วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

Stealth เทคโนโลยีลับ ลวง พราง




เราชอบพูดถึงเทคโนโลยี”สเตลธ์”ว่ามันดีวิเศษ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เข้าถึงตัวข้าศึกได้ง่ายโดยไม่ทันระวังตัวหรือกว่าจะรู้ตัวก็ถูกทำลายเสียแล้ว การนำเทคโนโลยีซ่อนพรางมาใช้โดยเฉพาะกับยุทโธปกรณ์อย่างเครื่องบิน ทำให้คนทั่วไปคิดว่าสเตลธ์หมายถึงเครื่องบินล่องหนที่บินทื่อเข้าหาเป้าหมายได้โดยไม่ถูกตรวจจับ แต่จริงๆแล้วคำว่าสเตลธ์นี้กินความหมายครอบคลุมมากกว่านั้น มันหมายถึงการซ่อนพรางทุกสิ่งตั้งแต่อาวุธ เครื่องแบบ ไปจนถึงสิ่งก่อสร้าง
ถึงคำว่าสเตลธ์จะถูกบัญญัติขึ้นในแวดวงเทคโนโลยีทางทหารเมื่อ40ปีที่แล้วก็จริง แต่ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อซ่อนพรางเกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2แล้ว ด้วยชุดสนามลายพรางของทหารซึ่งเกิดในอิตาลีในรูปของผ้าเตนต์ลายกลมกลืนภูมิประเทศ แล้วเยอรมันนำมาต่อยอดเป็นชุดพรางหลากแบบของตนเอง ตามความหมายของนักการทหาร คำว่าสเตลธ์คือ”การซ่อนพรางตัวเองจากฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะใกล้หรืออันตรายแค่ไหนก็ตรวจจับไม่ได้” ทำได้ง่ายๆตั้งแต่เอาหญ้ามาเสียบตาข่ายคลุมหมวกเหล็ก จนถึงยากขนาดต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนเพื่อออกแบบเครื่องบินและเรือรบกันใหม่หมด
เมื่อพูดถึงเครื่องบินที่ดูจะใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ขั้นสูงสุด ความพยายามที่จะทำให้เครื่องบินล่องหนแต่แรกเริ่มคือการทาสีขาวหรือเทาอ่อนใต้ลำตัว ด้วยความคิดว่าเมื่อมองจากเบื้องล่างขึ้นมาจะเห็นเครื่องบินไม่ชัดเพราะสีท้องเครื่องกลมกลืนกับเมฆและท้องฟ้า แต่พอเอาจริงๆเข้าก็ไม่รอดเพราะเมื่อมองขึ้นไปยังเห็นเป็นวัตถุดำๆตัดท้องฟ้าสีครามอยู่ อันหมายถึงวัตถุนั้นมีเงา วิศวกรจึงติดหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์พลังสูงใต้ลำตัวและปีก สามารถหรี่หรือเร่งความสว่างให้เรืองแสงกลมกลืนกับแสงอาทิตย์อย่างไรก็ได้ ถึงจะไม่ล่องหนสมบูรณ์แบบนักแต่นักบินก็ตกเป็นเป้าได้ยากขึ้น
ความพยายามทำเครื่องบินให้สเตลธ์ก้าวกระโดดด้วยความบังเอิญ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ในโครงการอวกาศของนาซาพบว่ายานอวกาศรุ่นแรกๆนั้นหายไปจากจอเรดาร์ และรับคลื่นวิทยุไม่ได้ระหว่างกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะแรงเสียดทานจนเกิดความร้อนทำให้เกิดพลาสมา(ก๊าซร้อน)ห่อหุ้มรอบตัวยาน และก๊าซร้อนนี้เองที่ทำให้ยานหายจากเรดาร์เพราะมันดูดซับคลื่นสะท้อน หลักการ”พลาสมา ไดนามิกส์”นี้ดูจะอวกาศๆไปนิดในยุคนั้น แต่นักประดิษฐ์บอกว่านำมันมาต่อยอดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสเตลธ์เพื่ออากาศยานในอนาคตได้
แนวความคิดหนึ่งคือเครื่องบินควรมีเครื่องเร่งอนุภาคติดไว้ เพื่อ”ยิง”เข้าชั้นบรรยากาศตรงหน้าเครื่องบินให้เกิดฉากคลุมเพื่อให้เครื่องบินเคลื่อนเข้าหาฉากนั้น เมื่อเครื่องบินยิงอนุภาคยิงต่อเนื่องไปเรื่อยๆมันก็จะอยู่ในโหมดสเตลธ์สมบูรณ์แบบ อีกแนวความคิดคือใช้คอยล์แม่เหล็กซูเปอร์คอนดักเตอร์พันรอบเครื่องบินให้เกิด”เมฆพลาสมา”รอบเครื่องเพื่อดูดซับคลื่นเรดาร์ไม่ให้สะท้อนกลับ อีกความคิดก็เสนอให้ทาเครื่องบินทั้งลำด้วยเรดิโอไอโซโทปซึ่งจะไปเปลี่ยนประจุไฟฟ้ารอบตัวเครื่อง เป็นเมฆพลาสมาบดบังคลื่นเรดาร์
ข้อดีของการบินอยู่ในพลาสมาคือลดแรงเสียดทานได้3เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเสียของการใช้เรดิโอไอโซโทปทาคือมันจะเรืองแสงในยามค่ำ เมื่อพัฒนาเทคโนโลยีสเตลธ์สำหรับอากาศยานระยะแรกๆนั้น มีการตั้งสมมุติฐานกันได้เข้าทีว่าวัตถุเรืองแสงที่เห็นบินไปมายามกลางคืนเหนือบริเวณลับ”แอเรีย51”ในเนวาดา มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเป็นเครื่องบินสเตลธ์แบบโฮมเมดซึ่งทดลองด้วยวิธีต่างๆนี่เอง นอกจากจานบินของมนุษย์ต่างดาวที่คาดเดากันไป ก็น่าจะมีแต่เครื่องบินจารกรรมU-2เท่านั้นที่ถูกทาเรดิโอไอโซโทปแล้วปล่อยขึ้นบิน
เทคโนโลยีเครื่องบินสเตลธ์มาเห็นผลชัดๆเอาเมื่อสงครามอ่าวครั้งแรกเมื่อปี1991 เมื่อเครื่องบินรบF-117”ไนท์ฮอว์ค”บินเข้าทำลายเป้าหมายในกรุงแบกแดดและอีกหลายจุดยุทธศาสตร์ของอิรัก มันเป็นเครื่องบินโจมตีใช้รหัส”F”(Fighter)แบบเดียวที่ไม่มีอาวุธป้องกันตัวเองเลยนอกจากระเบิดฉลาด(สมาร์ทบอมบ์)เต็มท้อง ถูกสร้างให้บินด้วยคอมพิวเตอร์(fly by wire) ผิวเครื่องทั้งลำถูกฉาบด้วยวัสดุดูดซับคลื่นเรดาร์ ตัวเครื่องถูกออกแบบให้อสมมาตร(ที่ใครๆเห็นแต่แรกต่างคิดว่ามันไม่น่าจะบินได้)เพื่อกระจายคลื่นเรดาร์ ท่อไอพ่นท้ายเครื่องยนต์ก็ถูกพรางความร้อนไว้เช่นกัน
เพราะเป็นเครื่องบินสเตลธ์F-117จึงไม่ต้องมีอาวุธยิงหรืออาวุธปล่อย ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเหล่านี้เพราะเลือกเวลาปฏิบัติการเป็นกลางคืนและเรดาร์ข้าศึกก็จับไม่ได้ นักบินจึงขับF-117เข้าทำลายเป้าหมายเพียงลำพังแล้วบินหนีออกมาโดยไร้ร่องรอย โดยฝ่ายข้าศึกเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าโดนอะไรเข้าไป ตรงตามแนวความคิดสเตลธ์ เครื่องบินทิ้งระเบิดB-2ของสหรัฐก็ใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันนี้F-117ซึ่งปลดประจำการไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้ถูกแทนที่โดยเครื่องบินขับไล่F-22”แรปเตอร์”ที่เป็นเครื่องบินขับไล่เต็มตัวและใช้ระบบสเตลธ์สมบูรณ์แบบ ด้วยระบบสเตลธ์ของแรปเตอร์ จากเครื่องบินจริงๆลำใหญ่กลับมีขนาดเท่าลูกกอล์ฟเท่านั้นในจอเรดาร์! มันจึงได้เปรียบแบบไม่เหลืออะไรให้คู่แข่งตามติดได้เลย ทั้งด้านการหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์และการเข้าหาที่หมายอย่าง”ลับ ลวง พราง”
ถ้าเครื่องบินยังใช้สเตลธ์หลบเรดาร์ได้ ยุทโธปกรณ์อย่างอื่นก็ต้องหลบได้เหมือนกันขอให้มีแค่เทคโนโลยีที่ไว้ใจได้ เรือคอร์เวตต์ชั้นวิสบี(Visby class)ของกองทัพเรือสวีเดนคือหัวหอกด้านเรือรบสเตลธ์ ทั้งลำถูกสร้างด้วยคาร์บอนไฟเบอร์แข็งพิเศษชนิดเดียวกับใช้สร้างรถแข่งฟอร์มิวลา วัน เรือรบชั้นวิสบีจึงเบากว่า,เร็วกว่าและใช้น้ำมันน้อยกว่าเรือคอร์เวตต์ทั่วไป รูปพรรณของมันแทบไม่ต่างจากF-117ในแง่ของการออกแบบพื้นผิวให้กระจายคลื่นสะท้อนจากเรดาร์และฉาบด้วยสีดูดซึมคลื่น อาวุธทุกชนิดถูกเก็บในตัวเรือเว้นแต่เวลาจะใช้งานจึงเปิดเป็นช่องพอให้ยิงได้ เรดาร์ของเรือจับเป้าได้ไกล70-100ก.ม.แต่กว่าตัวมันจะถูกข้าศึกตรวจจับได้ก็เข้าใกล้ถึง30ก.ม.แล้ว
ใต้น้ำลงไปเรือดำน้ำชั้นกิโล(Kilo class)ของรัสเซียขึ้นชื่อเรื่องความสเตลธ์ในด้านเสียง ตัวเรือฉาบด้วยยางสองชั้นเพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ ใช้เพลาขับความเร็วต่ำและวางเครื่องบนแท่นรองกันสะเทือนพิเศษเพื่อลดเสียงเล็ดลอดออกมาให้ถูกโซนาร์จับได้ ด้วยคุณสมบัติสเตลธ์ข้อนี้กิโลจึงเป็นเรือดำน้ำพลังไฟฟ้า-ดีเซลที่เงียบที่สุดในโลกไปเรียบร้อย นอกจากเทคโนโลยีลดเสียงที่ใช้ในปัจจุบันแล้ว ยังมีความพยายามจะสร้างเรือดำน้ำให้มี”ผิวหนัง”หรือในทางปฏิบัติคือการทำให้ทั้งลำไร้รอยต่อเสมือนหล่อด้วยวัสดุชิ้นเดียว พัฒนาเครื่องยนต์ให้เดินเงียบกว่าเก่า ไม่ต้องลอยลำขึ้นผิวน้ำเพื่อปล่อยไอเสียและรับอากาศ และปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ให้สั่นไหวน้อยที่สุด เพื่อหลบหลีกการตรวจจับจากโซนาร์
สำหรับการรบภาคพื้นดิน ยานขนส่งเอนกประสงค์MULE(Multifunctional Utility Logistics Equipment)ขนาดยาว15เมตรของสหรัฐกำลังถูกทดสอบอยู่ขณะนี้ ด้วยสีดูดซับคลื่นอินฟราเรดซึ่งกล้องมองกลางคืนและอุปกรณ์ตรวจจับพิเศษอื่นๆส่องไม่พบ พร้อมกันนี้ยังทดลองการใช้สีเพื่อเบี่ยงเบนลำแสงจากเครื่องตรวจจับใดๆได้ ทั้งยังดูดซับความชื้นในอากาศรอบตัวได้ด้วยจนดูเหมือนหยดน้ำเกาะใบไม้เมื่ออากาศชื้น
ในสงครามโลกครั้งที่2เยอรมันคือชาติที่แสวงความได้เปรียบจากสีพรางยุทธยานยนต์มากที่สุด รถถังเช่นไทเกอร์,แพนเธอร์และอื่นๆจะถูกพ่นสีพื้นเช่นน้ำตาลแก่หรือเทาปลอดออกจากโรงงาน เมื่อออกสู่แนวรบทหารจะได้สีพรางพร้อมเครื่องมือเช่นแอร์บรัชและแปรงไปพร้อมตัวรถถัง พบภูมิประเทศแบบใดก็ละเลงสีพรางได้ตามชอบใจไม่ต้องกลัวกล้องจับภาพอินฟราเรด แต่ยุทธยานยนต์ในปัจจุบันจะทำแค่นั้นไม่ได้เมื่อเทคโนโลยีสมัยนี้สูงขึ้นจนจับภาพได้ด้วยความร้อน แม้มีผนังกั้นอยู่ก็ยังเห็น
รถถังในอนาคตจึงต้องเตี้ยเพื่อลดการมองเห็น เครื่องยนต์ต้องเดินเงียบและแทบไร้ควันดำ สีรถต้องดูดกลืนคลื่นเรดาร์และรอดจากการจับภาพด้วยกล้องอินฟราเรด ตีนตะขาบต้องมียางรองพิเศษช่วยให้แล่นได้เงียบกว่า เทคโนโลยีสเตลธ์ยังไปไกลกว่านั้นสำหรับตัวทหารราบ ลองนึกภาพดูเถิดถึงอุปกรณ์ที่ทำให้ทั้งตัวคนและอาวุธกลายเป็นเงาโปร่งใสเพียงแค่ กดสวิทช์บนหมวก ภาพของมนุษย์ต่างดาวจากภาพยนตร์เรื่องพรีเดเตอร์คงไม่เกินจริงในอนาคต เมื่อนักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์อุปกรณ์สร้างม่านสะท้อนภาพจากสภาพแวดล้อมตัวทหาร ได้ในทำนองเดียวกับเครื่องสร้างฉากพลาสมาของเครื่องบิน
เทคโนโลยีสเตลธ์เพื่อให้หน่วยรบและยุทโธปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่าง”ลับ ลวง พราง” จึงเป็นนวัตกรรมทางทหารอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสเป็นจริงได้มากในอนาคต เช่นเดียวกับนวัตกรรมอื่นๆเช่นคอมพิวเตอร์ เรดาร์ อินเตอร์เน็ต ที่คนยุคก่อนไม่เพียงแต่ไม่รู้จักแต่ไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะได้เห็นมันในอนาคต และคุณประโยชน์ของมันยังเผื่อแผ่มายังถึงการใช้งานภาคพลเรือนได้ด้วย

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

ฮัมวี ถึงเวลาต้องทบทวน?



รถยนต์คือพาหนะที่มนุษย์คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นกิจการพลเรือนหรือทหาร โดยเฉพาะการทหารรถยนต์ถูกนำมาใช้คู่กับเกวียนตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่1 ภารกิจของมันโดดเด่นขึ้นในสงครามโลกครั้งที่2เมื่อกองทัพพึ่งพายานยนต์มากขึ้น เคลื่อนที่เร็วกว่าเดิมทั้งในการรุกรบ,ลาดตระเวนหรือล่าถอย นอกจากรถถังที่ทรงพลานุภาพทั้งการทำลายเป้าหมายและข่มขวัญ รถอีกชนิดที่ถูกใช้งานแพร่หลายไม่แพ้กันคือรถใช้งานทางธุรการ โดยเฉพาะในกองทัพสหรัฐฯซึ่งเข้าสู่สงคราม(หรือบางครั้งก็ก่อสงครามเอง)บ่อยๆ
ภาพเจนตาจากข่าวหรือเอกสารอื่นคือทหารราบกับยานยนต์ เริ่มจากจีป”วิลลี่”ในสงครามโลกครั้งที่2และสงครามเกาหลี ตามด้วยฟอร์ดM151รูปร่างหน้าตาคล้ายกันแต่กว้างและต่ำกว่าในสงครามเวียตนาม และปัจจุบันคือHMMWV(High Mobility Multipurposed Wheeled Vehicle รถปฏิบัติการเอนกประสงค์)หรือในชื่อที่คุ้นเคยคือ”ฮัมวี”(Humvee)ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตในอนาคตอันใกล้ เมื่อได้รถแบบใหม่เข้าประจำการแทน
เรื่องราวของฮัมวีเริ่มจากปลายทศวรรษ1970 หลังสหรัฐฯถอนตัวจากเวียตนามและทุกเหล่าทัพต้องการยานยนต์ใช้งานทางธุรการหลังแนวรบมาทดแทนฟอร์ดM151เดิม เน้นหนักที่กองทัพบกซึ่งเป็นกองกำลังหลัก เพราะรูปแบบของสงครามหลังจากนั้น รถยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิมในฐานะรถธุรการเอนกประสงค์ โครงสร้างต้องแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพภูมิประเทศอันทารุณ นอกจากใช้เพื่อธุรการและส่งกำลังบำรุงหลังแนวแล้วยังใช้เป็นฐานอาวุธได้ด้วย ทั้งปืนกล,เครื่องยิงลูกระเบิดและเครื่องยิงจรวด เมื่อกองทัพบกสหรัฐฯวางข้อกำหนดยานยนต์ชนิดใหม่ขึ้นในปี1979พร้อมกับชื่อใหม่ว่า High Mobility Multipurposed Wheeled Vehicle ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน บริษัทเอเอ็ม เจเนอรัลจึงเริ่มออกแบบรถยนต์ให้เข้ากับข้อกำหนดนั้น ในระยะไม่ถึงปีก็ได้M998ส่งเข้าทดสอบแข่งขัน
การทดสอบสมรรถนะและพัฒนาแผนแบบดำเนินไปจนถึงปี1981 เอเอ็ม เจเนอรัลชนะประมูลจึงได้สัญญาจากกองทัพบก ให้พัฒนารถต้นแบบและทดสอบจนกว่าจะได้ข้อยุติก่อนส่งมอบให้ใช้งานจริง กิจการทุกอย่างดำเนินมาจนสำเร็จได้สัญญาให้ผลิต”ฮัมวี”รุ่นแรกจำนวน55,000คัน ส่งมอบได้ในปี1985 เข้าสู่สงครามเป็นครั้งแรกในยุทธการ”จัสต์ คอส”เมื่อสหรัฐฯรุกรานปานามาปี1989 หลังจากนั้นมันได้เข้าแทนที่รถเดิมซึ่งเล็กกว่า ในกองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตรทั่วโลก เป็นกระดูกสันหลังของทหารราบและทหารม้ายานเกราะ เช่นเดียวกับ”จีป วิลลี่”และฟอร์ด M151ม้าใช้รุ่นพี่ เป็นภาพเจนตาชาวโลกจากสงครามอ่าวครั้งแรกในปี1991 ในปฏิบัติการอันล้มเหลวของสหรัฐฯ”แบล็คฮอว์กดาวน์”ปี1993 และสงครามอ่าวครั้งที่2”อิรักเสรี”ในปี2003ถึงปัจจุบัน
แม้จะถูกติดปืนหรือเครื่องยิงจรวดบนหลังคา แต่แท้จริงแล้วฮัมวีไม่ใช่รถรบหุ้มเกราะเช่นรถถังหรือรถหุ้มเกราะล้อยาง วัตถุประสงค์แท้ๆดั้งเดิมของมันคือเป็นรถน้ำหนักเบาใช้งานทางธุรการหลังแนวรบ ด้วยวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากยานยนต์รุ่นพี่ดังกล่าว ไม่มีเกราะหรืออุปกรณ์ป้องกันพลประจำรถจากสงครามนิวเคลียร์-เคมี-ชีวภาพ ใช้ปืนเล็กยาวอย่างM16หรือAK47ยิงก็เข้า แต่เพราะความทนทานต่อภูมิประเทศกันดารเป็นเลิศ อัตราการสูญเสียจึงน้อยมากแม้ในสภาพแวดล้อมสุดโหดของทะเลทราย มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่พรั่น เกาะติดและสนับสนุนการรบได้ทุกหนแห่ง
การใช้งานในที่กว้างอย่างทะเลทรายไม่มีปัญหา แต่ความสูญเสียกลับสูงเมื่อเข้ามารบในเมือง ตัวอย่างชัดเจนคือเหตุการณ์”แบล็คฮอว์กดาวน์”ที่กรุงโมกาดิสชูเมืองหลวงของโซมาเลีย เมื่อขบวนฮัมวีถูกบีบให้วิ่งผ่านย่านเมืองเต็มไปด้วยจุดซุ่มโจมตี เมื่อมันไม่หุ้มเกราะจึงเสียหายหนักจากคมกระสุนและเครื่องยิงจรวด(RPG) แต่ด้วยความแข็งแกร่งของช่วงล่างจึงเอาตัวรอดมาได้ แม้จะไม่มีเกราะและป้องกันอะไรไม่ได้ แต่แนวโน้มสงครามในปัจจุบันที่เกิดในเมืองมากขึ้นทำให้ฮัมวีถูกนำมาใช้ในรูปแบบนี้บ่อย ทั้งที่แท้จริงแล้วมันไม่ได้เกิดมาเพื่อรบเช่นยานเกราะของทหารราบเลย
หลังจากเหตุการณ์ในโมกาดิสชูและการทำสงครามในเมืองที่นับวันจะถี่ขึ้น กองทัพจึงเร่งปรับปรุงฮัมวีให้ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กและปืนกลได้ ฮัมวีรุ่นปรับปรุงมีรหัสเป็นทางการว่าM1114คันแรกออกจากสายการผลิตในปี1996 ถูกใช้งานระยะสั้นๆในแหลมบอลข่านก่อนจะใช้อย่างจริงจังในทะเลทรายตะวันออกกลาง ฮัมวีหุ้มเกราะเหนือกว่าM998เดิมด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จ ระบบปรับอากาศใหม่ เสริมความแข็งแกร่งช่วงล่าง ติดเครื่องปรับอากาศ ยิ่งกว่านั้นคือเสริมเกราะให้หนาขึ้นด้วยในส่วนที่นั่งและกระจกกันกระสุน แม้จะปลอดภัยกว่าเดิมจากกระสุนปืนเล็กแต่ข้อเสียคือน้ำหนักมากขึ้น พลประจำรถเจ็บหรือตายหนักกว่าเดิมเมื่อรถเสียศูนย์แหกโค้ง ตามรายงานของกองทัพบกสหรัฐฯในอิรักที่เผยแพร่เมื่อปี2005 หลังจากรับฮัมวีหุ้มเกราะไปใช้ได้ระยะหนึ่ง น้ำหนักเกราะที่มากขึ้นอีกเกือบตันทำให้ซดน้ำมันหนัก แม้จะเสริมความแข็งแรงแล้วแต่ชิ้นส่วนที่รับน้ำหนักก็ยังสึกหรอเร็ว
ปัญหาของกองทัพสหรัฐฯในอิรักคือถูกบีบให้รบในเมือง เจตจำนงดั้งเดิมของมันคือใช้งานหลังแนวรบ เพื่อสังเกตการณ์หรือลาดตระเวนหาข่าวความเร็วสูง ติดอาวุธไว้เพียงเพื่อป้องกันตัว ถึงจะปลอดภัยกว่าจีปเดิมแต่ด้วยสภาพสงครามรบเต็มพื้นที่แบบไร้แนวรบของอิรัก การเอาฮัมวีติดปืนกล.50คาลิเบอร์จึงไม่แตกต่างจากเอาทหารไปขับรถล่อเป้าวัดดวงกับกระสุนและระเบิดแสวงเครื่อง
ช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันจึงมีเสียงวิพากษ์ว่ามันถูกใช้งานหลากหลายเกินพอดี ส่วนใหญ่เป็นภารกิจเสี่ยงที่ต้องปกป้องทหารให้มากกว่านี้ ควรจะใช้ยานยนต์ที่ปลอดภัยกว่าให้มากขึ้น เช่นรถเกราะล้อยาง”สไตรเกอร์”,รถเกราะสายพานลำเลียงพล”แบรดลีย์”หรือแม้แต่รถถังหลักM1”เอบรัมส์” อีกแนวความคิดหนึ่งคือเปลี่ยนจากฮัมวีเป็น”รถเกราะป้องกันทุ่นระเบิด”(Mine Resistant Ambush Protected MRAP) เสริมเกราะหนาและกระจกกันกระสุน หน้าตัดท้องรถเป็นรูปตัวVเพื่อเบี่ยงเบนแรงระเบิด
ที่เป็นไปได้มากที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ คือจะมีรถรบพันธุ์ใหม่มาแทนฮัมวีในรูป”รถปฏิบัติการร่วมเบา”(Joint Light Tactical Vehicle JLTV)เพื่อให้เข้ากับการสู้รบปัจจุบันและอนาคต เมื่อยุทธวิธีเปลี่ยนไปยานรบก็ต้องเปลี่ยนตาม คุณสมบัติของJLTVตามที่กองทัพสหรัฐฯวางไว้คือต้องปกป้องทหารได้จากสะเก็ดระเบิด,ต่อต้านแรงอัดจากระเบิดแสวงเครื่อง(IED) มีอุปกรณ์ช่วยรบเป็นเครือข่าย อัตราการอยู่รอดในสนามรบสูง น้ำหนักต้องเบากว่า7ตันครึ่งเพื่อสะดวกแก่การลำเลียงด้วยเครื่องบิน แล่นได้อีกไกลแม้ระบบหล่อเย็นเสียหาย เข้า-ออกได้ง่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
เมื่อหันมามองกองทัพของเรา 1ใน36ชาติทั่วโลกที่มีฮัมวีประจำการ หากพิจารณาถึงความเหมาะสมทางยุทธวิธี,ภูมิประเทศและเศรษฐกิจ จะพบว่ารถแบบเดียวกันแต่มีความแตกต่างในองค์ประกอบแวดล้อมหลายอย่าง สำคัญที่สุดคือชาติเราไม่ได้ร่ำรวยพอจะปรนนิบัติบำรุงยานรบให้ได้ตามข้อกำหนดจากโรงงานเช่นสหรัฐฯ ด้วยเครื่องยนต์8สูบความจุถึง6,500ซีซี.นั้น ถึงจะใช้น้ำมันดีเซลแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ใช่แค่”กิน”น้ำมัน ฮัมวีแทบจะยกถังน้ำมัน”อาบ”กันเลยโดยเฉพาะเมื่อเข้าภูมิประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องมิติที่กว้างถึง2เมตรครึ่ง เปรียบเทียบแล้วเห็นได้ชัดว่ากว้างกว่ารถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้ออื่นๆ เมื่อเข้าทางซอยในชนบทจึงกินพื้นที่ถนนมากกว่าครึ่ง

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

พลซุ่มยิง...” 1นัด 1ชีวิต “



ในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรใกล้กลับเมืองไทย มีข่าวจริงบ้างไม่จริงบ้างหลายกระแสเกี่ยวกับท่านทั้งดีและไม่ดี ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือการจัดหา”ปืนซุ่มยิง”จำนวนหนึ่งโดยนายทหารระดับสูง ที่โยงใยไปถึงหน่วยรบพิเศษของกองทัพบก เป็นทำนองว่าจะใช้ปืนพิเศษนี้เพื่อต้อนรับใครหรือเปล่า หรือการจัดหายุทธภัณฑ์ชนิดนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างอื่น นั่นคือจุดที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับคำว่า”ซุ่มยิง” เลยไปถึงผู้ใช้อาวุธหรือ”พลซุ่มยิง”ที่เราคุ้นเคยกันกับชื่อภาษาอังกฤษว่า”sniper”ซึ่งมีอยู่ในเหล่าทัพของทุกชาติ
“พลซุ่มยิง”ซึ่งเรียกชื่อตามภารกิจ ก็คือทหารราบผู้ชำนาญการใช้อาวุธยิงทำลายเป้าหมายจากตำแหน่งซุ่มซ่อน ด้วยระยะไกลเป็นพิเศษเกินความคาดหมายหรือระยะตรวจการณ์ของฝ่ายตรงข้าม และต้องกระทำด้วยอาวุธพิเศษเฉพาะภารกิจคือ”ปืนซุ่มยิง”(sniper rifle) ประกอบกล้องเล็งและกระสุนที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อการทำลายเป้าหมายจากระยะไกลเท่านั้น จะไกลได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักๆทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาแล้วคือคน ปืน กล้องเล็งและกระสุน
กองทัพของแต่ละประเทศจะกำหนดภารกิจให้พลซุ่มยิง ตามแต่หลักนิยมในการป้องกันประเทศของประเทศนั้นๆ โดยส่วนใหญ่หน้าที่หลักของพลซุ่มยิงคือการลาดตระเวนหาข่าวจากตำแหน่งซุ่มซ่อน และถ้าจำเป็นก็ให้ลดความสามารถสู้รบของฝ่ายตรงข้ามได้ ด้วยการทำลายเป้าหมายสำคัญๆโดยเฉพาะเป้าหมายบุคคลหลักๆเช่นนายทหารผู้คุมกำลัง ผู้สั่งการระดับสูงสุดเช่นผู้นำหมู่บ้าน หรือเจ้าของเครือข่ายค้ายาเสพติด ฯลฯ
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพลซุ่มยิงมีตำแหน่งแห่งที่ในกองทัพตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่สันนิษฐานได้คือโลกน่าจะรู้จักพลซุ่มยิงตั้งแต่มนุษย์รู้จักรบกันด้วยอาวุธยิง อย่างธนูหรือปืนคาบสิลาในระยะแรก เมื่อมีกระสุนดินดำใช้กับปืนระบบคัดปลอกและเกลียวลำกล้อง การซุ่มยิงก็ทวีความสำคัญขึ้นเพราะผลของปฏิบัติการสามารถทำลายขวัญและกำลังใจข้าศึกได้สูง ด้วยกระสุนเพียงไม่กี่นัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลของการรบได้ สร้างผลกระทบทางจิตวิทยาได้สูงต่อลูกแถวเมื่อนายทหารถูกยิง กองกำลังต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือลดความเร็วในการเคลื่อนที่เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพล ทำให้หน่วยของพลซุ่มยิงมีเวลาดำเนินกลยุทธ์อื่นใดหรือมีเวลาพอเพื่อตระเตรียมความพร้อมในการล่าถอย
ตามปกติพลซุ่มยิงในกองทัพจะปฏิบัติงานเป็นคู่ ทหารหนึ่งนายเป็นพลซุ่มยิงและอีกนายเป็นพลชี้เป้าคอยส่องกล้องหาเป้าสับเปลี่ยนหน้าที่กันในเวลาที่กำหนด เพื่อลดความอ่อนล้าสายตาจากการจ้องจับเป้าหมายนานๆด้วยกล้องเล็ง สำหรับกองทัพของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรซึ่งใช้พลซุ่มยิงอย่างแพร่หลาย ภารกิจส่วนใหญ่คือการลาดตระเวนและสอดแนม ต่อต้านการซุ่มยิงของฝ่ายตรงข้าม สังหารนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา และแม้แต่ทำลายเป้าหมายอาคารหรืออุปกรณ์สื่อสารสำคัญ
พลซุ่มยิงของกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯ สร้างผลงานได้ผลยอดเยี่ยมมาแล้วช่วงก่อนเปิดฉากสงครามอ่าวทั้งสองครั้ง ด้วยการเร้นกายเข้าทำลายระบบสื่อสารของอิรักด้วยปืนซุ่มยิงขนาดหนัก ใช้กระสุนขนาด.50นิ้ว(ขนาดเดียวกับที่ใช้ในปืนกลบราวนิ่ง .50 คาลิเบอร์) ยิงจากปืนซุ่มยิงหลากแบบ เช่นTAC-50 แมคมิลแลน,บาร์เร็ตต์ M82 ระยะสังหารไกลที่สุดเท่าที่เคยบันทึกคือ 2,430 เมตรจากฝีมือของสิบโทร็อบ เฟอร์ลองจากกรมทหารราบเบาพรินเซส แพทริเชียของคานาดา ช่วงบ่ายวันหนึ่งของเดือนมีนาคม 2002 ในอาฟกานิสถาน ด้วยกระสุนฮอร์นาดี A-MAXเวรี่ โลว์ แดร็กหนัก750เกรน ขนาด.50คาลิเบอร์จากปืนซุ่มยิง TAC-50 แมคมิลแลนด์
แม้เทคโนโลยีการสร้างปืนยุคปัจจุบันจะทำให้พลซุ่มยิงทำงานง่ายขึ้น ยิงได้ไกลขึ้น แต่ทหารหน้าที่พิเศษนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์เอาไว้มากในสงครามใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมา พลซุ่มยิงฝรั่งเศสคือผู้เขียนประวัติหน้าสุดท้ายของพลเรือโทโฮเรชิโอ เนลสันแห่งราชนาวีอังกฤษ ครั้งทำสงครามทางทะเลกับกองทัพนโปเลียน เยอรมันนำพลซุ่มยิงมาใช้งานได้ประโยชน์สูงสุดในแนวสนามเพลาะของสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยการแจกกล้องเล็งประกอบปืนให้ทหารมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่สงคราม เพียงฝ่ายตรงข้ามยื่นมือพ้นแนวหลุมเพลาะเท่านั้น เขาจะตกเป็นเหยื่อกระสุนจากทหารเยอรมันทันที เริ่มแรกทั้งฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสต่างคิดว่าความแม่นของเยอรมันเป็นความบังเอิญ จนกระทั่งยึดกล้องเล็งได้พร้อมปืนความจริงอันน่าหวาดหวั่นจึงปรากฏ
ชื่อเสียงพลซุ่มยิงเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นที่เลื่องลือ ส่วนหนึ่งมาจากความแม่นที่ได้จากเลนส์กล้อง เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าอุตสาหกรรมผลิตเลนส์ของเยอรมันเป็นที่1ของโลก ไม่มีใครไม่รู้จักเลนส์จากบริษัทคาร์ล ไซส์แห่งเมืองเยนา(Jena) พอรู้ว่าเยอรมันไปได้สวยกับพลซุ่มยิง อังกฤษก็เริ่มฝึกพลซุ่มยิงฝ่ายตนบ้างเพื่อลดความเสียเปรียบระหว่างฝ่ายตนกับเยอรมัน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีเดียวกันคือออกทำงานเป็นทีมพลซุ่มยิงและพลชี้เป้าทีละสองคน จะมีแต่แนวรบด้านตะวันออกที่ประจันหน้ากับรัสเซียที่เยอรมันเด็ดชีพข้าศึกได้คล่อง เพราะขณะนั้นรัสเซียยังไม่ให้ความสำคัญกับพลซุ่มยิงเป็นเรื่องเป็นราว
พลซุ่มยิงได้ออกศึกใหญ่อีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 พลซุ่มยิงอังกฤษผู้ซ่อนตัวในที่มั่นมิดชิดสามารถหน่วงเวลากองทัพเยอรมันผู้ไล่ขยี้ได้จนมีเวลาอพยพจากดันเคิร์ก ผลงานนี้ทำให้อังกฤษหันมาพัฒนากิจการซุ่มยิงเป็นการใหญ่ กระนั้นก็ยังจำกัดอยู่ให้เป็นภารกิจของนายทหารสัญญาบัตรและชั้นประทวน ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับคู่สงครามอย่างเยอรมันซึ่งไม่จำกัดชั้นยศของผู้สมัครเป็นพลซุ่มยิง ทั้งที่เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ความต่อเนื่องในการพัฒนาพลซุ่มยิงของเยอรมันไม่ได้ลดหย่อนลงเลย พลซุ่มยิงเยอรมันสร้างผลงานเด่นๆหลายครั้งระหว่างสงครามกลางเมืองสเปนและในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเยอรมันรุกรานโซเวียต สงครามระหว่างพลซุ่มยิงของทั้งสองชาติรุนแรงยิ่งขึ้น สมรภูมิสตาลินกราดคือพื้นที่ห้ำหั่นระหว่างพลซุ่มยิงโดยแท้ เมื่ออาคารใหญ่ๆในเมืองถูกปืนใหญ่และระเบิดของเยอรมันทำลายจนเหลือแต่ซาก ทหารรบกันทุกที่ตั้งแต่ในอาคารบนท้องถนนจนถึงท่อระบายน้ำ ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสังหารเป้าหมายด้วยปืนซุ่มยิงจากซอกเล็กหลืบน้อยของอาคาร
รัสเซียดูเหมือนจะได้เปรียบเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับที่คุ้นเคยดีกับชัยภูมิของตน พลซุ่มยิงรัสเซียทั้งบุรุษและสตรีสังหารนายทหารเยอรมันได้มาก วาสิลี ซาอิเซฟ ผู้ใช้ปืนเล็กยาวโมซิน-นากันต์ปลิดชีพข้าศึกได้นับร้อย ได้รับความสำคัญจนถูกยกเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ จนฝ่ายเยอรมันต้องส่งพันตรี(เอส.เอส.)ไฮนซ์ ธอร์วัลด์พลซุ่มยิงชั้นครูจากโรงเรียนฝึกพลซุ่มยิงเมืองซอสเซนมาปราบ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหารฝ่ายตนกลับคืน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าต้องเสียทีให้ซาอิเซฟแห่งกองทัพแดง (ดังเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Enemy at the Gate และหนังสือชื่อเดียวกัน) ปืนคาร์ 98Kของเขาที่ถูกยึดได้ยังตั้งแสดงอยู่ในกรุงมอสโก
ฝ่ายสหรัฐฯเองก็ใช้พลซุ่มยิงอย่างกว้างขวางไม่แพ้เยอรมันและอังกฤษ พลซุ่มยิงกองทัพสหรัฐฯทำงานได้ผลทั้งในสมรภูมิอาฟริกาเหนือ ฝรั่งเศส และใช้ต่อต้านการซุ่มยิงของเยอรมันในช่วงรุกเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน
ปัจจุบันกิจการนี้ยังถูกพัฒนาไม่หยุดยั้งทั้งยุทธวิธีและยุทโธปกรณ์ ปืนซุ่มยิงถูกพัฒนาให้เบา แรงรีคอยล์น้อย ใช้ระบบลำกล้องลอย(free float barrel)เพื่อทวีความแม่น ที่ใดที่ทหารสามารถซุ่มซ่อนตัวเองได้แนบเนียน ดัดแปลงภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อตนได้มากที่สุด ที่นั่นย่อมมีพลซุ่มยิง
นอกจากกองทัพที่ต้องใช้ทหารหน้าที่พิเศษนี้ ตำรวจก็ต้องพึ่งพาพลซุ่มยิงเช่นกันโดยจะถูกบรรจุไว้ในอัตราของหน่วยปฏิบัติการพิเศษSWAT(Special Weapons And Tactics) ประกอบทีมเช่นเดียวกับทหารคือ1พลซุ่มยิงกับ 1พลชี้เป้าทำหน้าที่สลับกัน เพื่อเป็นคำตอบสุดท้ายเมื่อการเจรจาล้มเหลวและการส่งทีมจู่โจมเข้าที่หมายดูจะปลอดภัยน้อยกว่า
เมื่อพิจารณาจากภารกิจ พลซุ่มยิงคือทหารที่แตกต่างจากหน่วยรบปกติ เป็นหน้าที่พิเศษจริงๆซึ่งไม่อาจเป็นกันได้ทุกคน เขาสามารถปฏิบัติการได้ทั้งเดี่ยวและเป็นทีม ต้องมีความอดทนสูงสุด นอนแช่ปลักหรือหมอบซุ่มท่ามกลางแสงแดดแผดเผาได้เป็นวัน เคลื่อนที่ได้ช้าและแนบเนียน ดัดแปลงสิ่งต่างๆในภูมิประเทศเพื่อการซ่อนพรางได้เก่ง ใจเย็น รอบคอบและละเอียดละออเมื่อต้องเลือกอาวุธ กระสุน ที่ตั้ง ต้องยิงแล้วทำลายเป้าหมายให้ได้ในนัดเดียว ต้องฆ่าให้ตายด้วยกระสุนนัดนั้น เพราะนัดต่อไปอาจไม่มีโอกาสหากฝ่ายตรงข้ามรู้ที่ซ่อน
เมื่อกระสุนนัดเดียวเปลี่ยนสถานการณ์ในสนามรบได้ มันย่อมเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองได้เช่นกันเมื่อถูกนำมาใช้กับผู้นำประเทศหรือศัตรูทางการเมือง ราฟาเอล ทรูจิลโลผู้นำเผด็จการแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน อเมริกากลาง เสียชีวิตจากการซุ่มยิงเมื่อปี 1961 ด้วยปืนจากการจัดหาโดยซีไอเอ เมื่อทำท่าว่าจะขวางหูขวางตารัฐบาลสหรัฐฯขณะนั้น
กระสุนนัดเดียว(แต่พุ่งมาจากหลายที่)เช่นกัน ที่ปลิดชีวิตอดีตประธานาธิบดีคนที่35ของสหรัฐฯ จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ในวันที่ 22พฤศจิกายน 1963 ด้วยหัวกระสุนขนาด 6.5 ม.ม.หนัก160 เกรนจากปืนเล็กยาวแมนลิเคอร์-คาร์คาโนติดกล้องเล็งของลี ฮาร์วี ออสวอลด์ หนุ่มสติเฟื่องที่ไปยืนอยู่ในอาคารเท็กซัส สกูล บุค ดีโพซิทอรี่ในบริเวณดีลีย์พลาซา ดัลลัส เท็กซัส แต่ภายหลังปรากฏหลักฐานว่ากระสุนสังหารนัดสำคัญที่ระเบิดสมองท่านประธานาธิบดีกระจุยนั้นไม่ได้มาจากแหล่งเดียว ภาพยนตร์ที่พยานถ่ายไว้นั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมี”พลซุ่มยิง”วางตัวอยู่อีกอย่างน้อยก็สองที่ คือที่อาคารเดียวกันชั้นต่ำลงมา และบริเวณเนินหญ้าตรงจุดที่รถเลี้ยวแล้วเหยื่อหันข้างศีรษะให้เห็นชัดๆ
ไม่ว่ากระสุนนั้นจะเป็นฝีมือของออสวอลด์จริงๆ หรือมีใครการลงขันจ้างมือซุ่มยิงเป็นทีม การเสียชีวิตของเคนเนดี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปทั้งโลก เมื่อลินดอน เบนส์ จอห์นสันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีแล้วส่งเด็กหนุ่มอเมริกันนับแสนเข้าสู่สงครามเวียตนาม รบต่อกันมานานนับสิบปี ทหารอเมริกันเสียชีวิตเกือบหกหมื่น บาดเจ็บพิการนับแสน ชาวเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตเป็นล้านก่อนรวมประเทศ
การซุ่มยิงจึงยังเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลตลอดกาล ความเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากปฏิบัติการนั้นมากมายจนยากจะละเลย กองทัพของทุกประเทศจึงมีพลซุ่มยิงประจำการ มีหลักสูตรเข้มข้นเพื่อคัดสรรผู้สมัครรับการฝึก เพื่อเค้นเอาหัวกะทิจริงๆมาทำหน้าที่ที่พลาดไม่ได้นี้
เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพระมหาษัตริย์ของเราในอดีตก็ทรงทำหน้านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงใช้พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงยิงมังสุรกรรมา แม่ทัพพม่าที่ยกพลตามบดขยี้ตกช้างตายด้วยกระสุนนัดเดียวจนหยุดการรุกไล่ กระนั้นการสังหารนักการเมืองจากระยะไกลด้วยปืนซุ่มยิงก็ยังไม่เคยมีประวัติ และขออย่าให้มีเลย ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะเลวแค่ไหน ดูเหมือนว่าปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษยังจะดีเสียกว่า

สงครามเครือข่าย รูปแบบของสงครามยุคอินเตอร์เน็ต



โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีง่ายๆและกว้างขวางทำให้โลกแคบลง คนอยู่กรุงเทพฯสามารถคุยกับเพื่อนในลอนดอนได้ด้วยอินเตอร์เน็ต มองเห็นหน้ากันได้ด้วยเว็บแคมราคาไม่กี่ร้อยบาท เทคโนโลยีนับวันจะมีแต่ราคาถูกลง คอมพิวเตอร์ราคาเหยียบแสนเมื่อสิบกว่าปีก่อนเหลือราคาแค่หมื่นกว่าในปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำงานได้สารพัดทั้งใช้ติดต่อ,เก็บข้อมูลและถ่ายรูปได้มีขายเกือบทุกสี่แยก ทั้งเครื่องรับสัญญาณ GPS และอุปกรณ์สื่อสารอีกหลากชนิดล้วนเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ง่าย ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชังว่าใครซื้อได้หรือห้ามใครซื้อ
ใครๆก็เข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหรือ”ไอที”(Information Yechnology)ได้ถ้ามีเงินและรู้แหล่ง และเทคโนโลยีนี้เช่นกันที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือใช้ทำสงครามก่อการร้ายในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน ปี 2001 เมื่อผู้ก่อการร้ายจากอัล กออิดะของโอซามา บิน ลาเดนได้ใช้เครื่องบินโดยสารโจมตีสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯอย่างเหนือความคาดหมาย ก่อความเสียหายได้มหาศาล และกว้างกว่าเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ต้นสงครามโลกครั้งที่ 2
ถ้าใครคิดว่าอัล กออิดะห์จะเป็นแค่กองกำลังซำเหมาที่ใช้เป็นแต่ปืนอาก้ากับระเบิดแสวงเครื่องโลว์-เทค ผิดถนัด เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นกองทัพที่จัดได้ว่าทันสมัย รายงานของซีไอเอระบุรายละเอียดขององค์กรกึ่งทหารนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าเป็นกองกำลังที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ต่างจากบริษัทไอทีใหญ่ๆอย่างไอบีเอ็ม เป็นรูปร่างขึ้นด้วยมันสมองและทุนของบิน ลาเดนผู้มีดีกรีเป็นถึงวิศวกร ลูกชายเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหญ่แห่งซาอุดิอาเรเบีย ผู้ทำงานระดับบริหารขององค์กรส่วนใหญ่เป็นชายชั้นกลางมีการศึกษาดี
การดักสกัดข่าวสารของอัล กออิดะห์ทำได้ยากเพราะรู้เท่าทันเทคโนโลยีไม่ต่างจากอเมริกัน เสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยได้ ก่อนสื่อจะแพร่ข่าวว่าฝ่ายอเมริกันดักฟังคลื่นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมที่บิน ลาเดนโทรหาแม่ในซาอุดิ อาเรเบียด้วยซ้ำ ลูกน้องบิน ลาเดนในยุโรปและอเมริกาใช้อี-เมลสื่อสารกันจากทุกแห่ง ไม่ว่าจะในบ้าน,ไซเบอร์คาเฟ่หรือห้องสมุดและทุกที่ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ใช้ไฟล์เข้ารหัสเพื่อสื่อสารข้อมูลสำคัญและใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นานแค่หนึ่งหรือสองสัปดาห์ ก่อนโยนทิ้งแล้วซื้อใหม่โดยฝ่ายปราบปรามไม่ทันตะครุบ
พวกนี้รู้ว่าข้อมูลข่าวสารที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกมีปริมาณมากขึ้นเท่าทวีคุณในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หมกข้อมูลได้ทุกซอกหลืบของระบบโดยฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ กว่าจะรู้ก็ปฏิบัติการได้บรรลุผลไปแล้ว อินเตอร์เน็ตที่กองทัพสหรัฐฯคิดค้นขึ้นมาได้กลายเครื่องมือประสานงานของนักรบกลุ่มนี้ ก่อนรวมกำลังเข้าโจมตี
เป้าหมายทางทหารและพลเรือนต่างถูกดาวน์โหลดเก็บไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นสะพาน,อาคารสถานที่ ทุกสิ่งที่ต้องการมีหมดในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแห่งที่ แผนผังอาคารหรือแม้แต่ความสูง !
เมื่อเทคโนโลยีไอทีเป็นสิ่งหาง่าย ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายก่อการร้ายจึงเข้าถึงและนำมาใช้งานได้เหมือนกัน แม้จะแตกต่างกันในอาวุธ,ลักษณะทางกายภาพและการแต่งกาย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีเดียวกัน เปรียบเทียบได้พอสังเขปดังนี้
ทั้งฝ่ายอเมริกันและบิน ลาเดนติดต่อนักรบของตนด้วยระบบสื่อสารเข้ารหัส ใช้เครื่องมือหลากหลายทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่,ดาวเทียม,ไฟเบอร์ออพติก,เสียง,แฟกซ์และอินเตอร์เน็ต
ต่างใช้ทีมเล็กๆแทรกซึมเข้าในดินแดนของข้าศึก อเมริกันมีหน่วยรบพิเศษปฏิบัติงานในเทือกเขาใหญ่น้อยของอาฟกานิสถาน อัล กออิดะห์ก็มีนักรบของตนแทรกซึมอยู่ในนิวยอร์กและหลายแห่งของสหรัฐฯ ในคราบนักศึกษา,นักธุรกิจและอื่นๆ
ผู้นำทหารไม่จำเป็นต้องไปบัญชาการที่ส่วนหน้า ต่างสามารถบัญชาการและควบคุมปฏิบัติการได้จากที่มั่นของตน ฝ่ายอเมริกันสั่งการได้จากส่วนบัญชาการในแทมปา รัฐฟลอริดา ขณะบิน ลาเดนสั่งการจากถ้ำในโทรา โบรา อาฟกานิสถาน
ทั้งสองฝ่ายใช้เครื่องบินขนาดใหญ่บินถล่มเป้าหมายสำคัญ อเมริกันใช้ระเบิด BLU-82”เดซี่ คัตเตอร์”ขนาด 12,600 ปอนด์ทิ้งจากเครื่องบินถล่มที่มั่นของอัล กออิดะห์ได้ ลูกน้องบิน ลาเดนก็ใช้เครื่องบินโดยสารยูไนเต็ด แอร์ไลน์ขนน้ำมันเครื่องบินหนัก 10,000 ปอนด์ถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ได้ไม่แตกต่าง
ผู้นำต่างหลบลงที่มั่นใต้ดินเมื่อถูกโจมตีโดยตรง บิน ลาเดนหลบในอุโมงค์ลึกใต้เทือกเขา ดิค เชนีย์รองประธานาธิบดีสหรัฐฯก็หลบในที่มั่นใต้ดินที่เตรียมไว้แล้ว
ใช้สงครามจิตวิทยารูปแบบเดียวกัน บิน ลาเดนแสดงตัวจากที่มั่นปกปิดเป็นครั้งคราวเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจนักรบ ขณะดิค เชนีย์ก็ทำเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวอเมริกันจากที่มั่นปกปิดในสหรัฐฯ
ประเด็นคือเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นหาง่าย จนบีบให้ทั้งผู้ก่อการร้ายและฝ่ายปราบปรามจำต้องใช้ยุทธวิธีเดียวกัน ใช้ให้เป็นมันจะกลายเป็นอาวุธร้ายแรงชนิดคาดไม่ถึง ประเทศห่างไกลความเจริญไหนๆก็สามารถก่อการใหญ่สั่นคลอนประเทศมหาอำนาจได้ เทคโนโลยีที่อันร่นระยะทางและเวลาการติดต่อสื่อสารนี้เอง ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่ หากแต่เป็นกองกำลังขนาดย่อยที่เชื่อมต่อกันด้วยการสื่อสารแบบเครือข่าย เมื่อเห็นจุดอ่อนสำคัญของศัตรูก็จะใช้เครือข่ายนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อรวมตัวเข้า”รุม”ต่อตี ส่งผลกระทบรุนแรงเกินความคาดหมาย ด้วยคุณสมบัติเด่นๆของเครือข่าย 3 ประการ
ข้อแรก ประกอบด้วยหน่วยงานเล็กๆหรือ”เซล”ที่สื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา สามารถทำงานได้เป็นอิสระให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ทุกหน่วยจะติดต่อกันและกันตลอดเวลาโดยหาประโยชน์ให้มากที่สุดจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ฝังตัว
ข้อที่สอง แต่ละหน่วยย่อยจะติดอาวุธร้ายแรง เป็นได้ทั้งอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงแบบที่ใช้ในกองทัพ ทั้งอาวุธเคมี,ชีวภาพหรือนิวเคลียร์ถ้าหาได้ หรือเป็นอาวุธเหนือความคาดหมายอย่างที่อัล กออิดะห์ใช้คือเครื่องบินโดยสาร,ระเบิดซ่อนในรถบรรทุกหรือแพยางบรรทุกระเบิด(ในกรณีเรือรบยู.เอส.เอส.โคลของสหรัฐฯโดนถล่ม) ในอนาคตอาวุธที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งระเบิดหุ่นยนต์หรือเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุบรรทุกระเบิด เลียนแบบอากาศยานไร้นักบิน”พรีเดเตอร์”ของสหรัฐฯ และ...
ข้อสุดท้าย หน่วยย่อยเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายการสื่อสารเข้ารหัส ประสานงานได้ทั้งการส่งกำลังบำรุงและการบัญชาการ-ควบคุม ระบบดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งระบบการสื่อสารแบบทหารหรือแบบพลเรือนที่หาซื้อได้ตามห้างร้านทั่วไป วอยซ์เมลบ็อกซ์,อี-เมล,แฟกซ์,ธัมป์ไดรฟ์หรืออะไรก็ตามที่ใช้ส่งผ่านข้อมูลได้ ด้วยความคล่องตัวเหลือเชื่อโดยไม่ต้องผ่านศูนย์บัญชาการ
เครือข่ายต่อสู้จึงหลากหลาย เป็นได้ตั้งแต่กลุ่มนักรบแค่สอง-สามคนถึงกองกำลังเฉพาะกิจจำนวนนับพัน ระบบไอทีช่วยให้ขอบข่ายการปฏิบัติงานยืดหยุ่น เป็นได้ทั้งระยะแค่แยกถนนจนกว้างถึงคนละมุมโลก ใช้อาวุธได้ไม่จำกัดตั้งแต่ระเบิดแสวงเครื่องไปจนถึงอาวุธอานุภาพสูงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เครือข่ายทรงประสิทธิภาพย่อมสร้างความเสียหายต่อเป้าหมายได้มหาศาล
จะเรียกวิธีการใช้เทคโนโลยีไอทีของอัล กออิดะห์ว่าอย่างไรก็ตาม ผลงานของบิน ลาเดนนับเป็นของใหม่และเป็นก้าวสำคัญ ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน มันง่าย ลงทุนต่ำแต่ได้ผลมหาศาลในการทำลายล้างทั้งทรัพย์สินรวมถึงขวัญและกำลังใจของชาวอเมริกัน
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 พิจารณาตัวเลขให้ดีจะพบว่าอัล กออิดะห์ตีแสกหน้าอเมริกันสำเร็จ แม้จะไม่ทำให้สหรัฐฯเลิกยุ่งกับตะวันออกกลางได้(เข้าไปยุ่งเพราะอะไรก็รู้อยู่) แต่ก็คร่าชีวิตชาวอเมริกันได้ถึง 3,025 คน เป็นความเสียหายมหาศาลที่สุดในประวัติการถูกโจมตีภายในวันเดียว เทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิต 2,403 คนในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 เมื่อญี่ปุ่นถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์แล้ว ต้องบอกว่าบิน ลาเดนทำได้แสบกว่า เบี้ยประกันอาคารสถานที่ในนิวยอร์กแห่งเดียวพุ่งสูงขึ้นถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของมหานครแห่งนี้เป็นมูลค่า83,000 ล้านดอลลาร์ งานว่าง 52,000 ตำแหน่ง ยังไม่รวมถึงค่าซ่อมแซมอาคารกระทรวงกลาโหม”เพนทากอน”อีก 800 ล้านดอลลาร์
การทำสงครามเครือข่ายของบิน ลาเดนยังสร้างความวายวอดได้มากกว่าที่นิวยอร์กและเพนทากอน เศรษฐกิจโดยรวมของอเมริกาดิ่งเหว การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุชถูกรื้อปรับเปลี่ยนใหม่หมด งบประมาณถูกตัดทอนจากด้านอื่นๆมาใช้ในการรักษาความสงบภายใน กิจการสายการบินอเมริกันทยอยปิดตัวเองกราวรูดหลังจาก 11 กันยายน 2001ไม่ถึงปี จนรัฐบาลต้องกันเงินมาหนุนกิจการถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ยิ่งกว่านั้นคือผลจากการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขอเมริกา ที่พบว่าสุขภาพจิตของชาวอเมริกันทั่วประเทศ 44 เปอร์เซ็นต์เสื่อมทราม ต่างรู้สึกไม่มั่นคงกับการดำรงชีวิตประจำวัน ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปไม่มีวันเหมือนเดิมอีกหลังเหตุการณ์”9/11”
จะเรียกการกระทำของบิน ลาเดนและพวกว่าอะไรก็ตาม จะเรียกว่าความหฤโหดไร้ศีลธรรมหรือป่าเถื่อนอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัจฉริยภาพทางทหาร เป็นการชิงลงมือก่อนหรือแทรกแซงวงรอบการตัดสินใจ(OODA loop)ของฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผล และนี่คือรูปแบบของสงครามสมัยใหม่ที่เราเองก็กำลังพบอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลเองต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับระบบข้อมูลข่าวสาร เพราะสงครามในยุคใหม่นี้ชนะกันที่การบริหารข้อมูล ใครมีข้อมูลมากกว่า ประมวลผลเร็วและตัดสินใจลงมือก่อนย่อมชนะ

ลูกซองปราบจลาจล ยิงคนแต่ไม่ตาย


การควบคุมฝูงชนหรือที่แต่ก่อนถูกเรียกว่า”ปราบจลาจล” เป็นอีกเรื่องที่พาให้ผู้ไม่รู้(หรือรู้แล้วแต่อยากบิดเบือน)เข้าใจผิดได้บ่อยๆ หรือนำไปใช้ปลุกปั่นฝ่ายตนว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งที่อาวุธสำหรับการควบคุม(non-lethal weapon)นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้หลาบจำ ให้เข็ดแต่ไม่ตาย เพราะถ้าตายขึ้นมาเมื่อใดก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ ขัดกับหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้อย่างแข็งขัน เว้นแต่จะมีผู้เสียชีวิตเพราะอาวุธชนิดนี้ก็ต้องมาพิจารณาดูว่ามันถูกจัดซื้อมาอย่างถูกต้องตามขั้นตอน มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าพบว่าบกพร่องก็ต้องสืบหาตัวผู้จัดซื้อมาดำเนินการต่อไป บทความของผมจะไม่ก้าวล่วงไปในเรื่องนั้นซึ่งเป็นกระบวนการทางกฎหมาย มีผู้เสียหายและจำเลยต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นการอธิบายเพื่อให้ผู้ข้องใจได้เข้าใจ ได้ใช้สติพิจารณาข้อมูลอันไม่บิดเบือน ถึงรายละเอียดอันอ่อนไหวบางประเภทเกี่ยวกับอาวุธใช้เพื่อควบคุมฝูงชน เช่นที่ระบุไว้ตรงหัวเรื่องว่าเกี่ยวกับลูกซอง และเป็นลูกซองปราบจลาจล(riot shotgun)มีใช้ในวงการรักษากฎหมายทั่วโลก ไม่ใช่มีแค่ประเทศไทยแห่งเดียว และกระสุนที่ใช้ก็ไม่ได้มีแค่กระสุนสังหารอย่างเดียว กระสุนแบบอื่นๆที่ยิงแล้วแค่เจ็บแต่ไม่ตายก็มี
ด้วยรูปพรรณสัณฐานของมันเมื่อแรกเห็น ทำให้ลูกซองชนิดนี้ถูกเข้าใจผิดไปว่ายิงได้แต่กระสุนสังหารเท่านั้น แต่จริงๆแล้วกระสุนไม่สังหารมันก็ยิงได้ ถึงปืนลูกซองปกติจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ล่าสัตว์,ป้องกันตัวหรือเพื่อกิจการใดก็ตาม มันได้ถูกดัดแปลงหรือออกแบบใหม่ให้ปราบจลาจลโดยเฉพาะ หน้าที่หลักคือ”เพื่อป้องกัน” ใช้เพื่อป้องกันตัวเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เพื่อสังหารฝ่ายก่อความไม่สงบ เพราะโดยธรรมชาติของปืนชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ยิงไกล ระยะหวังผลแค่10-20เมตรก็ถือว่าพอแล้ว มันเล็งละเอียดแบบปืนไรเฟิลไม่ได้แต่สาดลูกตะกั่วกลมๆได้ไม่พลาดเป้ารูปคนในระยะดังกล่าว จึงไม่เคยเห็นลูกซองที่ไหนติดกล้องเล็งแบบปืนซุ่มยิงนอกจากดีที่สุดก็แค่ศูนย์เล็งจุดแดงสำหรับต่อสู้ระยะประชิด(เว้นแต่รุ่นลำกล้องยาวสำหรับล่าสัตว์ที่ติดกล้องเล็ง) รู้ว่าตรงไหนเป็นเป้าก็หันปืนไปหาแล้วสาดได้เลย ลูกตะกั่วกลมๆตั้งแต่9ลูกถึง200ลูกนั้นยังไงก็ต้องโดนเป้าเข้าสักลูก ไม่ต้องเล็งก็ยังโดน
ด้วยลำกล้องเรียบไร้เกลียวและกว้าง จึงเป็นอาวุธหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่ถูกดัดแปลงหรือออกแบบใหม่เพื่อควบคุมฝูงชน โดยเฉพาะเพื่อให้ยิงกับกระสุนพิเศษที่ไม่ทำให้ถึงตาย แค่ใช้เสียงดังข่มและแรงกระแทกให้เป้าหมดสภาพก่อนเข้าไปจับกุมหรือเพื่อผลักดันให้ออกจากพื้นที่เป้าหมาย
ลักษณะสำคัญของปืนลูกซองปราบจลาจลคือตัวลำกล้องที่สั้น ตามปกติจะยาว14นิ้ว,18ถึง18นิ้วครึ่งหรือ20นิ้ว” เพื่อความกะทัดรัดคล่องตัวจับถือง่าย สะดวกต่อการเก็บไว้ในยานยนต์และยิ่งง่ายต่อการประทับเล็งกับเป้านิ่ง ตามปกติลูกซองปราบจลาจลจะทำงานระบบปัมพ์แอคชั่น(pump-action)ที่ใช้ง่าย รวดเร็ว ราคาต่ำและเชื่อถือได้ในยามคับขัน แค่เล็ง ปลดเซฟ เหนี่ยวไกแล้วดึงกระโจมมือมาข้างหลังเพื่อคัดปลอก แต่ในปัจจุบันเมื่อแบบกึ่งอัตโนมัติถูกนำเข้าประจำการ มันก็แพร่หลายไปทั้งในกองทัพและหน่วยงานรักษากฎหมาย เพราะยิงได้เร็วแทบไม่ต่างจากไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ฝึกดีๆจะยิงครอบคลุมพื้นที่ได้มาก
ตามปกติจะใช้กระสุน12เกจ ยิงได้ถึงขนาดมาตรฐาน2.75นิ้วหรือสามนิ้วแม็กนัม เพื่อการปราบจลาจลจะไม่ใช้ลูกตะกั่วแต่เปลี่ยนมาใช้กระสุนถุง(bean bag) ที่จะคลี่ออกหลังพ้นลำกล้องแล้วพุ่งเข้ากระทบเป้าให้เจ็บและจำจนอยากจะวิ่งหนีไปที่อื่น(ถ้ายังวิ่งไหว) กระนั้นลูกซองปราบจลาจลที่ใช้กระสุน20เกจและ.410แม็กนัมก็มีให้เห็น พวกลำกล้องเล็กลงไปจะใช้เพื่อเฝ้าบ้านเพราะแรงถีบน้อยและยิงได้แม่นดีในระยะใกล้ๆ เหมาะจะมีไว้ป้องกันทรัพย์สินในครัวเรือน แรงถีบของมันน้อยจนทิ้งไว้กับภรรยาได้ยามพ่อบ้านไปทำธุระไกลๆ ไม่ต้องฝึกจนชำนาญก็ยิงถูกเป้าถ้าไม่ถูกแย่งปืนไปเสียก่อน
นอกจากสั้นและลำกล้องใหญ่ อีกคุณลักษณะเด่นของลูกซองปราบจลาจลคือจุกระสุนได้มาก ขณะลูกซองล่าสัตว์ทั่วไปจุกระสุนได้2ถึง5นัด แต่มันต้องใช้หลอดกระสุนยาวเท่าลำกล้อง ให้ใส่ได้6ถึง9นัด ตามแต่รุ่นและความยาวของกระสุน ต้องมากเข้าไว้ถ้าม็อบตรงนั้นทำท่าว่าจะรุนแรงจนพูดกันดีๆไม่รู้เรื่อง ยิงต่อเนื่องได้มากย่อมหมายถึงเรื่องจบเร็วและความสูญเสียน้อย
เว้นแต่ฝ่ายม็อบจะพกเครื่องทุ่นแรงเหนือกว่าเช่นปืนเล็กยาวหรือปืนพก ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองให้รัดกุมเช่นโล่กันกระสุน หมวกนิรภัยและอาวุธเชิงป้องกัน คงมีอะไรไม่ได้มากกว่านั้นเพราะหากยิงกระสุนจริงเข้าหมู่ผู้ชุมนุมทั้งที่เป็นการป้องกันตัว อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่จบสิ้น
ความแตกต่างระหว่างลูกซองปราบจลาจลกับล่าสัตว์หรือลูกซองต่อสู้ยังไม่จบ แทนทีจะมี”เฟอร์นิเจอร์”เป็นไม้ มันถูกทำให้กลมกลืนและเรียบง่ายด้วยลำกล้องสีดำ แทนไม้ด้วยพลาสติกและยาง ในลูกซองปราบจลาจลแท้ๆจะมีให้ทั้งพานท้ายทั้งตายตัวและพับได้กับด้ามเหมือนปืนพกมาด้วย แต่ก็มีหลายรุ่นที่ไม่มีพานท้ายเพื่อความกะทัดรัดรวดเร็วต่อการใช้งาน ในรุ่นเด่นๆจะมีด้ามจับเพิ่มมาอีกอันใต้ลำกล้อง จับตรงนี้แล้วปั๊มคัดปลอกกระสุนได้คล่อง บรรจุกระสุนนัดใหม่ได้ง่ายแค่ตะแคงปืนแล้วหย่อนลูกก่อนผลักด้ามจับไปข้างหน้า ดันลูกเข้ารังเพลิงพร้อมยิงนัดต่อไป
ถ้าจะถามว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างปืนลูกซองปราบจลาจลกับลูกซองต่อสู้ คำถามนี้ตอบได้ยากเพราะแทบไม่ต่างกันเลย จึงต้องพิจารณาที่ภารกิจและประเภทของกระสุนที่ใช้ ลูกซองต่อสู้จะใช้ยิงกระสุนจริงทั้งลูกปราย(เป็นเม็ดตะกั่วกลมเล็กๆเรียงตัวอัดแน่นในปลอกกระสุน)และลูกโดด(ลูกตะกั่วใหญ่ลูกเดียวเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าลำกล้อง) ใช้เพื่อป้องกันตัว ทำลายลูกบิดประตูเมื่อจะตรวจค้น และในหลายๆกรณีจะติดได้ทั้งดาบปลายปืน ที่เพิ่มเข้ามาในปัจจุบันคือศูนย์เล็งจุดแดงและไฟฉายแรงสูง มีปลอกระบายความร้อนหุ้มบนลำกล้อง เพื่อป้องกันมือถูกลำกล้องลวกหลังจากยิงกระสุนเป็นชุดจนร้อนจัด
เมื่อลูกซองทั้งสองประเภทแทบไม่ต่างกัน ก็มาถึงตอนสำคัญเมื่อเกิดคำถามว่าตำรวจใช้กระสุนแบบไหนปราบจลาจล? แรกเริ่มคือเมื่อกระบวนการทางสิทธิมนุษยชนงอกงาม นานาชาติให้ความสำคัญต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเกิดหน่วยงานเพื่อสอดส่องไม่ให้รัฐกระทำการเกินกว่าเหตุเมื่อต้องระงับความวุ่นวาย ทำให้ต้องพัฒนาอาวุธเพื่อควบคุมฝูงชนจนเป็นอุตสาหกรรม
ดังที่ผมได้เคยแจงไปแล้วในบทความเรื่อง”อาวุธปราบคนดื้อ”เมื่อหลายฉบับก่อน กระสุนที่ใช้กับลูกซองจึงถูกพัฒนาไปด้วยให้ทำได้แค่”เจ็บตัว”แต่ไม่ถึง”ตาย” มันจึงยิงได้ทั้งกระสุนถุง,กระสุนแก๊ซน้ำตาและกระสุนหัวยางมีลำตัวเป็นพลาสติก เมื่อเดือนมกราคมปีนี้เองที่มีกระสุน12เกจแบบช็อคไฟฟ้า(electroshock weapon)เพื่อส่งกระแสไฟนับหมื่นโวลต์ช็อคเป้าหมายจนเปลี้ยไปชั่วขณะ จากบริษัทเทเซอร์(TASER)ของสหรัฐให้ใช้ด้วย อีกความแตกต่างอันชัดเจนคือความเร็วต้น กระสุนลูกซองสังหารจะพุ่งด้วยความเร็ว1,200-1,400ฟุต/วินาที ขณะกระสุนหัวยางทรงตัวด้วยหางจะทำความเร็วต่ำกว่าเกือบครึ่ง บวกกับน้ำหนักที่น้อยกว่าเพราะไม่ใช่โลหะและต้านลม ยิงลดโอกาสทำลายอวัยวะได้เกือบเป็นศูนย์เว้นแต่ถูกยิงในระยะประชิดที่อย่างมากก็แค่เจ็บ
ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเห็นรูปพรรณว่าเป็นลูกซองในมือหน่วยปราบจลาจลจึงไม่ได้หมายความว่าต้องยิงให้ตาย ต้องการแค่เจ็บ,หลาบจำและต้องยิงไม่ให้ตายในทุกกรณี แม้แต่เครื่องยิงแก๊ซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้อง38ม.ม.ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดM79ขนาดลำกล้อง40ม.ม.ได้ ความแตกต่างแค่2ม.ม.นั้นแทบแยกไม่ออกเลยในระยะไกล พาลให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดทั้งหมด นับประสาอะไรกับลูกซองที่แทบไม่ต่างเลยระหว่างแบบต่อสู้กับปราบจลาจล กับความเข้าใจแบบฝังหัวว่าถ้าเป็นลูกซองแล้วต้องยิงให้ตาย
การจะปักใจเชื่อสิ่งใดที่เห็นจึงควรตั้งสติให้มั่น โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายยิ่งต้องคิดให้หนักถึงความเป็นไปได้ ต้องคิดถึงเหตุผลว่าในสภาวะที่ต้องระวังตัวเพราะถูกเฝ้ามองจากสังคมนั้น ผู้ใช้อาวุธย่อมอยู่ในสถานะเปราะบางกว่าฝ่ายยั่วยุเพราะเป็นผู้ถืออาวุธร้ายแรง ต้องทำงานอย่างระมัดระวังอย่างถึงที่สุด และยากลำบากเพราะเสี่ยงต่อการประณาม ความด้อยทางวุฒิภาวะของสื่อบางแขนงที่เสนอภาพและข่าวด้วยความคะนอง ปราศจากการสืบเสาะข้อมูลให้ถูกต้อง คืออีกปัจจัยสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้สถานการณ์ที่แรงอยู่แล้วกลับเลวร้ายลงไปอีก
การแสวงหาข้อมูลใดๆในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากถ้ารู้จักเสาะหา การตัดสินถูกผิดด้วยโมหะจริตโดยละเลยเหตุผลและไม่ยอมรับฟังความคิดที่แตกต่างนั้น สร้างความวิบัติได้ในวงกว้าง ไม่ใช่สิ่งที่วิญญูชนพึงกระทำ

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

เครื่องแบบใหม่ท.บ.สหรัฐฯ และสนามรบที่เปลี่ยนไป


กองทัพสหรัฐอเมริกาคือกองกำลังที่ปฏิบัติงานเป็นขอบเขตกว้างขวางที่สุดในโลก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯยังส่งทหารเข้าสู้รบในสงครามใหญ่น้อยอีกหลายครั้ง ทั้งในนามของสหประชาชาติและที่บุกเดี่ยวโดยลำพัง ตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม ปานามา และล่าสุดคือสงครามยึดครองอิรัก การทำสงครามบ่อยครั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ทำให้กองทัพต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อคงความได้เปรียบและลดการสูญเสียกำลังพล นอกจากยุทโธปกรณ์ต่างๆแล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือรูปแบบและลวดลายของเครื่องแบบ ทั้งเครื่องแบบสนามและเครื่องแบบปกติ โดยเฉพาะเครื่องแบบสนามแบบล่าสุดนั้นถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันเพราะแตกต่างจากแบบเดิมสิ้นเชิง ทั้งสีสันและการตัดเย็บ
เครื่องแบบสนามกองทัพบกสหรัฐฯ(Army Combat Uniform ACU)ที่เราเห็นบ่อยขึ้นจากสื่อต่างๆนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญด้านการซ่อนพรางของหน่วยรบภาคพื้นดิน หลังจากปล่อยให้เหล่านาวิกโยธินนำหน้าไปก่อนด้วยรูปแบบ”มาร์แพท”(Marine Pattern MARPAT) เป็นลายพรางจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆหลากสีเรียงตัวเต็มพื้นที่ทั้งเสื้อและกางเกง โดยACUก็มีลักษณะการวางตัวของลวดลายแบบเดียวกัน เพียงแต่สีสันเท่านั้นที่แตกต่างเพื่อบ่งบอกสถานภาพชัดเจนว่าเครื่องแบบลวดลายนี้คือทหารบก
กระบวนการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบของท.บ.สหรัฐฯนี้ เริ่มต้นขึ้นเป็นทางการในเดือนเมษายน 2005 โดยการเข้ามาทดแทนเครื่องแบบเดิมทั้งแบบพรางป่า(Woodland) และลายพรางทะเลทรายสามสี(Three Colors Desert Pattern) เปลี่ยนลวดลายและรูปแบบใหม่ให้ใช้ทดแทนของเดิมทั้งหมดภายในปี 2007
เครื่องแบบใหม่หรือACUนี้ใช้ลวดลายใหม่ในชื่อว่า Universal Camouflage Pattern(UCP)เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า”ลายพรางดิจิตอล” จากลวดลายจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆคล้ายภาพสร้างจากคอมพิวเตอร์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างสีเขียว,น้ำตาลอ่อนและเทา นอกจากลวดลายจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆเรียงรายไม่เป็นรูปทรง คล้ายคลึงกับลายMARPATดังกล่าว มันยังไปคล้ายกับลายCanadian Disruptive Pattern(CADPAT)ของท.บ.คานาดาด้วย
ไม่ว่าลวดลายทั้งของคานาดาและสหรัฐฯจะเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากลายพรางของกองทัพเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อเรียกเฉพาะว่า”เฟล็คตาร์น”(Flecktarn”การซ่อนพราง”ในภาษาเยอรมัน) ซึ่งต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อใช้เป็นลายพรางเครื่องแบบทหารใน”บุนเดสแวร์”(Bundeswehr กองกำลังป้องกันสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)ในปัจจุบัน
สีสันใหม่ที่ใช้กับACUนี้แตกต่างจากเดิม แม้จะมีสีเขียว,น้ำตาลและเทา แต่ก็ไม่มีสีดำเหมือนลายพรางป่าเดิม เพราะถูกพิจารณาแล้วว่ามองเห็นได้ง่ายไม่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม และในสภาพธรรมชาติจริงๆก็มีสีดำให้เห็นน้อยมาก เป็นผลจากการวิจัยของUnited States Army Soldier System Center(SSC) ศูนย์การวิจัยและพัฒนากองทัพบกในเมืองเนติกรัฐเมสสาชูเซ็ตต์ หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมเพื่อวิจัยและพัฒนาสิ่งอุปกรณ์ต่างๆให้กองทัพ เน้นประโยชน์ใช้สอยและความอยู่รอดในสนามรบ
ความโดดเด่นเห็นได้ชัดคือการใช้จุดสี่เหลี่ยมเล็กๆมาเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ทั้งแบบเป็นแถบและเป็นจุดเดี่ยวๆกระจายตัวเต็มผืนผ้าสลับไปมาทั้งสีเขียว,เทาและน้ำตาลอ่อน เมื่ออยู่ในภูมิประเทศโดยเฉพาะเขตเมือง จะแยกแยะตัวทหารออกจากฉากหลังได้ยากกว่าลวดลายเดิมแบบเส้นเรียบมีสีดำปน
ACUไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงด้านลวดลาย แต่รูปแบบการตัดเย็บก็แตกต่างจากของเดิมเห็นได้ชัด กระเป๋าเสื้อเดิมซึ่งมี 4 จุดยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนให้สองใบด้านล่างใกล้ชายเสื้อมาติดที่แขนเสื้อใต้แนวไหล่ มีแถบเวลโครเพื่อติดสังกัดและเหล่า ฝากระเป๋าแขนเสื้อมีแถบอินฟราเรดบอกฝ่ายกว้าง,ยาวด้านละ1ซ.ม.ทั้งซ้ายขวา ทหารสามารถมองเห็นแถบนี้ได้ด้วยกล้องมองกลางคืน(Night Vision Goggle) เครื่องหมายบอกชั้นยศเปลี่ยนจากหัวไหล่มาติดกึ่งกลางหน้าอกด้วยแถบเวลโคร เมื่อสวมเกราะทับก็ถอดเครื่องหมายยศมาติดบนเกราะหรือหมวกนิรภัยแทน กระดุมด้านหน้าถูกเปลี่ยนเป็นซิปมีแถบเวลโครติดสาบเสื้อเพื่อซ่อนซิป3จุด กระเป๋าหน้าอกที่ยังคงอยู่ถูกเปลี่ยนรูปแบบให้เฉียงลงแต่เล็กกว่าเดิมเพื่อสะดวกแก่การใช้สอย ฝาปิดติดแถบเวลโครเช่นกัน
หมวกนิรภัยก็เปลี่ยนใหม่เช่นกัน จากเดิมที่ใช้หมวกผลิตจากแผ่นเคฟลาร์แบบ K-Pot มีสายรัดคางยึดติดหมวก2จุดเช่นที่เห็นในสงครามอ่าวครั้งแรก ก็เปลี่ยนเป็น Advance Combat Helmet(ACH)ที่เล็กลงแต่บุภายในด้วยฟองน้ำ สายรัดคางยึดหมวกเพิ่มเป็น4จุดบุฟองน้ำที่ท้ายทอยเพิ่มความกระชับ ไม่กระเด้งกระดอนบนศีรษะขณะวิ่ง ใช้ประกอบชุดวิทยุสื่อสารหรืออุปกรณ์อื่นได้ เช่นระบบจอแสดงผลการรบ Head Up Display (HUD) ขาติดตั้งกล้องNVG หรืออุปกรณ์อื่น
ที่ลวดลายและรูปแบบการตัดเย็บเป็นเช่นนี้ เพราะสงครามสมัยใหม่เน้นการสู้รบในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาทั้งในอิรักและอาฟกานิสถาน เน้นการสู้รบระยะประชิดในย่านชุมชน รายล้อมด้วยหมู่อาคารใหญ่น้อย ทหารจึงเคลื่อนที่ช้าแบบอาคารต่ออาคาร เฝ้าระวังทั้งกองโจรปกติและพลซุ่มยิง ทำให้สวมเครื่องแบบแล้วยังต้องสวมเกราะและอุปกรณ์หลากหลายทั้งกระสุนและอุปกรณ์ช่วยรบอื่นๆ เครื่องแบบรุ่นใหม่จึงต้องเอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวและประโยชน์ใช้สอยจริงๆมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลจากทหารในหน่วยรบมาเป็นตัวกำหนดรูปแบบการตัดเย็บ
แม้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาจะอ้างว่าเครื่องแบบใหม่นี้ใช้งานได้ทุกสภาพภูมิประเทศ แต่ทหารที่สวมใส่มันเข้าสู้รบจริงๆกลับบอกว่าเพราะมีสีเขียวตุ่นๆมากกว่าสีอื่น จึงพรางตัวได้ไม่ดีเท่าไรในเขตป่าและทะเลทราย กระนั้นฝ่ายวิจัยและพัฒนาก็แย้งกลับมา ว่าผลจากการทดลองในสภาพแวดล้อมเปรียบเทียบกับลายพรางอื่นๆแล้วลายพรางACUกลมกลืนกว่าจริงๆ
เป็นเพราะหลักนิยมของการทำสงครามปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อการสู้รบในปัจจุบันเป็นการรบในเมืองเสียเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายตั้งรับตักตวงผลประโยชน์เต็มที่ทั้งจากการแอบแฝงฝูงชนและซอกหลืบของอาคาร ทำให้ฝ่ายยกเข้ากวาดล้างต้องทำทุกอย่างเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ทหารท่านใดที่เคยฝึก”เมาท์”(Military Opration on Urban Terrain MOUT)มาแล้วย่อมทราบดีว่ากองโจรเพียงหยิบมือเดียวสามารถตั้งยันฝ่ายเข้าตีใช้กำลังมากกว่าหลายเท่าได้
ตัวอย่างเห็นชัดๆของ”เมาท์” คือสงครามยึดเมืองสตาลินกราดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ศึกวันตรุษญวนในเมืองเว้ครั้งสงครามเวียตนาม เหตุการณ์”แบล็คฮอว์คดาวน์”ที่กรุงโมกาดิสชูประเทศโซมาเลีย และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือสงครามกวาดล้างในเมืองฟัลลูจาห์ของอิรักทั้งสองครั้งในปี2004 ระหว่างกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯอาวุธครบมือทั้งเครื่องบินและรถถัง กับฝ่ายต่อต้านกำลังน้อยกว่าที่ใช้อาวุธพื้นฐานเช่นปืนAK-47และเครื่องยิงจรวดRPG แต่ใช้ประโยชน์เต็มที่จากหมู่อาคารและฝูงชน ทวีความยากลำบากให้แก่ฝ่ายปราบปรามซึ่งต้องใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองกว่าการรบในป่ามหาศาล
ราคาของเครื่องแบบใหม่ของท.บ.สหรัฐฯนี้ทั้งเสื้อและกางเกงคือ 76 ดอลลาร์ เทียบกับของเดิมแบบพรางป่ามีราคา 58 ดอลลาร์แต่กองทัพก็ปรับเพิ่มเบี้ยค่าเครื่องแบบให้ทหารตามไปด้วย ราคานี้ยังไม่รวมค่าแถบชื่อ เหล่า สังกัด ชั้นยศซึ่งทหารต้องจ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยแต่จ่ายเพียงครั้งเดียว เครื่องหมายบุแถบเวลโครข้างหลังนี้สามารถดึงลอกไปติดเครื่องแบบชุดอื่นที่มีอยู่ได้
ข้อบ่งชี้เพื่อการบำรุงรักษาให้เครื่องแบบใช้งานได้นานได้บอกไว้ว่าห้ามลงแป้งเด็ดขาด ตามข้อความตอนหนึ่งในวิธีดูแลระบุว่า”ห้ามไม่ให้ทหารลงแป้งเครื่องแบบACUนี้เด็ดขาด การลงแป้ง แก้ไขขนาด หรือกระทำการด้วยกรรมวิธีอื่นใดเช่นซักแห้งหรืออบไอน้ำจะมีผลกระทบต่อความทนทานของเนื้อผ้า และไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น” วิธีการดูแลที่ถูกคือต้องซักด้วยน้ำธรรมดากับผงซักฟอกอย่างอ่อน ปราศจากน้ำยาฟอกหรือกัดสีผ้า ให้ตากเครื่องแบบไว้ในที่อุณหภูมิห้อง หลังจากซักแล้วสะบัดแขวนเลยโดยไม่ต้องบิด
กองทัพจะแจกเครื่องแบบให้ปีละสองชุด เพราะอายุการใช้งานของเครื่องแบบถูกกำหนดมาให้ใช้ได้ชุดละ 6 เดือน ตอนเพิ่งเข้าประจำการใหม่ๆเครื่องแบบลายนี้ค่อนข้างมีปัญหา เช่นตะเข็บปริ เนื้อผ้าขาดแล้วลุ่ย ในปีหลังๆนี้มันได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยผ้าเนื้อคอตตอนผสมโพลีเอสเตอร์ เบาสบายไม่ลุ่ยลวดลายพิมพ์ชัดกว่าเดิม
ความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการตัดเย็บและลวดลายเครื่องแบบท.บ.สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงหลักนิยมในการทำสงครามที่เปลี่ยนไป จากการรบในป่าและทะเลทรายมาเป็นการรบในเมือง เป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายตั้งรับได้เปรียบ สามารถใช้กำลังพลน้อยช่วงชิงความได้เปรียบได้จากซอกมุมของอาคารสถานที่ กดดันและข่มขวัญฝ่ายกวาดล้างได้มหาศาล ด้วยอาวุธเบาทั้งปืนเล็กยาว,กับดักสังหารบุคคล,ทุ่นระเบิดทำลายรถถังและพลซุ่มยิง กองโจรไร้เครื่องแบบเร้นกายในฝูงชนยากต่อการพิสูจน์ฝ่าย
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากกองทัพสหรัฐฯจะบอกใครๆว่าตนพร้อมที่สุดในโลก ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพราะต้องทำสงครามปกป้องผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าในยุคของประธานาธิบดีคนไหน ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะคงความได้เปรียบไว้ได้ทุกสถานการณ์และทุกสมรภูมิ
แล้วกองทัพบกไทยของเราล่ะ เมื่ออเมริกามหามิตรที่ส่งทหารมาร่วมซ่อมรบเป็นประจำเปลี่ยนสไตล์การแต่งกาย ทหารบกไทยมีอะไรปรับเปลี่ยนบ้างหรือเปล่า? ตอบได้ว่าเปลี่ยนสีสันลวดลายของเครื่องแบบเหมือนกัน จากลายพรางป่าท.บ.ที่เราเห็นกันเจนตามาเป็นลายพรางป่าดิจิตอล คล้ายคลึงกับลายCADPATของคานาดา เพราะภูมิประเทศบ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงไม่เหมาะจะใช้สีสันแบบเดียวกับท.บ.สหรัฐฯ ลายพรางดิจิตอลของท.บ.ไทยนี้เปิดตัวไปแล้วในงาน Defense and Security 2007 ปลายปีก่อนที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพคต์เมืองทองธานี คาดว่าลายเครื่องแบบใหม่ของท.บ.ไทยจะเป็นที่พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทยอยปลดประจำการเครื่องแบบลายเก่า
อาวุธของเราอาจด้อยกว่าก็จริง แต่เรื่องความ”เท่”ทหารไทยไม่เคยเป็นรองใครอยู่แล้วครับท่าน!

ชาร์ลี วิลสัน...สติงเกอร์ และ มูจาฮิดีน



ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตะวันออกกลาง ชื่อหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ว่าเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นอกจากโอซามา บิน ลาเดน,ซัดดาม ฮูเซนแล้ว คงไม่มีใครเกินสมาชิกสภาคองเกรสชาร์ล เนสบิต วิลสัน(1มิถุนายน 1933 – ปัจจุบัน) หรือชาร์ลี วิลสันที่เรียกกันในหมู่คนคุ้นเคย อดีตนายทหารเรือและสมาชิกสภาคองเกรสพรรคเดโมแครตจากเขตเลือกตั้ง 2 รัฐเท็กซัส ผู้สร้างชื่อจากการโน้มน้าวให้สภาคองเกรสสนับสนุนปฏิบัติการลับของซีไอเอครั้งใหญ่ที่สุด ทั้งด้านงบประมาณ อาวุธ และการฝึกนักรบมูจาฮิดีนเพื่อต่อต้านการยึดครองโดยกองทัพโซเวียต(ในสมัยนั้น) นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในอาฟกานิสถาน
วิลสันเป็นชาวเท็กซัสโดยกำเนิด เกิดที่เมืองทรินิตี้ เรียนหนังสือระดับมัธยมที่ทรินิตี้ ไฮ สกูลจนจบเมื่อปี 1951ก่อนจะมาต่อที่มหาวิทยาลัยแซม ฮิวสตัน สเตทในเมืองฮันส์วิลล์รัฐเดียวกัน แล้วต่อด้วยการศึกษาในโรงเรียนนายเรือแอนนาโพลิส(United States Naval Academy) ศึกษาจบวิลสันรับใช้ชาติในกองทัพเรือด้วยยศเรือตรีจนกระทั่งได้เลื่อนยศเป็นเรือโทประจำกองเรือผิวน้ำ ก็ถูกย้ายไปประจำกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ(เพนทากอน) เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านข่าวกรองเพื่อประเมินกำลังทางนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังระอุ
เมื่ออยู่ในกองทัพเรือ ความสนใจในการเมืองของเขาแก่กล้าขึ้นตามวัย วิลสันช่วยรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้วุฒิสมาชิกจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ในปี 1960 หลังจากใช้วันลานาน 30 วันจากกองทัพเรือวิลสันก็กระโจนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้งถิ่นเกิด เขาจะทราบหรือไม่ก็ตามแต่การกระทำนี้ขัดกับระเบียบของกองทัพเรือ ที่บัญญัติไว้ว่าห้ามทหารประจำการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลก็คือผู้หมวดหนุ่มชาร์ลีต้องกลับเข้ากองทัพ ทิ้งให้ญาติมิตรช่วยหาเสียงต่อ ดอกผลจากกิจกรรมทางการเมืองมาผลิเอาเมื่อปี1961เมื่อเขามีอายุ27ปี ลาออกจากกองทัพเรือก่อนสาบานตนเข้าเป็นสมาชิกสภาฯจากเมืองออสติน รัฐเท็กซัส
อีก12ปีถัดมาวิลสันก็สร้างชื่อในสภานิติบัญญัติของรัฐเท็กซัส จนได้สมญา”สมาชิกสภาหัวก้าวหน้าจากเมืองลัฟกิน” ซึ่งถูกคนรอบข้างมองด้วยความหวาดระแวงว่าจะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านธุรกิจให้ตัวเองและพวก เวลาและผลงานเท่านั้นที่จะพิสูจน์คน วิลสันแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าเขาอยากปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันที่เลือกเขามาให้ดียิ่งขึ้นจริง ด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี งดเว้นเก็บภาษีผู้สูงอายุ แก้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และผลักดันให้รัฐบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ผลงานเด่นอีกด้านคือการสนับสนุนให้สตรีทำแท้งถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ วิลสันชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาคองเกรสจากเขตเลือกตั้ง2ของเท็กซัสในปี 1972 แล้วดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาอีกหลายสมัย
ทั้งที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ แต่ผลงานสร้างชื่อให้เขามากที่สุดกลับกลายเป็น”ปฏิบัติการไซโคลน” โครงการการสนับสนุนกองกำลังต่างชาติเพื่อต้านสหภาพโซเวียตครั้งใหญ่และสำคัญที่สุดของซีไอเอ เรื่องเกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตเคลื่อนทัพทัพรุกรานอาฟกานิสถานในปี 1980 โดยวิลสันทราบข่าวด่วนส่งตรงถึงสภาคองเกรสจากสำนักข่าวเอ.พี. รายงานว่าผู้ลี้ภัยนับแสนกำลังอพยพออกหนีภัยสงครามจากอาฟกานิสถาน แทบไม่มีใครสนใจเลยแม้แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลอเมริกันเอง แต่วิลสันคิดไปไกลกว่านั้นเมื่ออาฟกานิสถานคือเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญ และการรุกรานของโซเวียตอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อ”ผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน”ในอนาคต
คิดได้ดังนั้นจึงต่อโทรศัพท์สายตรงถึงคณะกรรมการงบประมาณแห่งสภาคองเกรส เพื่อดึงงบประมาณลับ(งบซีไอเอ)มาใช้ด้วยความช่วยเหลือของกัสต์ อาฟราโคโทส ซีไอเอตัวกลั่น จุดมุ่งหมายคือถ้าจะให้ชนพื้นเมืองเอาชนะกองทัพโซเวียตได้ ต้องเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่า โชคเข้าข้างเขาเมื่อประจวบเหมาะกับการเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าอนุกรรมการงบประมาณกลาโหม กลุ่มบุคคลเล็กๆแต่ทรงอำนาจในสภาโดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบด้านงบลับของซีไอเอ ตำแหน่งของเขาจึงเอื้ออำนวยให้ของบได้ โดยเฉพาะงบบางประเภทที่ซีไอเอมีแต่ไม่ได้จัดสรรใช้ประโยชน์
ความพยายามของวิลสันสำเร็จในปี 1983 เมื่อสภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณก้อนโตเพื่อช่วยเหลือทั้งสิ่งของยังชีพและยุทโธปกรณ์เพิ่มถึง 40 ล้านดอลลาร์ รวมกับอีก 17 ล้านเพื่อจัดหาขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานประทับบ่ายิงแบบ”สติงเกอร์”อย่างเดียว ให้กบฏมูจาฮิดีนใช้ยิงเครื่องบินโดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์โจมตีของโซเวียต ที่โจมตีแบบไม่เลือกว่าเป็นมูจาฮิดีนหรือพลเรือนไร้อาวุธตายเป็นเบือ
ปฏิบัติการไซโคลนที่วิลสันเข้าไปเสริมความแข็งแกร่ง คือโครงการของซีไอเอเพื่อติดอาวุธให้นักรบท้องถิ่นของอาฟกานิสถานสู้รบกับกองทัพโซเวียตรัสเซียระหว่างปี 1979-1989 โดยใช้ช่องทางหลักคือหน่วยข่าวกรองทหารของปากีสถาน(Inter Services Intelligence ISI)เพื่อส่งเงินและยุทโธปกรณ์ ควบคู่ไปกับโครงการของพันธมิตรคือจากหน่วยข่าวกรองทหาร MI6(เอ็มไอ6)และหน่วยรบพิเศษSAS ของอังกฤษ,เงินทุนจากซาอุดิ อาเรเบียและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้ ISI เป็นตัวยืนในการผลิตกองกำลังต่อต้านให้ได้ 100,000 คนระหว่างปี 1978-1992 พร้อมกับเงินทุน 3-2หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อฝึกรบและติดอาวุธให้นักรบท้องถิ่น รวมทั้งเครื่องยิงจรวดพื้นสู่อากาศแบบประทับบ่า”สติงเกอร์”หมัดเด็ดน็อกเอาท์เครื่องบินโซเวียต
เรื่องราวอันนำมาสู่ความพยายามของชาร์ลี วิลสันเกิดขึ้นจากวันที่ 3 กรกฎาคม 1979 ระหว่างสงครามเย็นยังระอุเมื่ออดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ลงนามในคำสั่งให้ช่วยเหลือเงินทุนแก่กองโจรต่อต้านสหภาพโซเวียตฯในอาฟกานิสถาน ภายหลังจากโซเวียตเคลื่อนทัพเข้ารุกรานประเทศนี้แล้วแต่งตั้งนายบาบรัค คาร์มาลเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิด ด้วยเหตุผลที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศว่า”การรุกรานอาฟกานิสถานคือภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อสันติภาพ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “ ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯมีมูลค่า 20-30 ล้านดอลลาร์ต่อปี จึงถูกเพิ่มเป็นปีละ 630 ล้านดอลลาร์ในปี 1987ด้วยการผลักดันของวุฒิสมาชิกวิลสัน
ความช่วยเหลือทั้งเงินและอาวุธกับฝ่ายต่อต้านโซเวียตทำให้รัฐบาลสหรัฐฯถูกหลายฝ่ายโจมตี เมื่อเงินทุนดังกล่าวตกไปอยู่ในมือหัวหน้าฝ่ายต่อต้านคือกุลบุดดิน เฮคมาตยาร์ ซึ่งรัฐบาลปากีสถานเชื่อว่าเป็นคนของตน ที่เป็นเรื่องก็เพราะเฮคมาตยาร์เองก็ไม่ซื่อกับมูจาฮิดีนและพลเรือนอาฟกัน พอรวมหัวกับมูจาฮิดีนกลุ่มอื่นๆรบกับโซเวียตจนเปลี้ยแล้วก็หันมาฆ่ากันเอง
มีรายงานข่าวหลายกระแสตรงกันว่าเฮคมาตยาร์ใช้อาวุธอเมริกันที่ได้มายิงถล่มกรุงคาบูล จนพลเรือนเจ็บและตายรวม2,000คน นอกจากนี้ยังมีรายงานเชื่อถือได้อ้างว่าเป็นพรรคพวกกับโอซามา บิน ลาเดนหัวหน้ากลุ่มอัล-ไคดา ที่ยังญาติดีกับสหรัฐฯในตอนนั้นและช่วยกันต่อต้านการยึดครองของโซเวียต ฝ่ายเฮคมาตยาร์นั้นพอมีทั้งเงินและกำลังคนก็เริ่มเหิมเกริม จนพลเอกเซีย อูล ฮัคแห่งปากีสถานต้องปรามว่า”เมื่อปากีสถานสร้างเขาขึ้นมาได้ ปากีสถานก็ทำลายเขาได้เหมือนกัน”
แม้แต่อดีตประธานาธิบดีหญิงเบนาซีร์ บุตโตในปลายทศวรรษ1980ก็เริ่มแสดงความกังวลอย่างชัดเจนจากความเหิมเกริมของเฮคมาตยาร์และพวก นางได้พูดเปรียบเปรยกับอดีตประธานาธิบดีบุช(บิดา)แห่งสหรัฐฯว่า”ท่านกำลังสร้างอสูรกายขึ้นมา” ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯเองก็ติดตามพฤติกรรมนี้มาตลอด จนกระทั่งโซเวียตถอนทัพในปลายทศวรรษ 1980นั่นเองความช่วยเหลือจากสหรัฐฯจึงถูกตัด หลังจากนั้นยังยืนยันเสียงแข็งว่าเงินทุกดอลลาร์ที่ส่งไปอาฟกานิสถานนั้นถึงมือชาวอาฟกันจริงๆ ไม่มีแม้แต่เพนนีเดียวที่จะหลุดรอดไปยังโอซามา บิน ลาเดนหรือพวกมูจาฮิดีนนอกอาฟกานิสถาน
การได้ดูแลงบประมาณหนุนฝ่ายต่อต้านโซเวียต ได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยสงครามชาวอาฟกันครั้งหนึ่งในชายแดนปากีสถาน และได้เข้าพบผู้นำของปากีสถานที่ช่วยเหลือด้านการจัดส่งงบประมาณ ทำให้วิลสันเข้าใจว่างบประมาณเดิมนั้นยังไม่พอ ลำพังแค่ปืนเล็กยาวและทุ่นระเบิดคงไม่สามารถขับไล่กองทัพโซเวียตพ้นดินแดนอาฟกานิสถานได้ มีคำพูดของวิลสันบรรทัดหนึ่งที่ถูกนำมาอ้างบ่อยๆว่า”สหรัฐฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบของคนเหล่านั้นก็จริง...แต่ประวัติศาสตร์ชาติเราคงด่างพร้อยแน่ ถ้าปล่อยให้พวกเขาสู้ด้วยก้อนหิน”
ด้วยถ้อยคำนี้ วิลสันสามารถเคลื่อนงบประมาณที่ยังไม่ถูกจัดสรรของซีไอเอเข้าสู่อาฟกานิสถานได้สำเร็จ และในช่วงปลายปีงบประมาณนั้นยังได้เงินทุนจากกระทรวงกลาโหม ในส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรรเช่นกันอีก300ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปช่วยนักรบมูจาฮิดีน
เมื่อภัยคุกคามที่แท้จริงคือเฮลิคอปเตอร์โจมตีก็ต้องใช้อาวุธอากาศสู่พื้นยิงให้ร่วง ผลจากการเพิ่มงบประมาณโดยเฉพาะการจัดหาจรวดสติงเกอร์ คือเที่ยวบินของเฮลิคอปเตอร์โซเวียตลดลงถึงครึ่ง เมื่อไม่มีกำลังทางอากาศคุ้มกัน กองกำลังภาคพื้นของโซเวียตผู้รุกรานก็ตกเป็นเป้าของกองโจรมูจาฮิดีนและฝ่ายต่อต้านอื่น สถานการณ์ของโซเวียตกำลังย่ำแย่เมื่อประเทศในสหภาพกำลังพากันประกาศตนเป็นอิสระ ความเพลี่ยงพล้ำในอาฟกานิสถานจนต้องถอนทหาร จึงกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้โซเวียตแตกเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ1
สงครามที่ชาร์ลี วิลสันเข้าไปข้องแวะด้วยนี้เป็นสงครามตัวแทน สหรัฐฯได้รบกับโซเวียตแล้วในอาฟกานิสถาน ด้วยการฝึกอาวุธให้นักรบท้องถิ่นและได้ทดลองเทคโนโลยีของตนกับพื้นที่ทะเลทรายของอาฟกานิสถาน สงครามรูปแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างฝ่ายของพลเอกฟรานซิสโก ฟรังโกกับคอมมิวนิสต์ โดยนาซีเยอรมันหนุนฝ่ายฟรังโกและโซเวียตหนุนหลังฝ่ายสาธารณรัฐผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์
ชาร์ลี วิลสันเป็นนักบุญหรือเปล่า? ก็ไม่เชิง เมื่อมี”ผลประโยชน์ของคนอเมริกัน”เข้ามาเอี่ยว การกระทำของเขาจึงเป็นการทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ตักตวงผลประโยชน์จากพันธมิตรที่เห็นว่าให้ประโยชน์(ในขณะนั้น)ให้มากที่สุด เมื่อสิ้นประโยชน์ก็ตัดความช่วยเหลือไม่ใยดี การเป็นมิตรกับสหรัฐฯจะว่าดีก็ได้แต่ต้องระวังตัว ให้ดียิ่งขึ้นคือเราต้องพึ่งพาตัวเองได้ด้วย หวังแต่จะพึ่งพาเขาอย่างเดียวชะตากรรมในอนาคตคงไม่ต่างจากพวกมูจาฮิดีนในอาฟกานิสถาน

รบอย่างมั่นใจด้วย”เสื้อเกราะ”

ความพยายามป้องกันคมอาวุธยามสู้รบมีมานานแต่ดึกดำบรรพ์ แรกเริ่มเราใช้แผ่นหนังซ้อนและห่วงเหล็กถักทอเป็นเสื้อ,กางเกง อัศวินยุคกลางใช้ทั้งห่วงเหล็กถักและแผ่นเหล็กสร้างเกราะใช้ทั้งในการประลองและทำสงคราม นักรบไทยเองก็ใช้เกราะโลหะมานานแล้วตั้งแต่สมัยเริ่มคบค้ากับชาติยุโรปที่มาพร้อมทหารรับจ้างและปืนไฟ หลังจากโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อาวุธเปลี่ยนจากดาบมาเป็นปืนยิงได้ไกลและมีอำนาจทะลุทะลวง เทคโนโลยีสร้างเกราะก็พัฒนาตาม
รูปแบบหนึ่งของเกราะที่ใช้กันแพร่หลายคือ”เสื้อเกราะ”(Ballistic vest) ที่ปกป้องลำตัวจนถึงหว่างขาได้ด้วยคุณสมบัติสำคัญคือดูดซับแรงกระแทกจากกระสุนและสะเก็ดระเบิด แบ่งได้เป็นเกราะอ่อนและเกราะแข็ง เกราะอ่อนส่วนมากจะสร้างจากเส้นใยวัสดุสานทับกันเป็นชั้นแน่นหนา ป้องกันผู้สวมจากการเจาะทะลุและแรงกระแทกของปืนลูกซองและปืนพก ส่วนมากผลิตจากเส้นใยอารามิด(Aramid)มีชื่อทางการค้าจากบริษัทดูป็องต์ว่า”เคฟลาร์”(Kevlar)
ผ้าไหมก็ใช้กันกระสุนได้เมื่อนำมาซ้อนกันหลายๆชั้น ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นคือเส้นใยสอดประสานกันแน่น สามารถกระจายแรงกระแทกได้ทั่วทั้งแผ่น จึงกันอันตรายจากของมีคมและหัวกระสุนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเกราะแข็งนั้นไม่สร้างเป็นเสื้อแต่จะเป็นแผ่นแล้วสอดไว้ในเสื้อกั๊กผ้าซ้อนเกราะอ่อนอีกชั้น มีทั้งที่ทำจากแผ่นเหล็กและแผ่นเซรามิกหรือเคฟลาร์ กันได้ทั้งกระสุนปืนพกไปจนถึงกระสุนปืนกลขนาดแคลิเบอร์.30 เกราะทั้งสองชนิดหากใช้ประกอบหมวกนิรภัยเคฟลาร์ จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์
เสื้อเกราะถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อกระสุนมีอานุภาพสูงขึ้นทั้งอำนาจทะลุทะลวงและระยะหวังผล สหรัฐเคยออกแบบเสื้อเกราะให้ทหารราบช่วงนั้นแต่มันน้ำหนักมากเกินและเคลื่อนไหวลำบาก เกาะกะเมื่อประกอบเครื่องสนามอื่นและอาวุธ เท่าที่ทำได้ในช่วงนั้นคือทำ”แฟลค แจ็คเก็ต”(flak jacket)ให้นักบินสวม สร้างจากไนลอนให้ทนสะเก็ดระเบิดและสะเก็ดกระสุนปืนใหญ่แตกอากาศได้แต่ไม่ได้สร้างให้กันกระสุน เยอรมันนั้นเคยมีเกราะเหล็กให้ทหารสวมบ้างเหมือนกันช่วงสงครามโลกครั้งที่1 แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปืนเล็กยาวและอาวุธรวมทั้งเครื่องแบบพรางมากกว่าในสงครามโลกครั้งที่2
กองทัพโซเวียตก็มีเกราะให้ทหารใช้เช่นกันในช่วงนั้น คือSN-42”สตาลินอย นากรุดนิค” ที่ผลิตแจกจ่ายกำลังพลเหล่าทหารช่างจู่โจมของตนในปี 1942 และกับเหล่ายานเกราะระดับกองพลน้อยส่วนหนึ่ง คุณสมบัติเด่นคือป้องกันอันตรายจากกระสุนปืนกลมือMP40ขนาด9ม.ม.ของเยอรมันได้ชงัด ในระยะยิง100-125เมตร ลงตัวกับสงครามในเมืองของสตาลินกราดที่ยิงกันไม่ไกล แต่ก็มีปัญหาด้านเทคโนโลยีเดิมๆคือน้ำหนักมาก เคลื่อนไหวไม่สะดวกจนทหารแห่งกองทัพแดงถอดทิ้งแล้ววิ่งเข้าปะทะทหารเยอรมันแบบตัวเปล่าๆพร้อมอาวุธเสียส่วนใหญ่ สหรัฐกลับตัวมาพัฒนาเกราะของทหารราบทันอีกทีก็ล่วงเข้าปี 1945ช่วงใกล้สิ้นสงคราม จีไอบางส่วนในแนวหน้าได้สวมเกราะสร้างจาก”โดรอน เพลท”(Doron Plate)ที่สร้างจากไฟเบอร์กลาสเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่นในสมรภูมิเกาะโอกินาวา
เสื้อเกราะยังพัฒนาต่อเนื่องถึงช่วงสงครามเกาหลี เมื่อสหรัฐตระหนักว่าสงครามเย็นอาจทำให้ชาติต้องกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งอีกหลายครั้ง ไฟเบอร์กลาสหรืออลูมินัมยังเป็นวัสดุใช้การได้ดีในเสื้อเกราะแบบM-1951 ด้วยลักษณะเด่นคือเป็นแผ่นอลูมินัมหรือไฟเบอร์กลาสยึดห่วงต่อกันเป็นแผ่นยัดในเสื้อกั๊กผ้า เกราะรุ่นนี้เบาจริงแต่ป้องกันอะไรไม่ได้เลยทั้งกระสุนและสะเก็ดระเบิด ทั้งที่โฆษณาไว้ดิบดีว่ากันกระสุนปืนพกขนาด7.62X25ของโซเวียตได้แม้ถูกยิงระยะเผาขน แต่เมื่อผลการใช้งานจริงไม่เป็นเช่นนั้นกองทัพก็เลิกใช้
จากอลูมินัมและไฟเบอร์กลาส สงครามเวียตนามคือยุคเริ่มต้นของเกราะเซรามิกที่ไม่ได้พัฒนาต่อจากยุคสงครามเกาหลีแต่รื้อแนวความคิดด้านเกราะใหม่หมด เทคโนโลยีด้านเซรามิกที่พัฒนามาระดับหนึ่งในขณะนั้นทำให้มั่นใจได้ว่ามันสมควรนำมาเป็นเกราะ นักบินเฮลิคอปเตอร์คือกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงที่สุดต่อกระสุนอาก้า จึงต้องสวมเกราะสร้างจากวัสดุผสม(คอมโพสิต)คือเซรามิก-โลหะ ในชื่อเล่นว่า”ชิคเกน เพลท” ป้องกันลำตัวได้ดีจากกระสุนปืนพกและปืนเล็กยาว นักบินเฮลิคอปเตอร์อเมริกันปลอดภัยพอสมควรเมื่อใช้เกราะระหว่างภารกิจ
เทคโนโลยีเสื้อเกราะมาถึงจุดเปลี่ยนกลางทศวรรษ70เมื่อดูป็องต์ปล่อยเคฟลาร์ออกสู่ตลาด ด้วยคุณสมบัติเหนียวทนและเบา ทำให้บางจนสวมเสื้อทับได้แนบเนียน จึงถูกนำเข้าโครงการประเมินผล(National Institute of Justice:NIJ)ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐทันที หน่วยงานตำรวจหลายหน่วยรับไปทดสอบให้เจ้าหน้าที่สวมปฏิบัติงานทั้งวัน ผลคือเคฟลาร์ใช้สวมใส่ได้สบายและช่วยปกป้องชีวิตจากปืนพกและการทิ่มแทงได้จริง จากปลายทศวรรษ70ถึงปัจจุบันจึงมีภาพตำรวจอเมริกันสวมเกราะซ่อนในเครื่องแบบออกปฏิบัติงานให้เห็นบ่อยๆ
ถึงจะรักษาชีวิตคนสวมไว้ได้ แต่เกราะอ่อนเคฟลาร์ก็มีจุดด้อย ด้วยความนิ่มของมันแม้จะกระจายแรงปะทะของกระสุนได้แต่อวัยวะภายในก็ถูกกระทบกระเทือน คนสวมไม่ตายก็จริงแต่บางครั้งซี่โครงหัก ไตช้ำ เวลาถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง กระนั้นก็ยังดีกว่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่เอาเนื้อสดๆไปเสี่ยงกับกระสุนหัวตันๆหรือบางครั้งก็หัวแฉกของคนร้าย และโอกาสที่ตำรวจจะถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงหัวแหลมๆจากปืนเล็กยาวก็ยังมีน้อยกว่าทหาร
“เสื้อเกราะเรนเจอร์”(Ranger Body Armor)ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกองทัพสหรัฐในปี1991 เป็นเกราะรุ่นที่สองที่กันกระสุนปืนเล็กยาวได้และเบาพอให้ทหารสวมในสนาม แต่จุดอ่อนยังมีคือยังหนักกว่า”เกราะกันสะเก็ด”(Personal Armor for Ground Troops: PSGT)แบบเดิม และไม่กันกระสุนตรงคอกับไหล่ เพื่อให้รักษาชีวิตทหารได้บางครั้งการหยุดยั้งอำนาจกระสุนอาจต้องแลกกับความคล่องตัว ทหารจึงต้องสวมเสื้อเกราะดังกล่าวพร้อมสอดแผ่นเซรามิกแข็ง(Small Arms Protective Insert)เข้าไปอีกทั้งหน้า,หลังและข้าง โดยตัวเสื้อเกราะชั้นนอกใช้ติดอุปกรณ์ต่างๆได้(modular)แทนการใช้สายเก่งกับเข็มขัดสนามเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งน้ำหนักอุปกรณ์ที่เอวจะกดทับทำให้เจ็บและอึดอัดเมื่อสวมใส่ยาวนาน แต่เสื้อเกราะแบบโมดูลาร์จะกระจายน้ำหนัก สวมและถอดง่ายกว่า ด้วยเปลือกนอกแบบเอนกประสงค์นี้จึงมีหลายรูปแบบ ตอบสนองการใช้งานได้หลากหลาย
จากชนิดและขนาดหน้าตัดกระสุนหลากหลาย ทำให้NIJต้องกำหนดมาตรฐานการป้องกันไว้เพื่อให้ทหารและผู้รักษากฎหมายเลือกใช้เกราะให้เหมาะสมกับภารกิจ เกราะต่างชนิดย่อมป้องกันกระสุนได้ไม่เหมือนกัน ตามมาตรฐานของหน่วยงานนี้คือ NIJ 0101.04 ที่กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการป้องกันกระสุนไว้ตามระดับอำนาจการทะลุทะลวงของกระสุน สรุปได้เป็นระดับ(level)ของการป้องกันตั้งแต่น้อยไปหามากดังนี้
Level 1: ป้องกันกระสุนขนาด.22Long Rifle Lead Round Nose (LR LRN)หัวกระสุนหนัก 40เกรน,ความเร็ว1,080ฟุต/วินาที และ.38ACP Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก95เกรน ความเร็ว1,055ฟุต/วินาที
Level 2A : ป้องกันกระสุนขนาด9 ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก 124เกรนที่ความเร็ว1,120ฟุต/วินาทีและขนาด .40 S&W Full Metal Jacketed (FMJ) หัวกระสุนหนัก180เกรน ความเร็ว1,055ฟุต/วินาที และยังป้องกันอำนาจเจาะทะลุจากlevel 1ได้
Level 2 : ป้องกันกระสุนขนาด9 ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก124เกรน ความเร็ว1,205ฟุต/วินาที และ .357 Magnum Jacketed Soft Point (JSP) หัวกระสุนหนัก158เกรน ความเร็ว 1,430ฟุต/วินาที รวมทั้งป้องกันการเจาะทะลุจากlevel 1และ2Aได้
Level 3A : ป้องกันกระสุนขนาด9ม.ม.Full Metal Jacketed Round Nose (FMJ RN) หัวกระสุนหนัก124เกรน ความเร็ว1,430ฟุต/วินาที และ .44 Magnum Semi Jacketed Hollow Point (SJHP) bullets หัวกระสุนหนัก240เกรน ความเร็ว 1,430ฟุต/วินาที ป้องกันการเจาะทะลุจากกระสุนปืนพกทุกแบบ รวมทั้งการเจาะทะลุในlevel 1,2A และ2ได้
Level 3 : ป้องกันกระสุนขนาด 7.62ม.ม.Full Metal Jacketed (FMJ)หรือM80ในรหัสของกองทัพสหรัฐ หัวกระสุนหนัก148เกรน ความเร็วสูงสุด2,780ฟุต/วินาที และป้องกันการเจาะทะลุในlevel 1,1A,2A,2 และ3Aได้
Level 4 : ป้องกันกระสุนเจาะเกราะ(AP)ขนาด.30 หรือM2ในรหัสของกองทัพสหรัฐได้ หัวกระสุนหนัก166เกรน ความเร็ว 2,880ฟุต/วินาที และป้องกันการเจาะทะลุในlevel 1,2A,2,3Aและ3ได้
นอกจากมาตรฐานNIJของอเมริกาที่ใช้กันแพร่หลาย ยังมีระบบของตำรวจเยอรมันคือ TR(Technische Richtlinie)และอื่นๆเช่น Draft
ISO prEN ISO 14876 และ Underwriters Laboratories (UL Standard 752) ที่น่าสังเกตคือเกราะยังไม่ถูกสร้างให้ป้องกันกระสุนขนาด.50 ซึ่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายปัจจุบันผู้ก่อการร้ายหาอาวุธหนักขนาดนี้มาใช้ได้ยากและไม่คล่องตัว โอกาสที่ทหารจะถูกยิงด้วย”ฟิฟตี้ แคล”จึงแทบไม่มี
เรื่องของเสื้อเกราะยังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ถ้าเน้นที่ตรงนั้นมากเกินแล้วจะกลายเป็นหนังสือเรียนมากกว่า”สาระ”ที่เสนอเพื่อเป็นประโยชน์ ใช้งานได้จริงในการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอเสนอรายละเอียดเท่าที่จำเป็นอันสำคัญสำหรับผู้ใช้งาน เพื่อให้เลือกได้อย่างเหมาะสมกับภารกิจ เช่นการอารักขาบุคคลสำคัญที่ไม่ต้องการเปิดเผยเพราะเกรงว่าฝูงชนจะแตกตื่น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงแผ่นเกราะเซรามิกที่หนาและหนัก เคลื่อนไหวลำบาก เพียงเสื้อเกราะอ่อนซ่อนไว้ภายในเชิร์ตก็เพียงพอ หากไม่ใช่พื้นที่อันตรายขนาดต้องใช้กองกำลังติดอาวุธสงครามคอยอารักขา ในทางกลับกัน หากอยู่ในเขตสู้รบโดยเฉพาะเขตเมือง คงไม่มีทหารคนไหนยอมสวมเกราะอ่อนซ่อนในเครื่องแบบสนาม ทางเลือกที่ฉลาดจึงเป็นเสื้อเกราะมีช่องสอดแผ่นเกราะในระดับต่างๆ(1 ถึง4 ตามภารกิจ)รอบตัวทับเครื่องแบบ เพื่อปกป้องอวัยวะสำคัญ
เสื้อเกราะเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ง่ายที่สุดแล้วของทหาร ไม่ต้องบำรุงรักษา อายุงานยาวนาน ไม่มีคำว่าขัดข้อง แต่รักษากำลังพลได้ชะงัด ช่วยรัฐประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลได้มหาศาล จะให้เป็นเครื่องสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจระดับสูงก็ยังได้!

ระเบิดขว้าง แท้จริงมาจากผลไม้!




ตั้งแต่ครั้งมนุษย์เริ่มรู้จักรบราฆ่าฟันกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องการคือทำอย่างไรข้าศึกจึงจะตายได้ทีละมากๆในการใช้อาวุธครั้งเดียว อาวุธเพื่อการนี้จึงปรากฎในรูปของกระสุนปืนใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นลูกเหล็กตันๆยิงให้กลิ้งไปโดนอะไรสิ่งนั้นก็แหลก พัฒนามาเป็นกระสุนแบบแตกมีสะเก็ดทำลายเป้าหมายได้ทั้งยุทโธปกรณ์และบุคคล แต่ถ้าทหารราบไม่มีปืนใหญ่หัวระเบิดไปด้วย แต่อยากทำลายที่หมายเฉพาะหน้าที่ใช้ปืนเล็กทำลายไม่ได้ ก็ต้องมีบางสิ่งมาทดแทนกระสุนปืนใหญ่ สิ่งนั้นต้องมีน้ำหนักพอเหมาะให้ขว้างได้ไกลพอสมควร ปลอดภัยต่อผู้ใช้เมื่ออยู่พ้นรัศมี นี่เองจึงเป็นที่มาของระเบิดขว้าง อาวุธสังหารที่ใช้ง่ายที่สุดแต่ก็อันตรายที่สุดหากทำหล่นใกล้ตัว
ระเบิดขว้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อสังหารบุคคลหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า”เกรเนด”(grenade) เราเรียกตามไปว่าเกรเนดโดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วมันมาจากภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียก”ลูกทับทิม”(pomegranate มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าPunica granatum) สะเก็ดระเบิดที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆทำให้ทหารนึกถึงเมล็ดของลูกไม้ชนิดนี้ ทหารสมัยก่อนที่เชี่ยวชาญการขว้างระเบิดจึงถูกเรียกว่าเกรนอาเดียร์(grenadier) ปัจจุบันแม้จะไม่ต้องใช้ทหารขว้างระเบิดโดยเฉพาะแต่ยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ก็ยังถูกเรียกว่าเกรนอาเดียร์อยู่
ระเบิดขว้างลูกแรกของโลก เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ไม่นานหลังรัชสมัยของกษัตริย์ลีโอที่3 ทหารไบแซนไทน์รู้ว่าอาวุธเช่น”ลูกไฟกรีก”(Greek fire) หรือน้ำมันจุดไฟที่พวกตนคิดค้นขึ้นเมื่อร้อยปีก่อนนั้น ไม่ได้พ่นใส่ข้าศึกได้ด้วยเครื่องพ่นไฟอย่างเดียว ดัดแปลงให้ดียังเอามันใส่เหยือกกระเบื้องหรือแก้วแล้วโยนใส่ข้าศึกได้ด้วย ในเมื่อขณะนั้นยังคิดไม่ออกเรื่องดินปืน ทหารไบแซนไทน์ใช้ลูกไฟกรีกขว้างใส่ข้าศึกเป็นว่าเล่นในศตวรรษที่10ถึง12
จากนั้นมันก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้นสำหรับผู้ใช้เรื่อยมา จนถึงยุคอุตสาหกรรมที่มนุษย์นำเอาดินปืนแรงอัดสูงมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างระเบิดขว้างได้ทีละมากๆ เมื่อรวมอำนาจการทำลายล้างเข้ากับปืนเล็กยาว ระเบิดขว้างจึงช่วยให้ทหารราบเคลื่อนที่ต่อไปได้ เมื่อพบที่มั่นดัดแปลง รังปืนกลหรือยานพาหนะที่ทำลายไม่ได้ด้วยปืนเล็กธรรมดา
ระเบิดขว้างหรือเรียกได้อีกอย่างว่าระเบิดสังหารนั้นจะทำงานด้วยการจุดระเบิดของดินระเบิดแรงสูงให้เปลือกหนาแตกออกเป็นสะเก็ดเล็กๆ พุ่งเข้าบาดเฉือนอวัยวะผนวกกับแรงอัดที่จะสร้างความเสียหายได้มากต่ออวัยวะภายใน นอกจากใช้สะเก็ดกับแรงอัดเป็นตัวทำลายแล้วยังมีแตกชนิดออกได้เป็นระเบิดเพลิง(incendiary grenade)ที่แตกออกเป็นกองไฟใหญ่เพื่อเผาผลาญ ระเบิดควัน(smoke grenade)ที่ไม่ได้ทำอันตรายแต่พ่นควันเป็นสีบอกตำแหน่งให้ฝ่ายเดียวกันเข้าต่อตีเป้าหมายหรือให้อากาศยานบินมารับ ระเบิดแสง(stun grenade)ที่ส่งเสียงดังและปล่อยแสงวาบจนตาของเป้าหมายพร่าไปชั่วขณะ ก่อนฝ่ายจู่โจมจะเข้าสังหารหรือจับกุม เมื่ออาวุธเพื่อยับยั้ง(non-lethal weapon)กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ทำแค่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแต่ไม่สังหาร ระเบิดขว้างก็ถูกผลิตให้ตอบสนองวัตถุประสงค์นี้เช่นกัน
ถึงระเบิดขว้างจะมีมานานแต่ก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางในสงครามโลกครั้งที่1 ด้วยรูปแบบของสมรภูมิแถบยุโรปที่เป็นสนามเพลาะประกอบลวดหนามกีดขวางไม่ให้ฝ่ายรุกเคลื่อนที่ได้สะดวก และฝ่ายรับป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยปืนกลและกระสุนปืนใหญ่ การใช้ระเบิดขว้างจึงเป็นตัวช่วยที่ดีของทั้งสองฝ่ายเมื่อนึกอะไรไม่ออกก็ขว้างระเบิดเข้าใส่ไว้ก่อน ถึงไม่ตายก็ไม่กล้าโผล่หัวจากหลุม เยอรมันดูเหมือนจะพัฒนาระเบิดขว้างได้ก้าวหน้ากว่าใครด้วยการให้มันมีด้ามไม้ต่อใต้ระเบิดแทนที่จะเป็นลูกลุ่นๆ ยามไม่ได้ใช้งานยังถือด้ามไม้หวดตัวระเบิดทุบหัวมันฝรั่งให้ละเอียดก่อนปรุงอาหารเสียอีก จึงไม่แปลกที่ระเบิดติดด้ามไม้ของเยอรมันทั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่1และ2มีชื่อเล่นว่า”ไม้บดมัน”
ระเบิดขว้างแบบคลาสสิกนั้นทำงานด้วยการดึงห่วงติดสลักนิรภัยออกจากปลายเชื้อปะทุ เมื่อกระเดื่องถูกดีดออกก้านตีแก๊ปหัวระเบิดจะดีดกระแทกจอกกระทบแตกให้เกิดการเผาไหม้ เพื่อความปลอดภัยของคนขว้างจึงต้องให้หน่วงเวลาไว้5-7วินาทีก่อนจุดระเบิด ซึ่งพอสำหรับการขว้างใส่ที่หมายในระยะ40หลาหรือไกลกว่า หากทหารกลัวข้าศึกจะคว้าเอาขว้างคืนมาก็ถือไว้สัก2-3วินาทีก่อนขว้างให้ระเบิดตรงเป้าทันที ถ้าชำนาญมากๆและกะเวลาได้แม่นพอก็อาจจะทำให้มันกลายเป็นระเบิดแตกอากาศ ส่งสะเก็ดกระจายได้เป็นวงกว้างแบบที่ศัตรูนึกไม่ถึง หรือหากดึงสลักออกมาแล้วยังกำกระเดื่องอยู่ถ้าเปลี่ยนใจไม่ขว้างยัดสลักกลับคืน ก็ยังเก็บไว้ใช้ในคราวหน้าได้อีก แต่เพราะสลักนิรภัยทำด้วยเหล็กกล้าและแข็งมาก จึงต้องใช้แรงมากพอดูกว่าจะดึงห่วงให้สลักหุบเข้าหากันแล้วรอดรูหัวระเบิดได้ ภาพทหารจีไอที่เอาปากกัดห่วงดึงสลักจึงเป็นแค่ลีลาหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์เท่านั้น หากทหารจริงๆทำเช่นนั้นคงได้เห็นฟันตัวเองติดอยู่กับระเบิดแทนที่จะดึงสลักออก
นอกจากจะใช้ขว้างทำความเสียหายแล้วมันยังถูกดัดแปลงให้เป็นกับระเบิดสังหารบุคคลได้ด้วย โดยการใช้หลักการ”ดึง”ให้สลักหลุดแล้วระเบิดทำงาน ผู้ปฏิบัติเพียงแต่วางระเบิดไว้ข้างเส้นทางที่ข้าศึกจะเดินผ่านแล้วขึงเชือกหรือลวดขวางไว้ ปลายข้างหนึ่งยึดห่วงสลักที่ยึดหลักไว้มั่นคงอีกข้างผูกไว้กับต้นไม้หรือหลักแล้วง้างปลายสลักให้รอดผ่านรูได้ง่าย เมื่อมีผู้เดินมาเตะเชือกตึงดึงสลักออกจากระเบิดก็บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ทั้งนี้ตัวระเบิดเองต้องถูกดัดแปลงให้ระเบิดทันทีที่สลักหลุดจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะนำไปฝังไว้ประกอบกลไกเพื่อให้ทำงานด้วยน้ำหนักกดทับก็ยังได้เพราะมีชุดคิทเพื่อการนี้เสร็จแบบDIY(Do It Yourself)
ยิ่งวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมพัฒนาไปมากขึ้นระเบิดขว้างก็ถูกพัฒนาให้อานุภาพร้ายแรงตาม เช่นระเบิดลูกเกลี้ยงแบบM67ของสหรัฐ(ไม่ใช่ในภาพ)ซึ่งใช้แพร่หลายในกองทัพชาตินาโต สามารถสังหารชีวิตได้ชนิดที่ตายแน่ๆคือในรัศมี5เมตรและอาจบาดเจ็บสาหัสหรือน้อยกว่านั้นได้ในรัศมี15เมตร แต่เมื่อวัดจริงๆแล้วสะเก็ดของมันสามารถปลิวได้ไกลถึง230เมตร ในระยะนี้ต้อง”ซวย”จริงๆเท่านั้นถึงจะเจ็บหนักหรือตาย ลองหลับตานึกถึงภาพคนยืนกันเป็นกลุ่มกว้างไม่เกิน5เมตรแล้วโยนระเบิดลูกเกลี้ยงเข้าไปเถิด จะเข้าใจได้ว่าคงต้องตายไม่ต่ำกว่าห้าคน และหากขว้างไปแล้วคนขว้างยังยืนดูก็คงไม่แคล้วเป็นเหยื่อระเบิดของตัวเองเหมือนกัน
ทั้งที่มันสามารถส่งทั้งสะเก็ดและแรงอัดได้รุนแรง แต่อานุภาพของระเบิดขว้างยังต้องขึ้นอยู่กับที่ที่ใช้ด้วย ถ้าเป็นที่โล่งแม้สะเก็ดจะกระเด็นได้แรงเท่าเดิมแต่แรงอัดจะลดลง แต่ถ้าใช้ในอาคารผู้เป็นเหยื่อระเบิดจะได้รับทั้งแพคเกจคือแรงอัดและสะเก็ด เพิ่มอำนาจการทำลายได้มากกว่าใช้ในที่โล่ง
ในภาพคือระเบิดแบบต่างๆเรียงลำดับกันไปจากซ้ายมาขวา ตั้งแต่ระเบิดสังหารบุคคล ระเบิดควัน และระเบิดแสง M26ซ้ายสุดคือระเบิดสังหารบุคคลที่เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าระเบิดลูกเกลี้ยง ถูกดัดแปลงมาจากระเบิดน้อยหน่า(MKII)ที่เห็นกันบ่อยๆในภาพยนตร์ แม้จะดูเกลี้ยงเกลาดีแต่ภายในนั้นเนื้อโลหะถูกบากไว้แล้วเพื่อให้กระจายตัวได้ดีกว่าบากไว้ข้างนอก มันถูกบรรจุไว้ด้วยสารคอมโพสิชั่นBชั้นในสุดรอบแกน ถัดออกมาคือเนื้อสะเก็ดที่บากร่องไว้และชั้นนอกสุดคือเปลือก M26รุ่นแรกบางล็อตมีปัญหาระเบิดด้านหรือแค่พ่นไฟฟู่จึงถูกพัฒนาเป็นM26A1และA2ซึ่งระเบิดได้ดีขึ้น และมีคลิปนิรภัยติดกระเดื่องให้ผู้ใช้มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเองยิ่งขึ้น
ถัดมาคือระเบิดควันM18มีลักษณะแตกต่างคือเป็นทรงกระบอก น่าจะเรียกว่ากระบอกควันมากกว่าระเบิดควันเพราะไม่มีสะเก็ดไม่มีเสียงแต่ให้ควันคลุ้ง ทำงานเหมือนระเบิดสังหารตรงที่ต้องดึงสลักแต่จริงๆแล้วฆ่าใครไม่ได้เลยเพราะพ่นแต่ควันสีต่างๆตลบอบอวล เพื่อบอกตำแหน่งเป้าหมายให้อาวุธหนักทำลายหรือบอกตำแหน่งผู้ใช้เพื่อขอความช่วยเหลือ จะใช้เป็นฉากควันบดบังการเคลื่อนไหวของหน่วยก็ได้ มันให้ควันเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารต่างๆคือโปตัสเซียมคลอเรท แลคโทสและสี เมื่อพ่นควันตัวกระบอกจะร้อนจัดและจะร้อนอยู่นานแม้ควันหมดแล้ว
ขวาสุดคือระเบิดแสงแบบM84หรือเรียกได้อีกอย่างว่า”แฟลช แบง” เป็นระเบิดแสงแบบมาตรฐานใช้ในกองทัพสหรัฐและประเทศพันธมิตร ภายในบรรจุไว้ด้วยแอมโมเนียมและแม็กนีเซียม เมื่อถูกจุดระเบิดจะให้แสงสว่างวาบนับหลายล้านแรงเทียนลอดออกจากรูข้างตัว ถูกสร้างเป็นเหลี่ยมเพื่อให้โยนแล้วไม่กลิ้งเพื่อระเบิดตรงเป้าหมาย คนอยู่ใกล้ระเบิดชนิดนี้จะหูอื้อและตาพร่าอาจมีเลือดออกหูด้วยถ้าห้องเล็กทำให้แรงอัดเพิ่ม แต่ไม่ตาย ถูกใช้มากที่สุดในสถานการณ์ชิงตัวประกันเมื่อต้องการให้เป้าหมายหยุดกิจกรรมและตำรวจเข้าจับกุมได้ง่ายไม่เสียเลือดเนื้อ
รายละเอียดและความเป็นมาทั้งหมดนี้ คือการแสดงให้เข้าใจถึงความแตกต่างและวัตถุประสงค์ของระเบิดแต่ละประเภท เพื่อผู้พบเห็นและสื่อได้เข้าใจและแยกแยะให้ออกระหว่างระเบิดสังหาร ระเบิดควันและระเบิดแสงซึ่งทั้งสามชนิดนี้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สังหารชีวิตเหยื่อได้ และผู้ที่ใช้ระเบิดสังหารได้จริงๆคือทหารหรือต.ช.ด.ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ตามชายแดนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อปราบกบฏหรือปราบจลาจลในทุกกรณี

มาคารอฟ อาวุธอนุสรณ์สงครามเย็น

ไม่มีครั้งใดในโลกที่การช่วงชิงอำนาจเป็นไปอย่างดุเดือดแบ่งฝ่ายกันชัดเจนเท่าสงครามเย็น ตั้งแต่หลังสงครามโลกในทศวรรษที่1950จนถึงช่วงโซเวียตล่มสลายต้นทศวรรษ1990 ระหว่างนี้มีเรื่องให้จดจำมากมาย มีสิ่งของหลายสิ่งที่เตือนให้นึกถึง”สงครามเย็น”หลังมันจบสิ้นลง หนึ่งในคือยุทธภัณฑ์แบบหนึ่งที่เคยเป็นปืนพกมาตรฐานของกองทัพโซเวียต มาคารอฟ หรือปิสโตล มาคาโรวาในภาษารัสเซียนตามชื่อผู้ออกแบบคือนิโคไล ฟีโอโดโรวิช มาคารอฟ ตามธรรมเนียมของรัสเซียที่มักตั้งชื่ออาวุธเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้นออกแบบ
ถึงจะเป็นปืนยอดนิยมพอๆกับโคลต์M1911ขนาด11ม.ม.ของสหรัฐและวัลเธอร์ พีพีเคของเยอรมัน แต่มันมาทีหลังสองกระบอกดังกล่าว เป็นผลจากการชนะการออกแบบเพื่อทดแทนปืนพกกึ่งอัตโนมัติเดิมคือโทคาเรฟ TT-33ใช้กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง7.62X25ม.ม.โทคาเรฟ(หน้าตัดเท่ากระสุนอาก้าแต่สั้นกว่า) นิโคไล มาคารอฟตัดสินใจเปลี่ยนหน้าตัดกระสุนให้เท่าเทียมค่ายตะวันตกช่วงนั้นที่ใช้กระสุน9ม.ม. กระสุนใหม่ของมาคารอฟจึงเป็น9X18มม.มาคารอฟ สำหรับปืนพกรุ่นนี้เท่านั้น
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้และบำรุงรักษาจึงออกแบบให้ยิงด้วยระบบโบลว์แบ็ค มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่น้อย ถึงจะประกาศว่าใช้กระสุน9ม.ม.แต่พอวัดจริงๆแล้วกลับใหญ่ถึง9.25ม.ม. จึงไม่สามารถยัดลงรังเพลิงของปืนพก9ม.ม.พาราเบลลัมของค่ายตะวันตกได้ และ9ม.ม.พาราฯยังยาวกว่า9มาคารอฟถึง1ม.ม. เผื่อไว้ว่าหากทหารโซเวียตมีอันต้องปะทะกับนาโต ทหารฝ่ายนาโตจะได้ไม่เอาลูกกระสุนไปใช้หากทหารฝ่ายตนเสียชีวิตหรือคลังกระสุนถูกยึด แต่ในรุ่นหลังๆได้ออกแบบให้ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวของนาโต(คงจะเพิ่งรู้ว่าตัวเองก็มีสิทธิ์ยึดคลังกระสุนของนาโตได้เหมือนกัน!)
จุดเด่นที่ทำให้มาคารอฟถูกเลือกเข้าประจำการในปี1951ก็เช่นเดียวกับอาวุธทั่วไปของค่ายนี้ มันประกอบด้วยชิ้นส่วนน้อยชิ้น ราคาถูก ผลิตได้ทีละมากๆตามหลักนิยมของโซเวียตตั้งแต่ยุคสตาลิน ที่ยึดมั่นกับหลักการ”ปริมาณคือคุณภาพในตัวเอง” เห็นได้จากสุดยอดรถถังT-34สมัยสงครามโลกครั้งที่2และปืนอาก้า(AK-47)หลังจากนั้น แต่จุดเด่นของมาคารอฟมีมากกว่าแค่ราคาถูกและผลิตได้ปริมาณมาก อานุภาพในการหยุดยั้งเป้าหมายของมันยังสมเหตุสมผลอีกด้วย นับว่าใช่เลยสำหรับปืนพกมิติขนาดนี้ ด้วยขนาดที่เล็กพอพกซุกซ่อนได้แต่กระสุนหน้าตัด9ม.ม.เท่ากับวัลเธอร์P-38และบราวนิ่ง มันจึงติดทำเนียบปืนพกของสายลับได้ไม่ยาก ขึ้นชั้นเดียวกับวัลเธอร์-พีพีเคของเยอรมัน(อดีตอาวุธคู่กาย007ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้P99ของวัลเธอร์เช่นกัน)
ดังที่แจงไว้ว่ามาคารอฟทำงานด้วยระบบโบลว์แบ็ค แต่โบลว์แบ็คของมันไม่ซับซ้อนเลยด้วยเข็มแทงชนวนลอยตัว ไม่มีสปริงหรือบล็อกเข็มแทงชนวนเหมือนปืนค่ายตะวันตก ข้อเสียคือเมื่อไม่มีสปริงแล้วตกพื้นแรงไปนิดอาจลั่นได้ ตรงนี้มาคารอฟให้เหตุผลว่าลั่นได้ก็ลั่นไปอยากให้ผลิตง่ายและมากเข้าไว้ก่อน ทหารเองอย่าทำตกพื้นเสียก็สิ้นเรื่อง แต่มาคารอฟเวอร์ชั่นผลิตในบัลกาเรียกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องส่งไปขายในสหรัฐ(หลังสงครามเย็นจบและโซเวียตล่มสลาย) กฎหมายของบางรัฐโดยเฉพาะแคลิฟอร์เนียระบุไว้ว่าปืนพกต้องผ่านการทดสอบร่วงหล่นด้วยเพื่อความปลอดภัย หมายความว่าปืนต้องหล่นแล้วไม่ลั่นจึงยอมให้นำเข้าได้
ดูจากไกปืนก็น่าจะทราบโดยสังเขปว่ายิงได้สองระบบคือซิงเกิลแอคชั่น(SA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วเหนี่ยวไก คัดปลอกแล้วสไลด์ง้างนกให้เองพร้อมวิ่งกลับดันกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมยิงนัดต่อไป)กับดับเบิลแอคชั่น(DA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วลดนกเข้าเซฟ ก่อนยิงปลดเซฟแล้วเหนี่ยวไกง้างนก แล้วยิงนัดต่อไปแบบSA ) ในระบบSAนั้นปืนรุ่นนี้ตั้งไกไว้ค่อนข้างตื้น หลังปลดเซฟแล้วจึงยิงได้เร็วเท่าความคิดแล้วคัดปลอกทิ้งทางขวาของสไลด์ ทั้งที่ใช้กระสุน9ม.ม.คล้ายปืนดังๆของค่ายตะวันตกอย่างเบเรตตาและบราวนิ่งซึ่งยัดลูกลงแมกาซีนได้ทีละ10กว่านัด แต่มาคารอฟกลับไม่ลูกดก แม็กของมันจุลูกได้แค่8นัดแถวเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ด้ามปืนโป่งเกินไปจนยากแก่การพกซุกซ่อน จุดเด่นอีกประการคือลำกล้องของมันติดตายกับโครงปืน ไม่ลอยเป็นอิสระและถอดออกไม่ได้ต่างจากปืนพกกึ่งอัตโนมัติร่วมสมัยจากค่ายตะวันตก เพื่อให้ง่ายต่อการผลิต เมื่อจะเปลี่ยนลำกล้องก็ไม่ต้องเสียดายเปลี่ยนทั้งกระบอกไปเลยเพราะราคาถูกอยู่แล้ว ยิ่งเรื่องความแม่นยำยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะเอามาดัดแปลงติดศูนย์เล็งจุดแดงหรือเรืองแสงยังไงก็คงช่วยเรื่องกลุ่มกระสุนไม่ได้ ในเมื่อมันถูกออกแบบเป็นปืนทหารและเพื่อราชการลับจริงๆ เพื่อยิงต่อสู้ระยะประชิดทั้งในอาคาร หรือในที่แจ้งเมื่อกระสุนอาวุธประจำกาย(ปืนเล็กยาว)หมด
เมื่อพูดถึงขนาดที่กล่าวว่าเป็นหนึ่งในปืนพกซุกซ่อน มาคารอฟเป็นปืนพกขนาดกลาง ใหญ่กว่า.22 เล็กกว่า9ม.ม.ลูกและ11ม.ม. ด้ามแบนกว่าเพราะจุกระสุนแถวเดียวทำให้ใส่ซองแนบลำตัว สะพายไหล่หรือใส่ซองเหน็บหลังก็ได้ เหมาะสำหรับหน่วยสืบราชการลับในค่ายโซเวียตและบริวาร มองผ่านๆคล้ายวัลเธอร์พีพีเคของเยอรมัน ด้วยการออกแบบให้โครงปืนและลำกล้องติดตายเป็นชิ้นเดียวกัน ลำกล้องมาคารอฟจึงไม่เคลื่อนไหวเหมือนปืนพกอัตโนมัติร่วมสมัยอย่างโคลต์11ม.ม.หรือซิกซาวเออร์9ม.ม. เวลาทำความสะอาดก็ถอดเพียงสไลด์และส่วนประกอบอื่นไม่กี่ชิ้น
หลังจากชนะการประกวดแบบและราคา ได้เข้าประจำการเมื่อปี1951 มันก็ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพโซเวียตและบริวารตลอดมา ด้วยเหตุที่ผลิตได้ถูกต้องตามหลักนิยมของโซเวียตคือชิ้นส่วนน้อยและปั๊มปืนออกมาได้มากแต่ละเดือน พอที่จะส่งไปใช้ในส่วนต่างๆของโซเวียตและประเทศอื่นๆที่สนับสนุนอยู่ จากอานุภาพกระสุน9ม.ม.อันหนักหน่วงเกินตัวและมิติอันเหมาะแก่การพกพา มาคารอฟจึงเป็นที่นิยมมากทั้งในโซเวียตและโลกตะวันตก จีนก็ได้ลิขสิทธิ์ไปผลิต แม้แต่ตำรวจของสาธารณรัฐเชค บัลกาเรีย โรเมเนียและเยอรมันตะวันออกก่อนรวมประเทศก็ใช้มันจนถึงปี1991จึงปลดประจำการ หลีกทางให้ปืนยารีกิน พียา(Yarygin PYa MP443 Grach)ที่ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวกับนาโตได้มากกว่าคือ10ถึง18นัดเข้ามาแทน
นักสะสมท่านใดก็ตามที่เพิ่งมีมาคารอฟ ข้อควรระวังของปืนแบบนี้คือเรื่องกระสุน ถึงในรุ่นหลังๆนี้จะใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯเหมือนชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่ในรุ่นแรกๆยังใช้9ม.ม.เฉพาะมาคารอฟอยู่ จึงอาจทำให้สับสนได้ระหว่าง9X18ม.ม.มาคารอฟกับ.380ACP(Automatic Colt Pistol) หรือที่รู้กันว่าเป็น9X17ม.ม.บราวนิ่งสั้น,9ม.ม.สั้นหรือ9ม.ม.”คูร์ส”(Kurz ภาษาเยอรมันแปลว่า”สั้น”) แม้แต่9X19ม.ม.พาราฯที่ยาวกว่า1ม.ม.ก็ใช้กับมาคารอฟไม่ได้ แล้ว9X18ม.ม.โพลิศหรืออีกชื่อหนึ่งว่า9X18อัลตราที่ดูแต่ตัวหนังสือเหมือนจะเท่ากันทุกอย่างล่ะจะใช้ได้ไหม? ไม่ได้อีกเพราะกระสุน9ม.ม.”เฉพาะ”มาคารอฟ”นั้นเอาเข้าจริงๆก็วัดได้9.25ม.ม.ใหญ่กว่า9ม.ม.ทั่วไปเพียงแต่ไม่บอกว่าใหญ่กว่าเท่านั้น เหตุผลนี้น่าจะเป็นเพื่อหวังประโยชน์ยามสงครามมากกว่าอย่างอื่น
สำหรับปืนมาคารอฟแท้ๆจากโรงงาน กระสุนจึงต้องเป็น9X18ม.ม.มาคารอฟเท่านั้น ถึงปัจจุบันจะมีลำกล้องเปลี่ยนได้เพื่อให้รองรับทั้ง.380ACP
มาคารอฟแตกรุ่นออกไปอีกมากตามประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นและเคยเป็นบริวารของโซเวียต ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกสมัยสงครามเย็น ที่เด่นๆคือเยอรมนีตะวันออก,บัลกาเรีย,จีนและเยอรมนีหลังรวมชาติ โดยเฉพาะหลังเยอรมันรวมชาติได้มีมาคารอฟเดนสงครามเย็นทะลักออกสู่โลกภายนอกจำนวนมาก รุ่นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบันและยังใช้งานอยู่บางประเทศแถบยุโรปตะวันออก คือมาคารอฟPMMที่ถูกปรับแบบใหม่ในปี1990 ให้ใช้กระสุนแรงขับดินปืนสูงกว่าเดิม เพิ่มความเร็วต้นกว่าเดิม25เปอร์เซ็นต์และใช้แมกาซีนจุ12นัด ใช้กระสุนของมาคารอฟเดิมได้ทั้งยังดัดแปลงเพิ่มอีกเล็กน้อยเช่นด้ามปืนบานออกให้จับถือง่ายขึ้น ออกแบบรังเพลิงใหม่ให้รับกระสุนง่ายและเร็ว
ปัจจุบันเมื่อไร้สหภาพโซเวียตเหลือแต่ประเทศรัสเซีย และเพื่อนบ้านแทนที่จะเป็นบริวารเหมือนเมื่อก่อน มาคารอฟกลายเป็นของสะสมหายากพอๆกับวัลเธอร์พี38ของเยอรมันและโคลต์M1911แท้ของสหรัฐ เป็นของที่มีไว้เพื่อเท่ประดับตู้สำหรับคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสะสมต้องมีไว้ มาคารอฟแท้ๆต้องมาจากโซเวียตเท่านั้น แต่ถ้าหาไม่ได้จะผลิตในบัลกาเรียหรือจีนก็ไม่มีปัญหาเพราะอย่างไรมันก็คือมาคารอฟ
ด้วยเทคโนโลยีการสร้างปืนที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบัน ทั้งการใช้อัลลอยไร้สนิมและโพลิเมอร์มาสร้างโครงปืนและสไลด์ ทำให้ปืนพกสมัยใหม่ทรงประสิทธิภาพมากกว่ามาคารอฟ อุปกรณ์ประกอบทางยุทธวิธีอื่นๆเช่นศูนย์เลเซอร์,ไฟฉายติดปืน,ศูนย์เล็งจุดแดงทำให้ปืนพกยุคใหม่มีอานุภาพร้ายแรงขึ้น แม่นขึ้นกว่าเดิมสำหรับการสู้รบและปราบปรามอาชญากรรม แต่ในโลกมืดแห่งการจารกรรมที่ยังดำเนินอยู่นั้น ปืนพกซุกซ่อนที่พรางตัวได้เนียนและกลไกเชื่อถือยามคับขันได้ยังเป็นที่ต้องการ และนั่นคือที่อยู่ของปิสโตล มาคาโรวาหรือมาคารอฟ อีกหนึ่งสิ่งที่ย้ำเตือนให้นึกถึงความตึงเครียดของโลกครั้งสงครามเย็น




“พรีเดเตอร์”...ทางออกของปัญหาคาร์ บอมบ์



เมื่อกองทัพสหรัฐฯเข้าครอบครองกรุงแบกแดดและอิรักทั้งประเทศในปี2003 ทุกอย่างดูเหมือนง่ายดายหลังจากการปะทะประปรายกับกองกำลังอันอ่อนเปลี้ยของซัดดาม ฮูเซนเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทหารจีไอสูญเสียเพียงหลักร้อยทั้งตายและเจ็บ เทียบกับกองทัพอิรักและกองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ”รีพับลิกัน การ์ด”ที่ถูกทำลายด้วยตัวเลขมากกว่ากันหลายเท่า ครั้งนั้นสหรัฐฯชนะด้วยเทคโนโลยีเหนือชั้นและยุทโธปกรณ์ครบครัน กองทัพสหรัฐฯที่ออกตัวว่าเป็น”กองทัพที่มียุทโธปกรณ์ครบถ้วนที่สุดในโลก” ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อ สรรพกำลังทุกรูปแบบถูกขนมาถล่มแบบไม่เสียดาย จากสงครามอ่าวครั้งแรกเมื่อเข้าปลดปล่อยคูเวต ครั้งที่2เมื่อรุกเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงอิรักโดยตรง ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปลดปล่อยชาวอิรักจากการปกครองระบอบทรราชย์ของซัดดาม ฮูเซน
ถึงกองทัพสหรัฐฯจะคุ้นเคยกับสงครามกองโจรมาตั้งแต่สมัยบุกเบิก เคยชนะเมื่อครั้งปลดแอกจากอังกฤษก่อนได้ประธานาธิบดีคนแรก และเผชิญกับสงครามรูปแบบนี้เสมอมาจนถึงสงครามเวียตนาม แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จในการเอาชนะได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้เทคโนโลยีจะเหนือกว่า แต่เมื่อฝ่ายต่อต้านมุดลงใต้ดินแล้วเล่นลอบกัดเพราะเป็นยุทธวิธีที่ถนัดและลงทุนน้อย กองทัพที่ยุทโธปกรณ์พร้อมที่สุดในโลกก็ยังย่ำแย่ ยอดจำนวนทหารที่เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มรุกรานในปี2003ถึงปัจจุบัน นับรวมได้เกือบครึ่งหมื่นและยังทวีจำนวนขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป แม้จะประกาศถอนทหารแล้วแต่ไพร่พลยังสูญเสีย
สาเหตุแห่งความสูญเสียส่วนใหญ่มาจากระเบิดแสวงเครื่องหรือ”IED”(Improvised Explosive Devices) ที่ฝ่ายต่อต้านสร้างจากหัวกระสุนปืนใหญ่หรือวัตถุระเบิดอะไรก็ตามแต่จะหาได้ในท้องที่ ซ่อนพรางไว้ในรถยนต์หรือที่ซ่อนเร้นริมถนนในเส้นทางที่ทหารอเมริกันใช้ เมื่อการลาดตระเวนในถนนทำให้อเมริกันเสียเปรียบเพราะเล่นเกมตามศัตรู ทางออกคือต้องบีบให้ศัตรูต้องเล่นตามเกมของตน ต้องเป็นเกมที่เพนทากอนคุมได้และที่สำคัญคือต้องไม่สูญเสีย คำตอบคือการลาดตระเวนทางอากาศ สอดแนมด้วยยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง สิ้นเปลืองน้อยทั้งกำลังพลและทรัพยากร ในรูปอากาศยานไร้นักบินหรือUAV(Unmanned Aerial Vehicles)
ในยุคของการทำสงครามที่ไม่ได้ตัดสินกันแค่จำนวนกำลังพลอย่างเดียว แต่การช่วงชิงข้อมูลข่าวสารคือหัวใจสำคัญ การมองเห็นฝ่ายตรงข้าม ปรับตัว ตัดสินใจ และใช้อาวุธได้ก่อน(หรือการจบกระบวนการOODAได้ก่อนข้าศึก ตามที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องของจอห์น บอยด์)คือความได้เปรียบ อากาศยานไร้นักบินจึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวความคิดดังกล่าว มันถูกใช้อย่างได้ผลทั้งการลาดตระเวน สอดแนมและแม้แต่ติดอาวุธทำลายเป้าหมาย สมาชิกระดับสูงของโอซามา บิน ลาเดนหลายคนพลาดท่าถูก”Predator”UAVรุ่นหนึ่งของซีไอเอถล่มแหลก ไม่นับรวมถึงเป้าหมายน้อยใหญ่อีกมากที่พินาศไปเพราะUAV
มันถูกใช้มากขึ้นด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นคือบินได้นาน10-15ชั่วโมงในพื้นที่เป้าหมาย ระหว่างนักบินนั่งโยกคันบังคับพร้อมกาแฟและคุกกี้อยู่ในศูนย์บัญชาการห่างไกลเป็นหมื่นก.ม. ขณะเครื่องบินขับไล่อย่างF-16บินได้แค่4-5ชั่วโมงและนักบินต้องเสี่ยงถูกยิงตก มีต้นทุนสูงทั้งเชื้อเพลิง,ตัวเครื่องบิน,ระบบอาวุธและชีวิตนักบิน
UAVถูกใช้ในอิรักทั้งช่วงเปิดศึกและช่วงยึดครอง และเมื่อกองทัพสหรัฐฯบางส่วนต้องถอนกลับUAVก็เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ตัวเลขจากถ้อยแถลงของเพนทากอนหรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯกำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากการใช้ทหารภาคพื้นดินมาเป็นอากาศยานไร้นักบินมากขึ้น ประมาณว่าใช้UAVทุกแบบไปแล้วรวมกว่า500,000ชั่วโมงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนนักบินที่บินเครื่องบินจริงก็ถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตอื่นซึ่งเสี่ยงภัยน้อยกว่า การเพิ่มเที่ยวบินของUAVในทุกเหล่าทัพของสหรัฐฯโดยเฉพาะในอิรัก เป็นความพยายามมหาศาลเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบข้าศึกและลดความสูญเสียของฝ่ายตนมากที่สุดในรอบ25ปี หลังจากสหรัฐฯทำสงครามน้อยใหญ่หลายครั้ง ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกากลางและยุโรป
การใช้UAVเพิ่มขึ้นในกรุงแบกแดดช่วงฤดูร้อน เป็นไปอย่างเหมาะเจาะพร้อมเพรียงกับการเพิ่มกำลังทหารเพื่อเร่งบดขยี้กองกำลังผู้ก่อการร้าย ยิ่งรัฐบาลประกาศถอนทัพกลับบ้านไปบางส่วน UAVก็ยิ่งบินมากขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนครั้งของการลาดตระเวนภาคพื้นดินที่ลดลง UAVหลายรุ่นได้ถูกกองทัพสหรัฐฯใช้อย่างคุ้มค่าทั้งเพื่อลาดตระเวนสอดแนมและทำลายเป้าหมาย พรีเดเตอร์(Predator),โกลเบิล ฮอว์ค(Global Hawk),แชโดว์(Shadow),ฮันเตอร์(Hunter)และเรฟเวน(Raven)คือนามของUAVที่จะปรากฏในข่าวสงครามตะวันออกกลางถี่ขึ้นในอนาคต
จากหลักนิยมใหม่ในการลาดตระเวนนี้ นักบินจากกองทัพอากาศจำนวน120นายที่เดิมเคยขับทั้งเครื่องบินขับไล่และโจมตี ได้ถูกย้ายไปทำหน้าที่ควบคุมUAVเพื่อสนองภารกิจใหม่ แทนที่จะทนร้อนเพราะแดดแผดเผาในอิรัก นักบินเหล่านี้จะได้ควบคุมอากาศยานไร้นักบินจากสถานที่อันห่างไกลเช่นฐานทัพอากาศเนลลิสในเนวาดา ซึ่งพวกเขาต้องควบคุมพรีเดเตอร์ หนึ่งในระบบUAVที่ใหญ่และสลับซับซ้อนที่สุดแทนเครื่องบินจริงอันคุ้นเคย
ทหารในกองกำลังรักษาดินแดนหรือ”เนชันแนล การ์ด”ก็ถูกเรียกมาเพื่อควบคุมระบบนี้เช่นกัน และจะมากขึ้นเรื่อยๆในปีนี้ ฐานทัพอากาศในนอร์ธเดโกตา,เท็กซัส,อาริโซนาและแคลิฟอร์เนียจะถูกเสริมระบบเพื่อรองรับการใช้งานUAVที่เพิ่มขึ้น ระหว่างฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้วและช่วงต้นฤดูร้อนของปีก่อน ถึงกำลังพลของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก15เป็น20กองพลน้อย จากที่มีอยู่แล้ว135,000นายกลายเป็น165,000นาย แต่ในจำนวนนี้5กองพลน้อยได้ถูกถอนกลับ ตามคำสั่งของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคมปี2007
การเพิ่มปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯทั่วอิรักเมื่อฤดูร้อนปีก่อน ทำให้ต้องเพิ่มเที่ยวบินของUAVขึ้น มันถูกใช้แพร่หลาย ถูกกองทัพแจกจ่ายภารกิจถ้วนทั่วตั้งแต่ระบบใหญ่และซับซ้อนที่สุดอย่างพรีเดเตอร์ ที่ทำได้ตั้งแต่การสอดแนมไปจนถึงปล่อยอาวุธทำลายเป้าหมาย ไปจนถึงระบบราคาถูกกว่าและซับซ้อนน้อยที่สุดอย่างเรฟเวน ตัวอย่างอันเด่นชัดที่สุดได้เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในเมืองบาลัดของอิรัก เมื่อพรีเดเตอร์จับภาพผู้ก่อการร้าย3คนกำลังใช้เครื่องยิงลูกระเบิด(ค.)ถล่มที่มั่นของทหารสหรัฐฯได้ ภาพที่เห็นชัดเจนทำให้ผู้บังคับยานตัดสินใจยิงอาวุธปล่อยทำลายเป้าหมายสำเร็จ โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตทั้งนักบินและกองกำลังภาคพื้นดิน
กองทัพอากาศสหรัฐแถลงว่าเฉพาะพรีเดเตอร์เพียงแบบเดียว เที่ยวบินของมันก็เพิ่มขึ้นมากแล้วจาก2,000ชั่วโมงในเดือนมกราคมเป็น4,300ชั่วโมงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเดือนพฤศจิกายนกับธันวาคมก็เพิ่มชั่วโมงบินลาดตระเวนรบขึ้นจากวันละ14มาเป็น18ชั่วโมง โกลเบิล ฮอว์คซึ่งเป็นUAVอีกแบบยังเพิ่มเที่ยวบินขึ้นด้วยระหว่างกองทัพอากาศเพิ่มระบบUAVขึ้นเป็น3ระบบ จากเดิมเคยใช้งานอยู่2ระบบ ระบบที่ใช้แพร่หลายที่สุดเพราะราคาถูกและใช้ง่ายที่สุดคือเรฟเวน UAVน้ำหนัก2ก.ก.ของกองทัพบกที่ใช้งานระยะใกล้ด้วยการปล่อยจากมือ เที่ยวบินของมันทะลุ300,000ชั่วโมงไปเรียบร้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นสองเท่าของปี2006
กองทัพบกสหรัฐฯมีUAVใช้อยู่รวม361เครื่องเฉพาะที่อิรัก ประกอบด้วยแชโดว์,ฮันเตอร์และเรฟเวน ทั้งหมดนี้บินรวมกันได้300,000ชั่วโมงในช่วงสิบเดือนแรกของปี2007 UAVเหล่านี้มีคุณประโยชน์มากพอที่ผู้บังคับหน่วยรบจะพยายามสุดความสามารถเพื่อให้ได้มันมา เพราะใช้ง่าย น้ำหนักเบา ประหยัด และที่สำคัญคือมันลดความสูญเสียกำลังพลได้มาก แทนที่จะส่งทหารไปลาดตระเวนตามถนนสายต่างๆก็ส่งเรฟเวนหรือUAVอื่นไปแทน โอกาสที่ทหารจะเสียชีวิตเพราะคาร์บอมบ์ก็หมดไปแต่ได้ข้อมูลข่าวสารดีกว่า เพราะเป็นมุมมองจากอากาศ มองเห็นภาพพื้นที่ได้กว้างกว่า ระยะเวลาปฏิบัติการยังยาวนานกว่าใช้เครื่องบินขับไล่อย่างF16หรือเครื่องบินโจมตีเช่นA10 ซึ่งนักบินต้องเครียดและเสี่ยงชีวิต ต่างจากUAVที่บินสอดแนมได้ทั้งวันโดยทหารเปลี่ยนเวรกันมานั่งเฝ้าหน้าจอภาพ โยกคันบังคับบนเก้าอี้นุ่มในห้องแอร์เย็นสบาย
ตามรายงานที่เผยแพร่โดยเพนทากอน บ่งบอกว่าจะพัฒนาระบบรบ”ไร้มนุษย์”ให้ได้ผลดีขึ้นไปอีกใน25ปีหน้า อันอาจรวมถึงยานทำลายกับระเบิดควบคุมระยะไกล รถสายพานควบคุมระยะไกลติดปืนกลเบาเพื่อทำลายที่มั่นแทนการใช้ทหารราบ หรือยานดำน้ำฉลาดที่คิดเป็น สามารถหลบหลีกอุปสรรคเข้าไปทำลายที่หมายชายฝั่ง สำหรับอากาศยานไร้นักบินหรือUAV มันได้กลายเป็นระบบอาวุธที่เหมาะกับการทำสงครามปราบปรามการก่อการร้ายในปัจจุบันไปแล้ว ตัวเลขชั่วโมงบินที่เพิ่มขึ้นในอิรักได้พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ลดความสูญเสียได้จริง
แล้วกองทัพไทยของเราล่ะสนใจUAVบ้างหรือเปล่า? คำตอบคือเรามีระบบอาวุธนี้ใช้งานเหมือนกัน เท่าที่ทราบคือของกองทัพบกมีUAVนำเข้าจากอิสราเอล และที่กองทัพอากาศกำลังพัฒนาอยู่ในขั้นทดลอง อีกนานเท่าไรจึงจะสัมฤทธิ์ผลนั้นยังตอบไม่ได้ ระบบของเราอาจไม่ซับซ้อนหรือส่งข้อมูลได้ไกลเท่ากับพรีเดเตอร์หรือระบบอื่นๆของสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะได้ประโยชน์จากมันมากกว่าที่เป็น ในภาวะข้าวยากหมากแพงเช่นนี้เรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์อาจดูเหมือนฟุ่มเฟือยในสายตาของคนบางกลุ่ม แต่จากตัวอย่างของสหรัฐฯในอิรักและอาฟกานิสถาน รัฐบาลไทยน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับระบบนี้มากกว่าเดิม
ถ้าUAVของสหรัฐฯลดความสูญเสียของทหารในกองทัพของเขาได้จริง มันก็น่าจะช่วยเราได้ในทำนองเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้จะคิดอะไรอยู่ก็โปรดผลักดันมันให้สำเร็จโดยเร็วเถิด ทหารหาญของเราเสียชีวิตใน3จังหวัดภาคใต้ไปมากแล้ว พวกเขาต้องสูญเสียเลือดเนื้อกันอีกเท่าไรกว่าจะพบสันติ ผู้ใหญ่ท่านใดในกองทัพจะให้คำตอบได้บ้าง?

“แบล็ควอเตอร์”...อีกหนึ่งเหล่าทัพของอเมริกา?


ถ้าการสู้รบเป็นหน้าที่ของทหาร การรักษาความปลอดภัยก็ต้องเป็นหน้าที่ของพลเรือน ยามธรรมดาที่พกแค่กระบองหรือปืนพกรีวอลเวอร์.38คงไม่มีอะไรให้กล่าวถึง แต่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วนี้ไม่ได้พกแค่ปืนสั้นหรือกระบอง แต่มีทั้งรถSUVหุ้มเกราะติดปืนกลM249กระสุน5.56 มม.บนหลังคา ใช้อาวุธประจำกายทั้งAK47(อาก้า),M4A1(ปืนกลมือตระกูลM16)และอาวุธสงครามหลากหลาย
พนักงานส่วนใหญ่มีอดีตเป็นทหารพลร่ม,หน่วยรบพิเศษ,ซีลจากกองทัพเรือสหรัฐฯ หรืออดีตหน่วยปฏิบัติการพิเศษอื่นๆที่มีขีดความสามารถสูงในการรบระยะประชิด คุณสมบัติข้างต้นทำให้นึกถึงชื่อเดียวคือ”BLACKWATER” หรือในชื่อเต็มว่า”BLACKWATER WORLD WIDE” บริษัทรักษาความปลอดภัยข้ามชาติของบุรุษทายาทมรดกหลายพันล้านสัญชาติอเมริกันนามเอริก พรินซ์
บริษัทรักษาความปลอดภัยที่ชื่อแปลเป็นไทยว่า”น้ำครำ”นี้ ถูกก่อตั้งขึ้นโดยพรินซ์กับเพื่อนคืออัล คลาร์กเมื่อปี 1997 ไม่ว่าสื่อจะเรียกลักษณะการทำงานของบริษัทนี้ว่า”บริษัทรักษาความปลอดภัย”(security contractor) หรือทหารรับจ้าง(mercenary) ลักษณะงานที่ทำก็คือการใช้อาวุธระวังป้องกันสถานที่และบุคคลในเขตสงคราม และตอบโต้ได้ตามความจำเป็นเมื่อถูกโจมตีก่อนเท่านั้น
แบล็ควอเตอร์มีสำนักงานใหญ่ในรัฐนอร์ธ แครโรไลนา สหรัฐอเมริกา ถึงพร้อมทุกอย่างด้านยุทโธปกรณ์และเป็นสนามฝึกทักษะของพนักงานซึ่งถูกอ้างว่าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทฯสามารถฝึกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธได้ถึงปีละ 40,000 คน ทั้งหมดนี้มาจากทั้งกองทัพประจำการและหน่วยงานอื่น
ในบรรดาบริษัทรักษาความปลอดภัยใหญ่3บริษัทของสหรัฐฯ แบล็ควอเตอร์คือกลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รปภ. 987 คน ในจำนวนนี้ 744 คนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ รายได้ทั้งหมดมาจากการรับเหมางานรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและทรัพย์สินของทางการสหรัฐฯ ที่น่าสังเกตคือ 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดที่ทำให้หลวงนั้นไม่ต้องประมูลงานแข่งขันกับบริษัทอื่น แสดงให้เห็นถึงความ”ปึ้ก”ของเอริก พรินซ์กับนายจ้างคือรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
ก่อนจะเป็นแบล็ควอเตอร์ พรินซ์คือลูกชายผู้คาบช้อนทองของเอ็ดการ์ ดี. พรินซ์ ผู้ก่อตั้งพรินซ์ คอร์โปเรชั่น บริษัทสร้างชิ้นส่วนรถยนต์กับมารดาคือเอลซา พรินซ์ เป็นลูกชายคนสุดท้องรองจากพี่สาว 3 คน ได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินตั้งแต่อายุ 17 ก่อนจบจากโรงเรียนฮอลแลนด์ คริสเตียน ไฮ แล้วจึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือแอนนาโพลิส รัฐแมรี่แลนด์ แต่เรียนได้แค่ 3 เทอมก็ออกมาเรียนต่อที่ฮิลส์เดล คอลเลจในปี 1992 และอาสาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงกับนักดำน้ำกู้ชีพ ในสำนักงานสำรวจฮิลส์เดลไปด้วยระหว่างนั้น รวมทั้งเข้าฝึกงานในทำเนียบขาวสมัยจอร์จ บุช(พ่อ)เป็นประธานาธิบดี และทำงานการเมืองร่วมกับนายเดนา โรห์ราบาเชอร์ส.ส.พรรครีพับลิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย
หลังจบจากฮิลส์เดล คอลเลจ พรินซ์สมัครกลับเข้าเรียนในโรงเรียนนายทหารสัญญาบัตร(Officer Candidate School)ของกองทัพเรือจนจบออกมาเป็นนายทหาร ถึงพ่อจะรวยแต่พรินซ์ก็ใช่ว่าจะประพฤติตัวเสเพล ระหว่างอยู่ในโรงเรียนนายทหารฯนี้เองที่เขาฝึกหลักสูตร SEAL จนสำเร็จ ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในความขัดแย้งที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันด้วย ทั้งในไฮติ ตะวันออกกลางและแถบเมดิเตอเรเนียน รวมทั้งในบอสเนียที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง พอพ่อตายกระทันหันเมื่อปี 1995 แม่ของพรินซ์ก็ขายบริษัทพรินซ์ คอร์โปเรชั่นให้กับจอห์นสัน คอนโทรล อิงค์ในราคา 1.3 พันล้านดอลลาร์ อีกสองปีถัดมาพรินซ์จึงย้ายมาตั้งหลักปักฐานในเวอร์จิเนียเพื่อก่อตั้งบริษัทแบล็ควอเตอร์ เวิลด์ไวด์ ด้วยจุดมุ่งหมายคือการเข้ารับงานรักษาความปลอดภัย ให้การฝึกด้านความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน พรินซ์ใช้มรดกของพ่อไปครึ่งหนึ่งซื้อที่ดินมากถึง 6,000 เอเคอร์เพื่อตั้งศูนย์ฝึกพนักงานของตัวเองและหน่วยงานอื่นในเขตบึงเกรท ดิสมอลบริเวณรอยต่อรัฐนอร์ธ แคโรไลนากับเวอร์จิเนีย ต่อมาไม่กี่ปีจึงซื้อเพิ่มอีก 1,000 เอเคอร์ ที่นี่เป็นเสมือนเมืองเล็กๆอันพร้อมพรั่งทั้งอุปกรณ์และบุคคลากร น้ำสีดำคล้ำของบึงนี้เองคือที่มาแห่งนาม”แบล็ควอเตอร์”
เมื่อสงครามรุกรานอิรักระเบิดในปี 2003 แบล็ควอเตอร์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนต์ บริษัทในเครือที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2002 คือหนึ่งใน 60 บริษัทที่ปรึกษาความปลอดภัยที่ตามหลังกองทัพเข้าสู่ดินแดนยึดครอง เพื่อรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่,บุคคล รวมทั้งฝึกอาวุธยุทธวิธีให้กองทัพอิรักหรืออื่นๆตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
ความ”ปึ้ก”ระหว่างแบล็ควอเตอร์กับรัฐบาลกลาง ปรากฏได้จากชื่อของบุคคลต่อไปนี้เริ่มจากกรรมการผู้จดการคือแกรี่ แจ็คสันนั้นเคยเป็นทหารหน่วยSEALเหมือนพรินซ์ รองประธานกรรมการคือโคเฟอร์ แบล็คก็เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของซีไอเอ หลังลาออกแบล็คตั้งบริษัทข่าวกรองเอกชนคือโทเทิล อินเทลลิเจนซ์ โซลูชั่น อิงค์ขึ้นเพื่อรับงานจากรัฐบาล ควบคู่กับตำแหน่งรองประธานกรรมการของแบล็ควอเตอร์ โจเซฟ อี. ชมิตซ์ผู้บริหารพรินซ์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของกลุ่มแบล็ควอเตอร์ก็เช่นกัน เคยเป็นผู้ตรวจการกระทรวงกลาโหมสมัยจอร์จ บุช(ลูก) โรเบิร์ต ริชเชอร์ผู้บริหารระดับสูงอีกคน ก็เคยเป็นหัวหน้าแผนกตะวันออกใกล้ของซีไอเอแล้วลาออกมาอยู่กับพรินซ์เมื่อเดือนมกราคมปี 2007
ชือเสียงของแบล็ควอเตอร์เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากการรุกรานอิรัก เมื่อรับงานรักษาความปลอดภัยด้วยสัญญาจ้าง 21 ล้านดอลลาร์โดยไม่ผ่านการประมูลแข่งขัน ให้กับนายลิวอิส พอล เบรเมอร์ หัวหน้าคณะรัฐบาลชั่วคราวของอิรักระหว่างการยึดครอง นับแต่เดือนมิถุนายน 2004 แบล็ควอเตอร์ได้รับค่าจ้าง 320 ล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นงบประมาณ 5 ปีของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้บุคคลสำคัญของสหรัฐฯหรือชาติอื่นทีเห็นควรในเขตสู้รบ ปี 2006 แบล็ควอเตอร์อีกเช่นกันที่ได้สัญญาว่าจ้างให้ป้องกันสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในอิรัก ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานทูตสหรัฐฯใหญ่ที่สุดในโลก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯประมาณว่า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธร้ายแรง 20,000 ถึง 30,000 คนในอิรัก แต่หน่วยงานอื่นประมาณอย่างไม่เป็นทางการว่าน่าจะมีถึงแสน ตัวเลขจะเป็นอย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ยังต้องพึ่งพาหน่วยงานอย่างแบล็ควอเตอร์ ตามความจำเป็นที่นายไรอัน คร็อกเกอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรักได้แถลงต่อวุฒิสภา”ไม่มีทางเลยที่สำนักรักษาความปลอดภัยทางการทูตของเรา จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำงานเต็มเวลาเพื่อรักษาความปลอดภัยในอิรัก เว้นแต่จะใช้บริการจากบรรดาผู้เหมาช่วงเหล่านี้”
ความเป็นอเมริกันและสามารถตอบโต้ได้ด้วยอาวุธร้ายแรง นำมาซึ่งการยั่วยุและโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเนืองๆ เหตุการณ์ครั้งสำคัญนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่แบล็ควอเตอร์ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2004 ในเมืองฟัลลูจาห์ ระหว่างการคุ้มกันขบวนรถลำเลียงอาหารให้บริษัทคู่ค้าคือESS(Eurest Support Services บริษัทรับเหมาช่วงก่อสร้างและลำเลียงอาหารจากบริษัทแฮลลิเบอร์ตันของดิค เชนีย์ )
เจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์ 4 คนคือสก็อตต์ เฮลเวนสตัน,เจอร์โค ซอฟโค,เวสลีย์ บาตาโลนาและไมเคิล ทีคถูกผู้ก่อการร้ายอิรักสังหารด้วยระเบิดมือโยนเข้าหน้าต่างรถและกระสุนปืนเล็ก ศพทั้งหมดถูกเผา ลากไปตามถนน แล้วแขวนไว้ใต้สะพานข้ามแม่น้ำยูเฟรตีส เป็นเหตุให้เกิดสงครามกวาดล้างครั้งใหญ่คือ”ศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่1”(อีกไม่กี่เดือนก็เกิด”ศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่2”ตามมา) หลังจากภาพอันสยดสยองของเจ้าหน้าที่แบล็ควอเตอร์ถูกแพร่ไปในข่าวทั่วโลก การลาดตระเวนด้วยกองกำลังขนาดเล็กและการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมถูกระงับ เพื่อเปิดโอกาสให้กองกำลังขนาดใหญ่ของนาวิกโยธินบุกเข้ากวาดล้างทั้งเมืองแบบ”รบในเมือง”(urban warfare)เต็มรูปแบบ
ผลจากศึกฟัลลูจาห์ครั้งที่1คือทหารอเมริกันเสียชีวิต 27 นาย บาดเจ็บอีกนับร้อย ส่วนพลเรือนและผู้ก่อการร้ายอิรักเสียชีวิตได้นับหลายร้อย ชื่อของอาบู มูซาบ อัล-ซาร์กาวีเป็นที่รู้จักจากศึกครั้งนี้ว่าเป็นหัวโจกวางแผนโจมตีกองกำลังสหรัฐฯก่อนจะถูกถล่มดับคาที่หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานข่าวหลายกระแสตรงกันว่าสหรัฐฯใช้ระเบิดนาปาล์มและระเบิดฟอสฟอรัสขาวซึ่งขัดต่อข้อตกลงเจนีวาครั้งที่ 4 และยังมีรายงานขัดแย้งกันเองอีกมากมายระหว่างกองทัพสหรัฐฯและสื่อที่ปัจจุบันนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ
หลังเหตุการณ์ชนวนให้เปิดศึกครั้งใหญ่ในฟัลลูจาห์ เจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์และหน่วยรักษาความปลอดภัยอื่นยังถูกโจมตีอีกหลายครั้ง ด้วยจุดอ่อนคือไม่ใช่ทหารแต่เป็นพลเรือนต่างชาติถืออาวุธสงคราม ครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2007 เมื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทเปิดฉากยิงใส่พลเรือนอิรักในย่านนิซูร์ สแควร์ กรุงแบกแดด ชาวอิรักเสียชีวิต 17 คน ระหว่างการอารักขาขบวนรถของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯไปประชุมทางตะวันตกของกรุงแบกแดด
ผู้เห็นเหตุการณ์ให้ปากคำว่าเป็นการยิงโดยปราศจากการยั่วยุ ใช้กำลังเกินจำเป็น ตรงกับคำให้การของทหารสหรัฐฯบางนายในที่เกิดเหตุ ทางแบล็ควอเตอร์แถลงแก้ว่าถูกยั่วยุและโจมตีก่อนจึงตอบโต้ไปตามเหมาะสม หลักฐานสำคัญที่คณะกรรมการสอบสวนพบคือข้อมูลเทปการติดต่อระหว่างรถในขบวนกับกองบัญชาการ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่บล็ควอเตอร์ได้วิทยุกลับมาว่าถูกกลุ่มบุคคลในเครื่องแบบทหารอิรักโจมตีก่อนหลายครั้ง มีภาพถ่ายแสดงปลอกกระสุนปืนอาก้าตกเกลื่อนในที่เกิดเหตุแต่ก็ใช้เป็นหลักฐานได้ยากเพราะไม่ระบุวันที่ รวมทั้งรถยนต์ในเหตุการณ์วันนั้นก็ถูกปะรูกระสุนทำสีใหม่จนไม่สามารถระบุร่องรอยกระสุนได้
ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของบริษัทนอกกรีนโซน (บริเวณที่ตั้งสถานทูตสหรัฐฯและส่วนราชการอื่นๆในกรุงแบกแดด)ถูกทางการสหรัฐฯยกเลิกทันที หลังเกิดเหตุเพียง1วันเพื่อหลบกระแสความโกรธแค้นก่อนจะสอบสวนอย่างละเอียด มุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ตัวต้นเหตุ3คนที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสอบสวน ส่วนเอริก พรินซ์ก็ต้องเข้าให้การต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและปฏิรูปกิจการภายในของอิรัก ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าบริษัทฯจะปฏิบัติงานนอกกรีนโซนได้หรือไม่ หรือว่าต้องถอนตัวจากอิรักไปเลย
การมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยคนในรัฐบาลของบุช เมื่อเป็นที่รู้กันว่าแบล็ควอเตอร์และพรินซ์ค่อนข้าง”เส้นใหญ่” จึงเกิดคำถามจากคณะกรรมการกำกับดูแลฯซึ่งควบคุมการทำงานของบริษัทฯ ว่าการใช้แบล็ควอเตอร์นั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยถึงวันละ 1,222 ดอลลาร์ หรือปีละ 445,000 ดอลลาร์ขณะที่ใช้ทหารธรรมดาจะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าถึง6เท่า แต่พรินซ์ก็มีเหตุผลโต้กลับว่แม้จะแพงกว่าแต่กองทัพก็ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อฝึกทหารไปมากกว่านั้นกว่าจะรบได้
ถัวเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่ของแบล็ควอเตอร์ซึ่งรบได้แบบทหารหรือบางคนเก่งกว่าทหารปกติ เพราะเคยอยู่หน่วยรบพิเศษมาก่อนก็ยังมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าอยู่ดี แม้การดำเนินคดีแบล็ควอเตอร์ในอิรักยังไม่แล้วเสร็จ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ประกาศระเบียบใหม่แล้ว มีสาระสำคัญว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธของบริษัทฯต้องมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศติดตามทุกครั้ง เมื่อปฏิบัติหน้าที่ในหรือรอบกรุงแบกแดด รถยนต์หุ้มเกราะของบริษัททุกคันต้องติดกล้องวิดีโอ ต้องบันทึกการสนทนาติดต่อระหว่างขบวนรถกับศูนย์บัญชาการตลอดเวลา เพื่อทราบความเคลื่อนไหวทุกระยะ
อเมริกาจะมีแบล็ควอเตอร์หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่แน่ๆคืออิรักในตอนนี้ทำท่าว่าจะเหมือนเวียตนามเข้าไปทุกที กว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชูนโยบายถอนทัพกลับบ้านเป็นหลัก คนอเมริกันก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องสูญเสียเด็กหนุ่มที่ยังมีอนาคตไปอีกเท่าไร กลางผืนทรายอันร้อนระอุของอิรัก