ระหว่างวิกฤติการณ์ยึดถนนราชดำเนินตามด้วยการยึดศูนย์การค้าที่ยังไม่มีเค้าว่าจะยุติลง(ระหว่างเขียนบทความ) นอกจากเครื่องแต่งกายของทหารบกไทยที่ดูจะครบเครื่องมากขึ้นด้วยเสื้อเกราะและหมวกเคฟลาร์ แทนที่จะเป็นสายเก่งกับกระติกน้ำและหมวกเหล็กรุ่นสงครามโลกครั้งที่2เช่นที่เคยเห็น สิ่งหนึ่งที่ดูจะแปลกตาออกไปคือปืนเล็กยาว อาวุธประจำกายทหารที่เราพบว่ามีบางส่วนไม่ใช่ปืนตระกูลM16สัญชาติอเมริกัน แต่กลายเป็นปืนหน้าตาแปลกๆที่ดูเหมือนจะสร้างจากพลาสติกเกือบทั้งกระบอก สิ่งเดียวที่คล้ายปืนM16ที่สุดคือซองกระสุนที่ใช้แบบเดียวกันเพราะใช้กระสุนขนาด5.56ม.ม.เท่ากัน ที่แปลกกว่านั้นคือต้นกำเนิดของมันมาจากอิสราเอล มีชื่อว่า"ทาวอร์ ทาร์21”( Tavor Tar21)หรือเรียกสั้นๆได้ว่า"ปืนทาวอร์" นอกจากรูปพรรณสัณฐานภายนอกที่แตกต่างแล้วระบบการทำงานของมันยังแตกต่าง ด้วยรูปแบบ"บูลพัป"(Bullpup)ของทาวอร์ซึ่งทำให้ปืนแบบนี้ถูกจัดเข้าประเภท"ปืนเล็กสั้น"ได้ไม่ยาก เมื่อเทียบความยาวทั้งกระบอกของมันกับปืนเล็กสั้นM4หนึ่งในตระกูลM16
อะไรคือบูลพัป? บูลพัปคือรูปแบบหนึ่งของการออกแบบปืนเล็กด้วยวัตถุประสงค์คือเพื่อลดความยาวรวมทั้งกระบอกลง ในขณะที่ความยาวของลำกล้องไม่ได้ลดตาม ในเมื่อปืนเล็กยาวทั่วไปจะวางลำดับชิ้นส่วนไว้"เรียงกัน"ดังนี้คือลำกล้องอยู่หน้าสุดแล้วเรียงตามกันไปคือโครงปืนอันเป็นที่อยู่ของช่องคายปลอกกระสุน ช่องรับซองกระสุน เรือนเครื่องลั่นไก ปิดท้ายด้วยพานท้าย แต่แนวความคิดแบบบูลพัปคือให้ลำกล้องครึ่งหนึ่งมาวางตัวอยู่เหนือเรือนเครื่องลั่นไก แล้วเลื่อนตำแหน่งช่องรับซองกระสุนกับช่องคายปลอกไปไว้ท้ายลำกล้อง เมื่อลำกล้องมาวางซ้อนบนเรือนเครื่องลั่นไกแทนที่จะวางอยู่หน้า ความยาวของปืนจึงลดลงได้มากถึง25%ทั้งจากตัวลำกล้องเองแล้วยังได้พานท้ายสั้นลงเป็นของแถมด้วย พอเข้าองค์ประกอบนี้แล้วผู้ผลิตอยากจะใส่อะไรเพิ่มเป็นลูกเล่นก็ทำได้ตามสบายไม่ว่าจะเป็นศูนย์เล็งจุดแดงเร่งด่วนหรือช่องเก็บอุปกรณ์เสริมที่พานท้าย เช่นเก็บถ่านไฟฉายหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดปืน
คำว่า"บูลพัป"ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ ความพยายามลดความยาวของปืนโดยคงความยาวลำกล้องไว้เกิดขึ้นครั้งแรกกับปืนเล็กยาวธอร์นีย์ครอฟต์ของอังกฤษตั้งแต่ปี1901แล้วมีการพัฒนาต่อเนื่องมาทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่1และ2ทั้งในค่ายตะวันตกและตะวันออก หลักนิยมของการทำสงครามในห้วงเวลานี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนัก หากทหารต้องสู้รบในเขตเมืองหรือปฏิบัติการพิเศษพวกเขาก็ยังไม่ต้องพิถีพิถันมาก ถ้าต้องการปืนเล็กที่สั้นลงก็ทำแค่เลือกใช้ปืนกลมือหรือปืนเล็กในแบบที่ลดความยาวลำกล้องลง จึงมีปืนเล็กทั้งตระกูลM16และAK47รุ่นลำกล้องสั้นให้เห็นมากมาย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้สะดวกต่อการส่งทางอากาศ,รบในเขตสิ่งปลูกสร้างและเพื่อสะดวกยามต้องขึ้น/ลงยานพาหนะ แต่ข้อเสียคือลำกล้องสั้นทำให้ความแม่นลด กลุ่มกระสุนบานเป็นวงกว้าง
การพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบของการสู้รบที่เปลี่ยนไปทำให้นักการทหารต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบอาวุธตาม สงครามใหญ่ที่ต้องยกกองทัพเข้าปะทะกันในที่โล่งอย่างสงครามโลกครั้งที่2หมดไป กลายเป็นสงครามก่อการร้ายที่เน้นการสร้างความหายนะในเมือง ทหารต้องปรับตัวตามด้วยการใช้อาวุธที่สั้นลง แต่หากต้องการให้ยิงแม่นคงเดิมเพื่อลดความเสียหายข้างเคียงก็ต้องให้ลำกล้องยังยาวเท่าเดิม อธิบายง่ายๆคือต้องการประสิทธิภาพของปืนเล็กยาวในโฉมหน้าของปืนเล็กสั้น ตอนนี้เองที่แนวความคิดแบบบูลพัปเริ่มแพร่หลาย หลายบริษัทสร้างอาวุธได้หันมาให้ความสำคัญกับบูลพัป นำขบวนด้วยบริษัทสไตเออร์จากออสเตรียด้วยปืนสไตเออร์ อาอูเก(Steyr AUG:Armee Universal Gewehrปืนเล็กยาวเอนกประสงค์)ในปี1977ที่ถูกกล่าวขานกันว่าเป็นบูลพัปแบบแรกที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านสมรรถนะและการตลาด มันถูกบรรจุเข้าประจำการกองทัพและหน่วยงานรักษากฎหมายของ24ชาติรวมทั้งสหรัฐฯ
คู่แข่งที่คลอดตามมาติดๆคือ"ฟามาส"(FAMAS:Fusil d'Assaut de la Manufacture d'Armes de Saint-Étienne โรงงานผลิตอาวุธแห่งเมืองแซงต์เอเตียน)แห่งฝรั่งเศสในปี1978 ถึงหน้าตาจะแปลกตรงที่มีด้ามจับยาวติดโครงปืน,คันรั้งลูกเลื่อนคัดปลอกอยูด้านบน แต่หลักการทำงานก็คล้ายคลึงกับสไตเออร์ คือเป็นปืนสไตล์บูลพัปที่วางลำกล้องไว้บนเรือนเครื่องลั่นไกแล้วเลื่อนช่องรับซองกระสุนกับช่องคัดปลอกไปติดพานท้าย อังกฤษก็เล็งเห็นความสำคัญของรูปแบบการทำสงครามที่เปลี่ยนไป กรมสรรพาวุธหลวงจึงเข็นL85ออกมาให้ทหารใช้ในปี1985 แต่เพราะอาจจะใหม่หรือไม่ถนัดมันจึงมีปัญหาจนทหารบ่นดังๆว่า"rubbish” ในที่สุดจึงต้องโยนให้เฮคเลอร์ อุนด์ โคค(H&K)ไปปรับปรุงจนเข้าที่แล้วได้รหัสใหม่ว่าL85A2 และยังใช้งานอยู่จนปัจจุบัน
ทาวอร์ ทาร์21คืออีกรูปแบบหนึ่งของปืนเล็กสั้นผลิตด้วยแนวความคิดแบบบูลพัป ใช้กระสุนขนาด5.56x45ม.ม.มาตรฐานนาโต เมื่อใช้กระสุนมาตรฐานเดิมซองกระสุนจึงใช้แบบเดิมๆของM16และM4ได้สบายๆโดยไม่ต้องดัดแปลงไม่ว่าจะเป็นแบบ20หรือ30นัด ที่น่าสังเกตคือชื่อของมันที่แปลได้ว่า"ปืนเล็กสั้นจู่โจมแห่งศตวรรษที่21” ราวกับต้องการจะเน้นว่าปืนที่ยาวมากๆคงไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับกองทัพในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกจะพบทาวอร์เป็นปืนที่"อวกาศ"จริงๆ ด้วยเปลือกนอกเป็นวัสดุคอมโพสิตที่เหนียวและทนเกือบทั้งกระบอกไม่หวั่นสนิม ประกับรองมือด้านหน้าถูกออกแบบให้ถอดได้เพื่อประกอบกับเครื่องยิงลูกระเบิดอเมริกันแบบM203 มีศูนย์จุดแดงติดมาพร้อมเป็นอุปกรณ์มาตรฐานเหมือนสไตเออร์ มีรางติดอุปกรณ์เสริมให้ประกอบได้ทั้งไฟฉายทางยุทธวิธีและเครื่องยิงลำแสงอินฟราเรด หากไม่ชอบกล้องเล็งจุดแดงมาตรฐานก็เปลี่ยนเป็นกล้องเล็งขยายหรือกล้องมองกลางคืนได้ หรือถ้าไม่อยากใช้อะไรจากภายนอกเลยศูนย์เปิดทั้งหน้าและหลังแบบมาตรฐานก็มีให้ดึงขึ้นใช้จากด้านบน
ด้วยการออกแบบอันชาญฉลาดของซาลเมน เช็บส์ นักออกแบบปืนชาวยิวแห่งบริษัทอุตสาหกรรมอาวุธอิสราเอล นอกจากแรงสะท้อนถอยหลังที่น้อยลงกับลำกล้องสะบัดขึ้นน้อยเพราะเลื่อนรังเพลิงเข้าใกล้ไหล่ให้กระทุ้งเข้าร่องไหล่ตรงๆ ช่องคายปลอกกระสุนยังมีให้เลือกปรับใช้ได้ทั้งซ้ายและขวาสำหรับทหารบางนายที่ถนัดยิงไม่เหมือนกัน ศูนย์จุดแดงมาตรฐานช่วยให้การเล็งเฉียบพลันระหว่างการรบติดพันในเขตเมืองทำได้ง่ายและเร็ว เพียงเอาจุดแดงทาบเป้าแล้วเหนี่ยวไกก็บรรลุวัตถุประสงค์
เมื่อแรกได้สัมผัส ผมหยิบทาวอร์ขึ้นถือด้วยความรู้สึกไม่คุ้นเคย ปืนในตระกูลM16และM4มีการวางตำแหน่งชิ้นส่วนตามแบบคลาสสิกที่เราคุ้นเคยมานานจนทำให้การเล็ง ดึงคันรั้งลูกเลื่อนและถอด/บรรจุซองกระสุนใหม่เป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่ปืนจากอิสราเอลนี้มันให้ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เริ่มด้วยประกับรองมืออวบอ้วนแต่มีมุมให้อุ้งมือได้โอบกระชับได้ถนัด ตำแหน่งซองกระสุนที่ถูกย้ายมาเกือบชิดแก้มแทนที่จะอยู่ค่อนไปข้างหน้าเหมือนปืนเล็กยาวปกติ ความไม่คุ้นเคยนี้ทำให้เผลอเอื้อมมือไปข้างหน้าบ่อยครั้งเมื่อจะเปลี่ยนซองกระสุนใหม่ แต่ก็เริ่มคุ้นเคยกับความรู้สึกใหม่มากขึ้นเมื่อยิงผ่านไปกว่า200นัด พบว่ามันคล่องตัวมากทั้งจากท่ายืนยิง นั่งยิงหรือนอนหมอบยิง การขึ้นและลงจากพาหนะพร้อมทาวอร์ก็ไม่ยากและเร็วเพราะไม่ต้องดึงพานท้ายยืดออก
สำหรับผม ความเห็นส่วนตัวสำหรับทาวอร์ที่เขาประจำการในกองทัพของเราแล้วหมื่นกว่ากระบอกคือมันเป็นปืนที่ดี ใช้งานได้ดีสำหรับการสู้รบในเมือง(urban warfare) ความแม่นยำไม่เป็นรองM4 ที่มีใช้อยู่แล้ว ความคิดต่อมาคือถ้าให้ทหารฝึกยิงทาวอร์แล้วทางกองทัพควรให้ยิงแบบเดียวตลอดไป ไม่ควรเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างปืนเล็กยาวปกติกับปืนแบบบูลพัปนี้โดยเฉพาะหน่วยรบพิเศษ เพราะการเปลี่ยนลักษณะการยิงต้องใช้เวลาเพื่อให้ทหารคุ้นเคย เนื่ององคาพยพของบูลพัปคือตัวกำหนดลักษณะท่าทางของทหารผู้ยิง ความผิดพลาดหรือล่าช้าขณะปฏิบัติการเพียงไม่กี่วินาทีย่อมหมายถึงชีวิต
ทาวอร์ ทาร์21ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นอาวุธประจำกายทหารใน"กองพลน้อยกิวาตี"ที่ปฏิบัติการแบบสะเทินน้ำสะเทินบกของอิสราเอลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี2006 และ"กองพลน้อยโกลานี"สังกัดกองพลทหารราบที่36ของอิสราเอลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม2008 ส่วน"กองพลน้อยนาฮาล"หน่วยทหารราบที่คอยคุ้มกันเกษตรกรตามแนวชายแดนอิสราเอล ได้รับทาวอร์เข้าประจำการในต้นปี2010นี้เอง และอีกไม่เกินสามปีมันจะกลายเป็นปืนเล็กยาว/สั้นแบบมาตรฐานประจำการในกองทัพอิสราเอล แทนที่ปืนเล็กสัญชาติอเมริกันที่ใช้แต่เดิม
วิวัฒนาการด้านอาวุธประจำกายทหารโดยเฉพาะปืนเล็กนั้นเป็นไปตามหลักนิยมของการทำสงคราม เมื่อก่อนที่ต้องทำสงครามกันในที่โล่งทหารก็ใช้ปืนเล็กลำกล้องยาว เล็งศูนย์เปิดได้เพราะเป้าหมายอยู่ไกล แต่ในช่วง20หลังๆมานี้แนวทางการสู้รบและปราบปรามเปลี่ยนไปที่เน้นระยะใกล้มากขึ้น สนามรบเปลี่ยนจากการแย่งชิงพื้นที่มาเป็นการลอบสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามแบบไม่จำกัดเขต
เขตเมืองทำให้ฝ่ายก่อกวนได้ประโยชน์จากอาคาร,ซอกหลืบ และความยากลำบากในการแยกผู้บริสุทธิ์ออกจากผู้ก่อการร้าย นักการทหารหลายๆประเทศจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมาเน้นการรบในเขตเมืองมากขึ้น หลักสูตรรบในเมือง(MOUT:Military Operations on Urban Terrain)คือหนึ่งในหลักสูตรหลักๆที่ทหารสหรัฐฯต้องฝึก เพื่อให้ทหารคุ้นเคยกับการรบหรือยุติการก่อความไม่สงบขึ้นในเขตเมือง หากต้องเคลื่อนกำลังเข้าเขตพื้นที่เมืองโดยไม่ทำความคุ้นเคยกับการรบรูปแบบนี้ ฝ่ายปราบปรามมีแต่จะเสียเปรียบอย่างเดียว ปัจจุบันกองทัพของเราโดยเฉพาะกองทัพบกมีทรัพยากรดีๆอยู่มาก มีหลายสิ่งที่เหมาะสมกับยุทธวิธีการสู้รบในเมืองด้วย ถ้ายังไม่ให้ความสำคัญกับการรบในเมืองก็ขอให้ตื่นจากหลับไหลได้แล้วครับ เราไม่อยากเห็นทหารถูกเข่นฆ่าอีกต่อไป ให้พวกเดียวกันมาเตือน ยังดีกว่าให้พวกกบฏมาพูดจาเย้ยหยันว่า"ยกเข้ามาก็ตาย เพราะทหารไทยรบในเมืองไม่เป็น"
คุณ สรศักดิ์ ครับ ผมสงสัยว่า Tavor เนี่ยเป็นลูกเลื่อนแบบเปิดหรือปิดกันแน่ครับ
ตอบลบปืนทาวอร์ใช้ระบบลูกเลื่อนเปิดครับ เหมือนกับปืนเล็กยาวอัตโนมัติทั่วไป หากเป็นลูกเลื่อนปิดแล้วปลอกกระสุนจะบวมได้เมื่อถูกบรรจุเข้ารังเพลิง
ตอบลบขอบคุณครับ
ตอบลบปลย.๕๐ ทาวอร์ ทำงานแบบหน้าลูกเลื่อนปิดครับพี่โต
ตอบลบส่วนตัวจากการใช้งานเจ้าทาวอร์แล้วไม่ค่อยประทับใจมันเท่าไหร่
อ้าว งั้นขออภัย ขอแก้ตามบอมบ์ว่ามานะ
ตอบลบขอบคุณครับ สำหรับบทความดีๆ
ตอบลบ