วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

จอห์น บอยด์...OODA loop และ F-16


ชื่อข้างต้นดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันหากผู้อ่านไม่เคยสนใจเรื่องราวของนักบินขับไล่ กระบวนการตัดสินใจใช้อาวุธและเครื่องบินขับไล่มาก่อน แต่แท้จริงแล้วมันเกี่ยวกัน ทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากที่เดียวกันด้วยคือท้องฟ้าเหนือเวียตนามเหนือ
เรื่องเริ่มขึ้นในวันหนึ่งของเดือนเมษายนปี 1965 ขณะเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯคือF-105 “ธันเดอร์ชีฟ”4 เครื่อง กำลังปฏิบัติภารกิจทำลายสะพานธานห์หัว จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ถูกขนานนามว่า”ขากรรไกรมังกร” ระหว่างกำลังเข้าสู่ที่หมายนั้นพลันเครื่องบิน MiG-17ของเวียตนามเหนือจำนวนหนึ่งได้พุ่งเข้ามากลางวง ไม่ได้แค่สร้างความประหลาดใจแต่ยังยิงเครื่องบินอเมริกันตกไปสองเครื่องรวด เครื่องที่สามเสียหายหนักและพยายามหนี นักบินในF-105เครื่องที่สี่พยายามช่วยเพื่อนแต่กลับพบว่ามีมิกอีกเครื่องมาจี้ท้าย!
F-105 เป็นเครื่องบินหนึ่งในรุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพอากาศขณะนั้น อยู่ใน”Century Series” หรือเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 2 ที่ออกแบบในทศวรรษ 1950 ส่วนMiG-17 คือเครื่องบินขับไล่ใหม่ของค่ายโซเวียตที่มาทดแทน MiG-15 เดิมตั้งแต่ครั้งสงครามเกาหลี มันขับง่ายกว่า MiG-15 แต่ยังช้ากว่าเจ้า”ธัด”ของสหรัฐฯที่ทำความเร็วได้ 1,300 ไมล์/ช.ม. เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์เครื่องบินอเมริกันเร็วกว่าหลุดลุ่ย
แต่สถานการณ์ในตอนนี้ความเร็วช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าจะเร่งหนี”ธัด”ต้องเปิดสันดาปท้าย เร็วจริงแต่เปลืองน้ำมันจนอาจกลับไม่ถึงบ้าน ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือเข้าคลุกวงในกับMiGแบบยอมแลก นักบินอเมริกันพยายามหลบด้วยท่าทางการบินตามแต่จะนึกออก แต่MiGก็เลี้ยวได้แคบกว่าทุกที มันเลี้ยวดักทางได้ทุกท่วงท่าชนิดที่นักบินอเมริกันไม่มีทางสะบัดหลุด กลับมาอยู่ในตำแหน่งยิงเบื้องหลังได้ทุกครั้งชนิดเป้าหมายหมดทางสู้
พอหมดหนทางเข้านักบิน F-105 ก็นึกถึงคำบรรยายของเรืออากาศเอกคนหนึ่งผู้เคยมาเยือน”Fighter Weapon School”หรือโครงการฝึกนักบินขับไล่ขั้นสูง ณ ฐานทัพอากาศเนลลิส เนวาดา นายเรืออากาศเอกผู้นั้นเคยบรรยายถึงกลยุทธการป้องกันตัวเองยามเข้าต่อตีระยะประชิดกับข้าศึก เป็นยุทธวิธีที่น่าจะเหมาะกับนักบิน F-105 ด้วยเมื่อคับขัน คือการดึงคันบังคับเข้าหาตัวอย่างแรงและโยกหลบซ้าย เหยียบกระเดื่องบังคับแพนหางตั้งเบนซ้ายแล้วกลับลำเครื่องฉับพลัน
เริ่มแรกการทำเช่นนี้ดูจะช่วยอะไรไม่ได้ ใครๆก็รู้ว่า F-105 นั้นใหญ่อุ้ยอ้าย เอี้ยวตัวไปทางไหนแต่ละครั้งข้าศึกรู้ทางหมด MiGที่เล็กกว่าย่อมกลับลำได้เร็วกว่า แต่นักบินอเมริกันไม่มีอะไรจะเสีย ได้ลองยังดีกว่ายอมถูกยิงร่วง เขาทำตามคำของครู ดึงคันบังคับเข้าหาตัวแล้วหักซ้าย เหยียบกระเดื่อง เครื่องบินหมุนแล้วลดความเร็วลงได้เหลือเชื่อจนMiGพุ่งแซงหน้า นักบินF-105แทบไม่เชื่อสายตากับสิ่งที่เห็น แทนที่จะเหนี่ยวไกลั่นกระสุนเมื่อเป้าพุ่งผ่านศูนย์ปืนเขากลับงงเป็นไก่ตาแตก จะเหนี่ยวไกยิงก็ช้าเกิน และการทำลายเครื่องบินข้าศึกก็ไม่ใช่ภารกิจหลัก คิดได้จึงตีวงหักหนีกลับบ้านไปแทนการไล่อัดMiGจนน้ำมันหมด
เรืออากาศเอกคนดังกล่าวคือจอห์น บอยด์ หรือสุดยอดนักบินขับไล่ผู้มีฉายา”บอยด์ 40วิ” จากการชนะพนันระหว่างฝึกรบกลางอากาศ บอยด์จะเริ่มด้วยการปล่อยให้เพื่อนมาไล่จี้ท้ายหาตำแหน่งยิง แล้วภายใน 40 วินาทีเขาก็จะกลับทิศทางมาเป็นฝ่ายสังหารจ่อท้ายเครื่องของเพื่อนได้สำเร็จ บอยด์วางเงินเดิมพัน 40 ดอลลาร์เริ่มแรกเสมอ แต่เขาไม่เคยเสียมันไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ประสบการณ์ของบอยด์ทำให้เขาถูกแต่งตั้งมาเป็นครูการบินใน Fighter Weapon School และจากความช่างคิดเช่นกันที่ทำเขาให้สรุปการดำเนินกลยุทธขั้นพื้นฐานขึ้น เพื่อให้นักบินพาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งดีที่สุดในการทำลายเป้าหมาย แนวความคิดทั้งหมดของบอยด์ปรากฏในหนังสือ Aerial Attack Study ซึ่งกลายเป็นบทเรียนยุทธวิธีเบื้องต้นสำหรับการรบทางอากาศทั้งในสหรัฐฯและต่างประเทศ ด้วยนิสัยห่ามและชอบท้าทายกรอบความคิดแบบเดิมทำให้บอยด์คิดอะไรแปลกๆได้เสมอ แนวความคิดที่เขาตั้งข้อสงสัยคือเรื่อง”ความเร็ว”ที่พวกนักออกแบบเครื่องบินรบสมัยนั้นพากันคลั่งไคล้
ความเร็วคือสิ่งที่เครื่องบินรบอเมริกันต้องทำให้ได้ในทศวรรษ 1950 เครื่องบินที่ผลิตออกมาในช่วงนี้จึงเน้นความเร็วเป็นหลักด้วยความคิดว่ายิ่งเร็วยิ่งดี แต่ประสบการณ์จริงบอกบอยด์ไปคนละเรื่อง เจออะไรไม่เข้าท่าบ่อยครั้งเข้าเขาจึงเก็บข้อมูลไว้ ก่อนจะพบว่าเครื่องบินที่ถูกตราหน้าว่าห่วยอย่าง MiG-15และMiG-17 ที่ทั้งช้าทั้งสั้นม่อต้อและเหมือนพ้นสมัย กลับยิงเครื่องบินอเมริกันที่เร็วกว่าตกเป็นว่าเล่น ปัญหาที่บอยด์ขบแตกคือถึงจะเก่าและช้ากว่า แต่เจ้าMiGพวกนั้นคล่องตัวกว่าเครื่องบินอเมริกันที่เร็วและ”ดูเหมือน”ดีกว่า
MiGเปลี่ยนทิศทางได้รวดเร็วกว่า เทียบกันโค้งต่อโค้งเห็นได้ชัดว่าวงเลี้ยวแคบกว่า นักบินอเมริกันจะหลบหรือสาดโค้งยังไงก็สะบัดไม่หลุดพาตัวเองเข้าไปอยู่ในศูนย์ปืนข้าศึกทุกที สถิติเป็นตัวยืนยันว่าบอยด์ถูก เขาชี้เปรี้ยงว่าระหว่างพันตูกันกลางหาวนั้นเน้นเร็วอย่างเดียวก็สูญเปล่า ยิ่งมีข้อมูลเครื่องบินโซเวียตเพิ่มขึ้นบอยด์ยิ่งมั่นใจว่าทฤษฎีของตนถูก ลำพังความเร็วย่อมไม่มีทางได้เปรียบความคล่องตัว เมื่อนำข้อมูลทางวิศวกรรมและประสบการณ์ของนักบินสองค่ายมาเทียบกัน ผลสรุปก็ยิ่งน่าตกใจ หากปล่อยให้ยังดวลกันอย่างนี้ต่อไปรับรองได้ว่าเครื่องบินอเมริกันถูกสอยร่วงไม่เหลือ
คำถามของบอยด์ต่อกองทัพอากาศ คือ”กองทัพอากาศเอาแต่ออกแบบเครื่องบินที่แพ้ข้าศึกวันยังค่ำได้ยังไง? หรือหากจะถามแบบบอยด์ก็คือ”นักบินขับไล่ของเราโดนไอ้พวกป่าเถื่อนนั่นยิงตกได้ไงวะ?” นอกจากเร็วเกินแล้วเครื่องบินในCentury Series ยังใหญ่ ควันขาวเห็นแต่ไกล นักบินมองเห็นไม่รอบตัว คนถูกยิงที่สะพานธานห์หัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าMiGพุ่งมาจากไหน เห็นได้ชัดว่านักบินMiGมองเห็นเครื่องบินอเมริกันก่อน ปรับตัว ตัดสินใจและใช้อาวุธได้ก่อน จึงมีโอกาสชนะมากกว่า
ข้อมูลที่รวบรวมได้ผนวกประสบการณ์ส่วนตัวทำให้บอยด์สรุปกระบวนการตัดสินใจเข้าต่อตีเป็นอักษรสี่ตัวคือ OODA(Observe สังเกต,Orient ปรับตัว,Decide ตัดสินใจ และ Act ใช้อาวุธ) กระบวนการตัดสินใจเป็นวงรอบซ้ำไปมานี้ถูกรวมเรียกง่ายๆว่า”OODA loop” นักบินผู้ดำเนินกระบวนการ”อูดา”นี้ได้เร็วกว่าข้าศึกย่อมชนะ จุดใหญ่ใจความคือผู้ประมวลผลข้อมูลได้ดีกว่าคือผู้ชนะ
สมมุติว่าเครื่องบินของฝ่ายเราบินเลี้ยวได้แคบกว่าข้าศึก 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะได้เปรียบอย่างไรก็ตามมันจะไม่มีประโยชน์ถ้ายังไม่ได้ทิ้งโค้ง แต่ถ้าข้าศึกหักเลี้ยวได้เร็วกว่าเราซึ่งกำลังคิดและหาทางใช้อาวุธ ลงมือยิงก่อน ความได้เปรียบของเราก็ไร้ค่า จากตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้เห็นก่อน ปรับตัวได้ก่อน ตัดสินใจและใช้อาวุธได้เร็วกว่าย่อมเป็นฝ่ายชนะ ใครก็ตามที่เข้าสู่”วงรอบอูดา”ได้ก่อนและเสร็จสิ้นเร็วกว่า จะทำลายเป้าหมายได้ก่อน
ความหัวแข็ง ยึดมั่นในความคิดและไม่ยอมใครของบอยด์ทำให้อยู่ยากในกองทัพ หลังจากรู้ว่าตัวเองไม่มีทางเป็นนายพลเขาจึงลาออกในปี 1975 พร้อมแนวความคิดการสร้างเครื่องบินเพื่อช่วยให้นักบินจบกระบวนการ”อูดา”ได้เร็ว ทั้งที่เป็นพลเรือนแล้วแต่ยังทำงานให้กระทรวงกลาโหม ทฤษฎีของบอยด์ก่อให้เกิดเครื่องบินขับไล่แบบใหม่คือ F-15 ที่เน้นความคล่องตัวระหว่างคลุกวงใน แต่ถูกพัฒนาออกไปอีกหลังจากหลุดพ้นกองทัพ F-16 คือเครื่องบินขับไล่ประสบความสำเร็จสูงทั้งด้านการตลาดและสมรรถนะจากหัวคิดของบอยด์ สิ่งที่ดีอยู่อยู่แล้วใน F-15 ได้ถูกปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นใน F-16 มันคล่องตัวกว่าและทัศนวิสัยของนักบินก็ดีกว่า ด้วยฝาครอบห้องนักบินกระจกชิ้นเดียวไร้รอยต่อเหนือลำตัว ที่นั่งยกสูงและเอน เป็นเครื่องบินขับไล่สมัยใหม่ที่ย้อนยุคไปใช้แนวความคิดเดิมของเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง F-84”ธันเดอร์เจ็ต” และ F-86 “เซเบอร์”เพื่อออกแบบห้องนักบินและฝาครอบทรงกลม เอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่วงรอบ”อูดา”ของนักบินให้เร็วที่สุด
นอกจากคล่องตัวและทัศนวิสัยยอดเยี่ยม มันต้องเบาและไม่แพงจนกองทัพอากาศสามารถซื้อไว้ใช้ได้ทีละมากๆ บอยด์เชื่อว่าสงครามเวหาในอนาคตต้องการเครื่องบินความคล่องตัวสูงเยี่ยงนี้ เพราะเป็นสงครามที่วัดผลแพ้ชนะกันด้วยข้อมูลข่าวสาร ใครมีข้อมูลมากและดีกว่า จบกระบวนการ”อูดา”ได้เร็วกว่าจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ
หลังจากหมดภารกิจในกระทรวงกลาโหมปี 1988 บอยด์ย้ายไปใช้ชีวิตในฟลอริดา “OODA loop”ของเขามีประโยชน์มากกว่าแค่ใช้สอนนักบิน ดัดแปลงให้ดีมันใช้ได้ด้วยกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน นักบาสเก็ตบอลที่จบกระบวนการ”อูดา”ได้เร็วกว่าฝ่ายตรงข้ามจะดักทางเคลื่อนไหวตัดลูกได้ถูก กองกำลังภาคพื้นดินที่ดำเนินกระบวนการ”อูดา”เร็วกว่าจะยึดที่หมายได้ก่อนและสูญเสียน้อย
แม้ในเชิงการค้าถ้าธุรกิจใด”รู้เขา”(Observe),”รู้เรา(Orient),ตัดสินใจ(Decide) และดำเนินกลยุทธการตลาด(Act)ได้เร็วกว่า ก็ย่อมทำกำไรได้มากกว่าและกันคู่แข่งออกจากตลาดได้
มีคนรู้น้อยเหลือเกินว่าบางแนวความคิดในการทำธุรกิจ แท้จริงมีต้นตอจากแค่นักบินอเมริกันคนหนึ่งพยายามหาทางยิง MiGข้าศึกให้ร่วงเท่านั้น!

1 ความคิดเห็น: