วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปืนซุ่มยิง,พลซุ่มยิงและพลแม่นปืน


ผมเคยเขียนบทความเรื่องของพลซุ่มยิง(sniper)ไปแล้วเมื่อปีก่อนที่นี่ แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงอาวุธที่พวกสไนเปอร์โดยทั่วไปใช้ แฟนคอลัมน์ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านเรื่องของพลซุ่มยิง ก็สามารถหาอ่านได้ในบล็อกของผมข้างบนนี้ครับ(ชื่อบทความ"พลซุ่มยิง...”1นัด1ชีวิต"http://tacticalthinker.blogspot.com/2009/03/1-1.html) ในบทความชิ้นนี้ผมจะมุ่งกล่าวถึงอาวุธที่พลซุ่มยิงในกองทัพทั่วไปใช้กันคือปืนเล็กยาวซุ่มยิง และความแตกต่างระหว่าง"พลซุ่มยิง"(sniper)กับ"พลแม่นปืน"(designated marksman) ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในช่วงปราบปรามผู้ก่อการร้ายในกรุงเทพฯเมื่อสองสัปดาห์ก่อน และบุคคลทั่วไปยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในบทบาทและวิธีปฏิบัติงานของสองหน้าที่ดังกล่าว

เมื่อกล่าวถึงปืน(กรุณาหยุดเรียกว่า"อาวุธปืน"เสียทีเถอะ) ด้วยภารกิจที่ต้องประณีต ยิงนัดเดียวต้องถูกจากระยะไกล ต้องเปลี่ยนที่วางตัวเองอยู่เสมอหลังจากส่งกระสุนออกไป ปืนเล็กยาวเพื่อซุ่มยิงจึงต้องแตกต่างจากอาวุธประจำกายทหารตามปกติ ตามความหมายสากลก็คือมันต้องถูกสร้างมาเพื่อความแม่นยำสูงสุด จะเป็นปืนเล็กยาวซุ่มยิงได้ อย่างง่ายที่สุดปืนกระบอกนั้นต้องมีกล้องเล็งขยาย ถ้าระยะไม่ไกลนักตั้งแต่100-300เมตรปืนเล็กยาวประจำกายทหารในตระกูลM16ธรรมดาติดกล้องเล็งก็ใช้ซุ่มยิงได้ ต้องใช้กระสุนทหารแบบชนวนกลาง(เข็มแทงขนวนตีเข้ากลางจานท้าย) เหตุผลที่ต้องติดกล้องเล็งเพื่อให้เห็นเป้าได้ชัด ส่วนที่ต้องใช้กระสุนชนวนกลางก็เพราะกระสุนแบบนี้มีแรงขับสูงยิงได้ไกลและตรง ส่วนใหญ่เป็นกระสุนทหารไม่ว่าจะเป็นขนาด5.56..หรือ.308,.338นิ้วไปจนถึงกระสุนปืนกลหนักขนาด.50นิ้วที่ใช้กับปืนซุ่มยิงหนัก ต้องการระยะยิงไกล1..ขึ้นไป ถึงอาวุธประจำกายทหารแบบมาตรฐานจะนำมาใช้ซุ่มยิงได้ก็ตาม แต่ถ้ากล่าวถึงภารกิจซุ่มยิงแบบจริงจังแล้วเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ปืนที่ถูกสร้างมาเฉพาะภารกิจเท่านั้น เพื่อรับประกันความถูกต้องและไม่ให้เกิดความเสียหายข้างเคียงโดยไม่จำเป็น ทั้งยังไม่เปิดเผยที่ตั้งของคนยิงด้วย

บทบาทของพลซุ่มยิงในกองทัพนั้นนับย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่18 แต่ตัวอาวุธเฉพาะภารกิจนี้กลับได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง เทคโนโลยีที่ทำให้ปืนเล็กยาวซุ่มยิงพัฒนาไปได้คือกล้องเล็งที่ช่วยให้ทหารส่งกระสุนเข้าเป้าได้โดยแทบไร้โอกาสพลาด ปืนเล็กยาวใช้ศูนย์เปิดธรรมดาเมื่อติดกล้องเล็งเข้าไปจะกลายเป็นอาวุธความแม่นยำสูงขึ้นมาได้ไม่ยาก

การประจันหน้าในแนวสนามเพลาะของยุโรปตะวันตกระหว่างสงครามโลกครั้งที่1 เปิดโอกาสให้กองทัพได้ใช้ปืนซุ่มยิงอย่างกว้างขวาง เป็นจุดเริ่มต้นให้นักการทหารได้พัฒนาอาวุธเฉพาะภารกิจนี้ขึ้นมาและพัฒนามาเรื่อยๆถึงปัจจุบัน เริ่มด้วยปืนเล็กยาวล่าสัตว์ธรรมดาติดกล้องจนกลายเป็นปืนเล็กยาวซุ่มยิงเฉพาะเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้ลำกล้องนิ่งที่สุดปืนซุ่มยิงหลายแบบจึงติดขาทราย(bipod)มาจากโรงงานเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ถ้าไม่มีทหารก็สามารถทำฐานมั่นคงรองลำกล้องปืนได้ด้วยการใช้ถุงกรอกทราย ไม้ง่าม หมอน หนังสือ อิฐหรืออะไรก็ตามที่ใช้หนุนลำกล้องปืนได้มั่นคงไม่ส่ายไปมาขณะเล็ง

การหยุดยั้งเป้าหมายเฉพาะไม่ได้มีแต่ภารกิจของทหารเท่านั้น ตำรวจหน่วยพิเศษ(SWAT)คืออีกหน่วยงานหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ปืนชนิดนี้ด้วยในกรณีจี้จับตัวประกัน คนร้ายอยู่ในที่มั่นซึ่งเข้าถึงได้ยากและคาดว่าอาจมีอาวุธร้ายแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อตนเองและตัวประกัน หลังจากการเจรจาไร้ผลแล้วเท่านั้นที่พลซุ่มยิงของตำรวจจะได้ไฟเขียวจากหัวหน้าหน่วยให้ยิงได้ ความแตกต่างของปืนซุ่มยิงระหว่างภารกิจของทหารและตำรวจนั้นแทบไม่มี แต่เพื่อตอบสนองภารกิจได้สมบูรณ์แบบจริงๆปืนทั้งสองแบบจึงแตกต่างกันได้ในรายละเอียดเล็กน้อย

ปืนซุ่มยิงของทหารอาจต้องลดความแม่นยำลงเล็กน้อยเพื่อแลกกับความคงทน ระยะยิงหวังผลและการบำรุงรักษา ในขณะที่ปืนซุ่มยิงเฉพาะภารกิจตำรวจอาจบอบบางกว่า ต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิดกว่าเพื่อแลกกับความแม่นยำระดับที่พลาดไม่ได้ จากการต้องปฏิบัติงานในเขตเมืองที่การตัดสินใจผิดพลาดต้องเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งทำลายเฉพาะเป้าหมายที่เป็นอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์จริงๆเท่านั้น แต่ถึงปืนซุ่มยิงของทหารและตำรวจจะต่างกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือลำกล้องต้องยาวเพื่อความแม่นยำในระยะยิงไกลและต้องติดกล้องเล็งเพื่อเห็นเป้าชัดๆ และเพื่อใช้เส้นเล็งในกล้องประมาณระยะพลาดเมื่อกระสุนต้องพุ่งไกลใช้เวลานาน มีความเบี่ยงเบนจากลมเข้ามาเกี่ยวข้องจนต้องคำนวณเผื่อ

ความโดดเด่นถัดมาของปืนซุ่มยิงคือระบบการทำงานของปืน ปัจจัยกำหนดการเลือกประเภทปืนใช้งานที่สำคัญคือภารกิจของทหาร ถึงตรงนี้จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงความแตกต่างอันชัดเจนระหว่าง"พลแม่นปืน"และ"พลซุ่มยิง" เพราะภารกิจของสองหน้าที่นี้แตกต่างกันจริงๆ โดยบทบาทของพลแม่นปืนที่กองทัพสหรัฐฯกำหนดไว้คือการต่อตีกับเป้าหมายที่ระยะไม่เกิน800เมตรด้วยปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติประกอบกล้องเล็ง พลแม่นปืนจะถูกฝึกให้เล็งและยิงได้เร็วอย่างแม่นยำเช่นเดียวกับพลซุ่มยิง อาจจะฝึกไม่เข้มเท่าและที่แตกต่างกับพลซุ่มยิงแท้ๆคือต้องยิงซ้ำเป้าได้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเสริมกำลังชนให้ทหารราบในระดับหมวด เมื่อต้องเคลื่อนที่ไปพร้อมกับหมวดทหารในสงครามเต็มรูปแบบ อาวุธของพลแม่นปืนจึงไม่เน้นว่าต้องไกล ปืนเล็กยาวลูกเลื่อนเปิดทำงานด้วยแก๊ซอย่างM16(ติดเครื่องยิงลูกระเบิดM203หรือไม่ก็ได้)หรือM14 ติดกล้องเข้าไปแล้วอาจจะเพิ่มอุปกรณ์รองโหนกแก้มกับพานท้ายอีกเล็กน้อยก็เปืนปืนซุ่มยิงได้แล้ว

ส่วนพลซุ่มยิงนั้นต้องปฏิบัติหน้าที่ปกปิด ส่วนใหญ่ต้องรับภารกิจเป็นเอกเทศ ทำลายเป้าหมายเฉพาะในระยะยิงตั้งแต่800เมตรขึ้นไป ทหารในหน้าที่นี้จึงต้องถูกฝึกเข้มกว่าพลแม่นปืน ซ่อนพรางตัวได้แนบเนียนตามภูมิประเทศ รู้ละเอียดถึงคุณสมบัติของดินขับ พลซุ่มยิงชั้นครูต้องโหลดดินขับเป็นด้วยเพื่อรับประกันความแม่นยำ ดังนั้นปืนเล็กยาวที่พลซุ่มยิงส่วนใหญ่เลือกใช้จึงต้องทำงานด้วยลูกเลื่อน ยิงหนึ่งนัดแล้วดึงคันรั้งลูกเลื่อนคัดปลอก นัดเดียวต้องถูกเป้า หากไม่ถูกก็มีโอกาสสูงที่จะเปิดเผยที่ตั้งของตัวเองและมีโอกาสอยู่รอดน้อยลงจากการตรวจจับของฝ่ายตรงข้าม พลซุ่มยิงจึงต้องใช้อาวุธแตกต่างจากพลแม่นปืนตามภารกิจ ต้องไม่ใช่อาวุธประจำกายทหารราบธรรมดาแต่ต้องเป็นอาวุธเฉพาะเช่นSIG-Sauer SSG3000,ปืนซุ่มยิงตระกูลM40ปืนล่าสัตว์แบบลูกเลื่อนบางแบบที่ใช้กระสุนขนาด.308,.338นิ้ว หรือถ้าหาอะไรไม่ได้เลยปืนกลขนาด.50 ติดกล้องเล็งก็ใช้ได้ พลซุ่มยิงผู้โด่งดังในช่วงสงครามเวียตนามคือจ่าสิบเอก(นาวิกโยธินสหรัฐฯ)คาร์ลอส แฮธค็อกเคยใช้วิธีนี้มาแล้ว

ถ้าต้องซุ่มยิงไกลเกิน1..อาจต้องใช้ปืนซุ่มยิงขนาดหนักบรรจุกระสุนขนาด.50นิ้วเช่นBarrett M82ที่ไม่เพียงแต่สังหารบุคคลได้แต่ยังทะลุทะลวงยานเกราะเบาได้สบายๆ ทหารอเมริกันใช้M82เพื่อทำลายจานเรดาร์และเสาอากาศวิทยุของอิรักอย่างได้ผลมาแล้วในสงครามอ่าวทั้งสองครั้ง ถึงปืนระบบลูกเลื่อนจะแม่นยำเพราะชิ้นส่วนเคลื่อนที่มีน้อย แต่บริษัทผู้ผลิตอาวุธในปัจจุบันก็พัฒนาปืนระบบกึ่งอัตโนมัติให้เป็นปืนซุ่มยิงสมบูรณ์แบบได้ดีไม่แพ้กัน ด้วยวัตถุประสงค์คือต้องยิงซ้ำได้แม่นและเร็ว เฮคเลอร์ อุนด์ โค้ค(H&K)ประสบความสำเร็จงดงามด้วยปืนH&K PSG1ใช้กระสุน7.62X51..มาตรฐานนาโต ด้วยคุณสมบัติอันผสมผสานระหว่างปืนเล็กยาวธรรมดาที่H&Kคิดค้นขึ้น คือโบลว์แบ็คโรลเลอร์หน่วงเวลา(Roller-delayed blowback) ที่ช่วยให้ยิงซ้ำได้เร็วแบบปืนกึ่งอัตโนมัติที่ไม่ต้องเอื้อมมือมาดึงคันรั้ง แต่ให้ผลแม่นยำเหมือนปืนระบบลูกเลื่อนเพราะนิ่งสุดๆ มันจึงกลายเป็นปืนซุ่มยิงยอดนิยมของตำรวจSWAT ด้วยระยะเล็งกล้องปรับได้ตั้งแต่100ถึง600เมตรอันเหมาะสมกับภารกิจในเมือง

นอกจากจะติดกล้องเล็งแล้วปืนซุ่มยิงยังแตกต่างจากปืนเล็กยาวที่วิธีการสร้างลำกล้อง อย่างแรกที่เห็นชัดๆคือผนังลำกล้องปืนซุ่มยิงจะหนากว่าปืนเล็กยาวธรรมดาเพื่อความเสถียรของกระสุน ภายในลำกล้องมีเกลียวเหมือนกันแต่จะไม่ชุบโครเมียมเนื่องจากเนื้อโครเมียมจะควบคุมให้สม่ำเสมอได้ยากระหว่างการผลิตและทำให้วิถีกระสุนเบี่ยงเบนได้ง่าย ลำกล้องถูกประกอบแบบลอยตัว(free-floated)ด้วยการออกแบบให้มันสัมผัสกับตัวปืนแค่ตรงโครงปืน(receiver) เพื่อให้รังเพลิงรับกระสุนแล้วยิงออกไปตรงๆโดยไม่ได้รับผลกระทบจากส่วนอื่นๆที่จะทำให้ลำกล้องบิดตัว(แม้แต่นิดเดียว) เช่นขาทรายหรือมือพลซุ่มยิงที่รองลำกล้องอยู่ เพื่อให้แม่นยำสูงสุดปากลำกล้องจะมีตัวป้องป้องกันครอบไว้ไม่ให้บิ่นจนกระสุนเสียวิถีเมื่อพุ่งผ่าน

นอกจากลักษณะเด่นที่อาจจะสังเกตได้ยากดังที่กล่าวมาแล้ว ปืนซุ่มยิงยังมีลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ชัดคือตรงพานท้าย ปืนซุ่มยิงจริงๆที่ไม่ได้เอาปืนล่าสัตว์มาใช้จะมีพานท้ายประกอบฐานรองโหนกแก้มขันสกรูปรับระดับได้ ความยาวของพานท้ายยังปรับให้รับกับร่องไหล่ของคนยิงได้ตามสรีระด้วยการหมุนสกรูเข้า/ออกเช่นกัน ลักษณะเด่นนี้พบได้ในปืนซุ่มยิงยอดนิยมเช่นPSG1 ปืนตระกูลM40,SIG SSG3000และมีอีกหลายบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ที่ผลิตพานท้ายปรับได้ สำหรับดัดแปลงใช้แทนพานท้ายปกติกับปืนเล็กยาวประจำกายตระกูลM16 และอีกหลายแบบจากค่ายตะวันตก ที่รู้จักกันดีคืออุปกรณ์เสริมจากบริษัทแม็กพูล(MAGPUL)และลา รู แทคติคอล(La Rue Tactical)

เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้อุปกรณ์ประกอบปืนเล็กยาวซุ่มยิงพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะกล้องมองกลางคืนซึ่งถูกพัฒนาให้เล็กและเบาลงมากเมื่อเทียบกับยุคสงครามเวียตนาม ช่วยเพิ่มศักยภาพของปืนได้แทบไม่จำกัดสภาพอากาศ ตัวปืนเองก็ถูกออกแบบให้ใช้งานได้อ่อนตัว เช่นชุดลำกล้องและโครงปืนที่สามารถเปลี่ยนไปเพื่อใช้กระสุนคนละขนาดได้เมื่อภารกิจกำหนด โดยยังคงเรือนเครื่องลั่นไกเดิมไว้ ทั้งยังประหยัดและสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ยังไม่นับกระบอกเก็บเสียงที่จะช่วยให้ปืนลดความดันและแรงถีบลงเมื่อต้องยิงหวังผลระยะใกล้ ฉบับหน้าจะเป็นเรื่องของกระสุนกันครับ และผมจะแนะนำรายละเอียดกระสุน.338ลาปัวแม็กนัม(.338 Lapua Magnum)ที่ถูกพาดพิงถึงในกรณีเสธ.แดงด้วย

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 กรกฎาคม 2553 เวลา 09:42

    สวัสดีครับคือผมตามผลงานของคุณมาตั้งแต่แฟนพันธ์แท้F-16โน่นแน่ะและไม่เคยพลาดบทความของคุณเลยจนถึงทุกวันนี้และทุกบทความผมได้จัดเก็บเป็นPDFเพื่อเอาไว้ใช้อ้างอิงเป็นการส่วนตัวครับ ขอบคุณครับสำหรับความรู้ที่ได้จากบทความและจะติดตามต่อไป...จากแฟนพันธ์แท้ / อินทร์แปลง 

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช24 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:08

    ขอบคุณคุณอินทร์แปลงเช่นกันครับ ฉบับนี้มีลงเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีและฉบับหน้าจะมีเรื่องการรบเป็นเครือข่าย เน็ตเวิร์ค เซ็นตริกนะครับ โปรดติดตาม

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2553 เวลา 17:18

    อยารู้เรื่องราวเกี่ยวกับ นักทำลายใต้น้ำจู่โจมน่ะครับ อยากรู้ว่าเค้าฝึกกันยังงัยบ้าง นานแค่ไหน หลังจากจบมาแล้ว ภารกิจที่จะได้รับไปทำคืออะไร แล้วผลตอบแทนดีมั้ยครับ ติดตามงานของคุณสรศักดิ์มาระยะนึงแล้ว มีเรื่องราวให้อ่านเยอะเลย เลยอยากรู้เพิ่มขึ้นไปอีกครับ ฝากขอบคุณล่วงหน้าครับ

    ตอบลบ
  4. ได้ความรู้ดีมากครับ ขอถามว่ายิงจากบนเขาลงล่าง กับยิงจากแนวราบ กระสุนตก เท่ากันหรือไม่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ18 มกราคม 2555 เวลา 22:58

      อาจจะไมนะคับ เพราะว่าถ้ายิงจากแนวระนาบเนี่ย กระสุนจะมีแรง(ขอใช้ภาษาตามความเข้าใจนะคับ)วิ่งของกระสุนอาจจะลดต่ำลงก็เป็นได้คับ จากการสันนิษฐานของผมนะคับ ใครมีความรู้ก็ช่วยบอกด้วยคับ

      ลบ