วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นั่งL39ไปดูการฝึกใช้อาวุธ!(จบ)



ล้อเครื่องบินL39หมายเลข40101เครื่องของผมแตะสนามบินฐานทัพอากาศตาคลีบ้านของมันเมื่อเวลา11.45. เป็นอันจบภารกิจการบินฝึกช่วงเช้า ถึงภารกิจของฝูง401จะจบลงในวันนั้นก่อนจะเริ่มขึ้นเหมือนเดิมในวันถัดไป ภารกิจใหม่ของผมในฐานะนักเขียนก็กำลังจะเริ่มขึ้น กองทัพอากาศต้องการให้ผมนำเรื่องการฝึกใช้อาวุธมาเล่าให้แฟนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ฟังด้วยภาษาง่ายๆ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจกิจการของกองทัพ ตรงนี้อยากให้เข้าใจสักนิดว่าการ"ประชาสัมพันธ์"นั้นแตกต่างจากการ"โฆษณาชวนเชื่อ"

การประชาสัมพันธ์หรือ"public relation"ที่เราเรียกย่อๆว่า"พีอาร์" หมายถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับ"ประชา" ด้วยการให้ข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง อะไรเกิดขึ้นจริงก็เล่าไปตามนั้นด้วยกลวิธีต่างๆให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ทำประชาสัมพันธ์กระทำอยู่ ถ้าการให้ข้อมูลบิดเบือนไปในทางดีอย่างเหนือธรรมชาติไร้เหตุผล เราเรียกกิจกรรมนั้นว่าการโฆษณาชวนเชื่อหรือ"propaganda" เพื่อให้ผู้รับสารเชื่อและถูกกำหนดพฤติกรรมให้ดำเนินไปตามที่ผู้โฆณาชวนเชื่อต้องการ เช่นการโฆษณาชวนเชื่อของพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่2 ถ้ากองทัพอากาศต้องการโฆษณาชวนเชื่อจริงก็คงทำได้เองโดยไม่ต้องใช้ผม ถึงจะใช้กันจริงๆผมก็คงไม่ทำ แต่เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ผมจึงยินดีและทางกองทัพอากาศเองก็ไม่ได้เข้ามาวุ่นวายก้าวก่ายกับเนื้อหาในบทความที่เพิ่งผ่านไปทั้งสามตอน แสดงให้เห็นว่ากองทัพยุคปัจจุบันค่อนข้างเปิดกว้างด้านความคิด โดยเฉพาะความคิดที่มาจากประชาชน

L39ในกองทัพอากาศไทยเป็นเครื่องบินฝึก/โจมตีเบาที่นำเข้าประจำการมาได้15ปี ถ้าเป็นรถยนต์มันก็น่าจะถูกขายเป็นมือสองไปได้ตั้งแต่5 ปีที่แล้ว แต่เพราะเป็นเคร่ื่องบินที่ถูกออกแบบให้ทนกว่านั้น อายุการใช้งานของเครื่องบินรุ่นนี้เหลือจึงยังเหลืออีก10กว่าปีเศษๆก่อนปลดประจำการ และปีหน้าก็จะเข้ารับการซ่อมใหญ่เพื่อคงความพร้อมรบและปลอดภัยตามวงรอบปกติ ถึงจะไม่ใช่เครื่องบินอเมริกันแต่เป็นเครื่องบินของเช็คซึ่งเป็นยุโรปตะวันออก คุณภาพของอัลบาทรอสก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าฮอว์คหรือเครื่องบินอื่นๆที่สมรรถนะใกล้เคียงกันจากยุโรปตะวันตกหรืออเมริกา

มันขึ้นชื่อด้านความประหยัดน้ำมัน ซ่อมบำรุงง่ายหาอะไหล่ก็ง่าย แอโรโวโดโชดีผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ออกมาถึง2,800เครื่องและมีใช้ในกองทัพอากาศของ30ประเทศรวมทั้งไทย ถึงจะดูไม่ค่อยน่าประทับใจนักกับเครื่องเคราของแผงหน้าปัดในห้องนักบิน แต่ความน่าภูมิใจของกองทัพคือนักบินขับไล่ 300กว่านายทั้งที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในตอนนี้และจำนวนหนึ่งได้ก้าวขึ้นครองยศชั้นนายพล ต่างก็เคยฝึกกับอัลบาทรอสแบบเดียวกับที่ผมบินมาแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาต้องปลดประจำการตามวาระล่ะ เครื่องบินแบบไหนจะมาทดแทน? เรื่องนี้กองทัพอากาศคงตอบคำถามได้เองเมื่อถึงเวลาหลังจากวางแผนการจัดหากันอย่างรอบคอบแล้ว

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกวันนี้ เราต้องยอมรับว่าเครื่องบินรบเป็นของแพงเพราะมันประกอบขึ้นด้วยอุปกรณ์อันละเอียดอ่อนมากมาย ความละเอียดอ่อนนี้แทรกซึมอยู่ตั้งแต่ในเนื้อวัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องบินเอง จนถึงระบบคอมพิวเตอร์และอีเลคทรอนิคต่างๆที่จะทำให้เครื่องบินใช้งานได้ปลอดภัย เข้าสู้รบแล้วนำนักบินรอดกลับบ้านได้ เมื่อเทคโนโลยีเป็นของแพงและเราไม่ใช่เจ้าของ แต่จำเป็นต้องหามาใช้เพราะรอบบ้านเรายังสะสมกำลังรบอย่างต่อเนื่อง การจัดหาเครื่องบินรบทดแทนจึงเป็นประเด็นเรื่อยมาทั้งในสภาและเวทีสาธารณะ ที่คนทั่วไปต่างทำปากเบ้เมื่อได้ยินข่าวว่ากองทัพจะจัดหายุทโธปกรณ์มาทดแทน ด้วยความคิดว่าจะซื้ออาวุธไปทำไมกันในเมื่อรอบบ้านนี้ก็เพื่อนกันทั้งนั้น แต่ลองคิดดูให้ดีจะพบว่าถึงเป็นเพื่อนบ้านก็เถอะแต่ปัญหาก็พร้อมจะเกิดอยู่เสมอ มิฉะนั้นประเทศในกลุ่มอาเซียนคงไม่ต้องจัดประชุมประชาคมและความมั่นคงกันทุกปี

ประชุมกันไปทำไม? ก็ประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันหากเกิดความขัดแย้ง ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นมาก็ต้องประชุมกันที่โต๊ะก่อน แต่ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็ต้องลุย เรื่องจะให้ผิดใจกันระหว่างประเทศนั้นมีมาก ไม่ว่าจะเรื่องเขตแดน ชนกลุ่มน้อย โบราณสถาน แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและเรื่องอื่นๆอีกที่จะเกิดในอนาคต ลองนึกดูเถิดว่าถ้าเราอ่อนแอที่สุดแล้วใครเขาจะเกรงใจ ขนาดเพื่อนบ้านบางประเทศที่ด้อยกว่าเราทุกด้านยังทำกำแหงยั่วยุอยู่ได้ทุกวันตามชายแดน ถ้าวันหนึ่งเขามีกำลังเหนือกว่าขึ้นมาเขาคงไม่เห็นหัวเราแน่ เรื่องการเคลื่อนกำลังเข้ายึดประเทศอย่างสมัยสงครามโลกครั้งที่2นั้นไม่เกิดอยู่แล้ว แต่ชีวิตไทยอีกกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสียจากความอ่อนแอของกองทัพที่รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญ?

เพราะบทความตอนนี้กล่าวถึงกองทัพอากาศ จึงต้องกลับมาเน้นที่ความจริงของเหล่าทัพนี้ว่าเป็นหน่วยงานที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพง ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้งเสียแล้วการจ่ายแพงจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเคยสร้างเครื่องบินรบได้ดีและมากเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่2แต่หลังจากนั้นการพัฒนาก็ขาดตอน เมื่อแทนที่ด้วยการให้เปล่าและขายราคาถูกให้ในโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหาร เพราะเครื่องบินแต่ละแบบที่ได้มามีอายุการใช้งานถึง20-30ปี ประกอบกับการเมืองไม่นิ่งมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง และรัฐบาลแต่ละชุดก็บริหารเพื่อตนเองและพวกพ้อง ผลประโยชน์ของชาติโดยเฉพาะด้านการพัฒนาอากาศยานจึงขาดการเอาใจใส่ เรามีเครื่องบินขับไล่เจ็ตF84ล็อตแรกจากโครงการความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯเมื่อพ..2499 จากนั้นคือF86จากความช่วยเหลือเช่นกัน

เมื่อสงครามเย็นทวีความเข้มข้นขึ้นF5AและBก็ตามมาแบบให้เปล่า ถึงเราจะจ่ายเองกับF5EและFก็ไม่แพงจนน่าตกใจเพราะอเมริกาขายให้ในราคามิตรภาพส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือเทคโนโลยีของอากาศยานยังไม่ก้าวกระโดดเหมือนเช่นปัจจุบัน ในเครื่องบินรุ่่่นดังกล่าวนักบินยังต้องบินด้วยแรงตนเองไม่มีระบบดิจิตอลช่วยผ่อนแรง ยังติดต่อกันด้วยวิทยุทั้งกับในฝูงและกับภาคพื้นดิน แตกต่างจากเครื่องบินยุคปัจจุบันที่นักบินแทบไม่ต้องพูด ทดแทนภาระทุกอย่างได้ด้วยระบบอีเลคทรอนิคและจอแสดงผลดิจิตอล แต่ก็ต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่เท่าเทียม

ถ้าโตโยต้า โคโรลลาเมื่อ20 กว่าปีก่อนราคาสามสี่แสน โตโยต้ารุ่นเดียวกันก็ราคาเกือบล้านในปีนี้แต่ลูกค้าจะได้ทั้งเบาะลมนิรภัย,ระบบเบรกเอบีเอส,ใช้แกสโซฮอล์ได้ รวมทั้งได้ระบบนำทางจีพีเอส ซ้ำยังหาอะไหล่ได้ง่ายกว่าโคโรลลารุ่นเก่าซึ่งโรงงานเลิกผลิตไปแล้ว เครื่องบินรบก็ไม่แตกต่าง เราจ่ายแพงเพื่อซื้อเทคโนโลยี นักบินของเราจะได้ปลอดภัยขึ้นเมื่อปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบินที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพร้อมมูล

เราได้F16AและBมาด้วยการซื้อจริงๆตั้งแต่พ..2531 ด้วยราคาค่อนข้างสูง หลายฝ่ายโจมตีกองทัพในตอนนั้นว่าซื้อของแพง ทั้งที่ความจริงแล้วF16บล็อกแรกๆจากบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ของเราถูกออกแบบให้เป็นเครื่องบินรบราคาถูก ซ่อมบำรุงง่าย ขึ้นชื่อเรื่องการทำยุทธเวหาติดพันแบบด็อกไฟต์ว่าเครื่องบินอื่นกินมันได้ยาก แม้แต่F15และF18ก็ถูกF16ยิงตก(สมมุติ)มาแล้วในการซ้อมรบ จะอัพเกรดให้ใช้อาวุธวิเศษพิสดารอะไรในอนาคตก็ได้(ถ้ามีเงิน) มันเป็นกำลังหลักของกองทัพอากาศสหรัฐฯด้วยจำนวน50เปอร์เซ็นต์จากเครื่องบินขับไล่ทั้งหมดที่ประจำการ เราใช้F16คุ้มเกินคุ้มโดยไม่ได้แสวงหาเครื่องบินรบใหม่มาเพิ่มนอกจากทดแทนของเก่าที่ทยอยปลดประจำการ ด้วยอายุขัยของมันF16จึงน่าจะอยู่รับใช้ชาติได้อีกไม่เกิน10ปีปลายๆก่อนปลดประจำการ

เงินหลายหมื่นล้านแลกกับเครื่องบินขับไล่แบบเอนกประสงค์สักฝูง เพื่อป้องปรามภัยคุกคามและปกป้องอธิิปไตยของชาติเราเมื่อถูกละเมิดนั้นคุ้มหรือไม่? ผมตอบได้ว่าคุ้มเพราะเราใช้เครืื่องบินกันเกินอายุของมันทุกแบบ ตัวอย่างชัดๆตอนนี้คือF 5ที่สุราษฎรณ์ธานีซึ่งครบอายุใช้งานแล้วแต่ยังปลดไม่ได้ ต้องยืดอายุการใช้งานออกไปอีกถ้าJAS39กริปเปนยังมาไม่ครบฝูง ถ้าอายุของเครื่องบินคือ30ปีเต็มเหยียด เงินนับหมื่นล้านที่เราจ่ายจะไม่แพงเลยหากเอามาแตกเป็นปี เป็นเดือน เป็นวัน แยกไปตามเครื่องบินแต่ละเครื่อง

เราได้ความอุ่นใจว่าจะไม่มีใครกล้าละเมิดอธิปไตยของชาติง่ายๆ เพราะกำลังทางอากาศคือปัจจัยสำคัญในการทำสงครามสมัยใหม่ เป็นกำลังรบที่พึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงก็จริงแต่ใช้ชีวิตคนไปเสี่ยงน้อยที่สุด มีอำนาจทะลุทะลวงสูงสุด แค่ได้ยินเสียงแผดลั่นของเครื่องยนต์เจ็ตทหารราบฝ่ายตรงข้ามก็แทบจะหยุดความเคลื่อนไหว เพราะไม่รู้ว่าเม่ื่อไรจะถูกถล่มจากเบื้องบน

การจะตัดสินใครหรือหน่วยงานไหนว่าเป็นอย่างไรนั้น การมองดูแต่ผิวเผินแล้วชี้ลงไปว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ทำให้เกิดผลดีโดยเฉพาะถ้าคนมองต้องนำข้อมูลมาเผย ผมเองก็เคยมองกองทัพว่าขยันซื้อแต่เครื่องบิน ไม่รู้ว่าจะไปรบกับใครทั้งที่รอบๆนี่ก็เพื่อนบ้านทั้งนั้น แต่พอได้ศึกษาเรื่องความเป็นมาของอากาศยานและกลไกรายละเอียดของมัน ได้เข้าใจเรื่องการจัดหาทดแทนและการใช้งบประมาณอย่างจำกัด รวมทั้งได้สัมผัสกับเครื่องบินรบ2แบบอย่างใกล้ชิดในเวลาห่างกัน5ปี ผมเข้าใจมากกว่าเดิมในความหมายของคำว่า"กำลังทางอากาศ" ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน่วยรบอื่น

มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันในชายแดนหลายครั้งที่ไม่บานปลายเพียงเพราะเราเอาF16บินขึ้น เราได้ใช้C-130บินเร่งด่วนไปขนคนไทยลี้ภัยจากกัมพูชาช่วงเกิดวิกฤติ F5ที่ประจำการมานานมีบทบาทในการสนับสนุนการรบภาคพื้นดินหลายครั้งในอดีต ยังไม่รวมเครื่องบินรบแบบอื่นๆอีกที่ได้ปฏิบัติภารกิจทั้งลับและเปิดเผยเพื่อให้ชาวไทยได้อยู่เย็นเป็นสุข

การได้รู้จักกับกับL39และนักบินของมันทำให้ผมเข้าใจว่านี่คือแนวทางที่ถูก การเอาเครื่องบินค่าใช้จ่ายตำ่มาฝึกนักบินก่อนจะเป็นนักบินพร้อมรบในเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์หลักนั้นถือว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ด้วยค่าใช้จ่ายถูกกว่าF16เป็นครึ่งไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิงหรือค่าซ่อมบำรุง เครื่องบินแบบนี้ช่วยชาติให้ประหยัดงบประมาณได้ ซึ่งดีกว่าจะให้นักบินฝึกบินกับF16กันทีเดียวซึ่งแพงกว่าทั้งราคาตัวเครื่อง เชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุง

ระหว่างนี้แม้ว่ากองทัพอากาศต้องวางแผนจัดหาเครื่องบินรุ่นอื่นทดแทนF16ที่อยู่ได้อีกสิบกว่าปี แต่ปัญหาเร่งด่วนคือกริปเปนที่ต้องมาให้ครบ12เครื่องซึ่งจะต้องผลักดันกันอีกครั้งในปีงบประมาณหน้า จะได้ตามที่ขอหรือเปล่านั้นไม่มีใครรู้เพราะบรรยากาศทางการเมืองยังอึมครึม รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ที่เป็นปัจจัยหลักมากำหนดการซื้อยุทโธปกรณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้อง ถ้าปีหน้ากริปเปนอีก6 เครื่องผ่านจริงกว่าจะได้ของก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปี แต่ถ้าไม่ผ่านและไม่ผ่านอีกล่ะจะใช้เวลาอีกกี่ปี? รวมกับปัญหาการยืดอายุF5ซึ่งถึงเวลาปลดประจำการแล้วออกไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นกับชีวิตนักบินผู้เป็นทรัพยากรอันประมาณค่ามิได้ ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกห่วงใยและหนักใจของผมหลังจากบินกับL39

เรื่องราวการฝึกใช้อาวุธของนักบินรบช่วงหนึ่งที่ผมได้สัมผัสมาอย่างใกล้ชิดคงมีเพียงเท่านี้ ผมได้รู้และเข้าใจระเบียบปฏิบัติและการทำงานของเหล่าทัพนี้ขึ้นมากและรู้สึกดีที่ได้เขียนถึง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแฟนมติชนจะเข้าใจมากกว่าเดิมถึงภารกิจของนักบินรบ ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้ร่วมปฏิบัติภารกิจเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่านักบินผู้เสียสละแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ อีกความคิดหนึ่งคือเข้าใจแล้วว่าคำพูดว่า"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์"ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่หยิบยกมาอ้างเพื่อให้การซื้ออาวุธเป็นเรื่องชอบธรรมอีกต่อไป แต่เป็นคำพูดที่คลาสสิกและใช้ได้เสมอตราบใดที่เราต้องการให้รั้วบ้านแข็งแกร่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น