วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

รบในเมือง สมองเป็นต่อ เทคโนโลยีเป็นรอง

ในสงครามใหญ่ที่เคยเกิดมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่1จนถึงสงครามเกาหลี การรบส่วนใหญ่คือการยกกองกำลัง2ฝ่ายเข้าต่อสู้กันด้วยสรรพกำลังทั้งหมดที่มี มีแนวรบชัดเจนในแผนที่ ฝ่ายเหนือกว่าทั้งเทคโนโลยีและกำลังพลมีแนวโน้มว่าจะชนะ แต่ความเสียเปรียบจะพลิกผันเป็นได้เปรียบทันทีเมื่อฝ่ายด้อยกว่าดำเนินกลยุทธ์ด้วยไหวพริบ เลือก”สนามรบ”ได้และชักนำฝ่ายเหนือกว่าเข้าสู่พื้นที่สังหารให้รบตามแบบของตน ค่อยๆทำลายกำลังรบและยุทโธปกรณ์ของข้าศึกทีละนิด บั่นทอนขวัญและกำลังใจไปเรื่อยๆอย่างยืดเยื้อ จนในที่สุดฝ่ายได้เปรียบถูกพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นรอง ถึงไม่แพ้แต่ก็ต้องสูญเสียหนักจนต้องมาทบทวนว่าคุ้มกันหรือไม่ที่ต้องพาทหารมาตาย ผลาญงบประมาณของชาติมหาศาล
ในสถานการณ์ดังกล่าวที่มีความแตกต่างเห็นได้ชัดระหว่างกองกำลังสองฝ่าย คำว่า”สนามรบ”ที่ถูกใช้พลิกสถานการณ์คงไม่มีที่ใดเหมาะเท่ากับเขตเมือง และการทำ”สงครามในเขตเมือง”(Urban Warfare)ที่เคยได้ผลในอดีต ปัจจุบันกำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันมากขึ้นในแวดวงนักยุทธศาสตร์ เมื่อเทคโนโลยีล้ำยุคหมดความหมายเพราะไม่เห็นตัวข้าศึก ซ้ำยังมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอันจะทำให้กำลังพลของฝ่ายกวาดล้างถูกบั่นทอนประสิทธิภาพลง ทั้งจากสภาพอาคารที่เหมาะกับการวางกำลังของฝ่ายตั้งรับให้เลือกเป้าหมายได้ ใช้กำลังน้อยกว่าแต่สร้างความเสียหายให้ฝ่ายกวาดล้างได้มากกว่า และพลเรือนในพื้นที่ซึ่งจะทำให้ฝ่ายรุกไขว้เขวแยกแยะไม่ออก โดยเฉพาะในสงครามแย่งชิงมวลชนที่ต้องการโดดเดี่ยวฝ่ายตั้งรับด้วยการแยกมิตรและศัตรูให้ชัดเจน
สหรัฐซึ่งกำลังเผชิญกับการรบในเมืองปัจจุบันนี้ทั้งในอิรักและอาฟกานิสถาน ได้ให้คำจำกัดความของสงครามรูปแบบนี้ว่า”ปฏิบัติการทางทหารในเขตเมือง”(Military Operations in Urban Terrain,MOUT ปัจจุบันถูกเปลี่ยนมาเป็นUrban Operations แต่ตัวย่อว่าMOUTยังถูกใช้อยู่) ส่วนกองทัพอังกฤษเรียกการรบแบบเดียวกันด้วยศัพท์ของตนว่า”การสู้รบในย่านสิ่งปลูกสร้าง”(Operations in Built-Up Areas,OBUA)หรือ”การสู้รบในอาคาร”(Fighting in Someone’s House,FISH) จะเรียกว่าอย่างไรก็ตามแต่หลักการของมันคือทหารต้องสู้รบจากอาคารถึงอาคาร ห้องถึงห้อง เคลียร์อาคารในเขตแดนของศัตรูไปทีละหลังอย่างเชื่องช้าท่ามกลางความเสี่ยงสูงกว่าการรบตามปกติ
รูปแบบการรบในเมืองเริ่มปรากฏชัดในประวัติศาสตร์ครั้งแรกเมื่อค.ศ.1870ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย(ฟรังโก-ปรัสเซียน) หมู่บ้านบาเซยส์ในตำบลอาร์เดนเนส์ใกล้เมืองเซด็องของฝรั่งเศส กลายเป็นจุดให้ทหารจากแคว้นบาวาเรียพันธมิตรของปรัสเซีย(รัฐใหญ่ของเยอรมันก่อนการรวมชาติสมัยอ็อตโต ฟอน บิสมาร์ก)เอาชีวิตมาทิ้งกันมากมาย ด้วยยุทธวิธีอันไม่คุ้นเคยของทหารฝรั่งเศสที่ใช้กำลังน้อยกว่าแต่วางตัวได้ถูกจุด พลซุ่มยิงฝรั่งเศสสังหารทหารบาวาเรียนคนแล้วคนเล่า กองกำลังตั้งรับสามารถยันฝ่ายเยอรมันที่เหนือกว่าได้นานเหลือเชื่อ ให้กองกำลังส่วนใหญ่ถอยทัพได้ทันโดยไม่สูญเสียและประวิงเวลารุกของกองทัพเยอรมันไว้ ต้องใช้เวลาถึง7ชั่วโมงกว่าจะยึดพื้นที่ได้เมื่อฝ่ายตั้งรับล่าถอยตามบัญชาของนโปเลียนที่3 หากการรบยืดเยื้อกว่านี้ฝ่ายเยอรมันคงต้องสูญเสียหนักแน่นอน
การรบในเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในเมืองสตาลินกราด(โวลโกกราดในปัจจุบัน)ในดินแดนรัสเซียครั้งสงครามโลกครั้งที่2ระหว่าง17กรกฎาคม 1942 ถึง2กุมภาพันธ์ 1943 เมื่อกองทัพเยอรมันเปลี่ยนแผนการรบจากแค่ระดมยิงด้วยปืนใหญ่มาเป็นการเคลื่อนทัพเข้าปิดล้อมและยึดเมือง ซากหักพังของอาคารกลายเป็นจุดซุ่มยิงชั้นเยี่ยมของพลซุ่มยิง ท่อระบายน้ำและซอกหลืบอาคารกลายเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงและใช้ดำเนินกลยุทธ์ การทิ้งระเบิดและระดมยิงด้วยปืนใหญ่เป็นไปอย่างจำกัด ทหารเยอรมันรุกคืบหน้าอย่างเชื่องช้าจากรูปแบบการรบอันไม่คุ้นเคย ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากพลซุ่มยิงที่ซ่อนตัวอยู่ทุกหนแห่ง การยุทธ์ครั้งนั้นถูกขนานนามว่า”สงครามรูหนู”เพราะทหารโซเวียตใช้ทุกช่องทางให้เป็นประโยชน์เพื่อขัดขวางกองทัพเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นท่อระบายน้ำ,ท่อประปา หรือซอกหลืบระหว่างอาคารอันยากแก่การค้นหา เคลื่อนที่ได้เร็วเพราะใช้กำลังทหารน้อยเพียงชุดละ2-3นายเพื่อก่อกวนแล้วเร้นกายหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ถึงรัสเซียจะใช้สงครามจรยุทธในพื้นที่เมืองจนชนะ แต่สงครามรูปแบบนี้กลับย้อนรอยมาหาฝ่ายตนระหว่างรุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลินตอนใกล้สิ้นสงครามโลกครั้งที่2 ทหารเยอรมันที่เคยรู้พิษสงการรบในเมืองมาแล้วจากสตาลินกราดหวนกลับมาใช้ยุทธวิธีเดิมของข้าศึก สร้างความเสียหายให้ฝ่ายโซเวียตได้มากเช่นเดียวกับที่ฝ่ายตนเคยพบ อาคารน้อยใหญ่ถูกถล่มยับด้วยปืนใหญ่และระเบิด ประมาณว่ากรุงเบอร์ลินครึ่งเมืองต้องราบเรียบไประหว่างการกวาดล้างของกองทัพแดงเข้าสู่อาคารรัฐสภา(ไรช์ตาก) ทหารเยอรมันสู้พลางถอยพลางไปตามห้องหับต่างๆตราบยังไม่มีคำสั่งเป็นอื่นจากฮิตเลอร์ การรบจากห้องถึงห้องอาคารถึงอาคารในระยะประชิด ทหารต้องเสี่ยงยิงกันเองมากกว่าการรบปกติ
การรบในเมืองช่วยให้ฝ่ายมีกำลังน้อยกว่าได้เปรียบ สามารถใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรได้ผลสูงสุดทั้งจากการต่อสู้กับข้าศึกและการรักษาที่มั่นของตน ฝ่ายกวาดล้างต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งสามมิติจากบนพื้น เหนือศีรษะและต่ำกว่าระดับถนน ต้องสิ้นเปลืองกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อกวาดล้างและทำลายที่มั่น ต่างจากสงครามเต็มรูปแบบที่กองทัพเคลื่อนไปข้างหน้า ทำลายเป้าหมายเฉพาะข้างหน้าและต้องคอยระวังภัยคุกคามจากด้านบน การจะทำลายกำลังรบฝ่ายตั้งรับให้ได้อาจถึงกับต้องทำลายบ้านทั้งหลัง ยังผลต่อเนื่องในด้านลบไปสู่การแย่งชิงมวลชนซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยแล้วหันเหไปเข้ากับฝ่ายกองโจร ซึ่งเข้าใจจิตวิทยาข้อนี้ดีและแสวงหาประโยชน์จากมันได้มากที่สุดในการรบในเมือง
เมื่อรูปแบบของสงครามเปลี่ยนแปลงไป จากการรบแบบมีแนวรบด้วยกองทัพขนาดใหญ่ มาสู่การรบแบบล้างผลาญกันจากบ้านสู่บ้านโดยต่างฝ่ายต่างส่งกองกำลังขนาดเล็กเข้าห้ำหั่นกัน ยุทธวิธีจึงต้องเปลี่ยนแปลง ฝ่ายตั้งรับเน้นการซุ่มซ่อนตัวตามที่มั่นปกติหรือที่มั่นดัดแปลง ใช้พลซุ่มยิงเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องทั้งด้วยปืนเล็กยาว,กับดักและเครื่องยิงจรวด ชลอการเคลื่อนที่และข่มขวัญข้าศึก เคลื่อนที่ให้เร็วเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าด้วยสิ่งอุปกรณ์ติดตัวน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็น
ส่วนฝ่ายกวาดล้างก็ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมาเน้นการสู้รบระยะประชิด(Close-Quarters Battle) ให้ทหารสวมเกราะหนาป้องกันลำตัวหน้าและหลังพร้อมหมวกนิรภัยและแว่นกันสะเก็ด ใช้อาวุธประจำกายลำกล้องสั้นติดศูนย์เล็งกล้องจุดแดงเพื่อให้ยิงได้ฉับไวในระยะประชิด ติดกล้องมองภาพในความมืด(Night Vision Goggles,NVG)บนหมวกนิรภัยสำหรับการรบกลางคืน รวมถึงการใช้เครื่องแบบลายพรางใหม่ให้เข้ากับภูมิประเทศสิ่งปลูกสร้าง
ตัวอย่างชัดเจนของการสู้รบระยะประชิดอันเป็นส่วนสำคัญของการรบในเมือง คือสงครามรุกรานเชคเนียครั้งแรกหรือ”ศึกกรุงกรอซนีย์”ระหว่างปี1994-1995 ครั้งนั้นนักรบชาวเชเชนซึ่งเคยเป็นทหารในกองทัพโซเวียตแบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มละ15-20คน แบ่งเป็น3ชุดยิง ชุดยิงละ4คน มีพลยิงเครื่องยิงจรวดRPG-7ชุดละ1คนที่เหลือเป็นพลปืนเล็กและพลซุ่มยิง มีพลลำเลียงกระสุนและผู้ช่วยแยกต่างหากโดยมีจุดมุ่งหมายคือทำลายยานเกราะของรัสเซียในกรุงกรอซนีย์เมืองหลวง ทีมล่าสังหาร5-6ชุดยิงวางตัวในอาคารชั้นล่างสุด ชั้น2,3และใต้ดินเป็นที่อยู่ของพลซุ่มยิงและพลปืนกลเพื่อตรึงกำลังทหารราบสนับสนุนยานเกราะ การวางตัวสูงหรือต่ำมากๆยิ่งใช้ปืนใหญ่รถถังยิงยากเพราะมุมก้ม/เงยไม่ถึง ระหว่างพลยิงRPGมุ่งทำลายรถถังหรือยานเกราะคันหน้าสุด,ซ้าย,ขวาและหลังสุด ก่อนจะเลือกยิงรถตรงกลางขบวนซึ่งไร้ทางป้องกันตัวเอง และเคลื่อนที่ไม่ได้
แรกเริ่มฝ่ายรัสเซียตั้งตัวไม่ทันกับรูปแบบที่ตนไม่คุ้นเคย ขบวนยานเกราะที่คาดไว้ว่าจะยึดกรุงกรอซนีย์ได้ง่ายดายเหมือนเคยกระทำต่อกรุงบูดาเพสต์ของฮังการีเมื่อปี1956ถูกถล่มย่อยยับ การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในภายหลังทำให้ความสูญเสียลดและทันเกม จากการใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเปลี่ยนมาใช้อาวุธเบากว่า เช่นปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจรZSU-23-24และ2K22M มีมุมเงยสูงและหันรอบตัวได้รวดเร็วใช้ยิงกดดันกองโจรในที่ซ่อน ใช้ทหารราบมากขึ้นในการเคลียร์อาคารทีละหลังภายใต้การสนับสนุนของยานเกราะ จากฝ่ายบุกที่เสียเปรียบกลายมาเป็นผู้วางจุดซุ่มยิงเสียเองและปราบปรามกบฎเชเชนได้ด้วยความสูญเสียน้อยกว่ายุทธวิธีเดิม
จากสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน ทำให้เข้าใจได้ว่าการรบในเมืองคือสงครามรูปแบบใหม่ เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของการทำสงครามที่ฝ่ายปราบปรามต้องรู้เท่าทัน เป็นสงครามที่ผู้ก่อลงทุนลงแรงน้อยแต่ส่งผลมหาศาลต่อผู้ปราบปราม หมดเปลืองทั้งขวัญ,กำลังใจ,ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ ยิ่งยืดเยื้อยิ่งบั่นทอนเศรษฐกิจซึ่งต้องโยกย้ายมาทุ่มเทลงในส่วนนี้ โดยเฉพาะฝ่ายปราบปรามหากหวังชัยชนะ ต้องเร่งหาความรู้และฝึกการสู้รบระยะประชิด(CQB)อย่างทุ่มเทและจริงจังในกองกำลังทุกขนาด รวมทั้งการใช้ยุทโธปกรณ์ให้เหมาะกับรูปแบบการรบ ให้ทหารปฏิบัติงานอย่างได้ผลรวมทั้งมีเปอร์เซ็นต์ความอยู่รอดสูง
การรบในเมืองซึ่งมักจะมาพร้อมกับสงครามจรยุทธ์ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อน่าระอาและส่งผลกระทบในวงกว้าง เกิดขึ้นบ่อยในปัจจุบันจนเหมือนเป็นเรื่อง”อินเทรนด์”ไปแล้ว ทั้งในอาฟริกา,ยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง อิสราเอลที่ว่าแน่ยังจมปลักอยู่ในสงครามกลางเมืองเลบานอนเกือบ20ปี กองทัพสหรัฐที่รุกเข้าสู่กรุงแบกแดดได้เร็วเพียงไม่กี่สัปดาห์ ยังให้คำตอบประชาชนของตนไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะถอนทหารกลับเมื่อใด ยิ่งรบยิ่งจม ยิ่งต้องเพิ่มกำลังทหารเพื่อตรึงเขตยึดครองไม่ให้ฝ่ายจรยุทธ์ย้อนรอยกลับมาก่อเรื่องได้อีก
การมีเทคโนโลยีสูงนั้นดีแน่เมื่อรบกันซึ่งๆหน้า ถูกบีบบังคับให้“รบในรู”เมื่อใดถึงมีอุปกรณ์ไฮ-เทคฝ่ายที่คิดว่าตนเหนือกว่าก็จะกลายเป็นรองทันที ถึงตอนนั้นก็ต้องมาแก้ลำกันด้วย”กึ๋น”แล้วล่ะครับ







1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 พฤษภาคม 2553 เวลา 19:22

    ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ อันนี้ครับ

    ตอบลบ