วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ค้าอาวุธก็รวยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องเถื่อน?(2)


ดังที่กล่าวในตอนที่1แล้วว่าการค้าอาวุธสามารถกระทำได้ทั้งโดยรัฐและโดยเอกชนซื้อขายกันเอง ซึ่งอย่างหลังนั้นมักจะเถื่อนมากกว่าถูกกฎหมาย กรณีการค้าอาวุธที่ทำเอารัฐบาลสหรัฐฯสมัยประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกนเกือบพังไปนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายปี1986ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านที่ปกครองโดยพวกมุสลิมหัวรุนแรงไม่ลงรอยกัน สถานการณ์มาเลวร้ายลงอีกเมื่อกลุ่มมุสลิมชีอะเฮสบอลลาห์จับชาวอเมริกันเป็นตัวประกันหกคน จากทั้งหมด30คนที่จับไว้ระหว่างปี1982ถึง1992เพื่อแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัล-ดาวา ที่ถูกจับเพราะวางระเบิดรถบรรทุกในคูเวตเมื่อปี1983 ทางออกคือกลุ่มพลังอิหร่านสายกลางที่ได้แสดงตนชัดเจนว่าต่อต้านพวกอยาตอลลาห์โคไมนีที่ต่อต้านอเมริกาอยู่ จะเจรจาให้เฮสบอลลาห์ปล่อยตัวประกันเองด้วยข้อแม้ว่าต้องมีอาวุธหนักไว้ใช้และจะสถาปนาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯทันที หลังจากโคไมนีสิ้นลมแล้วกลุ่มตนขึ้นครองอำนาจ

ฝ่ายอเมริกันที่ความสัมพันธ์กับอิหร่านเสื่อมทรามลงมากในยุคหลังกษัตริย์ชาห์ เล็งเห็นความสำคัญของอิหร่านที่ยังน่าจะเอามาเป็นพวกให้ยันอิทธิพลของโซเวียตได้ การให้ความช่วยเหลือต่ออิหร่านซึ่งกำลังทำสงครามกับอิรักในตอนนั้นน่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่จะทำอย่างไรในเมื่ออิหร่านต้องการอาวุธแต่ยังติดที่นโยบายห้ามขายอาวุธให้อิหร่านของอเมริกา? ซึ่งจะไม่ขายให้กับกลุ่มของอยาตอลลาห์โคไมนีที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์

ทำด้วยทางตรงไม่ได้ก็ต้องเล่นทางอ้อมด้วยการส่งอาวุธให้อิสราเอล ให้ขายอาวุธนั้นอีกต่อให้อิหร่านสายกลางเพื่อต่อรองกับเฮสบอลลาห์ อิสราเอลได้เงินมาก็จ่ายคืนให้สหรัฐฯแลกกับการให้อิหร่านเจรจาให้เฮสบอลลาห์ปล่อยตัวประกันอเมริกันทั้งหก ถ้าจะลำดับเหตุการณ์กันเป็นขั้นตอนก็คืออเมริกาไม่ได้ขายอาวุธ(คือจรวดต่อสู้รถถังTOW)ให้อิหร่านตรงๆ แต่ส่งอาวุธให้อิสราเอลซึ่งเป็นตัวกลาง กลุ่มพลังอิหร่านสายกลางได้อาวุธแล้วรับปากว่าจะพยายามเจรจาให้เฮสบอลลาห์ปล่อยตัวคนอเมริกัน จ่ายเงินให้อิสราเอลแล้วอิสราเอลเอาเงินนั้นมาจ่ายคืนสหรัฐฯอีกทอดดังนี้

ดูๆไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะอเมริกาทำทุกอย่างแบบเลี่ยงบาลี แต่เรื่องมาเละเทะเอาตอนที่พันโทนาวิกโยธินโอลิเวอร์ นอร์ธแห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาปรับเปลี่ยนแผนร่วมกับพลเรือเอกจอห์น พอยท์เด็กซ์เตอร์รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้กลายเป็นการขายตรงให้อิหร่านแลกกับการปล่อยตัวประกันโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประธานาธิบดีเรแกน แล้วพร้อมกันนั้นยังเอาเงินค่าค้าอาวุธที่โก่งราคาขึ้นสูงลิ่วและอาจเข้ากระเป๋าใครบ้างก็ไม่รู้ ไปช่วยกบฏคอนทราที่กำลังรบพุ่งกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในนิคารากัว ประเทศในอเมริกากลางที่เป็นเหมือนหอกข้างแคร่จ่อซี่โครงสหรัฐฯ

นอร์ธทำเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือน่าจะได้ปล่อยตัวประกันและได้ช่วยพวกคอนทราล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่สหรัฐฯจะเข้าไปบงการได้อีก เข้าทำนองว่านายไม่ได้สั่งแต่ลูกน้องลุยเอง เมื่อนอร์ธและพอยท์เด็กซ์เตอร์มุ่งต่อสายตรงกับพวกมุสลิมสายกลางในคณะรัฐบาลแทนที่จะคุยกับกลุ่มการเมือง ด้วยความหวังว่าพวกนี้จะช่วยให้คนอเมริกันที่เหลือถูกปล่อยตัว

กระบวนการที่น่าจะขายอาวุธให้อิหร่านผ่านทางอิสราเอลตามที่ตกลงไว้แต่เดิม กลายมาเป็นขายตรงให้อิหร่านเลยโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประธานาธิบดีเรแกน ด้วยการชงเรื่องของนอร์ธและพอยท์เด็กซ์เตอร์แห่งสภาความมั่นคง อาวุธถูกทยอยส่งให้อิหร่านจนหมดตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 1986 อิหร่านได้อาวุธแล้วจ่ายเงินจริงแต่ตัวประกันอเมริกันในมือเฮสบอลลาห์ยังไม่ถูกปล่อยตัวอีกสี่คน การเดินทางไปเจรจาซ้ำกับรัฐบาลอิหร่านโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯไร้ผล เมื่อเฮสบอลลาห์เรียกร้องให้อิสราเอลถอนกำลังจากที่ราบสูงโกลันแลกกัน ซึ่งอเมริการับเงื่อนไขนี้ไม่ได้

ทั้งที่กระบวนการค้าอาวุธนี้ต้องกระทำอย่างลับๆ แต่ข่าวก็รั่วออกมาได้จากปากของเมห์ดี ฮาเชมีผู้นำทางจิตวิญญาณฝ่ายโคไมนี ผ่านทางนิตยสารของเลบานอนคืออาช-ชิราที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่3พฤศจิกายน1986 เรื่องแดงขึ้นเมื่อเครื่องบินขนปืนขัดข้องแล้วตกลงในนิคารากัว ยูจีน ฮาเซนฟุสผู้มากับเครื่องบินแล้วถูกฝ่ายรัฐบาลนิคารากัวจับได้ ถูกนำมาแถลงข่าวแล้วให้ปากคำว่าเพื่อนร่วมงานอีกสองคนคือแม็กซ์ โกเมซกับรามอน เมดินานั้นทำงานให้ซีไอเอ ภายหลังฮาเซนฟุสกลับคำพูดว่าตัวเองก็ไม่มั่นใจว่าสองคนนั่นเป็นซีไอเอจริงหรือไม่

เรื่องเลวร้ายหนักขึ้นเมื่อรัฐบาลอิหร่านยืนยันเรื่องราวของอาช-ชิราที่เอาเหตุการณ์นี้มาเผย พอเป็นเช่นนี้ทั้งที่ตัวเองไม่รู้(หรืออาจจะรู้แต่ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นหลักฐานสาวถึงตัว) ประธานาธิบดีเรแกนก็ต้องแถลงข่าวจากห้องทำงานในทำเนียบขาวเมื่อวันที่13 พฤศจิกายน สรุปเนื้อความได้ว่าที่ขายอาวุธให้เพราะต้องการสานสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ด้วยข้อแม้อย่างเดียวคืออิหร่านต้องไม่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย และต้องใช้อิทธิพลของตนในเลบานอนเพื่อให้ตัวประกันอเมริกันเป็นอิสระ

ถ้าประธานาธิบดีรับมาเช่นนั้นก็หมายความว่าขายอาวุธให้อิหร่านจริง แต่เรื่องคนของซีไอเอไปขนอาวุธให้พวกกบฏคอนทราในนิคารากัวล่ะจะว่าอย่างไร? ตรงนี้แหละที่ตอบยากในเมื่อพวกคอนทรานั้นจ้องล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจอยู่ชัดๆ ถ้ารับด้วยก็คือยอมรับว่าอเมริกาสนับสนุนการล้มรัฐบาลของชาติอื่นอย่างเปิดเผย ระหว่างวันที่21ถึง25พฤศจิกายน1986นั่นเองที่โอลิเวอร์ นอร์ธรื้อเอกสารทุกแผ่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ"อิหร่าน-คอนทรา"ออกมาทำลายหรือเก็บซ่อน ด้วยเหตุผลที่นอร์ธให้การต่อศาลในปี1989ว่าเพื่อปกป้องชีวิตของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิบัติการอิหร่าน-คอนทรา ในที่สุดทั้งนอร์ธก็ถูกประธานาธิบดีปลดออกจากหน้าที่ ส่วนพอยท์เด็กซ์เตอร์ก็ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงฯ

ประธานาธิบดีเรแกนตั้งคณะกรรมการที่มีอดีตวุฒิสมาชิกจอห์น ทาวเออร์เป็นหัวหน้า ขึ้นสอบสวนกรณีอิหร่าน-คอนทราโดยมีสมาชิกอีกสองคนคืออดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเอ็ดมันด์ มัสกีกับอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเบรนท์ สโกว์ครอฟต์ เร่ิมปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่1ธันวาคมในชื่อว่า"คณะกรรมาธิการทาวเออร์" ด้วยจุดประสงค์คือเพื่อสืบสวนรายละเอียดในกรณีอิหร่าน-คอนทราและเพื่อศึกษาหาจุดอ่อนจุดแข็งของสภาความมั่นคงเมื่อตกอยู่ภายใต้สภาพกดดันด้วย หลังจากถูกตั้งขึ้นมาเมื่อปี1947และปฏิบัติงานร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯมาแล้ว8คน

เมื่อถูกคณะกรรมาธิการทาวเออร์ซักถึงบทบาทของตนอันเกี่ยวพันกับกรณีนี้ในวันที่2ธันวาคม1986 เรแกนตอบว่าจำไม่ได้ว่าอนุญาตให้ลูกน้องดำเนินการไปตามที่เป็นข่าวหรือไม่ แต่ปรากฎรายละเอียดในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองชื่อAmerican Lifeว่าเขาสั่งให้ส่งอาวุธไปอิสราเอลจริง ซึ่งก็ไม่แปลกที่เขาเห็นชอบให้ส่งอาวุธให้อิสราเอลในเมื่อเรแกนไม่ได้สั่งให้ขายตรงให้อิหร่าน ประมาณว่านอร์ธและพอยท์เด็กซ์เตอร์เป็นหนังหน้าไฟในเมื่อประธานาธิบดีปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นการขายตรงแล้วเอาเงินไปหนุนกบฏในนิคารากัว

การค้าอาวุธของอเมริกากับอิหร่านนั้นถึงไม่ใช่การขายของเถื่อนก็ใกล้เคียง เพราะทำระหว่างที่ตัวเองยังแทรกแซงอิหร่านอยู่แม้จะเพื่อช่วยตัวประกัน และอีกทางคือเพื่อสานสัมพันธ์กับอิหร่านซึ่งเสื่อมทรามลงในยุคของโคไมนี เป็นการกระทำแบบ"เลี่ยงบาลี"ในเมื่อสหรัฐฯยังขายอาวุธให้รัฐบาลอิหร่านไม่ได้แต่ก็ขายผ่านอิสราเอล แม้ในภายหลังจะขายตรงให้กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านผู้ครองอำนาจขณะนั้นคือโคไมนีและกลุ่มมุสลิมชีอะหัวรุนแรงก็ตาม แต่ที่มาเป็นเรื่องก็คือเงินกำไรที่ได้จากการขายอาวุธนั้นถูกใช้ไปเพื่อสนับสนุนสงครามกลางเมืองในนิคารากัว เพื่อล้มรัฐบาลให้สหรัฐได้เข้าไปควบคุมจะได้เป็นบริวารในแบบที่ตนต้องการ ไม่ต้องหวั่นว่าจะมีประเทศคอมมิวนิสต์มาจ่อคอหอยให้เสียวเล่นเหมือนครั้งวิกฤติการณ์คิวบาในสมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้

อาวุธจึงถูกใช้ได้ทั้งเพื่อทำลายโดยตรงและเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่นในกรณีอิหร่าน-คอนทรานั้นอาวุธถูกส่งและมีผู้รับที่ปลายทางชัดเจน แต่ความเปลี่ยนแปลงกลับไม่ได้เกิดจากการใช้อาวุธนั้นในเมื่อมันถูกใช้เพื่อต่อรองมากกว่าเพื่อทำลายกองทัพข้าศึก หากจะถามว่าเถื่อนหรือไม่นั้นตอบได้ว่าน่าจะเข้าข่ายเถื่อน ในเมื่อขณะนั้นอิหร่านกำลังถูกแทรกแซงห้ามชาติใดๆขายอาวุธให้ อเมริกามาขายเสียเองอย่างนั้นคงจะเรียกว่าถูกกฎหมายไปไม่ได้

ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องการส่งอาวุธแบบลับๆจากสหรัฐฯให้มูจาฮิดีนทำสงครามกับโซเวียต ครั้งที่ฝ่ายหลังส่งกำลังทหารเข้ารุกรานอาฟกานิสถาน น่าสนใจเพราะเป็นการทำสงครามด้วยอาวุธใต้ดินที่พลิกผันขนาดทำเอากองทัพแดงต้องถอนตัวและโซเวียตล่มสลาย ถ้าการขนอาวุธในกรณีอิหร่าน-คอนทราทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ยิง การต่อสู้ของพวกมูจาฮิดีนด้วยอาวุธสัญชาติสหรัฐฯนี่แหละคือผลพวงโดยตรงของการลักลอบขนอาวุธ เพราะถล่มกันจริงๆจนพลิกผลของสงครามได้ด้วยอาวุธเถื่อน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น