วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

ระเบิดขว้าง แท้จริงมาจากผลไม้!




ตั้งแต่ครั้งมนุษย์เริ่มรู้จักรบราฆ่าฟันกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องการคือทำอย่างไรข้าศึกจึงจะตายได้ทีละมากๆในการใช้อาวุธครั้งเดียว อาวุธเพื่อการนี้จึงปรากฎในรูปของกระสุนปืนใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นลูกเหล็กตันๆยิงให้กลิ้งไปโดนอะไรสิ่งนั้นก็แหลก พัฒนามาเป็นกระสุนแบบแตกมีสะเก็ดทำลายเป้าหมายได้ทั้งยุทโธปกรณ์และบุคคล แต่ถ้าทหารราบไม่มีปืนใหญ่หัวระเบิดไปด้วย แต่อยากทำลายที่หมายเฉพาะหน้าที่ใช้ปืนเล็กทำลายไม่ได้ ก็ต้องมีบางสิ่งมาทดแทนกระสุนปืนใหญ่ สิ่งนั้นต้องมีน้ำหนักพอเหมาะให้ขว้างได้ไกลพอสมควร ปลอดภัยต่อผู้ใช้เมื่ออยู่พ้นรัศมี นี่เองจึงเป็นที่มาของระเบิดขว้าง อาวุธสังหารที่ใช้ง่ายที่สุดแต่ก็อันตรายที่สุดหากทำหล่นใกล้ตัว
ระเบิดขว้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อสังหารบุคคลหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า”เกรเนด”(grenade) เราเรียกตามไปว่าเกรเนดโดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วมันมาจากภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียก”ลูกทับทิม”(pomegranate มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าPunica granatum) สะเก็ดระเบิดที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆทำให้ทหารนึกถึงเมล็ดของลูกไม้ชนิดนี้ ทหารสมัยก่อนที่เชี่ยวชาญการขว้างระเบิดจึงถูกเรียกว่าเกรนอาเดียร์(grenadier) ปัจจุบันแม้จะไม่ต้องใช้ทหารขว้างระเบิดโดยเฉพาะแต่ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ก็ยังถูกเรียกว่าเกรนอาเดียร์อยู่
ระเบิดขว้างลูกแรกของโลก เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ไม่นานหลังรัชสมัยของกษัตริย์ลีโอที่3 ทหารไบแซนไทน์รู้ว่าอาวุธเช่น”ลูกไฟกรีก”(Greek fire) หรือน้ำมันจุดไฟที่พวกตนคิดค้นขึ้นเมื่อร้อยปีก่อนนั้น ไม่ได้พ่นใส่ข้าศึกได้ด้วยเครื่องพ่นไฟอย่างเดียว ดัดแปลงให้ดียังเอามันใส่เหยือกกระเบื้องหรือแก้วแล้วโยนใส่ข้าศึกได้ด้วย ในเมื่อขณะนั้นยังคิดไม่ออกเรื่องดินปืน ทหารไบแซนไทน์ใช้ลูกไฟกรีกขว้างใส่ข้าศึกเป็นว่าเล่นในศตวรรษที่10ถึง12
จากนั้นมันก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้นสำหรับผู้ใช้เรื่อยมา จนถึงยุคอุตสาหกรรมที่มนุษย์นำเอาดินปืนแรงอัดสูงมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างระเบิดขว้างได้ทีละมากๆ เมื่อรวมอำนาจการทำลายล้างเข้ากับปืนเล็กยาว ระเบิดขว้างจึงช่วยให้ทหารราบเคลื่อนที่ต่อไปได้ เมื่อพบที่มั่นดัดแปลง รังปืนกลหรือยานพาหนะที่ทำลายไม่ได้ด้วยปืนเล็กธรรมดา
ระเบิดขว้างหรือเรียกได้อีกอย่างว่าระเบิดสังหารนั้นจะทำงานด้วยการจุดระเบิดของดินระเบิดแรงสูงให้เปลือกหนาแตกออกเป็นสะเก็ดเล็กๆ พุ่งเข้าบาดเฉือนอวัยวะผนวกกับแรงอัดที่จะสร้างความเสียหายได้มากต่ออวัยวะภายใน นอกจากใช้สะเก็ดกับแรงอัดเป็นตัวทำลายแล้วยังมีแตกชนิดออกได้เป็นระเบิดเพลิง(incendiary grenade)ที่แตกออกเป็นกองไฟใหญ่เพื่อเผาผลาญ ระเบิดควัน(smoke grenade)ที่ไม่ได้ทำอันตรายแต่พ่นควันเป็นสีบอกตำแหน่งให้ฝ่ายเดียวกันเข้าต่อตีเป้าหมายหรือให้อากาศยานบินมารับ ระเบิดแสง(stun grenade)ที่ส่งเสียงดังและปล่อยแสงวาบจนตาของเป้าหมายพร่าไปชั่วขณะ ก่อนฝ่ายจู่โจมจะเข้าสังหารหรือจับกุม เมื่ออาวุธเพื่อยับยั้ง(non-lethal weapon)กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ทำแค่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแต่ไม่สังหาร ระเบิดขว้างก็ถูกผลิตให้ตอบสนองวัตถุประสงค์นี้เช่นกัน
ถึงระเบิดขว้างจะมีมานานแต่ก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางในสงครามโลกครั้งที่1 ด้วยรูปแบบของสมรภูมิแถบยุโรปที่เป็นสนามเพลาะประกอบลวดหนามกีดขวางไม่ให้ฝ่ายรุกเคลื่อนที่ได้สะดวก และฝ่ายรับป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยปืนกลและกระสุนปืนใหญ่ การใช้ระเบิดขว้างจึงเป็นตัวช่วยที่ดีของทั้งสองฝ่ายเมื่อนึกอะไรไม่ออกก็ขว้างระเบิดเข้าใส่ไว้ก่อน ถึงไม่ตายก็ไม่กล้าโผล่หัวจากหลุม เยอรมันดูเหมือนจะพัฒนาระเบิดขว้างได้ก้าวหน้ากว่าใครด้วยการให้มันมีด้ามไม้ต่อใต้ระเบิดแทนที่จะเป็นลูกลุ่นๆ ยามไม่ได้ใช้งานยังถือด้ามไม้หวดตัวระเบิดทุบหัวมันฝรั่งให้ละเอียดก่อนปรุงอาหารเสียอีก จึงไม่แปลกที่ระเบิดติดด้ามไม้ของเยอรมันทั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่1และ2มีชื่อเล่นว่า”ไม้บดมัน”
ระเบิดขว้างแบบคลาสสิกนั้นทำงานด้วยการดึงห่วงติดสลักนิรภัยออกจากปลายเชื้อปะทุ เมื่อกระเดื่องถูกดีดออกก้านตีแก๊ปหัวระเบิดจะดีดกระแทกจอกกระทบแตกให้เกิดการเผาไหม้ เพื่อความปลอดภัยของคนขว้างจึงต้องให้หน่วงเวลาไว้5-7วินาทีก่อนจุดระเบิด ซึ่งพอสำหรับการขว้างใส่ที่หมายในระยะ40หลาหรือไกลกว่า หากทหารกลัวข้าศึกจะคว้าเอาขว้างคืนมาก็ถือไว้สัก2-3วินาทีก่อนขว้างให้ระเบิดตรงเป้าทันที ถ้าชำนาญมากๆและกะเวลาได้แม่นพอก็อาจจะทำให้มันกลายเป็นระเบิดแตกอากาศ ส่งสะเก็ดกระจายได้เป็นวงกว้างแบบที่ศัตรูนึกไม่ถึง หรือหากดึงสลักออกมาแล้วยังกำกระเดื่องอยู่ถ้าเปลี่ยนใจไม่ขว้างยัดสลักกลับคืน ก็ยังเก็บไว้ใช้ในคราวหน้าได้อีก แต่เพราะสลักนิรภัยทำด้วยเหล็กกล้าและแข็งมาก จึงต้องใช้แรงมากพอดูกว่าจะดึงห่วงให้สลักหุบเข้าหากันแล้วรอดรูหัวระเบิดได้ ภาพทหารจีไอที่เอาปากกัดห่วงดึงสลักจึงเป็นแค่ลีลาหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์เท่านั้น หากทหารจริงๆทำเช่นนั้นคงได้เห็นฟันตัวเองติดอยู่กับระเบิดแทนที่จะดึงสลักออก
นอกจากจะใช้ขว้างทำความเสียหายแล้วมันยังถูกดัดแปลงให้เป็นกับระเบิดสังหารบุคคลได้ด้วย โดยการใช้หลักการ”ดึง”ให้สลักหลุดแล้วระเบิดทำงาน ผู้ปฏิบัติเพียงแต่วางระเบิดไว้ข้างเส้นทางที่ข้าศึกจะเดินผ่านแล้วขึงเชือกหรือลวดขวางไว้ ปลายข้างหนึ่งยึดห่วงสลักที่ยึดหลักไว้มั่นคงอีกข้างผูกไว้กับต้นไม้หรือหลักแล้วง้างปลายสลักให้รอดผ่านรูได้ง่าย เมื่อมีผู้เดินมาเตะเชือกตึงดึงสลักออกจากระเบิดก็บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ทั้งนี้ตัวระเบิดเองต้องถูกดัดแปลงให้ระเบิดทันทีที่สลักหลุดจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะนำไปฝังไว้ประกอบกลไกเพื่อให้ทำงานด้วยน้ำหนักกดทับก็ยังได้เพราะมีชุดคิทเพื่อการนี้เสร็จแบบDIY(Do It Yourself)
ยิ่งวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมพัฒนาไปมากขึ้นระเบิดขว้างก็ถูกพัฒนาให้อานุภาพร้ายแรงตาม เช่นระเบิดลูกเกลี้ยงแบบM67ของสหรัฐ(ไม่ใช่ในภาพ)ซึ่งใช้แพร่หลายในกองทัพชาตินาโต สามารถสังหารชีวิตได้ชนิดที่ตายแน่ๆคือในรัศมี5เมตรและอาจบาดเจ็บสาหัสหรือน้อยกว่านั้นได้ในรัศมี15เมตร แต่เมื่อวัดจริงๆแล้วสะเก็ดของมันสามารถปลิวได้ไกลถึง230เมตร ในระยะนี้ต้อง”ซวย”จริงๆเท่านั้นถึงจะเจ็บหนักหรือตาย ลองหลับตานึกถึงภาพคนยืนกันเป็นกลุ่มกว้างไม่เกิน5เมตรแล้วโยนระเบิดลูกเกลี้ยงเข้าไปเถิด จะเข้าใจได้ว่าคงต้องตายไม่ต่ำกว่าห้าคน และหากขว้างไปแล้วคนขว้างยังยืนดูก็คงไม่แคล้วเป็นเหยื่อระเบิดของตัวเองเหมือนกัน
ทั้งที่มันสามารถส่งทั้งสะเก็ดและแรงอัดได้รุนแรง แต่อานุภาพของระเบิดขว้างยังต้องขึ้นอยู่กับที่ที่ใช้ด้วย ถ้าเป็นที่โล่งแม้สะเก็ดจะกระเด็นได้แรงเท่าเดิมแต่แรงอัดจะลดลง แต่ถ้าใช้ในอาคารผู้เป็นเหยื่อระเบิดจะได้รับทั้งแพคเกจคือแรงอัดและสะเก็ด เพิ่มอำนาจการทำลายได้มากกว่าใช้ในที่โล่ง
ในภาพคือระเบิดแบบต่างๆเรียงลำดับกันไปจากซ้ายมาขวา ตั้งแต่ระเบิดสังหารบุคคล ระเบิดควัน และระเบิดแสง M26ซ้ายสุดคือระเบิดสังหารบุคคลที่เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าระเบิดลูกเกลี้ยง ถูกดัดแปลงมาจากระเบิดน้อยหน่า(MKII)ที่เห็นกันบ่อยๆในภาพยนตร์ แม้จะดูเกลี้ยงเกลาดีแต่ภายในนั้นเนื้อโลหะถูกบากไว้แล้วเพื่อให้กระจายตัวได้ดีกว่าบากไว้ข้างนอก มันถูกบรรจุไว้ด้วยสารคอมโพสิชั่นBชั้นในสุดรอบแกน ถัดออกมาคือเนื้อสะเก็ดที่บากร่องไว้และชั้นนอกสุดคือเปลือก M26รุ่นแรกบางล็อตมีปัญหาระเบิดด้านหรือแค่พ่นไฟฟู่จึงถูกพัฒนาเป็นM26A1และA2ซึ่งระเบิดได้ดีขึ้น และมีคลิปนิรภัยติดกระเดื่องให้ผู้ใช้มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเองยิ่งขึ้น
ถัดมาคือระเบิดควันM18มีลักษณะแตกต่างคือเป็นทรงกระบอก น่าจะเรียกว่ากระบอกควันมากกว่าระเบิดควันเพราะไม่มีสะเก็ดไม่มีเสียงแต่ให้ควันคลุ้ง ทำงานเหมือนระเบิดสังหารตรงที่ต้องดึงสลักแต่จริงๆแล้วฆ่าใครไม่ได้เลยเพราะพ่นแต่ควันสีต่างๆตลบอบอวล เพื่อบอกตำแหน่งเป้าหมายให้อาวุธหนักทำลายหรือบอกตำแหน่งผู้ใช้เพื่อขอความช่วยเหลือ จะใช้เป็นฉากควันบดบังการเคลื่อนไหวของหน่วยก็ได้ มันให้ควันเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารต่างๆคือโปตัสเซียมคลอเรท แลคโทสและสี เมื่อพ่นควันตัวกระบอกจะร้อนจัดและจะร้อนอยู่นานแม้ควันหมดแล้ว
ขวาสุดคือระเบิดแสงแบบM84หรือเรียกได้อีกอย่างว่า”แฟลช แบง” เป็นระเบิดแสงแบบมาตรฐานใช้ในกองทัพสหรัฐและประเทศพันธมิตร ภายในบรรจุไว้ด้วยแอมโมเนียมและแม็กนีเซียม เมื่อถูกจุดระเบิดจะให้แสงสว่างวาบนับหลายล้านแรงเทียนลอดออกจากรูข้างตัว ถูกสร้างเป็นเหลี่ยมเพื่อให้โยนแล้วไม่กลิ้งเพื่อระเบิดตรงเป้าหมาย คนอยู่ใกล้ระเบิดชนิดนี้จะหูอื้อและตาพร่าอาจมีเลือดออกหูด้วยถ้าห้องเล็กทำให้แรงอัดเพิ่ม แต่ไม่ตาย ถูกใช้มากที่สุดในสถานการณ์ชิงตัวประกันเมื่อต้องการให้เป้าหมายหยุดกิจกรรมและตำรวจเข้าจับกุมได้ง่ายไม่เสียเลือดเนื้อ
รายละเอียดและความเป็นมาทั้งหมดนี้ คือการแสดงให้เข้าใจถึงความแตกต่างและวัตถุประสงค์ของระเบิดแต่ละประเภท เพื่อผู้พบเห็นและสื่อได้เข้าใจและแยกแยะให้ออกระหว่างระเบิดสังหาร ระเบิดควันและระเบิดแสงซึ่งทั้งสามชนิดนี้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สังหารชีวิตเหยื่อได้ และผู้ที่ใช้ระเบิดสังหารได้จริงๆคือทหารหรือต.ช.ด.ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อปราบกบฏหรือปราบจลาจลในทุกกรณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น