วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

UNTERSEEBOOT



ในการทำสงครามใหญ่เต็มรูปแบบที่ต้องอาศัยกำลังทัพทั้ง3เหล่า กองทัพจะระดมสรรพกำลังทั้งหมดที่มีมาใช้เพื่อช่วงชิงความเป็นต่อจากฝ่ายตรงข้าม ต่างพยายามครองอากาศให้ได้ ช่วงชิงพื้นที่ทางบกให้มากที่สุด และรูปแบบหนึ่งของการช่วงชิงความได้เปรียบที่เกิดขึ้นก่อนยุคสมัยของเครื่องบินคือการครองน่านน้ำ อังกฤษเป็นประเทศเล็กที่มีอาณานิคมอยู่ทั่วโลกได้ด้วยกองเรือแข็งแกร่ง สเปนคืออีกชาติที่ครอบครองอาณานิคมได้มากมายด้วยกองเรือผิวน้ำ แต่ดุลแห่งอำนาจเปลี่ยนไปเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคการทำสงครามด้วยเรือดำน้ำ อานุภาพของอาวุธสงครามชนิดนี้ปรากฎชัดในสงครามโลกครั้งที่1 และมาโดดเด่นในอีก20กว่าปีหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่2ระเบิดขึ้นในยุโรป
อังกฤษหวิดสิ้นชื่อเพราะเรือดำน้ำลำเล็กแล่นเร็ว และยุทธวิธีใหม่ๆของเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่2มันกลายเป็นมีดจ่อคอหอยของสองประเทศคู่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์อานุภาพร้ายแรง แล่นไปทั่วน่านน้ำสากลแบบฝ่ายตรงข้ามแทบไร้หนทางตรวจจับ สงครามนิวเคลียร์เกิดได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส เมื่อจรวดติดหัวรบพุ่งจากใต้น้ำเข้าสู่แผ่นดิน
กว่าเรือดำน้ำจะพัฒนามาจนมีรูปแบบและอานุภาพร้ายแรงเช่นทุกวันนี้ มันมีวิวัฒนาการมานานนับเกือบ400ปีนับแต่เรือดำน้ำเพื่อสำรวจลำแรกของโลกจากการออกแบบของวิลเลียม เบิร์น นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ สร้างโดยคอร์เนเลียส เดรบเบลวิศวกรชาวเนเธอร์แลนด์ ตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์เจมส์ที่1แห่งอังกฤษเมื่อค.ศ.1620 ด้วยหลักการง่ายๆจากความคิดว่าเอาระฆังคว่ำบนผิวน้ำแล้วจะเกิดช่องว่างมีอากาศให้หายใจได้ ต่อจากนั้นก็พบกับความสำเร็จและล้มเหลวหลายครั้ง แต่ไม่มีการพัฒนาจริงจังเพราะยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรนอกจากเป็นของเล่นของกษัตริย์
เรือดำน้ำเพื่อการสงครามลำแรกเป็นรูปร่างขึ้นในค.ศ.1775 ด้วยรูปทรงเหมือนถังเหล้าไม้โอคและชื่อตลกๆว่า”เต่า”(Turtle)มีพลประจำเรือคนเดียว จากฝีมือการออกแบบของวิศวกรอเมริกันชื่อเดวิด บุชเนล วัตถุประสงค์แรกเริ่มคือเคลื่อนที่ด้วยตัวเองเข้าไปใกล้เรือผิวน้ำของอังกฤษ ได้จังหวะก็ใช้สกรูหัวเรือเจาะใต้ท้องเรือติดระเบิด เหยื่อของเรือดำน้ำลำแรกของโลกคือเรือหลวงอีเกิล(HMS Eagle) เรือธงของอังกฤษระหว่างปิดล้อมอ่าวนิวยอร์กในวันที่7กันยายน ค.ศ.1776ระหว่างสงครามอิสรภาพจากการปกครองของอังกฤษ โชคดีของอังกฤษที่เอสรา ลีผู้ควบคุมเรือเจาะท้องเรือไม่สำเร็จเพราะกระแสน้ำแรง
เรือดำน้ำทรงซิการ์รูปร่างเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเรือดำน้ำในยุคสงครามโลกครั้งที่1และ2ภายหลัง เกิดจากการออกแบบของวิลเฮล์ม เบาเออร์นักออกแบบชาวเยอรมัน ด้วยชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า”บรันด์เทาเคอร์”(Brandtaucher) เอากุสต์ โฮวัลท์วิศวกรชาติเดียวกันเป็นคนสร้าง มันขับเคลื่อนด้วยแรงลูกเรือ3นายที่เกือบตายหวุดหวิดเพราะแล่นไปได้ไม่ไกลก็จม
แนวความคิดจากเทอร์เทิลและบรันด์เทาเคอร์ถูกพัฒนา เมื่อมนุษย์เล็งเห็นคุณประโยชน์ของมันในการทำสงคราม ระหว่างสงครามกลางเมืองของสหรัฐ เรือดำน้ำเอช.แอล ฮันลีย์(H.L Hunley)ของฝ่ายใต้ติดหลาวมีปลายระเบิดกับหัวเรือ แล่นเข้าจมเรือยู.เอส.เอส.ฮูซาโทนิก(U.S.S.Housatonic)ของฝ่ายเหนือสำเร็จเมื่อวันที่18กุมภาพันธ์ ค.ศ.1864 บริเวณท่าเรือเมืองชาร์ลสตัน หลังจากพยายามมาแล้ว2ครั้งแต่ล้มเหลว ลูกเรือ8คนต้องสังเวยชีวิตไปครึ่งลำรวมทั้งโฮเรซ ลอว์สัน ฮันลีย์คนออกเงินสร้างที่จมไปพร้อมกับเรือในความพยายามครั้งที่3 เรือดำน้ำยุคแรกยังไม่มีพิษสงมากพอจะตัดสินผลแพ้ชนะสงครามทางทะเลได้ เพราะเทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวย จนกระทั่งโลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเครื่องยนต์สันดาปภายในและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้โฉมหน้าของเรือดำน้ำจึงเปลี่ยนไป
จอห์น ฟิลลิป ฮอลแลนด์นักประดิษฐ์ชาวไอริช ออกแบบเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลได้สำเร็จเมื่อค.ศ.1896 มันแล่นด้วยเครื่องยนต์ลอยปริ่มน้ำเวลาเดินทาง แล้วดำแล่นเข้าหาเป้าหมายด้วยพลังขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่ก่อนโจมตี เรือฮอลแลนด์6(Holland VI)ถูกปล่อยลงน้ำที่ท่าเรือเมืองนิวเจอร์ซีย์ในวันที่17พฤษภาคม ค.ศ.1897 หลังจากนั้นกองทัพเรือสหรัฐก็รับมันเข้าประจำการด้วยรหัสว่ายูเอสเอส ฮอลแลนด์(SS-1)เป็นเรือดำน้ำประจำการลำแรก ลิขสิทธิ์ของฮอลแลนด์ถูกซื้อไปสร้างเรือดำน้ำทั้งในอังกฤษ,รัสเซียและญี่ปุ่น ต่างทยอยส่งเรือดำน้ำแบบของตัวเข้าประจำการระหว่างค.ศ.1900-1905(สำหรับญี่ปุ่นนั้นสายเกินกว่าจะนำมาใช้ในยุทธนาวีรัสเซีย-ญี่ปุ่นในค.ศ.1905)
เรือดำน้ำยังไม่มีโอกาสออกศึกจริงจังจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่1ระเบิดขึ้น จาก”บรันด์เทาเคอร์”ชื่อได้ถูกเปลี่ยนให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นเป็น”Unterseeboot”(อุนเทอร์เซโบต(เยอรมัน)-submarine-undersea boat(อังกฤษ)=เรือดำน้ำ)หรือในชื่อย่อว่า U-Boot นักการทหารเชื่อสนิทว่ามันพลิกโฉมของสงครามได้จริง เมื่อ”เรืออู”ของเยอรมันจมเรือโดยสารชื่อลูซิทาเนียกลางมหาสมุทรแอตแลนติกจนทำให้สหรัฐกระโจนเข้าสู่สงคราม เป็นพันธมิตรกับอังกฤษและรัสเซีย เยอรมันแพ้สงครามครั้งนั้นแต่เครื่องยนต์และวิศวกรรมการต่อเรืออูยังพัฒนาไม่หยุดยั้งในทางลับ กองทัพเรือเยอรมันเล็งเห็นความสำคัญทั้งในด้านการทำลายกำลังทางเรือ และการปิดล้อมทางทะเลที่จะทำลายระบบเศรษฐกิจของข้าศึกให้ย่อยยับ โดยเฉพาะกับอังกฤษเป้าหมายหลักซึ่งเป็นประเทศเกาะต้องพึ่งพาวัตถุดิบและสินค้าต่างๆจากการขนส่งทางทะเล
ด้วยอาศัยช่องโหว่ของสนธิสัญญาแวร์ซายล์ที่จำกัดจำนวนแต่เรือผิวน้ำ เรือดำน้ำจึงถูกต่อขึ้นมามาก ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่2กองเรือดำน้ำเยอรมันใหญ่ที่สุดในโลกช่วงต้นสงคราม มันถูกพัฒนาต่อเนื่องในช่วงสงบภายใต้การจำกัดกำลังรบต่างจากกองเรือผิวน้ำที่มารื้อฟื้นเอาใหม่ตอนใกล้สงครามระเบิด “เรืออู”และยุทธวิธีไล่ล่าแบบ”ฝูงหมาป่า”(Wolf packs)จมเรือรบและเรือสินค้าอังกฤษได้มากและเร็วจนต่อใหม่ไม่ทัน เศรษฐกิจและกองทัพอังกฤษเริ่มย่ำแย่เพราะสินค้าและยุทโธปกรณ์ส่งตรงจากสหรัฐฯนับแสนๆตันถูกถล่มจมทะเล โชคของอังกฤษยังดีที่ช่วงชิงเครื่องเข้ารหัส”อีนิกมา”จากเยอรมันมาได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่และความพ่ายแพ้ของเยอรมันเองจากรัสเซียที่ทำให้การรังควานจากเรืออูอ่อนแรงไป
หลังสงครามโลกครั้งที่2สหรัฐกลายเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมการต่อเรือดำน้ำ ด้วยการต่อยอดการพัฒนาจากเรืออูไทพ์21(U-boat TypeXXI)ของเยอรมัน สุดยอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำช่วงปลายสงครามที่ยึดมาได้ การพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้สำเร็จก่อนชาติอื่นช่วยให้สหรัฐฯเป็นผู้บุกเบิกด้านเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เรือยูเอสเอส.นอติลุส(USS Nautilus (SSN-571)) เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลกและเป็นลำแรกด้วยที่พิชิตขั้วโลกเหนือสำเร็จ ลำต่อมาคือยูเอสเอส.ไทรตัน(USS Triton (SSRN/SSN-586))เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกที่เดินทางรอบโลกสำเร็จโดยไม่ลอยลำเลย
จากเรือดำน้ำแล่นผิวน้ำตลอดเวลาเว้นแต่ตอนจะโจมตี มาสู่ดำน้ำตลอด24ชั่วโมงด้วยพลังงานนิวเคลียร์ที่ให้พลังงานยาวนานโดยไม่ต้องลอยน้ำเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กลายเป็นอาวุธเชิงรุกน่าเกรงขามที่สหรัฐและโซเวียตรัสเซียแข่งกันพัฒนา ถึงจะดำได้นานและไกลแต่ข้อจำกัดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์คือต้องใช้น้ำหล่อเย็นตลอดเวลาจากปั๊มเสียงดัง เรือดำน้ำเชื้อเพลิงดีเซล-ไฟฟ้าจึงยังถูกผลิตอยู่ในหลายประเทศเพราะเดินได้เงียบกว่า แต่ยังมีจุดอ่อนเดิมติดอยู่คือต้องลอยลำให้เครื่องยนต์ดีเซลชาร์จแบตเตอรี่
ด้วยข้อได้เปรียบคือดำได้ไกล,นานและตรวจจับยาก มีระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้มาก มีอาวุธป้องกันตัวคือตอร์ปิโดและอาวุธทำลายเป้าหมายบนแผ่นดินคือจรวดนิวเคลียร์แยกหัวรบ จึงกลายเป็นอาวุธลับสำคัญช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและโซเวียตรัสเซีย เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศแล่นในทะเลเปิดมากพอกัน ต่างพยายามแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีให้ดำได้เงียบและลึกที่สุด เข้าไปใกล้เขตอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุดพร้อมเปิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกหากถูกโจมตีก่อน ต่างฝ่ายต่างทราบตำแหน่งเรือดำน้ำของฝ่ายตรงข้ามน้อยมากเว้นแต่จะเกิดความขัดข้องให้ลอยลำขอความช่วยเหลือกันจริงๆ
เท่าที่เป็นข่าวคือโซเวียตเสียเรือดำน้ำไป4ลำในช่วงเวลาดังกล่าว คือเรือK-129(1968),K-8(1970),K-219(1986) และเรือคอมโซโมเลตส์ที่เคยทำสถิติดำลึกที่สุดในหมู่เรือดำน้ำทหารคือ1,000ฟุต(1989) อีกลำที่ไม่จมแต่เสียหายหนักจากการรั่วของเตาปฏิกรณ์คือK-19 เป็นเรือดำน้ำนิวเคลียร์บรรทุกหัวรบลำแรกของโซเวียต และเป็นลำแรกด้วยที่พิชิตขั้วโลกเหนือ ส่วนสหรัฐเสียเรือดำน้ำนิวเคลียร์ไป2ลำในเวลาไล่เลี่ยกันคือเรือยูเอสเอส.เธรเชอร์(USS Thresher (SSN-593)จากสาเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องระหว่างดำปกติ และยูเอสเอส.สกอร์เปียน(USS Scorpion (SSN-589)ด้วยสาเหตุที่ยังถูกปกปิด
ปัจจุบันแม้จะสิ้นสงครามเย็นแล้ว หลังจากสิ้นกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เกมไล่ล่าหาตำแหน่งเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามระหว่างสหรัฐและรัสเซียยังมีอยู่ เพียงแต่ลดปริมาณและความตึงเครียดลงไม่เอาเป็นเอาตายเหมือนแต่ก่อน
จากประวัติศาสตร์ในสงครามโลกทั้ง2ครั้งและสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับโซเวียต หลักฐานที่ปรากฎชัดคือเรือดำน้ำเป็นอาวุธเชิงรุก มันดำน้ำได้ลึก เงียบ ไกล บรรทุกอาวุธร้ายแรงได้มากและตรวจจับยาก แม้ไม่เห็นตัวก็สร้างความหวาดผวาให้ฝ่ายตรงข้ามได้ดี แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูงกว่าเรือผิวน้ำมาก ใช้งบประมาณมหาศาลทั้งการสร้างท่า ซ่อมบำรุง อาคารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ และรวมถึงการจัดหายุทโธปกรณ์ประจำเรือ ต้องดำน้ำลึกในทะเลเปิด เป็นอาวุธซ่อนพรางเพื่อการข่มขวัญป้องปรามทรงประสิทธิภาพ
ถึงประเทศจะตั้งอยู่ติดทะเลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเรือดำน้ำไว้ใช้ทุกประเทศ ด้วยข้อได้เปรียบและขีดจำกัดของมัน เรือดำน้ำจึงเหมาะกับประเทศตั้งอยู่ติดทะเลลึก มีงบประมาณทางทหารพอเพียงจะดูแลมันให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพและรับประกันความปลอดภัยให้ลูกเรือเต็มร้อย มีทรัพยากรทางทะเลมูลค่ามากพอจะยอมลงทุนด้วยงบประมาณสูงลิ่วและชีวิตลูกเรือนับหลายสิบชีวิตเพื่อปกป้อง...เท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น