วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

JAS39 ความจำเป็นและเหตุผล(2)


21R บินครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว 2 ปี เข้าประจำการในเดือนสิงหาคม 1950 ด้วยวัตถุประสงค์เดิมคือให้เป็นเครื่องบินขับไล่ แต่หลังจากมันเผยโฉมได้เพียงปีเดียว SAAB J29 ก็ถูกเข็นออกมาอีกในเดือนตุลาคม 1948 ด้วยจำนวนที่ลดจากแผนเดิม 120 เหลือเพียง 60 เครื่อง 21R จึงถูกเปลี่ยนบทบาทไปเป็นเครื่องบินโจมตีสนับสนุนการรบภาคพื้นดินแทนด้วยรหัส A 21 RA
ความน่าสนใจของ SAAB J29 คือเป็นผลผลิตจากความต้องการกองทัพอากาศเทคโนโลยีสูง เน้นคุณภาพแต่ไม่เน้นปริมาณของสวีเดน โครงการ”JxR”เพื่อการนี้เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 1945 ระหว่างสถานการณ์ในยุโรปเริ่มสงบจากความพ่ายแพ้ของเยอรมัน เครื่องบิน 2 แบบที่เสนอกองทัพเบื้องแรกเกิดจากความคิดของทีมวิศวกรอากาศยานนำโดยลาร์ส บริซิ่ง แบบแรกมีรหัสว่า R101 ลำตัวยาวและป่องคล้ายซิการ์ราวฝาแฝดกับ P-80 Shooting Star ของสหรัฐฯ แต่ผู้ชนะการคัดเลือกกลับกลายเป็น R1001 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเร็วและคล่องตัวกว่า
ต้นแบบของJ 29 คือ R1001 เดิมถูกออกแบบให้ปีกตรง แต่หลังจากวิศวกรสวีเดนได้เข้าถึงข้อมูลการวิจัยเรื่องปีกลู่(sweep-wing)จากเยอรมันเมื่อครั้งสร้างเครื่องบินขับไล่เจ็ตที่นั่งเดี่ยวต้นแบบ Messerschmidt Me P.1101(ต้นแบบที่ถูกดัดแปลงมาเป็น Bell X-5 เครื่องบินทดสอบของสหรัฐฯและใช้รูปแบบเดียวกันในเครื่องบินรุ่นหลังคือ F-111และ F14 Tomcat) ในโครงการเครื่องบินขับไล่เจ็ตเร่งด่วนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
SAAB พบว่าปีกลู่ช่วยเพิ่มพื้นที่ยกตัวมากขึ้น จึงปรับแผนแบบใหม่ให้เครื่องบินของตนปีกลู่แบบเดียวกันด้วยมุม 25 องศา สวีเดนจะได้ข้อมูลมาอย่างไรโดยไม่ได้รบกับเยอรมันยังเป็นความลับ เพราะเอกสารการวิจัยเดิมของเยอรมันตกอยู่ในมือรัสเซียและอเมริกัน
เมื่อวิจัยและพัฒนาเสร็จ SAAB J29 เครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 1948 ด้วยลักษณะสำคัญคือปีกลู่,ที่นั่งเดี่ยวมีช่องintake(ช่องดูดอากาศเข้า)เดี่ยวใต้ที่นั่งนักบิน เช่นเดียวกับเครื่องบินเจ็ตรุ่นแรกๆหลังสงครามฯ คือ F84 ของสหรัฐฯและ Mig-15 ของโซเวียตรัสเซีย นักบินทดสอบคือโรเบิร์ต เอ.”บ็อบ”มัวร์ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ SAAB GB จำกัดแห่งอังกฤษที่ก่อตั้งในปี 1960 มัวร์พูดถึงเครื่องบินสัญชาติสวีเดนแบบนี้ว่า”มันดูขี้เหร่มากเมื่อจอด แต่ปราดเปรียวเหลือเชื่อในอากาศ” เพราะรูปร่างตลกๆเหมือนถังไม้โอ๊คนี้เอง J29 จึงมีชื่อเล่นว่า”ถังไม้ติดปีก”(Flygande Tunnan ในภาษาสวีดิช)
“ถังไม้ติดปีก”ถูกผลิตออกมารวม 661 เครื่องระหว่างปี 1950-1956 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตมากที่สุดของ SAAB
นอกจาก J29 จะเป็นเครื่องบินรบปีกลู่แบบแรกของ SAAB ที่ทั้งเร็ว,ทัศนวิสัยยอดเยี่ยมและคล่องตัวสูง มันยังสร้างสถิติโลกด้วยในปี 1954 บินเร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็ว 977 ก.ม./ช.ม.ในพื้นที่ทดสอบเป็นวงรอบยาว 500 ก.ม. ก่อนจะถูก F-86 Sabre เครื่องบินขับไล่/สกัดกั้นของสหรัฐฯโค่น ด้วย SAAB J29 เป็นส่วนใหญ่นี้เอง กองทัพอากาศสวีเดนจึงครองสถิติกองทัพอากาศที่ทรงเวหานุภาพอันดับ 4 ของโลกในช่วงเวลาสั้นๆของทศวรรษ 1950
ด้วยประชากรไม่ถึง 10 ล้านและใช้เครื่องบินผลิตในประเทศล้วนๆ สวีเดนทำได้อย่างไร!
J 29 ความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานยุโรป แม้จะเป็นเจ็ตขับไล่รุ่นแรกแต่สถิติตกนั้นน้อยมาก อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนักบินผู้ไม่คุ้นเคยกับเครื่องบินความเร็วสูงปีกลู่ มันถูกใช้ในภารกิจขับไล่จนถึงปี 1965 ก่อนถูกปลดแล้วเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเป้าลวงแบบลากจนถึงปี 1974 บินแสดงครั้งล่าสุดเมื่อสิงหาคมปี 1976 ในงานแอร์โชว์ฉลองครบรอบ 50 แห่งการก่อตั้งกองทัพอากาศสวีเดน
SAAB J29 คือตัวจักรสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศสวีเดน ผลพวงจากการพัฒนาอากาศยานและสงครามเย็นทำให้กองทัพอากาศสวีเดนต้องเร่งพัฒนาทั้งเครื่องบิน กำลังพลและวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศที่ตั้งประจันหน้ากับกลุ่มประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ด้วยแนวความคิดที่ได้จากเยอรมนีในช่วงนั้นทำให้ต้องพัฒนาทั้งอากาศยานและระบบสาธารณูปโภคให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะถนนสายหลักที่จะกลายเป็นรันเวย์ยามสงคราม
ฐานทัพอากาศถูกสร้างเพิ่มเติมพร้อมกับถนนหลวงที่ต้องใช้งานได้สองวัตถุประสงค์ คือเพื่อสัญจรแต่ขณะเดียวกันต้องให้เครื่องบินรบร่อนลงได้พร้อมวางจุดส่งกำลังบำรุงซ่อนพรางไว้ตามภูมิประเทศ เมื่อความเป็นกลางไร้ความหมาย ประเทศถูกรุกราน ฐานบินถูกทิ้งระเบิด ทางเลือกคือต้องจอดบนถนนให้ได้ เครื่องบินขับไล่ของสวีเดนยุคสงครามเย็นและหลังจากนั้นจึงถูกสร้างขึ้นด้วยหลักนิยมที่สอดคล้องกันคือ
· เล็ก,ความคล่องตัวสูง
· ใช้ระยะทางวิ่งขึ้นและร่อนลงสั้น
· ปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายด้วยระบบส่งผ่านข้อมูลทันสมัย แจ้งเตือนล่วงหน้าได้รวดเร็ว
· ค่าใช้จ่ายต่ำ ปรนนิบัติบำรุงด้วยบุคลากรจำนวนน้อย
· ผลิตและซ่อมแซมได้ภายในประเทศ
ระหว่างสงครามเย็นงบประมาณกลาโหมของสวีเดน(ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์) ถูกดึงมาพัฒนากองทัพอากาศและอากาศยานภายในประเทศ จนครองอันดับกองทัพอากาศทรงอานุภาพดังกล่าว ช่วงทศวรรษ 1950 นี้เช่นกันที่สวีเดนโดยเฉพาะ SAAB ได้ผลิตเครื่องบินขับไล่ดีๆออกมาใช้มากมาย ทั้ง SAAB J29 Tunnan,SAAB A32 Lansen,SAAB J35 Draken
การบอกเล่าเรื่องของกองทัพอากาศสวีเดนจะสมบูรณ์ไม่ได้หากไม่พูดถึง SAAB(ซาบ) บริษัทผลิตอากาศยานแห่งชาติที่เติบโตมาพร้อมกับกองทัพอากาศ และผลิตเครื่องบินป้อนกองทัพมาตลอด
ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยานของยุโรป เป็นที่ทราบกันดีว่าSAABนั้นไม่เป็นรองใคร บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1937 ในชื่อเต็มว่าSvenska aeroplanaktiebolaget" (บริษัทอากาศยานแห่งสวีเดน จำกัด) ตั้งได้ 2 ปีก็เข้าร่วมกิจการกับบริษัท ASJA มีสำนักงานใหญ่ในเมืองลินเคอปิง หลังจากเปลี่ยนผู้ดำเนินกิจการในช่วงทศวรรษ 1990 ซาบได้ชื่อใหม่เป็น SAAB AB
ด้วยชื่อเสียงของบริษัทที่เน้นอากาศยาน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ SAABจึงเป็นเครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศยาน แต่ก็ผลิตรถยนต์จำหน่ายด้วยแบรนด์เดียวกัน มีรถยนต์แบรนด์ SAAB วิ่งอยู่ในถนนบ้านเราจำนวนหนึ่ง คุณภาพของมันเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป คือแกร่ง ทน ดูดีมีสง่า ไม่เพียงแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซาบยังควบรวมกิจการกับบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุก Scania-Vabisในปีค.ศ.1969 ระหว่างนั้นจนถึงค.ศ. 1995 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น SAAB-Scania AB แต่เจเนอรัล มอเตอร์สบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯได้เข้ามาถือหุ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์ในแผนกยานยนต์ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 แล้ว และซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในอีกสิบปีถัดมา
แล้วเครื่องบินล่ะ SAABมีผลงานอะไรเข้าตากรรมการบ้าง? ถ้าติดตามข่าวอุตสาหกรรมอากาศยานบ่อยๆก็จะทราบว่าเครื่องบินขับไล่ SAAB 32 Lansen(ลันเซน,หลาว)คือเครื่องบินโจมตีสองที่นั่งที่SAABผลิตให้กองทัพอากาศสวีเดนตั้งแต่ค.ศ. 1955 ถึง 1960 ตัวถัดมาคือSAAB 35 Draken(ดราเคน,Dragon,มังกร) เครื่องบินรบทันสมัยในช่วงนั้นที่เข้ามาทดแทน SAAB J 29 Tunnan(ทุนนัน ถังไม้ติดปีก)
ในช่วงสงครามเย็น ”ดราเคน”เป็นเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงส่งออกที่ประสบความสำเร็จมากของสวีเดน แม้ปัจจุบันมันจะถูกปลดประจำการไปแล้ว แต่ดราเคนก็ยังเป็นต้นแบบให้ SAAB พัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นต่อมา
เครื่องบินขับไล่เจ็ตเด่นๆของSAABนอกจากลันเซน,ดราเคนแล้วต่อไปคืออะไร? SAAB JA 37 Viggen(วิกเกน,Thunderbolt,สายฟ้า)คือคำตอบ มันเป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยวพิสัยใกล้และปานกลาง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสวีเดนอันคล้ายคลึงกับไทยคือเน้นการป้องกัน จึงไม่ต้องการเครื่องบินขับไล่พิสัยไกล “วิกเกน”ทำได้ทั้งการครองอากาศ โจมตีภาคพื้นดิน จะให้บินลาดตระเวนถ่ายรูปหรือใช้เป็นเครื่องบินฝึกเปลี่ยนแบบ 2 ที่นั่งก็ยังได้
วิกเกนรับใช้สวีเดนอยู่ระหว่างค.ศ.1970 ถึง 1990 เป็นยี่สิบปีที่มันสร้างชื่อไว้มากจากนวัตกรรมด้านอากาศยาน มีปีกเล็กหรือ”แคนาร์ด”(Canard)เหมือนกริปเปนเพื่อช่วยการลดระยะการตีวงเลี้ยว ช่วยให้ได้เปรียบข้าศึกในยุทธเวหาระยะประชิด(dogfight) สมรรถนะอันโดดเด่นของปีกเล็กหัวเครื่องบินจาก SAABได้กลายเป็น”เทรนด์”ของเครื่องบินขับไล่ค่ายยุโรปไปแล้วนับแต่นั้น ยูโรไฟเตอร์ก็มีปีกเล็ก แม้เครื่องบินขับไล่ประจำชาติของอิสราเอลคือ”Kfir”(คฟีร์)ก็มีปีกชนิดนี้ด้วย
เท่าที่ได้ลำดับความมานี้คือความเป็นมาอย่างสังเขปของกองทัพอากาศสวีเดน เครื่องบินรบและบริษัท SAAB ผู้ผลิตที่ส่งมอบเครื่องบินสมรรถนะสูงให้กองทัพอากาศสวีเดนมาอย่างสม่ำเสมอ เครื่องบินรบก่อนหน้า JAS39 ยังไม่ถูกส่งออกหรือส่งออกน้อย ไม่ใช่ระบบอาวุธของสวีเดนไม่ดีหรือราคาแพงแต่เขาเน้นความพอเพียง สร้างเครื่องบินไว้พอใช้ป้องกันชาติ
ถ้าจะถามว่ายุทโธปกรณ์ของเขาทำไมเป็นที่รู้จักน้อยกว่าของอเมริกา ต้องดูกันถึงรายละเอียด ปืนใหญ่และปืนกลหนักโบฟอร์ส(Bofors ก่อตั้งเมื่อปี 1873 )ที่ติดตั้งบนเรือรบใหญ่น้อยทั่วโลกผลิตจากสวีเดน ระบบโทรคมนาคมทั้งทางทหารและพลเรือนแบรนด์อีริกสัน(Ericsson ก่อตั้งเมื่อปี 1876)ที่เราคุ้นเคยก็ของสวีเดน เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทางยุโรปนั้นเก่งงานแต่ไม่เก่งเรื่องการตลาด สินค้าจากยุโรปส่วนใหญ่คุณภาพสูงพอๆกับราคา แต่ซื้อไว้แล้วก็ใช้กันจนลืม
สวีเดนอาจไม่มีชื่อเสียงเด่นดังด้านอาวุธเป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่ระบบการทำงานที่ดีของมันล้วนมาจากประเทศนี้ รวมถึงประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเช่นฟินแลนด์,เดนมาร์กและนอร์เวย์
ถ้าศึกษาสภาพภูมิศาสตร์สวีเดนให้ดีจะพบว่านี่คือชาติยุโรปที่เล็ก ประชากรกระจายกันอยู่ทั่วประเทศอย่างหลวมๆ จำนวนชาวสวีดิชที่สำมโนประชากรในเดือนเมษายนปี 2007นี้คือ 9 ล้านกว่าคน เป็น 9 ล้านกว่าที่แน่นไปด้วยคุณภาพ กองทัพเคยมีทหารทั้งหมด 1 ล้านนายในช่วงสงครามเย็นแล้วลดลงเหลือเพียง 6 หมื่นในปัจจุบัน เป็น 6 หมื่นที่เพียงพอจากการป้องกันประเทศ คล่องตัวจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองและปรับปรุงต่อเนื่องให้ทันสมัยเสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารแบบเครือข่าย
กล่าวถึงกองทัพอากาศสวีเดนและเครื่องบินแบบต่างๆจาก SAAB แล้ว ก็ต้องพูดถึง JAS39 Gripen (ยาส 39 กริปเปน)ที่กำลังจะประจำการในบ้านเรา มันได้ชื่อนี้มาจากชื่อย่อของภารกิจในภาษาสวีดิช โดย J คือ Jakt หรือการครองอากาศ A คือ Attack หรือโจมตีต่อเป้าหมายภาคพื้นดิน ตัวสุดท้ายคือ S ก็คือ Spaning หรือการลาดตระเวน ตัวเลข 39 คือเครื่องบินลำดับ39ที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศประเทศสวีเดน

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 มีนาคม 2552 เวลา 20:53

    บ. J35 Draken ในความคิดของผม คือมันเป็น บ.รบ ในเกมส์ที่ไม่ได้มีอยู่ในประจำการจริงๆ....แต่มันมีจริงและประจำการจริง - -*(เพิ่งรู้จากที่นี่เลย)
    รูปทรงของ บ. ทอ.สวีเดน ดูแปลกตาดีครับ ^ ^ โดยเฉพาะบ. J29
    เท่ห์ไม่เบาเลย ...ถังไม้บินได้ -*-

    จะว่าไปแล้วสวีเดน ในความคิดของผม เค้ายังคงเป็น ทอ.ชั้นแนวหน้าของยุโรปได้ ตราบใดที่สวีเดนยังสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารได้ดีเหมือนอย่างทุกวันนี้

    ปล.(ปัญหาผมเยอะ 555+) Bofros เค้าทำปืนใหญ่สนามไหม??

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ27 มีนาคม 2552 เวลา 07:14

    ปืนใหญ่สนามของโบฟอร์ส มีครับ 155 มม. ตามลิงค์นี้เลยhttp://www.daylife.com/photo/013zdVv98x7Ac

    ตอบลบ
  3. อิทธิพล ผลบุญ12 มิถุนายน 2555 เวลา 15:06

    ผมมีคำถาม 2 ข้ออยากเรียนถาม คุณพี่ สรศักดิ์ สุบงกช ครับ อยากได้คำตอบในเชิงวิชาการเอาไว้อธิบายนักวิชาการ ที่ไม่ค่อยเข้าใจหลักการทางทหารและหลักการการทำสงครามครับ (ช่วยหาข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนแนวคิดด้วยครับ)

    1.ทำไมประเทศไทยต้องมีอาวุธหนัก ทั้งเครื่องบินรบสมรรถนะสูง ขีปนาวุธ อาวุธนำวิถี จรวดร่อน และจรวดมิดไซค์ต่อสู้อากาศยาน รถถัง รถหุ้มเกราะ เรือรบ เรือดำน้ำ ทั้งที่ในปัจจุบันไม่มีการบด้วยอาวุธหนักเลยซักที ทำให้สินเปลืองงบประมาณเปล่าๆ ไม่เห็รมีความจำเป็น นำเงินส่วนนี้ไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศดีกว่า?
    2.ในเมื่อไทยอีกไม่กี่ปีก็เข้ารวมกันเป็นประชาคมอาเซียน อาวุธก็จำเป็นน้อยลงไม่ใช่หรือ? ทำไมงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ถึงเพิ่มขึ้น ทำไมถึงยังคงมีความจำเป็นอยู่

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ26 พฤษภาคม 2557 เวลา 20:13

    พี่สรศักดิ์ครับ ขออนุญาติรบกวนนิดนะครับ พี่เล่น Facebook หรือเปล่าครับ อยากจะชวนผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม กลุ่ม คนรักเครื่องบิน Facebook น่ะครับ ขอบคุณมากครับ Shika

    ตอบลบ