วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กระสุนปืนซุ่มยิงและลาปัว.338แม็กนัม


ในบทความตอนที่แล้วเป็นเรื่องของอาวุธคู่กายของพลซุ่มยิงคือ"ปืนเล็กยาวซุ่มยิง" ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ที่แตกต่างจากปืนเล็กยาวประจำกายทหารราบทั่วไปเพราะต้องผลิตขึ้นเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ต้องทำลายเป้าหมายได้ในระยะไกลเกินขีดความสามารถของปืนเล็กยาวธรรมดา ฟังดูแล้วอาจจะคิดว่าพ้นจากเรื่องปืนซุ่มยิงไปแล้วคงไม่มีรายละเอียดอะไรให้กล่าวถึงอีก แต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะยังมีอีกเรื่องให้คำนึง คือกระสุนปืน รายละเอียดต่อไปนี้อาจจะน่าเวียนหัวนิดหน่อยเพราะมีศัพท์แสงแปลกๆผ่านเข้ามามาก ถึงอย่างไรผมก็จะพยายามสุดความสามารถเพื่อใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายที่สุด

ถึงแม้จะมีหน้าตาคล้ายๆกันแต่ก็ใช่ว่ากระสุนจะเหมือนกันทุกนัด กระสุนผลิตจากโรงงานเดียวกันแต่ต่างวาระนั้นแตกต่างกัน กระสุนแบบเดียวกันต่างแบรนด์กันก็ไม่เหมือนกันอีก มีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆคือกระสุนขนาด.30-06หัวกระสุนหนัก150เกรนในท้องตลาดนั้นเอาแค่ความเร็วต้นอย่างเดียว ไม่ต้องพูดถึงระยะเบี่ยงเบนจากศูนย์กลางเป้าที่ระยะ500หลาก็ยังแตกต่างกันแล้ว ในขณะที่กระสุนFederal Hi-Shokมีความเร็ว1,620ฟุตต่อวินาที กระสุนFederal Prem BTSPกลับมีความเร็วต้นแตกต่างไปมากคือ1,907ฟุตต่อวินาที กระสุนWinchester Pwr. Ptวัดความเร็วได้ต่ำสุดคือ1.466ฟุตต่อวินาที พลซุ่มยิงผู้เชี่ยวชาญจึงต้องตระหนักถึงความแตกต่างข้อนี้ ไม่ใช่ว่ามีกระสุนแบบไหนก็ใช้ได้หมดขอเพียงให้มีหน้าตัดตรงตามที่กำหนดให้ใช้กับปืนได้ก็พอ ด้วยเหตุนี้เองหลักสูตรพลซุ่มยิงของกองทัพบกและนาวิกโยธินสหรัฐฯจึงมีชั้นเรียนเฉพาะที่เน้นเรื่องกระสุนกันอย่างเดียว เมื่อกระสุนไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยหัวทองแดงหล่อชิ้นเดียวแต่มีดินขับบรรจุอยู่ในปลอก ถึงจะมีปริมาณเท่ากันแต่ถ้าคุณภาพของดินขับแตกต่างมันก็สร้างความแตกต่างได้มากทั้งพลังงานในการปะทะ ความเร็วต้นและอัตราเบี่ยงเบน

ไหนๆจะเป็นปืนซุ่มยิงกันทั้งทีเพื่อให้ยิงได้นัดละหัว มันก็ต้องแม่นยำเหนือกว่าปืนเล็กยาวประจำกายทั่วไป หน่วยวัดความแม่นของปืนเล็กยาวนี้วัดเป็นMOA(Minute Of Arc) เรียกง่ายๆว่ากลุ่มกระสุน คิดค่าMOAด้วยการให้ปากกระบอกปืนเป็นศูนย์กลางของวงกลมสมมุติชี้ไปในทิศทาง12นาฬิกา แบ่งส่วนเส้นรอบวงออกเป็น360ส่วนแล้วลากเส้นตรงจากปากกระบอกปืนไปจรดเส้นรอบวงนั้น จากจุดที่เส้นตรงสัมผัสเส้นรอบวงหรือ"เป้า"ซึ่งเป็น12นาฬิกาหรือ0องศา สามารถลากไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้1ส่วนหรือหนึ่งองศา ระยะจาก0ถึง1องศาที่เห็นเล็กๆนั่นแหละคือค่าความแม่น1MOA ไม่ว่าระยะจากปากกระบอกปืนถึงเป้าจะเป็นเท่าไรตัวเลข1MOAจะเท่ากัน แต่ระยะจาก0ถึง1ย่อมบานออกหรือหุบเข้าตามรัศมีคือระยะที่วัดจากปลายลำกล้องถึงเป้า

ถ้ายิงใกล้ค่า1MOAก็จะน้อยแต่ถ้ายิงไกลค่า1MOAก็จะมากคือกลุ่มกระสุนจะบานออก ยิ่งค่าMOAน้อยแสดงว่ายิ่งแม่น เมื่อกำหนดเอาไว้แล้วว่าต้องเท่านั้นเท่านี้MOAกระสุนจึงต้องเกาะกลุ่มกันให้อยู่ในเกณฑ์ และปืนซุ่มยิงมาตรฐานจะต้องมีค่าความแม่นเท่ากับ1ถึง3MOA ในขณะที่ปืนเล็กยาวมาตรฐานประจำกายจะทำความแม่นที่ระยะเท่ากันได้ระหว่าง3-6MOA ถ้าเป็นปืนซุ่มยิงมาตรฐานของตำรวจก็ต้องทำกลุ่มกระสุนให้หนาแน่นขึ้นไปอีกคือตั้งแต่.25ถึง1.5MOA ทั้งหมดนี้วัดค่าMOAด้วยการยิงกระสุนเป็นกลุ่ม5นัดจากปืนยึดขาตั้งในระยะที่กำหนด

ปืนที่จะทำกลุ่มกระสุนได้ตามกำหนดจะต้องผ่านการทดสอบก่อนทั้งตัวปืนและกระสุน ต้องขึ้นแท่นยิงกันเพื่อตั้งศูนย์ตั้งกล้อง ต้องเลือกกระสุนให้เหมาะกับงานและระยะยิงหวังผล เพราะกระสุนแตกต่างกันแม้จะมีขนาดหัวกระสุนเท่ากัน ถ้าไม่เข้มขนาดต้องโหลดดินขับใส่ปลอกอัดหัวกระสุนไว้ใช้เองเพราะไม่ไว้ใจส่วนผสมจากโรงงานก็ต้องเลือกกระสุนให้ดี การมีค่าMOAเป็นตัวกำหนดความแม่นจึงต้องทำงานเป็นระบบอันประกอบด้วยตัวปืนเองและกระสุน หมายความว่าปืนต้องมีลำกล้องได้มาตรฐาน มีกระสุนที่ดินขับคุณภาพคงเส้นคงวาให้ทั้งความเร็วต้น,พลังงาน,ระยะเบี่ยงเบนจากเป้าเท่ากันหรือแตกต่างกันน้อยที่สุด พอถึงตรงนี้จึงเกิดคำถามว่าถ้าไม่จำเป็นต้องประณีตกันจนทำให้งานฆ่าคนกลายเป็นงานศิลปล่ะจะมีกระสุนสูตรสำเร็จสำหรับพลซุ่มยิงหรือไม่? คำตอบคือมีและกระสุนขนาด.338ลาปัว แม็กนัม(Lapua Magnum)คือหนึ่งในกระสุนยอดนิยม

เรื่องราวของมันเริ่มต้นขึ้นในปี1988เมื่อบริษัทรีเซิร์ช อาร์มาเมนต์ อินดัสตรีส์(RAI)แห่งสหรัฐฯ เริ่มการพัฒนากระสุนชนิดใหม่เพื่อใช้กับปืนเล็กยาวซุ่มยิง ด้วยคุณสมบัติจากการวิจัยที่ประมาณว่ากระสุนที่พุ่งได้ตรงที่สุดและทะลุทะลวงได้มากที่สุด หัวกระสุนต้องหนัก250เกรน(16.2กรัม)มีเส้นผ่าศูนย์กลาง.338นิ้ว พุ่งจากลำกล้องด้วยความเร็วต้น3,000ฟุตต่อวินาที ด้วยสเป็คเช่นนี้จะทำให้มันทะลุทะลวงผ่านแผ่นเกราะกันกระสุนแบบสวมใส่ได้ถึง5ชั้นที่ระยะ1,000เมตร แล้วยังมีแรงมากพอจะสังหารเป้าหมายได้สบายๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหมวกเหล็กหรือเคฟลาร์ก็เอาไม่อยู่

จะทำกระสุนให้ได้ตามคุณสมบัติตามนี้ได้ต้องมีเทคโนโลยีที่ดีในระดับหนึ่ง เทคโนโลยีที่ว่านี้ปลอกกระสุนที่ทนแรงอัดรุนแรงของกระสุนปืนซุ่มยิงตามสเป็คได้ เพื่อให้เป็นระบบครบวงจรRAIจึงจ้างบราส เอ็กซ์ทรูชั่น แล็บ(สังกัดบริษัทเบลล์)จากอิลลินอยส์ผลิตปลอกกระสุนขนาด.338/416(8.58x71..) บริษัทฮอร์นาดีจากเนบราสกาผลิตหัวกระสุน ส่วนRAIเองก็สร้างปืนซุ่มยิงใช้กระสุนขนาดดังกล่าวตามสัญญาที่ได้จากกองทัพเรือสหรัฐฯ แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังที่คาดเมื่อปลอกกระสุนของเบลล์ตอบสนองความต้องการไม่ได้ มันฉีก โป่ง บางครั้งก็บิดเบี้ยวจนขัดลำกล้องจนอาจจะทำให้RAIถูกตัดออกจากโครงการได้หากส่งมอบระบบปืนซุ่มยิงให้ได้ไม่ทันเวลา

การถูกเส้นตายเป็นไฟลนก้นและประสบปัญหาด้านการเงินทำให้RAIถูกปรับออกไปจริงๆ ในที่สุดผู้ที่เข้ามาเสียบแทนRAIก็คือบริษัทLapua(ลาปัว)จากฟินแลนด์ซึ่งจะทำทั้งหมดตั้งแต่หัวกระสุน ปลอกและดินขับ กว่าจะสร้างกระสุนตามสเป็คได้คือ.338/416นิ้วก็เล่นเอาหืดขึ้นคอ เพราะการทำหัวกระสุนให้หนัก16.2กรัมแล้วพุ่งได้เร็ว3,000ฟุตต่อวินาทีนั้นไม่ใช่ง่ายๆ นอกจากหัวกระสุนจะได้มาตรฐาน มีปลอกที่ทนทานแรงอัดมหาศาลได้แล้วดินขับต้องได้มาตรฐานเหมือนกันทุกนัด พอสอบผ่านได้สัมปทานลาปัวก็"เกิด"ได้อย่างสมภาคภูมิในกองทัพเรือสหรัฐฯ คุณประโยชน์ของกระสุนชนิดนี้ทำให้มันถูกใช้แพร่หลายไปในหมู่พลซุ่มยิงของอีกสามเหล่าทัพ และตำรวจในบางรัฐที่อยากได้ของดีแต่ไม่ต้องเลือกมาก

รูปพรรณสัณฐานของ.338ลาปัวแม็กนัมนั้นแทบไม่ต่างกันเลยจากกระสุนปืนเล็กยาวทั่วไป ต้องเอามาวางเทียบกันก่อนจึงจะเห็นความแตกต่างชัดเจนในด้านขนาดทั้งหัวกระสุนและปลอกซึ่งบรรจุดินขับไว้ มันมีคำว่า"Magnum”ต่อท้ายเพื่อรับประกันความรุนแรงของการเจาะทะลุทะลวง ใช้การจุดระเบิดด้วยชะนวนกลางจานท้ายปลอกแบบเดียวกับปืนเล็กยาวประจำกายทั่วไป ความแรงของลาปัวทำให้มันกลายเป็นกระสุนเอนกประสงค์ จะใช้ยิงทำลายวัตถุหรือสังหารข้าศึกก็ได้ตราบใดที่อยู่ในระยะยิงหวังผล ด้วยน้ำหนักและรูปทรงอันเหมาะเจาะของมัน.338ลาปัวสามารถเจาะทะลุแผ่นเกราะมาตรฐานLevel3ที่กันกระสุนอาก้าได้สบายๆ การใช้หัวกระสุนหนักทำให้มันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำแบบซับโซนิก ผลพลอยได้คือเงียบเพราะไม่มีเสียงแหวกอากาศดังให้ได้ยินแต่ยังคงความแรงอยู่เพราะน้ำหนักของหัวที่ค่อนข้างมาก

ด้วยคุณสมบัติที่มีแรงทะลุทะลวงสูงและเงียบนี้เอง .338ลาปัว แม็กนัมจึงกลายเป็นกระสุนยอดนิยมของพลซุ่มยิงสหรัฐไปได้ไม่ยาก มันช่วยชาติมาแล้วในสงครามครั้งสำคัญๆ คือสงครามอ่าวทั้งสองครั้งและปัจจุบันยังใช้กันอยู่ในสงครามทั้งอาฟกานิสถานและอิรัก ถึงระยะหวังผลให้เจาะเกราะหรือยานยนต์ไม่เสริมเกราะได้ในระยะ1,000เมตร กระสุนนี้ยังยิงได้ไกลสุด1,750เมตร ความเร็วต้นของกระสุนของลาปัวขึ้นอยู่กับปริมาณดินขับและอุณหภูมิซึ่งจะผันแปรได้ตั้งแต่2,900ฟุตต่อวินาทีถึง3,000ฟุตต่อวินาที หากใช้หัวกระสุนพาณิชย์หนัก250เกรน ให้พลังงาน6,525จูลส์

ส่วนความเหมาะสมทางด้านการใช้งานที่ทำให้ได้ชื่อว่าเอนกประสงค์ ก็คือมันเป็นกระสุนที่เข้ามาเสริมช่องว่างระหว่างกระสุนมาตรฐานขนาด7.62x51มาตรฐานนาโตของปืนเล็กยาว กับกระสุนใหญ่อำนาจทำลายล้างสูงขนาด.50ของปืนกลหนักM2ที่ใช้ได้กับปืนซุ่มยิงขนาดหนักอย่างM82 ของบาเร็ตต์ กระสุนที่แรงขนาดกลางๆซ้ำยังเงียบเชียบได้ขนาดนี้ยังช่วยรักษาลำกล้องปืนไม่ให้สึกหรอเร็วเกินไปอีกด้วย ซึ่งเรื่องแบบนี้นับว่าสำคัญสำหรับพลซุ่มยิงของทหารซึ่งต้องฝึกด้วยการยิงกระสุนปีละหลายๆพันนัดเพื่อฝึกฝนทักษะ ส่วนข้อด้อยของลาปัวก็ไม่แตกต่างจากกระสุนใหญ่ทั่วไปคือมีแรงถีบหนัก แต่ก็ชดเชยได้ด้วยการเลือกใช้พานท้ายกับมัสเซิลเบรกที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดแรงถีบนี้ได้มาก ช่วยให้ทหารยิงกระสุนได้มากกว่าเดิมก่อนที่จะรู้สึกอ่อนล้าจนควบคุมปืนให้แม่นไม่ได้

นอกจากกองทัพจะใช้.338ลาปัวแม็กนัมเป็นกระสุนมาตรฐานของพลซุ่มยิง คุณสมบัติอันโดดเด่นของมันทำให้พลเรือนสนใจจนเอาไปยิงสัตว์เป็นเกมกีฬา(ไม่ใช่ที่บ้านเราแน่นอน) มันล้มสัตว์ใหญ่ได้ในนัดเดียวทั้งควายอาฟริกัน,ฮิปโปโปเตมัส,แรดและช้างอาฟริกันถ้ายิงด้วยมุมเหมาะๆ

สำหรับการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลนั้น เมื่อเกิดเหตุใหม่ๆได้ทำให้เกิดเสียงร่ำลือกันมากว่าน่าจะเกิดจากพิษสงของ.338ลาปัว แม็กนัมหรือเปล่า แต่จากบาดแผลที่เห็นนั้นค่อนข้างเชื่อได้ยากว่าจะเกิดจากกระสุนขนาดใหญ่และหนักเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านปืนเล็กยาวบางท่านให้ทัศนะว่าหากเป็น.338ลาปัวจริงกะโหลกของเสธ.แดงต้องระเบิดไปแล้วแต่ก็ไม่ หรืออย่างน้อยๆสมองก็ต้องกลายเป็นวุ้นไปเพราะแรงหมุนคว้านอันเกิดจากเกลียวลำกล้อง เสียชีวิตคาที่แน่นอน แต่บางท่านก็ให้ทัศนะว่ามีสิทธิ์เป็นไปได้หากยิงมาจากที่ไกล หรืออาจจะไม่ใช่.338ลาปัวแต่เป็นกระสุนที่เล็กกว่าและยิงใกล้กว่าอย่าง.22

กระสุน.338ลาปัว แม็กนัมจะเป็นเหตุหรือไม่นั้นตอนนี้คงไม่ใช่ประเด็นให้พูดคุยกันแล้ว มีแต่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ต้องสางคดีให้ออกว่า"ใคร"อยากฆ่าเสธ.แดง ไม่ใช่"อะไร"ที่ทำให้เสธ.แดงตายซึ่งอีกไม่นานก็คงได้รู้กัน

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:56

    ได้ความรู้อีกแล้วครับ ขอบคุณครับ / อินทร์แปลง

    ตอบลบ
  2. ยอดเยี่ยม ขอบคุณครับ

    จาก ปรมาจารย์โบบิ ว่าที่ ผู้ว่า มหานครคลองไทย
    แฟนพันธุ์แท้

    โทร/ไลน์: 081-538-4200

    ตอบลบ