วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

“พรีเดเตอร์”...ทางออกของปัญหาคาร์ บอมบ์



เมื่อกองทัพสหรัฐฯเข้าครอบครองกรุงแบกแดดและอิรักทั้งประเทศในปี2003 ทุกอย่างดูเหมือนง่ายดายหลังจากการปะทะประปรายกับกองกำลังอันอ่อนเปลี้ยของซัดดาม ฮูเซนเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทหารจีไอสูญเสียเพียงหลักร้อยทั้งตายและเจ็บ เทียบกับกองทัพอิรักและกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ”รีพับลิกัน การ์ด”ที่ถูกทำลายด้วยตัวเลขมากกว่ากันหลายเท่า ครั้งนั้นสหรัฐฯชนะด้วยเทคโนโลยีเหนือชั้นและยุทโธปกรณ์ครบครัน กองทัพสหรัฐฯที่ออกตัวว่าเป็น”กองทัพที่มียุทโธปกรณ์ครบถ้วนที่สุดในโลก” ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อ สรรพกำลังทุกรูปแบบถูกขนมาถล่มแบบไม่เสียดาย จากสงครามอ่าวครั้งแรกเมื่อเข้าปลดปล่อยคูเวต ครั้งที่2เมื่อรุกเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงอิรักโดยตรง ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปลดปล่อยชาวอิรักจากการปกครองระบอบทรราชย์ของซัดดาม ฮูเซน
ถึงกองทัพสหรัฐฯจะคุ้นเคยกับสงครามกองโจรมาตั้งแต่สมัยบุกเบิก เคยชนะเมื่อครั้งปลดแอกจากอังกฤษก่อนได้ประธานาธิบดีคนแรก และเผชิญกับสงครามรูปแบบนี้เสมอมาจนถึงสงครามเวียตนาม แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จในการเอาชนะได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้เทคโนโลยีจะเหนือกว่า แต่เมื่อฝ่ายต่อต้านมุดลงใต้ดินแล้วเล่นลอบกัดเพราะเป็นยุทธวิธีที่ถนัดและลงทุนน้อย กองทัพที่ยุทโธปกรณ์พร้อมที่สุดในโลกก็ยังย่ำแย่ ยอดจำนวนทหารที่เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มรุกรานในปี2003ถึงปัจจุบัน นับรวมได้เกือบครึ่งหมื่นและยังทวีจำนวนขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป แม้จะประกาศถอนทหารแล้วแต่ไพร่พลยังสูญเสีย
สาเหตุแห่งความสูญเสียส่วนใหญ่มาจากระเบิดแสวงเครื่องหรือ”IED”(Improvised Explosive Devices) ที่ฝ่ายต่อต้านสร้างจากหัวกระสุนปืนใหญ่หรือวัตถุระเบิดอะไรก็ตามแต่จะหาได้ในท้องที่ ซ่อนพรางไว้ในรถยนต์หรือที่ซ่อนเร้นริมถนนในเส้นทางที่ทหารอเมริกันใช้ เมื่อการลาดตระเวนในถนนทำให้อเมริกันเสียเปรียบเพราะเล่นเกมตามศัตรู ทางออกคือต้องบีบให้ศัตรูต้องเล่นตามเกมของตน ต้องเป็นเกมที่เพนทากอนคุมได้และที่สำคัญคือต้องไม่สูญเสีย คำตอบคือการลาดตระเวนทางอากาศ สอดแนมด้วยยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง สิ้นเปลืองน้อยทั้งกำลังพลและทรัพยากร ในรูปอากาศยานไร้นักบินหรือUAV(Unmanned Aerial Vehicles)
ในยุคของการทำสงครามที่ไม่ได้ตัดสินกันแค่จำนวนกำลังพลอย่างเดียว แต่การช่วงชิงข้อมูลข่าวสารคือหัวใจสำคัญ การมองเห็นฝ่ายตรงข้าม ปรับตัว ตัดสินใจ และใช้อาวุธได้ก่อน(หรือการจบกระบวนการOODAได้ก่อนข้าศึก ตามที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องของจอห์น บอยด์)คือความได้เปรียบ อากาศยานไร้นักบินจึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวความคิดดังกล่าว มันถูกใช้อย่างได้ผลทั้งการลาดตระเวน สอดแนมและแม้แต่ติดอาวุธทำลายเป้าหมาย สมาชิกระดับสูงของโอซามา บิน ลาเดนหลายคนพลาดท่าถูก”Predator”UAVรุ่นหนึ่งของซีไอเอถล่มแหลก ไม่นับรวมถึงเป้าหมายน้อยใหญ่อีกมากที่พินาศไปเพราะUAV
มันถูกใช้มากขึ้นด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นคือบินได้นาน10-15ชั่วโมงในพื้นที่เป้าหมาย ระหว่างนักบินนั่งโยกคันบังคับพร้อมกาแฟและคุกกี้อยู่ในศูนย์บัญชาการห่างไกลเป็นหมื่นก.ม. ขณะเครื่องบินขับไล่อย่างF-16บินได้แค่4-5ชั่วโมงและนักบินต้องเสี่ยงถูกยิงตก มีต้นทุนสูงทั้งเชื้อเพลิง,ตัวเครื่องบิน,ระบบอาวุธและชีวิตนักบิน
UAVถูกใช้ในอิรักทั้งช่วงเปิดศึกและช่วงยึดครอง และเมื่อกองทัพสหรัฐฯบางส่วนต้องถอนกลับUAVก็เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ตัวเลขจากถ้อยแถลงของเพนทากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯกำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากการใช้ทหารภาคพื้นดินมาเป็นอากาศยานไร้นักบินมากขึ้น ประมาณว่าใช้UAVทุกแบบไปแล้วรวมกว่า500,000ชั่วโมงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนนักบินที่บินเครื่องบินจริงก็ถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตอื่นซึ่งเสี่ยงภัยน้อยกว่า การเพิ่มเที่ยวบินของUAVในทุกเหล่าทัพของสหรัฐฯโดยเฉพาะในอิรัก เป็นความพยายามมหาศาลเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบข้าศึกและลดความสูญเสียของฝ่ายตนมากที่สุดในรอบ25ปี หลังจากสหรัฐฯทำสงครามน้อยใหญ่หลายครั้ง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกากลางและยุโรป
การใช้UAVเพิ่มขึ้นในกรุงแบกแดดช่วงฤดูร้อน เป็นไปอย่างเหมาะเจาะพร้อมเพรียงกับการเพิ่มกำลังทหารเพื่อเร่งบดขยี้กองกำลังผู้ก่อการร้าย ยิ่งรัฐบาลประกาศถอนทัพกลับบ้านไปบางส่วน UAVก็ยิ่งบินมากขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนครั้งของการลาดตระเวนภาคพื้นดินที่ลดลง UAVหลายรุ่นได้ถูกกองทัพสหรัฐฯใช้อย่างคุ้มค่าทั้งเพื่อลาดตระเวนสอดแนมและทำลายเป้าหมาย พรีเดเตอร์(Predator),โกลเบิล ฮอว์ค(Global Hawk),แชโดว์(Shadow),ฮันเตอร์(Hunter)และเรฟเวน(Raven)คือนามของUAVที่จะปรากฏในข่าวสงครามตะวันออกกลางถี่ขึ้นในอนาคต
จากหลักนิยมใหม่ในการลาดตระเวนนี้ นักบินจากกองทัพอากาศจำนวน120นายที่เดิมเคยขับทั้งเครื่องบินขับไล่และโจมตี ได้ถูกย้ายไปทำหน้าที่ควบคุมUAVเพื่อสนองภารกิจใหม่ แทนที่จะทนร้อนเพราะแดดแผดเผาในอิรัก นักบินเหล่านี้จะได้ควบคุมอากาศยานไร้นักบินจากสถานที่อันห่างไกลเช่นฐานทัพอากาศเนลลิสในเนวาดา ซึ่งพวกเขาต้องควบคุมพรีเดเตอร์ หนึ่งในระบบUAVที่ใหญ่และสลับซับซ้อนที่สุดแทนเครื่องบินจริงอันคุ้นเคย
ทหารในกองกำลังรักษาดินแดนหรือ”เนชันแนล การ์ด”ก็ถูกเรียกมาเพื่อควบคุมระบบนี้เช่นกัน และจะมากขึ้นเรื่อยๆในปีนี้ ฐานทัพอากาศในนอร์ธเดโกตา,เท็กซัส,อาริโซนาและแคลิฟอร์เนียจะถูกเสริมระบบเพื่อรองรับการใช้งานUAVที่เพิ่มขึ้น ระหว่างฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้วและช่วงต้นฤดูร้อนของปีก่อน ถึงกำลังพลของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก15เป็น20กองพลน้อย จากที่มีอยู่แล้ว135,000นายกลายเป็น165,000นาย แต่ในจำนวนนี้5กองพลน้อยได้ถูกถอนกลับ ตามคำสั่งของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคมปี2007
การเพิ่มปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯทั่วอิรักเมื่อฤดูร้อนปีก่อน ทำให้ต้องเพิ่มเที่ยวบินของUAVขึ้น มันถูกใช้แพร่หลาย ถูกกองทัพแจกจ่ายภารกิจถ้วนทั่วตั้งแต่ระบบใหญ่และซับซ้อนที่สุดอย่างพรีเดเตอร์ ที่ทำได้ตั้งแต่การสอดแนมไปจนถึงปล่อยอาวุธทำลายเป้าหมาย ไปจนถึงระบบราคาถูกกว่าและซับซ้อนน้อยที่สุดอย่างเรฟเวน ตัวอย่างอันเด่นชัดที่สุดได้เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในเมืองบาลัดของอิรัก เมื่อพรีเดเตอร์จับภาพผู้ก่อการร้าย3คนกำลังใช้เครื่องยิงลูกระเบิด(ค.)ถล่มที่มั่นของทหารสหรัฐฯได้ ภาพที่เห็นชัดเจนทำให้ผู้บังคับยานตัดสินใจยิงอาวุธปล่อยทำลายเป้าหมายสำเร็จ โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตทั้งนักบินและกองกำลังภาคพื้นดิน
กองทัพอากาศสหรัฐแถลงว่าเฉพาะพรีเดเตอร์เพียงแบบเดียว เที่ยวบินของมันก็เพิ่มขึ้นมากแล้วจาก2,000ชั่วโมงในเดือนมกราคมเป็น4,300ชั่วโมงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเดือนพฤศจิกายนกับธันวาคมก็เพิ่มชั่วโมงบินลาดตระเวนรบขึ้นจากวันละ14มาเป็น18ชั่วโมง โกลเบิล ฮอว์คซึ่งเป็นUAVอีกแบบยังเพิ่มเที่ยวบินขึ้นด้วยระหว่างกองทัพอากาศเพิ่มระบบUAVขึ้นเป็น3ระบบ จากเดิมเคยใช้งานอยู่2ระบบ ระบบที่ใช้แพร่หลายที่สุดเพราะราคาถูกและใช้ง่ายที่สุดคือเรฟเวน UAVน้ำหนัก2ก.ก.ของกองทัพบกที่ใช้งานระยะใกล้ด้วยการปล่อยจากมือ เที่ยวบินของมันทะลุ300,000ชั่วโมงไปเรียบร้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นสองเท่าของปี2006
กองทัพบกสหรัฐฯมีUAVใช้อยู่รวม361เครื่องเฉพาะที่อิรัก ประกอบด้วยแชโดว์,ฮันเตอร์และเรฟเวน ทั้งหมดนี้บินรวมกันได้300,000ชั่วโมงในช่วงสิบเดือนแรกของปี2007 UAVเหล่านี้มีคุณประโยชน์มากพอที่ผู้บังคับหน่วยรบจะพยายามสุดความสามารถเพื่อให้ได้มันมา เพราะใช้ง่าย น้ำหนักเบา ประหยัด และที่สำคัญคือมันลดความสูญเสียกำลังพลได้มาก แทนที่จะส่งทหารไปลาดตระเวนตามถนนสายต่างๆก็ส่งเรฟเวนหรือUAVอื่นไปแทน โอกาสที่ทหารจะเสียชีวิตเพราะคาร์บอมบ์ก็หมดไปแต่ได้ข้อมูลข่าวสารดีกว่า เพราะเป็นมุมมองจากอากาศ มองเห็นภาพพื้นที่ได้กว้างกว่า ระยะเวลาปฏิบัติการยังยาวนานกว่าใช้เครื่องบินขับไล่อย่างF16หรือเครื่องบินโจมตีเช่นA10 ซึ่งนักบินต้องเครียดและเสี่ยงชีวิต ต่างจากUAVที่บินสอดแนมได้ทั้งวันโดยทหารเปลี่ยนเวรกันมานั่งเฝ้าหน้าจอภาพ โยกคันบังคับบนเก้าอี้นุ่มในห้องแอร์เย็นสบาย
ตามรายงานที่เผยแพร่โดยเพนทากอน บ่งบอกว่าจะพัฒนาระบบรบ”ไร้มนุษย์”ให้ได้ผลดีขึ้นไปอีกใน25ปีหน้า อันอาจรวมถึงยานทำลายกับระเบิดควบคุมระยะไกล รถสายพานควบคุมระยะไกลติดปืนกลเบาเพื่อทำลายที่มั่นแทนการใช้ทหารราบ หรือยานดำน้ำฉลาดที่คิดเป็น สามารถหลบหลีกอุปสรรคเข้าไปทำลายที่หมายชายฝั่ง สำหรับอากาศยานไร้นักบินหรือUAV มันได้กลายเป็นระบบอาวุธที่เหมาะกับการทำสงครามปราบปรามการก่อการร้ายในปัจจุบันไปแล้ว ตัวเลขชั่วโมงบินที่เพิ่มขึ้นในอิรักได้พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ลดความสูญเสียได้จริง
แล้วกองทัพไทยของเราล่ะสนใจUAVบ้างหรือเปล่า? คำตอบคือเรามีระบบอาวุธนี้ใช้งานเหมือนกัน เท่าที่ทราบคือของกองทัพบกมีUAVนำเข้าจากอิสราเอล และที่กองทัพอากาศกำลังพัฒนาอยู่ในขั้นทดลอง อีกนานเท่าไรจึงจะสัมฤทธิ์ผลนั้นยังตอบไม่ได้ ระบบของเราอาจไม่ซับซ้อนหรือส่งข้อมูลได้ไกลเท่ากับพรีเดเตอร์หรือระบบอื่นๆของสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะได้ประโยชน์จากมันมากกว่าที่เป็น ในภาวะข้าวยากหมากแพงเช่นนี้เรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์อาจดูเหมือนฟุ่มเฟือยในสายตาของคนบางกลุ่ม แต่จากตัวอย่างของสหรัฐฯในอิรักและอาฟกานิสถาน รัฐบาลไทยน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับระบบนี้มากกว่าเดิม
ถ้าUAVของสหรัฐฯลดความสูญเสียของทหารในกองทัพของเขาได้จริง มันก็น่าจะช่วยเราได้ในทำนองเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้จะคิดอะไรอยู่ก็โปรดผลักดันมันให้สำเร็จโดยเร็วเถิด ทหารหาญของเราเสียชีวิตใน3จังหวัดภาคใต้ไปมากแล้ว พวกเขาต้องสูญเสียเลือดเนื้อกันอีกเท่าไรกว่าจะพบสันติ ผู้ใหญ่ท่านใดในกองทัพจะให้คำตอบได้บ้าง?

1 ความคิดเห็น:

  1. อาจจะเป็นไปได้ว่า มันเป็นโครงการเล็กๆไม่ค่อยได้ผลต่างตอบแทนมั้งครับเลยไม่ค่อยสนใจ ไม่เหมือนเรือเหาะ รับอ้วกเลย

    ตอบลบ