วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กล้องเล็ง เพื่อนสนิทของพลซุ่มยิง



ในบทความสองชิ้นก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าเรื่องยุทโธปกรณ์ของพลซุ่มยิง(สไนเปอร์)ไปแล้วคือปืนเล็กยาวและกระสุนเฉพาะ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาวุธที่หากจะพลาดไปแล้วคงขาดอะไรไปสักอย่างในการเล่าเรื่องอาวุธทางยุทธวิธีชิ้นนี้ ส่วนประกอบของปืนชิ้นที่ว่านี้มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆมีเลนส์ปิดปลายท่อหน้า/หลังปรับความคมชัดได้ หรือเรียกได้ว่า"กล้องเล็ง"นั่นเอง อุปกรณ์ชิ้นนี้แหละที่ทำให้พลซุ่มยิงทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ ช่วยให้ยิงได้ถูกเป้าจากระยะไกลด้วยกระสุนเพียงไม่กี่นัด การยิงเป้าใกล้ๆหรือระยะประชิดอาจทำได้แค่เล็งศูนย์เปิด แต่เมื่อใดที่ต้องการความแม่นยำเหนือปกติชนิดนัดเดียวหยุด กล้องเล็งคืออุปกรณ์มาตรฐานสำหรับทหารทุกนายที่ไม่อยากพลาดเป้าหรือเปิดเผยตำแหน่งของตน

ความพยายามจะมองเห็นเป้าไกลๆให้ชัดนั้นมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มใช้ปืนบรรจุกระสุนดินดำ ตามหลักฐานที่ปรากฎนั้นนับย้อนกลับไปได้ถึงยุโรปในศตวรรษที่17 ทหารนำเลนส์ขยายมาติดเหนือโครงปืนด้วยวัตถุประสงค์ง่ายๆและหยาบๆคือเพื่อให้เห็นเป้าชัดขึ้นเท่านั้น กล้องเล็งที่ใช้เป็นศูนย์ปืนแบบแรกถูกสร้างขึ้นในปี1880โดยช่างปืนและข้าหลวงชาวออสเตรียชื่อเอากุสต์ ฟีดเลอร์ กล้องของฟีดเลอร์ยังเรียกว่ากล้องเล็งได้ไม่เต็มตัวนักเพราะยังไม่มีเส้นเล็งกากบาทเหมือนปัจจุบัน มันถูกติดบนปืนพกและปืนเล็กยาวเพื่อล่าสัตว์ให้คนยิงด้วยระยะห่างจากเลนส์ตาถึงเลนส์วัตถุค่อนข้างมาก ซ้ำระยะห่างระหว่างดวงตากับเลนส์ตาท้ายกระบอกกล้องยังห่างกันมากไม่ได้เอาไปแนบชิดเหมือนกล้องเล็งที่เห็นกันทั่วไป จะใช้กับปืนยาวก็ต้องเลื่อนใบหน้ามาอยู่เกือบสุดพานท้าย ถ้าเป็นปืนพกก็ต้องเหยียดไปสุดลำแขน

หลักการของฟีดเลอร์ถูกนำมาใช้กับกล้องเล็งติดปืนเล็กยาวมาตรฐานของกองทัพเยอรมัน คือซีลแฟร์นโรหร์41(Zf41:Zielfernrohr 41)ที่พลซุ่มยิงเยอรมันใช้ติดปืนเล็กยาวเมาเซอร์คาราบีเนอร์98เค(Kar98K:Karabiner 98k)ในสงครามโลกครั้งที่2 ด้วยระยะแนบของตากับเลนส์ตายาวจึงต้องวางกล้องค่อนไปทางกลางปืน แทนที่จะวางตัวเหนือช่องคัดปลอกกระสุนให้ตาแนบใกล้เหมือนกล้องเล็งยุคปัจจุบัน ทหารจำเป็นต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือก ด้วยกำลังขยายต่ำแค่1.5เท่า กล้องชนิดนี้จึงเป็นเครื่องช่วยเล็งของพลแม่นปืน ไม่ใช่พลซุ่มยิงซึ่งต้องทำลายเป้าในระยะห่างกว่านั้น แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่การพัฒนากล้องเล็งให้แม่นและทรงคุณประโยชน์ในยุคต่อมา

กล้องเล็งมาตรฐานมีการทำงานเหมือนกล้องส่องทางไกลหรือกล้องวัดมุมของนักสำรวจ มีทั้งแบบขยายภาพวัตถุระยะไกลให้ชัดและแบบที่ดึงภาพเข้าใกล้ได้เหมือนเลนซ์ซูมของกล้องถ่ายรูป ระยะห่างระหว่างเลนส์วัตถุกับเลนส์ตาคือปัจจัยสำคัญในการขยายภาพรวมทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์วัตถุที่ยิ่งกว้างยิ่งรับแสงได้มาก ช่วยให้ภาพชัดและสว่างขึ้นด้วย นักเลงกล้องถ่ายรูปจะเข้าใจความสำคัญของเลนส์ได้ดี ยิ่งเลนส์วัตถุกว้างยิ่งเล็งได้สบายไม่เกิดวงดำเหมือนมองแสงปลายอุโมงค์ให้รำคาญตาจนต้องขยับหน้าเข้าออกบ่อยๆ ข้อดีของเลนส์วัตถุใหญ่คือใช้สอดส่ายหาเป้าได้ง่ายและเร็วจากมุมมองกว้าง ส่วนกำลังขยายสำหรับกล้องเล็งปืนก็มีหลากหลายระดับให้เลือกตามภารกิจ กล้องสำหรับพลแม่นปืนที่ต้องยิงเป้าในระยะไม่เกิน800เมตรย่อมต้องมีกำลังขยายต่ำกว่ากล้องเล็งสำหรับพลซุ่มยิงซึ่งต้องขยายให้มากกว่า พลแม่นปืนที่ไม่ได้ใช้ปืนซุ่มยิงเฉพาะนั้นหากใช้กล้องกำลังขยายสูงๆก็อาจทำให้พลาดได้ถ้าหวังยิงเป้าไกลเกินระยะหวังผลของปืน การเลือกกล้องเล็งจึงต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของปืนและกระสุนด้วย ใช่ว่าสักแต่ใช้เพราะเห็นว่าชัดหรือเพราะคิดว่าเท่

เมื่อติดกล้องเข้าไปแล้วตัวศูนย์เปิดทั้งหน้าและหลังเดิมๆของปืนก็ต้องยุติบทบาทลง แต่ก็ใช่ว่ามันจะไร้ความหมายเสียเลยทีเดียว ปืนเล็กยาวมาตราฐานยังจำเป็นต้องมีศูนย์เปิดหน้า/หลังไว้ใช้หากเกิดเหตุให้ใช้กล้องเล็งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะกล้องเล็งชำรุดหรือเสียหายจากการสู้รบ เพราะการเล็งกล้องผ่านศูนย์เปิดหน้าหลังเป็นไปไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของเลนส์ จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยเล็งติดตั้งไว้ในกล้องเรียกว่า"เส้นเล็ง"(บ้างก็เรียกว่า"เส้นใย"หรือ"เส้นใยเล็ง") ผู้ใช้อาวุธต้องเอากึ่งกลางเส้นเล็งสองเส้นตัดกันนี้ไปทาบเป้า ปรับภาพให้ชัดทั้งตัวเส้นเล็งเองและตัวเป้าก่อนจะเล็งแล้วเหนี่ยวไก เว้นแต่ปืนซุ่มยิงหนักใช้กระสุนใหญ่เช่นBarrett M82หรือปืนซุ่มยิงในภารกิจเดียวกันที่ใช้ทำลายเป้าไกลเป็นกิโลเมตรที่ไม่มีศูนย์เปิด

เส้นเล็งมาตรฐานสำหรับกล้องของพรานและพลแม่นปืนที่ต้องยิงเป้าระยะใกล้ๆ เป็นแค่เส้นตรงสีดำแนวดิ่งและแนวนอนตัดกันเป็นมุมฉากกลางกล้อง ผู้ยิงเพียงนำจุดตัดนี้ทาบเป้าแล้วก็ยิงได้เลยถ้าเป้ายังไม่เคลื่อนที่ แต่จริงๆแล้วในทางทหารไม่ได้ทำแค่นั้นเพราะแนวของเส้นเล็งต้องเป็นแนวเดียวกับวิถีกระสุน บนกล้องเล็งจึงต้องมีควงปรับวิถีให้ปรับแนวกล้องได้ทั้งแนวราบและแนวตั้ง พอๆกับตัวของเส้นเล็งเองที่ถูกออกแบบให้ซับซ้อนใช้งานได้หลากหลายออกไป การใช้กล้องเล็งให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจึงต้องฝึกเรื่องกล้องเล็งโดยเฉพาะ นอกจากวิชาอาวุธศึกษาตามปกติที่ทหารต้องใช้และดูแลอาวุธประจำกายให้พร้อมใช้งานเสมอ

นอกจากเส้นเล็งจะทำหน้าที่ชี้เป้าแล้วมันยังเป็นตัวช่วยได้ดี เมื่อผู้ยิงต้องทำลายเป้าระยะไกลซึ่งจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นน้ำหนักหัวกระสุน กระแสลม ความโค้งของโลก ค่าความหักเหของแสง พลซุ่มยิงสามารถใช้เส้นเล็งแบบมิล-ด็อทเพื่อเผื่อวิถีกระสุนได้ทั้งด้านบนล่างและซ้ายขวา ด้วยเส้นเล็งกากบาทปกติที่มีจุดกลมบนเส้นเรียงตัวกันทั้งแนวราบและดิ่ง พลยิงสามารถเล็งที่จุดเหล่านี้ได้เมื่อเป้าเคลื่อนที่ไปทางซ้ายหรือขวา ใช้เล็งเผื่อให้กระสุนตกตรงได้ในกรณีที่เป้าอยู่ต่างระดับแนวยิงไม่ว่าจะอยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าโดยไม่จำเป็นต้องเล็งที่จุดตัดของเส้นเล็งเสมอไป

นอกจากเส้นเล็งของกล้องจะมีความสำคัญต่อพลซุ่มยิงในฐานะเครื่องช่วยเล็งและขยายความชัด เทคโนโลยีดิจิตอลยุคปัจจุบันยังช่วยทำให้การวัดระยะและยิงเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยเครื่องวัดระยะและนาฬิกาคำนวณค่าการยิง ตัวอย่างเช่นเครื่องวัดระยะสำหรับพลซุ่มยิงรุ่นเรนจ์มาสเตอร์1200ของไลก้า(Leica Rangemaster1200)ที่ใช้งานได้ทั้งกิจการพลเรือนและทหาร มันวัดระยะได้แม่นยำในช่วงไม่เกิน1..ด้วยความผิดพลาดไม่เกินบวก/ลบ1เมตรซึ่งนับว่าละเอียดพอเกินสำหรับการวัดระยะเพื่อซุ่มยิง ไม่จำเป็นต้องละเอียดเป็นมิลลิเมตรหรือเซ็นติเมตรเช่นเดียวกับกล้องวัดมุมเพื่อการก่อสร้างของนักสำรวจ เรนจ์มาสเตอร์วัดระยะของวัตถุสองชิ้นได้พร้อมกัน ใช้กำลังไฟจากแบตเตอรี่9โวลต์เพียงก้อนเดียว ใช้งานง่ายด้วยการชี้เครื่องมือไปยังเป้าแล้วกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวบนตัวเครื่อง จะใช้กับสามขาหรือถือไว้นิ่งๆก็ได้ น้ำหนักเพียง320กรัมของเรนจ์มาสเตอร์ทำให้มันไม่เป็นภาระเมื่อทหารนำติดตัวออกสนาม

อีกตัวอย่างหนึ่งของเครื่องช่วยยิงประกอบกล้องเล็ง คือนาฬิกาHRT sniper watchของ5.11Tacticalเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อยุทธวิธีและชีวิตเอาต์ดอร์ที่โด่งดังของสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ของ5.11ได้รับความไว้วางใจจากทั้งกองทัพและหน่วยรักษาความปลอดภัยติดอาวุธเลือกใช้งานเนื่องจากความทนทานและประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีดิจิตอลและคอมพิวเตอร์ทำให้เครื่องคำนวณมีขนาดเล็กลงจนยัดตัวเองลงในนาฬิกาข้อมือได้ นอกจากตัวเรือนผลิตจากไททาเนียมที่เบาและแข็งแกร่งแล้วคุณสมบัติพิเศษของมันคือเป็นเครื่องคำนวณเพื่อการซุ่มยิงทรงประสิทธิภาพ

ด้วยคอมพิวเตอร์SureShotของนาฬิกาเอชอาร์ที พลซุ่มยิงจะมีปัจจัยที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน13อย่างบรรจุไว้ในพื้นที่เล็กๆบนข้อมือ เพียงแต่เขาป้อนค่าความสูงของลำกล้อง ค่าสัมประสิทธิ์ของวิถีกระสุน ความเร็วต้นกระสุน ระยะ อุณหภูมิ ค่าความสูงและค่าความลาดของภูมิประเทศตามที่นาฬิกากำหนดให้ป้อน คอมพิวเตอร์ชัวร์ช็อตก็จะบอกค่าที่พลซุ่มยิงต้องการบนหน้าปัดในพริบตา ทั้งค่าMILS,TMOAหรือSMOA แก้ปัญหาที่กล้องเล็งได้เพียงคลิกเดียวทั้งเรื่องความเร็วลมและระดับสูง(ลมพัดมาทางซ้ายเล็งจุดซ้ายให้กระสุนตกค่อนไปทางขวา เป้าสูงกระสุนตกต่ำ เป้าต่ำกระสุนเหินขึ้นสูง) ทั้งเครื่องวัดระยะและนาฬิกาคำนวณวิถีกระสุนของพลซุ่มยิงทำให้การยิงเป้าหมายไกลๆแม่น ง่าย และเร็วขึ้นเมื่อมีเครื่องช่วย มันช่วยลดเวลาจับเป้า คำนวณ และยิงลงมาได้หลายเท่าซ้ำยังใช้งานได้ง่าย พลซุ่มยิงไม่ต้องหมุนสกรูปรับกล้องเล็งไปมาให้เสียเวลา เพียงป้อนค่าต่างๆลงในเครื่องมือแล้วอ่านได้เลยในพริบตาก่อนจะปรับกล้องด้วยเวลาอันสั้น ฝึกเพียงช่วงสั้นๆไม่กี่วันก็ใช้เครื่องมือได้แล้วส่วนความคล่องตัวก็คงต้องวัดกันในสนาม ยิงบ่อยใช้บ่อยก็ยิ่งแม่นยำขึ้นตามลำดับ

กล้องเล็งต้องติดกับปืนมันจึงต้องถูกออกแบบมาให้แข็งแกร่ง มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด กล้องเล็งติดปืนเล็กยาวแบรนด์เด่นๆอย่างลูโพลด์(Leupold)หรือเอมพอยท์(Aimpoint)จึงมีราคาแพง การใช้งานที่ต้องทนทานได้ดีต่อแรงถีบของปืน ต้องทนทานต่อสภาพแวดล้อมอันทารุณของสนามรบตั้งแต่อาร์คติกถึงทะเลทรายและป่าฝนเขตใกล้ศูนย์สูตร ทำให้ต้องผลิตด้วยกรรมวิธีอันละเอียดประณีต กล้องต้องไม่หลุดศูนย์เมื่อถูกกระแทกกระทั้นจากแรงถีบของปืนซ้ำๆซากๆ ยังใช้งานได้เหมือนใหม่เมื่อเผลอหล่นกระแทก ความแพงของยุทโธปกรณ์ชนิดนี้จึงมีเหตุผลและสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

เพราะกล้องเล็งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของปืนเล็กยาวซุ่มยิง จะยิงถูกหรือพลาดเป้าของชิ้นนี้คือตัวบ่งชี้ หน่วยงานใดจะเลือกใช้จึงต้องหาข้อมูลให้ละเอียดเพราะราคาสูง แต่จ่ายแล้วก็คุ้ม(ถ้าไม่ได้สูงเพราะมีการเล่นกลระหว่างจัดซื้อ) ถ้าจะใช้เพื่อทำงานในสนามแบบทหาร/ตำรวจอาชีพจริงๆแล้วก็ต้องใช้ของมาตรฐาน อย่าได้ซื้อของคลองถมที่ใช้ติดปืนบีบีมาใช้เลยครับ ถึงหน้าตาจะเหมือนกันแต่ก็เป็นได้แค่ของเล่น ประสิทธิภาพต่างกันประมาณฟ้ากับเหว...จริงๆ

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 ตุลาคม 2554 เวลา 16:03

    พอจะมีวิธีการใช้งานของ นาฬิกาHRT sniper watchของ5.11Tactical มั้ยครับ

    แบบเป็น file วิดีโอนะครับ

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช18 ตุลาคม 2554 เวลา 18:04

    ค้นดูในยูทุบแล้วไม่พบ มีแต่รีวิวครับ คงต้องพึ่งคู่มือที่เป็นกระดาษ

    ตอบลบ
  3. นาฬิกาHRT sniper watchของ5.11Tactical ราคาเท่าไหรครับผมเห็นมีขายที่ร้านอุณากรรณ์ ใช่แบบนี้หรือปล่าครับ แล้วใช้คำนวนปืนขนาดอื่นๆได้ใหม่ครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ19 มีนาคม 2555 เวลา 15:13

    ผมใช้ตัวนี้อยู่ครับ
    http://www.mhq.com/media/catalog/product/cache/1/image/5e06319eda06f020e43594a9c230972d/5/9/59245.jpg

    ตอบลบ