วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

พลซุ่มยิง...” 1นัด 1ชีวิต “



ในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรใกล้กลับเมืองไทย มีข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้างหลายกระแสเกี่ยวกับท่านทั้งดีและไม่ดี ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือการจัดหา”ปืนซุ่มยิง”จำนวนหนึ่งโดยนายทหารระดับสูง ที่โยงใยไปถึงหน่วยรบพิเศษของกองทัพบก เป็นทำนองว่าจะใช้ปืนพิเศษนี้เพื่อต้อนรับใครหรือเปล่า หรือการจัดหายุทธภัณฑ์ชนิดนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างอื่น นั่นคือจุดที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับคำว่า”ซุ่มยิง” เลยไปถึงผู้ใช้อาวุธหรือ”พลซุ่มยิง”ที่เราคุ้นเคยกันกับชื่อภาษาอังกฤษว่า”sniper”ซึ่งมีอยู่ในเหล่าทัพของทุกชาติ
“พลซุ่มยิง”ซึ่งเรียกชื่อตามภารกิจ ก็คือทหารราบผู้ชำนาญการใช้อาวุธยิงทำลายเป้าหมายจากตำแหน่งซุ่มซ่อน ด้วยระยะไกลเป็นพิเศษเกินความคาดหมายหรือระยะตรวจการณ์ของฝ่ายตรงข้าม และต้องกระทำด้วยอาวุธพิเศษเฉพาะภารกิจคือ”ปืนซุ่มยิง”(sniper rifle) ประกอบกล้องเล็งและกระสุนที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อการทำลายเป้าหมายจากระยะไกลเท่านั้น จะไกลได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักๆทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาแล้วคือคน ปืน กล้องเล็งและกระสุน
กองทัพของแต่ละประเทศจะกำหนดภารกิจให้พลซุ่มยิง ตามแต่หลักนิยมในการป้องกันประเทศของประเทศนั้นๆ โดยส่วนใหญ่หน้าที่หลักของพลซุ่มยิงคือการลาดตระเวนหาข่าวจากตำแหน่งซุ่มซ่อน และถ้าจำเป็นก็ให้ลดความสามารถสู้รบของฝ่ายตรงข้ามได้ ด้วยการทำลายเป้าหมายสำคัญๆโดยเฉพาะเป้าหมายบุคคลหลักๆเช่นนายทหารผู้คุมกำลัง ผู้สั่งการระดับสูงสุดเช่นผู้นำหมู่บ้าน หรือเจ้าของเครือข่ายค้ายาเสพติด ฯลฯ
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพลซุ่มยิงมีตำแหน่งแห่งที่ในกองทัพตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่สันนิษฐานได้คือโลกน่าจะรู้จักพลซุ่มยิงตั้งแต่มนุษย์รู้จักรบกันด้วยอาวุธยิง อย่างธนูหรือปืนคาบสิลาในระยะแรก เมื่อมีกระสุนดินดำใช้กับปืนระบบคัดปลอกและเกลียวลำกล้อง การซุ่มยิงก็ทวีความสำคัญขึ้นเพราะผลของปฏิบัติการสามารถทำลายขวัญและกำลังใจข้าศึกได้สูง ด้วยกระสุนเพียงไม่กี่นัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลของการรบได้ สร้างผลกระทบทางจิตวิทยาได้สูงต่อลูกแถวเมื่อนายทหารถูกยิง กองกำลังต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือลดความเร็วในการเคลื่อนที่เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพล ทำให้หน่วยของพลซุ่มยิงมีเวลาดำเนินกลยุทธ์อื่นใดหรือมีเวลาพอเพื่อตระเตรียมความพร้อมในการล่าถอย
ตามปกติพลซุ่มยิงในกองทัพจะปฏิบัติงานเป็นคู่ ทหารหนึ่งนายเป็นพลซุ่มยิงและอีกนายเป็นพลชี้เป้าคอยส่องกล้องหาเป้าสับเปลี่ยนหน้าที่กันในเวลาที่กำหนด เพื่อลดความอ่อนล้าสายตาจากการจ้องจับเป้าหมายนานๆด้วยกล้องเล็ง สำหรับกองทัพของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรซึ่งใช้พลซุ่มยิงอย่างแพร่หลาย ภารกิจส่วนใหญ่คือการลาดตระเวนและสอดแนม ต่อต้านการซุ่มยิงของฝ่ายตรงข้าม สังหารนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา และแม้แต่ทำลายเป้าหมายอาคารหรืออุปกรณ์สื่อสารสำคัญ
พลซุ่มยิงของกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯ สร้างผลงานได้ผลยอดเยี่ยมมาแล้วช่วงก่อนเปิดฉากสงครามอ่าวทั้งสองครั้ง ด้วยการเร้นกายเข้าทำลายระบบสื่อสารของอิรักด้วยปืนซุ่มยิงขนาดหนัก ใช้กระสุนขนาด.50นิ้ว(ขนาดเดียวกับที่ใช้ในปืนกลบราวนิ่ง .50 คาลิเบอร์) ยิงจากปืนซุ่มยิงหลากแบบ เช่นTAC-50 แมคมิลแลน,บาร์เร็ตต์ M82 ระยะสังหารไกลที่สุดเท่าที่เคยบันทึกคือ 2,430 เมตรจากฝีมือของสิบโทร็อบ เฟอร์ลองจากกรมทหารราบเบาพรินเซส แพทริเชียของคานาดา ช่วงบ่ายวันหนึ่งของเดือนมีนาคม 2002 ในอาฟกานิสถาน ด้วยกระสุนฮอร์นาดี A-MAXเวรี่ โลว์ แดร็กหนัก750เกรน ขนาด.50คาลิเบอร์จากปืนซุ่มยิง TAC-50 แมคมิลแลนด์
แม้เทคโนโลยีการสร้างปืนยุคปัจจุบันจะทำให้พลซุ่มยิงทำงานง่ายขึ้น ยิงได้ไกลขึ้น แต่ทหารหน้าที่พิเศษนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์เอาไว้มากในสงครามใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมา พลซุ่มยิงฝรั่งเศสคือผู้เขียนประวัติหน้าสุดท้ายของพลเรือโทโฮเรชิโอ เนลสันแห่งราชนาวีอังกฤษ ครั้งทำสงครามทางทะเลกับกองทัพนโปเลียน เยอรมันนำพลซุ่มยิงมาใช้งานได้ประโยชน์สูงสุดในแนวสนามเพลาะของสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยการแจกกล้องเล็งประกอบปืนให้ทหารมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่สงคราม เพียงฝ่ายตรงข้ามยื่นมือพ้นแนวหลุมเพลาะเท่านั้น เขาจะตกเป็นเหยื่อกระสุนจากทหารเยอรมันทันที เริ่มแรกทั้งฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสต่างคิดว่าความแม่นของเยอรมันเป็นความบังเอิญ จนกระทั่งยึดกล้องเล็งได้พร้อมปืนความจริงอันน่าหวาดหวั่นจึงปรากฏ
ชื่อเสียงพลซุ่มยิงเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นที่เลื่องลือ ส่วนหนึ่งมาจากความแม่นที่ได้จากเลนส์กล้อง เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าอุตสาหกรรมผลิตเลนส์ของเยอรมันเป็นที่1ของโลก ไม่มีใครไม่รู้จักเลนส์จากบริษัทคาร์ล ไซส์แห่งเมืองเยนา(Jena) พอรู้ว่าเยอรมันไปได้สวยกับพลซุ่มยิง อังกฤษก็เริ่มฝึกพลซุ่มยิงฝ่ายตนบ้างเพื่อลดความเสียเปรียบระหว่างฝ่ายตนกับเยอรมัน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีเดียวกันคือออกทำงานเป็นทีมพลซุ่มยิงและพลชี้เป้าทีละสองคน จะมีแต่แนวรบด้านตะวันออกที่ประจันหน้ากับรัสเซียที่เยอรมันเด็ดชีพข้าศึกได้คล่อง เพราะขณะนั้นรัสเซียยังไม่ให้ความสำคัญกับพลซุ่มยิงเป็นเรื่องเป็นราว
พลซุ่มยิงได้ออกศึกใหญ่อีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 พลซุ่มยิงอังกฤษผู้ซ่อนตัวในที่มั่นมิดชิดสามารถหน่วงเวลากองทัพเยอรมันผู้ไล่ขยี้ได้จนมีเวลาอพยพจากดันเคิร์ก ผลงานนี้ทำให้อังกฤษหันมาพัฒนากิจการซุ่มยิงเป็นการใหญ่ กระนั้นก็ยังจำกัดอยู่ให้เป็นภารกิจของนายทหารสัญญาบัตรและชั้นประทวน ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับคู่สงครามอย่างเยอรมันซึ่งไม่จำกัดชั้นยศของผู้สมัครเป็นพลซุ่มยิง ทั้งที่เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ความต่อเนื่องในการพัฒนาพลซุ่มยิงของเยอรมันไม่ได้ลดหย่อนลงเลย พลซุ่มยิงเยอรมันสร้างผลงานเด่นๆหลายครั้งระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนและในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเยอรมันรุกรานโซเวียต สงครามระหว่างพลซุ่มยิงของทั้งสองชาติรุนแรงยิ่งขึ้น สมรภูมิสตาลินกราดคือพื้นที่ห้ำหั่นระหว่างพลซุ่มยิงโดยแท้ เมื่ออาคารใหญ่ๆในเมืองถูกปืนใหญ่และระเบิดของเยอรมันทำลายจนเหลือแต่ซาก ทหารรบกันทุกที่ตั้งแต่ในอาคารบนท้องถนนจนถึงท่อระบายน้ำ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสังหารเป้าหมายด้วยปืนซุ่มยิงจากซอกเล็กหลืบน้อยของอาคาร
รัสเซียดูเหมือนจะได้เปรียบเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับที่คุ้นเคยดีกับชัยภูมิของตน พลซุ่มยิงรัสเซียทั้งบุรุษและสตรีสังหารนายทหารเยอรมันได้มาก วาสิลี ซาอิเซฟ ผู้ใช้ปืนเล็กยาวโมซิน-นากันต์ปลิดชีพข้าศึกได้นับร้อย ได้รับความสำคัญจนถูกยกเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ จนฝ่ายเยอรมันต้องส่งพันตรี(เอส.เอส.)ไฮนซ์ ธอร์วัลด์พลซุ่มยิงชั้นครูจากโรงเรียนฝึกพลซุ่มยิงเมืองซอสเซนมาปราบ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหารฝ่ายตนกลับคืน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าต้องเสียทีให้ซาอิเซฟแห่งกองทัพแดง (ดังเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Enemy at the Gate และหนังสือชื่อเดียวกัน) ปืนคาร์ 98Kของเขาที่ถูกยึดได้ยังตั้งแสดงอยู่ในกรุงมอสโก
ฝ่ายสหรัฐฯเองก็ใช้พลซุ่มยิงอย่างกว้างขวางไม่แพ้เยอรมันและอังกฤษ พลซุ่มยิงกองทัพสหรัฐฯทำงานได้ผลทั้งในสมรภูมิอาฟริกาเหนือ ฝรั่งเศส และใช้ต่อต้านการซุ่มยิงของเยอรมันในช่วงรุกเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน
ปัจจุบันกิจการนี้ยังถูกพัฒนาไม่หยุดยั้งทั้งยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์ ปืนซุ่มยิงถูกพัฒนาให้เบา แรงรีคอยล์น้อย ใช้ระบบลำกล้องลอย(free float barrel)เพื่อทวีความแม่น ที่ใดที่ทหารสามารถซุ่มซ่อนตัวเองได้แนบเนียน ดัดแปลงภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อตนได้มากที่สุด ที่นั่นย่อมมีพลซุ่มยิง
นอกจากกองทัพที่ต้องใช้ทหารหน้าที่พิเศษนี้ ตำรวจก็ต้องพึ่งพาพลซุ่มยิงเช่นกันโดยจะถูกบรรจุไว้ในอัตราของหน่วยปฏิบัติการพิเศษSWAT(Special Weapons And Tactics) ประกอบทีมเช่นเดียวกับทหารคือ1พลซุ่มยิงกับ 1พลชี้เป้าทำหน้าที่สลับกัน เพื่อเป็นคำตอบสุดท้ายเมื่อการเจรจาล้มเหลวและการส่งทีมจู่โจมเข้าที่หมายดูจะปลอดภัยน้อยกว่า
เมื่อพิจารณาจากภารกิจ พลซุ่มยิงคือทหารที่แตกต่างจากหน่วยรบปกติ เป็นหน้าที่พิเศษจริงๆซึ่งไม่อาจเป็นกันได้ทุกคน เขาสามารถปฏิบัติการได้ทั้งเดี่ยวและเป็นทีม ต้องมีความอดทนสูงสุด นอนแช่ปลักหรือหมอบซุ่มท่ามกลางแสงแดดแผดเผาได้เป็นวัน เคลื่อนที่ได้ช้าและแนบเนียน ดัดแปลงสิ่งต่างๆในภูมิประเทศเพื่อการซ่อนพรางได้เก่ง ใจเย็น รอบคอบและละเอียดละออเมื่อต้องเลือกอาวุธ กระสุน ที่ตั้ง ต้องยิงแล้วทำลายเป้าหมายให้ได้ในนัดเดียว ต้องฆ่าให้ตายด้วยกระสุนนัดนั้น เพราะนัดต่อไปอาจไม่มีโอกาสหากฝ่ายตรงข้ามรู้ที่ซ่อน
เมื่อกระสุนนัดเดียวเปลี่ยนสถานการณ์ในสนามรบได้ มันย่อมเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองได้เช่นกันเมื่อถูกนำมาใช้กับผู้นำประเทศหรือศัตรูทางการเมือง ราฟาเอล ทรูจิลโลผู้นำเผด็จการแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน อเมริกากลาง เสียชีวิตจากการซุ่มยิงเมื่อปี 1961 ด้วยปืนจากการจัดหาโดยซีไอเอ เมื่อทำท่าว่าจะขวางหูขวางตารัฐบาลสหรัฐฯขณะนั้น
กระสุนนัดเดียว(แต่พุ่งมาจากหลายที่)เช่นกัน ที่ปลิดชีวิตอดีตประธานาธิบดีคนที่35ของสหรัฐฯ จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ในวันที่ 22พฤศจิกายน 1963 ด้วยหัวกระสุนขนาด 6.5 ม.ม.หนัก160 เกรนจากปืนเล็กยาวแมนลิเคอร์-คาร์คาโนติดกล้องเล็งของลี ฮาร์วี ออสวอลด์ หนุ่มสติเฟื่องที่ไปยืนอยู่ในอาคารเท็กซัส สกูล บุค ดีโพซิทอรี่ในบริเวณดีลีย์พลาซา ดัลลัส เท็กซัส แต่ภายหลังปรากฏหลักฐานว่ากระสุนสังหารนัดสำคัญที่ระเบิดสมองท่านประธานาธิบดีกระจุยนั้นไม่ได้มาจากแหล่งเดียว ภาพยนตร์ที่พยานถ่ายไว้นั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมี”พลซุ่มยิง”วางตัวอยู่อีกอย่างน้อยก็สองที่ คือที่อาคารเดียวกันชั้นต่ำลงมา และบริเวณเนินหญ้าตรงจุดที่รถเลี้ยวแล้วเหยื่อหันข้างศีรษะให้เห็นชัดๆ
ไม่ว่ากระสุนนั้นจะเป็นฝีมือของออสวอลด์จริงๆ หรือมีใครการลงขันจ้างมือซุ่มยิงเป็นทีม การเสียชีวิตของเคนเนดี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปทั้งโลก เมื่อลินดอน เบนส์ จอห์นสันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีแล้วส่งเด็กหนุ่มอเมริกันนับแสนเข้าสู่สงครามเวียตนาม รบต่อกันมานานนับสิบปี ทหารอเมริกันเสียชีวิตเกือบหกหมื่น บาดเจ็บพิการนับแสน ชาวเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตเป็นล้านก่อนรวมประเทศ
การซุ่มยิงจึงยังเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลตลอดกาล ความเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากปฏิบัติการนั้นมากมายจนยากจะละเลย กองทัพของทุกประเทศจึงมีพลซุ่มยิงประจำการ มีหลักสูตรเข้มข้นเพื่อคัดสรรผู้สมัครรับการฝึก เพื่อเค้นเอาหัวกะทิจริงๆมาทำหน้าที่ที่พลาดไม่ได้นี้
เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพระมหาษัตริย์ของเราในอดีตก็ทรงทำหน้านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงใช้พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงยิงมังสุรกรรมา แม่ทัพพม่าที่ยกพลตามบดขยี้ตกช้างตายด้วยกระสุนนัดเดียวจนหยุดการรุกไล่ กระนั้นการสังหารนักการเมืองจากระยะไกลด้วยปืนซุ่มยิงก็ยังไม่เคยมีประวัติ และขออย่าให้มีเลย ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะเลวแค่ไหน ดูเหมือนว่าปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษยังจะดีเสียกว่า

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 พฤษภาคม 2553 เวลา 12:49

    ชอบครับ อ่านสนุกเข้าใจง่ายดี....ปรกติก็อ่านจากในมติชนสุดสัปดาห์ เพิ่งจะเคยเข้ามาเยี่ยมเยี่ยนในบล็อคก็วันนี้ .. ขอเวลาซักหน่อยจะไล่อ่านให้ครบเลยครับ...

    จารึก ศรีอรุณ

    ตอบลบ
  2. เรื่องปืนซุ่มยิงและกระสุนกำลังจะลงในมติชนครับ ให้ลงก่อนแล้วผมจะเอามาอัพเดทในนี้ ติดตามอ่านได้ครับ ขอบคุณมาก

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ30 พฤษภาคม 2553 เวลา 10:50

    เข้ามาอ่านตามคำแนะของคุณในมติชนฯ ชอบและติดตามอ่านเป็นประจำ ขอบคุณสำหรับข้อมูลต่างที่คุณนำเสนอครับ--ประทีป จิตติ

    ตอบลบ
  4. สรศักดิ์ สุบงกช30 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:04

    ขอบคุณเช่นกันครับคุณประทีปที่ให้ความสนใจ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ20 พฤษภาคม 2554 เวลา 09:04

    ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ