วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

f-16 “เครื่องบินไฟฟ้า”(ตอนจบ)


เครื่องบินขับไล่F-16จำนวน12เครื่องแรกแบบใหม่ป้ายแดง เข้าประจำการในกองทัพอากาศไทยเมื่อปี1988ในโครงการจัดหาเครื่องบินรบ”พีซ นเรศวร 1” ทั้งล็อตนี้เป็นF-16บล็อค15 OCU( block15 : รุ่น 15, OCU : :Operation Capability Upgrade สามารถดัดแปลงติดอุปกรณ์เพิ่มขีดความสามารถได้) เป็นรุ่นAที่นั่งเดี่ยว8เครื่องรุ่นBที่นั่งคู่4เครื่อง อีก6เครื่องตามมาหลังจากนั้นไม่นานในโครงการพีซ นเรศวร2เพื่อให้ครบอัตรา1ฝูง18เครื่อง
ทั้งรุ่นAและBตามมาในโครงการพีซ นเรศวร 3และ4 เป็นฝูงที่สอง แต่ในพีซ นเรศวร4นี้เองที่เริ่มมีปัญหาเมื่อรัฐบาลสหรัฐสมัยที่วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน(บิล) คลินตันเป็นประธานาธิบดีประกาศว่าจะรับซื้อF/A18”ฮอร์เน็ต”ไว้เองเมื่อรัฐบาลนายชวน หลีกภัยตัดสินใจล้มโครงการเพราะมีปัญหาด้านงบประมาณ เงินที่จะซื้อF/A18ซึ่งจ่ายไปแล้วบางส่วนจึงถูกโยกมาซื้อF-16มือสองจำนวน16เครื่อง(รุ่นA 15เครื่องและรุ่นB 1เครื่องแบบADF:Air Defense Fighter) ให้เป็นF-16ฝูงที่สาม
ส่งมอบงวดแรกในเดือนตุลาคม 2002 ส่วนที่เหลือตามมาจนครบในเดือนกรกฎาคม 2003 บวกอีก2ลำในบล็อค10 OCUไว้เป็นอะไหล่ ล่วงมาถึงวันที่18 พฤศจิกายน 2004 สิงคโปร์ก็มอบF-16A 3เครื่องและBอีก4เครื่อง(มือสอง) รับมอบในเดือนมกราคมปีถัดมา เพื่อแลกกับการให้สิงคโปร์ใช้ฐานทัพอากาศในจังหวัดอุดรเพื่อฝึกเพราะประเทศเขาไม่มีที่ กองทัพอากาศไทยจึงมีF-16ใช้งานทั้งหมด61เครื่อง มีเพียงแบบADFเท่านั้นที่เป็นมือสอง
เมื่อพิจารณาถึงความแม่นยำในการทำลายเป้าหมายปัจจุบันเทียบกับสมัยสงครามโลกครั้งที่2 จะพบว่าผิดกันลิบลับทั้งปริมาณและคุณภาพ ในยุคนั้นหากจะทำลายโรงไฟฟ้าสักแห่งอาจต้องขนเครื่องบินทิ้งระเบิดไปเป็นร้อยๆลำ ไม่นับเครื่องบินขับไล่คุ้มกันในจำนวนใกล้เคียง ขณะที่ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์เพียงไม่กี่ลำ สามารถทำลายเป้าหมายแบบเดียวกันได้แต่แม่นยำกว่าและก่อเกิดความเสียหายข้างเคียงน้อย ตัวอย่างชัดเจนคือF-16ของอิสราเอลเพียง8เครื่องที่จัดหมู่บินอย่างชาญฉลาด หลอกล่อเรดาร์เร้นเข้าทำลายโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรักได้สำเร็จในปี1981
ด้วยเทคโนโลยี”ฉลาด”อย่างเครื่องกำหนดพิกัดภูมิศาสตร์GPS เครื่องบินเพียงลำเดียวสามารถยิงขีปนาวุธเข้าหน้าต่างบ้านใครก็ได้ ขอเพียงให้รู้ค่าพิกัดชัดๆเท่านั้นเรื่องความผิดพลาดแทบจะลืมได้เลย ปริมาณจึงไม่สำคัญเท่าคุณภาพและความแม่นยำ หากดูจากจำนวนเครื่องบินทั้งขับไล่และโจมตีเจ็ตของเราทั้งF-5,F-16,L-39และอัลฟาเจ็ตซึ่งนับว่ามาก เมื่อเทียบกับพม่าและมาเลเซียโดยยังไม่ต้องมองลาวกับเขมรซึ่งแทบไม่มีขีดความสามารถครองอากาศได้(ในตอนนี้) แต่ความมากในปริมาณนั้นคงไม่มีประโยชน์เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยี
ตามที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้วว่าF-16ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของเราในตอนนี้อยู่ในรุ่นที่4 ใช้เทคโนโลยีในทศวรรษ1980และจะใช้งานได้ถึงปี2010หรือเลยกว่านั้นไปเล็กน้อย เพราะเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่าทั้งด้านการสร้างตัวเครื่องบิน ระบบอาวุธและเครื่องช่วยเดินอากาศ(เอวิโอนิก)ของรุ่น4.5จะเข้ามาแทนที่ ในยุคข้อมูลข่าวสารสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในทุกเรื่อง มันเอนกประสงค์ก็จริง อัพเกรดทั้งตัวเครื่องและระบบคอมพิวเตอร์ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ค้ำฟ้า ยิ่งเมื่อเผชิญกับเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่า ช่วยให้นักบินบินได้ง่ายกว่า รับรู้สถานการณ์รอบตัวเพื่อตัดสินใจใช้อาวุธได้มากกว่า ที่สำคัญคือเราสามารถอัพเกรดF-16ได้”ถึง”ตามสเปคของมันได้แค่ไหน ในเมื่อติดขัดด้านงบประมาณเป็นอาจิณอยู่อย่างนี้ ประกอบกับสหรัฐเองที่ขายอาวุธเหมือนไม่จริงใจเหมือนขายรถยนต์แบบไม่มีออพชั่น เมื่อมีทางเลือกที่”ให้อะไรๆ”กับเราได้มากกว่า ช่วยให้เรายืนบนขาของตัวเองได้มั่นคงกว่าเราก็ต้องเลือก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะตัดญาติขาดมิตรจากสหรัฐเสียทีเดียวในเมื่อยังต้องพึ่งพาอะไหล่และบริการเกี่ยวกับF-16
เทคโนโลยีเครื่องบินรบที่ดีกว่า ย่อมหมายถึงอัตราอยู่รอดของเครื่องบิน(ราคาแพง)และชีวิตของนักบิน(ประมาณราคามิได้)ย่อมสูงตาม ตัวอย่างชัดๆคือเมื่อเครื่องบินF-22”แรปเตอร์”ของอเมริกาเริ่มทยอยเข้าประจำการ มันยิงF-15ตกทุกลำในการซ้อมรบ เพราะเทคโนโลยีสูงกว่าช่วยให้นักบินหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์ได้ดีกว่า เข้าสู่กระบวนการOODAเพื่อตัดสินใจใช้อาวุธได้เร็วกว่าทั้งที่ระบบอาวุธเหมือนกัน เมื่อเทคโนโลยีและการทำสงครามด้วยเครือข่าย(Network Centric Warfare : NCO)ของฝ่ายใดมีศักยภาพสูงกว่าเมื่อนั้นจำนวนก็ไม่จำเป็น เทคโนโลยีของF-22สูงจนตัวมัน1เครื่องแทนที่F-16ได้5เครื่อง!
ด้วยF-16ทั้ง3ฝูงของเราที่จะปลดประจำการฝูงแรกในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า กับF-5รุ่นEและFที่จะปลดในเวลาไล่เลี่ยกัน กองทัพอากาศจำเป็นต้องมีเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ไว้ใช้ตามวาระ และด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ถ้าจะจัดหาทดแทนมันก็ต้องใช้เงินที่ถูกเจียดมาให้คุ้ม แม้JAS-39”กริปเปน”จะมีขีดความสามารถพอฟัดพอเหวี่ยงกับF-16เดิม แต่ด้วยระบบเครือข่ายใหม่ที่มาพร้อมกันจะช่วยให้ลูกหลานนักบินของเรามีอัตราการอยู่รอดสูงขึ้น หากจะถามว่ากริปเปนแค่12เครื่องที่ยังไม่เต็มฝูงด้วยซ้ำจะพอหรือกับการปกป้องน่านฟ้า? คำตอบคือมันไม่พอหรอกเพราะนักบินจะอยู่รอดได้ในยุทธิเวหาต้องมีกำลังเครื่องบินขับไล่18ลำ เป็นดังนี้เพราะเมื่อนำอัตราการสูญเสีย(attrition rate)มาคิด จำนวนฝูงละ18ลำคือตัวเลขที่ปลอดภัย ได้มาแค่นี้ก็เต็มกลืนแล้วสำหรับชาติจนๆอย่างเรา
เราไม่เลือกF-16รุ่นCและDในบล็อค40ซึ่งใหม่กว่าบล็อค15 OCUเดิมไม่ใช่เพราะแพง แต่เพราะเขาขายแต่ตัวเครื่องซ้ำยังเรื่องมากในเรื่องระบบอาวุธ ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถึงต่อไปจะขุดพบน้ำมันดิบในอ่าวไทยจนชาติเราร่ำรวยเป็นอันดับ1ของโลก มีเงินซื้อระบบอาวุธที่ว่าดีที่สุดของอเมริกาเขาก็ไม่ขาย ถ้าเพนทากอนกับสภาความมั่นคงของเขาไม่เล่นด้วย การได้กริปเปนมาแทนที่จะเป็นF-16จึงน่าจะเป็นสิ่งที่มากกว่าแค่ได้เครื่องบินใหม่ เพราะสิ่งที่ติดมาพร้อมตัวเครื่องคือระบบเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศประสิทธิภาพสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สหรัฐมีแต่ไม่ให้ รวมทั้งทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลากรอีก200ทุนที่น่าจะมีประโยชน์ในระยะยาว ต่อกองทัพอากาศและอุตสาหกรรมการบินของไทยมากกว่าเครื่องบินรบใหม่แค่12เครื่อง
จากการยุทธที่ผ่านมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2ถึงสงครามอ่าว2ครั้ง กำลังทางอากาศคือปัจจัยสำคัญที่ต้องมีเมื่อเกิดความขัดแย้งและต้องอาศัยการพัฒนาในระยะยาว จะซื้อเครื่องบินรบ1เครื่องนั้นไม่ใช่แค่หอบเงินไปวางดาวน์ ถอยออกมาก่อนแล้วผ่อนเป็นงวดๆเหมือนรถยนต์ มันต้องใช้เวลาดำเนินการตามกระบวนการมากมายตั้งแต่ทำโครงการจัดหา ของบประมาณ เลือกแบบ ผลิตเครื่องบินรวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับภารกิจของผู้ใช้งานและส่งนักบินไปฝึกบิน ซึ่งต้องใช้เวลา1-3ปี
ขณะนี้แม้จะไม่มีภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านแต่ก็ใช่ว่าเราจะหยุดพัฒนากำลังรบ มีใครจะรับประกันได้บ้างว่าเขมรจะไม่ถูกหวยรวยน้ำมัน,แร่ แล้วฮึกเหิมจนอยากรบเพื่อฮุบเขาพระวิหารไปทั้งลูก(เราแพ้คดีก็จริงแต่ก็เป็นของเขาแค่ตัวปราสาทฯ)? ใครจะกล้าสัญญาได้ว่าวันหนึ่งวันใดข้างหน้ามาเลเซียจะไม่ทวงถามสิทธิ์ใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมกำลังทางอากาศหนุนหลัง? ถ้าพม่าโจมตีชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนจนรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาล่ะจะใช้เครื่องบินอะไรไปสกัดกั้น?
ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่จะแก้ไขได้ชั่วข้ามคืน นักยุทธศาสตร์ทั้งหลายย่อมเข้าใจ กองทัพต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องตามเทคโนโลยี เราอาจไม่ต้องเลือกซื้อเครื่องบินขับไล่เจ็ตไฮ-เทคก็ได้ถ้าเพื่อนๆยังใช้เครื่องบินปีก2ชั้น แต่นี่มันไม่ใช่ ในเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปทุกวันโดยเฉพาะเทคโนโลยีทางทหาร
ไทยเรากอดคอเป็นพันธมิตรกับสหรัฐมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2 การใช้ระบบอาวุธของสหรัฐมาตลอดจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราคุ้นเคย แต่บางครั้งเมื่อเราต้องการ”มีอะไรๆเป็นของตัวเอง”บ้างและมีโอกาสเราก็ต้องเลือก ด้วยความสำคัญทางภูมิศาสตร์ของเรานั้นคงยากที่สหรัฐจะทอดทิ้ง ในอนาคตเมื่อF-16กลายเป็นเหยี่ยวชราถึงคราวต้องปลดประจำการ ย่อมมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะกลับไปพึ่งพาเครื่องบินรบสัญชาติสหรัฐอีก จะเป็นF-35”ไลต์นิ่ง2”หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ยังดูจะคุ้มกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินรัสเซียที่หนัก เทอะทะ ค่าบำรุงรักษาแพง กินน้ำมันมากกว่าและดูจะไม่เหมาะสมเลยกับสภาพเศรษฐกิจของเรา
เมื่อสองปีที่แล้วเครื่องบินขับไล่F-5พบอุบัติเหตุตก2เครื่องภายใน3เดือน มีแต่เสียงก่นด่ากองทัพอากาศพร้อมเพรียงกันว่าใช้แต่เครื่องบินเก่า แต่พอเขาจะจัดหาเครื่องบิน”ทดแทน”ที่ไม่ได้ทำให้เพิ่มจำนวนขึ้นก็มีเสียงตำหนิตามมาอีกว่าสิ้นเปลือง ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือตั้งคำถามว่าจะซื้อไปทำไมในเมื่อรอบบ้านนี่ก็เพื่อนๆกันทั้งนั้น?
การมีเครื่องบินรบใหม่เพื่อ”ทดแทน”ของเดิมที่จะทยอยปลดประจำการ อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้และน่าจะล้มเลิกโครงการเอาเงินมาทำอย่างอื่น ตามที่บางท่านเคยเสนอความคิดเห็นไว้ก็จริง แต่ขอให้ลองเปรียบเทียบดูกับรั้วบ้านของท่านเถิดว่ามีไว้มันก็ไม่ก่อให้เกิดรายได้เหมือนกัน ลองทุบรั้วเอาอิฐไปขายแล้วทิ้งบ้านไว้สักอาทิตย์ ท่านอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่าเราจำเป็นต้องมี”รั้วบ้าน”ที่แข็งแรงเอาไว้ทำไม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น