วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

JAS39 ความจำเป็นและเหตุผล(1)


ระหว่างที่กองทัพอากาศของเรากำลังจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F5 แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียตนามและกำลังทยอยปลดประจำการ ก็เกิดกระแสความคิดไปได้หลากหลายทั้งแง่ดีและไม่ดี ในแง่ดีก็คือดีใจที่เราจะได้มีเขี้ยวเล็บใหม่มาเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพ จะได้มีของใหม่มาใช้พร้อมกับเทคโนโลยีรวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตนักบิน เชื่อว่ามันต้องดีกว่าเครื่องบินเดิมที่มีอยู่คือ F16,Alpha Jet,L 39 แล้วยังเลยเถิดไปถึงว่ามันต้องบรรทุกระเบิดได้มากกว่า บินได้ไกลกว่าเพื่อเอาไว้ข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะได้ดำเนินนโยบายทางการทูตแบบแข็งกร้าวเสียที หลังจากใครอยากได้อะไรเราก็ยอมเป็นเบี้ยล่างมานาน
อีกกระแสความคิดก็คือเราไม่ได้รบกับใคร ไม่เห็นต้องหาอะไรมาทดแทน เครื่องบินแบบเดิมก็ยังบินกันได้ไม่เห็นจำเป็นต้องไปหาเครื่องบินแบบใหม่มาใช้ ไม่สำคัญว่าใครผลิต ลงท้ายก็วกกลับเข้าสู่เรื่องเดิมๆอีกคือรายการนี้ต้องมี”คอมมิสชั่น”แน่ พวกบิ๊กๆในกองทัพอากาศคงรับทรัพย์มหาศาลร่ำรวยไปตามๆกัน ส่วนทหารระดับปฏิบัติการก็คงได้แต่อาวุธมือสองหรือสภาพแย่ๆมาใช้ ซ่อมบำรุงยากอะไหล่ก็แพง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็คงจอดไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้วคงมองหาเครื่องบินแบบใหม่มาเพื่อแสวงหาประโยชน์เข้าตัวและพวกพ้องกันต่อไป
นั่นคือความคิดของคนไทยทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้ ยังไม่มีข้อมูลในสิ่งที่กองทัพจะเอาเงินภาษีของตนไปใช้ เป็นเพียงการคาดคะเนเอาจากสิ่งที่เคยเป็นมาแต่ครั้งอดีต แต่เหตุผลที่แท้จริงในการจัดหายุทโธปกรณ์ทดแทนนั้นน้อยคนที่จะรู้ เมื่อวัฒนธรรมของชาติเราไม่ได้สนับสนุนการอ่าน การสืบค้นข้อมูลเพื่อติดอาวุธทางความคิดจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะพัฒนาไปในอนาคตเราจึงเลือกจะถามหรือคาดเดา ซึ่งง่ายกว่า เร็วกว่า แต่ขาดหลักความจริงรองรับ มีโอกาสผิดพลาดมากและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อนโยบายการป้องกันประเทศถ้า”ความเชื่อ”นั้นกลายเป็น”กระแส” แพร่ไปในในสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจในการพิจารณา แต่ไม่เคยสนใจข้อมูลทางเทคนิคและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ
ถ้าเป็นการจัดหาแบบครั้งที่แล้วๆมาผมคงไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่ครั้งนี้เรากำลังจัดหาอาวุธหรือพูดให้เจาะจงลงไปก็คือ”เครื่องบินรบ”จากชาติอื่นนอกจากสหรัฐฯ เป็นความแตกต่างอันเด่นชัดในประวัติศาสตร์ของกองทัพ ผมจึงอยากชี้จากมุมมองของประชาชนเจ้าของภาษีที่ตามรายละเอียดเรื่องนี้ และอยากเสนอความคิดให้คนทั่วไปได้เข้าใจด้วยคำพูดง่ายๆ ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการให้น้อยที่สุด ขอย้ำว่าไม่ได้เขียนเชียร์เพราะถึงอย่างไรกองทัพอากาศก็ตัดสินใจซื้อไปแล้ว เชียร์ไปก็เท่านั้น แต่เป็นการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้ชาวไทยอุ่นสบายใจว่าของที่เราหามาใช้นั้นไม่ใช่ของด้อยคุณภาพ เราได้ของดีเพียงแต่มันมาช้าไปนิดเท่านั้น
กองทัพของเราโดยเฉพาะกองทัพอากาศ เท่าที่เคยเป็นมานั้นผูกพันอยู่กับระบบอาวุธของสหรัฐฯ แรกๆก็เพราะได้รับความช่วยเหลือทางทหาร เราช่วยเขารบทั้งสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนาม โดยเฉพาะสงครามเวียตนามนั้นเราเป็นกันชนให้พร้อมเป็นฐานบิน ให้เครื่องบินอเมริกันไปถล่มทั้งเวียตนามเหนือ(ขณะนั้น)และเขมร อเมริกา”ให้เปล่า”หรือขายอาวุธราคาต่ำให้ในรูปความช่วยเหลือ แต่สิ่งแอบแฝงมาคือการให้เราเป็นพันธมิตรช่วยรบ สนองนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในการดำรงตนเป็นตำรวจโลก
ของฟรี,ของมือสองราคาถูกหรือของผ่อนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งกรอบแนวความคิดในการทำสงครามของอเมริกัน ทำให้เราพึ่งพาเขา เกิดการหยั่งรากลึกทั้งแนวความคิดและเทคโนโลยี เราจำต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้ของไว้ใช้ โดยเฉพาะระบบอาวุธที่ต้องพึ่งพาอเมริกา ถ้าจะซื้ออาวุธใหม่ระบบของมันก็ต้องเข้ากับของเดิมได้ “ของเดิม”ของใคร ตอบได้ว่า”ของอเมริกา” ถ้าจะให้เข้ากันได้สนิทมันก็ต้อง”อาวุธอเมริกัน”
ถ้าจะซื้ออาวุธยุโรปซึ่งคุณภาพไม่ด้อย เขาก็มีระบบรองรับของเขาซึ่งการเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อทั้งระบบอีกมากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะซื้ออะไรมาใช้ก็ได้ ระบบอาวุธปัจจุบันอันซับซ้อนนั้น ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์(ตัวอาวุธ)และซอฟต์แวร์(ชุดคำสั่งควบคุม) และเทคโนโลยีอื่นที่ช่วยให้มันแม่นยำสมสมรรถนะซึ่งราคามหาศาลหากต้องซื้อกันใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะเครื่องบินรบซึ่งเป็นระบบอาวุธอีกสายพันธุ์ แตกต่างจากปืนกล,ปืนใหญ่หรือรถถัง การทำงานของมันในปัจจุบันใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง(Network Centric Operation NCO)เพื่อนักบินหยั่งรู้สถานการณ์ได้เร็วที่สุด บินขึ้นต่อสู้รวดเร็วและใช้อาวุธ(ราคาแพงและมีจำกัด)ได้แม่นยำ อันเป็นผลจากข้อมูลที่ถูกส่งผ่านทั่วถึงกันตลอดทั้งสามมิติ(เครื่องบิน น้ำ และกำลังภาคพื้นดิน) เคลื่อนที่เข้าต่อตีได้รวดเร็วทันการณ์ มีกำลังน้อยเสมือนมีกำลังมาก
เราจำต้องใช้อาวุธอเมริกันเพราะใช้มานาน จนคุ้นเคย ยึดติด แม้ถูกมัดมือชกด้วยเงื่อนไขต่างๆก็ยังต้องใช้ ทั้งที่อาวุธนั้นออกแบบมาเพื่อโครงสร้างกองทัพใหญ่อย่างสหรัฐฯ ใช้เงินทอง,อุปกรณ์,บุคคลากรเพื่อดำรงสภาพมหาศาลขณะที่งบป้องกันประเทศของเรามีน้อย การพึ่งพาทำให้เราใช้อาวุธแพงมานานแม้จะไม่เข้ากับยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ระหว่างที่อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้วยงบประมาณมาก ไทยกลับใช้ยุทธศาสตร์เชิงป้องกันแต่ด้วยงบประมาณงบประมาณน้อย ที่สำคัญคือเราจำต้องทำเพราะยังขาดตัวเลือก หรือมีตัวเลือกแต่ราคาก็แพงจนรับไม่ไหว
ระบบอาวุธเดิมที่พ้นสมัยทำให้กองทัพอากาศต้องจัดหาของใหม่มาทดแทน ความจริงก็คือเครื่องบินแบบ F5 ที่เราใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียตนามนั้นพ้นสมัยไปแล้วสำหรับการรบด้วยระบบเครือข่าย พิสัยบินของมันใกล้ ติดอาวุธได้จำกัด ปรับปรุงอย่างไรก็ไม่คุ้มเพราะวัสดุและระบบอื่นๆไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่นับถึงสายการผลิตที่ปิดไปแล้วกับค่าบำรุงรักษาที่นับวันจะไม่คุ้มค่า ทุกครั้งที่ F5 ตกแล้วเราสูญเสียนักบิน ความคิดแรกที่เกิดในสาธารณชนและสื่อต่างๆคือ”เครื่องบินเก่า” ทั้งที่ปัจจัยในการตกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความ”เก่า”อย่างเดียว เครื่องบินตกหนึ่งลำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งลม,นก,เครื่องยนต์หรือแม้แต่เกิดจากตัวนักบินเอง
เมื่อของมันเก่า หมดสภาพ ใช้ไปก็เสี่ยงตาย ปกป้องอธิปไตยหรือใช้เป็นเครื่องมือหนุนนโยบายการทูตก็ไม่ได้ จะทนใช้อยู่อีกหรือ? หรือจะให้นักบินที่ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาลสร้างมาต้องตายอีกกี่นาย แน่นอนว่าเราต้องหาของใหม่มาใช้ ขณะนี้เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศคือ F16 ถ้ามองแบบง่ายๆเครื่องบินที่จะมาแทน F5 ก็น่าจะเป็น F16รุ่นใหม่ๆ หรืออะไรที่ดีกว่านั้น ตามที่มีข่าวในช่วงปีสองปีก่อนกองทัพอากาศมองเครื่องบินขับไล่ทดแทนไว้ 3 แบบคือ F16 รุ่น CและDของสหรัฐฯ(ของ Lockheed Martin),SU-30 MK(ของSukoi)จากรัสเซีย และ JAS39(ของ SAAB)จากสวีเดน มีการพิจารณาอยู่นานถึงความเหมาะสมสุดท้ายก็เหลือแค่ JAS 39 ของ SAAB ที่ไปกันได้กับยุทธศาสตร์และสถานภาพทางเศรษฐกิจของเรามากที่สุด
แต่ก่อนจะเข้าถึงรายละเอียดว่าทำไมถึงไม่เลือก F16 C-D หรือSU30 ต้องกล่าวถึงความเป็นมาของกองทัพอากาศสวีเดน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดและการพัฒนาอากาศยานรวมทั้งแนวความคิดก่อนจะมาเป็น JAS39 GRIPEN(กริปเปน)
กองทัพอากาศสวีเดนหรือ Flygvapnet(Flight Weapon) คือเหล่าหนึ่งของกำลังทหารเพื่อป้องกันราชอาณาจักรสวีเดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 1926 โดยการผนวกกันระหว่างหน่วยบินกองทัพบกและหน่วยบินกองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพที่ตั้งขึ้นหลังจากเมฆหมอกของสงครามโลกครั้งที่ 1 จางลงและยุโรปยังไร้เสถียรภาพ การแย่งชิงอาณานิคมและเขตการค้ารวมถึงความไม่เป็นธรรมในสนธิสัญญาแวร์ซายล์ คือเชื้อประทุพร้อมก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกขณะ ช่วงทศวรรษ 1930 นั้นเองที่ความไม่แน่นอนของยุโรปทำให้สวีเดนต้องจัดอัตรากำลังกองทัพอากาศใหม่ เพิ่มฝูงบินจาก 4 ฝูงเป็น 7 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในปี 1939 แม้สวีเดนจะเป็นกลางไม่ถูกเยอรมันยึดครอง แต่กองทัพอากาศได้ถูกขยายออกไปอีก ความวุ่นวายในยุโรปทำให้โครงการชะงักอยู่จนสิ้นสงคราม
ถึงสวีเดนจะไม่เคยเข้าสงคราม ไม่เคยถูกรุกรานและไม่เคยรุกรานใครแต่กองทัพอากาศขนาดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อยับยั้งภัยคุกคามอันอาจมีได้ทุกเมื่อ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นยิ่งจำต้องมีกองทัพอันแข็งแกร่งเพื่อป้องกันการรุกรานในฐานะประเทศหน้าด่าน ถูกล้อมรอบด้วยประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ทั้งที่ยังขยายไม่เสร็จแต่ก็น่าทึ่งที่ภายในปี 1945 อันเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศสวีเดนมีเครื่องบินพร้อมรบ(combat-ready)ถึง 800 เครื่อง รวม 15 กองพลบินขับไล่ เป็นกองทัพอากาศที่ใหญ่เมื่อเทียบกับประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนเมื่อ 60 กว่าปีก่อน
กองทัพอากาศใหญ่ก็จริงแต่เครื่องบินต้องใช้เชื้อเพลิง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่เป็นกลางไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงทำสงคราม แต่การอยู่ใกล้ชิดประเทศที่ถูกรุกรานจึงไม่สามารถพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เต็มที่ ทางออกคือต้องคิดค้นเชื้อเพลิงใช้เอง โชคดีที่สวีเดนถึงจะไม่มีแหล่งน้ำมันดิบแต่มีแหล่งหิน”เชล”(oil shale)อุดมสมบูรณ์ เมื่อให้ความร้อนในปริมาณเหมาะสมหินนี้จะให้สารเคโรเจน(kerogen)นำมาผลิตเป็นไฮโดรคาร์บอนเหลวได้
มันยังไม่ใช่น้ำมันดิบเสียทีเดียว แต่เป็นสารที่นำมาผ่านกรรมวิธีไพโรไลซิส(pyrolysis)ได้น้ำมันดิบสังเคราะห์ ก่อนจะไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์อีกขั้น จะเผาออยล์เชลโดยตรงก็ยังได้เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงคล้ายถ่านหิน ใช้ได้ทั้งเพื่อให้ความร้อนหน้าหนาวตามบ้านเรือนและเป็นเชื้อเพลิงโรงงานผลิตไฟฟ้า สวีเดนมีเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจากหินเชล โดยพึ่งพาน้ำมันจากเพื่อนบ้านน้อยมากตั้งแต่เมื่อเกือบ 70 ปีแล้ว!
หลังจากปี 1945 สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสม์ กองทัพอากาศสวีเดนเร่งรัดปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อป้องกันตนจากภัยคุกคาม ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดที่ถูกสร้างในยามนี้ล้วนต้องเอื้ออำนวยต่อการป้องกันประเทศ จำนวนคนที่น้อยและกองทัพเล็กบีบให้เน้นประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ เบื้องแรกเมื่ออุตสาหกรรมอากาศยานยังไม่สามารถรองรับความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ได้ จึงต้องจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างชาติ ด้วยเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ใบพัด P-51D”Mustang”จากสหรัฐฯและเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เจ็ต de Havilland “Vampire” จากอังกฤษ
กองทัพอากาศสวีเดนจัดหาเครื่องบินนำเข้าเร่งด่วนไป พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของตน SAAB J29”Tunnan”คือเครื่องบินขับไล่เจ็ตของสวีเดนที่เผยโฉมในปี 1950 เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่สองต่อจาก SAAB 21R เครื่องบินเจ็ตขับไล่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต เดอ ฮาวิลแลนด์ ก็อบลิน 3 ของอังกฤษที่พัฒนาแผนแบบมาจาก SAAB 21 เครื่องบินใบพัดเดี่ยวท้ายเครื่อง ทั้งหมดนี้พัฒนาและผลิตในสวีเดน ใบพัดท้ายของรุ่นนี้เอื้ออำนวยให้ติดตั้งอาวุธได้เหมาะสมกับการใช้งานที่หัวเครื่อง แต่ข้อเสียคือนักบินจะถูกดูดเข้าใบพัดท้ายได้ง่ายขณะปีนจากที่นั่งเมื่อจะสละเครื่อง จึงเป็นแนวคิดให้สร้าง SAAB21 แบบเจ็ตและที่นั่งดีดตัวในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น