มีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ใช้บ่อยในวงการทหารทั่วโลก คำนั้นคือCollateral damage(collateral=ข้างเคียง,แผ่เป็นวงกว้าง damage=ความเสียหาย) หากแปลแบบตรงตัวก็จะได้ความหมายในภาษาไทยว่า"ความเสียหายข้างเคียง"หรือความหมายแบบบ้านๆคือ"ลูกหลง" คำนี้เริ่มถูกใช้อย่างเป็นทางการโดยกองทัพบกสหรัฐฯ อันหมายถึง"ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นกับสิ่งข้างเคียงโดยเป็นผลต่อเนื่องมาจากการต่อตีเป้าหมายหลัก รวมถึงความเสียหายจากฝ่ายเดียวกันเองไม่ว่าจะด้วยความเข้าใจผิดหรือความผิดพลาดประการใดๆ เช่นยิงกันเอง ทิ้งระเบิดใส่ทหารฝ่ายเดียวกัน
กองทัพอากาศสหรัฐฯที่ใช้อาวุธหนักอยู่บ่อยๆมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2 ก็มีคำจำกัดความของcollateral damageเช่นกันว่าเป็น"ความเสียหายโดยไม่เจตนา หรือความเสียหายจากอุบัติเหตุอันส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์หรือบุคคล อันเกิดจากปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังของข้าศึกหรือองคาพยพต่างๆของฝ่ายตรงข้าม โดยความเสียหายดังกล่าวนี้เกิดได้จากทั้งการกระทำของฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงข้าม" ส่วนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเองก็มีคำจำกัดความคล้ายคลึงกันใช้อยู่คือ"การบาดเจ็บหรือความเสียหายอันเกิดขึ้นโดยไม่เจตนาหรือจากอุบัติเหตุ ต่อบุคคลหรือสิ่งของที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหารตามกฎเกณฑ์ระหว่างสู้รบ ความเสียหายนั้นจะไม่ถือว่าผิดกฎหมายตราบใดที่ไม่ได้ใช้กำลังเกินขอบเขต เพื่อให้การโจมตีนั้นบรรลุความได้เปรียบทางทหาร"
จึงตีความหมายได้ง่ายๆว่า"ความเสียหายข้างเคียง"หรือ"ลูกหลง"นั้นเกิดขึ้นได้เมื่อกองกำลังเข้าปะทะกัน ยอมรับได้ตราบเท่าที่ความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดจากความจงใจกระทำ เพราะการตัดสินใจใช้อาวุธแต่ละครั้งนั้นยากที่จะกะเกณฑ์ให้เกิดความเสียหายเฉพาะที่ขึ้นได้ ยิ่งถ้าเป็นอาวุธร้ายแรงอำนาจการทำลายสูงหรือแผ่เป็นวงกว้าง ความเสียหายมักจะเกิดมากกว่าที่ฝ่ายใช้กำลังประมาณไว้เสมอ แต่การจะกำหนดว่าอะไรเป็นความเสียหายข้างเคียงนั้นไม่มีความหมายตายตัว หากฝ่ายใช้อาวุธมีวัตถุประสงค์แน่นอนว่าต้องการสร้างความเสียหายในวงกว้างอยู่แล้ว แม้จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากก็ยังถือว่ายอมรับได้ ตัวอย่างคือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่2 การโจมตีทั้งสองครั้งนั้นมีชาวญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายทั้งตอนที่ทิ้งและหลังทิ้งตามมาอีกเกือบล้าน แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายข้างเคียงเพราะสหรัฐฯประมาณไว้แล้วว่าต้องเสียหายประมาณนี้
ความเสียหายหนักของฝ่ายตนหลังจากยกพลขึ้นบกที่โอกินาวา ทำให้กองทัพสหรัฐฯประเมินว่าหากต้องทำเช่นเดียวกันกับญี่ปุ่นทั้งประเทศอาจจะมากกว่ายกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีอีกหลายเท่า ในอีกมุมมองหนึ่งหากประเมินไว้ต่ำแล้วความเสียหายสูงเกินไป การทิ้งระเบิดลูกที่สองในเมืองนางาซากิคงไม่เกิดขึ้น นอกจากจะหมายความถึงความเสียหายข้างเคียงในวงกว้าง คำจำกัดความให้แคบเข้าก็ถูกใช้ในหลายโอกาส พลอากาศเอกเคอร์ติส เลอเมย์นักบินและนักคิดผู้วางแนวความคิดเรื่องการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ได้นำเอาความหมายของ"ความเสียหายข้างเคียง"มากล่าวอ้างไว้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นในการทิ้งระเบิดเมืองใหญ่ๆหลายเมืองในญี่ปุ่น ว่าหมายรวมถึงการทำลายสิ่งปลูกสร้างหรือสังหารชีวิตพลเรือนด้วย จากความรุนแรงของระเบิดที่แม้ไม่ใช่ระเบิดปรมาณูก็ยังสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่ประมาณไว้เสมอหากทิ้งลงในย่านที่อยู่อาศัยมีพลเมืองหนาแน่น ถ้าความเสียหายนั้นเป็นไปตามแผนมันย่อมไม่ถือเป็นความเสียหายข้างเคียง แต่ตราบใดที่มันอยู่เหนือความคาดหมาย ฝ่ายใช้กำลังต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีใหม่เพื่อลดความเสียหายนั้น เว้นแต่จงใจจะล้างผลาญกันจริงๆอย่างเหี้ยมโหด
ความเสียหายข้างเคียงมิได้มีผลกระทบต่อเป้าหมายเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อฝ่ายใช้อาวุธเองด้วย ความเสียหายข้างเคียงที่มากเกินคือการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม เป็นการทำลายชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินมากมายเกินจำเป็น เพราะการพัฒนากระสุนดินดำยิงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วช่วงทศวรรษ1850 ทำให้อาวุธมีแนวโน้มจะพัฒนาความร้ายแรงจนสังหารผลาญชีวิตได้มากเกินควบคุม และฝ่ายใช้อาวุธเองก็แทบจะไม่คำนึงถึงคำว่ามนุษยธรรม นักธุรกิจและเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิสส์คือฌ็อง อ็องรี ดูน็องต์จึงคิดก่อตั้งองค์กรเพื่อบรรเทาทุกข์จากสงครามขึ้น จากประสบการณ์อันเลวร้ายของเขาที่ได้ประสบในสมรภูมิเมืองโซลเฟริโนในอิตาลี ระหว่างกองทัพของนโปเลอ็องที่3 และพันธมิตรคือกษัตริย์วิตตอริโอ เอมานูเอเลที่2เข้าห้ำหั่นกับกองทัพของจักรพรรดิฟรานซ์ โยเซฟที่1แห่งออสเตรีย ในการยุทธครั้งใหญ่และนองเลือดที่สุดแห่งสงครามอิสรภาพครั้งที่สองของอิตาลี(Second Italian War of Independence) ที่ทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียทหารไปนับแสนทั้งที่น่าจะสงวนชีวิตกำลังพลไว้ได้มากกว่านี้
ความทรงจำอันเป็นแรงบันดาลใจของดูน็องต์ท่ีถูกบันทึกไว้ในหนังสือของเขาชื่อA Memoir of Solferinoนี้เองที่ทำให้เกิดองค์กรกาชาดสากลขึ้นในปี1863 และอนุสัญญากรุงเจนีวาที่เกิดขึ้นในปีถัดมาก็เป็นไปตามแนวความคิดของเขาเช่นกัน คุณประโยชน์จากการก่อตั้งองค์กรและการวางรากฐานให้เกิดอนุสัญญากรุงเจนีวาที่เกิดตามมาอีกหลายครั้ง ทำให้รางวัลโนเบลครั้งแรกตกเป็นของฌ็อง อ็องรี ดูน็องต์และเฟรเดอริก ปาสซี ตัวจักรสำคัญที่ก่อให้เกิดสององค์กรสำคัญของโลกขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเหยื่อสงครามทั้งทั้งทหารและพลเรือนที่รับผลกระทบโดยตรงหรือจากความเสียหายข้างเคียง ครอบคลุมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อมนุษยธรรมต่อเชลยศึกของคู่กรณี เนื้อความในมาตรา27แห่งอนุสัญญาแห่งปี1949ที่มีผู้เข้าร่วมให้สัตยาบรรณ194ชาติ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
"บุคคลต้องได้รับความคุ้มครองในทุกสถานการณ์ ไม่เลือกชาติตระกูล ศาสนา อาชีพหรือเพศ,วัย ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน และต้องได้รับการปกป้องไว้เป็นพิเศษจากทุกการกระทำอันรุนแรง,คุกคาม จากการดูถูกเหยียดหยามต่อหน้าธารกำนัล สตรีต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษจากการทำให้เสื่อมเสียเกียรติ โดยเฉพาะจากการกระทำชำเรา บังคับให้ค้าประเวณี หรือการคุกคามทุกรูปแบบ โดยไม่เลือกรัฐ,ไม่เลือกวัยและเพศ ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยรัฐบาลคู่กรณีไม่ว่าจะด้วยระบอบการปกครองใด ไม่เลือกชั้นวรรณะโดยเฉพาะกับเชื้อชาติศาสนาหรือแนวความคิดทางการเมือง กระนั้นคู่กรณีเองต้องวางมาตรการเพื่อความปลอดภัยต่อบุคคลที่คุ้มครองด้วยตามความจำเป็น จากผลกระทบของสงคราม"
แม้จะสู้รบกันก็ยังต้องมีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำให้ถูก ต้องมุ่งทำลายเป้าหมายทางทหารเท่านั้น หากพลเรือนต้องมารับเคราะห์ไปด้วยก็จะถือว่าผิดข้อตกลงเจนีวา แล้วถูกใช้เป็นหลักฐานเพื่อปรักปรำฝ่ายที่แพ้ได้ในภายหลัง(แน่อยู่แล้วว่าคนปรักปรำคือฝ่ายชนะ) ด้านอาวุธและยุทธวิธีเองก็เช่นกันที่ถูกพัฒนาให้แม่นยำขึ้นทุกวัน มุ่งทำลายได้เฉพาะเป้าหมายทางทหารโดยมุ่งให้เกิดความเสียหายข้างเคียงน้อยที่สุด เช่นสมาร์ท บอมบ์ที่ทิ้งให้ตรงเป้าได้ในหนึ่งนัดด้วยระบบนำวิถีอันชาญฉลาด ระบบปืนแตกอากาศที่ตั้งระยะระเบิดของกระสุนได้ เพื่อทำลายเฉพาะเป้าหมายเท่านั้นโดยจะไม่พลาดไปถูกผู้บริสุทธิ์ หรือแม้แต่อาวุธเพื่อหยุดยั้ง(Non Lethal Weapon:NLW)เพื่อหยุดภัยคุกคามจากเป้าหมายแทนที่จะยิงให้ตาย เช่นแก๊ซน้ำตา,ปืนไฟฟ้า,สเปรย์พริกไทย
ในการปะทะกันแต่ละครั้งระหว่างกองกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังติดอาวุธด้วยกันหรือในการปราบจลาจลย่อมต้องมีความสูญเสียเกิดขึ้น มีไม่น้อยเลยที่เป็นความเสียหายข้างเคียงจากการใช้อาวุธ ในการก่อการร้ายนั้นฝ่ายรัฐบาลมีสิทธิ์เข้าปราบปรามหรือแม้แต่สังหารได้หากฝ่ายก่อการร้ายติดอาวุธและมีการกระทำเป็นภัยต่อเจ้าหน้าที่ ทางออกเพื่อใช้หรือไม่ใช้อาวุธตามกรอบของกฎหมายนั้นมีระบุอยู่แล้วใน"กฎการใช้กำลัง"(Rules Of Engagement:ROE) หากฝ่ายปราบปรามดำเนินการด้วยความโปร่งใสเริ่มจากตักเตือนไปสู่การกดดันด้วยการใช้NLWและในที่สุดคืออาวุธสังหาร ความเสียหายข้างเคียงก็จะน้อยลงเรื่อยๆตามขั้นตอนที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น เมื่อผู้บริสุทธิ์ไม่ปรารถนาความรุนแรงทยอยเข้ามอบตัวหรือออกจากกลุ่มก่อการร้ายเสียตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆของROE ยอมหยุดกิจกรรมตั้งแต่มาตรการใช้กำลังเข้มข้นขึ้นถึงNLW
หากปัญหาลุกลามไปจนถึงขั้นรัฐต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามด้วยอาวุธจริงกระสุนจริง ความเสียหายข้างเคียงก็จะน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยหากมุ่งเข้าโจมตีที่แกนนำให้ได้ ซึ่งผลที่จะตามมาอาจลุกลามเป็นการก่อการร้ายที่แพร่กระจายไปหลายๆที่ การเข้าปราบปรามตามขั้นตอนเพื่อลดความเสียหายข้างเคียงก็ยังเป็นการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วปล่อยปละละเลยให้เรื่องราวลุกลามแต่ต้น
เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มกบฎในปัจจุบันด้วยตรรกะก็จะเข้าใจเลยว่าความเสียหายข้างเคียงนั้นหลีกเลี่ยงได้ ไม่มีใครบังคับให้ผู้บริสุทธิ์ไปร่วมเป็นกบฏหรือก่อการร้ายได้ หากไม่อยากเสียชีวิตหรือบาดเจ็บก็ควรออกจากกลุ่มเสียก่อนใช้กำลัง ถ้ายังร่วมขบวนการต่อไปก็คือตนยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแม้จะถึงชีวิต และต้องตระหนักในเหตุผลข้อนี้ ฝ่ายปราบปรามเสียอีกที่ไม่มีทางเลือก ทหารชั้นผู้น้อยต้องรับคำสั่งตามสายการบังคับบัญชาหากไม่ทำก็ผิดวินัย/กฎหมาย ถึงจะมีROEเป็นกรอบแล้วแต่ก็ยังจำต้องเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ตามสั่ง
ถึงบรรทัดนี้แล้วใครที่คิดจะออกมาสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ควรจะคิดนะครับว่าตัวคุณคือผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเอง คุณเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตตามกรอบหน้าที่ของพลเมืองหรือจะออกมาเสี่ยงตาย/พิการ ถึงอย่างไรกฎหมายก็ต้องถูกบังคับใช้มิฉะนั้นบ้านเมืองก็จะไร้ขื่อแปกลายเป็นอนาธิปไตย เป็นเช่นนี้เมื่อไรพวกเราทุกคนนี่แหละก็จะตกเป็นเหยื่อของ"ความเสียหายข้างเคียง"
เยี่ยมครับ
ตอบลบผมตามอ่านจากมติชนสุด
แต่เดี๋ยวนี้เลิกซื้อแล้วเพราะเหตุผลส่วนตัว
จนได้มาเจอblogนี้
ขอบคุณครับที่นำสิ่งดีๆมาให้อ่าน
ขอบคุณครับที่ติดตาม ผมเองก็ไม่ได้อ่านอะไรในหนังสือนั่นนอกจากเช็คบทความตัวเอง ผมเข้าใจเหตุผลส่วนตัวของคุณดีเพราะผมเองก็น่าจะคิดเหมือนคุณ อ่านในบล็อกเถอะนะครับ ผมจะอัดเดททุกเดือนหรือครึ่งเดือนหลังจากบทความลงในหนังสือก่อน ขอบคุณอีกครั้งที่ให้ความสำคัญและกรุณาเขียนมาเป็นกำลังใจ
ตอบลบบทความดีๆ หน้าสนับสนุน เป็นกำลังใจให้นะครับ สู้ๆ
ตอบลบสวัสดีครับ เมื่อคืนเพิ่งอ่านเที่ยวบินทะลุเมฆจบ ทราบว่าคุณสรศักดิ์ลงบทความในบล็อคส่วนตัวด้วย ก็ตามมาอ่านครับ ตามประสาคนบ้าเครื่องบิน
ตอบลบแล้วก็เหตุผลส่วนตัวที่ไม่ตามไปอ่านในมติชนรายสัปดาห์ด้วยคน ทั้งๆที่แต่ก่อนผมเป็นแฟนพันธุ์แท้หนุ่มเมืองจันทร์, ลึกแต่ไม่ลับ, เกจินู๊ด
ตอนก่อนผมอ่านมติชนสุดสัปดาห์มาตลอด ดิดตามมาตั้งแต่เรียน มอ ปลาย แต่มาหลังๆก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของหนังสือ ผมก็รู้สึกแปลกๆ จนตอนนี้ไม่อ่านแล้ว ก็เหตุผลส่วนตัวเหมือนกัน ผมชอบสิ่งที่คุณเขียนมากนะมันบ่งบอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน ปกติผมชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบทึ่งหรืออะไรมากมายกับคนเขียนหนังสือ แต่คุณผมนับถือจริง นอกจากสิ่งที่คุณรู้จริง แล้วบางอย่างที่สื่อออกมา ประเทศเราต้องมีคนแบบคุณมากๆ ทั้งๆที่คุณเป็นพลเรือนแต่คุณมีสำนึกในเรื่องที่คนที่มีหน้าที่ควรรู้หรือทำ แต่เขากลับไม่รู้หรือไม่ทำ อย่างเรื่องความจำเป็นที่เราต้องมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ กลับมีการต่อต้านหรืออ้างเหตุผลต่างๆว่ามันไม่ควรมี แต่คุณเข้าใจมันเป็นอย่างดี แต่ก็ยินดีกับคุณด้วยที่หน่วยงานความมั่นคง เห็นในสิ่งที่คุณมี ผมเองเป็นผู้น้อยที่สมัครใจไปทำงานที่สามจังหวัดใต้(หน่วยงานที่ผมสังกัดไม่ใช่หน่วยกำลัง และไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ใต้)เพื่อนๆที่นี่หลายคนเขาก็นับถือคุณ เป็นกำลังใจให้ครับ
ตอบลบ