วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

เดวิด พีเทรอัส...”เงินตราคือกระสุน!”



ระหว่างการเลือกตั้งผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯยังไม่ถึงที่สุด นโยบายหนึ่งที่เดโมแครตและรีพับลิกันยกมาเป็นประเด็นคือภารกิจของกองทัพสหรัฐฯในอิรัก โดยเฉพาะการคงอยู่หรือถอนทหารกลับมา หลังจากเปิดฉากรุกรานด้วยเหตุผลเพื่อขับไล่ซัดดาม ฮูเซนและนำสันติสุขมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง การวางยุทธศาสตร์ผิดพลาดของสหรัฐฯแต่แรกเริ่มทำให้เสียทั้งเวลาและชีวิตเด็กหนุ่มอเมริกันไปมากมาย กว่าจะปรับเปลี่ยนได้ก็กินเวลาเป็นปี
เรื่องหลักๆน่าจะมาจากการเลือกตัวผู้มาควบคุมนโยบายที่สหรัฐฯมีต่ออิรัก เริ่มตั้งแต่พลเอกทอมมี่ แฟรงค์ผู้นำกองทัพรุกเข้าสู่กรุงแบกแดดในยุทธการ”เสรีภาพอิรัก”(Iraqi Freedom) ที่เป็นนายพลแต่กลับไม่เก่งยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นแต่ยุทธวิธีจนการรุกที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จ กลับเป็นการเพาะเชื้อผู้ก่อการร้ายให้กลับมาแว้งกัดทหารอเมริกันในช่วงยึดครอง เพราะเน้นพุ่งเข้าสู่กรุงแบกแดดโดยไม่สนใจทำลายที่มั่นของอิรักอีกแห่งที่เมืองฟัลลูจาห์ทางตะวันตกของเมืองหลวง ขุมกำลังของนักรบและเจ้าหน้าที่อื่นๆของพรรคบาธสี่หมื่นกว่าคน อาวุธเพียบ พร้อมลุยกับมุสลิมกลุ่มอื่นและกับทหารอเมริกัน
ที่เลือกผิดอีกคนคือลิวอิส พอล เบรเมอร์ ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่ออิรักช่วงหลังสงคราม อดีตนักการทูตผู้ไม่ประสากับการยึดครองประเทศตะวันออกกลาง ที่เข้าไปยุบกองทัพอิรักเสียจนได้ผู้ก่อการร้ายเพิ่มมาอีกเป็นแสน กองทัพอเมริกันที่ยึดอิรักได้รวดเร็วเลยดูเหมือนยิ่งรบยิ่งจมปลัก กว่าจะได้คนที่”เป็นงาน”เข้ามาแก้สถานการณ์ก็ใช้เวลาหลายปีอยู่ คนที่ว่า”เป็นงาน”นี้คือใคร? คำตอบคือพลเอกเดวิด โฮเวล พีเทรอัสผู้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรในอิรัก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถของพีเทรอัสแล้วจะพบว่าไม่เบา เริ่มด้วยสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์เมื่อปี 1974 ได้รับรางวัลจอร์จ ซี. มาร์แชล อวอร์ดจากคะแนนสูงสุดในปี 1983 ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ฟอร์ท ลีเวนเวิร์ธ ตามด้วยปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจในปี 1985 และปริญญาเอกสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในอีกสองปีถัดมา เป็นนายทหารมีดีกรีเป็นดอกเตอร์เมื่ออายุเพียง33ปี หลังจากนั้นยังกลับไปรับหน้าที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้กับเวสต์พอยท์ สถานศึกษาเดิมที่จบมา
กว่าจะได้แสดงฝีมือในอิรัก เพทราอุสผ่านร้อนผ่านหนาวมาตามลำดับขั้นในกองทัพ เริ่มด้วยตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารราบส่งทางอากาศที่509ในเมืองวิเชนซา อิตาลี นับแต่นั้นก็เติบโตขึ้นตามสายงานในกองพลทหารราบตลอดมา หลังจากพ้นกรม509ในยศร้อยโท พีเทรอัสได้ร่วมงานช่วงสั้นๆกับหน่วยทหารราบบรรทุกยานยนต์อีกหลายหน่วย ก่อนมาเป็นผู้ช่วยนายทหารยุทธการสังกัดกองพลน้อยที่ 2 ต่อด้วยกองพลทหารราบบรรทุกยานยนต์ที่ 24 ฟอร์ท สตวร์ต จอร์เจีย เลื่อนขึ้นเป็นร้อยเอกสังกัดกองพลเดิม ในกองพันที่1กรมทหารราบบรรทุกยานยนต์ที่30 กองพลน้อยที่ 1 ระหว่างปี1978-1979 หลังจากนั้นก็ก้าวขึ้นมาตามลำดับขั้นจนได้กลับมาเป็นพลจัตวาตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกองพลฝ่ายยุทธการ ในกองพลส่งทางอากาศที่82(จู่โจมทางอากาศ)ในปี1999
พีเทรอัสเข้าร่วมในสงครามอ่าวครั้งแรกด้วยบทบาทไม่โดดเด่น ก่อนจะสร้างผลงานเข้าตาคนดูในสงครามอิรัก เมื่อพื้นที่เมืองโมซูลในความรับผิดชอบของกองพลส่งทางอากาศที่101 ภายใต้การนำของเขาขณะเป็นพลตรี เป็นแหล่งกบดานของทหารอิรัก110,000นายและนักรบชาวเคิร์ดอีก20,000คนที่พร้อมจะยกพวกเข้าก่อสงครามกลางเมือง มีของแถมเป็นฐานที่มั่นของพรรคอิสลามอิรักที่รอดการบดขยี้จากกองทัพของซัดดาม พร้อมจะหันเข้าถล่มอเมริกันทุกเมื่อ จากกลุ่มพลังหลากหลายในเมืองนี้ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าพีเทรอัสกับลูกน้องกำลังเจอกระดูก แต่เท่าที่เป็นข่าวคือกองพลนี้รับมือกับการก่อการร้ายได้ผลที่สุด กองทัพสหรัฐฯรุกไล่ข้าศึกแบบไม่พักให้หายใจได้เลยทางตอนเหนือของประเทศ
เป็นการปราบปรามการก่อการร้ายหลังยึดครองอันได้ผลที่สุด เนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างพีเทรอัสกับนายพลระดับเดียวกัน ผลจากการศึกษาที่ดำเนินมาอย่างถูกจุด ทั้งด้านการบริหารและการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย มองเกมยึดครองทะลุปรุโปร่งทำให้เข้าใจสภาพ”จริงๆ”ที่สหรัฐฯกำลังเผชิญ ครั้งหนึ่งถึงเขากับเอ่ยปากถามริค แอตคินสันผู้สื่อข่าวจากวอชิงตันโพสต์ที่เกาะติดสถานการณ์ว่า”บอกผมหน่อยเถอะว่าสงครามนี่มันจะจบแบบไหน”
ระหว่างนายทหารคุมกำลังคนอื่นมุ่งใช้กำลัง สนใจแต่ตัวเลขผู้ต้องสงสัยที่ถูกกวาดจับหรือเสียชีวิต ความแตกต่างของพีเทรอัสคือเขาดำเนินกลยุทธ์ด้านกิจการพลเรือนไปพร้อมการทหาร มีโครงการบูรณะเกิดขึ้น4,500โครงการระหว่างกองพลที่101ตั้งมั่นในเมือง ทหารและพลเรือนในโครงการดังกล่าวต่างทำงานอย่างหนักจนนิตยสารนิวส์วีคนำพีเทรอัสขึ้นหน้าปก พร้อมช่วงหนึ่งในบทความ”เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าไม่มีทหารหน่วยไหนทำงานหนักเพื่อชนะใจชาวอิรัก ได้มากกว่ากองพลส่งทางอากาศที่101นำโดยพีเทรอัส” ชาวอิรักบางคนที่ได้สัมผัสถึงกับเรียกเขาว่า”กษัตริย์ดาวิด”
ผลงานเด่นชิ้นหนึ่งระหว่างช่วงเวลาในโมซูลคือการเปิดมหาวิทยาลัยโมซูลขึ้นใหม่ พีเทรอัสสนับสนุนการใช้เงินทำงานเต็มที่ งบประมาณใดที่ใช้บูรณะอิรักหากผ่านมาถึงมือแล้วไม่มีคำว่าเสียดาย เมื่อถูกพอล เบรเมอร์ถามถึงการใช้งบประมาณระหว่างไปเยือนโมซูล พีเทรอัสตอบสั้นๆว่า”เงินคือกระสุน”
เมื่อพีเทรอัสและกองพลที่101มาถึงโมซูล ที่นี่มีแต่ความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ ไม่มีกฎหมาย ไร้ตำรวจ มีแต่การปล้นสะดมทุกแห่งหน อาคารที่ทำการรัฐบาลถูกรื้อค้นข้าวของกระจุยกระจาย กองกำลังส่วนหน้า1,600นายเข้าเมืองโดยเฮลิคอปเตอร์ฝูงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีการสู้รบประปรายที่นี่แต่ไม่นานอเมริกันก็ควบคุมสถานการณ์ได้
ความแยบยลไม่ได้ปรากฏแค่การใช้การเมืองและการทหารรุกควบคู่กัน การบริหารจัดการองค์กรก็เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ลดความสูญเสียงบประมาณและกำลังพลได้มาก ด้วยการตั้งกองกำลังเฉพาะกิจด้านข่าวเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย จุดประสงค์คือรวบรวมงานข่าวที่เคยกระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประสานงานให้ได้ผลทางยุทธศาสตร์มากที่สุด และเพื่อให้ทำงานโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำจากหน่วยอื่นในกองทัพ พีเทรอัสสำทับไปยังหน่วยรบพิเศษที่เร้นกายในโมซูลด้วยว่า”เรายินดีที่มีท่าน แต่ถ้าท่านทำงานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากเรา ผมจะย้ายพวกท่านออกจากพื้นที่ทันที”
ผลจากการประสานงานอันรอบขอบและการข่าวที่มีเอกภาพ ทำให้การกวาดล้างและตรวจค้นเพื่อจับตัวผู้ก่อการร้ายโดยกองพลที่101ใช้ความรุนแรงน้อยที่สุด แต่จับหรือสังหารได้”ถูกตัว”มากที่สุด ในการกวาดล้างครั้งหนึ่งด้วยการสนธิกำลังกับหน่วยรบพิเศษในเวลาตี2ของวันนั้นในโมซูล ผู้ต้องสงสัยทั้งหมด35คนถูกจับได้โดยละม่อม23คน มีเสียงกระสุนดังขึ้นเพียงนัดเดียว! นโยบายชนะใจชาวอิรักของพีเทรอัส ทำให้เขาถูกเพื่อนทหารด้วยกันมองว่าทำตัวเหมือนนักการเมืองผู้พยายามซื้อใจประชาชน ระหว่างนายพลคนอื่นกำลังพยายาม”กำจัดการก่อการร้าย” แต่ผู้บัญชาการกองพล101ในโมซูลกำลัง”ต่อต้านการก่อการร้าย” ด้วยการตัดการส่งกำลังบำรุง ให้เกิดความรู้สึกว่าไร้พวกและโดดเดี่ยวขึ้นในหมู่ผู้ก่อการร้าย ชาวอิรักเกิดความรู้สึกว่าอเมริกันเข้ามาปลดแอกพวกตนจากการกดขี่ของซัดดามจริงๆ
อีกเรื่องคือระหว่างฤดูร้อนของปี2003เมื่อ101เข้าปักหลักในโมซูล เกิดข่าวลือว่ากล้องมองกลางคืนของทหารอเมริกันสามารถมองทะลุเสื้อผ้าสตรีได้ เมื่อพันเอกเบน ฮอดจ์ผู้บังคับการกองพลน้อยทราบเรื่องจากผู้นำหมู่บ้านใน แทนที่จะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องเท็จเขากลับจัดนิทรรศการเครื่องช่วยรบเคลื่อนที่ จัดแสดงกล้องมองภาพกลางคืนแบบต่างๆ วางให้ชาวอิรักเข้าชมและหยิบขึ้นทดลองใช้งานได้เต็มที่ ไม่ได้จัดนิทรรศการนี้แค่ครั้งเดียวแต่สัญจรไปอีกหลายแห่ง จนทหารฝ่ายอำนวยการของกองพลยังอดสัพยอกไม่ได้ว่าเป็น”เทศกาลออกร้านประจำปีแห่งลุ่มน้ำไทกริส”ครั้งแรก ผลคือข่าวลือหมดไปแต่ได้ความเข้าใจที่ดีระหว่างทหารกับชาวอิรักเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
การพัฒนาและต่อต้านการก่อการร้ายของพีเทรอัสและกองพล101ขับเคลื่อนไปได้ดี หลังจากดำเนินการมาเกือบปี ในเดือนมกราคมปี2004ฝ่ายอำนวยการสรุปว่าภาคเหนือของอิรักเน้นที่โมซูลมีสถานการณ์ปกติกว่าส่วนอื่น ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง9-10เดือนก่อนสรุปรายงานนั้นมี”การปะทะ” อันรวมถึงการวางระเบิด,ซุ่มโจมตี,ขับรถยิงกราดและอื่นๆเพียง5ครั้ง แต่หลังจาก101ถอนตัวให้กองกำลังขนาดเล็กกว่าเข้ามาดูแลแทน สถานการณ์ในโมซูลก็กลับเข้าสู่ความยุ่งเหยิง
มีผู้วิพากษ์การทำงานของพีเทรอัสเช่นกัน ว่าที่ดูเหมือนคุมสถานการณ์ได้ความจริงก็แค่ฝ่ายตรงข้ามซื้อเวลา และตอนนั้นกองพลของเขาก็มีกำลังพลถึง18,000นาย สามารถดูแลกิจการต่างๆได้ทั่วถึง กระนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่าทำตัวเป็นนักการเมืองซื้อเสียง รายงานความคืบหน้าในด้านดีของสถานการณ์ในอิรักที่เขาเสนอต่อสภาคองเกรสในวันที่7กันยายน 2007 ถูกนิตยสารไทม์อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามและผู้ต่อต้านสงครามมองว่ากุเรื่องขึ้น หรือไม่ก็พวกกุนซือในทำเนียบขาวเองนั่นแหละที่เขียนให้
วุฒิสมาชิกแฮรี่ รีดสังกัดพรรคเดโมแครตจากเนวาดา โจมตีว่า”แผนของพีเทรอัสไม่มีอะไรใหม่ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการ” ส่วนส.ส.โรเบิร์ต เว็กซ์เลอร์สังกัดเดโมแครตจากฟลอริดาก็ให้เหตุผลว่า”เป็นรายงานที่หยิบแต่ตัวเลขสวยๆมาอ้าง” ซึ่งพีเทรอัสยืนยันว่าเขาเขียนเองทั้งหมดจากความเป็นจริง โดยปราศจากอิทธิพลของสภาคองเกรสหรือกลุ่มพลังไหนๆ ผู้กล่าวหานั่นต่างหากที่โกหก
อาจจะถูกสรรเสริญหรือถูกโจมตีบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการของพีเทรอัสในโมซูลเมื่อปี2003 คือวิธีการเดียวกับที่กองทัพสหรัฐฯทั้งอิรักพยายามนำกลับมาใช้อีกในปี2006ถึงปัจจุบัน
การกลับมาอิรักอีกครั้งในยศพลเอกสี่ดาวและตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด จากการรับรองโดยสภาคองเกรสด้วยเสียงสนับสนุนเอกฉันท์81-0 คือหลักประกันอันชัดเจนว่าคนอเมริกันเทใจให้นายทหารของเขา เมื่อพีเทรอัสเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในอิรักได้ ในช่วงเวลาที่ยังไร้คำตอบเรื่องกำหนดการถอนทหารกลับ และชาวอเมริกันหวาดหวั่นต่อการซ้ำรอยสงครามเวียตนาม ดูเหมือนเขาจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ความหวังที่จะปิดฉากสงครามอิรักให้สวย หรือไม่ก็ให้ขี้เหร่น้อยที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น