วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“Marine One” ด้วยความไว้วางใจจากประธานาธิบดี


"ทหารมะรีน"หรือกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ คือเหล่าทัพที่ได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญในต่างประเทศตั้งแต่เพิ่งก่อตั้ง วีรกรรมครั้งสำคัญแรกเริ่มคือ"ศึกชายฝั่งบาร์บารี"ในสมัยประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สันที่นาวิกโยธินสหรัฐฯขึ้นฝั่งเมืองทริโปลีเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว และได้ดาบซิมิทาร์ไขว้จากเจ้าผู้ครองนครไว้เป็นสัญลักษณ์ของเหล่า ต่อมาในภายหลังด้วยลักษณะของหน่วยรบครบทั้งสามมิติ นาวิกโยธินจึงเป็นเหล่าทัพที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯพึ่งพาเสมอเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับชาติต่างๆ

นาวิกโยธินจะถึงที่หมายก่อนเป็นเหล่าแรกด้วยการเคลื่อนพลและยุทโธปกรณ์ได้ภายใน24ชั่วโมง ทั้งที่ภารกิจของนาวิกโยธินจะเน้นที่การรบนอกประเทศ แต่ในประเทศเหล่าทัพนี้มีภารกิจมากกว่านั้น หนึ่งในภารกิจของนาวิกโยธินนอกจากการเป็นกองเกียรติยศในงานพิธี,รักษาสถานทูต คือการเป็นกองบินประจำตัวทั้งในและต่างประเทศให้ประธานาธิบดี พาหนะที่พบได้บ่อยในการให้บริการต่อท่านและคณะคือเฮลิคอปเตอร์ในกองบินที่มีชื่อเฉพาะว่า"Marine One"

การใช้เฮลิคอปเตอร์เดินทางโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 1957 ไดวท์ เดวิด ไอเซนฮาวเออร์คือประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบH-13"ซู" เฮลิคอปเตอร์สองที่นั่งหลังคาทรงกลมใสมีหางเรียวยาวคล้ายแมงปอ ด้วยความต้องการแต่แรกของท่านคือต้องการกลับมาบ้านพักฤดูร้อนในโรดไอแลนด์ให้เร็วที่สุด เครื่องบินโดยสารประจำตำแหน่งอย่างAir Force Oneนั้นใหญ่เกินไปสำหรับการเดินทางช่วงสั้นๆ หาที่จอดยากเพราะต้องใช้สนามบินมาตรฐานซึ่งเปลืองเนื้อที่แล้วยังต้องนั่งรถต่อไปถึงปลายทางอีก ยังไม่นับถึงความยุ่งยากตรงที่ต้องมีขบวนรถของประธานาธิบดี ต้องกั้นถนนวุ่นวาย

ไอเซนฮาวเออร์จึงสั่งให้คณะทำงานมองหาวิธีการอื่นเพื่อเดินทางในลักษณะนี้ เพื่อให้ขนไปได้ทั้งคณะคือตัวท่าน,ภริยาและผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง พาหนะเพื่อการนี้ไม่มีอะไรเหมาะสมไปมากกว่าเฮลิคอปเตอร์อีกแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายต่ำกว่าและไม่ต้องการเนื้อที่รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนแอร์ฟอร์ซวัน แม้ว่าขณะนั้นเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่คือH-34"ซีฮอร์ส"จากบริษัทซิกอร์สกีจะเข้าประจำการแล้ว แต่ก็ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประมุขของประเทศเช่นเครื่องปรับอากาศและห้องน้ำ

ในปี1958หลังจากตกลงกันได้แล้วว่าจะใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่นH-34 รุ่นปรับปรุงเฉพาะเพื่อเป็นพาหนะของประธานาธิบดี มันจึงถูกบรรจุเข้าประจำการในกองบินนี้และรับใช้ชาติอยู่จนถึงปี1961 ก่อนเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ใหม่กว่าคือVH3A"ซี คิง"จากบริษัทผู้สร้างเดิมคือซิกอร์สกี ที่เดิมถูกสร้างมาเพื่อปราบเรือดำน้ำโดยกองทัพเรือ มีสองเครื่องยนต์ให้ใช้พยุงเครื่องแทนกันได้เมื่อเครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งชำรุด เครื่องVH-3Aก็พัฒนามาจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่นนี้แต่ปรับปรุงให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอันจำเป็นสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะ

เพื่อให้สะดวกแก่การรับและส่งประธานาธิบดีถึงบริเวณทำเนียบขาว คณะทำงานของท่านจึงขอให้นาวิกโยธินซึ่งรับผิดชอบกิจการบินนี้อยู่แล้วพิจารณาหาที่ว่างเพื่อนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอด ผลคือได้ลานจอดเป็นสนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาว แต่นั้นมาบริเวณนี้จึงเป็นที่ลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีทุกคน แม้ไม่มีภารกิจบริเวณนี้ก็ยังใช้เป็นที่ซ่้อมเพื่อให้นักบินเพิ่มความชำนาญในการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าว หลังจากฝึกอย่างหนักมาแล้วกับเครื่องจำลองการบิน

กิจการบินเพื่อประธานาธิบดีเป็นของนาวิกโยธินมาตั้งแต่ต้นในนามเรียกขานว่า"Marine One" จนกระทั่งถึงปี1976ที่กองทัพบกได้เข้ามามีส่วนให้บริการอันสำคัญและน่าภาคภูมิใจยิ่งนี้ ด้วยนามเรียกขานของหน่วยว่า"Army One" เพื่อเป็นพาหนะระยะใกล้ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะทั้งในและนอกประเทศ สลับกันตามวาระ

สำหรับ"มะรีน วัน"ซึ่งเป็นหน่วยบินเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งมาแต่เดิมนั้น เป็นกองบินใหญ่ไม่ใช่เล่นจากจำนวนทหารกว่า800นาย ประกอบด้วยนักบินและเจ้าหน้าที่ในหน้าที่ต่างๆรวมทั้งนักบิน เพื่อดูแลให้อากาศยานปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่องและราบรื่น โดยมีที่มั่นอยู่ในเมืองควอนติโก รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งภารกิจจริงๆจะมีมากกว่าแค่บินมาส่งประธานาธิบดีที่สนามหญ้าด้านทิศใต้ของทำเนียบขาว หรือที่ฐานทัพอากาศแอนดรูว์ รัฐแมรี่แลนด์ ที่ฐานทัพอากาศแอนดรูว์นี้อีกเช่นกันที่ใช้เป็นที่เปลี่ยนเครื่องบินจากเฮลิคอปเตอร์มาเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ของบริษัทโบอิง ด้วยรหัสของกองทัพอากาศว่าVC-25หรือในชื่อที่รู้จักกันทั่วไปแบบพาณิชย์คือโบอิง 747 ในชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า"แอร์ฟอร์ซวัน" หากประธานาธิบดีสหรัฐฯต้องการเดินทางไกลทั้งนอกและในประเทศพร้อมคณะทำงานและสื่อมวลชน โดยตัวมะรีน วันเองจะถูกขนส่งตามไปโดยเครื่องบินลำเลียงเช่นC-5"แกแล็กซี่"หรือC-17"โกลบมาสเตอร์"

ในจุดหมายปลายทางบริเวณที่"มะรีน วัน"จะลงสู่พื้น ตรงนั้นจะมีทหารนาวิกโยธินชั้นประทวนหนึ่งนายแต่งกายด้วยเครื่องแบบพิธีเสื้อทูนิคดำกางเกงน้ำเงินแถบข้างเหลืองคอยต้อนรับ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นคู่โดยให้หนึ่งนายเป็นยามรักษาความปลอดภัยติดอาวุธและอีกนายทำหน้าที่เชิญประธานาธิบดีลงจากบันไดเครื่อง ความเป็นพิธีการปรากฎจากเครื่องแบบของนักบินมะรีน วัน เพราะเขาจะไม่สวมชุดบินปกติสีเขียวตลอด(ชุดหมี)เช่นนักบินทหารทั่วไป แต่จะสวมเครื่องแบบBlue Dress Charlie/Deltaสำหรับงานพิธีแทน เพื่อให้สมกับเป็นนักบินพิเศษที่ทำหน้าที่ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยเฉพาะ

ในฐานะประเทศผู้นำโลกเสรีและมีผลประโยชน์มากมายต้องปกป้อง สหรัฐฯมีศัตรูมากมายที่หมายทำอันตรายต่อผู้นำประเทศ เพื่อความปลอดภัยเฮลิคอปเตอร์"มะรีน วัน"จึงไม่บินเพียงลำเดียวแต่จะบินเกาะหมู่ ด้วยอากาศยานแบบเดียวกัน สีเดียวกันและไม่มีเครื่องหมายระบุไว้เลยว่าลำไหนเป็นของประธานาธิบดี จนกว่าลำนั้นจะแยกตัวจากฝูงลงจอดที่สนามหญ้าทิศใต้ของทำเนียบขาว เพื่อให้ภัยคุกคามบนพื้นที่หวังทำลายมะรีน วันตัวจริงสับสนหากจะใช้ขีปนาวุธประทับบ่ายิง และเมื่อบินขึ้นได้ไม่นานก็จะสลับตำแหน่งไม่ให้เรียงหมู่เหมือนตอนที่บินเข้ามา มีระเบียบวางไว้ว่าห้ามสถานีโทรทัศน์ถ่ายทอดสดขณะมะรีน วันกำลังลดระดับลงจอดหรือขณะลอยลำเหนือทำเนียบขาวด้วย

นอกจากมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการบินเกาะหมู่และสลับที่กันแล้ว มะรีน วันยังมีอุปกรณ์ต่อต้านขีปนาวุธมาตรฐานกองทัพใช้เช่นพลุ(แฟลร์)เพื่อเบี่ยงเบนวิถีของขีปนาวุธพุ่งเกาะความร้อน และ"ชาฟฟ์"หรือเศษโลหะเล็กๆที่จะปล่อยเป็นกลุ่มก้อนเพื่อรบกวนขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาร์ เพื่อให้ปลอดภัยสูงสุดบุคลากรของมะรีนวันทุกนายต้องถูกตรวจสอบประวัติด้วยกรรมวิธีเฉพาะ(Yankee White background check) ก่อนจะเข้าปฏิบัติงานในฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ HMX-1ซึ่งเป็นนามเรียกขานอย่างเป็นทางการของหน่วยบินมะรีน วัน

เทคโนโลยีด้านอากาศยานที่ก้าวหนาทำให้มะรีน วันเปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีมาหลายแบบ จากH-13แรกเริ่มในสมัยไอเซนฮาวเออร์มาสู่VH-60Nในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆคือUH-60"แบล็คฮอว์ค"รุ่นเพื่อประธานาธิบดีและคณะโดยเฉพาะจากบริษัทซิกอร์สกีเช่นเดิม ด้วยคุณสมบัติพิเศษของVH-60Nคือเสียงค่อย ห้องโดยสารกว้างขวาง มีสองเครื่องยนต์ และใบพัดสี่กลีบที่ออกแบบเน้นให้พัดฝุ่นละอองออกนอกวงใบพัดไม่ให้มาจำกัดทัศนวิสัยของนักบิน ควบคุมด้วยระบบดิจิตอล(กลาสส์ ค็อกพิต)สมบูรณ์แบบ เพราะความปลอดภัยสูงของเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วในหลายสมรภูมิ รวมทั้งสถานการณ์"แบล็คฮอว์คดาวน์"ในกรุงโมกาดิสชูของโซมาเลียเมื่อปี1993 มันจึงถูกเลือกให้เป็นอากาศยานประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯจนถึงปัจจุบันได้ไม่ยาก โดยเข้ารับหน้าที่นี้ตั้งแต่ปี1989เป็นต้นมา

เมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งจึงหนีไม่พ้น VH-60Nเคยถูกเสนอให้แทนที่โดยเฮลิคอปเตอร์สัญชาติลูกครึ่งอังกฤษ-อิตาเลียนชื่ออากุสตา เวสต์แลนด์AW101 ซึ่งถูกบริษัทล็อคฮีด มาร์ตินซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเองด้วยรหัสใหม่คือUS101และมีนามเรียกขานทางทหารว่าVH-71"เคสเตรล" แต่ด้วยราคาที่แพงเกินคุ้มโครงการนี้จึงต้องพับไป เพราะมูลค่าของการเปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์ทั้งฝูงคือ6,100ล้านดอลลาร์และถูกลงนามในปี2005 แต่ระหว่างจัดหาล่วงเลยมาถึงเดือนมีนาคม2008นั้นราคาของเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมด28ลำกลับพุ่งขึ้นไปถึง11,200ล้านดอลลาร์ ด้วยค่าใช้จ่ายของเฮลิคอปเตอร์ลำละ400ล้านดอลลาร์ แม้จะปรับอัตราตามเงินเฟ้อให้ต่ำลงแล้วก็ยังสูงกว่าที่ใช้กับโบอิง747ลำที่เป็นแอร์ฟอร์ซวัน

ค่าใช้จ่ายเพื่อฝูงบินของประธานาธิบดีที่สูงลิ่วนี้ ประกอบกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์หลากหลายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ท่ามกลางการเรียกร้องให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัด ประธานาธิบดีบาแร็ค ฮูเซน โอบามาจึงประกาศดังๆว่าได้ขอให้นายโรเบิร์ต เกทส์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับไปทบทวนรายละเอียดการปรับปรุงหน่วยบินส่วนตัวของประธานาธิบดีเสียใหม่ จึงทำให้โครงกรของเคสเตรลต้องพับไป

แต่คณะกรรมการศึกษางบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐกลับไม่เห็นเช่นนั้น เพราะได้ประมาณแล้วว่าการหยุดสายการผลิตที่ดำเนินการไปแล้วเพื่อกลับมาปรับปรุงหน่วยบินเดิม และในที่สุดคือการดำเนินการตามโครงการของประธานาธิบดีโอบามาอาจทำให้ต้องจ่ายหนักถึง20,000ล้านดอลลาร์ จึงทำให้ระหว่างที่ยังใช้เฮลิคอปเตอร์แบบเดิมนี้อยู่ มะรีน วันยังไม่หาอากาศยานขึ้น/ลงทางดิ่งแบบใดมาทดแทน

ถ้าเฮลิคอปเตอร์สำหรับประธานาธิบดีมีชื่อว่า"มะรีน วัน" หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงเดาออกว่าเครื่องประจำตำแหน่งของรองประธานาธิบดีต้องเป็น"มะรีน ทูว์" ลำที่เป็นพาหนะของครอบครัวท่านแยกต่างหากจะมีตัวอักษรF กำกับพร้อมนามเรียกขานต่างหากว่า"มะรีน วัน ฟ็อกซ์ทร็อต" เช่นเดียวกันกับเฮลิคอปเตอร์ของครอบครัวรองประธานาธิบดีที่ใช้นามเรียกขาน"มะรีน ทูว์ ฟ็อกซ์ทร็อต"

เขียนเรื่องมะรีน วันที่ใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่นUH-60แบล็คฮอว์คดัดแปลงแล้ว ทำให้ผมอยากเขียนเรื่องแบล็คฮอว์ครุ่นมาตรฐานขึ้นมาอีก คงต้องขอเวลาค้นคว้าก่อนครับ แล้วอาจเป็นตอนหน้าหรือตอนไหนของบทความก็ค่อยพิจารณากันอีกที

กำแพงเสียง มีไว้ทุบ



เมื่อแรกเริ่มสร้างเครื่องบินในศตวรรษที่19 เรายังใช้เครื่องยนต์ลูกสูบความเร็วต่ำแทบไม่ต่างจากเครื่องบินเครื่องแรกๆของพี่น้องไรท์ ความเร็วเครื่องบินยังต่ำพอๆกับความเร็วรอบหมุนของใบพัด แม้นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียคือเอิร์นสต์ มัคจะเสนอทฤษฎีเรื่องความเร็วของเสียงและกำแพงเสียงเอาไว้ ที่ในภายหลังได้ถูกพิสูจน์ว่าอาจทำอันตรายต่อโครงสร้างของเครื่องบินได้จริง แต่วิศวกรการบินและนักบินยังไม่ให้ความสำคัญมาก ด้วยเหตุผลหลักคือเครื่องบินยังความเร็วต่ำในยุคแรกเริ่ม เครื่องบินรบที่ว่าเร็วที่สุดในโลกอย่างซอปวิธ คาเมลของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่1ยังทำความเร็วได้แค่288../..

หลังจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเทคโลยีอากาศยานพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หลายชาติในยุโรปรวมทั้งอเมริกาต่างเร่งพัฒนาเครื่องบินของตนเน้นที่เครื่องบินรบ เมื่อสงครามโลกครั้งที่2ระเบิดขึ้นนั้นความเร็วของเครื่องบินเขยิบขึ้นเป็นสองเท่าของเครื่องบินในสงครามโลกครั้งก่อน จากเครื่องบินเครื่องยนต์ลูกสูบมาเป็นเครื่องยนต์เจ็ต โดยเยอรมันครองแชมป์ด้วยเมสเซอร์ชมิตต์Me262"ชวัลเบ" ที่ความเร็ว894../.. การปฏิวัติวิศวกรรมอากาศยานด้วยเครื่องยนต์เจ็ตนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อเครื่องบินรบเริ่มบินเร็วขึ้นจนเข้าใกล้ความเร็วของเสียง ปรากฎการณ์ที่ตามมาคือทั้งเครื่องสั่นแทบแตกและควบคุมทิศทางไม่ได้ ทฤษฎีของมัคกำลังจะถูกทดสอบว่าจริงแท้แค่ไหน อะไรคือ"กำแพงเสียง"

ถ้าจะพูดถึง"กำแพงเสียง"หรือ"sound barrier" อธิบายได้ง่ายที่สุดว่าคือสภาวะที่ความเร็วของวัตถุเปลี่ยนแปลงจาก"ต่ำกว่าเสียง"(Transonic)ไปสู่"เร็วกว่าเสียง"(Supersonic) โดยความเร็วกว่าเสียงเท่ากับ1,236../..หรือ343./วินาทีที่ระดับน้ำทะเลอันหมายความว่าเสียงเดินทางได้ไกล1..ในเวลา3วินาที ความเร็วใดๆของวัตถุมากกว่า1,236../..แต่ยังไม่ถึงสองเท่าของความเร็วนี้จะถูกเรียกว่า1มัคตามนามสกุลของเอิร์นสต์ มัค ผู้เสนอทฤษฎีไว้ว่าเสียงคือพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เป็นคลื่นมีการสั่นสะเทือน ขณะวัตถุใดก็ตามเคลื่อนที่เข้าใกล้ความเร็วเสียงมันจะค่อยๆถูกบีบอัดแรงขึ้นเรื่อยๆจนเสียงที่ดูเหมือนไม่มีพลังงานรุนแรงเพิ่มความหนาแน่นและการสั่นสะเทือนขึ้นกลายเป็น"กำแพง" เรียกสภาวะนี้ตามสภาพว่า"กำแพงเสียง"(sound barrier) มัคและลุดวิกบุตรชายพิสูจน์ทฤษฎีของตนด้วยกรรมวิธี"ชลีเรนเมโธเด่อะ"(schlierenmethode) ที่เอากุสต์ โทปเลอร์นักฟิสิกส์เยอรมันคิดค้นขึ้นในปี1864 ถ่ายภาพเงาของคลื่นเสียงไว้ได้

กำแพงเสียงไม่เพียงแต่เกิดเมื่อวัตถุเคลื่อนที่ในอากาศตรงๆเท่านั้น ใบพัดเครื่องบินเองก็สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าเสียงจนเกิดกำแพงเสียงเช่นกัน ตัวอย่างชัดเจนคือเครื่องบินฝึกสองที่นั่งT-6"เท็กซัน"สมัยสงครามโลกครั้งที่2 ที่ใบพัดหมุนเร็วใกล้ความเร็วเสียงแล้วทำให้ความเร็วตกเมื่อกลีบใบพัดปะทะกำแพงเสียงจนเครื่องบินสั่นสะท้าน จะแก้ปัญหาให้ได้ก็ต้องให้เครื่องยนต์ใหญ่และแรงพอจะผลักดันมันให้หมุนเร็วกว่าเสียงซึ่งยาก ทางออกที่ง่ายและเร็วกว่ารวมทั้งไม่จำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักเครื่องยนต์คือเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เจ็ตให้กำลังขับเคลื่อนสูงกว่า ผู้บุกเบิกสองคนสำคัญคือแฟรงค์ วิตเติลจากอังกฤษและฮันส์ ฟอน โอไฮน์จากเยอรมนีที่มุ่งพัฒนาเครื่องยนต์ให้รับมือกับการบินด้วยความเร็วสูงโดยเฉพาะ

ถึงเครื่องบินใบพัดจะทำความเร็วเท่าเสียงได้เมื่อบินดำดิ่งได้เร็วพอ แต่ทั้งลำก็สั่นจนแทบแยกเป็นชิ้นและมักพังเสียก่อนผลักดันตัวเองให้เร็วกว่าเสียง กำแพงเสียงยังส่งอิทธิพลต่อพื้นบังคับทั้งหมดให้บังคับได้ยากหรือแทบบังคับไม่ได้เลย นักบินเครื่องซีโรของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่2พบปัญหาชนกำแพงเสียงบ่อย เมื่อดำดิ่งลงพื้นระหว่างรบติดพันหรือเมื่อโจมตีเป้าภาคพื้นดินแล้วพบว่าเครื่องสั่นจนดึงเครื่องไม่ขึ้น สปิตไฟร์ของอังกฤษพบปัญหาเดียวกันเมื่อปีกทนความเค้นจากกำแพงเสียงไม่ไหว

เพราะการพัฒนาอากาศยานให้บินได้เร็วใกล้ความเร็วเสียง และการเล็งเห็นคุณประโยชน์ของความเร็วที่จะมีในอนาคต จึงมีความพยายามทำลายสถิติด้วยการบินฝ่ากำแพงเสียง(เร็วกว่าเสียง)อยู่ประปราย เยอรมันนำหน้าไปก่อนด้วยจรวดV-2ที่ยิงสำเร็จเมื่อวันที่3ตุลาคมปี 1942จากฐานทัพเพเน่อะมึนเด่อะ(PeenemÜnde)ในเยอรมนี การยิงจรวดความเร็วเหนือเสียงคือความสำเร็จในระดับหนึ่งก็จริงแต่ยังไม่พอ วิศวกรอากาศยานจึงนำความคิดมาต่อยอดกับอากาศยานมีนักบิน ซึ่งเกิดความพยายามบินให้เร็วกว่าเสียงอีกหลายครั้ง ทั้งในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่2ทั้งด้วยเครื่องยนต์ลูกสูบและเจ็ตแต่ไม่สำเร็จ การจะทำลายกำแพงเสียงได้จริงนักบินต้องบินแนวราบเท่านั้นไม่ใช่ทิ้งดิ่ง ด้วยเงื่อนไขข้อนี้การทำลายกำแพงเสียงจึงมาสำเร็จเอาอย่างเป็นทางการในวันที่14ตุลาคมปี1947โดยนักบินทดสอบชัค ยีเกอร์แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ผู้บินแนวระดับเร็วกว่าเสียงได้สำเร็จอย่างเป็นทางการคนแรกของโลก

ความพยายามทำลายกำแพงเสียงของสหรัฐฯเริ่มขึ้นไม่นาน หลังจากอังกฤษเผยรายละเอียดด้านการออกแบบอากาศยานสู่รัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยข้อตกลงแต่แรกว่าสหรัฐฯต้องยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นการตอบแทน แต่พอเริ่มโครงการจริงๆกลับไม่เป็นไปดังสัญญาเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯบิดพริ้วอ้างว่าเป็นความลับสุดยอดของกระทรวงกลาโหม แล้วนำข้อมูลทางเทคโนโลยีจากบริษัทไมล์ของอังกฤษมาพัฒนาเครื่องบินจนได้XS-1หรือในชื่อเพื่อการทดลองว่าX-1ของบริษัทเบลล์ ที่รุ่นสุดท้ายของมันแทบไม่ต่างเลยกับเครื่องบินจากบริษัทไมล์ที่เข้าร่วมโครงการเดียวกันของอังกฤษ มันคือเครื่องบินทดสอบต้นตระกูลของเครื่องบินทดสอบทั้งหมดของสหรัฐฯ เพื่อทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆและปิดเป็นความลับ สร้างโดยบริษัทเบลล์ แอร์คราฟต์ด้วยรหัสเริ่มแรกว่าXS-1(Experimental Supersonic)แล้วต่อมาตัดเหลือแค่X-1 เป็นลำแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดลองโดยเฉพาะและเน้นที่การบินฝ่ากำแพงเสียง ด้วยรูปร่างคล้ายหัวกระสุนขนาด.50ของปืนกลบราวนิ่งจึงทำให้ได้ชื่อเล่นว่า"กระสุนติดปีก" ขับเคลื่อนด้วยพลังจรวดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในตัวเครื่อง

เรืออากาศเอกชัค ยีเกอร์ถูกเลือกให้บินX-1 มีชื่อตามภรรยาว่า"เกลนนิสคนสวย"(Glamorous Glennis)โดยติดมันเข้าใต้ปีกเครื่องบินทิ้งระเบิดB-29ให้พาขึ้นสู่ความสูง40,000 ฟุต ก่อนจะปล่อยลงตรงๆให้เครื่องยนต์ของมันผลักดันต่อในย่านความเร็วต่ำกว่าเสียงเข้าสู่ความเร็วเหนือเสียง ก่อนบินสองวันมีเหตุเกือบทำให้ยีเกอร์อดบินเมื่อเขาตกม้าซี่โครงหักสองซี่ เพราะกลัวจะถูกถอดออกจากโครงการจึงลากสังขารไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านแทนที่จะไปโรงพยาบาล มีผู้รู้เห็นสองคนคือเกลนนิสภรรยาและแจ็ค ริดลีย์นายทหารในโครงการเดียวกัน

ในวันบินยีเกอร์เจ็บซี่โครงจนงัดกลอนประตูX-1ปิดไม่ได้ แจ็ค ริดลีย์เพื่อนร่วมโครงการจึงทำคานงัดกลอนให้ด้วยการตัดด้ามไม้กวาดในโรงเก็บเครื่องบิน เมื่อถึงระดับ38,000ฟุตB-29จึงปล่อยX-1ตามขั้นตอนซึ่งยีเกอร์เร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆจาก0.8เป็น0.9จนเครื่องเริ่มสั่นแทบคุมไม่อยู่ใน0.95มัค เขายังเร่งความเร็วจนมาตรวัดความเร็วที่จำกัดอยู่แค่1มัคพัง คนบนพื้นได้ยินเสียงดังเปรี้ยง...เปรี้ยงสองครั้งซ้อนและคิดว่ายีเกอร์คงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนักทุบกำแพงเสียงคนอื่น แต่เรดาร์ยังคงจับสัญญาณได้และอ่านความเร็วได้1.05มัค เขายังบินต่อไปเรื่อยๆกับเสียงเครื่องยนต์หึ่งๆสม่ำเสมอและเครื่องบินนิ่งสนิท

ด้วยความเร็วใหม่นี้ชัค ยีเกอร์จึงบินเหนือเสียงในแนวระดับสำเร็จเป็นทางการคนแรกของโลก เขารู้ว่าทำอะไรลงไปเอาตอนนำเครื่องลงเรียบร้อยเพราะมาตรวัดของเครื่องบินชำรุด อ่านความเร็วเหนือ1มัคไม่ออก แต่กว่าจะเปิดเผยได้ก็ต้องรออีกหกเดือนเพราะอเมริกาอยู่ระหว่างการแข่งขันด้านอวกาศและอากาศยานกับสหภาพโซเวียต โครงการทางทหารทุกอย่างต้องปิดเป็นความลับ

การทุบกำแพงเสียงทำให้เกิดนวัตกรรมด้านอากาศยานต่อเนื่องมาอีกมากมาย ทั้งจรวด,เครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ความเร็วเหนือเสียงคองคอร์ด ความเร็วในระดับนี้ช่วยให้นักบินขับไล่โจมตีภาคพื้นดินได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างอากาศยานและเครื่องยนต์ในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน

ใครจะรู้บ้างว่าการบินเร็วกว่าเสียงทุกวันวันละหลายๆครั้งของนักบินขับไล่ยุคปัจจุบันนี้ เมื่อหกสิบกว่าปีก่อนต้องสังเวยทั้งชีวิตนักบินและเครื่องบินไปหลายเครื่องให้กับสิ่งเดียวที่ไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้ แต่ร้ายกาจจนบางครั้งถูกเรียกว่าเป็นภูตผีปีศาจ มีนามว่า"กำแพงเสียง"?