วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ซูดาน ทหารไทย ทำไมต้องทหารราบ


ซูดานคือประเทศหนึ่งในอาฟริกาซึ่งชาวโลกแทบไม่ให้ความสนใจเท่าไรนัก ประเทศนี้เป็นที่รู้จักจากความยุ่งเหยิงทางการเมืองและการทำสงครามระหว่างเผ่าต่างๆมาเนิ่นนานนับร้อยปี ทั้งที่ข้าวปลาอาหารก็แทบจะไม่พอประทังชีวิตพลเมืองทั้ง42ล้านกว่าคนอยู่แล้วแต่ก็ยังมีความแตกแยกเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซูดานโดดเด่นขึ้นเมื่อถูกจับตาจากสหรัฐฯภายหลังและก่อนเหตุการณ์9/11ในฐานะเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้ายอัล กออิดะห์ที่มีโอซามา บิน ลาเดนเป็นหัวโจก แต่ที่แย่กว่านั้นคือความขัดแย้งระหว่างเผ่าในพื้นที่เมืองดาร์ฟูร์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี2003 เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งซึ่งรายล้อมไปด้วยประเทศที่มีแต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเช่นชาด,อีริเทรีย,เอธิโอเปีย,คองโก,อูกานดาและเคนยา จึงไม่น่าแปลกใจที่ซูดานซึ่งอยู่ตรงกลางจะเป็นเหมือนแอ่งให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆไหลลงไปรวมตัวกันอยู่ตรงนั้น

ความขัดแย้งในดาร์ฟูร์เริ่มขึ้น เมื่อกองกำลังติดอาวุธชื่อเอสแอลเอ(Sudan Liberation Army:SLA)และกลุ่มเจอีเอ็ม(Justice and Equally Movement:JEM)ในดาร์ฟูร์ กล่าวหารัฐบาลว่ากดขี่ชาวอาฟริกันผิวดำแต่เอื้อประโยชน์ให้แต่ผู้มีเชื้อสายอาหรับ พอเริ่มพยายามล้มอำนาจรัฐด้วยอาวุธ ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีกองกำลังจันจาวีดที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอาฟริกันเชื้อสายอาหรับทางภาคเหนือเป็นพวก ก็รวมกำลังเข้าปราบปรามฝ่ายกบฎทั้งเอสแอลเอ็มและเจอีเอ็มที่ประกอบกันขึ้นจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ไม่ใช่อาหรับ คือเผ่าฟูร์,ซากาวาและมาซาลิต แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่าไม่ได้หนุนกลุ่มจานจาวีดแต่ก็ยังถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือด้านเงินทองกับกองกำลังนี้รวมถึงร่วมถล่มเป้าหมายพลเรือนไร้อาวุธฝ่ายตรงข้ามอีกหลายครั้ง

ความฉาวโฉ่ของรัฐบาลซูดานเกิดขึ้นบ่อยราวกับไม่แคร์ชาวโลก โดยเฉพาะเรื่องความพยายามปกปิดหลุมศพรวมของเหยื่อการสังหารหมู่ ตามมาด้วยการจับกุมและคุกคามบรรดาสื่อมวลชนและการจำกัดขอบเขตการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวในเมืองดาร์ฟูร์ ต้องปิดบังเพราะการรบราฆ่าฟันในดาฟูร์ไม่ธรรมดาแต่แทบจะเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะคนตายกันเป็นเบือ ประมาณว่าตั้งแต่เกิดความขัดแย้งเมื่อปี2003ถึงปัจจุบันนั้นมีชาวซูดานเสียชีวิตไปแล้วเกือบครึ่งล้าน จนรัฐบาลสหรัฐฯให้คำจำกัดความวิกฤติการณ์ดาร์ฟูร์ว่า"การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ" ถึงจะตายกันขนาดนี้แต่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)ในเดือนมกราคมปี2005ยังไม่ยอมรับว่าเป็น ด้วยรายงาน176หน้ามีรายละเอียดว่าแม้จะมีการสังหารหมู่และฆ่าข่มขืนต่อประชาชนชาวดาฟูร์ก็ตาม ก็ยังจัดเข้าประเภทการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้เพราะไม่มีเจตนาจะลบชนเผ่าไหนออกจากโลกโดยเฉพาะ แตกต่างจากการกำจัดชาวยิวของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่2ที่มุ่งล้างผลาญแต่ชาวยิวไม่ให้เหลือในเยอรมนี แม้แต่องค์กรนิรโทษกรรมสากลจะเรียกร้องให้องค์กรสากลต่างๆเข้าไปแทรกแซงก็ยังหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดว่าการสังหารล้างเผ่าพันธุ์

ถึงจะไม่มีเจตนาล้างผลาญเผ่าพันธุ์ใดโดยเฉพาะเพราะมุ่งล้มอำนาจรัฐ แต่เมื่อมีคนบริสุทธิ์ล้มตายกันมากขนาดนี้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรมต่างๆจึงต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เมื่อเข้าไปพบสภาพที่เป็นจริงทั้งกลุ่มพันธมิตรปกป้องดาร์ฟูร์(Save Darfur Coalition),กลุ่มเอจิส ทรัสต์(Eagis Trust)และเครือข่ายต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(Genoside Intervention Network)จึงพบว่าไม่ว่าจะล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่เมื่อผู้คนล้มตายขนาดนี้แล้วย่อมไม่ต่างกัน

พอรบถึงเดือนพฤษภาคม2006จนคนตายเกลื่อนและที่รอดอยู่ก็อดอยากไร้ที่อยู่ ฝ่ายกบฏเอสแอลเอซึ่งนำโดยหัวหน้าคือมินนี มินนาวีจึงขอเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลซูดาน แต่อีกกลุ่มคือเอสแอลเอ็มของอับดุล วาฮิด อัล นูร์กลับไม่ยอมลงนาม จะขอสู้ต่อจนถึงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงมีมติรับรองข้อตกลงที่1706 ในวันที่31สิงหาคม2006ให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าดาร์ฟูร์26,000นาย เพื่อสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติของสหภาพอาฟริกัน(African Union :AU)จำนวน7,000นาย ที่ถือว่าน้อยและใช้ยุทโธปกรณ์ด้อยคุณภาพ แต่มันไม่ง่ายเมื่อรัฐบาลซูดานต่อต้านมติยูเอ็น.ดังกล่าวและถือว่ากองกำลังทั้ง26,000นายนี้จะมีฐานะเป็นผู้รุกรานทันทีที่เท้าเหยียบแผ่นดินซูดาน เพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงเปิดฉากโจมตีใหญ่ทันทีหลังยูเอ็น.ประกาศข้อตกลงเพียงวันเดียว ล่วงเลยมาถึงเดือนมีนาคมปีถัดมาคณะผู้แทนของยูเอ็น.ก็ประณามรัฐบาลซูดานที่ก่อความรุนแรงจนคนตายไปอีกเป็นหมื่นดาร์ฟู แล้วร้องขอให้องค์กรสากลเข้าแทรกแซงด่วนเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนไร้อาวุธไม่ให้สูญเสียไปมากกว่านี้

ยูเอ็น.ต้องส่งทหารเข้าไปในดาร์ฟูร์ เพราะลำพังทหารรัฐบาลซูดานแค่7,000นายที่รักษาความสงบนั้นไม่พอจะป้องชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน อีกทั้งอาวุธยังน้อยและล้าสมัย ส่วนล่ามอีก150คนของกองทัพก็นัดหยุดงานเพราะรัฐบาลไม่จ่ายค่าจ้างให้ แล้วพอเอาจริงๆเข้าพวกทหารทั้งเจ็ดพันนี้ก็ป้องกันตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องจะไปดูแลคนอื่นนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเลยเพราะทำไม่ได้ กองกำลังติดอาวุธที่รบพุ่งกันอยู่นั้นได้อาวุธจากรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ถึง87เปอร์เซ็นต์ มีประมาณ8เปอร์เซ็นต์ที่มาจากจีนส่วนที่เหลือก็มาจากที่อื่นๆทั้งผ่านชายแดนเข้ามา และด้วยการขนอาวุธของพ่อค้าอาวุธเถื่อนซึ่งหากแฟนคอลัมน์ย้อนกลับไปอ่านเรื่องการค้าอาวุธเถื่อนทั้งสี่ตอนที่เพิ่งจบลงไปจะเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในการลำเลียงอาวุธเข้ามาทางอากาศ

ทั้งที่การฆ่าล้างผลาญในดาร์ฟูร์รุนแรงและผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่องค์กรระหว่างประเทศกลับให้ความช่วยเหลือน้อยมากโดยเฉพาะกับประเทศสมาชิกยูเอ็นรายใหญ่ๆที่ร่ำรวย สหรัฐฯนั้นคงจำกัดความช่วยเหลือไว้แค่สิ่งอุปกรณ์เพราะยังเข็ดเขี้ยวอยู่กับฝันร้ายจากเหตุการณ์Blackhawk Downในโซมาเลียเมื่อปี1993สมัยรัฐบาลคลินตัน จนประกาศเป็นหลักการว่าจะไม่ใช้กองกำลังขนาดใหญ่เข้าแทรกแซงสภาวะสงครามกลางเมืองที่ไหนอีก วิกฤติการณ์ดาร์ฟูร์เริ่มเมื่อปี2003แล้วล่วงเลยมาจนถึง2006โดยมีความพยายามเข้าแทรกแซงจากต่างชาติน้อยมาก ทั้งที่เรื่องน้ีสามารถคาดเดาเหตุการณ์ออกและระงับการล้างผลาญได้ก่อนจะลุกลามจนตายไปเป็นแสน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือ

หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายมีการตั้งข้อหาอาชญากรสงครามต่อโอมาร์ อัล-บาชีร์ประธานาธิบดีซูดาน โดยเฉพาะข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นโดนถึงสามข้อหา ตามด้วยห้าข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆาตกรรมอีกสองข้อหา เพราะมีหลักฐานปรากฎชัดว่าเขาอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวจริง โดยเฉพาะต่อการล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยสามเผ่าในดาร์ฟูร์ แม้จะตั้งข้อหากันเรียบร้อยและดูเหมือนจะสงบแต่ความจริงก็ไม่ใช่ เมื่อความรุนแรงแพร่ขยายไปยังเมืองอื่นๆและตรงชายแดนที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ทางด้านองค์กรระหว่างประเทศรวมทั้งสหประชาชาติยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเพื่อสันติแต่ก็มีกองกำลังส่วนหนึ่งเข้าไปปฏิบัติการร่วมกับสหภาพอาฟริกันแล้วคือUNAMID ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่1769

ในฐานะสมาชิกของยูเอ็น. ไทยคือชาติที่ถูกขอความร่วมมือซึ่งมีงบประมาณให้โดยเราทำเพียงส่งทหารไปเข้าร่วมกับUNAMIDหรือกองกำลังปฏิบัติการร่วมของยูเอ็น.เมื่อพร้อม เช่นเดียวกับจีนซึ่งส่งกองร้อยทหารช่างเข้าไปแล้ว จากรายละเอียดที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นจะทำให้เข้าใจได้ว่าซูดานแตกต่างจากอิรัก โดยเฉพาะด้วยรายละเอียดที่ว่ายูเอ็น.ต้องการทหารราบจากไทยไม่ใช่ทหารช่างหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไหน เมื่อมองจากจำนวนชาวดาร์ฟูร์สองล้านครึ่งที่ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ตายไปอีกหลายแสน ที่นี่จึงไม่เหมือนอิรักที่สงบได้ระดับหนึ่งก่อนทหารไทยจะเข้าไปตั้งค่าย ครั้งนั้นเราใช้หัวหน้าหน่วยเป็นมุสลิมและปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างได้ผล ชาวอิรักต่อต้านคนไทยน้อยเพราะเบื่อหน่ายสงครามและอีกประการหนึ่งคือยังไม่อดอยากเท่าที่อาฟริกา การครอบครองแหล่งน้ำมันใหญ่และมีกำลังทหารสหรัฐฯที่เข้มแข็งปกป้อง จึงทำให้สถานการณ์ในอิรักไม่รุนแรงเท่าดาร์ฟูร์ ประกอบกับบริเวณตั้งค่ายของเราก็ยังนับว่าเสี่ยงน้อยกว่า

แต่กับดาร์ฟูร์นี้กลุ่มติดอาวุธที่รัฐบาลซูดานให้ท้ายคือจานจาวีดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกก่อกวน โดยเฉพาะด้วยความเป็นกองโจรซึ่งรัฐบาลปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นนี้เองที่ทำให้กลุ่มนี้น่ากลัว สามารถสร้างความเสียหายได้ย่อยยับโดยทหารฝ่ายรัฐบาลอาจทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ฐานทัพของกองกำลังรักษาสันติภาพก็เคยถูกพวกนี้เผาเสียราบมาแล้วจึงวางใจไม่ได้ว่ามันจะไม่สนใจค่ายทหารไทยหากส่งไปจริง ถึงจะในนามยูเอ็น.ใส่หมวกสีฟ้าก็เถอะ ต้องไม่ลืมว่าซูดานเคยประกาศกร้าวว่ากองกำลังต่างชาติจะถือว่าเป็นผู้รุกรานทันทีที่เท่าเหยียบแผ่นดิน แม้แต่UNAMIDซึ่งคอยปกป้องและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือนเองยังต้องทำงานร่วมกับสหภาพอาฟริกัน หากไทยเราต้องส่งทหารราบไปตามที่ยูเอ็น.ขอมาแบบจำเพาะเจาะจง ข้อสังเกตที่เป็นไปได้ที่สุดคืองานนีี้ต้องมีปะทะและจะสูญเสียหนักแน่ๆถ้าไม่พร้อม เราไม่ได้ไปอยู่ห่างๆแล้วนั่งๆนอนๆอยู่สบายๆในค่าย จะว่าครั้งนี้เขาเอาเราไปไว้กลางรังแตนก็ได้หากจะเปรียบเทียบ! เรื่องปฏิบัติการจิตวิทยาคงไม่สำคัญเท่ากับความแข็งแกร่งของกำลังพลแล้วในวินาทีนี้

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วไปของดาร์ฟูร์ที่เริ่มต้นมาตั้งปี2003 แม้จะเบาบางไปบ้างแต่ก็ยังแค่รอดูท่าทีระหว่างกระบวนการเจรจาดำเนินไป ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกลุ่มต่างๆหันมาถล่มกันอีกโดยมีUNAMIDและทหารไทยอยู่ตรงกลาง? ไม่ใช่แค่กลุ่มจานจาวีดกับกองทัพรัฐบาลเท่านั้นที่มองกองกำลังต่างชาติว่าจะมาเบิกทางเข้าหาผลประโยชน์ กลุ่มกบฎอย่างเอสแอลเอ,เจอีเอ็มพวกนี้ก็พร้อมจะเข้าขย้ำยูเอ็น.เหมือนกันเนื่องจากเข้ามาขัดขวางการล้มอำนาจรัฐของตน นอกจากคนแล้วสิ่งแวดล้อมก็ไม่เป็นมิตร อุณหภูมิร้อนแห้งแล้งแบบทะเลทรายที่สูงสุดเฉลี่ย50องศาเซลเซียสนั้นถึงเหงื่อไม่ออกแต่ก็ทำเอาคลั่งได้ถ้าไม่คุ้นเคย ไหนจะสภาวะขาดน้ำ ไหนจะพายุทรายลูกใหญ่ๆที่พัดมาเป็นระยะๆ และสภาวะอื่นๆที่ไม่เป็นมิตรอีกมากรวมทั้งภาษาและการสื่อสารกับชนพื้นเมือง ซูดานไม่ใช่อิรัก ไม่ใช่อาฟกานิสถานหรือติมอร์ตะวันออก

ผมยกเรื่องดาร์ฟูร์มาให้อ่านเพราะด้วยความเป็นห่วงจริงๆกับวิธีการทำงาน"แบบไทยๆ"ของเรา ที่ชอบมองอะไรเหมือนมันง่ายไปเสียหมดจนไม่เคยคิดเผื่อไว้ว่าจะพบกับเรื่องร้าย ความคิดว่าอะไรมันง่ายทำให้เราประมาทจนในที่สุดก็สูญเสียหนักจากความคิดว่า"ส่งๆไปก่อน ถึงเวลาก็เอาตัวรอดกันได้เอง" ซึ่งไม่ใช่แนวความคิดของคนที่เห็นความสำคัญของชีวิตเพื่อนร่วมชาติ ไม่เห็นความสำคัญของการฝึกหนักเพ่ื่อรบให้รอด สำหรับกองกำลังเฉพาะกิจ980ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น ลำพังการได้รับความสนับสนุนด้านการเงินจากยูเอ็น.คงไม่พอ เมื่อเขาต้องการ"ทหารราบ"เข้าไปที่นั่นก็ต้องฝึกหนักแบบทหารราบและอยู่รอดให้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ จะพร้อมปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือพร้อมได้แค่ไหนกองทัพไทยคงตอบได้ว่า"พร้อม" แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจำนวนคนเจ็บและตายนั่นแหละที่จะบอกได้ว่าที่ว่าพร้อมนั้นจริงหรือไม่

ใครนึกภาพไม่ออกว่าเราจะเจอกับอะไรเมื่อเข้าไปที่นั่น ก็ลองหาดีวีดีเรื่องBlackhawk Downมาดูเถอะครับ แล้วจะเห็นภาพของซูดานได้ชัดเจน!

5 ความคิดเห็น:

  1. คุณอาครับ ผมอยากทราบครับ 1.ก่อนคุณอาจะขึ้นบิน เขาตรวจร่างกายคุณอาก่อนหรือเปล่าครับ ถ้าคุณอาไม่พร้อม เขาจะให้ขึ้นมั้ยครับ 2.ก่อนขึ้นบ.ข.19ก คุณอาทานอะไรครับ
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. สรศักดิ์ สุบงกช15 พฤษภาคม 2553 เวลา 17:36

    1.ตรวจครับ ละเอียดด้วย ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจสายตา เข้าห้องปรับความดันอากาศ ถ้าผมไม่พร้อมเขาจะไม่ให้ขึ้นบินเด็ดขาด
    2.ผมทานข้าวต้มหมูครับ

    ตอบลบ
  3. ถ้าไปแล้วจะติดต่อกลับมาทางบ้ายยังไงค่ะ

    แล้วโทรสับจะต้องซื้อใช้ส่วนตัวได้ไหม

    ตอบลบ
  4. สรศักดิ์ สุบงกช9 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 07:26

    มีอินเตอร์เน็ต มีโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม มีอะไรๆให้ใช้โทรกลับบ้านตั้งเยอะ ส่วนจะซื้อโทรศัพท์ใช้ส่วนตัวหรือไม่คงต้องถามแฟนคุณดูครับ ผมไม่ได้ไป คุณไปอยู่ที่ไหนมาล่ะนี่?

    ตอบลบ
  5. ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหม ว่าไปซูดานแล้ว ทหารไทยเจอกับอะไรบ้าง
    ดิฉันอ่านบทความที่คุณเขียนแล้วสนุกน่ารู้มากเลยค่ะ

    ตอบลบ