วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

SIM


ขึ้นหัวเรื่องไว้ว่า”SIM” ถ้าคุณๆคิดว่าผมจะพูดเรื่อง”ซิม”เป็นแผ่นๆที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่คงต้องบอกว่าผิดถนัด เพราะเรื่องที่จะนำมาแบ่งปันในวันนี้คือ”ซิม”ที่ย่อมาจากคำเต็มคือ”ซิมิวเลชั่น”(Simulation) พูดให้เต็มรูปแบบตามแนวทางของคอลัมน์นี้ได้ว่า”มิลิทารี่ ซิมิวเลชั่น”(Military simulation: Mil Sim) หรือ”ระบบจำลองการรบ”นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่ของใหม่เลยแต่มีมานานแล้วตั้งแต่หลายพันปีก่อนตั้งแต่มนุษย์รู้จักจัดกองทัพเข้าสู้รบกัน เพื่อนำเอาทฤษฎีทางทหารมาทดสอบในสถานการณ์สมมุติที่ควบคุมได้ ประหยัดทั้งเวลา,งบประมาณและกำลังพลก่อนจะลงสนามฝึกกันจริงๆหรือจัดกำลังเข้าสู้รบ
ความหมายแท้ๆของ”ซิม”นั้นกว้าง นอกจากจะวางแผนจำลองการรบกันบนโต๊ะแล้วยังรวมถึงการซ้อมรบเต็มรูปแบบในสนาม ที่ใช้ทหารและยุทโธปกรณ์จริงๆแบ่งฝ่ายแบ่งสีเข้าสู้รบแบบสมมุติตามแผนที่วางไว้ เพื่อวัดขีดความสามารถของทหารเองและฝ่ายวางแผน ประเมินผลและปรับแก้วิธีคิดของฝ่ายตนให้ทันเกมข้าศึกก่อนจะส่งทหารเข้าสมรภูมิจริงด้วยการหวังผลชนะ รูปแบบการจำลองนี้มีตั้งแต่ยุ่งยากใหญ่โตที่สุดเช่นการซ้อมรบดังกล่าว ไปจนถึงที่ง่ายและใช้ได้ในที่แคบๆแค่โต๊ะรับประทานอาหารคือหมากรุก เกมสุดโปรดของแม่ทัพเก่งๆในอดีตเช่นจักรพรรดินโปเลอ็องแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็น”ซิม”รุ่นดึกดำบรรพ์แต่จำลองทุกสิ่งในสนามรบมาไว้ในกระดานสี่เหลี่ยมแคบๆ มีทั้งพลทหารราบ,ทหารม้า,ปืนใหญ่,ราชา,ราชินี...
แต่เดิม”ซิม”ถูกจำลองแต่เฉพาะสถานการณ์ในสนามรบ แต่ในความเป็นจริงนั้นการที่แต่ละชาติจะเข้าสู้รบกันต้องมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะอยู่ดีๆคงไม่มีชาติไหนยกกองทัพไปรบกันหากไม่ถูกกระทบจากสองปัจจัยดังกล่าว อเมริกาคือประเทศที่ใช้”ซิม”คุ้มที่สุดเพราะรบบ่อยจนต้องมีหน่วยงานสร้าง”ซิม”ขึ้นโดยเฉพาะเพื่อประกอบการวางแผนของกระทรวงกลาโหมก่อนใช้กำลัง มีชื่อว่า”แรนด์ คอร์โปเรชั่น”(RAND : Research and Development)
แรนด์คือศูนย์วิจัยไม่หวังผลกำไรที่ตั้งขึ้นเพื่อวิจัยและวิเคราะห์ให้กองทัพสหรัฐ แต่ขอบเขตการทำงานของแรนด์ยังเผื่อแผ่ไปถึงหน่วยงานอื่นทั้งราชการและภาคธุรกิจในระดับชาติและสากลด้วย เพื่อเสนอการวิเคราะห์และให้คำแนะนำด้านการวางนโยบาย ถึงจะให้บริการกว้างขวางแต่แรนด์เป็นที่รู้จักกันทั่วไปจากการสร้าง”ซิม”ให้กองทัพสหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นสงครามเย็น จนถึงปัจจุบันซึ่งพัฒนาไปเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
เมื่อพูดถึง”ซิม”หากไม่พาดพิงถึงเยอรมันอาจจะเสมือนตกหล่นอะไรไปสักอย่าง เพราะเยอรมันเป็นอีกชาติที่ใช้”ซิม”อย่างเป็นระบบในการทำสงครามมาตั้งแต่ครั้งจักรพรรดิฟรีดริกมหาราช “ซิม”ยอดนิยมของแม่ทัพรัฐพรอยเซ็น(ปรุสเซีย)มีชื่อว่า”ครีกชปีล”(Kriegspiel)ที่สันนิษฐานว่าใช้ประกอบการวางแผนจริงๆตั้งแต่ค.ศ.1811และเป็นส่วนสำคัญในชัยชนะของเยอรมันครั้งทำสงคราม”ฝรั่งเศส-ปรุสเซีย”(Franco-Prussian War)จนเกิดการรวมชาติเยอรมันครั้งที่2 “ครีกชปีล”ถูกกำหนดให้มีในทุกกรมทหารราบของปรุสเซีย เพื่อให้ผู้บังคับการกรมมารวมตัวกันเล่นเป็นประจำเป็นการฝึกสมอง เป็นต้นแบบของเกมสงครามที่แบ่งฝ่ายกันเป็นสีชัดเจนระหว่างฝ่ายป้องกัน(สีน้ำเงิน)และฝ่ายรุกราน(สีแดง)ซึ่งยังใช้กันอยู่ใน”ซิม”ปัจจุบันนี้ เพื่อไม่ให้โกงกันเองจึงต้องเพิ่มกรรมการเป็นคนกลางเข้ามาตัดสินผลแพ้ชนะ
ตามปกติ”ซิม”จะถูกสมมุติสถานการณ์และใช้ก่อนเกิดสงคราม หรือการรบในสมรภูมิแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อประเมินผลก่อนรบจริง มีโอกาสน้อยมากที่”ซิม”จะเกิดขึ้นพร้อมการรบจริงให้ฝ่ายวางแผนได้เล่นไปพร้อมๆกัน โอกาสอันน้อยนั้นมีตัวอย่างให้เห็นในสงครามโลกครั้งที่2ก่อนการยุทธในป่าอาเดนส์ การรบครั้งใหญ่ที่ฮิตเลอร์วางเดิมพันหมดหน้าตักเพื่อรุกให้ถึงเมืองท่าอันทแวร์ปของเบลเยียม แล้วยันฝ่ายสัมพันธมิตรให้ตกทะเลในช่วงฤดูหนาวปีค.ศ.1944
เพื่อความไม่ประมาทฝ่ายเยอรมันจึงต้องวางแผนรับและหากมีโอกาสก็จะรุกตอบด้วยกำลังที่มี ฝ่ายอำนวยการของกองทัพยานเกราะที่5จึงมาประชุมกันในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น เพื่อวางเกมจำลองการรบโดยสมมุติให้ฝ่ายอเมริกันบุกทะลวงแนวตั้งรับเข้ามาในพื้นที่เป้าหมาย เริ่มเล่นเกม”ซิม”ไปได้ไม่เท่าไรก็ได้รับข่าวว่าฝ่ายอเมริกันรวมกำลังเข้าตีบริเวณป่าฮูร์ทเกนซึ่งเป็นพื้นที่บนโต๊ะเกมพอดี จอมพลวัลเธอร์ โมเดลฝ่ายเยอรมันจึงสั่งให้ฝ่ายอำนวยการใช้ข้อมูลจริงวางแผนแก้เกมไปพร้อมกับหน่วยรบจริงในแนว
การเล่นไปพร้อมรบจริงทำให้เยอรมันคาดการณ์ถูกถึงอัตราสูญเสียและการจัดหากำลังพลทดแทน เคลื่อนกองพลยานเกราะที่116เข้ามายันการรุกของฝ่ายอเมริกันได้ทันเวลา จนสามารถเปลี่ยนแปลงผลของสงครามได้ ผลคือกองทัพที่9ของฝ่ายอเมริกันบุกไม่สำเร็จและสูญเสียกำลังพลรวมบาดเจ็บ33,000นาย ส่วนฝ่ายเยอรมันเสียทหารไป12,000ถึง16,000นาย เป็นความสูญเสียหนักที่สุดในสงครามภาคพื้นยุโรปที่ฝ่ายอเมริกันอยากลืม ส่วนจอมพลโมเดลของเยอรมันก็ได้ชื่อเสียงไปเพราะเล่น”ซิม”ได้ถูกที่ถูกเวลา
การใช้”ซิม”ไม่ว่าระดับใดสิ่งที่เหมือนกันคือข้อมูลที่ถูกป้อนเพื่อตัดสินใจ ข้อมูลผิดย่อมนำมาสู่การวิเคราะห์พลาด การมองสถานการณ์ในแง่ดีเกินย่อมทำให้การประเมินผลจาก”ซิม”พลาดเป้า นำมาซึ่งความสูญเสียหรือสิ้นเปลืองอย่างไม่ควรเป็น บางครั้ง”ซิม”ที่ใช้วัดผลประสิทธิภาพของอาวุธก็ให้ตัวเลขไม่ตรงกับความจริง เช่นกองทัพอากาศสหรัฐอ้างจาก”ซิม”ว่าอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศAIM-9”ไซด์ไวน์เดอร์”ของตนมีโอกาสยิงถูกเป้าถึง98เปอร์เซ็นต์(.98 kill probability : .98Pk) แต่ในสภาพการรบจริงซึ่งมีสภาพจิตใจของนักบิน,อากาศ,ความชื้นและปัจจัยอื่นๆเป็นตัวแปร ตัวเลขนี้กลับต่ำลง เช่นที่อังกฤษรายงานการใช้ไซด์ไวน์เดอร์จริงในสงครามฟอล์คแลนด์ว่ามีโอกาสยิงถูกเพียง78เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้นจนแพร่หลายและราคาถูกลง แต่ละครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์ใช้คู่กับอินเตอร์เน็ต “ซิม”เสมือนจริงจึงถูกผลิตขึ้นเพื่อสนองความต้องการของนักเล่นเกมผู้ต้องการความตื่นเต้นซับซ้อนใกล้เคียงความจริง โดยเฉพาะเกมจำลองการบินจากบริษัทข้อมูลอาวุธใหญ่ๆอย่างJane Defense ที่มีเกมF18Hornetจำลองทุกสิ่งในค็อกพิทเครื่องบินขับไล่แบบF18และสถานการณ์การรบจำลอง ฝึกให้บินเริ่มตั้งแต่เอาเครื่องขึ้นจนลงจอดทั้งบนลานบินปกติและบนเรือบรรทุกเครื่องบิน จนถึงสถานการณ์จำลองให้วัดฝีมือทั้งทิ้งระเบิดและด็อกไฟต์ เติมน้ำมันกลางอากาศและอื่นๆ จะเล่นคนเดียวกับคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์กับเพื่อนๆทางอินเตอร์เน็ตเป็นฝูงบินก็ยังได้
ที่ผมพบมากับตัวเองคือเกมFalcon 4.0 Allied Forceของบริษัทไมโคร โพรส เป็นเกมจำลองการบินของเครื่องบินขับไล่F16ที่กองทัพอากาศไทยใช้ มีทุกอย่างเท่าที่”ซิม”ควรจะมีเช่นเดียวกับเกมF18ของเจน ดีเฟนซ์ ผมบินกับ”ซิม”F16นี้อยู่สี่ปีโดยไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้เข้าไปนั่งในค็อกพิทจริงของF16แล้วบินมันจริงๆ! เทียบกันแล้วภาพอุปกรณ์ในเกมกับของจริงถือว่าใกล้เคียง เมื่อบินจริงถึงจะไม่ได้กดปุ่มพวกนั้นทั้งหมดแต่ก็พอทราบว่ามันใช้ทำอะไรบ้าง เข้าใจวิธีปฏิบัติและขั้นตอนทุกอย่างที่นักบินอธิบายก่อนบินโดยไม่ต้องถามซ้ำ ถ้า”ซิม”ในยุคเทคโนโลยีราคาถูกนี้มีประโยชน์กับผมซึ่งเป็นพลเรือน ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันย่อมมีคุณค่ามหาศาลต่อกองทัพซึ่งต้องการลดขนาดลงและพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น
คิดดูเถิดว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่นี้เราหาประโยชน์จากมันได้มาก เมื่อใช้ประกอบกับภาพถ่ายจากดาวเทียมหรือกูเกิล เอิร์ธและระบบจีพีเอส หน่วยรบจะสามารถจำลองสภาพภูมิประเทศได้ใกล้เคียงสภาพจริงเพื่อวางแผนและแม้แต่สร้างโมเดลเพื่อฝึกทหาร ด้วยซอฟต์แวร์เสมือนจริงจำลองภาพสถานการณ์สู้รบ จับการเคลื่อนไหวมาแปลงเป็นรูปร่างมนุษย์เสมือนด้วยโมชั่นเซนเซอร์ ให้ทหารในชุดสนามรบสวมหมวกมีจอแสดงภาพเสมือนจริง ถืออาวุธเดินบนลู่กลเพื่อต่อสู้กับข้าศึกสมมุติแบบออนไลน์ ให้หน่วยรบจากทุกส่วนของประเทศสามารถฝึกร่วมกันได้ทั้งที่อยู่กันคนละที่ เพียงแต่ในหน่วยต้องมีห้องฝึกรบจำลองนี้เท่านั้น
ด้วยค่าพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์หลักยี่สิบล้านกว่าบาทต่อหน่วย เทียบกับความสมจริงและการประหยัดงบประมาณแล้วยังถือว่าคุ้มในระยะยาว ก่อนจะส่งทหารที่คุ้นเคยกับยุทธวิธีแล้วลงฝึกจริงในพื้นที่ หรือแม้แต่จะใช้ฝึกยุทธวิธีก่อนการเข้าปราบปรามจริงก็ยังได้ ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณซึ่งต้องเสียจากการเคลื่อนย้ายกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ หากจะให้ได้ผลจริงๆก็น่าจะบรรจุ”ซิม”คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ในหลักสูตรของนักเรียนทหารแล้วให้อาจารย์วัดผลเป็นเรื่องเป็นราวเสียเลย ให้นักเรียนคุ้นเคยก่อนจบการศึกษาออกมาเป็นทหารยุคดิจิตอลเต็มตัว ซึ่งมีกำลังพลน้อยแต่ปฏิบัติภารกิจได้เสมือนมากตามหลักสงครามเครือข่ายในปัจจุบันและยิ่งจะถี่ขึ้นในอนาคต
จะเคยมีใครคิดทำ”ซิม”อย่างที่อ้างมาก่อนหรือไม่ในกองทัพไทยนั้นผมไม่ทราบ ถ้ามีอยู่แล้วหรือกำลังพัฒนาก็ถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลของหัวหน้าหน่วยรบ หรือถ้าเคยถูกเสนอแล้วไม่ผ่านการพิจารณา หากจะหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ หรือจะพัฒนากันใหม่ทั้งระบบก็จะมีประโยชน์มากในอนาคต และคนที่ได้ประโยชน์คงไม่ใช่ใครนอกจากลูกหลานของเราซึ่งคุ้นเคยอยู่แล้วกับ”ซิม”รูปแบบนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น