วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

SUAV กับกองทัพยุคใหม่


ถ้าใครติดตามบทความของผมมาตลอด จะทราบดีว่าเคยมีอยู่ตอนหนึ่งที่เสนอเรื่องราวของ”อากาศยานไร้นักบิน”(Unmanned Aerial Vehicle UAV)ไปอย่างกว้างๆ โดยยกประเด็นการใช้งานในอิรักและอาฟกานิสถานมากล่าว รายละเอียดแสดงให้เห็นว่ามันช่วยลดความสูญเสียกำลังพลและประหยัดงบประมาณได้มาก ทหารอเมริกันลดความถี่ของการลาดตระเวนลงแล้วปล่อยให้UAVทำหน้าที่แทน มันเป็นเครื่องมือสอดแนมชั้นเยี่ยมที่สามารถบินอ้อมไปดูสถานการณ์ในที่ไกลโดยฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ตัว ทำงานต่อเนื่องได้ทั้งกลางคืนและกลางวัน ประสิทธิภาพอันมากล้นของมันทำให้ต้องต่อกันอีกในตอนนี้ ซึ่งจะเป็นการพูดถึงUAVทางยุทธวิธีขนาดเล็กหรือSUAV(Small Unmanned Aerial Vehicle)
โดยลักษณะภายนอกของUAV มันแทบไม่แตกต่างเลยจากเครื่องบินเด็กเล่นบังคับด้วยคลื่นวิทยุที่เราคุ้นเคย ถึงภายนอกจะเหมือนแต่มีความแตกต่างในรายละเอียด เพราะUAVคืออากาศยานไร้นักบินที่ถูกควบคุมด้วยสถานีรับ-ส่งสัญญาณอิสระในที่ใกล้เคียง หรือจากศูนย์ควบคุมที่วางโปรแกรมเส้นทางการบินไว้แล้วโดยระบบอัตโนมัติอันซับซ้อน UAVแบบพรีเดเตอร์ที่เป็นข่าวบ่อยๆนั้นบินอยู่ในอิรักและอาฟกานิสถานก็จริง แต่นักบินถูกสับเปลี่ยนตามเวรผลัดกันมานั่งโยกคันบังคับ อยู่ในหน่วยบัญชาการกลาง(Central Command)เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ไกลหลายพันก.ม.จากพื้นที่ปฏิบัติการ
ส่วนใหญ่อากาศยานชนิดนี้ถูกใช้ในภารกิจทางทหารเช่นลาดตระเวนหาข่าว UAVขนาดใหญ่เช่น”พรีเดเตอร์”ของสหรัฐฯนั้นนำมาติดตั้งอาวุธปล่อยทำลายเป้าหมายได้ด้วย วัตถุประสงค์ที่นำUAVเข้าสู่สนามรบคือเมื่อภารกิจนั้นเสี่ยงหรือสกปรกเกินกว่าจะให้ทหารราบหรือนักบินเข้าต่อตี ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการซุ่มโจมตีหรือหาข่าวเกี่ยวกับเป้าหมายที่ถูกเฝ้าระวังแน่นหนา และสงครามเคมี-ชีวภาพ ก่อนนำข้อมูลมาวางแผนให้ใช้หน่วยทหารเข้าตีหรือใช้มาตรการอื่น เช่นยิงถล่มด้วยปืนใหญ่หรือส่งเครื่องบินเข้าโจมตี
เพื่อความเหมาะสมกับภารกิจUAVจึงมีทั้งขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยระบบโครงข่ายซับซ้อน ใช้งานในหน่วยทหารขนาดใหญ่ระดับกองพล เพื่อหาข่าว,เฝ้าติดตามและทำลายเป้าหมายด้วยตัวเองเมื่อมีโอกาส และUAVขนาดเล็ก(SUAV)ที่ควบคุมและเคลื่อนย้ายด้วยทหารน้อยที่สุดเพียง2หรือ1นาย เหมาะสมกับหน่วยทหารขนาดย่อยตั้งแต่ระดับกองร้อยหรือเล็กกว่าเพื่อใช้ลาดตระเวนหาข่าวก่อนปฏิบัติการ เช่นก่อนการเคลื่อนขบวนรถยนต์ และสังเกตการณ์สำหรับการรบในเมือง/ป่า
ความแตกต่างระหว่างUAVกับจรวดนำวิถีคือมันเป็นอากาศยานที่ถูกบังคับทิศทางตั้งแต่ต้นจนจบภารกิจ ใช้งานได้หลายครั้งจนกว่าจะพังหรือถูกทำลายเสียหาย จรวดนำวิถีถูกบังคับทิศทางเช่นเดียวกันก็จริง แต่มันเป็นอาวุธในตัวเองและใช้งานได้ครั้งเดียวคือทำลายเป้า จบภารกิจแล้วจบกันนำกลับมาใช้ซ้ำไม่ได้
คุณประโยชน์จากการใช้UAVจึงมีมาก และกองทัพใหญ่อย่างสหรัฐฯได้ใช้ยานชนิดนี้ทุกขนาดในทุกระดับของกองกำลัง แพร่หลายในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ แต่สำหรับประเทศเล็กมีงบประมาณทางทหารจำกัดอย่างประเทศไทยการจะใช้UAVขนาดใหญ่เช่นพรีเดเตอร์อาจจะเกินความจำเป็น ด้วยข้อจำกัดคือราคาสูงเกิน ระบบสนับสนุนใหญ่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้ทางวิ่งเช่นเดียวกับเครื่องบิน การใช้SUAVจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในป่าและตามแนวชายแดน นอกจากภารกิจทางทหารSUAVยังเหมาะกับการสำรวจป่าไม้,กู้ภัย,ปราบปราม,ควบคุมการจราจร,สำรวจทรัพยากรและอื่นๆ ที่หากใช้มนุษย์เดินเข้าไปอาจช้าและอันตราย ไม่คุ้มเมื่อแลกกับข้อมูลที่ต้องการ
ถ้าปืนเล็กยาวตระกูลM16ของโคลต์คืออาวุธประจำกายหลักของทหารราบ Raven(เรฟเวน=นกกา) คือSUAVจากบริษัทAeroVironment รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็เปรียบได้ทำนองเดียวกันด้านเครื่องมือหาข่าว-ลาดตระเวนของกองทัพสหรัฐฯ มันคือSUAVหลักที่ใช้แพร่หลายในหน่วยทหารระดับกองพันและย่อยลงมา ทั้งในกองทัพบกและนาวิกโยธิน ด้วยน้ำหนักตัวเครื่องเพียง1.9ก.ก.กับอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณกะทัดรัดที่นำเข้าสู่พื้นที่ได้ด้วยทหารเพียงสองนาย “เรฟเวน”(รหัสRQ-11)จึงเป็นSUAVความคล่องตัวสูง เพดานบิน3,000ฟุตและระยะบินไกลสุด10ก.ม.กับเวลาทำการ90นาทีอันเหลือเฟือจากพลังแบตเตอรี่ ในชุดหนึ่งซึ่งมีเรฟเวน3ลำพอเพียงกับการส่งขึ้นปฏิบัติการสลับกันได้ตลอด24ช.ม. เหมาะกับภารกิจหลากหลายเช่นลาดตระเวนหาข่าว,พิสูจน์ทราบระเบิดแสวงเครื่อง,สอดแนมล่วงหน้าก่อนการเคลื่อนขบวนรถยนต์ ทหารสามารถประกอบอุปกรณ์ใช้งานได้รวดเร็วภายใน5นาทีและเก็บแพ็คหลังเมื่อจบภารกิจได้ในเวลาใกล้เคียงกัน
ด้วยความกว้างจากปลายปีกถึงปลายปีก1.30เมตรและยาว1.10เมตร เรฟเวนจึงไม่ต้องการลานบิน ทหารพุ่งมันขึ้นหรือลงจากที่ไหนก็ได้นอกจากในน้ำ ตั้งแต่สนามฟุตบอลไปถึงลานจอดรถเล็กๆพื้นที่เท่ากับครึ่งสนามบาสเก็ตบอล โครงสร้างจากวัสดุคอมโพสิตทำให้น้ำหนักเบาและทน ถูกออกแบบให้แยกตัวเป็นชิ้นทันทีที่กระทบพื้นเพื่อลดแรงกระแทกแล้วนำกลับมาต่อเป็นลำใช้ได้ใหม่อีก หากเสียหายเพราะถูกยิงหรือแตกหักในส่วนไม่สำคัญ ก็ซ่อมได้ง่ายเพียงแค่ปะด้วยเทปกาวเสียเวลาไม่กี่นาทีก่อนส่งขึ้นสู่อากาศอีกครั้ง หรือถ้าถูกตรงส่วนสำคัญเช่นกล้องหรือส่วนควบคุมการบินก็ยังซ่อมแซมได้เร็วอยู่ดี เพียงแค่ถอดส่วนชำรุดออกแล้วเอาของใหม่ประกอบกลับคืน เทียบกับUAVขนาดมาตรฐานแล้วค่าบำรุงรักษาแทบจะเป็นศูนย์ เพราะประกอบ,ซ่อมและใช้งานง่ายด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น
คุณสมบัติที่ทำให้เรฟเวนแตกต่างจากเครื่องบินของเล่นคือความละเอียดซับซ้อนของเทคโนโลยี มันบินเข้าสู่ที่หมายตามการนำทางของพิกัดGPS(Global Positioning System ระบบกำหนดที่หมายบนพื้นโลก)จากดาวเทียมตรงสู่เครื่องรับ บินได้โดยคนบังคับเครื่องไม่ต้องเห็นตัว กำหนดทิศทางได้ง่ายๆบนจอแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์หรือจากจอภาพสนามขนาดเล็ก ภาพวิดีโอที่เรฟเวนจับได้ยังส่งไปยังเครื่องบินสนับสนุนการรบภาคพื้นดิน(เครื่องบินโจมตี,ขับไล่ ฯลฯ)ได้ด้วยนอกจากกองกำลังภาคพื้นดิน มันบินเข้าหาที่หมายแล้ววนเวียนสังเกตการณ์ก่อนจะกลับมาเองตามค่าพิกัดGPSที่ถูกโปรแกรมไว้แล้ว
ในระดับสูงเพียง200-300ฟุตกล้องกำลังขยาย3เท่าจะให้ภาพบนพื้นคมชัดเช่นเดียวกับกล้องวิดีโอทั่วไป และระดับที่สูงกว่านั้นจะให้ภาพภูมิประเทศในมุมกว้าง มีกล้องวิดีโอให้เลือกได้ตามความเหมาะสมกับภารกิจทั้งกลางวันและกลางคืน,กล้องอินฟราเรดใช้งานร่วมกับระบบมองภาพกลางคืน(night vision) รวมทั้งกล้องเธอร์มอล(thermal)จับความร้อนจากร่างกาย ระบุตำแหน่งได้ในกรณีเป้าหมายซ่อนพรางกลมกลืนกับภูมิประเทศ
ด้วยเทคโนโลยีของเรฟเวนอันค่อนข้างละเอียดอ่อน สหรัฐฯจึงจำกัดการส่งออกให้แก่ชาติพันธมิตรที่มั่นใจเท่านั้นเช่นออสเตรเลีย,อิตาลีและอังกฤษในปลายปี2006 แต่ปัจจุบันมันได้แตกลูกหลานออกเป็น”ปูมา”(Puma=สิงโตภูเขา)บินไกลกว่าและลงน้ำได้เพื่อภารกิจทางทะเล และ”วอสป์”(Wasp=ตัวต่อ)MUAV(Micro UAV)เป็นUAVแคระปีกกว้างเพียง16นิ้วเพื่อภารกิจสอดแนมในพื้นที่จำกัด ทั้งหมดเริ่มได้รับการสั่งซื้อจากกองทัพของประเทศต่างๆทั้งเอเชียและยุโรป
ปัจจุบันเฉพาะกองทัพบกสหรัฐฯเหล่าเดียว ใช้เรฟเวนมากถึง3,000เครื่องตามสถิติแรกเริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005และทวีจำนวนขึ้นตามภารกิจ เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารแสดงความต้องการในระดับยุทธวิธี หน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษ(USSOCOM Operational Requirements Document) ประมาณว่าปัจจุบันมีเรฟเวนใช้งานจริงอยู่4,000ถึง6,000เครื่อง ส่วนกองทัพอากาศสหรัฐฯเองก็ยังจัดหาเรฟเวนไว้ใช้เช่นกัน โดยใช้งานร่วมกับUAVแบบพอยน์เตอร์(Pointer=ตัวชี้เป้า)ที่มีใช้งานในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตนอยู่ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีใบสั่งจองอีก4,000เครื่องเฉพาะกองทัพสหรัฐฯประเทศเดียว
เมื่อคิดถึงความคุ้มค่า SUAVสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้หลากหลาย ทหารสามารถส่งมันออกหน้าขบวนรถลาดตระเวนเพื่อสังเกตการณ์เส้นทางได้ก่อนเคลื่อนที่ ด้วยขนาดที่เล็กมากๆเมื่ออยู่ในอากาศและเสียงเบาจนไม่ได้ยิน SUAVคือเครื่องมือสอดแนมที่ดี สามารถลดความสูญเสียกำลังพลได้เมื่อตรวจพบความผิดปกติในพื้นที่ปฏิบัติการ ก่อนส่งทหารจริงๆเข้าพื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืน
นอกจากภารกิจทางทหารSUAVยังให้ประโยชน์ได้อีกมากในแง่การควบคุมจราจร ตำรวจจราจรใช้มันแทนเฮลิคอปเตอร์ซึ่งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมหาศาลและเสี่ยงชีวิตนักบินได้ ช่วยให้ทราบสภาพการจราจรจากอากาศได้เหมือนกันในราคาต่ำกว่าอย่างเหลือเชื่อ นอกจากควบคุมการจราจรยังใช้ได้อีกกับการเฝ้าสังเกตการชุมนุม,ควบคุมฝูงชน ตรวจจับความผิดปกติได้แนบเนียนและง่ายกว่าส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป คงจะดีเหลือเกินถ้าทหารเข้าพื้นที่แล้วไม่เจ็บหรือตายด้วยSUAVเป็นเครื่องช่วย
ความอ่อนตัวของเทคโนโลยีSUAVทำให้มันไม่ใช่เทคโนโลยีแค่เพื่อสงครามและการปราบปราม หลายประเทศใช้เครื่องมือนี้แล้วเพื่อควบคุมทรัพยากร มันให้ภาพนิ่งและวิดีโอในเวลาเสมือนจริงทันเหตุการณ์ ช่วยให้ทราบสภาพป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์หรือเขตป่าที่ถูกรุกล้ำ,เขตพื้นที่ได้รับภัยพิบัติและอื่นๆ
ปัจจุบันนี้กองทัพไทยเองก็เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีUAV กองทัพบกมีUAVสัญชาติอิสราเอลใช้แล้วในหลายหน่วยขณะที่เหล่าทัพอื่นต่างก็มีโครงการของตน รวมทั้งที่กระจายทุนวิจัยและพัฒนาไปยังคณะวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพัฒนาเทคโนโลยีได้ถึงไหนนั้นเป็นสิ่งที่น่าติดตาม แต่ข้อสังเกตที่อยากแสดงไว้คือหน่วยงานของเรามักจะใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีสูงด้วยความหวาดหวั่น จะด้วยความกลัวพังหรือกลัวต้องมาใช้หนี้กันชั่วลูกชั่วหลานหรือเปล่านั้นไม่ทราบ เลยทำให้ลืมภารกิจจริงๆของอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆซึ่งมันถูกออกแบบและสร้างมาใช้งาน จึงมีเรื่องให้ได้ยินบ่อยๆว่าอุปกรณ์ระดับไฮ-เทคราคาแพงมักจะถูกเก็บไว้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเฉยๆแทนที่จะถูกใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ในสนาม
ในอนาคตถ้าหากกองทัพมีSUAVไว้ใช้จริง ผมจึงหวังเหลือเกินว่าทัศนคติเดิมๆดังกล่าวน่าจะหมดไป เมื่อได้ของมาก็ส่งให้ทหารที่กำลังเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้ใช้มันจริงๆ ให้เขารอดชีวิตกลับไปอยู่กับครอบครัวแทนที่จะตายเพราะไร้เครื่องช่วย ใช้งานในระดับปฏิบัติการตั้งแต่กองร้อยลงมาแทนที่จะไปหมกไว้ในระดับกรมหรือกองพล ซึ่งสั่งการตามสายการบังคับบัญชาได้ช้าไม่ทันเหตุการณ์ และในทางปฏิบัติไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆเลย ไม่ว่าจะเพื่อประหยัดงบประมาณหรือด้านการสงวนกำลังพล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น