใกล้ของซีไอเอแล้วลาออกมาอยู่กับพรินซ์เมื่อเดือนมกราคมปี 2007
ชือเสียงของแบล็ควอเตอร์เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากการรุกรานอิรัก เมื่อรับงานรักษาความปลอดภัยด้วยสัญญาจ้าง 21 ล้านดอลลาร์โดยไม่ผ่านการประมูลแข่งขัน ให้กับนายลิวอิส พอล เบรเมอร์ หัวหน้าคณะรัฐบาลชั่วคราวของอิรักระหว่างการยึดครอง นับแต่เดือนมิถุนายน 2004 แบล็ควอเตอร์ได้รับค่าจ้าง 320 ล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นงบประมาณ 5 ปีของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้บุคคลสำคัญของสหรัฐฯหรือชาติอื่นทีเห็นควรในเขตสู้รบ ปี 2006 แบล็ควอเตอร์อีกเช่นกันที่ได้สัญญาว่าจ้างให้ป้องกันสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในอิรัก ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานทูตสหรัฐฯใหญ่ที่สุดในโลก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯประมาณว่า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธร้ายแรง 20,000 ถึง 30,000 คนในอิรัก แต่หน่วยงานอื่นประมาณอย่างไม่เป็นทางการว่าน่าจะมีถึงแสน ตัวเลขจะเป็นอย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ยังต้องพึ่งพาหน่วยงานอย่างแบล็ควอเตอร์ ตามความจำเป็นที่นายไรอัน คร็อกเกอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรักได้แถลงต่อวุฒิสภา”ไม่มีทางเลยที่สำนักรักษาความปลอดภัยทางการทูตของเรา จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำงานเต็มเวลาเพื่อรักษาความปลอดภัยในอิรัก เว้นแต่จะใช้บริการจากบรรดาผู้เหมาช่วงเหล่านี้”
ความเป็นอเมริกันและสามารถตอบโต้ได้ด้วยอาวุธร้ายแรง นำมาซึ่งการยั่วยุและโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเนืองๆ เหตุการณ์ครั้งสำคัญนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่แบล็ควอเตอร์ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2004 ในเมืองฟัลลูจาห์ ระหว่างการคุ้มกันขบวนรถลำเลียงอาหารให้บริษัทคู่ค้าคือESS(Eurest Support Services บริษัทรับเหมาช่วงก่อสร้างและลำเลียงอาหารจากบริษัทแฮลลิเบอร์ตันของดิค เชนีย์ )
เจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์ 4 คนคือสก็อตต์ เฮลเวนสตัน,เจอร์โค ซอฟโค,เวสลีย์ บาตาโลนาและไมเคิล ทีคถูกผู้ก่อการร้ายอิรักสังหารด้วยระเบิดมือโยนเข้าหน้าต่างรถและกระสุนปืนเล็ก ศพทั้งหมดถูกเผา ลากไปตามถนน แล้วแขวนไว้ใต้สะพานข้ามแม่น้ำยูเฟรตีส เป็นเหตุให้เกิดสงครามกวาดล้างครั้งใหญ่คือ”ศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่1”(อีกไม่กี่เดือนก็เกิด”ศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่2”ตามมา) หลังจากภาพอันสยดสยองของเจ้าหน้าที่แบล็ควอเตอร์ถูกแพร่ไปในข่าวทั่วโลก การลาดตระเวนด้วยกองกำลังขนาดเล็กและการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมถูกระงับ เพื่อเปิดโอกาสให้กองกำลังขนาดใหญ่ของนาวิกโยธินบุกเข้ากวาดล้างทั้งเมืองแบบ”รบในเมือง”(urban warfare)เต็มรูปแบบ
ผลจากศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่1คือทหารอเมริกันเสียชีวิต 27 นาย บาดเจ็บอีกนับร้อย ส่วนพลเรือนและผู้ก่อการร้ายอิรักเสียชีวิตได้นับหลายร้อย ชื่อของอาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวีเป็นที่รู้จักจากศึกครั้งนี้ว่าเป็นหัวโจกวางแผนโจมตีกองกำลังสหรัฐฯก่อนจะถูกถล่มดับคาที่หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานข่าวหลายกระแสตรงกันว่าสหรัฐฯใช้ระเบิดนาปาล์มและระเบิดฟอสฟอรัสขาวซึ่งขัดต่อข้อตกลงเจนีวาครั้งที่ 4 และยังมีรายงานขัดแย้งกันเองอีกมากมายระหว่างกองทัพสหรัฐฯและสื่อที่ปัจจุบันนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ
หลังเหตุการณ์ชนวนให้เปิดศึกครั้งใหญ่ในฟัลลูจาห์ เจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์และหน่วยรักษาความปลอดภัยอื่นยังถูกโจมตีอีกหลายครั้ง ด้วยจุดอ่อนคือไม่ใช่ทหารแต่เป็นพลเรือนต่างชาติถืออาวุธสงคราม ครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2007 เมื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทเปิดฉากยิงใส่พลเรือนอิรักในย่านนิซูร์ สแควร์ กรุงแบกแดด ชาวอิรักเสียชีวิต 17 คน ระหว่างการอารักขาขบวนรถของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯไปประชุมทางตะวันตกของกรุงแบกแดด
ผู้เห็นเหตุการณ์ให้ปากคำว่าเป็นการยิงโดยปราศจากการยั่วยุ ใช้กำลังเกินจำเป็น ตรงกับคำให้การของทหารสหรัฐฯบางนายในที่เกิดเหตุ ทางแบล็ควอเตอร์แถลงแก้ว่าถูกยั่วยุและโจมตีก่อนจึงตอบโต้ไปตามเหมาะสม หลักฐานสำคัญที่คณะกรรมการสอบสวนพบคือข้อมูลเทปการติดต่อระหว่างรถในขบวนกับกองบัญชาการ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่บล็ควอเตอร์ได้วิทยุกลับมาว่าถูกกลุ่มบุคคลในเครื่องแบบทหารอิรักโจมตีก่อนหลายครั้ง มีภาพถ่ายแสดงปลอกกระสุนปืนอาก้าตกเกลื่อนในที่เกิดเหตุแต่ก็ใช้เป็นหลักฐานได้ยากเพราะไม่ระบุวันที่ รวมทั้งรถยนต์ในเหตุการณ์วันนั้นก็ถูกปะรูกระสุนทำสีใหม่จนไม่สามารถระบุร่องรอยกระสุนได้
ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของบริษัทนอกกรีนโซน (บริเวณที่ตั้งสถานทูตสหรัฐฯและส่วนราชการอื่นๆในกรุงแบกแดด)ถูกทางการสหรัฐฯยกเลิกทันที หลังเกิดเหตุเพียง1วันเพื่อหลบกระแสความโกรธแค้นก่อนจะสอบสวนอย่างละเอียด มุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ตัวต้นเหตุ3คนที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสอบสวน ส่วนเอริก พรินซ์ก็ต้องเข้าให้การต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและปฏิรูปกิจการภายในของอิรัก ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าบริษัทฯจะปฏิบัติงานนอกกรีนโซนได้หรือไม่ หรือว่าต้องถอนตัวจากอิรักไปเลย
การมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยคนในรัฐบาลของบุช เมื่อเป็นที่รู้กันว่าแบล็ควอเตอร์และพรินซ์ค่อนข้าง”เส้นใหญ่” จึงเกิดคำถามจากคณะกรรมการกำกับดูแลฯซึ่งควบคุมการทำงานของบริษัทฯ ว่าการใช้แบล็ควอเตอร์นั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยถึงวันละ 1,222 ดอลลาร์ หรือปีละ 445,000 ดอลลาร์ขณะที่ใช้ทหารธรรมดาจะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าถึง6เท่า แต่พรินซ์ก็มีเหตุผลโต้กลับว่แม้จะแพงกว่าแต่กองทัพก็ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อฝึกทหารไปมากกว่านั้นกว่าจะรบได้
ถัวเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์ซึ่งรบได้แบบทหารหรือบางคนเก่งกว่าทหารปกติ เพราะเคยอยู่หน่วยรบพิเศษมาก่อนก็ยังมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าอยู่ดี แม้การดำเนินคดีแบล็ควอเตอร์ในอิรักยังไม่แล้วเสร็จ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ประกาศระเบียบใหม่แล้ว มีสาระสำคัญว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธของบริษัทฯต้องมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศติดตามทุกครั้ง เมื่อปฏิบัติหน้าที่ในหรือรอบกรุงแบกแดด รถยนต์หุ้มเกราะของบริษัททุกคันต้องติดกล้องวิดีโอ ต้องบันทึกการสนทนาติดต่อระหว่างขบวนรถกับศูนย์บัญชาการตลอดเวลา เพื่อทราบความเคลื่อนไหวทุกระยะ
อเมริกาจะมีแบล็ควอเตอร์หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่แน่ๆคืออิรักในตอนนี้ทำท่าว่าจะเหมือนเวียตนามเข้าไปทุกที กว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชูนโยบายถอนทัพกลับบ้านเป็นหลัก คนอเมริกันก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องสูญเสียเด็กหนุ่มที่ยังมีอนาคตไปอีกเท่าไร กลางผืนทรายอันร้อนระอุของอิรัก


1 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้ ผม อยาก สมัคร ต้อง ทำไง ครับ สมัครที่ไหน ต้อง เตรียมไร มั่ง
    อีก สามเดื่อน ผม จะปลด เเล้ว เลย หา วิธี สมัคร ตอนนี้ผม อยู่ รบพิเศษ นาวิกโยธิน Recon กองพันลาดตระเวน

    ตอบลบ