วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

รบอย่างมั่นใจด้วย”เสื้อเกราะ”

ความพยายามป้องกันคมอาวุธยามสู้รบมีมานานแต่ดึกดำบรรพ์ แรกเริ่มเราใช้แผ่นหนังซ้อนและห่วงเหล็กถักทอเป็นเสื้อ,กางเกง อัศวินยุคกลางใช้ทั้งห่วงเหล็กถักและแผ่นเหล็กสร้างเกราะใช้ทั้งในการประลองและทำสงคราม นักรบไทยเองก็ใช้เกราะโลหะมานานแล้วตั้งแต่สมัยเริ่มคบค้ากับชาติยุโรปที่มาพร้อมทหารรับจ้างและปืนไฟ หลังจากโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อาวุธเปลี่ยนจากดาบมาเป็นปืนยิงได้ไกลและมีอำนาจทะลุทะลวง เทคโนโลยีสร้างเกราะก็พัฒนาตาม
รูปแบบหนึ่งของเกราะที่ใช้กันแพร่หลายคือ”เสื้อเกราะ”(Ballistic vest) ที่ปกป้องลำตัวจนถึงหว่างขาได้ด้วยคุณสมบัติสำคัญคือดูดซับแรงกระแทกจากกระสุนและสะเก็ดระเบิด แบ่งได้เป็นเกราะอ่อนและเกราะแข็ง เกราะอ่อนส่วนมากจะสร้างจากเส้นใยวัสดุสานทับกันเป็นชั้นแน่นหนา ป้องกันผู้สวมจากการเจาะทะลุและแรงกระแทกของปืนลูกซองและปืนพก ส่วนมากผลิตจากเส้นใยอารามิด(Aramid)มีชื่อทางการค้าจากบริษัทดูป็องต์ว่า”เคฟลาร์”(Kevlar)
ผ้าไหมก็ใช้กันกระสุนได้เมื่อนำมาซ้อนกันหลายๆชั้น ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นคือเส้นใยสอดประสานกันแน่น สามารถกระจายแรงกระแทกได้ทั่วทั้งแผ่น จึงกันอันตรายจากของมีคมและหัวกระสุนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเกราะแข็งนั้นไม่สร้างเป็นเสื้อแต่จะเป็นแผ่นแล้วสอดไว้ในเสื้อกั๊กผ้าซ้อนเกราะอ่อนอีกชั้น มีทั้งที่ทำจากแผ่นเหล็กและแผ่นเซรามิกหรือเคฟลาร์ กันได้ทั้งกระสุนปืนพกไปจนถึงกระสุนปืนกลขนาดแคลิเบอร์.30 เกราะทั้งสองชนิดหากใช้ประกอบหมวกนิรภัยเคฟลาร์ จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์
เสื้อเกราะถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อกระสุนมีอานุภาพสูงขึ้นทั้งอำนาจทะลุทะลวงและระยะหวังผล สหรัฐเคยออกแบบเสื้อเกราะให้ทหารราบช่วงนั้นแต่มันน้ำหนักมากเกินและเคลื่อนไหวลำบาก เกาะกะเมื่อประกอบเครื่องสนามอื่นและอาวุธ เท่าที่ทำได้ในช่วงนั้นคือทำ”แฟลค แจ็คเก็ต”(flak jacket)ให้นักบินสวม สร้างจากไนลอนให้ทนสะเก็ดระเบิดและสะเก็ดกระสุนปืนใหญ่แตกอากาศได้แต่ไม่ได้สร้างให้กันกระสุน เยอรมันนั้นเคยมีเกราะเหล็กให้ทหารสวมบ้างเหมือนกันช่วงสงครามโลกครั้งที่1 แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปืนเล็กยาวและอาวุธรวมทั้งเครื่องแบบพรางมากกว่าในสงครามโลกครั้งที่2
กองทัพโซเวียตก็มีเกราะให้ทหารใช้เช่นกันในช่วงนั้น คือSN-42”สตาลินอย นากรุดนิค” ที่ผลิตแจกจ่ายกำลังพลเหล่าทหารช่างจู่โจมของตนในปี 1942 และกับเหล่ายานเกราะระดับกองพลน้อยส่วนหนึ่ง คุณสมบัติเด่นคือป้องกันอันตรายจากกระสุนปืนกลมือMP40ขนาด9ม.ม.ของเยอรมันได้ชงัด ในระยะยิง100-125เมตร ลงตัวกับสงครามในเมืองของสตาลินกราดที่ยิงกันไม่ไกล แต่ก็มีปัญหาด้านเทคโนโลยีเดิมๆคือน้ำหนักมาก เคลื่อนไหวไม่สะดวกจนทหารแห่งกองทัพแดงถอดทิ้งแล้ววิ่งเข้าปะทะทหารเยอรมันแบบตัวเปล่าๆพร้อมอาวุธเสียส่วนใหญ่ สหรัฐกลับตัวมาพัฒนาเกราะของทหารราบทันอีกทีก็ล่วงเข้าปี 1945ช่วงใกล้สิ้นสงคราม จีไอบางส่วนในแนวหน้าได้สวมเกราะสร้างจาก”โดรอน เพลท”(Doron Plate)ที่สร้างจากไฟเบอร์กลาสเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่นในสมรภูมิเกาะโอกินาวา
เสื้อเกราะยังพัฒนาต่อเนื่องถึงช่วงสงครามเกาหลี เมื่อสหรัฐตระหนักว่าสงครามเย็นอาจทำให้ชาติต้องกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งอีกหลายครั้ง ไฟเบอร์กลาสหรืออลูมินัมยังเป็นวัสดุใช้การได้ดีในเสื้อเกราะแบบM-1951 ด้วยลักษณะเด่นคือเป็นแผ่นอลูมินัมหรือไฟเบอร์กลาสยึดห่วงต่อกันเป็นแผ่นยัดในเสื้อกั๊กผ้า เกราะรุ่นนี้เบาจริงแต่ป้องกันอะไรไม่ได้เลยทั้งกระสุนและสะเก็ดระเบิด ทั้งที่โฆษณาไว้ดิบดีว่ากันกระสุนปืนพกขนาด7.62X25ของโซเวียตได้แม้ถูกยิงระยะเผาขน แต่เมื่อผลการใช้งานจริงไม่เป็นเช่นนั้นกองทัพก็เลิกใช้
จากอลูมินัมและไฟเบอร์กลาส สงครามเวียตนามคือยุคเริ่มต้นของเกราะเซรามิกที่ไม่ได้พัฒนาต่อจากยุคสงครามเกาหลีแต่รื้อแนวความคิดด้านเกราะใหม่หมด เทคโนโลยีด้านเซรามิกที่พัฒนามาระดับหนึ่งในขณะนั้นทำให้มั่นใจได้ว่ามันสมควรนำมาเป็นเกราะ นักบินเฮลิคอปเตอร์คือกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงที่สุดต่อกระสุนอาก้า จึงต้องสวมเกราะสร้างจากวัสดุผสม(คอมโพสิต)คือเซรามิก-โลหะ ในชื่อเล่นว่า”ชิคเกน เพลท” ป้องกันลำตัวได้ดีจากกระสุนปืนพกและปืนเล็กยาว นักบินเฮลิคอปเตอร์อเมริกันปลอดภัยพอสมควรเมื่อใช้เกราะระหว่างภารกิจ
เทคโนโลยีเสื้อเกราะมาถึงจุดเปลี่ยนกลางทศวรรษ70เมื่อดูป็องต์ปล่อยเคฟลาร์ออกสู่ตลาด ด้วยคุณสมบัติเหนียวทนและเบา ทำให้บางจนสวมเสื้อทับได้แนบเนียน จึงถูกนำเข้าโครงการประเมินผล(National Institute of Justice:NIJ)ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐทันที หน่วยงานตำรวจหลายหน่วยรับไปทดสอบให้เจ้าหน้าที่สวมปฏิบัติงานทั้งวัน ผลคือเคฟลาร์ใช้สวมใส่ได้สบายและช่วยปกป้องชีวิตจากปืนพกและการทิ่มแทงได้จริง จากปลายทศวรรษ70ถึงปัจจุบันจึงมีภาพตำรวจอเมริกันสวมเกราะซ่อนในเครื่องแบบออกปฏิบัติงานให้เห็นบ่อยๆ
ถึงจะรักษาชีวิตคนสวมไว้ได้ แต่เกราะอ่อนเคฟลาร์ก็มีจุดด้อย ด้วยความนิ่มของมันแม้จะกระจายแรงปะทะของกระสุนได้แต่อวัยวะภายในก็ถูกกระทบกระเทือน คนสวมไม่ตายก็จริงแต่บางครั้งซี่โครงหัก ไตช้ำ เวลาถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง กระนั้นก็ยังดีกว่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่เอาเนื้อสดๆไปเสี่ยงกับกระสุนหัวตันๆหรือบางครั้งก็หัวแฉกของคนร้าย และโอกาสที่ตำรวจจะถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงหัวแหลมๆจากปืนเล็กยาวก็ยังมีน้อยกว่าทหาร
“เสื้อเกราะเรนเจอร์”(Ranger Body Armor)ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกองทัพสหรัฐในปี1991 เป็นเกราะรุ่นที่สองที่กันกระสุนปืนเล็กยาวได้และเบาพอให้ทหารสวมในสนาม แต่จุดอ่อนยังมีคือยังหนักกว่า”เกราะกันสะเก็ด”(Personal Armor for Ground Troops: PSGT)แบบเดิม และไม่กันกระสุนตรงคอกับไหล่ เพื่อให้รักษาชีวิตทหารได้บางครั้งการหยุดยั้งอำนาจกระสุนอาจต้องแลกกับความคล่องตัว ทหารจึงต้องสวมเสื้อเกราะดังกล่าวพร้อมสอดแผ่นเซรามิกแข็ง(Small Arms Protective Insert)เข้าไปอีกทั้งหน้า,หลังและข้าง โดยตัวเสื้อเกราะชั้นนอกใช้ติดอุปกรณ์ต่างๆได้(modular)แทนการใช้สายเก่งกับเข็มขัดสนามเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งน้ำหนักอุปกรณ์ที่เอวจะกดทับทำให้เจ็บและอึดอัดเมื่อสวมใส่ยาวนาน แต่เสื้อเกราะแบบโมดูลาร์จะกระจายน้ำหนัก สวมและถอดง่ายกว่า ด้วยเปลือกนอกแบบเอนกประสงค์นี้จึงมีหลายรูปแบบ ตอบสนองการใช้งานได้หลากหลาย
จากชนิดและขนาดหน้าตัดกระสุนหลากหลาย ทำให้NIJต้องกำหนดมาตรฐานการป้องกันไว้เพื่อให้ทหารและผู้รักษากฎหมายเลือกใช้เกราะให้เหมาะสมกับภารกิจ เกราะต่างชนิดย่อมป้องกันกระสุนได้ไม่เหมือนกัน ตามมาตรฐานของหน่วยงานนี้คือ NIJ 0101.04 ที่กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการป้องกันกระสุนไว้ตามระดับอำนาจการทะลุทะลวงของกระสุน สรุปได้เป็นระดับ(level)ของการป้องกันตั้งแต่น้อยไปหามากดังนี้
Level 1: ป้องกันกระสุนขนาด.22Long Rifle Lead Round Nose (LR LRN)หัวกระสุนหนัก 40เกรน,ความเร็ว1,080ฟุต/วินาที และ.38ACP Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก95เกรน ความเร็ว1,055ฟุต/วินาที
Level 2A : ป้องกันกระสุนขนาด9 ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก 124เกรนที่ความเร็ว1,120ฟุต/วินาทีและขนาด .40 S&W Full Metal Jacketed (FMJ) หัวกระสุนหนัก180เกรน ความเร็ว1,055ฟุต/วินาที และยังป้องกันอำนาจเจาะทะลุจากlevel 1ได้
Level 2 : ป้องกันกระสุนขนาด9 ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก124เกรน ความเร็ว1,205ฟุต/วินาที และ .357 Magnum Jacketed Soft Point (JSP) หัวกระสุนหนัก158เกรน ความเร็ว 1,430ฟุต/วินาที รวมทั้งป้องกันการเจาะทะลุจากlevel 1และ2Aได้
Level 3A : ป้องกันกระสุนขนาด9ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก124เกรน ความเร็ว1,430ฟุต/วินาที และ .44 Magnum Semi Jacketed Hollow Point (SJHP) bullets หัวกระสุนหนัก240เกรน ความเร็ว 1,430ฟุต/วินาที ป้องกันการเจาะทะลุจากกระสุนปืนพกทุกแบบ รวมทั้งการเจาะทะลุในlevel 1,2A และ2ได้
Level 3 : ป้องกันกระสุนขนาด 7.62ม.ม.Full Metal Jacketed (FMJ)หรือM80ในรหัสของกองทัพสหรัฐ หัวกระสุนหนัก148เกรน ความเร็วสูงสุด2,780ฟุต/วินาที และป้องกันการเจาะทะลุในlevel 1,1A,2A,2 และ3Aได้
Level 4 : ป้องกันกระสุนเจาะเกราะ(AP)ขนาด.30 หรือM2ในรหัสของกองทัพสหรัฐได้ หัวกระสุนหนัก166เกรน ความเร็ว 2,880ฟุต/วินาที และป้องกันการเจาะทะลุในlevel 1,2A,2,3Aและ3ได้
นอกจากมาตรฐานNIJของอเมริกาที่ใช้กันแพร่หลาย ยังมีระบบของตำรวจเยอรมันคือ TR(Technische Richtlinie)และอื่นๆเช่น Draft
ISO prEN ISO 14876 และ Underwriters Laboratories (UL Standard 752) ที่น่าสังเกตคือเกราะยังไม่ถูกสร้างให้ป้องกันกระสุนขนาด.50 ซึ่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายปัจจุบันผู้ก่อการร้ายหาอาวุธหนักขนาดนี้มาใช้ได้ยากและไม่คล่องตัว โอกาสที่ทหารจะถูกยิงด้วย”ฟิฟตี้ แคล”จึงแทบไม่มี
เรื่องของเสื้อเกราะยังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ถ้าเน้นที่ตรงนั้นมากเกินแล้วจะกลายเป็นหนังสือเรียนมากกว่า”สาระ”ที่เสนอเพื่อเป็นประโยชน์ ใช้งานได้จริงในการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอเสนอรายละเอียดเท่าที่จำเป็นอันสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน เพื่อให้เลือกได้อย่างเหมาะสมกับภารกิจ เช่นการอารักขาบุคคลสำคัญที่ไม่ต้องการเปิดเผยเพราะเกรงว่าฝูงชนจะแตกตื่น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงแผ่นเกราะเซรามิกที่หนาและหนัก เคลื่อนไหวลำบาก เพียงเสื้อเกราะอ่อนซ่อนไว้ภายในเชิร์ตก็เพียงพอ หากไม่ใช่พื้นที่อันตรายขนาดต้องใช้กองกำลังติดอาวุธสงครามคอยอารักขา ในทางกลับกัน หากอยู่ในเขตสู้รบโดยเฉพาะเขตเมือง คงไม่มีทหารคนไหนยอมสวมเกราะอ่อนซ่อนในเครื่องแบบสนาม ทางเลือกที่ฉลาดจึงเป็นเสื้อเกราะมีช่องสอดแผ่นเกราะในระดับต่างๆ(1 ถึง4 ตามภารกิจ)รอบตัวทับเครื่องแบบ เพื่อปกป้องอวัยวะสำคัญ
เสื้อเกราะเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ง่ายที่สุดแล้วของทหาร ไม่ต้องบำรุงรักษา อายุงานยาวนาน ไม่มีคำว่าขัดข้อง แต่รักษากำลังพลได้ชะงัด ช่วยรัฐประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลได้มหาศาล จะให้เป็นเครื่องสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจระดับสูงก็ยังได้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น