วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยือนถ้ำสิงห์บิน(จบ)


ลินเชอปิง(Linkoping)เป็นเมืองเล็กๆทางภาคใต้ของสวีเดน มีประชากรแสนกว่าในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อสวีเดนในฐานะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบเครื่องบินกริพเพนของบริษัทซาบ(SAAB)ที่เริ่มต้นด้วยการสร้างอากาศยานมาก่อนจะสร้างรถยนต์ และขณะนี้ชื่อเสียงของเมืองก็มาจากการเป็นฐานประกอบเครื่องบินที่จะเข้าประจำการในกองทัพอากาศของเราในปีหน้า

ด้วยสภาพภูมิประเทศและยุทธศาสตร์ของสวีเดน ทำให้เขาต้องหาระบบอะไรสักอย่างที่เข้ากันได้กับรูปแบบการป้องกันประเทศ การรบแบบเครือข่าย(Network Centric Operation :NCO)นั้นกองทัพสวีดิชใช้กันมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่1960แล้ว ในขณะที่อเมริกายังรบแบบทุ่มกำลังไม่อั้นอยู่ ถ้าจะว่าสวีเดนคิดค้นนวัตกรรมด้านการทหารก็ใช่ และสิ่งที่เกิดกับกริพเพนก็คือความใหม่ โดยเฉพาะวิธีการประกอบเครื่องบิน

กริพเพน39ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมJAS(Industry Group JAS:IG JAS) ร่วมทุนกับหุ้นส่วนเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องบินและระบบ ซาบ แอโรสเปซทำหน้าที่ประกอบระบบขั้นพื้นฐานให้เครื่องบิน ตั้งแต่แอร์เฟรม(ตัวเครื่อง),ระบบจ่ายน้ำมัน,ระบบไฮดรอลิกส์,ระบบควบคุมสภาพในห้องนักบิน,เก้าอี้ดีดตัว,ระบบดำรงชีพและอื่นๆ ส่วนบริษัทวอลโว แอโรก็รับผิดชอบเครื่องยนต์รุ่นRM12 บริษัทอีริคโซน ไมโครเวฟซิสเต็มรับผิดชอบระบบเรดาร์ รวมทั้งพัฒนาและผลิตคอมพิวเตอร์ของระบบ บริษัทซาบ อาวิโอนิกส์รับผิดชอบระบบดิจิตอลแสดงผลและคอมพิวเตอร์จอภาพ ในขณะที่แอโรเทค เทลูบรับผิดชอบระบบสนับสนุนและการบำรุงรักษา เห็นได้ชัดว่ากริพเพนไม่ได้ถูกผลิตมาด้วยบริษัทซาบเพียงแห่งเดียวตั้งแต่ต้นจนเป็นเครื่องบิน แต่มันเกิดจากการร่วมมือกันโดยบริษัทต่างๆของสวีเดนที่เข้ามารวมตัวกันเป็น”กลุ่มอุตสาหกรรม”

ในการส่งออกซาบก็ยกให้เป็นหน้าที่ของกริพเพน อินเตอร์เนชันแนล หนึ่งในสมาชิกของIGเช่นกัน อันหมายความว่าคนสร้างเครื่องบินก็สร้างไป บริษัทจัดจำหน่ายก็ทำหน้าที่ของตนไป ตั้งแต่การขายไปจนถึงการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการและรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มลูกค้า

จุดหนึ่งที่ช่วยให้กริพเพนแต่ละลำราคาไม่สูง ก็คือระบบการจัดซื้อระบบที่ใช้อุปกรณ์จากบริษัทต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เปรียบเสมือนเมื่อเราต้องการคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานสักเครื่อง ก็ต้องเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ยี่ห้อหนึ่ง คีย์บอร์ดและซีพียูอีกยี่ห้อตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับงานที่จะใช้ เราเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ได้ในราคาสมเหตุสมผลได้ประโยชน์เต็มที่ กริพเพนเองก็ใช้หลักการเดียวกัน ไม่ว่าอุปกรณ์จะมาจากชาติไหนหรือบริษัทอะไร ทั้งหมดต้องมาประกอบกันเป็นเครื่องบินด้วยมาตรฐานสูงของสวีเดน

การสร้างเครื่องบินในสมัยก่อนนั้นบริษัทจะวิจัย พัฒนาและผลิตทุกระบบกันภายในประเทศ ไม่ยอมให้เทคโนโลยีหรือกรรมวิธีอันเป็นรูปแบบเฉพาะตัวรั่วไหล แต่โครงการกริพเพนใช้แนวคิดใหม่คือให้บริษัทต่างๆทั้งในและนอกประเทศแข่งขันกันเข้ามามีส่วนร่วม ใครทำของได้ดีมีราคาต่ำสมเหตุสมผลก็เอามาประกวดกันให้กลุ่มบริษัทซาบเลือก พอเลือกได้ของดีราคาไม่แพงเพราะไม่ต้องวิจัยและพัฒนาเองเช่นนี้ ระบบของเครื่องบินไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ดีดตัว เครื่องยนต์ ระบบควบคุมการบิน ไฮดรอลิกและอื่นๆจึงมีมาได้จากหลายประเทศรวมทั้งในสวีเดนเอง

เมื่อมาลองแยกระบบหลักๆของกริพเพนดูจะพบรายละเอียดดังนี้ คันบังคับและคันเร่ง,เก้าอี้ดีดตัว,ล้อเครื่องบินและระบบลงจอด,จากอังกฤษ เครื่องยนต์หลักจากสหรัฐฯและสวีเดน คอมพิวเตอร์ข้อมูลอากาศจากสหรัฐฯ ระบบจ่ายพลังงานสำรองจากอังกฤษและสหรัฐฯ ระบบจ่ายน้ำมันจากฝรั่งเศส ระบบเรดาร์จากสวีเดน ตัวเครื่องบิน(แอร์เฟรม)จากสวีเดน,อังกฤษและเช็ค,ปืนใหญ่อากาศจากเบลเยียม ฯลฯ

ในวันที่คณะไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบเครื่องบินกริพเพนที่เมืองลินเชอปิงนั้น หัวหน้าโครงการชาวสวีเดนคือผู้นำชมกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มจนสำเร็จเป็นเครื่องบินทั้งลำ ท่ีฝาผนังมีผลงานของซาบตั้งแต่เครื่องบินขับไล่เจ็ตลำแรกคือซาบ21อาร์ ไล่เรียงกันมาหลายแบบจนถึงผลงานชิ้นล่าสุดคือซาบ39กริพเพน แสดงให้เห็นวิวัฒนาการการสร้างเครื่องบินตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

เครื่องยนต์RM12เดี่ยวของกริพเพน แบบเดียวกับเครื่องยนต์จากบริษัทจี.อี.คือเจเนอรัล อีเลคทริกF412คู่ของเอฟ18”ฮอร์เน็ต”ของสหรัฐฯ ถูกวางรอประกอบในท่อเหล็กติดล้อเลื่อนตรงใกล้ประตูทางเข้า มันถูกวอลโว แอโรนำมาพัฒนาใหม่ให้แรงข้ึนแล้วยัดลงท้ายของกริพเพนเพียงเครื่องเดียว ให้กำลังผลักดันเหลือเฟือสำหรับเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์เพื่อการป้องกันประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงสองเครื่องเพราะไม่ได้แบกน้ำหนักมากและบินไกลเหมือนฮอร์เน็ต

ด้วยโรงงานขนาดกว้างและยาวแค่ด้านละร้อยกว่าเมตร ไม่น่าเชื่อว่าซาบจะสร้างเครื่องบินรบเทคโนโลยีสูงได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพการทำงานของชาวสวีดิชที่รัฐให้ทั้งประเทศหยุดงานถึง1เดือนในช่วงฤดูร้อนแล้ว ยิ่งน่าประหลาดใจว่าคนของเขาทำงานทันส่งเราและชาติอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินรบแต่ละแบบจากแต่ละชาติต่างก็วางกำหนดการส่งมอบไว้ใกล้เคียงกันคือสองถึงสามปี แต่สวีเดนก็ทำของส่งเราได้ทันตามกำหนดทั้งที่วันทำงานน้อย

กริพเพนที่ถูกประกอบช่วงลำตัวเสร็จถูกนำขึ้น”จิ๊ก”(Jig) หรือแท่นจับหน้า/หลังให้หมุนได้รอบแนวระนาบเหมือนกลิ้งถัง ให้ช่างและวิศวกรประกอบชิ้นส่วนในมุมที่ถนัดที่สุดอย่างง่ายและเร็ว ตรวจสอบชิ้นส่วนได้ง่าย ทุกลำถูกประกอบระบบด้วยมือจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือพ่นสี โรงประกอบมีสภาพแวดล้อมดี สะอาดสะอ้านต่างจากที่คิดไว้ว่าคงต้องสกปรก เสียงดัง หลังจากเสร็จขั้นตอนในจิ๊กแล้วก็จะเป็นการประกอบระบบร่อนลงทั้งล้อ,เบรกและระบบไฮดรอลิกที่เกี่ยวข้อง กริพเพนจะถูกตั้งบนขาหยั่งแล้วช่างจะทดสอบความเคลื่อนไหวของระบบไฮดรอลิกด้วยคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป

ดังที่กล่าวแล้วว่าตัวระบบของกริพเพนมาจากหลายบริษัทหลายชาติ เป็นไปได้ว่าเมื่อมีผู้สนใจจะเข้ามาร่วมผลิตกริพเพนมากขึ้น เมื่อนั้นราคาของมันก็จะถูกลง พูดถึงราคาแล้วข้อคิดประการหนึ่งที่ได้จากการเยือนโรงงานผลิตเครื่องบินก็คือเครื่องบินแต่ละกลุ่มที่ส่งออกราคาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันเพราะจำนวน และการที่ราคาต่างกันที่จำนวนก็เพราะยิ่งผลิตมากยิ่งซื้อวัตถุดิบได้ถูกเพราะซื้อทีละมากๆ เข้าทำนองซื้อยกโหลถูกกว่า

เครื่องบินรบแต่ละแบบนั้นไม่ใช่ว่าพอสั่งซื้อวันนี้แล้วของจะมาถึงในอาทิตย์หน้า ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบอื่นๆให้เหมาะกับสภาพภารกิจที่ลูกค้ากำหนด กว่าจะส่งมอบได้ก็กินเวลา2-3ปี เมื่อสั่งซื้อแล้วโรงงานก็ต้อง”ตัด”เครื่องบินให้พอดี”ความต้องการ”ของลูกค้า หลักการนี้ใช้เหมือนกันหมดตั้งแต่เสื้อผ้าแถวประตูน้ำไปจนถึงเครื่องบินรบราคาเป็นพันล้าน สั่งซื้อน้อยก็ผลิตน้อย แต่ต้องใช้ทรัพยากรราคาแพงกว่าเพราะซื้อมาน้อยแบบจำเพาะเจาะจงตามจำนวนเครื่องบิน เราซื้อกริพเพนด้วยจำนวนเท่านี้จึงได้ราคาหนึ่ง ซื้อล็อตใหญ่กว่านี้ราคาของมันก็จะต่ำลง ถ้าซื้อกันทีละ50-60ลำ เขาก็จะมาตั้งโรงงานในบ้านเราและราคาก็จะต่ำลงอีก เรื่องของราคาเครื่องบินจึงเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะตอบยากในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันตอบเป็นราคาตายตัวได้ยากจริงๆ จนบางครั้งกองทัพอากาศตกเป็นจำเลยของสังคมไปเพราะตอบคำถามตรงๆไม่ได้

หลังจากกริพเพนลำแรกล้อแตะพื้นสนามบินไทย เราคงต้องมาดูกันอีกว่าด้วยสภาพของเครื่องยนต์เมืองหนาวอย่างสวีเดนนั้นจะทนความร้อนชื้นแบบบ้านเราได้หรือไม่ ปัญหาอื่นๆถ้ามีก็คงเกิดขึ้นในช่วงที่รับเครื่องบินเข้าประจำการซึ่งก็น่าจะแก้กันได้เหมือนตอนที่รับเอฟ16มาใช้ใหม่ๆ

ปัญหาใหญ่น่าหนักใจของซาบและกองทัพอากาศสวีเดนในตอนนี้ คงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือกลไกอื่นใด แต่น่าจะเป็นเรื่องการแย่งกันจะมาประจำการที่เมืองไทยเสียมากกว่า ซึ่งน่าจะเข้าใจถึงเหตุผลได้ไม่ยากเมื่อพบว่าชาวสวีดิชมาเที่ยวบ้านเราถึงปีละ400,000คน จากประชากรทั้งหมดเก้าล้านสี่แสน!

(ภาพประกอบจากแฟ้มของSAAB ในโรงงานห้ามถ่ายภาพ)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น