วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

f-16 “เครื่องบินไฟฟ้า”(ตอนที่2)


F-16เปลี่ยนผู้ผลิตจากเจเนอรัล ไดนามิคส์ มาเป็นล็อคฮีด คอร์โปเรชั่นในปี1993ด้วยการซื้อสิทธิ์การผลิต อีกสองปีต่อมาล็อคฮีด คอร์ฯก็เข้ารวมกิจการกับบริษัทผลิตเครื่องบินมาร์ติน มาริเอตต้า เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นล็อคฮีด มาร์ตินมาจนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ให้ลูกค้าทั่วโลกรวมทั้งกองทัพอากาศไทย
ตามที่จอห์น บอยด์และคณะได้วางแนวคิดไว้ว่าต้องเป็นเครื่องบินน้ำหนักน้อย ราคาต่ำเพื่อให้สร้างได้มาก แต่ในขณะเดียวกันต้องคงคุณสมบัติของเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ให้ครบถ้วน เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่เก่าที่ทยอยปลดประจำการ “แอร์เฟรม”หรือโครงสร้างเครื่องบินทั้งหมดจึงประกอบขึ้นด้วยวัสดุผสมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้คืออลูมินัม อัลลอยเกรดสูงเฉพาะอากาศยาน80% เหล็กกล้า8% วัสดุคอมโพซิต3% และไททาเนียม1.5เปอร์เซ็นต์ พื้นบังคับคือแฟล็ป,แพนหางระดับและครีบท้องสร้างจากบอนเด็ด อลูมินัม ฮันนี่คอมบ์(คือการสร้างชั้นวัสดุแบบแซนด์วิชให้มีแผ่นโลหะสองชิ้นประกบกับแกนกลางตั้งเชื่อมติดกันเป็นรูปรังผึ้ง) ฉาบผิวเครื่องทั้งหมดด้วยกราไฟต์ อีพ็อกซี
ความง่ายในการซ่อมบำรุงคือมีจุดให้เข้าถึงได้228จุดทั่วทั้งลำ และ80%ของจุดที่ว่านี้ใช้มือเปล่าเปิดได้เลยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วย จุดปลีกย่อยที่ต้องใช้เครื่องมือถอดเช่นจุดหยอดวัสดุหล่อลื่น ข้อต่อสายส่งน้ำมันและอุปกรณ์ต้องถอดเปลี่ยนเช่นกล่องดำและวิทยุนี้ลดลงมากในF-16เมื่อเทียบกับเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อน เมื่อนักบินนำเครื่องลงจอดแล้วช่างนำคอมพิวเตอร์เข้าเชื่อมต่อ รายการความผิดปกติหรือสถานการณ์ทุกอย่างจะถูกดาวน์โหลดเสร็จโดยนักบินไม่ต้องจำมาบอกช่าง ความผิดปกติหรือเสียหายจากข้อมูลที่เครื่องบินอัพโหลดให้จะถูกตรวจสอบและแก้ไขจนเสร็จก่อนบินครั้งต่อไป บินง่ายซ่อมง่ายพังยากแทบไม่ต่างจากรถยนต์โตโยต้า
แม้โครงการเครื่องบินขับไล่น้ำหนักเบาของกองทัพอากาศสหรัฐ จะกำหนดให้โครงสร้างเครื่องบินทนได้แค่4,000ชั่วโมงบิน รับแรงเหวี่ยง7.33จีโดยมีน้ำมันค้างถังในตัวเครื่อง80% คณะวิศวกรของเจเนอรัลไดนามิคส์ก็ยังออกแบบให้มันทนถึง8,000ชั่วโมงบิน รับแรงเหวี่ยง9จีได้โดยยังมีน้ำมันเต็มถังภายใน! ให้เครื่องบินทนทานแรงเครียดอันเกิดจากการเปลี่ยนภารกิจการครองอากาศมาเป็นสนับสนุนภาคพื้นดิน(multi-role)ได้ ถึงกระนั้นเมื่อF-16ถูกเพิ่มอุปกรณ์อื่นเข้าไปจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น รุ่นหลังๆจึงถูกเสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างเพิ่มตามเพื่อความปลอดภัย
F-16ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินไฟฟ้า เพราะมันใช้กระแสไฟและสัญญาณอีเลคทรอนิคส์ไปควบคุมพื้นบังคับทั้งแฟล็บคู่หน้า แพนหางระดับคู่หลังและแพนหางเลี้ยว(rudder) ปลอดภัยเพราะมีคอมพิวเตอร์สั่งการควบคุมถึง4เครื่องโดยหนึ่งเครื่องเป็นหลักและสำรองอีกสาม คอมพิวเตอร์หลักเสียหายเมื่อใดเครื่องรองลงไปจะเข้ามาทำหน้าที่แทนทันที(โดยนักบินเองก็ไม่รู้จนกระทั่งเห็นข้อมูลตอนอัพโหลด) หรือถ้าคอมพิวเตอร์พังทั้ง4เครื่องมันก็ยังรักษาทิศทางได้ด้วยระบบพลังงานสำรองฉุกเฉิน(Emergency Power Units)อีกหกตัวที่จะจ่ายไฟเข้าเซอร์โวพื้นบังคับทั้งหมด ถ้าปีกไม่ขาดสะบั้น ลำตัวไม่ขาดกลาง อย่างไรเสียเหยี่ยวพิฆาตก็บินกลับบ้านได้ ตลอดเวลาที่มันรับใช้ชาติเรามายี่สิบกว่าปียังไม่เคยมีF-16ตกเลยแม้แต่เครื่องเดียว อาจมีไถลออกนอกทางวิ่งหรือลงกระแทกลานจอดหนักเกินปกติบ้างก็เป็นความผิดพลาดของนักบินทั้งสิ้น(นักบินท่านใดเคยทำแบบนี้อย่าโกรธผมนะ)
คอมพิวเตอร์ดังกล่าวควบคุมความเคลื่อนไหวของพื้นบังคับให้เป็นไปตามนักบินสั่ง หากแพนหางราบหรือแฟล็บทำท่าจะกดหรือเงยโดยนักบินไม่ต้องการมันจะล็อค ด้วยคอมพิวเตอร์ที่คำนวณและปรับแก้ความเคลื่อนไหววินาทีละนับพันครั้ง เพื่อให้นักบิน”สั่ง”เครื่องบินได้เต็มร้อยประดุจแขนขาของเขา อยากทราบว่าบังคับF-16ได้ง่ายแค่ไหนก็ลองนั่งโยกจอยสติ๊กวิงแมนใช้กับคอมพิวเตอร์ที่บ้านคุณดู จะรู้ว่ามันแทบไม่ต่างกัน ความง่ายในการควบคุมF-16นี้เองที่ทำให้เกิดคำพูดติดตลกขึ้นในหมู่นักบินว่า”คุณไม่ได้บังคับเครื่องF-16หรอก มันต่างหากที่บังคับคุณ”
เพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้นมันจึงมีระบบควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงด้วย คือหากนักบินจะเลี้ยวฉกาจจนเครื่องเหวี่ยงหนีศูนย์มากกว่า9จี คอมพิวเตอร์จะยอมให้ทำได้แค่9จีเท่านั้นเพราะถ้ามากกว่าก็จะเสี่ยงต่อการร่วงหล่น,หมุนเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุ เพราะใช้ไฟฟ้าควบคุมทั้งเครื่องนี้เองคำว่า”เครื่องบินไฟฟ้า”จึงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริง
F-16จากหลักการของบอยด์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้น”ความหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์”ของนักบินโดยเฉพาะ นอกจากจะบินได้ว่องไว วงเลี้ยวแคบ การสร้างห้องนักบินต้องเอื้ออำนวยทัศนวิสัยให้นักบินกันสุดๆ ต้องมองเห็นได้รอบตัวโดยไม่มีอะไรมาบัง ฝาครอบจึงถูกออกแบบเป็นชิ้นเดียว(bubble canopy)ครอบลงไปตรงๆไม่มีกรอบโลหะทึบแสงมากีดขวางทัศนวิสัย ราวกับจะไม่พอให้นักบินตรวจการณ์ได้รอบ ที่นั่งนักบินยังถูกยกขึ้นสูงให้เห็นอะไรๆได้ชัดขึ้นไปอีก พูดกันตามเหตุผลก็คือเห็นได้รอบเห็นได้ไวก็ยิงได้ก่อน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่ของแปลกเพราะเป็นหลักการเดียวกับที่เคยใช้ในF-86เซเบอร์ เพียงแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องบินรบสมัยใหม่เท่านั้น
มันเป็นเครื่องบินขับไล่แบบเดียวที่นักบินมองเห็นได้รอบตัว360องศา มองลงทางข้างโดยไม่ต้องชะโงกศีรษะออกนอกห้องนักบินได้อีกข้างละ40องศาซ้ายขวา มองกดลงจากจมูกเครื่องได้อีก15องศาเทียบกับเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อนที่มองกดได้แค่12-13องศา ถ้าคุณเคยขึ้นไปนั่งในห้องนักบินF-16ตอนวันเด็ก จะรู้สึกว่าแตกต่างจากนั่งรถเก๋งคือเหมือนตัวจะหล่นออกนอกเครื่อง ทั้งนี้เพื่อให้นักบินมองเห็นได้มุมกว้างและไกลที่สุดนั่นเอง
เมื่อมันถูกออกแบบมาให้ทนแรง”จี”ได้สูงเพราะเป็นเครื่องบินขับไล่เพื่อ”ด็อกไฟต์”เต็มตัว ผู้ออกแบบจึงต้องสร้างอุปกรณ์ช่วยนักบินให้ทนแรงเหวี่ยงขาด9จีได้ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ลืมตาอยู่ได้เท่านั้นแต่ต้องครองสติจนใช้อาวุธได้ด้วย เก้าอี้นักบินดีดตัวด้วยจรวดACES II(Advance Concept Ejection Seat model 2)ของมันทำมุมเอียงจากแนวดิ่ง30องศา(มากกว่ารุ่นเดิมๆที่เอนหลังเพียง13-15องศา)เพื่อลดแรงจีที่กระทำต่อตัวนักบินทิ้งดิ่งลงมาตรงๆ จากทั้งหมดคือ9จีที่กดลงมานั้นเก้าอี้เอนหลังนี้ลดความรุนแรงได้3จี แรงบีบไล่เลือดจากจี-สูทที่รัดช่วงขาถึงหน้าท้อง(รุ่นใหม่รัดถึงหน้าอกด้วย)ช่วยนักบินได้3จี ที่เหลือคือนักบินเกร็งกล้ามเนื้อและกลั้นหายใจช่วย(แอล1 เอ็ม1 แมนูฟเวอร์)
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้ต้องสละเครื่อง ฝาครอบทั้งบานของF-16จะถูกระเบิดกระเด็นไปพร้อมแรงลมก่อนเก้าอี้จะยิงตัวเองออก ในเครื่องสองที่นั่งนักบินหลังจะยิงก่อนตามด้วยคนหน้า ข้อสังเกตเรื่องเก้าอี้ดีดตัวคือมันไม่ใช่จะยิงกันง่ายๆ เมื่อนักบินนั่งประจำที่แล้วเขาต้องเปิดสวิทช์ทางซ้ายมือเพื่อ”ARMED”หรือเปิดระบบการทำงานของเก้าอี้ก่อน เมื่อเปิดแล้วก็ต้องดึงห่วงเหลืองตรงหว่างขาด้วยแรงดึงไม่น้อยกว่า20ปอนด์ หมายความว่าต้องออกแรงกันหนักพอสมควรเก้าอี้จึงดีดตัว ไม่มีคำว่า”เอามือไปโดน”แล้วนักบินลอยหลุดเครื่องไปเฉยๆเด็ดขาด
นอกจากจะเอนหลังแล้วยังช่วยนักบินให้ผ่อนคลายด้วยคันบังคับวางข้าง(side-stick) บนที่พักแขนขวามือ ฝั่งซ้ายคือคันเร่งซึ่งวางชิดขอบเหมือนกัน เพื่อให้นักบินไม่เสียการควบคุมเครื่องขณะเข้าพันตูด้วยแรงจีสูงๆ ปุ่มบังคับระบบขับเคลื่อนและระบบอาวุธจึงถูกติดไว้ทั้งที่คันเร่งและคันบังคับซ้ายขวา รวบรวมค่าวัดต่างๆทั้งความสูง ปริมาณน้ำมัน ระเบิด กระสุน ความเร็ว ฯลฯไว้บนจอ”HUD”(Head up Display)ตรงหน้านักบิน อ่านค่าหลักๆได้โดยไม่ต้องละสายตาจากเป้า(ตรงนี้ไม่แปลกเพราะถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่/โจมตีทั่วไป)
นอกจากระบบต่างๆของเครื่องบินก็คือเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนแพรตต์แอนด์วิทนีย์ F100-PW-200 เป็นเครื่องเดียวกับที่ใช้ในF-15เพราะพัฒนามาไล่เลี่ยกัน แต่ปรับปรุงให้แรงขับสูงขึ้นเป็น23,830ปอนด์เพราะใช้เพียงเครื่องเดียวในขณะที่F-15ใช้ถึงสองเครื่อง และใช้มาเรื่อยจนถึงบล็อคที่25ซึ่งF-16ของเราก็ใช้เครื่องรุ่นเดียวกัน แรงขับของมันเหลือเฟือเมื่อเทียบกับน้ำหนักเครื่องพร้อมอาวุธ
เมื่อพูดถึงF-16ที่ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศไทย มันมีทุกอย่างครบตามที่F-16พึงมีก็จริง แต่ระบบการควบคุมเครื่องด้วยอนาล็อกกึ่งดิจิตอลของบล็อค15 นี้ยังเป็นเทคโนโลยีในยุค1980ซึ่งค่อนข้างเก่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินในยุคข้อมูลข่าวสารที่รู้ก่อนยิงก่อนแล้วชนะ ระบบของมันไม่เอื้ออำนวยให้นักบินหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์ในยุคที่ยิงกันด้วยขีปนาวุธระยะไกล นักบินยังต้องทำงานหนัก รับทั้งข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาทางวิทยุและจอแสดงผล สมองต้องประมวลผลอย่างรวดเร็วสุดล้า ถึงตัวเครื่องหรือ”แพลตฟอร์ม”จะถูกออกแบบให้ปรับปรุงระบบจนทันสมัยได้ แต่ค่าระบบที่ปรับปรุงนั้นแพงจนแทบซื้อเครื่องบินใหม่ได้อีกลำ
เราจะไว้ใจใช้เอฟ-16เพื่อปกป้องอธิปไตยต่อไปได้อีกกี่ปี? เครื่องบินใหม่คือกริปเปนสำคัญแค่เป็น”เครื่องบินรบใหม่”ใช้ระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบเท่านั้นหรือ? และเรื่องราวอื่นๆจะมีรายละเอียดให้พูดถึงกันอีกในตอนหน้า อย่าว่าผมเล่าเรื่องเก่าเลยนะครับถ้าต้องลากเจ้ากริปเปนมาเข้าเรื่องอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น