วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

ชาร์ลี วิลสัน...สติงเกอร์ และ มูจาฮิดีน



ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตะวันออกกลาง ชื่อหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ว่าเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นอกจากโอซามา บิน ลาเดน,ซัดดาม ฮูเซนแล้ว คงไม่มีใครเกินสมาชิกสภาคองเกรสชาร์ล เนสบิต วิลสัน(1มิถุนายน 1933 – ปัจจุบัน) หรือชาร์ลี วิลสันที่เรียกกันในหมู่คนคุ้นเคย อดีตนายทหารเรือและสมาชิกสภาคองเกรสพรรคเดโมแครตจากเขตเลือกตั้ง 2 รัฐเท็กซัส ผู้สร้างชื่อจากการโน้มน้าวให้สภาคองเกรสสนับสนุนปฏิบัติการลับของซีไอเอครั้งใหญ่ที่สุด ทั้งด้านงบประมาณ อาวุธ และการฝึกนักรบมูจาฮิดีนเพื่อต่อต้านการยึดครองโดยกองทัพโซเวียต(ในสมัยนั้น) นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในอาฟกานิสถาน
วิลสันเป็นชาวเท็กซัสโดยกำเนิด เกิดที่เมืองทรินิตี้ เรียนหนังสือระดับมัธยมที่ทรินิตี้ ไฮ สกูลจนจบเมื่อปี 1951ก่อนจะมาต่อที่มหาวิทยาลัยแซม ฮิวสตัน สเตทในเมืองฮันส์วิลล์รัฐเดียวกัน แล้วต่อด้วยการศึกษาในโรงเรียนนายเรือแอนนาโพลิส(United States Naval Academy) ศึกษาจบวิลสันรับใช้ชาติในกองทัพเรือด้วยยศเรือตรีจนกระทั่งได้เลื่อนยศเป็นเรือโทประจำกองเรือผิวน้ำ ก็ถูกย้ายไปประจำกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนทากอน) เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านข่าวกรองเพื่อประเมินกำลังทางนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังระอุ
เมื่ออยู่ในกองทัพเรือ ความสนใจในการเมืองของเขาแก่กล้าขึ้นตามวัย วิลสันช่วยรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้วุฒิสมาชิกจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ในปี 1960 หลังจากใช้วันลานาน 30 วันจากกองทัพเรือวิลสันก็กระโจนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้งถิ่นเกิด เขาจะทราบหรือไม่ก็ตามแต่การกระทำนี้ขัดกับระเบียบของกองทัพเรือ ที่บัญญัติไว้ว่าห้ามทหารประจำการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลก็คือผู้หมวดหนุ่มชาร์ลีต้องกลับเข้ากองทัพ ทิ้งให้ญาติมิตรช่วยหาเสียงต่อ ดอกผลจากกิจกรรมทางการเมืองมาผลิเอาเมื่อปี1961เมื่อเขามีอายุ27ปี ลาออกจากกองทัพเรือก่อนสาบานตนเข้าเป็นสมาชิกสภาฯจากเมืองออสติน รัฐเท็กซัส
อีก12ปีถัดมาวิลสันก็สร้างชื่อในสภานิติบัญญัติของรัฐเท็กซัส จนได้สมญา”สมาชิกสภาหัวก้าวหน้าจากเมืองลัฟกิน” ซึ่งถูกคนรอบข้างมองด้วยความหวาดระแวงว่าจะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านธุรกิจให้ตัวเองและพวก เวลาและผลงานเท่านั้นที่จะพิสูจน์คน วิลสันแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าเขาอยากปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันที่เลือกเขามาให้ดียิ่งขึ้นจริง ด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี งดเว้นเก็บภาษีผู้สูงอายุ แก้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และผลักดันให้รัฐบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ผลงานเด่นอีกด้านคือการสนับสนุนให้สตรีทำแท้งถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ วิลสันชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาคองเกรสจากเขตเลือกตั้ง2ของเท็กซัสในปี 1972 แล้วดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกหลายสมัย
ทั้งที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ แต่ผลงานสร้างชื่อให้เขามากที่สุดกลับกลายเป็น”ปฏิบัติการไซโคลน” โครงการการสนับสนุนกองกำลังต่างชาติเพื่อต้านสหภาพโซเวียตครั้งใหญ่และสำคัญที่สุดของซีไอเอ เรื่องเกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตเคลื่อนทัพทัพรุกรานอาฟกานิสถานในปี 1980 โดยวิลสันทราบข่าวด่วนส่งตรงถึงสภาคองเกรสจากสำนักข่าวเอ.พี. รายงานว่าผู้ลี้ภัยนับแสนกำลังอพยพออกหนีภัยสงครามจากอาฟกานิสถาน แทบไม่มีใครสนใจเลยแม้แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลอเมริกันเอง แต่วิลสันคิดไปไกลกว่านั้นเมื่ออาฟกานิสถานคือเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญ และการรุกรานของโซเวียตอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อ”ผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน”ในอนาคต
คิดได้ดังนั้นจึงต่อโทรศัพท์สายตรงถึงคณะกรรมการงบประมาณแห่งสภาคองเกรส เพื่อดึงงบประมาณลับ(งบซีไอเอ)มาใช้ด้วยความช่วยเหลือของกัสต์ อาฟราโคโทส ซีไอเอตัวกลั่น จุดมุ่งหมายคือถ้าจะให้ชนพื้นเมืองเอาชนะกองทัพโซเวียตได้ ต้องเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่า โชคเข้าข้างเขาเมื่อประจวบเหมาะกับการเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าอนุกรรมการงบประมาณกลาโหม กลุ่มบุคคลเล็กๆแต่ทรงอำนาจในสภาโดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบด้านงบลับของซีไอเอ ตำแหน่งของเขาจึงเอื้ออำนวยให้ของบได้ โดยเฉพาะงบบางประเภทที่ซีไอเอมีแต่ไม่ได้จัดสรรใช้ประโยชน์
ความพยายามของวิลสันสำเร็จในปี 1983 เมื่อสภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณก้อนโตเพื่อช่วยเหลือทั้งสิ่งของยังชีพและยุทโธปกรณ์เพิ่มถึง 40 ล้านดอลลาร์ รวมกับอีก 17 ล้านเพื่อจัดหาขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานประทับบ่ายิงแบบ”สติงเกอร์”อย่างเดียว ให้กบฏมูจาฮิดีนใช้ยิงเครื่องบินโดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์โจมตีของโซเวียต ที่โจมตีแบบไม่เลือกว่าเป็นมูจาฮิดีนหรือพลเรือนไร้อาวุธตายเป็นเบือ
ปฏิบัติการไซโคลนที่วิลสันเข้าไปเสริมความแข็งแกร่ง คือโครงการของซีไอเอเพื่อติดอาวุธให้นักรบท้องถิ่นของอาฟกานิสถานสู้รบกับกองทัพโซเวียตรัสเซียระหว่างปี 1979-1989 โดยใช้ช่องทางหลักคือหน่วยข่าวกรองทหารของปากีสถาน(Inter Services Intelligence ISI)เพื่อส่งเงินและยุทโธปกรณ์ ควบคู่ไปกับโครงการของพันธมิตรคือจากหน่วยข่าวกรองทหาร MI6(เอ็มไอ6)และหน่วยรบพิเศษSAS ของอังกฤษ,เงินทุนจากซาอุดิ อาเรเบียและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้ ISI เป็นตัวยืนในการผลิตกองกำลังต่อต้านให้ได้ 100,000 คนระหว่างปี 1978-1992 พร้อมกับเงินทุน 3-2หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อฝึกรบและติดอาวุธให้นักรบท้องถิ่น รวมทั้งเครื่องยิงจรวดพื้นสู่อากาศแบบประทับบ่า”สติงเกอร์”หมัดเด็ดน็อกเอาท์เครื่องบินโซเวียต
เรื่องราวอันนำมาสู่ความพยายามของชาร์ลี วิลสันเกิดขึ้นจากวันที่ 3 กรกฎาคม 1979 ระหว่างสงครามเย็นยังระอุเมื่ออดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ลงนามในคำสั่งให้ช่วยเหลือเงินทุนแก่กองโจรต่อต้านสหภาพโซเวียตฯในอาฟกานิสถาน ภายหลังจากโซเวียตเคลื่อนทัพเข้ารุกรานประเทศนี้แล้วแต่งตั้งนายบาบรัค คาร์มาลเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิด ด้วยเหตุผลที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศว่า”การรุกรานอาฟกานิสถานคือภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อสันติภาพ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “ ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯมีมูลค่า 20-30 ล้านดอลลาร์ต่อปี จึงถูกเพิ่มเป็นปีละ 630 ล้านดอลลาร์ในปี 1987ด้วยการผลักดันของวุฒิสมาชิกวิลสัน
ความช่วยเหลือทั้งเงินและอาวุธกับฝ่ายต่อต้านโซเวียตทำให้รัฐบาลสหรัฐฯถูกหลายฝ่ายโจมตี เมื่อเงินทุนดังกล่าวตกไปอยู่ในมือหัวหน้าฝ่ายต่อต้านคือกุลบุดดิน เฮคมาตยาร์ ซึ่งรัฐบาลปากีสถานเชื่อว่าเป็นคนของตน ที่เป็นเรื่องก็เพราะเฮคมาตยาร์เองก็ไม่ซื่อกับมูจาฮิดีนและพลเรือนอาฟกัน พอรวมหัวกับมูจาฮิดีนกลุ่มอื่นๆรบกับโซเวียตจนเปลี้ยแล้วก็หันมาฆ่ากันเอง
มีรายงานข่าวหลายกระแสตรงกันว่าเฮคมาตยาร์ใช้อาวุธอเมริกันที่ได้มายิงถล่มกรุงคาบูล จนพลเรือนเจ็บและตายรวม2,000คน นอกจากนี้ยังมีรายงานเชื่อถือได้อ้างว่าเป็นพรรคพวกกับโอซามา บิน ลาเดนหัวหน้ากลุ่มอัล-ไคดา ที่ยังญาติดีกับสหรัฐฯในตอนนั้นและช่วยกันต่อต้านการยึดครองของโซเวียต ฝ่ายเฮคมาตยาร์นั้นพอมีทั้งเงินและกำลังคนก็เริ่มเหิมเกริม จนพลเอกเซีย อูล ฮัคแห่งปากีสถานต้องปรามว่า”เมื่อปากีสถานสร้างเขาขึ้นมาได้ ปากีสถานก็ทำลายเขาได้เหมือนกัน”
แม้แต่อดีตประธานาธิบดีหญิงเบนาซีร์ บุตโตในปลายทศวรรษ1980ก็เริ่มแสดงความกังวลอย่างชัดเจนจากความเหิมเกริมของเฮคมาตยาร์และพวก นางได้พูดเปรียบเปรยกับอดีตประธานาธิบดีบุช(บิดา)แห่งสหรัฐฯว่า”ท่านกำลังสร้างอสูรกายขึ้นมา” ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯเองก็ติดตามพฤติกรรมนี้มาตลอด จนกระทั่งโซเวียตถอนทัพในปลายทศวรรษ 1980นั่นเองความช่วยเหลือจากสหรัฐฯจึงถูกตัด หลังจากนั้นยังยืนยันเสียงแข็งว่าเงินทุกดอลลาร์ที่ส่งไปอาฟกานิสถานนั้นถึงมือชาวอาฟกันจริงๆ ไม่มีแม้แต่เพนนีเดียวที่จะหลุดรอดไปยังโอซามา บิน ลาเดนหรือพวกมูจาฮิดีนนอกอาฟกานิสถาน
การได้ดูแลงบประมาณหนุนฝ่ายต่อต้านโซเวียต ได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยสงครามชาวอาฟกันครั้งหนึ่งในชายแดนปากีสถาน และได้เข้าพบผู้นำของปากีสถานที่ช่วยเหลือด้านการจัดส่งงบประมาณ ทำให้วิลสันเข้าใจว่างบประมาณเดิมนั้นยังไม่พอ ลำพังแค่ปืนเล็กยาวและทุ่นระเบิดคงไม่สามารถขับไล่กองทัพโซเวียตพ้นดินแดนอาฟกานิสถานได้ มีคำพูดของวิลสันบรรทัดหนึ่งที่ถูกนำมาอ้างบ่อยๆว่า”สหรัฐฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบของคนเหล่านั้นก็จริง...แต่ประวัติศาสตร์ชาติเราคงด่างพร้อยแน่ ถ้าปล่อยให้พวกเขาสู้ด้วยก้อนหิน”
ด้วยถ้อยคำนี้ วิลสันสามารถเคลื่อนงบประมาณที่ยังไม่ถูกจัดสรรของซีไอเอเข้าสู่อาฟกานิสถานได้สำเร็จ และในช่วงปลายปีงบประมาณนั้นยังได้เงินทุนจากกระทรวงกลาโหม ในส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรรเช่นกันอีก300ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปช่วยนักรบมูจาฮิดีน
เมื่อภัยคุกคามที่แท้จริงคือเฮลิคอปเตอร์โจมตีก็ต้องใช้อาวุธอากาศสู่พื้นยิงให้ร่วง ผลจากการเพิ่มงบประมาณโดยเฉพาะการจัดหาจรวดสติงเกอร์ คือเที่ยวบินของเฮลิคอปเตอร์โซเวียตลดลงถึงครึ่ง เมื่อไม่มีกำลังทางอากาศคุ้มกัน กองกำลังภาคพื้นของโซเวียตผู้รุกรานก็ตกเป็นเป้าของกองโจรมูจาฮิดีนและฝ่ายต่อต้านอื่น สถานการณ์ของโซเวียตกำลังย่ำแย่เมื่อประเทศในสหภาพกำลังพากันประกาศตนเป็นอิสระ ความเพลี่ยงพล้ำในอาฟกานิสถานจนต้องถอนทหาร จึงกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้โซเวียตแตกเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ1
สงครามที่ชาร์ลี วิลสันเข้าไปข้องแวะด้วยนี้เป็นสงครามตัวแทน สหรัฐฯได้รบกับโซเวียตแล้วในอาฟกานิสถาน ด้วยการฝึกอาวุธให้นักรบท้องถิ่นและได้ทดลองเทคโนโลยีของตนกับพื้นที่ทะเลทรายของอาฟกานิสถาน สงครามรูปแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างฝ่ายของพลเอกฟรานซิสโก ฟรังโกกับคอมมิวนิสต์ โดยนาซีเยอรมันหนุนฝ่ายฟรังโกและโซเวียตหนุนหลังฝ่ายสาธารณรัฐผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์
ชาร์ลี วิลสันเป็นนักบุญหรือเปล่า? ก็ไม่เชิง เมื่อมี”ผลประโยชน์ของคนอเมริกัน”เข้ามาเอี่ยว การกระทำของเขาจึงเป็นการทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ตักตวงผลประโยชน์จากพันธมิตรที่เห็นว่าให้ประโยชน์(ในขณะนั้น)ให้มากที่สุด เมื่อสิ้นประโยชน์ก็ตัดความช่วยเหลือไม่ใยดี การเป็นมิตรกับสหรัฐฯจะว่าดีก็ได้แต่ต้องระวังตัว ให้ดียิ่งขึ้นคือเราต้องพึ่งพาตัวเองได้ด้วย หวังแต่จะพึ่งพาเขาอย่างเดียวชะตากรรมในอนาคตคงไม่ต่างจากพวกมูจาฮิดีนในอาฟกานิสถาน

1 ความคิดเห็น: