จักรพรรดินโปเลอ็องแห่งฝรั่งเศสเคยตรัสไว้ว่า"กองทัพเดินด้วยท้อง"เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน แม้เวลาจะล่วงเลยมาจนถึงยุคปัจจุบันที่ยุทโธปกรณ์เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือกองทัพยังต้องกิน ทหารยังต้องมีอาหารกินตามปกติเพื่อมีกำลังกายและกำลังใจรุกรบ การเคลื่อนกองกำลังขนาดใหญ่เต็มรูปแบบนั้นจำเป็นต้องมีโรงครัวเคลื่อนที่ติดตาม แต่ในบางสภาพแวดล้อมก็ไม่สามารถยกครัวตามทหารเข้าพื้นที่ไปได้ กองทัพจึงต้องมีอาหารชนิดหนึ่งให้ทหารนำติดตัวไป ด้วยคุณสมบัติสำคัญๆคือต้องน้ำหนักเบา ให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน รสชาติดีพอประมาณและเก็บไว้ได้นาน อันเป็นที่มาของ"อาหารพร้อมรับประทาน" หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับชื่อว่า"MRE”(Meals Ready to Eat :MRE)ชื่อย่อที่กองทัพบกสหรัฐฯต้ังขึ้นเรียกเป็นทางการ ซึ่งกองทัพของแต่ละประเทศต่างก็มีเมนูเอ็มอาร์อีแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการกินของตน ถึงจะเรียกอย่างคุ้นเคยว่าเอ็มอาร์อีเหมือนกันแต่สิ่งที่บรรจุภายในห่อนั้นอาจแตกต่าง
เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ อาหารสำเร็จรูปของกองทัพนั้นเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกจากมติสภาคองเกรสระหว่างสงครามปฏิวัติเมื่อสหรัฐฯต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ ด้วยเมนูอาหารง่ายๆโดยไม่เน้นว่าต้องได้พลังงานกี่แคลอรี่หรือสารอาหารใดบ้าง ขออย่างเดียวคือให้ทหารอิ่มและนำอาหารนี้ติดตัวไปได้ตลอดเวลา เอ็มอาร์อีเมนูแรกจึงประกอบด้วยเนื้อวัว ถั่วและข้าวที่ประกอบกันอย่างหลวมๆสามมื้อให้กินได้อิ่มในวันเดียว พอหมดก็กลับมารับใหม่ อาจมีหมักเกลือบ้างเพื่อคงสภาพเนื้อให้ไม่เน่าแต่ยังไม่บรรจุกระป๋องกันเชื้อโรคและความชื้นหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ
คร้ันถึงสงครามกลางเมืองที่คนอเมริกันรบกันเองจากปัญหาทาส เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นกองทัพของทั้งฝ่ายเหนือและใต้ก็เริ่มใช้อาหารทำสุกแล้วบรรจุกระป๋อง ทหารจะต้องแบกอาหารกระป๋องที่ยังหนักเข้าสนามรบ ถ้าทหารสูทกรรม(ทหารผู้มีหน้าที่จัดเตรียมอาหาร)มีเหตุให้เคลื่อนที่ตามหน่วยรบไม่ได้หรือแจกจ่ายไม่ทั่วถึง ในกระป๋องนั้นมีอาหารแบบอเมริกันตามถนัดคือเนื้อวัวกระป๋อง,เนื้อหมูหมักเกลือ,ขนมปัง,กาแฟ,น้ำตาลและเกลือ สูตรการสร้างเมนูของเอ็มอาร์อีจากสมัยสงครามปฏิวัติถึงสงครามกลางเมืองแทบไม่เปลี่ยน นอกจากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการเน่าเสียเข้าช่วยคือกระป๋องผนึกแน่น ยังไม่ค่อยมีใครคิดถึงน้ำหนักของอาหารเพราะสัมภาระที่ทหารนำติดตัวยังไม่มีอะไรจุกจิกมากไปกว่าปืนและกระสุน การสู้รบยังเป็นแบบเคลื่อนที่เข้าหากันแล้วรบก่อนตั้งค่ายประจันหน้ากัน โรงครัวยังทันเคลื่อนที่ตามเมื่อทหารตั้งค่ายวางแนวรบแล้วออกไปประจำแนวก่อนจะกลับมากินที่โรงครัวเมื่อได้เวลาอาหาร
ใครที่เคยสัมผัสชีวิตทหารราบมาแล้วคงเข้าใจดี ว่าเมื่อปฏิบัติหน้าที่ก็อยากเอาแค่ปืนกับกระสุนเท่านั้นเข้าสนามรบ ของอื่นๆแม้จะจำเป็นต่อความอยู่รอดก็แทบไม่อยากสนใจเพราะยิ่งหนักยิ่งไม่คล่องตัว ยิ่งรบยิ่งเหนื่อย สงครามโลกครั้งที่1จึงเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์อื่นรวมทั้งอาหาร ปืนเล็กยาวและปืนกลหนักอึ้งถูกใช้แพร่หลายในทุกแนวรบ นักประดิษฐ์นวัตกรรมทหารต่างคำนึงถึงน้ำหนักรวมของสัมภาระมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะลดน้ำหนักอาหารกระป๋องแต่เดิมได้ เมื่อรู้ว่าน้ำในอาหารคือตัวเพิ่มน้ำหนัก เนื้อเค็มและเนื้ออบแห้งบรรจุกระป๋องคือคำตอบ เพื่อให้เก็บรักษาได้นานและข้อสำคัญคือน้ำหนักเบา ข้อดีของความเบาคือทหารพกอาหารติดตัวไปได้มากกว่าเดิม
เอ็มอาร์อีถูกพัฒนาให้หลากหลายขึ้นในสงครามโลกครั้งที่2 มันถูกแบ่งเมนูออกตามสภาพแวดล้อมเช่นอาหารเขตภูเขา(Mountain ration) อาหารเขตป่า(Jungle ration) แต่ด้วยการใช้ทรัพยากรทำสงครามอย่างมหาศาลทำให้เหล่าพลาธิการของสหรัฐฯจำต้องประหยัดงบประมาณ อาหารแห้งนั้นถึงจะดีแต่ใช้งบประมาณมากกว่า อาหารเปียกบรรจุกระป๋องจึงถูกแจกจ่ายให้ทหารช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่2ถึงสงครามเกาหลีและคำว่า Canned rationsหรือ"อาหารกระป๋องปันส่วน"นี้เองที่เป็นชื่อเต็มของชื่อย่อว่าC-ratแจกให้ทหารโดยไม่เลือกสภาพแวดล้อมหรือภารกิจ อาหารเปียกบรรจุกระป๋องยังใช้มาจนถึงสงครามเวียตนามควบคู่ไปกับอาหารพร้อมรับประทานรุ่นปรับปรุงคือMCI field ration(Meal Combat Individual field ration) อันนำไปสู่อาหารรุ่นปรับปรุงอีกครั้งช่วงต้นสงครามเวียตนามเช่นกัน แต่แยกประเภทไปใช้เฉพาะกับหน่วยลาดตระเวนไกลในชื่อLRP ration(Long Range Patrol ration)
ถึงตอนนี้ความแตกต่างจากอาหารเปียกบรรจุกระป๋องรุ่นก่อนๆ คือมันเป็นอาหารแห้งที่ผ่านกรรมวิธีดึงน้ำจากเนื้อออกจนแห้งสนิทแล้วบรรจุในถุงผ้าใบกันน้ำ แต่ด้วยวิธีทำที่ซับซ้อนจึงแพงจนต้องจำกัดจำนวน ก่อนกรมพลาธิการจะคิดค้นเนื้อแห้งบรรจุในซองพลาสติกสูญญากาศใกล้เคียงกับแบบที่ใช้ในปัจจุบัน แบบทดลองเริ่มใช้เมื่อปี1881และถูกบรรจุเข้าประจำการในปี1986โดยยังจำกัดเมนูไว้แค่12รายการ อาหารพวกเนื้อแห้งบรรจุถุงพลาสติกสูญญากาศนี้เริ่มมีหน้าตาใกล้เคียงกับที่เราเห็นในปัจจุบันตรงที่มันรวมอาหารทุกอย่างที่(คาดว่า)ทหารต้องการไว้ในถุงเดียวกัน แตกต่างจากอาหารกระป๋องสมัยก่อนที่ค่อนข้างกระจัดกระจายด้วยจุดประสงค์คือให้ทหารเลือกอาหารที่อยากกินได้ง่ายและละเอียดขึ้น
เอ็มอาร์อีถูกพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่ปี1993หลังจากกองทัพสหรัฐฯเข้าไปขับไล่อิรักในคูเวต พัฒนาการนี้มีทั้งการทดสอบในสนามและสำรวจความคิดเห็นของทหารทั้งด้านปริมาณและรสชาติ ความเด่นที่เห็นได้ชัดคือมันมีบรรจุภัณฑ์สีสันเคร่งขรึมและดูจะเป็นราชการมากไปหน่อยทำให้ไม่น่ากินตามความเห็นของทหาร พลาธิการจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มลวดลายที่"ดูเป็นเอกชน"มากขึ้นบนบรรจุภัณฑ์ให้ดูน่าใช้น่ากิน
ด้วยความสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัสดุย่อยสลายง่ายจึงถูกนำมาใช้ในปี1994แล้วเพิ่มของใช้ที่กินไม่ได้แต่จำเป็นเข้าไปในห่อด้วยคือช้อนและกระดาษเช็ดปาก ส่วนเมนูก็ถูกเพิ่มเป็น16ในปี1996และพัฒนามาเป็น24เมนูในปี1998ถึงปัจจุบัน ความมีเมนูหลากหลายทำให้กำลังพลเลือกอาหารได้มากขึ้นทั้งรสชาติและศาสนา อันหมายถึงมีเมนูตามหลักศาสนาอิสลามและประทับตราฮาลาลด้วย ความพิเศษของเอ็มอาร์อีคือมันมีสารเคมีให้ความร้อนไร้เปลวไฟที่ทำปฏิกริยากับน้ำ(exothermic reaction)อยู่ในซองด้วย เติมน้ำลงไปอย่าให้เกินขีดสารที่ว่านี้จะร้อนจัดขึ้นภายในไม่กี่วินาที สอดซองนี้ไว้คู่กับซองอาหารในกล่องให้ชิดกันไม่ถึงห้านาทีทหารก็อุ่นอาหารกินได้ร้อนๆเหมือนอยู่บ้าน หรือถ้าไม่สนใจจะกินของร้อนก็ฉีกซองกินได้เลยเพราะของมันถูกออกแบบให้พร้อมกิน(ready to eat)อยู่แล้ว
ถึงเอ็มอาร์อีจะดูเหมือนของง่ายๆที่เอาอะไรๆมาใส่รวมกันในถุงเดียวแต่จริงๆแล้วมันมีรายละเอียด อาหารชนิดนี้ถูกออกแบบโดยยึดเอาชายฉกรรจ์อายุตั้งแต่18ถึง30ปีเป็นเกณฑ์ โดยตามปกติแล้วคนหนุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในช่วงอายุเช่นนี้จะเผาผลาญพลังงานไปวันละ4,200แคลอรี่รวมสามมื้อ แต่ในสภาพแวดล้อมจริงคือระหว่างการสู้รบทหารกลับกินได้ไม่ครบตามที่เมนูกำหนดให้กิน แทนที่จะได้พลังงานครบพอให้วิ่งไล่ยิงหรือวิ่งหนีข้าศึกได้พวกเขากลับกินแค่เกือบครึ่งคือ2,400แคลอรี่เท่านั้นคือมื้อกว่าๆถึงสองมื้อ จากสาเหตุคือทหารมักจะเอาอาหารของตนแจกจ่ายเพื่อนหรือคนในพื้นที่ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณพลังงานที่นักวิทยาศาสตร์คำนวณมาแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเอ็มอาร์อีไม่หยุดโดยที่เพิ่งออกมาเป็นต้นแบบคือ"เฟิร์สต์สไตรค์ เรชั่น"(First Strike Ration)และฮูอาห์ บาร์(HOOAH! Bar)ที่มุ่งเน้นการใช้งานคล่องตัวของพวกหน่วยรบพิเศษ ที่ต้องการของกินกินเร็วกว่าเอ็มอาร์อีแบบเดิมๆซึ่งยังต้องใช้เวลากินนานอยู่ ยิ่งกว่านั้นคือเพิ่มแคลอรี่เป็น6,300และต้องกินได้เร็วชนิดกินไปรบไปได้ด้วยยิ่งดี
เมื่อพูดถึงเอ็มอาร์อีมาตรฐานที่เราคุ้นเคยกันดีในซองพลาสติกสีน้ำตาล แต่ละซองซึ่งจะมีทั้งเนื้อ ขนมปังกรอบ เค้กและน้ำชากาแฟรวมซอสและกระดาษเช็ดปากด้วยนั้นจะมีพลังงานให้ซองละ1,200แคลอรี่ เมื่อเอาติดตัวออกสนามต้องฉีกกินให้หมดภายใน21วันโดยมีอายุการเก็บรักษานานสามปีครึ่งโดยขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บ แน่นอนว่าอากาศร้อนช่ื้นอย่างบ้านเราอาจทำให้เก็บอาหารนี้ได้ไม่ถึงสามปี ส่วนคุณสมบัติที่กำหนดไว้ให้เป็นอาหารสนามนั้นคือต้องทนการกระแทกจากการส่งลงด้วยร่มได้ไม่สูงกว่า1,200ฟุต ทนแรงกระแทกจากการทิ้งลงตรงๆไม่เกิน30เมตรอันหมายความว่าถุงไม่แตกและอาหารอยู่ในสภาพดี ระหว่างนี้เอ็มอาร์อีกำลังพัฒนาอยู่ในด้านบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้วัสดุใหม่ที่ฉีกด้วยมือเปล่ากินง่ายกว่าฟอยล์แบบเดิมๆ และต้องกินได้อย่างสเตลธ์ด้วยคือไม่เผยความร้อนตอนอุ่นอาหารให้กล้องเทอร์มอลของข้าศึกจับตำแหน่งได้
นอกจากเนื้ออาหารในซองและกรรมวิธี สิ่งที่ต้องพูดถึงในเอ็มอาร์อีอีกอย่างคือรสชาติ จากชื่อย่อคือM R Eและรสชาติที่ไม่ค่อยเป็นมิตรนักในช่วงเริ่มแรก ทหารจึงเอาอักษรทั้งสามไปเรียกกันอย่างแดกดันเป็นที่ครื้นเครง เช่น"อาหารที่กินไม่ค่อยได้"(Meals Rarely Edible),”อาหารศัตรูเมิน"(Meals Rejected by Enemy),"อาหารชวนท้องเสีย"(Meals Ready to Excrete),”วัสดุที่ดูเหมือนจะกินได้"(Materials Resembling Edibles) และที่ฮาสุดคือ"อาหารที่ชาวเอธิโอเปียเมิน"(Meals Rejected by Ethiopians) เมื่อคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของชาตินี้ที่มีแต่คนอดอยาก แต่พอเจอเอ็มอาร์อีเข้ายังเบือนหน้าหนี! และยังมีอีกนับเป็นสิบๆชื่อที่ใช้ตัวM R Eขึ้นหน้าซึ่งล้วนแต่ส่อไปในทางกระทบกระแทกแดกดันรสชาติของมันทั้งสิ้น แต่ใครที่เคยลิ้มรสเอ็มอาร์อีในปัจจุบันคงพูดได้ใกล้เคียงกันว่ารสชาติจัดได้ว่าอร่อยทีเดียว ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องโดยพลาธิการของกองทัพสหรัฐฯ ที่ต้องการให้กำลังพลของตนกินดีอยู่ดีมีกำลังวังชารบได้ตลอดวัน
เพราะเอ็มอาร์อีมุ่งผลิตเพื่อใช้ในกองทัพมันจึงผิดกฎหมายหากผู้ใดนำไปจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์ มีถ้อยคำบ่งบอกไว้ชัดเจนที่ห่อว่า"ห้ามขาย" แต่ก็ยังมีการประมูลอยู่ประปรายในอีเบย์จนรัฐบาลสหรัฐฯต้องเข้ามาสืบสวน พร้อมกับชื่อใหม่ว่า"อาหารพร้อมขายในอีเบย์"(Meals Ready for eBay) สำหรับในสหรัฐฯนั้นใครก็สามารถซื้อเอ็มอาร์อีได้โดยตรงจากบริษัทที่ผลิตส่งให้กองทัพ ซึ่งเวอร์ชั่นของเอกชนนั้นใกล้เคียงกับที่แจกให้ทหารทั้งรูปแบบและรสชาติ
เอ็มอาร์อีจึงเป็นอาหารพร้อมกินที่มีคุณค่าทางอาหารเกือบจะครบถ้วนตามมาตรฐานกองทัพสหรัฐฯ ใครก็ตามที่ไปพบมันในร้านขายอุปกรณ์ทหารและเดินป่าเมื่อเห็นบรรจุภัณฑ์คงทราบว่าอะไรเป็นอะไร ข้อสำคัญคือต้องดูข้อมูลข้างถุงให้ละเอียดที่เท่านั้น เจอของหมดอายุเข้าไปอาจเสียทั้งสารอาหารและน้ำจากอาการท้องเสีย แทนที่จะได้คุณค่าทางอาหารอย่างที่ควรเป็น!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น