วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ค้าอาวุธก็รวยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องเถื่อน?(3)


ถ้าอเมริกันเข้าไปจมปลักในเวียตนามที่รับการสนับสนุนจากโซเวียตและจีนได้ กองทัพแดงของโซเวียตก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันได้ด้วยการติดอยู่ในอาฟกานิสถาน ในสงครามยืดเยื้อกับพวกมูจาฮิดีนที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯใน"ปฏิบัติการไซโคลน" ชื่อรหัสของโครงการช่วยเหลือทางทหารต่อต่างชาติแบบลับๆใหญ่ที่สุดของซีไอเอ ระหว่างปี1979-1989ที่กองทัพโซเวียตรุกรานอาฟกานิสถาน ด้วยเงินเริ่มต้นที่ปีละ20-30ล้านดอลลาร์ในปี1980แล้วเพิ่มเป็นปีละ630ล้านดอลลาร์ในปี1987 ด้วยจุดมุ่งหมายคือช่วยชาวอาฟกานิสถานและประเทศใกล้เคียงคือปากีสถาน ต่อต้านการแผ่อำนาจของโซเวียตรัสเซียเข้ามาในอาฟกานิสถาน ตามคำพูดของนายชบิกนิว เบรซินสกี้ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีเจมส์ เอิร์ล(จิมมี่) คาร์เตอร์ ในบันทึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า"ตอนนี้แหละที่เราจะมอบสงครามเวียตนามให้พวกโซเวียต" ด้วยเรื่องที่ใครๆก็นึกออกคือการแย่งชิงน้ำมัน พอเบรซินสกี้ชงเรื่องเสร็จประธานาธิบดีคาร์เตอร์ก็ประกาศชัดเจนว่า"การรุกรานของโซเวียตต่ออาฟกานิสถานคือภัยคุกคามต่อสันติภาพใหญ่หลวงที่สุด นับแต่สงครามโลกครั้งที่2”

เมื่อคราวกองทัพโซเวียตยกเข้าสู่อาฟกานิสถานในเดือนธันวาคม1979 นั้น ทำให้เกิดความเชื่อว่าคงต้องการขยายเขตแดนลงล่างเพื่อยึดครองแถบนั้น ซึ่งจริงๆก็ไม่ผิดคือโซเวียตยังขาดท่าเรือเขตน้ำอุ่น และอีกประการคือต้องการแผ่อิทธิพลเข้าสู่ปากีสถานทางตะวันออกและอิหร่านทางตะวันตก ความเคลื่อนไหวของโซเวียตทำนักการเมืองอเมริกันทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตอยู่ไม่สุข เพราะถ้ายึดพื้นที่แถบอาฟกานิสถานซึ่งอยู่กลางระหว่างอิหร่านและปากีสถานได้ ก็หมายความว่ามีสิทธิ์ครอบครองแหล่งน้ำมันแถบนั้นทั้งหมดทั้งยังมีเมืองท่าเพื่อใช้ลำเลียงน้ำมันไปไหนก็ได้ด้วย

ปฏิบัติการไซโคลนเริ่มต้นในสมัยคาร์เตอร์ก็จริงแต่ก็ยังทำแค่ช่วยเหลือด้านเงินทองเท่านั้น ชาวอาฟกานิสถานยังต้องใช้ปืนเล็กยาวและอาวุธแบบหมู่ปืนเล็กสู้กับยานเกราะและเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียต ชาวอาฟกันที่เป็นมูจาฮิดีน(กองทัพปลดปล่อยเพื่อเสรีภาพ)ยังล้มตายกันเป็นเบือจากการไล่ถล่มเอาข้างเดียวของผู้รุกราน โดยเฉพาะจากการครองอากาศด้วยเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ที่บินไปทำลายเป้าหมายได้รวดเร็ว

ไซโคลนมาเป็นเนื้อเป็นหนังเอาตอนประธานาธิบดีโรแนลด์ วิลสัน เรแกนรับตำแหน่ง เจ้าหน้าที่จาก"ฝ่ายกิจการพิเศษ"ของสำนักประมวลข่าวกลาง(ซีไอเอ)หลายคนถูกส่งเข้าอาฟกานิสถาน เพื่อฝึกและส่งอาวุธให้มูจาฮิดีนต่อต้านกองทัพแดง ถึงวุฒิสมาชิกชาร์ลี วิลสันจะเป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาทั้งทุนและอาวุธให้มูจาฮิดีน แต่จริงๆแล้วตัวจักรสำคัญคือไมเคิล จี. วิคเกอร์สเจ้าหน้าที่หนุ่มในกองกำลังติดอาวุธของซีไอเอ ลูกน้องของกัสต์ อาฟราโคโทสหัวหน้าซีไอเอภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนั้น ที่เดินเรื่องทุกอย่างตามความต้องการของวิลสันและเสนอแนะข้อมูลจากพื้นที่สู้รบให้ตลอด จนในที่สุดนายไมเคิล พิลส์บิวรี่ที่ปรึกษานโยบายกลาโหมยอมรับ และจัดหาขีปนาวุธพื้นสู่อากาศประทับบ่ายิง"สติงเกอร์"ให้ฝ่ายต่อต้านใช้ได้ ยังผลให้เฮลิคอปเตอร์โจมตีของโซเวียตถูกสอยร่วงไปมากกว่าครึ่งจนนักบินไม่กล้านำเครื่องขึ้น

แต่จะแค่ส่งอาวุธลับๆให้ชาวอาฟกันทำสงครามคงไม่พอ ต้องดึงปากีสถานมาเล่นด้วยโดยเสนอความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจให้แลกกับความช่วยเหลือด้านข่าวกรอง และการยอมเป็นตัวกลางให้ในหลายทาง ทั้งการกระจายทุน ใช้เส้นทางส่งอาวุธผ่านเข้าอาฟกานิสถาน ยอมให้ใช้พื้นที่ติดชายแดนเพื่อฝึกอาวุธและยุทธวิธีให้พวกมูจาฮิดีน เมื่อผลประโยชน์ลงตัวการทำงานก็ราบรื่น ประมาณว่ารัฐบาลปากีสถานฝึกอาวุธให้ฝ่ายต่อต้านได้ถึงแสนคนระหว่างปี1978ถึง1992 ซ้ำยังหนุนให้อาสาสมัครจากรัฐอาหรับอื่นๆเข้าช่วยชาวอาฟกันต่อต้านโซเวียตด้วย จนพบกับความสำเร็จในที่สุดเมื่อโซเวียตถอนทัพออกหมดอย่างเป็นทางการเมื่อ15กุมภาพันธ์ 1989

นอกจากส่งอาวุธร้ายแรงให้มูจาฮิดีนรบกับโซเวียตแล้ว สหรัฐฯยังให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารกับปากีสถานแบบสุดคุ้มด้วยโครงการช่วยเหลือแพคเกจแรก6ปี(1981-87) มูลค่ารวม3.2พันล้านดอลลาร์ แถมด้วยการขายเครื่องบินขับไล่F-16จำนวน40เครื่องให้ระหว่างปี1983-87ด้วยราคาเพียง1.2พันล้านดอลลาร์พร้อมออปชั่นเพียบ แพคเกจ6ปีที่สอง(1987-93)ตามมาด้วยมูลค่ารวมมากขึ้นเป็น4.2พันล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ2.28พันล้านด้วยดอกเบี้ยเพียง2-3เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เหลืออีก1.74พันล้านคือเครดิตให้ปากีสถานซื้ออาวุธ คือถ้าไม่มีของใช้ก็ส่งให้ก่อนแล้วมีเมื่อใดค่อยเอาเงินมาวาง แล้วยังมีงบมหาศาลให้ปากีสถานไปฝึกอาวุธและขีปนาวุธสติงเกอร์ให้ใช้ยิงเฮลิคอปเตอร์โซเวียตด้วย อเมริกาขายอาวุธของตนให้ปากีสถานตรงๆแต่ถ้าไม่ได้เมด อิน ยูเอสเอ.แล้วอิสราเอลก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตามเคย

พอเริ่มใช้ของแพงและให้ความช่วยเหลือปากีสถานเข้าไปด้วยงบประมาณก็ต้องเพิ่มขึ้น ตอนนี้แหละที่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสมัยประธานาธิบดีเรแกน อย่างชาร์ลี วิลสัน,กอร์ดอน ฮัมฟรีย์,เฟรด ไอเคิลและวิลเลียม เคซีย์เขามามีเอี่ยว ในฐานะเป็นคนไปเก็บข้อมูลและเจรจาเพื่อทำเรื่องขอเงินเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยการส่งเงินกับอาวุธเข้าอาฟกานิสถานและปากีสถานนี้เองที่ทำให้เกิดนโยบายต่างประเทศใหม่ขึ้นเรียกว่า"หลักการเรแกน"(Reagan Doctrine) ที่มีหลักอยู่ว่าสหรัฐฯจะสนับสนุนกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ในที่อื่นๆด้วยอย่างลับๆ ทั้งกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในนิคารากัว,แองโกลาหรือที่ไหนก็ตามนอกจากอาฟกานิสถาน เพื่อขจัดอิทธิพลของโซเวียตแบบป่าล้อมเมือง เร่งเวลาให้สหภาพโซเวียตพังทลายเร็วขึ้น

การเล่นใต้โต๊ะของรัฐบาลเรแกนได้ผล เมื่อกองทัพโซเวียตถอนทัพจากอาฟกานิสถานด้วยสภาพแทบไม่ต่างจากอเมริกาที่สะบักสะบอมออกจากเวียตนามใต้ แต่หลังจากนั้นมหามิตรของอเมริกาได้อะไร?

พอกองทัพแดงถอนยวง สหรัฐฯก็ประพฤติแบบเดิมโดยไม่ยอมเสียมาตรฐาน ด้วยการตัดเงินช่วยเหลือที่เคยให้กับกุลบุดดิน เฮคมาตยาร์กับพรรคเฮซบี อิสลามีทันที ส่วนพวกผู้ลี้ภัยชาวอาฟกันในชายแดนปากีสถานที่เคยได้ทั้งเงินและปัจจัย4อเมริกาก็ไม่เหลียวแล ครั้นถึงเดือนตุลาคม1990ประธานาธิบดีจอร์จ บุช(พ่อ)ก็ปฏิเสธที่จะรับรองว่าปากีสถานไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ คลื่นลูกที่ตามมากระหน่ำมหามิตรของอเมริการายนี้คือการตัดความช่วยเหลือต่อปากีสถานในแพคเกจที่2ที่เคยเสนอไว้ในปี1987 ตัดความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและทางทหารส่วนที่เหลือทั้งหมด แน่นอนว่าที่เคยบอกว่าจะลดแลกแจกแถมนั้นลืมสิ้น พวกนายทหารปากีสถานที่กำลังฝึกอยู่ในสหรัฐฯก็ถูกส่งกลับบ้านหมด

ถึงตรงนี้ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง"Charlie Wilson's War”มาแล้ว คงมองภาพออกว่าความจริงกับเรื่องในหนังมันต่างกัน ขณะที่หนังพยายามบอกกับคนดูว่าอเมริกาเข้าไปในอาฟกานิสถานเพราะมนุษยธรรม วิลสันหาอาวุธให้มูจาฮิดีนรบกับโซเวียตเพราะทนเห็นพวกอาฟกันถูกไล่บี้ข้างเดียวไม่ไหว แต่ในความจริงก็คือเพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาทั้งนั้น เพื่อจะได้ไล่พวกโซเวียตออกไปแล้วตนเข้าไปครอบครองตรงนั้นแทน และขณะนี้อเมริกาก็ยังติดพันอยู่ในอาฟกานิสถาน การที่ประธานาธิบดีโอบามาสั่งเพิ่มทหารอีกหลายหมื่นคือเครื่องยืนยันได้ดีว่าอเมริกาต้องอยู่ตรงนั้นยาว ถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้างคือเร่งเผด็จศึกกับพวกทาลีบันและตามล่าโอซามา บิน ลาเด็น

ความช่วยเหลือตามปฏิบัติการไซโคลนของสหรัฐฯมีด้านเสียคือการสนับสนุนกุลบุดดิน เฮคมาตยาร์ ที่ปากีสถานอ้างว่าเป็นฝ่ายตนแต่จริงๆแล้วมีเบื้องหลังไม่สะอาด เขาเคยถูกประณามว่าสังหารฝ่ายมูจาฮิดีนสายอื่นๆและโจมตีพลเรือนไร้อาวุธ รวมทั้งถล่มกรุงคาบูลเสียราบเป็นแถบๆด้วยอาวุธอเมริกัน ทำคนตายและบาดเจ็บรวมสองพัน ที่หนักข้อกว่านั้นคือเฮคมาตยาร์ถูกร่ำลือหนาหูว่าสนิทกับบิน ลาเดนหัวหน้ากลุ่มอัล ไคดา ที่ต่อมากลายมาเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐฯต้นเหตุของการโจมตี9/11 จนส่งผลต่อเนื่องให้สหรัฐฯส่งทหารเข้าไปในอิรักและอาฟกานิสถานถึงทุกวันนี้

ความก้าวร้าวของเฮคมาตยาร์ทำให้ประธานาธิบดีเซีย อุล ฮัคของปากีสถาน ถึงกับออกปากเตือนเอาตรงๆว่า"ถ้าปากีสถานสร้างเขาให้เป็นผู้นำอาฟกานิสถานได้ ก็ทำลายเขาได้เหมือนกันถ้าทำตัวนอกลู่นอกทาง" เพราะเงินทุนและอาวุธจากอเมริกาเช่นกันที่ทำให้เฮคมาตยาร์กล้าแข็งจนเป็นภัยต่อเสถียรภาพของปากีสถานในเวลาต่อมา ปลายทศวรรษ1980นายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโตผู้ร้อนใจต่อความโอหังของเขายังต้องบอกประธานาธิบดีบุช(พ่อ)ว่า"ท่านนั่นแหละที่สร้างอสูรกายขึ้นมา" เมื่อเริ่มจะคุมกลุ่มของเฮคมาตยาร์ไม่อยู่

พอมีข่าวอื้อฉาวเรื่องที่ว่าสิ่งที่ตนถมลงไปนั้นชักจะกลายเป็นภัย สหรัฐฯก็แถลงว่าเงินทุนทั้งหมดถูกส่งให้ฝ่ายต่อต้านชาวอาฟกันจริงๆ และปฏิเสธว่าทุนก้อนนั้นไม่ได้ถูกส่งให้บิน ลาเด็นหรือพวกมูจาฮิดีนอื่นๆนอกประเทศอีกเลย ซึ่งตอนนั้นประมาณว่ามีชาวมุสลิม35,000คนจาก43ประเทศอิสลามเข้าไปช่วยชาวอาฟกันรบกับโซเวียตด้วยเงินสหรัฐฯ

จากกรณีของอิหร่าน-คอนทราและปฏิบัติการไซโคลนที่เน้นการค้าอาวุธและให้เปล่าอย่างลับๆ เราจึงทราบว่าการใช้ช่องทางอื่นเคลื่อนย้ายอาวุธนอกจากรัฐต่อรัฐตามปกตินั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่อรัฐเป้าหมายได้ กรณีของสหรัฐฯกับปากีสถานนั้นชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ เมื่อหมดประโยชน์ต่อกันแล้วก็ไม่มองหน้าทำตัวเหมือนคนอื่นไปทันที นักยุทธศาสตร์ของไทยเองก็ต้องเข้าใจเรื่องทำนองนี้ทะลุปรุโปร่งจึงเน้นนโยบายให้กองทัพไทยยืนบนขาตัวเองให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีทางเลือกอื่นได้มากกว่าการพึ่งพาระบบอาวุธและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯกันอย่างเดียว

ตอนจบในฉบับหน้าคงจะใกล้ตัวเข้ามานิดกับเรื่องของวิคตอร์ บูท และการค้าอาวุธเถื่อนของเขาที่คงไม่ได้ใหญ่โตเหมือนสองกรณีแรก แต่ก็น่าศึกษาถ้าท่านอยากทราบว่าเขาทำอะไรมาก่อนที่จะถูกจับติดคุกอยู่ในเมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น