วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

ควบคุมฝูงชน แล้วค่อยปราบจลาจล




ปัจจุบันนี้ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า”ม็อบ”(mob) ซึ่งตามความหมายในภาษาอังกฤษแปลว่า”ฝูงชน” แต่ความรู้สึกของใครก็ตามที่ได้ยินคำว่าม็อบนั้นไม่ดีเลย บางครั้งยังถูกแปลความหมายไปว่าเป็น”ฝูงชนอาละวาด” อันหมายความว่าเป็นกลุ่มคนที่รวมกันเที่ยวทำลายสถานที่ราชการร้านรวงต่างๆไม่เลือก หากเอาหลักจิตวิทยาฝูงชนมาอธิบายเรื่องม็อบ ก็จะเข้าใจได้ว่าคนเรามักจะกล้าทำอะไรอย่างที่ใจอยากทำได้ทุกอย่างเมื่อมีกลุ่มหรือฝูงเป็นตัวนำ โดยเฉพาะกิจกรรมจากความก้าวร้าวในกมลสันดาน
เมื่ออยู่คนเดียวมนุษย์จะไม่กล้าทำลายข้าวของ ไม่กล้าส่งเสียงดังก่อความรำคาญเพราะใครๆจะรู้ต้นเหตุแห่งความเสียหาย ความผิดปรากฏชัดเพราะก่อเรื่องเพียงคนเดียว แต่เมื่อใดที่รวมกลุ่มได้และกลุ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว คนที่เคยดูเหมือนสงบเสงี่ยมเมื่ออยู่คนเดียวก็อาจจะเป็นคนก้าวร้าวอันตรายได้อย่างนึกไม่ถึง ทั้งนี้เพราะความเป็นกลุ่มได้ทำลายความเป็นตัวตนของคนคนนั้นหมดสิ้น ไม่รู้เขารู้เรา
เมื่อเกิดเรื่องข่าวก็จะอ้างว่าเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่ทุบกระจก เผารถยนต์ ขว้างปาสิ่งของ... ยากเหลือเกินที่จะบอกว่าความเสียหายเกิดจากฝีมือใครเป็นรายบุคคล เว้นแต่ถูกบันทึกภาพไว้ด้วยกล้องวงจรปิดซึ่งจะเปิดเผยในภายหลัง กระนั้นความเสียหายก็ยังเกิดจากกลุ่มเป็นปฐมเหตุ ไม่ใช่อยู่ดีๆคนคนนั้นจะนึกสนุกบุกยึดทำเนียบรัฐบาลหรือสร้างความเสียหายอื่นๆ
เมื่อการรวมตัวของมนุษย์เริ่มส่อเค้าว่าจะสร้างความเสียหาย รัฐบาลในทุกประเทศจึงต้องมีมาตรการไว้รองรับ เรียกมาตรการตามวิธีการกันตรงๆว่าการ”ควบคุมฝูงชน”(crowd control) เป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มชนที่มีแนวโน้มจะก่อเกิดความเสียหาย หยุดยั้งให้ได้ก่อนจะลุกลามใหญ่โตกลายเป็นการ”จลาจล” การควบคุมฝูงชนจึงแตกต่างจากการ”ปราบจลาจล”ตรงที่ว่าใช้มาตรการรุนแรงน้อยกว่า บุคคลากรและเครื่องมือเครื่องใช้น้อยกว่าเพื่อสยบเหตุไว้ก่อนจะลุกลามจนยากที่จะควบคุม และยังผลให้เกิดความสูญเสียได้มากทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ดังนั้นเมื่อจะควบคุมฝูงชนให้ได้นั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องผ่านการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ มีการข่าวที่ดีเพราะต้องทราบความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของกลุ่มตลอดเวลา จนสามารถตัดไฟได้แต่ต้นลม หากควบคุมฝูงชนได้ดีตั้งแต่เริ่ม ปฏิบัติการทุกอย่างตามกฎหมายและบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ได้ โอกาสที่ฝูงชนนั้นจะพัฒนากิจกรรมเป็นการก่อความไม่สงบก็จะน้อยลง ด้วยตัวช่วยเพื่อบังคับทิศทางการเคลื่อนที่เช่นรั้วเหล็กกั้น รั้วลวดหนาม ลวดหีบเพลงหรือแนวกั้นมนุษย์อื่นๆ และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ดูหนาแน่นขึงขังพร้อมอุปกรณ์เพื่อควบคุมฝูงชนโดยเฉพาะระหว่างจำนวนยังน้อย หากไม่มีแนวร่วมเหตุการณ์ก็จะกลับเข้าสู่ปกติโดยเร็ว แต่เมื่อใดที่จำนวนคนมาเพิ่มจากเดิมมากจนพัฒนากลายเป็น”ม็อบ”เต็มรูปแบบ สร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณูปโภคจนยากจะควบคุม มาตรการเพื่อหยุดยั้งก็ต้องรุนแรงขึ้นตามความรุนแรงของกิจกรรม
การ”ปราบจลาจล”(riot control)คือคำตอบเมื่อเหตุการณ์ลุกลาม มันถูกเข้าใจผิดว่ามีความหมายเดียวกับการควบคุมฝูงชนตามเนื้อความข้างต้นแต่จริงๆแล้วเป็นมาตรการหนักกว่า หากการควบคุมฝูงชนเป็นไม้อ่อนการปราบจลาจลก็เป็นไม้แข็ง ต้องใช้เครื่องช่วยและบุคลากรมากกว่า ในขณะที่การควบคุมฝูงชนคือการสลายการชุมนุมด้วยวิธีนุ่มนวลกว่าเช่นไม่ให้รวมตัวกันติด ป้องกันไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพย์สิน การปราบจลาจลคือการปราบปรามเพื่อหยุดกิจกรรมโดยสิ้นเชิง ต้องใช้กองกำลังฝึกพิเศษ เครื่องมือพิเศษและอาจถึงกับใช้อาวุธเพื่อยับยั้ง(non-lethal weapon)ตั้งแต่กระสุนยาง กระสุนตาข่าย เครื่องช็อตไฟฟ้า แก๊ซน้ำตา...
ตามหลักสากล เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารต่างต้องสวมเครื่องป้องกันตนให้พร้อมตั้งแต่หัวจรดเท้า ด้วยหมวกกันกระแทกมีนวมคลุมรอบคอเลยถึงบ่า มีโล่เพื่อป้องกันตัวจากของแข็งที่ขว้างจากกลุ่ม และเพื่อผลัก,ดันผู้ชุมนุมให้เปลี่ยนทิศทางหรือให้ออกห่างจากสถานที่ซึ่งเกรงจะเป็นอันตราย สวมหน้ากากป้องกันแก๊ซพร้อมในกรณีที่ใช้แก๊ซ โดยตามระเบียบนั้นก็ห้ามใช้อาวุธสังหารอยู่แล้ว
การมีภาพตำรวจใช้หรือเล็งปืนพกเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ผิดวิธีปฏิบัติและล่อแหลมต่อการถูกประณาม เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเชื่อว่าตำรวจลุแก่อำนาจอยู่แล้ว อาวุธที่ใช้ได้จึงมีแค่กระบองยาง ระเบิดแสงที่มีแต่แสงสว่างจ้าให้ตารพร่าไปครู่ใหญ่ๆ ดิ้วเหล็กและแก๊ซน้ำตาหรืออาวุธเพื่อยับยั้งบางประเภทเท่านั้น ไม่ใช่อาวุธสังหารอย่างระเบิดลูกเกลี้ยงหรือเครื่องยิงลูกระเบิด(ซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องยิงแก๊ซ) นอกจากนี้ข้อควรสังเกตประการหนึ่งของอาวุธสังหารที่นำมาใช้ปราบจลาจลได้นั้นคือปืนลูกซอง
นอกจากจะใช้ยิงกระสุนลูกปรายหรือลูกโดดหัวโลหะเพื่อสังหารตามที่ถูกสร้างมา ปัจจุบันมันยังใช้ยิงกระสุนหัวยางทรงตัวด้วยครีบได้ ผู้ถูกยิงจะไม่ตายแต่จะหยุดพฤติกรรมเพราะเสียงดังและแรงปะทะหนักหน่วงของหัวยาง หากถูกยิงที่อวัยวะสำคัญเช่น ไตในระยะประชิด อาการหนักที่สุดก็คือช้ำในจนปัสสาวะเป็นเลือดไปอีกหลายวัน หากถูกตาเข้าก็บอดแน่นอนอยู่แล้วเพราะแรงปะทะของหัวยางย่อมแรงพอจะทำลายเนื้อเยื่ออันบอบบางของดวงตาได้
แม้จะมียุทโธปกรณ์ให้เลือกใช้ได้มากมายในปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าผู้ปราบจลาจลจะลากมันออกมาใช้พร่ำเพรื่อ เนื่องจากความละเอียดอ่อนของการปฏิบัติซึ่งต้องให้การใช้กำลังเป็นสิ่งสุดท้าย ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังอย่างเคร่งครัดและพยายามให้หยุดการชุมนุมได้ก่อนจะถึงขั้นใช้อาวุธ เช่นแก๊ซน้ำตา สเปรย์พริกไทยและอื่นๆ แต่เมื่อเกิดเหตุก็ต้องปะทะ คงไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนฟั่นเฟือนพอจะไปหมอบกราบม็อบวิงวอนขอให้เลิกไปดีๆ
เมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่แถวหน้าสุดคือผู้ต้องเข้าสัมผัสกับฝูงชนโดยตรง จึงต้องสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันครบ มีอาวุธคือโล่และกระบอง ใช้เสียงและสำแดงพลังความพร้อมเพรียงให้เกิดความหวาดหวั่น ทำได้ทั้งเคาะเกราะ ส่องด้วยไฟฉายแรงสูง ใช้น้ำฉีด โดยเจ้าหน้าที่แถวถัดมาจะถืออาวุธเช่นปืนยิงกระสุนยาง ปืนยิงแก๊ซน้ำตาและจะเว้นแถวให้ห่างพอควรเพื่อเป็นช่องให้ผู้ก่อเหตุที่ต้องการหนี ได้แทรกตัวผ่านแถวเข้ามาแล้วออกไปทางด้านหลัง เพื่อกันคนที่เปลี่ยนใจออกจากกลุ่มแล้วมุ่งเข้าจัดการเฉพาะกับแกนนำเท่านั้น
เทคนิคการปราบจลาจลมีหลายแบบตามแต่นักคิดนักปฏิบัติจะคิดค้นขึ้นจากประสบการณ์ มีทั้งที่ตั้งแถวหน้ากระดาน ตั้งแถวเป็นรูปลิ่มหรือรูปใดก็ตามโดยต้องปรับรูปขบวนตามภูมิประเทศ หน่วยปราบจลาจลก็องปานญี รีปูบลิเกย์เนส์ เดอ เซคูริเต(CRS)อันเป็นหน่วยงานเพื่อรับมือด้านนี้โดยเฉพาะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฝรั่งเศส ใช้วิธีการแตกต่างออกไปด้วยการบุกเข้าสลายการชุมนุมจากรอบด้านพร้อมกัน แยกฝูงชนเป็นกลุ่มเล็กๆแล้วสลายซึ่งสะดวกกว่าการทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายตรงหน้าพร้อมกัน
ไม่ว่าหน่วยปราบจลาจลของแต่ละประเทศจะใช้วิธีการอย่างไรในการเข้าสลายฝูงชน ทุกประเทศต่างต้องยึดหลักสากลในการปฏิบัติคือเพื่อ”สลายการชุมนุม” ให้ประชาชนกลับไปดำรงชีวิตอย่างปกติสุข รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปได้อย่างราบรื่น เป็นที่เชื่อถือต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ต้องทำด้วยความระมัดระวังและให้การใช้กำลังเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยหลักการแล้วการสลายการชุมนุมคือเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมอันจะเป็นอันตราย ไม่ใช่การทำสงครามเพื่อผลแพ้/ชนะ ในการปะทะแม้อาจจะไม่มีใครเสียชีวิตแต่การบาดเจ็บย่อมไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
ที่เพิ่งเกิดเหตุไปสดๆร้อนๆลุกลามไปถึงการยึดสนามบินนี้ เห็นได้ชัดว่าขาดการประสานงานและขาดยุทธวิธีที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์พร้อมก็จริงแต่ยังมีปัญหาเรื่องการสั่งการและควบคุม ทำให้ไม่สามารถระงับเหตุได้ก่อนจะลุกลาม บางคนไม่ได้รับการอบรมการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลจึงไม่เข้าใจวิธีการใช้อาวุธ ระยะหวังผลของอาวุธยิงและรายละเอียดอื่นๆที่ผู้ใช้อาวุธพึงรู้เพื่อใช้งานได้ผลสูงสุด ตกเป็นจำเลยของสังคมได้ง่ายเมื่อมีผู้บาดเจ็บหรือเลวที่สุดคือเสียชีวิต(ถึงจะทำระเบิดมาเองจากบ้าน แต่พอพลาดท่าล้มทับตายเองจะมีคนสักกี่คนยอมเชื่อว่าไม่ใช่ฝีมือเจ้าหน้าที่?)
เมื่อการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้กำลัง แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการได้ตามกรอบแห่งกฎหมายเพื่อความสงบสุขของสังคม ถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะให้ความสำคัญต่อมาตรการดังกล่าวให้มากกว่านี้ทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์? เพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดี กำลังพลมีความเชื่อมั่นเมื่อต้องเข้าปฏิบัติหลังได้รับคำสั่ง ขณะเดียวกันผู้ชุมนุม(ถ้ามามือเปล่าจริง)ก็จะยุติพฤติกรรมโดยไม่มีผู้ใดเสียเลือดเนื้อ
ภาพที่สะท้อนใจผมเหลือเกินขณะเกิดเหตุยึดสนามบินสุวรรณภูมิ คือภาพตำรวจถือโล่และกระบองครบมือแต่ตั้งแถวรับม็อบจนเกือบถึงอาคารผู้โดยสารโดยไม่มีรถฉีดน้ำหรืออุปกรณ์ขัดขวางอื่นๆคอยสนับสนุน พอกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้ก็ปล่อยให้ไหลผ่านเข้าอาคารได้เฉยๆโดยไม่มีมาตรการหยุดยั้งอะไรเลยสักอย่าง นั่งดูข่าวตอนนั้นแล้วทำให้เกิดคำถามในใจว่าจะถือโล่พกกระบองไว้ทำไม? สวมหมวกกันกระแทกไปตั้งแถวกันทำไมนะ ทั้งร้อนทั้งหนักเปล่าๆ?

2 ความคิดเห็น:

  1. เพราะคำสั่งไงครับ เรามันแค่ผู้น้อยที่ต้องค่อยรับคำสั่งจากพวกนั่งโต๊ะ ที่ไม่ได้มาอยู่ในสถานการ(ช่างไม่น่านับถือเลย) บวกกับ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการทำงานที่ต้องใช้ความระเอียดอ่อนด้วย .

    ตอบลบ
  2. อยากให้มีคนมาตอบจังอยากรู้เหมือนกัน

    ตอบลบ