วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

Non Lethal Weapon อาวุธปราบคนดื้อ


หลังจากการชุมนุมและมีการใช้ความรุนแรงประปรายในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าน่าจะดีหากจะแนะนำให้ผู้อ่านบทความได้รู้จักเรื่องราวของเครื่องมือใช้ควบคุมฝูงชน เพื่อให้เจ็บและหลาบจำแต่ไม่ถึงตายและไม่สาหัส เพียงแต่เพื่อสลายการชุมนุมก่อความเดือดร้อน ซึ่งหากศึกษากันจริงๆจะพบว่ามีทางเลือกอีกหลากหลายนอกจากการใช้แถวตำรวจถือโล่และกระบองดาหน้าเข้าหาผู้ก่อความไม่สงบ
แก๊ซน้ำตาและสเปรย์พริกไทยอาจหยุดยั้งพฤติกรรมได้ชะงัดก็จริง แต่กำลังถูกทบทวนว่ายังเหมาะจะใช้หรือไม่ เพราะบางกรณีสารเหล่านี้ส่งผลกระทบข้างเคียงทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ถูกปราบปราม ถ้ากระบองกับแก๊ซที่เคยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานใช้ควบคุมฝูงชนดูเหมือนจะล้าสมัยไปแล้ว ยังเหลืออะไรอีกที่ใช้ได้ภายใต้กฎหมายและไม่ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทุกวันนี้หากพูดถึงอาวุธเพื่อควบคุมฝูงชน แนวความคิดในการนำมาใช้คือเพื่อลดความสูญเสียของพลเรือนเน้นการหยุดยั้งพฤติกรรมมากกว่าทำให้บาดเจ็บหรือตาย ไม่ว่าจะด้วยการเข้าไปแยกคู่ปะทะหรือเข้าปราบปรามผู้ก่อเหตุฝ่ายเดียว ถึงจะมีปรากฏเป็นครั้งคราวว่าผู้ถูกถูกควบคุมพฤติกรรมด้วยอาวุธชนิดนี้จะเสียชีวิต แต่ก็เป็นไปโดยอุบัติเหตุเช่นยิงในระยะใกล้ หรือพลาดไปถูกอวัยวะสำคัญในช่องท้องจนเลือดตกในเสียชีวิตหลังจากนั้น อาวุธหลายประเภทอาจทำให้เนื้อตัวถลอกปอกเปิก ซี่โครงหัก เลือดคั่ง สมองกระทบกระเทือนหรือแม้แต่สูญเสียดวงตา แต่โดยเนื้อแท้แล้วอาวุธควบคุมฝูงชนนั้นถูกออกแบบมาให้หยุดยั้งมากกว่าทำลาย
หนึ่งในอาวุธควบคุมฝูงชนที่บางครั้งถูกใช้งานผิดคือกระสุนยาง(rubber bullet) มันถูกพัฒนาขึ้นในทศวรรษ1960ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้หวาดกลัว เจ็บปวดและหลาบจำจนต้องหยุดพฤติกรรมหรืออย่างน้อยก็เปลี่ยนทิศทางเคลื่อนที่ วิธีใช้ที่ถูกคือต้องยิงลงพื้นให้กระดอนเข้าหาฝูงชน ต้องถูกเป้าหมายด้วยการกระดอนจากพื้นเท่านั้นห้ามยิงเข้าเป้าตรงๆ เพราะความแรงของดินขับนั้นสูง
การยิงกระสุนยางเข้าตรงๆจะทำให้อวัยวะภายในตรงจุดกระแทกเสียหายได้ ถ้ายิงเข้าช่องท้องตรงๆแม้ในระยะไกล คนถูกยิงยังปัสสาวะเป็นเลือดอยู่หลายวัน ไม่นับในกรณีถูกยิงเข้าที่อวัยวะเพศชาย เบ้าตาหรือศีรษะในระยะใกล้ซึ่งผลของมันจะรุนแรงกว่ายิงให้กระเด้งพื้นหลายเท่า กระสุนยางนี้ถูกยิงจากปืนเล็กยาวปกติเพียงแต่มีหัวกระสุนเป็นยางหรืออย่างน้อยก็ถูกเคลือบด้วยยางหนา กระสุนไม้ ขี้ผึ้ง พลาสติกก็มีให้เห็นในตลาดอุปกรณ์ประเภทนี้ โดยเฉพาะกระสุนยางสีฟ้านั้นกองทัพเนปาลเคยใช้มาแล้วเพื่อป้องกันคณะเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในโซมาเลียเมื่อปี1996
กระสุนอีกชนิดที่ถูกจำสับสนกับกระสุนยางตันใหญ่ขนาด40ม.ม.ที่ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด คือกระสุนถุงตะกั่ว(bean bag round หรืออีกชื่อหนึ่งว่าflexible baton round) ออกแบบเป็นกลุ่มลูกตะกั่วบรรจุในถุงใช้ยิงจากปืนลูกซอง12เกจ ตัวกระสุนเร็วประมาณ70-90เมตร/วินาทีแล้วบานออกกลางอากาศก่อนพุ่งปะทะเป้า กว้างคลุมพื้นที่6ตร.ซ.ม. ด้วยจุดประสงค์คือให้คนถูกยิงแค่เจ็บ จุก กล้ามเนื้อเกร็งถ้าถูกยิงแขนขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก ข้อเสียของกระสุนลูกซองคือถ้าเลย6เมตรไปแล้วจะไม่แม่นแต่ไม่เป็นปัญหาถ้ายิงใส่ฝูงชน และมีระยะยิงหวังผลสูงสุด20เมตร ไม่ปลอดภัยหากยิงระยะใกล้กว่า3เมตร หลังจากออกสู่ตลาดครั้งแรกมันได้ถูกปรับปรุงคุณภาพมาตลอดให้ปลอดภัยกับคนที่ถูกยิงยิ่งขึ้น เพราะกฎหมายในประเทศตะวันตกให้เสรีกับประชาชนมากในการตอบโต้อำนาจรัฐ พลาดพลั้งเหยื่อกระสุน(ปราบจลาจล)เสียชีวิตเจ้าหน้าที่อาจถูกฟ้องหมดตัวพร้อมจำคุก
กระสุนควบคุมฝูงชนทั้งหัวยางและถุงตะกั่วในปัจจุบันยังมีใช้ในหลายประเทศ แบบยางตันยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด40ม.ม.ใต้ลำกล้องปืนเล็กยาวปกติ หรือยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดM79ดูเหมือนจะเลิกใช้แล้ว เพราะใหญ่เทอะทะใช้ลำบากและดูน่ากลัวเกินเนื่องจากยิงจากอาวุธสงคราม เสี่ยงต่อการสวมรอยโดยมือที่3
ถ้าไม่ใช้กระสุนเพื่อหยุดจลาจลล่ะจะใช้อย่างอื่นได้ไหม? ตลาดค้าอาวุธมีคำตอบอยู่แล้วถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามนิตยสารอย่างInternational Defense Review,Combat Handgunsและนิตยสารทางทหารอื่นๆจากทางตะวันตก จะพบว่ามีข่าวสารอาวุธควบคุมฝูงชนใหม่ๆออกมาประปราย หากไม่อยากให้บอบช้ำเพราะแรงปะทะของกระสุนยางหรือถุงตะกั่ว จะให้เหนอะหนะจนขยับไม่ออกก็ได้ด้วยโฟมเหนียว(sticky foam) อีกหนึ่งทางเลือกของการควบคุม ที่National Institute of Justice(NIJ)ของสหรัฐควักงบประมาณก้อนโตให้Sandia National Laboratoryพัฒนาปืนเพื่อยิงก้อนโฟมชนิดนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ
เมื่อกระสุนถูกเป้าจะกลายสภาพเป็นเหมือนกาวเหนียวเหนอะ คนถูกยิงจะมีสภาพไม่ต่างจากหนูติดแผ่นกาวขยับแขนขาไม่ได้ กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐนำไปใช้ครั้งแรกที่โซมาเลียระหว่างถอนหน่วยรักษาความสงบของสหประชาชาติจากพื้นที่ช่วงหลังเหตุการณ์”Blackhawk Down” คนยิงไม่ถูกตั้งข้อหากระทำเกินเหตุและคนถูกยิงก็ไม่เจ็บ แค่ต้องทิ้งเสื้อผ้าทั้งชุดแล้วชำระร่างกายกันนานหน่อยเท่านั้น แต่ผลที่ได้นั้นชะงัดเพราะกลุ่มคนจะกลายเป็นกองอะไรสักอย่างที่ทำได้มากที่สุดแค่ดิ้นขลุกขลักไปมา ข้อเสียอย่างเดียวคือความเหนียวทำให้ปืนขัดลำกล้องถ้ายิงต่อเนื่อง ผู้ใช้งานจึงต้องดูแลอาวุธชนิดนี้ให้ละเอียด หมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ
เครื่องมือควบคุมฝูงชนอีกตัวหนึ่งที่กำลังมาแรงในวงการผู้รักษากฎหมาย คือ”แอลแรด”หรือชื่อเต็มว่า”Long Range Acoustic Device”แปลเป็นไทยคือ”อุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล” หนึ่งในอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนใหม่ล่าสุดที่ไม่ก่ออันตรายถึงอวัยวะภายใน แต่เมื่อโดนเข้าไปแล้วยากจะต้านทาน ถูกพัฒนาขึ้นในสหรัฐโดยบริษัทAmerican Technology Corporation
ตามสเปคของผู้ผลิต “แอลแรด”หนัก20ก.ก.สามารถปล่อยเสียงเป็นลำด้วยมุมกว้าง30องศา ส่งคลื่นเสียงความถี่สูง2.5กิโลเฮิร์ตซ์จากจานกลมหรือแปดเหลี่ยม ลักษณะเหมือนกระด้งเส้นผ่าศูนย์กลาง33นิ้ว ปรับให้เสียงดังได้สูงสุด146เดซิเบล ถ้าบังเอิญยืนอยู่ใกล้จานประมาณเมตรหรือกว่านั้นเล็กน้อยจะหูหนวกชั่วคราว และหนวกถาวรหากยืนแช่ มีระยะหวังผลไกลสุด300เมตร
ขั้นตอนการใช้งานคือปล่อยเสียงเตือนดัง90เดซิเบลใส่เป้าหมายก่อน แต่ถ้าเตือนแล้วไม่เชื่อ ยังดื้อด้านก็จะปล่อยเสียงดังเต็มรูปแบบ จากวิดีโอสาธิตที่ผมเคยดูมาพบว่าเหยื่อเสียงของ”แอลแรด”ไม่มีใครทนได้ โดนเข้าไม่เกิน5-10วินาทีก็ต้องเปลี่ยนที่นั่งที่ยืนกันแล้ว หากทนต่อไปก็จะหน้ามืดวิงเวียนถึงขนาดอาเจียนพุ่ง บางรุ่นทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อนได้ด้วย เพราะคลื่นเสียงแทรกเข้าไปทำให้โมเลกุลผิวหนังสั่นสะเทือน เอาไว้แก้ลำในกรณีที่เป้าหมายอุดหู คิดว่าจะพ้นพิษของเสียง
คาร์ล กรุนเลอร์อดีตรองประธานกรรมการของATCเจ้าของ”แอลแรด” ซึ่งปัจจุบันได้ก่อตั้งอีกบริษัทที่ผลิตเครื่องมือทำนองเดียวกันออกจำหน่ายให้หน่วยงานของรัฐ กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ตัวนี้ว่าการมาอยู่ใกล้อุปกรณ์นี้น้อยกว่า90เมตรจะเจ็บปวดมาก แต่ในระยะ270-300เมตรจะให้ผลพอแสบๆร้อนๆผสมเวียนหัวค่อนข้างมาก แต่ต้องระวังการใช้เพราะเสียงจะสะท้อนผนังตึกกลับไปหาต้นกำเนิดได้
เป้าหมายสามารถป้องกันตัวได้ด้วยจุกอุดหูหรือครอบหูแบบเดียวกับใช้ในสนามยิงปืนให้เสียงลดความเข้มลงอยู่ในระดับพอทน ในบางประเทศแม้จะไม่มีเครื่องมือชนิดนี้ก็ใช้ลำโพงดังๆหันใส่กลุ่มคนให้รำคาญได้ แต่ในเขตเมืองอันจำกัดและใกล้สถานที่ราชการสำคัญเช่นโรงเรียนฯลฯ การใช้ลำโพงแรงสูงหันเข้าหากลุ่มคนตรงๆดูจะไม่เหมาะเพราะไม่สามารถควบคุมทิศทางลำเสียงได้
ทหารและตำรวจสหรัฐใช้”แอลแรด”ได้ผลดีในกิจการด้านชายแดน และการป้องปรามรถหรือเรือรุกล้ำเขตหวงห้าม มันปลอดภัยกว่าและเสี่ยงน้อยกว่ายิงเตือนหรือยิงให้ยานหยุดด้วยกระสุนจริง เพราะมีโอกาสพลาดสูง ทหารอเมริกันในอิรักใช้”แอลแรด”ในแคมป์บุคคาเป็นแห่งแรก ตามด้วยอีกหลายแห่งในย่านกรุงแบกแดดและเมืองฟัลลูจาห์ ตำรวจนิวยอร์กใช้ควบคุมฝูงชนระหว่างการประท้วงในการประชุมพรรครีพับลิกันเมื่อปี2004 และประเทศจอร์เจียใช้มันระหว่างการประท้วงในกรุงทบิลิซีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี2007
“แอลแรด”จึงเป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่น่าใช้ อาจจะแพงมหาศาลเมื่อเทียบกับโล่และกระบองหรือแก๊ซน้ำตา แต่ก็คุ้มค่าเมื่อใช้ลดความเสี่ยงจากการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับฝูงชน ใช้เจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการน้อยกว่าเพื่อแบ่งเบากำลังเจ้าหน้าที่ไปดูแลในพื้นที่เป้าหมายได้ทั่วถึง แทนที่จะใช้ตำรวจตั้งแถวหน้ากระดานเดินดาหน้าพร้อมอุปกรณ์ครบมือทั้งหมวกนิรภัย กระบอง โล่และปืนยิงกระสุนยางหรือแก๊ซน้ำตา เพียงแค่กวาด”แอลแรด”เป็นวงในรัศมี300เมตรก็จะได้ผลในการควบคุมที่ดีกว่า ชะงัดกว่า ไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่ากระทำเกินกว่าเหตุเพราะไม่มีการปะทะ ไม่มีใครเจ็บตัวได้เลือดหรือถลอกปอกเปิก ไม่มีใครตายโดยอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์นี้
เท่าที่สังเกตมานี้ผมพบว่าตำรวจไทยมี”แอลแรด”ใช้ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือประเภทเดียวกัน เคยเห็นตั้งอยู่บนหลังคารถตู้สำหรับควบคุมผู้ต้องหาที่จอดไว้ใกล้บริเวณชุมนุม แต่เหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเพราะดูเหมือนผู้ชุมนุมจะไม่สะทกสะท้าน ถ้าไม่ได้เปิดเครื่องหรือไม่มีคำสั่งจากเบื้องบนให้เปิด ในฐานะคนที่เสียภาษีก็ขอตำหนิว่าไม่รู้จักใช้ของ แต่ถ้าเปิดใช้แล้วความแรงไม่พอเพียงจน”ปราบคนดื้อ”ไม่ได้ ก็น่าจะพิจารณางบประมาณจัดหามาเพิ่มได้แล้ว เพราะน่าจะได้ใช้อีกหลายครั้งในอนาคตอันใกล้
ถ้าพิจารณาให้ดีถึงสถิติการก่อความไม่สงบในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีเรื่องน่ารำคาญใจให้เห็นเกือบทุก2-3ปี และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมก็จะมีเสียงร้องว่าทำเกินกว่าเหตุ เพราะอุปกรณ์ที่มีอยู่นั้นใช้งานได้ในระยะใกล้ๆ หลีกเลี่ยงการปะทะได้ยาก สมควรที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะเร่งหามาตรการป้องกันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ หากมี”แอลแรด”ใช้อยู่แล้วและไม่เพียงพอก็ควรหามาเพิ่มได้แล้ว นอกจากเจ้า”กระด้งแผดเสียง”ตัวนี้จะใช้งานได้ผลดียังช่วยให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ได้อย่างคุ้มค่ากว่าเดิม
ใครที่อ่านบทความแล้วคิดว่าผมกำลังแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็คิดได้ตามแต่ใจต้องการ แต่ผมยืนยันได้อย่างหนักแน่นตรงนี้ว่าเข้าข้างประชาชนผู้ไม่อยากเห็นความรุนแรง เบื่อหน่ายต่อความชะงักงันทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ ถ้ารักชาติ”จริงๆ”หนทางช่วยชาติมีอีกมากโดยไม่ต้องเลือดตกยางออก การตั้งใจประกอบสัมมาชีพอย่างพลเมืองดีคือวิธีช่วยที่ตรง ช่วยให้ตัวเองมีรายได้และช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติด้วย สมควรกระทำด้วยประการทั้งปวง
การออกไปตะโกนโหวกเหวกเสี่ยงตายและเจ็บตัวกลางถนนนั้น คิดบ้างหรือเปล่าว่าคุณอาจถูกคนบางกลุ่มใช้เป็นเครื่องมือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น