วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าจากค็อกพิท JAS39”Gripen”(จบ)



ระหว่างเกิดกรณีพิพาทเขตแดนกับประเทศใกล้เคียงครั้งหนึ่ง คุณรับภารกิจแล้วปีนขึ้นค็อกพิท JAS 39พร้อมกล่องโลหะสีดำ (Data Transfer Unit) ซึ่งเก็บข้อมูลภารกิจไว้ เสียบมันเข้าช่องที่แผงควบคุมให้คอมพิวเตอร์ของเครื่องบินดาวน์โหลดข้อมูล ก่อนจะบินขึ้นด้วยระยะทางแค่ 500 เมตรกว่าๆ ทราบทิศทางและเป้าหมายเรียบร้อยตั้งแต่ยังไม่บินโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิทยุ
มีข้อมูลเข้ารหัสส่งเข้ามาระหว่างบินลาดตระเวน จากสถานีภาคพื้นดิน และเครื่องบินแจ้งเตือน (AWACS) พร้อมภาพในจอซ้ายมือ ยืนยันว่ามีเรือรบสองลำมุ่งหน้ามายังเขตหวงห้าม ในฐานะหัวหน้าหมู่บินคุณสั่งลูกหมู่เข้าสกัดกั้น ทันใดนั้นคุณและลูกหมู่ก็เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเครื่องบินจากลาดตระเวนมาเป็นโจมตีเป้าหมายภาคพื้น เรดาร์ล็อกเป้าไกลเกินระยะสายตา แล้วปล่อยขีปนาวุธ RBS-15 เข้าทำลายเรือ จรวดพุ่งเข้าหาเป้าอย่างแม่นยำ ภารกิจลุล่วงแล้วคุณจึงกลับมารวมตัวกับหมู่บิน
ระหว่างบินตามเส้นทางลาดตระเวนหลังจบภารกิจแรก เครื่องบินของนาโตนอกพื้นที่แจ้งเข้ามาอีกว่ามีเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติรุกล้ำนานฟ้าคุณจึงเปลี่ยนหน้าที่ของเครื่องอีกครั้ง จากอากาศสู่พื้นมาเป็นอากาศสู่อากาศ เรดาร์เปลี่ยนไปล็อคเป้าในอากาศแสดงฝ่ายตรงข้ามเป็นสัญลักษณ์สีแดง จัดลำดับความสำคัญให้ ภัยคุกคามในจอกลางคุณกดปุ่มที่คันบังคับปล่อยจรวดอากาศสู่อากาศทำลายเป้าทั้งที่ยังไม่เห็นตัว ขจัดผู้รุกล้ำได้ เป้าหมายถูกทำลายหายจากจอเรดาร์
น้ำมันและจรวดเหลือน้อย แต่ยังกลับฐานบินเดิมไม่ได้ เพราะมีภารกิจใหม่ คุณร่อนลงจอดในถนนชานเมืองใกล้ฐานสนับสนุนด้วยระยะแค่ 400 เมตร ไม่นานหน่วยสนับสนุนก็มาถึงในรถปิคอัพ ขนจรวดและเชื้อเพลิงอย่างละคันพร้อมทหา 5 นาย ทั้งหมดตรงเข้าติดตั้งจรวดและเติมน้ำมันเสร็จภายใน 10 นาที โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ก่อนคุณจะพาเครื่องบินเหินฟ้าปฏิบัติหน้าที่ของวันนั้นต่อไป...
ภารกิจของคุณครั้งนี้อาจจะยากกว่าที่เห็น ถ้าไม่มีระบบการประมวลและแสดงผลแบบดิจิตอล เช่นที่ติดตั้งในกริปเปน การแสดงผลการทำงานของเครื่องบิน และระบบอาวุธต่อหน้านักบิน ทั้งหมดจะรวมปรากฏในจอภาพใหญ่ 3 จอที่ปรับเปลี่ยนการแสดงผลความสว่างและสีสันได้ ระบบการแสดงผลนี้เรียกว่า Glass Cockpit ที่ไม่ได้หมายความว่า ค็อกพิทหรือห้องนักบินถูกหุ้มด้วยแก้ว แต่หมายความว่า เครื่องบินแสดงผลการทำงานด้วยระบบดิจิตอล เห็นได้ชัดบนจอภาพ LCD (แบบเดียวกับโทรทัศน์จอบาง-แบนในบ้านคุณ) นักบินอยากทราบข้อมูลใดก็กดปุ่มเรียกดูได้ ไม่ต้องการดูก็ไม่แสดง
นี่คือความแตกต่างจากระบบแสดงผลแบบ Analog หรือ กึ่ง Analog กึ่ง Digital ในเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 เช่น F-16 A/B และ ADF ของเรา ถ้าเอามันไปเปรียบเทียบกับเครื่องตระกูล F-5 ที่แสดงผลแบบอนาล็อก ด้วยมาตรวัดและเข็มชี้ต่างๆ เป็นร้อยชิ้นเรียงรายเต็มแผงควบคุม คุณจะเข้าใจทันทีว่าเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 อย่างกริปเปน ช่วยลดภาระด้านการจดจำและประมวลผลข้อมูลให้นักบินได้มาก นอกจากนี้ยังรวบรวมการควบคุมระบบทั้งหมดไว้ที่คันเร่ง (Throttle) และคันบังคับ (Stick)
ความรู้สึกแรกในห้องนักบินคือมันค่อนข้างโล่งเคลื่อนไหวสบาย ไม่มีหน้าปัด หรือเข็มมาตรวัดบอกค่าต่างๆมากมายเหมือนในเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อนๆ พื้นที่แผงควบคุมส่วนใหญ่เป็นจอภาพ LCD ใหญ่สามจอ ตามแนวความคิดในการออกแบบเอื้ออำนวยต่อการควบคุม (Human Machine Interface) เพื่อลดภาระในการจดจำข้อมูลที่ไม่จำเป็นของนักบิน เป็นเครื่องบินขับไล่แบบแรกที่แสดงผลด้วยจอดิจิตอลเต็มรูปแบบ
ตำแหน่งซ้ายสุดติดลำตัวคือ คันเร่งที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพิ่ม/ลดความเร็วอย่างเดียว มันทำงานประสานกับคันบังคับด้วยระบบ Hands On Throttle And Stick (HOTAS) ด้วยมือสองข้างที่แทบไม่ต้องละจากคันบังคับทั้งสอง นักบินสามารถจัดการกับระบบของเครื่องได้เกือบครบ ทั้งควบคุมท่าทางการบิน, ความเร็วและการใช้อาวุธ ซ้ายสุดของแผงควบคุมคือจอแสดงข้อมูลการบิน (Flight Data Display) ให้นักบินทราบข้อมูลการบินและสถานภาพของระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพเครื่องยนต์, ระดับน้ำมันภายในตัวเครื่อง และในถังใต้ลำตัว นอกจากนี้ยังแสดงผลการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) และแสดงภาพเป้าหมายรวมทั้งภาพการตกกระทบของอาวุธด้วยเวลาจริง (Real Time) ด้วย ตลอดจนสามารถเปลี่ยนไปดูข้อมูลการควบคุมอาวุธได้ทั้งปืนใหญ่อากาศ, ระเบิดและอาวุธปล่อย
แผ่นกระจกใสตรงกลางเหนือแผงควบคุมทั้งหมดคือจอแสดงผลรวม (Head Up Display หรือ HUD) แบบเดียวกับที่มีในเครื่องบินขับไล่ทั่วไป (F-5, F-16, F-18 และอื่นๆ) ย่อรูปแบบการแสดงผลเท่าที่จำเป็นมาแสดงให้นักบินเห็นโดยไม่ต้องก้มมองจอภาพ ทั้งข้อมูลการบิน, ทิศทาง, ข้อมูลการเล็งเป้า, สถานภาพอาวุธ,น้ำมัน, ความสูง ฯลฯ และเป็นศูนย์เล็งอาวุธในตัว แผงปุ่มใต้ HUD คือแผงบังคับรวม (Up Front Control Panel) ติดตั้งในตำแหน่งเหมาะสมเพื่อนักบินไม่ต้องละสายตาจากเป้า เพียงกดปุ่มจะทราบได้ทันที ถึงข้อมูลช่วยการตัดสินใจต่างๆ ข้อมูลการนำร่องและการค้นหาเป้าหมาย เป็นแผงควบคุมระบบการสื่อสารเบื้องต้นด้วย
ถัดลงมาในแนวเดียวกันคือจอภาพใต้ HUD ตรงกลางแสดงสถานการณ์ปัจจุบัน (Horizontal Situation Display) ให้ข้อมูลได้ทั้งแผนที่ทางภูมิศาสตร์ ตำแหน่งแห่งที่ของเครื่องบินตนเอง, ฝ่ายเดียวกัน (เขียว), ข้าศึก (แดง), ไม่สามารถพิสูจน์ฝ่ายได้ (เหลือง) และเครื่องบินพาณิชย์ (ขาว) รวมทั้งบอกที่ตั้งของจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศ, ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานหรือข้อมูลอื่นเท่าที่จำเป็น จอภาพขวาสุด (Multi Sensor Display) คือข้อมูลต่างๆ ที่รับจากเรดาร์ภาคพื้นดิน จากเครื่องบินในฝูง/ต่างฝูง และแหล่งอื่น เช่น เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ หรือหน่วยรบภาคพื้นดิน/น้ำ
ข้อมูลทุกอย่างในห้องนักบินจะแสดงเมื่อนักบินต้องการดู เมื่อต้องการทราบสิ่งใดเขาจะกดปุ่มเรียกดูสถานภาพของระบบต่างๆ หรือถ้ามีสิ่งใดผิดปกติมันจะสว่างวาบขึ้นมาเอง ต่างจากแผงควบคุมอนาล็อกแบบเดิมๆ ที่นักบินต้องกวาดตาดูแผงหน้าปัดเป็นร้อย เป็นการเพิ่มภาระให้สมองทำงานหนักยุ่งเหยิง ต้องยกประโยชน์ให้ระบบคอมพิวเตอร์สมัยปัจจุบันที่เล็กลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น ยัดลงในค็อกพิทได้มากกว่าเมื่อก่อน ช่วยให้นักบินจดจ่อกับภารกิจตรงหน้าได้เต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงกับข้อมูลมากมาย
นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ของกริปเปน สามารถจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย ให้นักบินได้ หลังจากล็อกเป้าได้สูงสุด 10 เป้า มันจะเรียงลำดับความสำคัญให้นักบิน ให้ตัดสินใจกดปุ่มปล่อยอาวุธทำลายเป้าหมาย แล้วยังส่งข้อมูลไปยังเครื่องบินในฝูงด้วยว่าเป้าไหนถูกใครล็อกไว้แล้ว นอกจากนี้ยังป้องกันตัวได้โดยอัตโนมัติเมื่อถูกเรดาร์ข้าศึกล็อก พลุลวง (Chaff/Flare) จะถูกยิงเป็นชุดจากเครื่องทันที เพื่อหลอกอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยเรดาร์หรือด้วยความร้อน โดยนักบินไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากพยายามหลบหลีกและดูจำนวนพลุว่าใช้ไปแล้วกี่ลูก
ถ้าเปรียบกับรถยนต์ กริปเปนคือรถยนต์ที่บอกคุณได้ว่าสี่แยกข้างหน้าจะติดไฟแดงนานกี่นาที ควรเร่งความเร็ว หรือขับไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แ
ยกแล้วออกตัวพร้อมรถคันอื่นๆ มันบอกคุณได้ด้วยว่าคนขับรถยนต์คันข้างหน้ากำลังโทรศัพท์และขับช้าชิดเลนขวา เสนอข้อมูลให้ตัดสินใจด้วยว่า ควรจะเปิดไฟสูงหรือบีบแตรไล่ บอกได้อีกว่าปั๊มน้ำมันใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหนเมื่อน้ำมันเหลือน้อย มันบอกเองโดยคุณไม่ต้องละสายตาจากถนนมาจ้องแผงหน้าปัด
Glass Cockpit เป็นของใหม่หรือ ? เปล่าเลย เครื่องบินพาณิชย์มีมันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เมื่อ NASA พยายามวิจัยหาทางลดภาระการบริหารข้อมูลของนักบิน เมื่อเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ มีระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินและอุปกรณ์ช่วยบินมากขึ้น
การแสดงผลแบบ ”ไม่ต้องการ ไม่แสดง” ด้วยจอดิจิตอลสมบูรณ์แบบ ถูกบรรจุลงในห้องนักบินของโบอิง 767 เมื่อ ค.ศ.1982 ทั้งผู้ประกอบการบินพาณิชย์เอง และผู้โดยสารต่างได้รับประโยชน์กันถ้วนทั่ว ความปลอดภัยและสมรรถนะของเครื่องบินเพิ่มขึ้นนับแต่นั้น Glass Cockpit ช่วยให้นักบินหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์อย่างถ่องแท้ ด้วยคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ที่นับวันยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพและขนาดเล็กลง
หลังจากความสำเร็จของโบอิง 767 เครื่องบินพาณิชย์รุ่นหลังๆ ต่างถูกสร้างให้ใช้ระบบแสดงผลด้วยจอLCD เพราะประสิทธิภาพในการประมวลผลและแสดงผล ที่ช่วยลดความเครียดและสับสนให้นักบินเมื่อต้องบินไกลและนาน คุณสมบัติของ Glass Cockpit ถูกนำมาใช้กับเครื่องบินรบในยุคที่ 4 และยุคหลังๆ เพื่อช่วยให้นักบินรู้เท่าทันสถานการณ์ ด้วยแผงจอ LCD นักบินสามารถทราบได้ถึงสถานภาพของตนเอง กำลังรบฝ่ายตนและฝ่ายตรงข้ามทั้งภาคพื้นดิน, น้ำ และในอากาศ ด้วยการแสดงภาพในจอเดียว พร้อมแยกสีและสัญลักษณ์เข้าใจง่าย แสดงให้เห็นขอบเขตการกวาดจับของเรดาร์ข้าศึกเพื่อนักบินได้หลบหลีก ไม่หลุดเข้าไปในรัศมีให้ถูกยิงจากอาวุธพื้นสู่อากาศ
การที่กริปเปนใช้ระบบแสดงผลด้วยจอดิจิตอล และประสานการทำงานกับเครือข่าย อันประกอบด้วยเครื่องบินในฝูง, เครื่องบินฝ่ายเดียวกัน, เครื่องบิน AWACS, สถานีเรดาร์, หน่วยรบภาคพื้นดินและน้ำ นำข้อมูลมารวมเป็นภาพสัญลักษณ์ง่ายๆ บนจอนั้น ช่วยตัดภาระการสื่อสารอันยุ่งเหยิงออกได้เกือบหมด นักบินไม่ต้องวิทยุติดต่อกันในฝูงและกองกำลังส่วนอื่น เพราะเป้าหมายและรายละเอียดทุกอย่างถูกแสดงไว้แล้วในจอ สิ่งที่เขาต้องทำจริงๆ ก็คือพาเครื่องไปยังเป้าหมาย หลบหลีกอุปสรรคตามที่เครื่องแจ้งไว้ในจอ ก่อนจะตัดสินใจใช้อาวุธในขั้นสุดท้าย
ระบบแสดงผลด้วยจอดิจิตอลหรือ ”Glass Cockpit” สมบูรณ์แบบของกริปเปน จึงเป็น ”ระบบฉลาด” ที่แท้จริง ทำให้การบินที่ว่ายากนั้นง่ายขึ้นผิดหูผิดตา ลดจำนวนหน้าปัดแบบอนาล็อกจำนวนหลายสิบชิ้น อันละลานตาลงมาเหลือแค่จอภาพสี 3 จอ นักบินจึงแทบไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากประคองคันบังคับและคันเร่ง มุ่งสู่เป้าหมายตามที่ปรากฏในจอแสดงผล ถ้า ”เครืองบินโง่” ทำให้นักบินเครียดและเหนื่อย เพราะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง “เครื่องบินฉลาด” อย่างกริปเปนก็ช่วยให้นักบินสบายตัวและ ”ดูดี” ขึ้นมากเมื่อบินกับมัน
ด้วยข้อมูลจากการค้นคว้า และประสบการณ์ที่ได้จากเครื่องจำลองการบินของกริปเปน ทำให้ผมเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ภาษีที่จ่ายไปนั้นถูกรัฐบาลใช้อย่างคุ้มค่าจริงๆในครั้งนี้ รู้สึกภูมิใจด้วยที่ได้เขียนถึง ดีใจที่ได้แบ่งปันข้อมูลให้ผู้อ่าน เครื่องบินรบแบบนี้น่าจะได้รับใช้ชาติเราตั้งนานแล้ว แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีของมันมาสัมฤทธิ์ผลเอาในช่วงทศวรรษ 2000 ประกอบกับเครื่องบินรบที่ใช้อยู่ก็ยังไม่หมดสภาพ เราจึงเพิ่งจะได้รู้จักมันเอาตอนที่ทยอยปลดประจำการเครื่องบินเก่าในเวลานี้
ผมไม่เสียดายเงินที่รัฐบาลตัดสินใจจ่ายเพื่อมันหรอกครับ เสียดายอย่างเดียวที่ได้มาเพียง 12 เครื่องแทนที่จะเป็น 18 เครื่องเต็มอัตรา แต่ก็เข้าใจว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ การได้มาแค่ 12 เพื่อทดแทน F-5 ที่หมดสภาพก็เต็มกลืนแล้ว เหล่าทัพอื่นยังต้องการยุทโธปกรณ์ของตนอีกมาก จึงต้องเฉลี่ยงบประมาณกันไป
กริปเปนอาจไม่ใช่เครื่องบินรบที่ดีที่สุดในโลก แต่มันเหมาะสมกับยุทธศาสตร์ และงบประมาณของเราที่สุด ถึงตอนนี้ถ้าผู้รับผิดชอบเปลี่ยนใจ ก็คงต้องตอบคำถามให้ได้ล่ะว่าเพราะอะไร และเครื่องบินจากสวีเดนแบบนี้ไม่ดีตรงไหน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น