วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

กฎการใช้กำลัง (Rules Of Engagement)



เราทราบกันว่าทหาร ตำรวจ และผู้รักษากฎหมายอื่นนั้นมีอาวุธ และสามารถใช้อาวุธได้ในสถานการณ์ต่างๆทั้งยามสงบและยามสงคราม แต่ก็ใช่ว่าจะใช้อาวุธหรือกำลังได้ตามอำเภอใจในเมื่ออาวุธนั้นร้ายแรงและทำให้ผู้ต้องอาวุธบาดเจ็บหรือล้มตาย และตัวผู้ใช้อาวุธเองก็ต้องรับโทษหากกระทำเกินกว่าเหตุ ผู้ถืออาวุธต้องรู้ว่าตนจะใช้อาวุธได้เมื่อไร ที่ไหนและอย่างไร ดังนั้น เพื่อให้การใช้อาวุธอยู่ภายในกรอบของกฎหมายและหลักมนุษยธรรมจึงต้องมีกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อเป็นหลักในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อเรียงลำดับขั้นตอนการคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจใช้กำลัง ก่อนจะพลาดพลั้งจนถูกดำเนินคดีอาญาหรือถูกไต่สวนตามวินัยทหาร
เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียทั้งของผู้ถืออาวุธเองและผู้ได้รับผลกระทบจากอาวุธ กฎเกณฑ์ที่ว่านั้นต้องง่ายแก่การจดจำ เป็นไปตามหลักเหตุผล เข้าใจง่าย เมื่อฝึกฝนจนขึ้นใจแล้วจะช่วยให้คิดตามได้โดยไม่ต้องท่อง เพราะแท้จริงแล้วกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกเขียนขึ้นจากสามัญสำนึกของมนุษย์เมื่อเผชิญเหตุการณ์คับขันนั่นเอง เพื่อบังคับการตัดสินใจให้”คิดก่อนทำ”เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย สามารถขยายผลจนลุกลามเป็นสงครามหรือการจลาจลได้ กฎนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า”กฎการใช้กำลัง”หรือที่ทราบกันทั่วโลกว่าRules Of Engagement (ROE)
กฎการใช้กำลังจะมีขึ้นในโลกตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นพร้อมความสำนึกในสิทธิมนุษยชน เมื่อมนุษย์ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้บริสุทธิ์ที่จะต้องไม่ถูกละเมิดด้วยกำลังอันเหนือกว่าของผู้ถืออาวุธ เพื่อป้องกันการบานปลายจากการใช้อาวุธเมื่อถูกยั่วยุเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือการทหาร ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรหากใช้”กฎการใช้กำลัง”อย่างระมัดระวังย่อมเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย
ถึงROEจะเป็นหลักการสากล แต่กองทัพนานาประเทศย่อมมีROEของตนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภูมิประเทศ โดยต่างยึดหลักการเดียวกันคือไม่ใช้กำลังโดยไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุ ใช้เท่าที่ทำได้เพื่อป้องกันตนเท่านั้น ขั้นตอนการตัดสินใจก่อนใช้กำลังของกองทัพอังกฤษอาจถูกแบ่งไว้ต่างจากกองทัพสหรัฐ ROEของทั้งสองประเทศอาจแตกต่างจากของกองทัพไทยในรายละเอียด แต่เมื่อการตัดสินใจใช้กำลังเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนแล้วผลลัพธ์ย่อมไม่แตกต่าง คือมุ่งเน้นให้ใช้กำลังอย่างมีสติและเท่าที่จำเป็น
สหรัฐอเมริกาคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศหลักๆ ที่ส่งกองกำลังไปรักษาสันติภาพสม่ำเสมอและบางครั้งก็รุกรานประเทศที่ขัดผลประโยชน์ ถึงจะเป็นมหาอำนาจแต่การใช้กำลังของทหารก็ใช่ว่าจะง่ายเมื่อมีROEมากำกับ ตัวอย่างชัดๆคือขั้นตอนการตัดสินใจใช้กำลัง ที่เหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯได้วางไว้ตามคู่มือการรบระยะประชิด ในรหัสMCRP 3-02B(Marine Corps Close Combat Manual 3-02B) โดยได้แบ่งขั้นตอนการตัดสินใจไว้เป็นระดับ(Level)ทั้งหมด5ระดับดังนี้ โดยการใช้กำลังนั้นมีตั้งแต่ตบ เตะ ทุบ ชก ตบด้วยพานท้ายปืนจนถึงเหนี่ยวไกลั่นกระสุนหรือใช้วัตถุระเบิดอันก่อเกิดความบาดเจ็บและเสียชิวิต
Level 1:(ปฏิบัติตามด้วยวาจา) เมื่อเป้าหมายยอมปฏิบัติตามคำสั่งด้วยวาจา ต้องไม่ใช้กำลัง
Level 2:(ขัดขืนคำสั่ง) เมื่อเป้าหมายขัดขืนคำสั่งด้วยวาจาแต่แรก แต่ยังยอมปฏิบัติตามเมื่อเข้าประชิดตัว ต้องไม่ใช้กำลัง
Level3 3: (ขัดขืนแล้วต่อต้าน) เป้าหมายขัดขืนคำสั่งและต่อต้านเมื่อเข้าประชิด ให้ใช้วิธีการเหมาะสมเพื่อควบคุมสถานการณ์ ให้ใช้กำลังเพื่อบังคับเป้าหมายปฏิบัติตามเช่นเข้าจับกุมด้วยมือเปล่า ใช้กระบองขัดในจุดเคลื่อนไหว ทำให้เจ็บปวดหรือกดทับร่างกายจนไม่สามารถขัดขืน
Level 4: (ขัดขืนแล้วทำร้ายร่างกาย) เป้าหมายเข้าโจมตีหลังได้รับคำสั่งแต่ไม่ใช้อาวุธ ให้ป้องกันตนเองได้โดยไม่ใช้อาวุธเช่นกันคือชก เตะ ทุบด้วยกระบอง ขวางและทุบด้วยอาวุธ ใช้แก๊ซน้ำตา
Level5: (จู่โจมด้วยอาวุธ) เป้าหมายใช้อาวุธและอาจทำอันตรายขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไม่หยุดกิจกรรมหลังถูกแจ้งเตือน ให้พิจารณาตอบโต้ได้ทั้งใช้อาวุธและไม่ใช้อาวุธ
จากตัวอย่างขั้นตอนทั้ง5 จะเห็นได้ว่าถึงเป็นทหารก็จริงแต่ก็ใช่ว่าจะสังหารใครก็ได้ตามอำเภอใจแม้เป้าหมายจะเป็นข้าศึก แต่ROEก็ยังมีข้อพิจารณาในการปฏิบัติอีกโดยมีสถานการณ์เป็นเครื่องกำหนด เช่นหากทหารเห็นเงาตะคุ่มในแนวรบยามค่ำคืน โดยไม่มั่นใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกันและอาจไม่ปลอดภัย การเหนี่ยวไกโดยไม่ต้องถามในตอนนั้นอาจไม่ขัดกับROE แต่มันอาจขัดกับROEได้ในยามปกติหากไม่ร้องถามหรือขานรหัสผ่านเสียก่อน อาจเข้าข่ายใช้กำลังเกินกว่าเหตุต้องถูกดำเนินคดีอาญาหรือขึ้นศาลทหาร
ROEจึงเป็นเสมือนเครื่องกลั่นกรองพฤติกรรมของผู้ถืออาวุธก่อนตัดสินใจ ข้อดีคือลดความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยต้องคำนึงถึงเป้าหมายสองประการที่สมดุลกัน คือการใช้กำลังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังโดยไม่จำเป็น แต่ก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งในโลกคือย่อมมีข้อเสียหากเคร่งเกินไปหรือวินิจฉัยผิดพลาด ในกรณีของROEข้อผิดพลาดเกิดจากสองประการคือ”เคร่ง”และ”หย่อน”เกิน
ถ้าเคร่งเกิน ROEจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งผู้บังคับหน่วยไว้ไม่ให้ปฏิบัติภารกิจได้เต็มประสิทธิภาพ คือการหยุดยั้งการกระทำของผู้นำทั้งทางทหารและการเมือง ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในกลุ่มผู้นำที่พยายามบรรลุผลในภารกิจ และบั่นทอนประสิทธิภาพของผู้นำหน่วยทหารที่ต้องการใช้กำลังให้บรรลุผลทางการยุทธการ เช่นไม่กล้าใช้กำลังทหารเพราะกลัวการสูญเสีย เกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในทางตรงกันข้ามถ้าหย่อนเกิน ROEอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ตามมา เช่นการปะทะตามแนวชายแดนแล้วบานปลายเป็นสงคราม
ดังที่ผมกล่าวตอนต้นบทความแล้ว ว่ากฎการใช้กำลังนั้นปรับใช้ได้ทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นตำรวจหรือหน้าที่อื่น นอกจากจะควบคุมลำดับขั้นการตัดสินใจของตัวบุคคล ROEยังถูกใช้ในระดับกองกำลังขนาดใหญ่ เช่นเมื่อเกิดการรุกล้ำชายแดนต้องแจ้งเตือน แจ้งเตือนแล้วยังเฉยก็ต้องยิงเตือน ยิงสกัดกั้นและทำลายเป้าหมายตามกันมาเป็นขั้นๆ หากไม่ทำตามนี้ก็จะเข้าข่ายปฏิบัติผิดขั้นตอนของROE นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ แต่กว่าจะขัดแย้งกันได้ขนาดนั้นจริงก็ต้องมีการสอบสวน ยื่นหนังสือประท้วงและกระบวนการอื่นๆทางการทูตอีกมากมายโดยเน้นที่การเจรจาหาข้อยุติมากกว่าใช้กำลัง
การใช้ROEจึงค่อนข้างละเอียดอ่อนต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ ในกองกำลังระดับสากลอย่างนาโตและสหรัฐนั้น กองทัพได้พิมพ์ROEเป็นการ์ดขนาดพกพาด้วยตัวอักษรอ่านง่าย แจกให้ทหารไว้คนละใบเพื่อเตือนสติตนก่อนใช้กำลัง โดยเฉพาะสหรัฐนั้นสำทับไว้ในตอนท้ายเป็นข้อๆด้วย เช่น1.สหรัฐไม่อยู่ในสภาวะสงคราม 2.ปฏิบัติตนต่อทุกคนด้วยความเคารพ 3.ใช้กำลังให้น้อยที่สุด 4.จงพร้อมปกป้องตนเองเสมอ ด้วยROEนี้ทหารจึงมั่นใจได้ว่าการใช้กำลังของตนในกรอบโดยควรแก่สถานการณ์ จะช่วยให้ปลอดภัยได้จากการถูกเอาผิด
กองทัพสหรัฐเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดภารกิจไว้ชัดเจนคือการป้องกันประเทศ ทหารอเมริกันจึงทำหน้าที่ด้านเดียวที่ต้องใช้อาวุธคือรบ กฎการใช้กำลังของเขาจึงชัดเจน หากจะปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ก่อการร้ายเขาก็มีหน่วยงานรองรับอยู่แล้วซึ่งใช้อาวุธเหมือนกัน มีROEเป็นระเบียบปฏิบัติเฉพาะ แต่ทหารและตำรวจไทยต้องรับภารกิจหลากหลายกว่า และด้วยทรัพยากรอันจำกัด กฎการใช้กำลังถูกมองข้ามในหลายๆกรณีจนเกิดปัญหา
โดยเฉพาะปัญหาการปราบจลาจลซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว เสี่ยงต่อความเสียหายของรัฐ ด้วยความไม่จัดเจนในROEจึงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อพ.ศ.2535 ในทางสากลนั้นห้ามแม้แต่การยิงปืนเตือนเพราะอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นการยิงทำร้าย เมื่อยิงขึ้นฟ้าย่อมมีตำบลกระสุนตก ได้ยินเสียงปืนแล้วผู้ชุมนุมจะพยายามหลบหนีจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ควบคุมฝูงชนได้ยากและทำให้เข้าใจไปได้ว่าถูกยิงใส่ ผลจึงปรากฏออกมาดังที่ทราบกัน
เมื่อพูดถึงสถิติการเกิดจลาจล จะพบว่าประเทศไทยอาจรับมือกับสภาวะการแบบนี้ไม่บ่อย แต่เมื่อใดที่เกิดเรื่องก็มักจะกลายเป็นปัญหาเรื่องความไม่เหมาะสมทุกครั้ง ตั้งแต่14ตุลาคม พ.ศ.2516จนถึงที่เพิ่งเกิดเมื่อ7ตุลาคมที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเราขาดแคลนบุคลากร ขาดการฝึกฝนและเครื่องมือ
แม้การใช้แก๊ซน้ำตาจะถูกต้องตามหลักสากล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนของROEแล้วก็ตาม แต่การใช้คนผิดประเภท(ใช้หน่วยSWATไปควบคุมฝูงชน)และอุปกรณ์หมดอายุนั้นส่งผลเสียต่อฝ่ายรัฐบาลได้แบบพลิกผัน ผู้มีอำนาจจึงควรใส่ใจให้มากทั้งเรื่องกฎการใช้กำลังและการฝึกฝนบุคลากร ตลอดจนอุปกรณ์การควบคุมฝูงชนซึ่งต้องมีไว้อย่างพอเพียงและถูกต้อง เหตุการณ์อย่าง7ตุลาคมอาจไม่ได้เกิดเป็นครั้งสุดท้าย หากเกิดขึ้นซ้ำคงไม่มีใครอยากให้ผู้ปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบธรรมต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอีก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น