วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เขตปลอดภัยชื่อ"Green zone"


เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่2ด้านยุโรปสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน กิจกรรมแรกๆที่ฝ่ายสัมพันธมิตรลงมือทำคือการแบ่งเนื้อที่กรุงแบร์ลีนออกเป็นส่วนๆ ส่วนหนึ่งทางตะวันออกคือเขตปกครองของโซเวียต(ในขณะนั้น)ซึ่งรุกไล่เยอรมันมาจากเขตแดนของตนแล้วเข้าถึงพื้นที่เมืองหลวงได้ก่อน ส่วนที่เหลือคือเขตปกครองที่จัดสรรกันเองในหมู่ชาติตะวันตกคืออังกฤษ,สหรัฐฯและฝรั่งเศส แล้วต่อจากนั้นมาอีกสิบกว่าปีจึงมีการสร้างกำแพงแบร์ลีนล้อมรอบเฉพาะเขตยึดครองของสามชาติดังกล่าว เพื่อป้องกันการรุกรานของโซเวียต จะถือว่าเป็น"เขตปลอดภัย"ก็ได้สำหรับชาวกรุงแบร์ลีนที่จะได้มีชีวิตเสรีภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกก่อนกำแพงนี้จะถูกทำลายหลังการล่มสลายของโซเวียต

ต่อมาอีกห้าสิบกว่าปีเมื่อสหรัฐฯรุกรานอิรักในปี2003 ด้วยข้ออ้างว่าจะเข้าไปค้นหาและทำลายอาวุธอำนาจทำลายล้างสูง(Weapon of Mass Destruction:WMD)ที่ถูกซุกซ่อนไว้ และเพื่อปลดปล่อยชาวอิรักจากการกดขี่ของซัดดาม ฮูเซน เขตยึดครองทำนองคล้ายคลึงกันก็เกิดขึ้นอีกในกรุงแบกแดด เพื่อให้เป็นที่ตั้งของกองกำลังพันธมิตรอันประกอบด้วยสหรัฐฯ,อังกฤษและชาติอื่นๆ ให้เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมทั้งของสหรัฐฯและรัฐบาลใหม่ของอิรักระหว่างกำลังทหารของผู้ยึดครองยังอยู่ ด้วยชื่อว่าGreen Zone หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า International Zoneตามความเป็นจริงที่เป็นเขตในความควบคุมของหลายชาติดังกล่าว ห้อมล้อมด้วยอาคารที่มั่นอันแข็งแรงและจุดตรวจมากมายในเนื้อที่10ตารางกิโลเมตร เพื่อคงความปลอดภัยของศูนย์บัญชาการผู้ยึดครองที่ถูกห้อมล้อมด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงแบกแดด ซึ่งยังเสี่ยงต่ออันตรายจากการโจมตีจากชาวอิรักที่ไม่พอใจการยึดครองและกลุ่มอำนาจต่างๆที่ถูกกดไว้ในสมัยของซัดดาม ฮูเซน แล้วถือโอกาสออกมาต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองหลังจากรัฐบาลเก่าถูกโค่น

เดิมนั้น"กรีนโซน"เป็นพื้นที่ปิดล้อมแน่นหนาอยู่แล้วในใจกลางกรุงแบกแดด ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือเป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลซัดดามและรัฐบาลก่อนหน้านั้น ทั้งยังเป็นศูนย์บัญชาการของพรรคคือพรรคบาธที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลก่อนถูกโค่นล้มเช่นกัน กรีนโซนแต่เดิมนั้นถูกกันไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองแท้ๆไม่ใช่เขตอยู่อาศัย ในเขตนี้จึงมีแต่อาคารสถานที่ราชการทั้งกระทรวง ทบวง กรมและฐานทัพ รวมถึงทำเนียบที่พำนักอีกหลายแห่งของซัดดาม ฮูเซนและผู้ใกล้ชิด เขตนี้เป็นที่รู้กันในชื่อเดิมตามภาษาอาหรับว่า"คาร์ราดัท มาริอัม"ที่ตั้งตามชื่อของสตรีชาวอิรักผู้มีชื่อเสียงจากการช่วยเหลือผู้ยากไร้จำนวนมากในกรุงแบกแดด มีอาคารใหญ่ที่สุดคือรีพับลิกัน พาเลซซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของซัดดามและปัจจุบันถูกสหรัฐฯและพันธมิตรเข้าครอบครองเพื่อใช้มันในหน้าที่เดียวกัน หลังจากละเว้นไว้ไม่ทิ้งระเบิดทำลายระหว่างยุทธการอิรักเสรีในปี2003 ด้วยความคิดว่าน่าจะได้พบเอกสารและหลักฐานสำคัญอื่นๆที่นี่

รีพับลิกัน พาเลซยังมีหน้าที่รองอีกหนึ่งคือเป็นสถานทูตสหรัฐฯประจำอิรักในระหว่างสถานทูตจริงยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่กว่ากองกำลังของสหรัฐฯและพันธมิตรจะรุกผ่านกรีนโซนมาถึงอาคารหลังนี้ สิ่งของและเอกสารสำคัญต่างๆก็ถูกรื้อค้นและทำลายเสียหายไปมากแล้ว เหลือไว้แต่ตัวทำเนียบที่ยังไม่บุบสลายแต่สิ่งมีค่าและเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ได้ถูกเคลื่อนย้ายหนีหรือถูกปล้นไปมาก

กรีนโซนถูกกองทัพสหรัฐฯเข้ายึดครองสำเร็จในเดือนเมษายน 2003 นับเป็นที่มั่นที่แข็งแรงแน่นหนาที่สุดในแบกแดดจากความสำคัญของมันในฐานะศูนย์บัญชาการของรัฐบาลเดิมและพรรคบาธ ซัดดามและชนชั้นปกครองทั้งหมดได้อพยพออกจากบริเวณนี้ไปก่อนถูกยึดครองไม่นานหลังจากประเมินแล้วว่าไม่มีทางเอาชนะสหรัฐฯได้ในสงครามเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุผลหลักคือไม่ต้องการให้ผู้รุกรานจับกุมตัวได้ และเหตุผลรองคือกลัวชาวอิรักที่เคยอยู่ใต้อำนาจอันโหดเหี้ยมจะแก้แค้นเมื่อตนเพลี่ยงพล้ำ ยังมีชาวอิรักหลงเหลืออยู่ในกรีนโซนบ้างแต่ก็เป็นพวกคนยากจนไร้ทะเบียนบ้าน หลังจากยึดครองชาวอิรักกลุ่มนี้ถูกกันไว้ในเขตเฉพาะมีชื่อว่า"215 Apartment”

การโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐฯและพันธมิตรในช่วงแรกของการรุกราน ได้ทำให้ชาวอิรักอพยพออกจากอาคารหลายแห่งย่านใจกลางกรุงแบกแดด รัฐบาลใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นทันทีหลังการยึดครองสำเร็จจึงตัดสินใจใช้อาคารที่ยังมีสภาพดีเหล่านี้เป็นที่ทำการ นายเจย์ การ์เนอร์หัวหน้าทีมบูรณะอาคารในกรีนโซนใช้รีพับลิกัน พาเลซเป็นกองบัญชาการชั่วคราว อาคารน้อยใหญ่ในละแวกนั้นต่างถูกทีมก่อสร้างเอกชนที่ประมูลงานได้และคณะรัฐบาลใหม่ใช้งานอย่างถ้วนทั่ว ทั้งเป็นที่ทำงานและพักอาศัย โดยตัวรีพับลิกัน พาเลซเองนั้นมีกองกำลังป้องกันชาติจากฟลอริดา(Florida Army National Guard)จำนวนหนึ่งกองร้อยตั้งมั่นคอยป้องกันในช่วงแรกตั้งแต่เดือนเมษายน2003ถึงกุมภาพันธ์2004 มีทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานบริษัทก่อสร้างทยอยเข้าไปในกรีนโซนหลังจากนั้นมากขึ้นจนนับได้5,000คนทั้งชายและหญิงในปัจจุบัน

หมู่อาคารถูกทิ้งร้างหลังเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่สนใจของกองกำลังยึดครองเท่านั้น ชาวอิรักที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคบาธแต่ต้องสูญเสียที่อยู่ไปจากการสู้รบจนส่วนใหญ่ต้องอาศัยในสลัมหรือบ้านช่องที่สร้างตามมีตามเกิดต่างก็พากันอพยพเข้ามาอยู่ ทั้งที่ต้องการบ้านช่องอันแน่นหนาแข็งแรงและเพื่อความปลอดภัยของตนภายในกรีนโซนด้วย เพราะถูกพรรคบาธและรัฐบาลของซัดดามกดขี่มานาน พอถูกปลดปล่อยจึงถือสิทธิ์เข้ามาอยู่ในเขตนี้ซึ่งมีสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่านอกกรีนโซน ประมาณว่ามีชาวอิรักผู้อาศัยอยู่ในกรีนโซนนี้เช่นกันถึง5,000กว่าคน จำนวนคนทั้งฝ่ายยึดครองและอิรักในกรีนโซนปัจจุบันอาจจะสูงกว่าเดิมเมื่อกองทัพสหรัฐฯเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ

พอกรีนโซนถูกปิดกั้นให้เป็นเขตปลอดภัยหลังการยึดครอง ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีกองกำลังคอยอารักขาซึ่งเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯและพันธมิตร ทั้งที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตพร้อมอาวุธหนัก,เบาครบมือและที่ควบคุมจุดตรวจทุกจุดเข้าสู่รั้วกรีนโซน ซึ่งสภาพของพื้นที่โดยรอบไม่ต่างจากป้อมปราการที่มีทั้งรั้วคอนกรีตอัดแรงหนากันระเบิด,ลวดหนาม,รังปืนกล บางจุดยังมียานเกราะเบาและหนักวางกำลังประจำที่ เพราะการระวังป้องกันแน่นหนานี้เองกรีนโซนจึงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดของกรุงแบกแดด แตกต่างจากนอกเขตนี้ที่มีชื่อตรงข้ามกันว่า"Red Zone”ล้อมรอบและขวางกั้นระหว่างกรีนโซนกับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นทั้งสนามบินพานิชย์และฐานทัพอากาศที่สามารถปกป้องกรีนโซนได้อีกมิติ

เหตุที่ใช้สีแดงสื่อความหมายนี้ ก็เพราะหลังจากการยึดครองแล้วสหรัฐฯและพันธมิตรจำต้องวางกำลังป้องกันไว้แต่เฉพาะเขตที่ดูแลได้ทั่วถึงเท่านั้น เพื่อไม่ต้องสิ้นเปลืองกับกำลังพลและงบประมาณ แม้ว่าจะโค่นอำนาจซัดดาม ฮูเซนได้สำเร็จแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกพรรคบาธที่เหลือหรือชาวอิรักอื่นๆที่จงเกลียดจงชังอเมริกันจะถูกกำจัด "เรดโซน"จึงเปรียบเสมือนเนื้อที่ของเยอรมนีและแบร์ลีนตะวันออกในช่วงสงครามเย็น ในขณะที่กรีนโซนคล้ายคลึงกับแบร์ลีนตะวันตก นักข่าวชาวสหรัฐฯคือสตีเฟน วินเซนต์ผู้ถูกสังหารในเมืองบาสราเมื่อเดือนสิงหาคม2005ได้เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของเรดโซนไว้เล่มหนึ่งด้วย คือ"Red Zone:A Journey to the Soul of Iraq1จากประสบการณ์ตรงของเขาเองที่ได้สัมผัสมาในเรดโซน และด้วยการวางกำลังป้องกันแน่นหนานี้่อีกเช่นกันที่ทำให้กรีนโซนมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า"The Bubble”(ฟองอากาศ)

ทิศใต้ของกรีนโซนนี้ถูกปกป้องไว้ด้วยพรมแดนธรรมชาติคือแม่น้ำไทกริส มีทางเข้าจากแม่น้ำทางเดียวคือสะพานอาร์บาตาช ทามุซ(ชื่อเดิมในสมัยซัดดามคือสะพาน14กรกฎาคม ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงวันแรกในการครองอำนาจของซัดดาม ฮูเซน) ทางเข้าจุดเดียวนี้่เช่นกันที่ล่อแหลมต่อการโจมตีจากฝ่ายต่อต้านอเมริกัน เป็นหนึ่งในไม่กี่จุดที่พบว่ามีการยิงทั้งเครื่องยิงลูกระเบิด(.)และเครื่องยิงจรวดเข้าใส่กรีนโซน เหตุร้ายแรงที่สุดเกิดในกรีนโซนขึ้นเมื่อวันที่12เมษายน 2007 เมื่อมีเหตุระเบิดขึ้นหนึ่งลูกในร้านอาหารของรัฐสภา ยังผลให้โมฮัมเม็ด อาวาดสมาชิกสภาจากแนวร่วมชาวซุนหนี่แห่งชาติเสียชีวิต และมีผู้ถูกลูกหลงบาดเจ็บไป22คนรวมทั้งรองประธานาธิบดีอิรัก

ถึงแม้การบุกเข้ากรีนโซนตรงๆจะทำไม่ได้แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีทั้งจรวดและเครื่องยิงลูกระเบิดถูกยิงเข้าไปทุกวันตั้งแต่ช่วงอีสเตอร์ของปี2008ถึงวันที่5พฤษภาคมปีเดียวกันจนทหารและพลเรือนบาดเจ็บเสียชีวิตไปมาก ตามสถิติที่ทางฝ่ายสหรัฐฯรวบรวมไว้ จรวดและระเบิดยิงส่วนใหญ่ถูกยิงมาจากซาดร์ ซิตี้ ในวันที่6เมษายน 2008มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิตไปสองนายและบาดเจ็บอีก17จากการถูกถล่มด้วยจรวดและเครื่องยิงลูกระเบิด

ภายหลังจากสหรัฐฯและพันธมิตรได้ส่งมอบการครอบครองดินแดนให้รัฐบาลอิรักใหม่ อาคารสถานที่ต่างๆในกรีนโซนได้ถูกส่งมอบให้รัฐบาลนี้เช่นกัน แต่ระหว่างที่สหรัฐและพันธมิตรยังคงกองกำลังไว้ในอิรักและกรุงแบกแดด กรีนโซนยังถูกใช้เป็นที่มั่นต่อไปจนกว่าสหรัฐฯจะถอนกำลังทหารออกจากอิรักหมดตามแผนภายใน2-4ปีข้างหน้า นอกเหนือจากนี้กรีนโซนยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตของชาติต่างๆเช่นสหรัฐฯ,อังกฤษ,ออสเตรเลียและอียิปต์

ปัจจุบันกรีนโซนยังคงอยู่ตราบเท่าที่กองกำลังสหรัฐฯและพันธมิตรยังครอบครองอิรัก พื้นที่ส่วนนี้คือเครื่องย้ำเตือนให้ระลึกถึงสัจจะธรรมแห่งความขัดแย้งข้อสำคัญ คือเทคโนโลยีอาจจะสำคัญในระดับหนึ่งแต่ในที่สุดแล้ว"กึ๋น"หรือ"ใจ"ของทหารและนักยุทธศาสตร์นั่นแหละสำคัญที่สุด สหรัฐฯมีทั้งเทคโนโลยีและตัวช่วยอื่นมากมายจนทำให้บุกเข้ากรุงแบกแดดและโค่นอำนาจซัดดาม ฮูเซนได้ในเวลาอันสั้น แต่ในที่สุดก็ถูกบีบให้เล่นสงครามกองโจรที่ค่อยๆบั่นทอนทั้งขวัญและกำลังใจทหารของตนไปเรื่อยๆ จรวดนำวิถีที่ว่าแม่นนั้นจะมีประโยชน์ตรงไหนถ้าแยกเป้าไม่ออก? รถถังที่ว่าแกร่งและดีที่สุดในโลกนั้นอาจตกเป็นเหยื่อโมโลตอฟค็อกเทลที่ผสมกันขึ้นง่ายๆแล้วโยนจากอาคารสูงลงมาใส่ได้เหมือนกัน

ถึงแม้สหรัฐฯจะมีแผนการถอนทหารจากอิรักให้หมดภายในไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ใครจะรู้บ้างว่าสงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี2003จะหยุดได้ตามใจต้องการ ถ้ากองกำลังยังอยู่กรีนโซนก็ยังจำเป็นต้องคงสภาพไว้เช่นเดิม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเมื่อใดกรุงแบกแดดจะรวมกันเป็นพื้นที่เดียวไม่ต้องแบ่งสีเช่นในปัจจุบัน

1ISBN 1-890626-57-0

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณคุณสรศักดิ์มากคับที่ให้ข้อมูลทางทหารที่ดีๆแบบนี้
    ติดตามคุณตั้งแต่ แฟนพันธุ์แท้ แล้วคับ สุดยอดดดด เลยคับ
    แล้วมาเจอบทความในมติชน แต่จำชื่อไม่ได้ พอมาเปิดบล๊อก
    อ้าว คนนี้นี่หว่า คนไทยที่ได้นั่ง F16 แฟนพันธุ์แท้เครื่องบินรบ
    ผมจะติดตามผลงานของคุณต่อไปนะครับ เป็นกำลังใจให้คับ

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช7 กรกฎาคม 2553 เวลา 07:17

    ขอบคุณครับคุณกัมป์ ถ้าใจเย็นๆหน่อยก็รออ่านที่นี่ได้ครับผมอัพเดททุกเดือนสองเดือน ^_^

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากๆครับสำหรับข้อมูลดีๆ เลยดูหนังที่ไอ้หนูน้อยแมต เดมอนวิ่งตามหาอาวุธร้ายแรงได้อรรถรสเพิ่มมากขึ้นครับ

    ตอบลบ