วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Smart Bomb"ระเบิดฉลาด"



นับแต่สร้างเครื่องบินรบได้สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่มนุษย์อยากทำคือการใช้มันทำลายเป้าหมายด้วยอาวุธอานุภาพสูง ด้วยความแม่น ถล่มได้ราบเรียบในการทิ้งเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เมื่อเทคโนโลยีในยุคแรกๆยังไม่ก้าวหน้าพอการเล็งเป้าจึงยังใช้วิธีคล้ายเล็งศูนย์เปิดของปืนอยู่ เครื่องบินทิ้งระเบิดยังต้องแห่กันไปเป็นฝูงพร้อมเครื่องบินขับไล่คุ้มกันจำนวนมาก ถึงที่หมายแล้วใช้ศูนย์เล็งนอร์เด็น(Norden bombsight)ที่หัวเครื่องบินลำแรกเล็งให้ตรงก่อนจะทิ้ง แล้วเครื่องบินในฝูงก็จะทิ้งตามเครื่องบินลำแรก ด้วยการทำงานในระบบกลธรรมดาไม่มีเครื่องช่วยอีเลคทรอนิคส์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเล็งได้แม่นระเบิดลูกแรกก็อาจถูกเป้า แต่ก็ยังทิ้งกันทีละสิบหรือเป็นร้อยลูก หากต้องการทำลายโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์สักแห่งเพื่อหวังผลทางยุทธศาสตร์

ศูนย์เล็งระเบิดนอร์เด็นที่สหรัฐฯใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2ยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนาม เยอรมันเองก็มีศูนย์เล็งแบบเดียวกันที่จารกรรมแบบจากสหรัฐฯแล้วมาปรับปรุงแบบให้ดีกว่าด้วยฝีมือของโรงงานคาร์ล ไซส์ ในชื่อคาร์ล ไซส์ ล็อตแฟร์นโรห์7(ล็อตเฟ่อะ7) แต่เยอรมันใช้ของแบบนี้ไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพนักเพราะไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เหมือนกับอังกฤษและสหรัฐฯ การทิ้งระเบิดกรุงลอนดอนและพื้นที่อื่นๆของอังกฤษใน"ศึกบริเทน"เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งจากพิสัยบินอันใกล้ของเครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมัน และเรดาร์ที่อังกฤษคิดค้นสำเร็จแล้วนำมาใช้สกัดกั้นอย่างทรงประสิทธิภาพ

เมื่อการทิ้งระเบิดเป็นเรื่องสิ้นเปลืองทั้งตัวระเบิดเองและชีวิตนักบิน ก็ต้องมีตัวช่วยเพื่อให้ทิ้งกันแค่ลูกสองลูกก็โดน ระเบิดควรจะมี"ตา"ของมันเองจะได้เห็นเป้าแล้วพุ่งเข้าหาตรงๆ ซึ่งจะลดได้ทั้งงบประมาณ ลดความเสี่ยงของชีวิตนักบินและความเสียหายข้างเคียงจากระเบิดทั้งที่เป็นชีวิตผู้บริสุทธิ์และสถานที่สำคัญ แนวความคิดเรื่อง"อาวุธนำวิถี"(Precision Guided Munitions:PGMs)จึงเกิดขึ้น เยอรมันเป็นชาติแรกที่ใช้ระบบนำวิถีกับระเบิดแบบFX1400หนัก3,100ปอนด์(1,400..)ในสงครามโลกครั้งที่2 กับเรือประจันบานโรมาของอิตาลีในปี1943หลังจากกองทัพเรืออิตาลียอมจำนนต่อสัมพันธมิตร

หลักการง่ายๆก็คือใช้คลื่นวิทยุควบคุมปีกและหางของระเบิดให้ปรับทิศทางบินเข้าเป้า โดยต้องยังอยู่ในสายตาของคนบังคับตั้งแต่ปล่อยจนระเบิดกระทบเป้า ระเบิดอีกแบบในชนิดเดียวกันของเยอรมันคือเฮ็นเชิลHs293ที่ใช้ในปีเดียวกันโดยมุ่งทำลายเรือไม่หุ้มเกราะเป็นหลัก เพราะผลิตออกมาน้อยช่วงปลายสงครามและการนำวิถียังไม่แม่นพอ ระเบิดนำวิถีของเยอรมันจึงไม่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามได้ ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็มีระเบิดแบบเดียวกันคือAZON(Azimuth Only) ขนาด1,000ปอนด์(454..) ใช้ทั้งในสมรภูมิยุโรปและแปซิฟิก กับBATของกองทัพเรือที่ใช้เฉพาะด้านแปซิฟิก

ทั้งที่ก่อนสงครามโลกครั้งที่2ระเบิดขึ้นนั้น ฝ่ายอังกฤษมีเทคโนโลยีบังคับทิศทางระเบิดด้วยคลื่นวิทยุแล้วในชื่อระบบลาริงซ์(Larynx) ระบบแบบเดียวกันของฝ่ายเยอรมันคือมิสเติล(Mistel)ก็ไม่ประสบความสำเร็จด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี คนปล่อยต้องมองเห็นระเบิดแล้วคอยบังคับให้วิ่งเข้าเป้า ถ้าถูกรบกวนด้วยเครื่องบินขับไล่หรือสภาพอากาศจำกัดก็จะลดความแม่นยำลง ยิ่งกลางคืนยิ่งเป็นไปไม่ได้ ต้องมีตัวช่วยให้ระเบิดมองเห็นเป้าเองแทนที่คนใช้ระเบิดจะมองเห็น โครงการติดกล้องโทรทัศน์ที่หัวระเบิดจึงกำเนิดขึ้นในช่วงสงครามเกาหลี กล้องตัวนี้จะส่งภาพแบบเวลาจริงจากหัวระเบิดมายังจอภาพตรงหน้านักบิน ให้เขาบังคับทิศทางของมันพุ่งเข้าเป้าได้ กล้องติดหัวระเบิดถูกนำมาใช้มากขึ้นในสงครามเวียตนามเพราะแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการทำลายให้ได้เฉพาะเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ลดความเสียหายข้างเคียงลงให้มากที่สุด แต่ถ้าเป็นเป้าหมายเฉพาะที่สำคัญแต่ทำลายยากล่ะจะทำอย่างไรให้ระเบิดแค่ลูกสองลูกถูกเป้า? จะทำเช่นนั้นได้คือระเบิดต้องคิดได้เอง!

คำตอบคือสะพานธานห์ หัวในเวียตนามเหนือ(ขณะนั้น) นี่คือสะพานหลักข้ามแม่น้ำซ่งหม่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดธานห์ หัว ที่กองทัพเวียตนามเหนือใช้ลำเลียงอาวุธหนักและยุทธปัจจัยอื่นๆมายังเวียตนามใต้ตั้งแต่ปี1965ถึง1972 สหรัฐส่งเครื่องบินขับไล่/ทิ้งระเบิดทั้งจากกองทัพอากาศและกองทัพเรือไปโจมตีในยุทธการโรลลิ่ง ธันเดอร์กับในช่วงถัดมาคือยุทธการแคโรไลนา มูน สรุปคือก่อนสะพานจะถูกทำลายนั้นต้องใช้เครื่องบินแบบต่างๆรวมกันถึง873เที่ยวบิน กับระเบิดอีกนับแสนตัน ประมาณว่านักบินอเมริกัน104นายถูกยิงตกเหนือสะพานแห่งนี้แต่ไม่สามารถทำลายได้ นักบินอเมริกันถึงกับแต่งเพลง"เรด ริเวอร์ แวลลีย์"ให้สะพานธานห์ หัว เพื่อระลึกถึงและเพื่อประชดประชันต่อความยากลำบากในการทำลายสะพานยุทธศาสตร์แห่งนี้

จุดจบของสะพานธานห์ หัวมาถึงเอาในปี1972เมื่อสหรัฐฯเริ่มยุทธการไลน์แบคเกอร์ โดยใช้เครื่องบินขับไล่F4แฟนธอมจากกองบินขับไล่ที่8 จังหวัดอุบลราชธานี12ลำมุ่งตรงไปยังเป้าหมายเมื่อวันที่27เมษายน ในจำนวนนั้นมีอยู่8 ลำที่ใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์(Laser Guided Bomb:LGB)ใหม่เอี่ยมซึ่งถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี1962มาแล้วเสร็จเอาในปี1967 ด้วยหลักการง่ายๆว่าใช้ลำแสงเลเซอร์เข้ารหัสฉายเป้าหรือเรียกว่า"หมาย"(paint)เป้าไว้ พอเครื่องจับสัญญาณหัวระเบิดจับสัญญาณจากเลเซอร์นั้นได้นักบินก็กดปุ่มปล่อยระเบิดให้มันวิ่งตามลำแสงเข้าหาเป้าเอง โดยนักบินจะยังต้องคอยบังคับลำแสงนำทางนั้นให้ตรงเป้าจนกว่าระเบิดจะวิ่งเข้ากระทบ

การโจมตีสะพานธานห์ หัวครั้งแรกสำเร็จในระดับหนึ่งเมื่อสะพานซีกฝั่งตะวันตกฉีกหลุดจากตอม่อ การโจมระลอกต่อมาในวันที่13พฤษภาคมด้วยแฟนธอม14ลำ ด้วยเป้าหมายคือจุดศูนย์กลางตอม่อสะพานด้วยLGBหนัก2,000ปอนด์ ครั้งนี้ประสบความสำเร็จงดงามเมื่อตอม่อถูกทำลายเรียบจนเวียตนามเหนือใช้การไม่ได้ และเพื่อความมั่นใจสหรัฐฯจึงโจมตีอีกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ6ตุลาคมปีเดียวกัน ด้วยเครื่องบินโจมตีA-7"คอร์แซร์2"สี่ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส.อเมริกา ใช้ระเบิดMK84GPเพื่อให้แน่ใจว่าสะพานธานห์ หัวจะไม่เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป ครั้งนี้สำเร็จอย่างราบรื่นโดยอเมริกาไม่เสียเครื่องบินแม้แต่ลำเดียว และสะพานแห่งนี้ก็ใช้การไม่ได้อีกเลยจนสิ้นสงครามในปี1975

การทำลายสะพานธานห์ หัวสำเร็จนี้เองคือสิ่งที่เปิดมิติใหม่ของการทำลายเป้าหมายทางทหารภาคพื้นดิน ระเบิดและจรวดต้องมีเครื่องชี้เป้าไม่ว่าจะด้วยการฉายแสงจากภาคพื้นดิน จากเครื่องบินหรือแม้แต่จากดาวเทียม การทำลายสะพานยุทธศาสตร์ครั้งนั้นสำเร็จได้ด้วยความสามารถของไมโครชิปที่พัฒนาสำเร็จในยุคเริ่มแรก ทั้งที่มันถูกถล่มถึง800กว่าเที่ยวบินแต่ความสำเร็จแบบเป็นเนื้อเป็นหนังเพิ่งจะเกิดเอาในสองเที่ยวบินสุดท้ายนี้เอง แต่การใช้เลเซอร์นำระเบิดก็ยังมีข้อจำกัดด้านสภาพอากาศ หลังจากสงครามเวียตนามแล้วสงครามใหญ่ที่ตามมาคือศึกหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ อังกฤษใช้LGBทำนองเดียวกับสหรัฐฯแต่ไม่มาก การใช้มันเต็มรูปแบบมาเกิดขึ้นในสงครามอ่าวครั้งแรกในยุทธการพายุทะเลทรายเมื่อปี1991 ที่สหรัฐฯใช้กับอิรัก แต่ด้วยความง่ายในการโจมตีระเบิดส่วนใหญ่จึงเป็น"ระเบิดโง่" ที่ยังเล็งกับเครื่องเล็งคล้ายกับศูนย์เปิดของปืน นักบินยังต้องบินค่อนข้างต่ำเพื่อความแม่นยำ LGBถูกใช้เป็นจำนวนมากอีกครั้งในปี1999กับสงครามโคโซโว แต่ประสิทธิภาพของมันถูกลดทอนลงด้วยสภาพอากาศและความกระจัดกระจายของเป้าหมายในภาคใต้ของบอลข่าน และล่าสุดคือในสงครามอ่าวครั้งที่2เพื่อยึดครองประเทศอิรักซึ่งได้ผลดี

พอการพัฒนาระบบอีเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าอย่างมากในทศวรรษ1990 อาวุธนำวิถีก็พัฒนาตามอย่างรวดเร็ว ระบบนำวิถีด้วยลำแสงอินฟราเรดและเลเซอร์ที่มีอยู่เดิมถูกพัฒนาให้จับเป้าและพุ่งเข้าหาเป้าง่ายขึ้น แทนที่จะยิงแล้วติดตามผลงานก็กลายเป็นยิงแล้วลืม(fire and forget) นักบินเพียงแค่กดปุ่มปล่อยจรวดหรือระเบิดให้พุ่งเข้าเป้าเองแล้วก็หันหลังมุ่งกลับฐานบินได้เลย ตัวอย่างชัดๆคือAGM-65Aระบบอีเลคโตร-ออปติคอล,AGM-65Dระบบชี้เป้าด้วยลำแสงอินฟรา-เรด และAGM-65Eนำวิถีด้วยเลเซอร์

บทเรียนจากสงครามอ่าวครั้งแรกทำให้โลกเข้าใจถึงความสำคัญและบทบาทของ"ระเบิดฉลาด" แต่จะทำอย่างไรให้ทิ้งได้แม้ในสภาพอากาศขมุกขมัวหรือมีเมฆหนาบดบัง คำตอบคือด้วยการใช้พิกัดดาวเทียม แม้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์หรือเครื่องนำทางอื่นจะพ่ายต่อสภาพอากาศเลวร้าย แต่กับดาวเทียมที่มีพิกัดทางภูมิศาสตร์แน่นอนแล้วนั้นไม่เป็นปัญหา ระบบGPSเพื่อระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์นั้นเมื่อนำทหารกลับบ้านได้มันก็นำระเบิดเข้าเป้าได้เหมือนกัน ที่ดียิ่งกว่านั้นคือถ้าระบบจีพีเอสถูกรบกวน ในตัวจรวดหรือระเบิดเองก็มีระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อยให้พุ่งเข้าเป้าเองได้ ทั้งนี้การจะมีพิกัดจีพีเอสที่ถูกต้องได้นั้นต้องประกอบด้วยการข่าวที่แม่นยำ สามารถระบุเป้าได้แม่นว่าตรงนั้นคือเป้าหมายทางทหารจริงๆ

ข้อจำกัดของระเบิดฉลาดนำวิถีด้วยพิกัดจีพีเอสจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวหัวรบแต่เปลี่ยนมาอยู่ที่การข่าว ถ้าการข่าวสืบทราบมาว่าเป้าถูกต้องพิกัดถูกต้อง ทิ้งอย่างไรก็ถูกด้วยระเบิดเพียง1หรือ2 ลูกเท่านั้น จึงจำกัดความเสียหายข้างเคียงได้หากเป้าอยู่ในเมือง หรือรัศมีการทำลายล้างจำกัดที่สุดเมื่ออยู่ในที่โล่งหรือกลางทะเลทราย เราจึงได้ยินชื่อระเบิดแปลกๆมากข้ึนในช่วงสิบกว่าปีมานี้เช่นJDAM(Joint Direct Attack Munition ),JSOW(Joint Stand-Off Weapon)ที่รับประกันความถูกต้องได้ในกรณีที่มันวิ่งตามพิกัดจีพีเอสที่ถูก จนนักบินรบปัจจุบันสามารถพูดได้ว่าจะยิงจรวดเข้าหน้าต่างบ้านใครก็ได้ขอให้ได้พิกัดเหมาะๆ

เพราะระบบนำวิถีที่ช่วยให้ขีปนาวุธและระเบิด"คิด"ได้เองนี้ การทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์หรือสังหารบุคคลในสงครามยุคใหม่จึงถูกจำกัดเขตอยู่แต่เฉพาะเป้าหมายทางทหารเท่านั้น มีแต่เฉพาะเป้าหมายที่ต้องการที่ถูกทำลายไม่ลุกลามไปจนกลายเป็นความเสียหายข้างเคียงหรือ"ลูกหลง" ซ้ำยังช่วยสงวนไว้ได้ทั้งชีวิตนักบิน เครื่องบิน และงบประมาณด้านอาวุธได้มหาศาล

1 ความคิดเห็น: