วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ค้าอาวุธก็รวยอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องเถื่อน?


หลังจากผมถูกสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเชิญให้ไปให้ความเห็นเกี่ยวกับอาวุธและการค้าอาวุธเถื่อน เมื่อครั้งที่เครื่องบินขนอาวุธจากเกาหลีเหนือได้บินมาลงที่สนามบินดอนเมืองแล้วถูกตรวจค้น ความรู้สึกหนึ่งก็คือตอนนั้นยังสืบค้นข้อมูลได้ไม่มากเพราะเวลาจำกัด ตอนนี้เมื่อมีเวลาค้นคว้ามากขึ้นจึงอยากเขียนให้ผู้สนใจและผู้ที่อยากทราบอะไรมากไปกว่าข่าวที่สื่อต่างๆเสนอได้อ่านกัน เพราะผมเชื่อว่าการดำเนินการเกี่ยวกับอาวุธเถื่อนที่จับได้นั้น ยังไม่จบสิ้นแค่การจับได้แยกย้ายเก็บและทำลาย ยังต้องมีการขยายผลจากสหประชาชาติและซีไอเออีกมากซึ่งหากเสนอข่าวได้ก็เป็นแค่การคาดเดาเอาเท่านั้น หาแก่นสารใดๆได้ยากเนื่องจากข้อมูลคงขาดความแน่นอน

แต่สิ่งที่แน่นอนและอาจน่าตกใจก็คือข้อมูลเกี่ยวกับการค้าอาวุธสากล ซึ่งมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กระทำโดยรัฐต่อรัฐ โดยรัฐต่อกลุ่มอำนาจและโดยกลุ่มอำนาจต่อกลุ่มอำนาจโดยไม่ผ่านรัฐ อย่างหลังนี่แหละที่เป็นประเด็น

เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมอาวุธ นี่คือการดำเนินธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ชนิดหนึ่งของโลกอันประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรวมถึงนายหน้าที่ขายได้ตั้งแต่อาวุธพื้นๆขนย้ายได้ด้วยกลุ่มบุคคลเล็กๆ อย่างระเบิดขว้าง,ทุ่นระเบิด,ปืนเล็กยาว และอาวุธเบาอื่นๆที่สามารถนำพาไปได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ไปจนถึงอาวุธหนักอย่างเครื่องยิงขีปนาวุธ,ขีปนาวุธ,เฮลิคอปเตอร์,ยานเกราะหรืออื่นๆที่ต้องใช้คนกลุ่มใหญ่มีเส้นสายโยงใยกันเป็นเครือข่าย ผู้ผลิตและผู้ขนย้ายต้องมีอิทธิพลในรัฐบาลมากพอดูจึงจะเคลื่อนย้ายอาวุธใหญ่ๆนี้ได้ราวกับขนสินค้าธรรมดา เมื่อเครือข่ายขายใหญ่ขึ้นประกอบกับรัฐก่อการร้าย(rogue states)สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ถึงขีดสุดโดยองค์กรที่ควบคุมตรวจสอบไม่ได้ อาวุธเถื่อนอาจจะรวมถึงระเบิดนิวเคลียร์ขนาดกระเป๋าหิ้วก็ได้ในอนาคต

การค้าอาวุธที่ถูกต้องจะกระทำโดยบริษัทจดทะเบียนที่ค้าขายโดยเปิดเผยอยู่แล้ว บริษัทเหล่านี้จะค้าอาวุธให้รัฐบาลในประเทศตนและรัฐบาลของประเทศที่ต้องการอาวุธอย่างถูกกฎหมาย ปริมาณและแบบของอาวุธตรวจสอบได้ การเบิกจ่ายต้องผ่านการกลั่นกรองโดยรัฐสภา โดยเฉพาะถ้าเป็นอาวุธจำนวนมากหรือมีอำนาจการทำลายรุนแรง ประมาณว่าแต่ละประเทศทั่วโลกใช้เงินเพื่อจัดหาอาวุธทั้งหนักและเบาเข้าประจำการในกองทัพของตนปีละรวมหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ2เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)โลก เม็ดเงินรวมจาก100บริษัทผลิตอาวุธที่จำหน่ายได้มากที่สุดในโลกเป็นตัวเลขล่าสุดคือ6แสนล้านล้านดอลลาร์ พุ่งพรวดจากเดิมคือ3แสนล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี2006และ3หมื่นล้านในปี2004 ตัวเลขดังกล่าวนี้คือเฉพาะที่ซื้อขายกันอย่างถูกต้องและเปิดเผย เป็นตัวเลขรวมทั้งที่ค้าอาวุธระหว่างประเทศและภายในประเทศที่แต่ละชาติอุตสาหกรรมต่างมีอุตสาหกรรมอาวุธเพื่อป้อนกองทัพของตัวเอง

ส่วนที่เล็ดรอดไปก็คือการค้าอาวุธเบาซื้อง่ายขายคล่องเช่นปืนเล็กยาว ปืนพก ระเบิดขว้าง ดินระเบิดและเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ตัวเลขในส่วนนี้ประมาณไม่ได้เพราะลักลอบทำกันและไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน แต่ใช้ของอื่นแลกได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นทองคำ เพชรหรือแม้แต่ยาเสพติด ในช่วงสงครามเย็นทั้งฝ่ายสหรัฐฯและโซเวียตรัสเซียต่างผลิตอาวุธทั้งเบาและหนักออกมามหาศาล ด้วยวัตถุประสงค์เดียวคือต้องการต้านภัยคุกคามของฝ่ายตรงข้าม มาตรการลดแลกแจกแถมหรือแม้แต่แจกกันเปล่าๆก็มี อเมริกาแจกปืนM16กับเครื่องบินขับไล่F5ให้พันธมิตร โซเวียตก็แจกปืนAK47 กับเครื่องบินมิก21ให้ประเทศบริวาร ไม่แจกเปล่าแต่ยังส่งที่ปรึกษาเข้าไปช่วยกันทำสงครามด้วย

ตัวอย่างชัดๆคือสงครามเวียตนาม ซึ่งคู่สงครามจริงๆ(คือสหรัฐฯและโซเวียต)ต้องการใช้พันธมิตรของตนเพื่อทำสงครามแทน เริ่มต้นด้วยการส่งอาวุธให้ ส่งครูฝึกไปสอนการใช้อาวุธแล้วก็จบลงด้วยการลงไปคลุกเองจนสะบักสะบอม ประเทศด้อยพัฒนาหรือที่เรียกว่า"โลกที่3”คือลูกค้าหรือแหล่งระบายอาวุธรายใหญ่ เมื่อการเมืองยังไม่นิ่งผู้คนยังด้อยการศึกษา ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงและข้อดีข้อเสียของการปกครองในประเทศของตน ความคิดที่แตกแยกและผลประโยชน์อันเย้ายวนจึงทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ที่รัฐบาลต้องปราบปรามกระจายอยู่หลายที่ทั่วโลกพร้อมๆกับสงครามเย็น

ทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในซิมบับเว กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่สหรัฐฯหนุนหลังในนิคารากัว คอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาฟริกาที่หนุนทั้งเงินและอาวุธโดยจีนและสหภาพโซเวียต แม้ปัจจุบันนี้สงครามเย็นจบลงแล้วแต่การสู้รบประปรายโดยกลุ่มอำนาจต่างๆยังคงอยู่ แน่นอนว่าต้องใช้อาวุธกันทั้งฝ่ายปราบปรามและฝ่ายต่อต้านเพื่อให้ได้ชัยชนะขั้นแตกหัก ได้เป็นผู้ครองอำนาจรัฐ แน่นอนอีกเช่นกันว่าต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้ออาวุธทั้งเบาและหนักนานาชนิด

การซื้อขายอาวุธโดยรัฐต่อรัฐที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ถือเป็นการใช้อาวุธด้วยความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย รัฐจัดหาอาวุธมาเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด การ"หวังตั้งสงบแล้วเตรียมรบให้พร้อมสรรพ"คือหลักสากลที่ทุกประเทศยึดถือในการจัดหาอาวุธ และจะซื้อหาอาวุธได้มากเท่าใดก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขGDPของชาตินั้นๆ พูดง่ายๆคือถ้าการเมืองนิ่งแล้วเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าGDPหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติก็จะสูง มีรายได้มากพอจะกันไว้ซื้ออาวุธดีๆใช้เฝ้าบ้านได้

หลังจากสงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดูเหมือนว่าชาติทั้งหลายน่าจะลดการสะสมอาวุธแล้วแต่ก็ไม่ใช่ในเมื่อความขัดแย้งรูปแบบอื่นยังมีอยู่ การล่มสลายของโซเวียตได้ทำให้กองทัพที่เคยใหญ่มหึมาต้องลดขนาดลง เคจีบียุคสงครามเย็นกลายเป็นมาเฟียค้าทั้งอาวุธเถื่อนและยาเสพติด ทหารที่ถูกปลดประจำการใช้ความสามารถของตนหาเงินเข้ากระเป๋าในฐานะทหารรับจ้าง พร้อมเป็นกองกำลังติดอาวุธให้ใครก็ตามที่มีเงินมากพอ

นับแต่ปี2003เป็นต้นมานั้นถึงสหรัฐฯจะครองอันดับ1ด้านการส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลก คิดเป็น36เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ตามด้วยรัสเซีย,อังกฤษ,เยอรมนีและจีน แต่ไม่มีใครรู้ชัดๆเลยว่าตัวเงินจากการลักลอบค้าอาวุธนั้นมหาศาลแค่ไหน มีแต่คณะกรรมการรณรงค์ควบคุมการค้าอาวุธ(Control Arms Campaign) ที่ก่อตั้งโดยองค์กรนิรโทษกรรมสากล(Amnesty international) และเครือข่ายควบคุมกิจการค้าอาวุธเบาสากล(international Action Network on Small Arms)ได้ร่วมกันประมาณการไว้ว่ามีอาวุธเบา639ล้านชิ้นหมุนเวียนอยู่ในประเทศต่างๆ และมีบริษัทผู้ผลิตอาวุธเหล่านี้มากถึง1,135บริษัทใน98ประเทศทั่วโลก ไม่รวมที่ผลิตอุปกรณ์ส่วนควบใหญ่น้อยและเครื่องกระสุนอีกนับไม่ถ้วน

ถ้าการค้าอาวุธอย่างถูกต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันประเทศแล้ว การค้าอาวุธเถื่อนหรือลักลอบล่ะจะทำไปเพื่ออะไร? คำตอบเป็นไปได้หลายอย่าง คือเพื่อใช้ทำสงครามกลางเมืองก็ได้ ใช้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆก็ได้ ใช้เพื่อก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดและของเถื่อนอื่นๆก็ได้ เมื่อใดที่คนต้องการอำนาจและมีผลประโยชน์เป็นตัวเงินมหาศาล เมื่อนั้นเขาย่อมต้องใช้อาวุธร้ายแรงเพื่อให้ได้มาและปกป้องมันไว้ โดยเฉพาะการก่อการร้ายซึ่งขาดไม่ได้เลยสำหรับอาวุธร้ายแรงหากต้องการสร้างความหวาดกลัวหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยิ่งใช้ของหนักยิ่งเปลี่ยนแปลงได้เร็ว

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ชาติหนึ่งในยุโรปตะวันออกได้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการค้าอาวุธเถื่อน หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายยูเครนที่เคยผลิตอาวุธเบาและหนักป้อนกองทัพแดง ได้หันมาผลิตและจำหน่ายอาวุธทั้งถูกกฎหมายและใต้ดินให้กับประเทศต่างๆที่คุ้นเคยกับระบบอาวุธของโซเวียตอยู่แต่เดิม กิจการค้าอาวุธทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้ยูเครนจนประเทศร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณว่าระหว่างปี1997ถึง2000นั้นอุตสาหกรรมอาวุธของยูเครนเติบโตขึ้นถึงสิบเท่า สามารถส่งออกอาวุธได้เป็นมูลค่า1.5พันล้านดอลลาร์ต่อปี ระหว่างอาวุธส่งออกอย่างถูกกฎหมายของยูเครนกำลังบูม ตลาดมืดระดับนานาชาติเพื่อค้าอาวุธเถื่อนของที่นี่ก็รุ่งไม่แพ้กัน เมื่อสาวให้ลึกในความขัดแย้งทั้งใหญ่และน้อยทั่วโลกจะพบว่าอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกันในที่ต่างๆนั้นมีตรา"เมด อิน ยูเครน"ประทับอยู่เกือบทั้งสิ้น ที่ชัดเจนที่สุดคือในอิรักสมัยที่ซัดดาม ฮูเซ็นปกครองและเร็วๆนี้คืออาวุธที่พวกทาลีบันใช้ทั้งในอิรักและอาฟกานิสถาน

การจับกุมตัวเลโอนิด มินินนักค้าอาวุธเถื่อนชาวยูเครนที่ยังรอรับโทษอยู่ในอิตาลี ได้ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นอีกมากในรายละเอียดของการค้าอาวุธเถื่อน แต่มินินก็ยังเป็นแค่หมากตัวหนึ่งของเครือข่ายค้าอาวุธข้ามชาติจากยูเครน ซึ่งใช้เขาเป็นแค่ตัวตัดตอนก่อนจะถึงนายทหารและนักการเมืองระดับสูงของประเทศนี้

สำหรับอาวุธเบาที่ทำรายได้ให้พ่อค้าชาวยูเครนเป็นกอบเป็นกำเพราะซื้อง่ายขายคล่องนั้น ส่วนใหญ่ยูเครนไม่ได้ผลิตเองแต่ครอบครองคลังอาวุธใหญ่เอาไว้มากหลังแยกตัวจากสหภาพโซเวียตในปี1991 กองทัพแดงส่งทหารไปประจำการที่นี่มากถึง1ล้านนายในฐานะที่ยูเครนเป็นชาติหน้าด่านของค่ายโซเวียต ตั้งเผชิญหน้ากับกำลังทหารของนาโต เมื่อยูเครนที่เป็นอิสระย้ายค่ายมาสังกัดนาโต(NATO)และลดขนาดกองทัพ อาวุธเดิมๆของโซเวียตพวกนี้ก็แปรสภาพเป็นของเหลือใช้ มีจำนวนหนึ่งที่โละขายถูกๆแต่ที่หลุดรอดเข้าตลาดมืดอีกก็หลาย ทหารยศต่ำๆที่รายได้ไม่ชนเดือนแอบเอาอาวุุธที่ควบคุมไว้อย่างหละหลวมไปขาย พวกผู้นำหน่วยอีกหลายนายที่ควบคุมอาวุธไว้มากๆต่างลักลอบขายของพวกนี้กันเกือบทุกกรมกอง

คณะกรรมการสอบสวนแห่งรัฐสภายูเครนสรุปออกมาว่าระหว่างปี1992ถึง1998 ยูเครนสูญเสียทรัพยากรด้านการทหารไปจากการรั่วไหลนี้ถึงสามหมื่นสองพันล้านดอลลาร์ ทั้งด้วยการลักลอบเอาไปขาย การขายถูกแบบเลหลังโดยขาดการติดตามควบคุมวิธีดำเนินการ อาวุธที่หายไปเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนพกและปืนเล็กยาวตระกูอาก้า ตกไปอยู่ในมือลูกค้าแถบที่มีสงครามกลางเมืองทั่วโลก จากเซียรา ลีโอน,ซูดานในอาฟริกาถึงโครเอเชียในยุโรป ไม่นับที่พวกแก๊งค้ายาและของเถื่อนอื่นๆซึ่งเห็นยูเครนเป็นเสมือนตลาดนัดอาวุธแบกะดินแห่งใหญ่ โดยเฉพาะปืนอาก้าที่ว่าขายดีนี้เพราะมันใช้ง่ายไม่ต้องดูแลรักษา สอนกันให้เล็งถูกเป้าป้อนกระสุนให้เป็นแล้วก็โยนปืนให้วิ่งปุเลงๆเข้าสนามรบได้เลยแบบไม่จำกัดอายุ ไปเลือกซื้อแล้วไม่ถูกใจก็เอาชิ้นส่วนกระบอกอื่นมา"ยำ"ใส่กันให้ได้ปืนดีๆได้ มีของกองไว้สูงเป็นภูเขาลูกย่อมๆ

การค้าอาวุธเถื่อนส่วนใหญ่กระทำโดยเอกชน ร่วมมือกันเล่นเป็นทีมกับคนของรัฐเพื่อนำอาวุธไปสู่จุดหมายปลายทางคือการก่อการร้ายและสงครามกลางเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่รัฐบาลทำเสียเองเพื่อหวังผลด้านการแทรกกิจการภายในรัฐเป้าหมาย แทบทุกครั้งเป็นกิจกรรมลับแต่ก็มีความผิดพลาดครั้งใหญ่เกิดขึ้น จนทำเอาคนตำแหน่งใหญ่ขนาดประธานาธิบดีถึงกับหน้าม้านไป กรณีการจัดหาอาวุธอันอื้อฉาว"อิหร่าน-คอนทรา"ในสมัยประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกนคือเรื่องที่ผมอยากจะเล่า เพื่อแฟนคอลัมน์จะได้เข้าใจว่ารัฐหนึ่งใช้กระบวนการจัดหาอาวุธลับๆเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของรัฐเป้าหมายเป็นอย่างไร ก่อนจะเข้าสู่เรื่องของชาร์ลี วิลสันที่จัดหาขีปนาวุธสติงเกอร์ให้พวกมูจาฮีดีนรบกับโซเวียต และความเป็นมาของนายวิคตอร์ วาสิเลวิช บูทท์ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตัวละครเอกในภาพยนตร์"The Lord of War” รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตในกรณีการจับอาวุธเถื่อนจากเครื่องบินอิล76ลำที่เป็นข่าว กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 เมษายน 2554 เวลา 10:11

    บริษัทที่ค้าอาวุธในประเทศไทยโดยนำเข้ามาขายให้ราชการ ต้องมีการจดทะเบียนหรือป่าวครับ แล้วเดี๋ยวนี้มีกี่บริษัทแล้วครับ

    ตอบลบ