วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

STRV 103 รถถังหัวขาดของสวีเดน



ในการทำสงครามสมัยใหม่ทั้งในป่าและเมืองหรือทะเลทราย สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือต้องมีรถถังในแนวหน้ารุกไปพร้อมกับทหารราบเสมอ ด้วยลักษณะพื้นฐานคือมีตัวรถและป้อมปืนหันได้และปืนปรับมุมก้มและเงยได้เพื่อความคล่องตัวในการใช้อาวุธหลักคือปืนใหญ่ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง รถถังรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่2ถูกพัฒนาและผลิตมาด้วยแนวความคิดเช่นนั้น ถ้าช่วงล่างของมันเป็นตัวป้อมปืนก็เปรียบเสมือนหัว แต่มีชาติหนึ่งที่คิดนอกกรอบสร้างรถถังด้วยรูปร่างแปลกแตกต่าง สร้างรถถังไร้ป้อมปืนให้ปืนใหญ่วางไว้บนตัวรถเฉยๆและทำงานได้ดีกว่ารถถังแบบเดิมๆด้วย มันคือStrv103คือ”รถถังหัวขาด”จากสวีเดน แหล่งกำเนิดยานพาหนะและยุทโธปกรณ์ชั้นดีเช่นวอลโวและซาบ
Stridsvagn 103ในภาษาสวีดิชหรือ”S-Tank” คือรถถังที่ปฏิวัติแนวความคิดเดิมๆนับแต่มนุษย์รู้จักสร้างรถถัง ด้วยการตัดป้อมปืนออกเพื่อลดความสูงแล้ววางปืนใหญ่พาดไว้กลางตัวรถง่ายๆ ภาพที่เห็นจึงแปลกตาด้วยตัวรถเปล่าๆที่แบนราบแทบมองไม่เห็นเมื่อวางตัวในพื้นที่ไม่ราบเรียบ เป็นรถถังแบบแรกในโลกด้วยที่ใช้เครื่องยนต์กังหันเทอร์บีน เครื่องยนต์แบบเดียวกับที่อเมริกาลอกแบบไปสร้างรถถังM1”เอบรัมส์”ในปัจจุบัน การออกแบบให้มีแต่ตัวรถกับปืนของมันให้ผลดีทั้งด้านการป้องกันตัวและเพิ่มความปลอดภัยให้พลประจำรถ
นอกจากกองทัพอากาศสวีเดนจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ1950 เพื่อรับมือกับกองทัพโซเวียตในช่วงเริ่มสงครามเย็น กองทัพบกคืออีกเหล่าที่ต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งเพราะเป็นกำลังหลักในการยันทัพโซเวียตและบริวาร เพราะเป็นประเทศเล็กจึงต้องเน้นยุทธศาสตร์ป้องกันและใช้ทรัพยากรทุกประเภทให้คุ้มค่าที่สุด ยานรบทุกชนิดต้องคงความอยู่รอดในสนามรบได้สูง รถถังจึงต้องเบา เร็ว และเห็นได้ยาก
ในช่วงเวลานั้นรถถังหลักของสวีเดนคือเซนทิวเรียนจากอังกฤษ จัดเป็นรถถังดีที่สุดในโลกสมัยนั้น แต่ยังนำหน้าT-55ของโซเวียตอยู่แค่ปลายจมูก ด้วยข้อกำหนดของกองทัพบกว่าต้องสร้างยานรบให้คล่องตัวและมีอัตราการอยู่รอดสูง บริษัทร่วมสัญชาติสวีดิชที่ได้สัมปทานคือลันส์แวร์ค,วอลโวและโบฟอร์สเสนอทางเลือกให้คือรถถังหนักรหัสKRVติดปืนใหญ่155ม.ม.ลำกล้องเรียบ แต่ข้อเสียสำคัญคือมันแพงจนจัดหาได้น้อย
สเวน แบร์กจากสำนักพัฒนายุทโธปกรณ์แห่งสวีเดน(Swedish Arms Administration) จึงเสนอรูปแบบรถถังใหม่ในรหัส”S” ตั้งข้อสังเกตจากการวิจัยในสงครามที่ผ่านมาว่ารถถังส่วนใหญ่มักจะถูกตรวจพบและยิงทำลายเพราะความสูง ถ้าจะจัดหารถถังใหม่มาใช้มันต้องต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีการเดียวที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คือต้องตัด”หัว”หรือป้อมปืนทิ้งแทนการออกแบบระบบขับเคลื่อนใหม่ ด้วยวิธีการนี้สวีเดนได้รับผลประโยชน์หลายเด้งคือลดน้ำหนัก ไม่ต้องออกแบบระบบขับเคลื่อนให้ซับซ้อน และราคาถูกลง
ป้อมปืนที่หายไปทำให้Strv103เตี้ยกว่าT-72ของโซเวียต ที่ว่าเตี้ยที่สุดในขณะนั้นก็ยังสูง2.20เมตร แต่Strv103ของสวีเดนสูงแค่2.14เมตร แม้จะดูเหมือนน้อยด้วยความต่างเพียง6ซ.ม.เมื่อยังไม่ได้ปรับระบบซับแรงกระแทก เมื่อปรับให้เตี้ยยังลดลงได้อีก13ซ.ม. เมื่ออยู่ในภูมิประเทศประกอบกับความคล่องตัวสูง ความเตี้ยขนาดนี้ช่วยให้มันได้เปรียบคู่ต่อสู้แบบไม่เห็นฝุ่นโดยเฉพาะด้านความอยู่รอดในสนามรบ
เมื่อไร้ป้อมปืน Strv103จึงต้องหันปืนด้วยการหันทั้งตัวรถ หากจะยิงด้วยมุมก้มหรือเงยก็ปรับช็อคให้ยกท้ายหรือยกหน้ารถได้ แทนการหมุนป้อมและกระดกปืนเหมือนรถถังปกติ ด้วยแนวความคิดเน้นการป้องกันตัวเป็นหลักStrv 103จึงเป็นรถถังเน้นยุทธศาสตร์ป้องกันแท้ๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสวีเดนที่วางกรอบการสร้างยานรบทุกประเภท
แนวความคิดให้หันรถถังคันเพื่อหามุมยิงนี้เกือบไม่ใช่ของใหม่ เยอรมันริเริ่มทำมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2กับรถถังชตุก3และ4(StugIII,StuglV)ที่เกือบแบนราบแต่ปรับมุมสูงได้ กับยากด์พันเธอร์(Jagdpanther)และเฮทเซอร์(Hetzer)ที่มีตัวรถหุ้มปืนขึ้นมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู แต่กลไกเพื่อเปลี่ยนมุมดิ่งของปืนในรถถังเยอรมันทำให้ตัวรถยังสูงอยู่ สวีเดนจึงแก้ปัญหาด้วยการพาดปืนไว้กับตัวรถเฉยๆ เมื่อจะเปลี่ยนมุมดิ่งก็ปรับระบบกันสะเทือนให้หน้าและท้ายรถก้มหรือเงยแทน ลักษณะการปรับระบบกันสะเทือนเช่นนี้ยังพบได้อีกในรถถังเบาแบบอาแอมอิกซ์ 13(AMX13)ของฝรั่งเศส
อาวุธหลักของStrvคือปืนใหญ่105ม.ม.จากโบฟอร์ส วางพาดตามตามแนวยาวหน้า-หลังมีปลายรังเพลิงชิดท้ายเพื่อสะดวกต่อการคัดปลอกทิ้งนอกตัวรถหลังยิง เครื่องป้อนกระสุน(auto loader)ช่วยให้ลดจำนวนพลประจำรถเหลือแค่3นายและสามารถรบได้ด้วยทหาร2นายเท่านั้น คือพลขับและผู้บังคับรถทำหน้าเป็นพลปืนด้วย ส่วนพลขับคนที่3หันหน้าออกท้ายรถใช้อุปกรณ์ขับเคลื่อนเหมือนพลขับปกติทุกประการ เพิ่มความคล่องตัวด้วยการแล่นถอยหลังด้วยความเร็วเท่าเดินหน้า
ความแปลกอีกเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำกันนอกจากความเตี้ย คือผู้บังคับรถกับพลขับมีศูนย์เล็งและเครื่องบังคับการยิงร่วมกันซึ่งไม่มีในรถถังปกติเพราะป้อมปืนกับตัวรถแยกจากกัน ความเหนือชั้นคือใช้สองเครื่องยนต์ต่างวัตถุประสงค์กัน โดยให้เครื่องยนต์ดีเซล240แรงม้าโรลซ์รอยซ์K60ในความเร็วปกติและเพื่อหันตัวรถ กับเครื่องยนต์กังหันเทอร์บีน300แรงม้าโบอิง502เมื่อต้องการความเร็วสูงบนถนน
แนวความคิดใหม่และแปลกแต่ได้ประโยชน์เต็มที่เข้าตากองทัพ โบฟอร์สจึงถูกสั่งให้สร้างรถต้นแบบซึ่งเสร็จในปี1958 ทดสอบแล้วได้ผลน่าพอใจจึงต้องสร้างต้นแบบอีก2คันเสร็จในปี1961 การผลิตเพื่อส่งมอบเต็มรูปแบบเริ่มในปี1967จนมาสิ้นสุดในปี1971ด้วยยอด209คันในรหัสStrv(103คือรถถังลำดับที่3ที่ใช้ปืนใหญ่ลำกล้องเส้นผ่าศูนย์กลาง10ซ.ม.ขึ้นไป) และโฉมใหม่เปลี่ยนจากต้นแบบเล็กน้อย ด้วยกล้องมองภาพของผู้บังคับรถควบคุมความเสถียรด้วยไจโร ยกระดับเกราะด้านหน้าให้ทนกระสุนระเบิดแรงสูงต่อสู้รถถัง(HEAT: High Explosive Anti-Tank)
Strv103เป็นรถถังหนึ่งในไม่กี่แบบที่แล่นในน้ำได้แบบสะเทินน้ำสะเทินบก ฉากกั้นน้ำสำเร็จที่ติดตั้งรอบตัวรถสามารถยกขึ้นได้ภายใน20นาทีก่อนแล่นในน้ำด้วยสายพานในความเร็ว6ก.ม./ช.ม. ในการจัดอัตรากำลังของสวีเดนStrv103หนึ่งคันของแต่ละหมวด ต้องมีใบผานติดหน้ารถเพื่อไถขุดหลุมซ่อนพราง ทั้งขุดให้ตัวเองและขุดให้รถถังคันอื่นในหมวด
ถึงสวีเดนจะเป็นหน้าด้านเผชิญกับโซเวียตและประเทศในกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอว์ Strv 103กลับไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเนื่องจากจุดศูนย์กลางความขัดแย้งขณะนั้นคือกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี แม้ไม่ได้ออกสงครามแต่มันก็ถูกทดสอบในสนามทดสอบสมรรถนะยานเกราะที่ยุโรปจัดให้มีเป็นประจำ ในปี1967 นอร์เวย์จัดทดสอบเพื่อเปรียบเทียบการหาเป้าและทำลายระหว่างStrv 103กับรถถังเลปเปิร์ด1(Leopard l)ของเยอรมันตะวันตก
เมื่อปิดประตูทุกบานเลียนสภาพสู้รบจริง Strv 103สามารถหาเป้าได้เร็วกว่า ยิงเร็วกว่าและทำลายเป้าได้มากกว่าเลปเปิร์ด1 ทั้งที่รถถังเยอรมันดูเหมือนมีทัศนวิสัยดีกว่าเพราะมีป้อมปืนสูง ต่อมาอีกครั้งในเดือนกันยายน 1968 Strv 103สองคันถูกนำไปทดสอบในศูนย์การทหารม้ายานเกราะของอังกฤษที่โบวิงตัน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจดังข้อความส่วนหนึ่งในรายงาน”แนวคิดเรื่องการวางปืนของรถถังS ทำให้ได้เปรียบรถถังมีป้อมปืนปกติมาก”
ในกองกำลังอังกฤษที่ยังยึดครองเยอรมนีอยู่ในปี1973 Strv 103ถูกทดสอบอีกครั้ง คราวนี้มันต้องวัดดวงกับรถถังหนักของอังกฤษคือชีฟเทน(Chieftain) ผลปรากฏเช่นเดิมคือมันผ่านเรียบร้อยเมื่อเทียบกับรถถังมีป้อม ด้วยผลการทดสอบถึง90เปอร์เซ็น รายงานสรุปแจงว่า”ไม่พบว่ามีข้อแตกต่างเลยสำหรับรถถัง S ด้านการยิงระหว่างแล่น” และในปี1975เมื่อถูกนำไปทดสอบเปรียบเทียบกับรถถังM60A1E3ในฟอร์ท น็อกซ์ สหรัฐ ผลการทดสอบยังเป็นเช่นเดิมคือยิงได้แม่นกว่ารถถังอเมริกันคู่ทดสอบ แต่ยังยิงช้ากว่าแค่นัดละครึ่งวินาทีทั้งที่ใช้เครื่องป้อนกระสุนอัตโนมัติ ขณะM60ใช้พลบรรจุดันกระสุนดันเข้าท้ายรังเพลิง
Strv 103ยังถูกพัฒนาต่อมาอีก3รุ่นจากรุ่นAซึ่งเป็นรุ่นแรก มาเป็นรุ่นB,CและD โดยเครื่องยนต์กังหันแก๊ซเทอร์บีนถูกเปลี่ยนเป็นของบริษัทเคเทอร์พิลเลอร์(Caterpillar) จากการนำรถถังรุ่นแรก80คันมาปรับปรุงด้วยเครื่องรุ่นนี้ให้แรงขึ้น ปี1986เป็นปีของโครงการปรับปรุงเป็นรุ่นCด้วยการเสริมใบผานด้านหน้าทั้งหมด แทนที่จะมีแค่คันเดียวในหนึ่งหมวด เครื่องยนต์ดีเซลของโรลซ์ รอยซ์ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องของดีทรอยต์ ดีเซล290แรงม้า เพิ่มเครื่องหาระยะด้วยเลเซอร์ มีจำนวนหนึ่งที่ติดตั้งเกราะปฏิกิริยาด้วยในช่วงต้นปี90 แต่ในที่สุดกองทัพบกสวีเดนที่จำต้องหารถถังทดแทนก็เลือกเลปเปิร์ด2(Leopard ll)จากเยอรมันที่กำลังทยอยเข้าประจำการในปี1997 อันเป็นปีเดียวกับที่Strv 103ถูกใช้เป็นรถถังฝึกเป็นปีสุดท้ายแล้วปลดประจำการ ขณะหลักนิยมในการใช้ยานเกราะของประเทศเปลี่ยนไป เมื่อกองทัพต้องการรถปืนใหญ่กว่าและแล่นเร็วกว่าเดิม
รุ่นDซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของStrv 103นั้นเกิดจากการปรับปรุงบางรายการของรุ่นC ควบคู่กับโครงการจัดหารถถังหลักให้กองทัพบกสวีเดน มีต้นแบบเพียงคันเดียวเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์ใช้งานได้ ด้วยคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นคือคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ กล้องมองภาพเทอร์มอล(เห็นภาพด้วยความร้อนจากร่างกายมนุษย์)สำหรับพลปืนและผู้บังคับรถ ช่วยให้พลประจำรถรบได้ทั้งกลางคืนและช่วงอากาศเลวร้าย คันต้นแบบนี้ถูกใช้เพื่อทดสอบระบบการทำงานของรถถังหลักใหม่ควบคู่กับทดสอบรถถังแบบอื่น ในช่วงหนึ่งมันถูกทดสอบให้ทำงานได้จากการบังคับระยะไกล คนต้นแบบหนึ่งเดียวในโลกนี้ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ยานเกราะอักซ์วัลล์(Axvall Armor Museum)แห่งสวีเดนพร้อมรุ่นCอีกจำนวนหนึ่งและยังใช้งานได้เป็นปกติ
Strv 103จึงเป็นรถถังแบบเดียวในโลกที่ไร้ป้อมปืน เพราะถูกออกแบบเน้นความอยู่รอดในสนามรบมากที่สุด แต่สวีเดนไม่ได้จำหน่ายให้ใครนอกจากผลิตใช้เองประเทศเดียว เราจึงไม่ได้เห็นมันนอกประเทศนี้จนปลดประจำการไป เป็นไปได้ว่าหากเกิดสงครามในดินแดนสวีเดนแล้วรถถัง”S”สร้างผลงานเด่นไว้ รถถังรุ่นหลังๆอาจกลายเป็น”รถถังหัวขาด”กันหมด เมื่อรู้ว่ารถถังจากสติปัญญาของวิศวกรสวีเดนนั้นไม่ธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น