วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

กองทัพกับปืนเล็กยาว


ทหารกับปืนเล็กยาวคือองค์ประกอบของหน่วยรบที่แยกกันไม่ออก ทั้งทหารและปืนเล็กจะขาดจากกันไม่ได้ในการสู้รบนับแต่มนุษย์คิดค้นปืนและกระสุนสำเร็จ ในอดีตปืนเล็กยาวแทบจะมีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกันหมด เริ่มตั้งแต่ปืนคาบศิลาที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆคือลำกล้อง โครงปืน นกสับแก็ป เรือนเครื่องลั่นไกและพานท้าย แม้กาลเวลาจะล่วงเลยจากยุคปืนคาบศิลามาเป็นร้อยปี ถึงมีการนำกล้องเล็งขยายมาประกอบปืนก็ยังประกอบด้วยส่วนประกอบหลักๆดังกล่าว มันยังคงเป็นอาวุธใช้ยิงกระสุนขนาดเล็กจากลำกล้องเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปประกอบอาวุธอื่นที่ใหญ่หรือพิสดารกว่าได้ ทหารราบทั่วโลกจึงถูกฝึกให้ใช้ปืนเล็กยาวด้วยท่าทางเหมือนกัน เพราะรูปร่างของปืนไม่ต่างกันการจับถือและเล็งจึงไม่ต่างกันไม่ว่าผู้ใช้ปืนจะเป็นใคร
เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 เพราะกองทัพชาติต่างๆต้องเร่งผลิตอาวุธที่ดีกว่าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบคู่สงคราม ปืนเล็กยาวจึงถูกพัฒนาตามแนวความคิดของแต่ละชาติให้มีรูปร่างหน้าตาและระบบการทำงานแตกต่างกันแบบคนละเรื่อง กองทัพเยอรมันเคยมีปืนเล็กยาวKAR 98Kของเมาเซอร์เป็นอาวุธประจำกายทหารมาตั้งแต่ปีค.ศ.1935 เรื่อยมาจนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่2โดยมีMP40”ชไมเซอร์”เป็นปืนกลมือสำหรับการรบระยะประชิด
ครั้นถึงปีปลายค.ศ.1944ด้วยความรีบเร่งทั้งเพื่อทำสงครามและผลิตอาวุธ รูปแบบของปืนเล็กยาวของเยอรมันจึงเปลี่ยนไป จากปืนเล็กยาว(rifle)ธรรมดาที่สร้างด้วยเหล็กกับไม้คัดปลอกด้วยการดึงคันรั้งลูกเลื่อน กลายมาเป็นปืนเล็กยาวจู่โจม(assault rifle)ที่สร้างจากเหล็กปั๊มขึ้นรูป,พลาสติกเหลือแต่พานท้ายปืนที่ยังเป็นไม้ เลือกระบบการทำงานให้ยิงได้ทั้งทีละนัดและยิงชุดได้เหมือนปืนกล แต่ยังคงคุณสมบัติเหมือนปืนเล็กยาวดั้งเดิมคือเป็นอาวุธประจำกายทหารราบ ต้องประทับบ่าเล็งศูนย์แล้วยิง STG44ของกองทัพเยอรมันคือปืนเล็กยาวแบบใหม่ที่ปฏิวัติทั้งกรรมวิธีการผลิตระบบการทำงานและรูปร่าง
STG44ใช้ซองกระสุนโค้ง(ที่ถูกเรียกกันทั่วไปว่าแม็กฯกล้วย) มีอุปกรณ์จับถือเพิ่มขึ้นมาจากโครงปืนและพานท้ายคือด้ามจับ(grip)แบบเดียวกับปืนพก ทหารที่เคยฝึกการเล็งยิงด้วยปืนเล็กยาวมาตรฐานแบบไม่มีด้ามก็ต้องปรับตัวมาฝึกให้คุ้นเคยกับปืนแบบมีด้ามหลังโกร่งไกอย่างSTG44 ไม่เพียงเท่านั้นกองทัพยังต้องรับมือกับความใหม่ทั้งด้านขนาดของกระสุน การฝึกท่าบุคคลประกอบอาวุธและอุปกรณ์อะไหล่ต่างๆที่ใช้กับปืนใหม่
สหรัฐฯที่กำลังรบกับเยอรมันอยู่ก็ปรับเปลี่ยนเช่นกัน ด้วยการนำปืนกลธอมป์สันเข้าประจำการตั้งแต่ปีค.ศ.1938และใช้ในสงครามโลกครั้งที่2ควบคู่กับปืนเล็กยาวมาตรฐานM1”กาแรนด์” ด้วยกระสุนคนละขนาดกับM1หน่วยทหารที่ใช้ธอมป์สันต้องถูกฝึกด้วยปืนชนิดนี้มาตั้งแต่แรก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีเวลาได้ทำความคุ้นเคยกับปืนใหม่จนใช้ได้คล่องแคล่วเสียก่อนจึงจะถูกส่งออกแนวรบ เพราะปืนเล็กยาวก็เหมือนกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ต้องอาศัยความชำนาญในการใช้งาน
ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อมันตัดสินความเป็นความตายของผู้ใช้งานได้ ไม่ผิดเลยหากจะอ้างคำขวัญของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯที่ว่า”Without me my rifle is useless,without my rifle I’m useless” เพราะในยามคับขันหากมีแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแค่อย่างเดียวสถานการณ์ก็ดูจะย่ำแย่จริงๆ ทหารที่ใช้ปืนไม่คล่องจึงแทบไม่ต่างเลยจากไม่มีปืน
อาวุธประจำกายทหารเริ่มหลากหลายเมื่อกองทัพรับภารกิจมากขึ้น แม้แต่บางหน่วยงานพลเรือนอย่างตำรวจและหน่วยอารักขาก็ต้องใช้อาวุธร้ายแรงขึ้น รูปแบบของปืนจึงเปลี่ยนแปลงตาม แต่เดิมที่ไม่ค่อยคำนึงถึงสรีระของคนใช้งานและภารกิจก็เปลี่ยนมาคำนึงมากขึ้น ส่งผลให้รูปร่างของปืนเปลี่ยนไปนอกจากรูปแบบการทำงาน ปืนกลมือP90ของบริษัทฟาบรีค นาซิอ็องนาเล(FN)จากเบลเยียม มีรูปร่างและกลไกไม่เหมือนปืนกลมือแบบไหนๆที่มนุษย์เคยใช้ ทั้งโครงปืนผลิตจากโพลิเมอร์รวมถึงซองกระสุนพลาสติกใสเพื่อมองเห็นจำนวนกระสุน
ที่แปลกกว่าใครคือมันเรียงกระสุนในซองตั้งฉากกับทิศทางการยิง มีกลไกท้ายปืนเท่านั้นที่บิดตัวกระสุนให้หันหัวออกลำกล้อง ยิ่งกว่านั้นคือวางซองกระสุนไว้บนตัวปืนใต้ศูนย์เล็ง แทนที่ทหารจะดึงซองกระสุนออกทางด้านล่างหน้าโกร่งไกก็ต้องเปลี่ยนวิธีเปลี่ยนซองกระสุนใหม่ การจับปืนชนิดนี้ยิงเลยโดยไม่ฝึกฝนให้คล่องก่อนจึงเป็นอันตรายมากระหว่างคับขันหรือรบติดพัน ที่เวลาทุกวินาทีมีความหมายถึงชีวิต
รูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไป จากสงครามเต็มรูปแบบอย่างสงครามโลกครั้งที่2มาเป็นสงครามในเมืองทำให้นักออกแบบปืนเล็กต้องพัฒนาแนวความคิดของตนให้สอดคล้องกัน จากเดิมที่เคยใช้ปืนเล็กยาวลำกล้องยาวมีพานท้ายเต็ม กลายมาเป็นปืนเล็กยาวลำกล้องสั้นลงและพานท้ายปรับระยะได้ เห็นชัดๆคือปืนคาร์บีนในตระกูลM16คือM4ที่มีรูปร่างหน้าตาและกลไกแทบจะเหมือนM16ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ปรับปรุงการทำงานภายในให้ดีกว่า ลดข้อบกพร่องที่เคยพบในM16ลงได้มากรวมทั้งมีคุณสมบัติแบบนักรบในเมืองต้องการคือปรับความยาวของพานท้ายได้
แต่ดูเหมือนว่าความคล่องตัวของพานท้ายปรับได้จะยังไม่น่าพอใจ ปืนเล็กแบบบูลพัป(Bullpup)จึงเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้เพิ่มความคล่องตัวกับทหารยามเคลื่อนย้ายกำลังด้วยรถยนต์และรบในเมือง ด้วยการคงความยาวลำกล้องขนาดเดียวกับปืนเล็กยาวไว้ แต่เลื่อนตำแหน่งเรือนเครื่องลั่นไกและซองกระสุนมาไว้หลังด้ามปืนและโกร่งไก ด้วยวิธีความยาวลำกล้องปืนจึงเท่าเดิมแต่ความยาวโดยรวมของปืนลดลง ช่วยให้คล่องตัวเมื่อเคลื่อนย้ายด้วยพาหนะ ใช้งานได้ดีในบริเวณจำกัดเช่นการรบในเมือง ซ้ำยังควบคุมทิศทางยิงได้ง่ายเพราะแรงรีคอยล์ต่ำจากการวางตำแหน่งลำกล้อง
ตัวอย่างชัดเจนของบูลพัปคือสไตเออร์AUGของออสเตรีย,ทาวอร์-ทาร์21ของอิสราเอล เอาปืนเล็กยาวจู่โจมสองแบบนี้มาวางเทียบกับM4แล้วจะพบว่ารูปร่างของมันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสไตเออร์และทาวอร์ดูเหมือนปืนอวกาศในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส มีส่วนประกอบปืนส่วนใหญ่เป็นโพลิเมอร์(พลาสติกเกรดสูง) โผล่แค่ลำกล้องโลหะให้เห็นเท่านั้น ต่างไปจากM4ที่เป็นปืนจากแนวความคิดแบบดั้งเดิมซึ่งดูจะใช้งานในสนามรบจริงๆได้ดีกว่า
การเปลี่ยนปืนจึงเป็นเรื่องใหญ่ของกองทัพ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบหรือเปลี่ยนทั้งแบบและรูปร่าง เนื่องจากการเปลี่ยนอาวุธประจำกายแต่ละครั้งไม่ได้มีปัญหาแค่ที่ตัวทหาร แต่ยังกระทบกระเทือนถึงงบประมาณ การส่งกำลังบำรุง อะไหล่และปัญหาอื่นๆที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง
เมื่อต้นทศวรรษ2000กองทัพสหรัฐฯเคยมีโครงการจัดหาปืนเล็กยาวแบบใหม่คือXM8 เพื่อทดแทนปืนตระกูลM16 ทั้งที่XM8เป็นปืนที่ดี เบาด้วยส่วนประกอบโพลิเมอร์ แม่นยำด้วยแรงรีคอยล์ต่ำจนยิงได้หมดซองกระสุนด้วยมือข้างเดียว ดีกว่าตระกูลM16ของโคลต์ ดีเฟนซ์ทุกอย่าง แต่ในที่สุดโครงการXM8ก็ต้องพับไปในปีค.ศ.2005เพราะใช้ชิ้นส่วนทดแทนไม่ได้กับปืนตระกูลM16ที่มีทั้งM16(A1ถึงA4)และM4 อันเป็นอาวุธประจำกายหลักของกองทัพสหรัฐฯและกองทัพของอีก80ประเทศทั่วโลก
HK416จากค่ายเฮคเลอร์อุนด์โค้ค(H&K) คือปืนอีกแบบที่จะเข้ามาแทนปืนตระกูลM16นั้นค่อนข้างจะไปได้สวย ด้วยคุณสมบัติความทนทานเทียบเคียงได้กับปืนตระกูลอาก้า ใช้กลไกช่วงบนทดแทนได้กับปืนตระกูลM16แต่ปัญหาคือราคามันแพงเกินไปหากจะเปลี่ยนกันทั้งหมด
ใครที่เคยสัมผัสกับM16หรือM4ของโคลต์มาแล้วจะพบว่ามันเป็นปืนของทหาร”ในกองทัพ”จริงๆ ดูแลกันให้”ถึง”เถิดแล้วจะไม่มีปัญหา ในคู่มือยังบอกไว้ด้วยว่าสำหรับ”highly trained doldiers”หรือ”สำหรับทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดีเท่านั้น ซึ่งคำว่า”ฝึกมาอย่างดี”ยังกินความหมายรวมถึงการดูแลรักษาอาวุธประจำกาย ให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลาและทุกสถานการณ์ ต่างจากปืนของค่ายโซเวียตที่เน้นการใช้งานของกองกำลังจรยุทธที่ไม่ต้องดูแลกันมาก ปืนตระกูลอาก้านั้นแทบไม่ต้องหยอดน้ำมันเลยเป็นปีก็ยังยิงได้ดีเฉย
การเปลี่ยนอาวุธประจำกายทหารราบจึงเป็นปัญหาใหญ่ ว่ากันตั้งแต่หน่วยทหารที่ใช้อาวุธซึ่งหากฝึกด้วยปืนแบบหนึ่งมาจนขึ้นใจแล้วอาจขลุกขลักสักระยะหนึ่ง เป็นปัญหาสำหรับทหารประจำการที่คุ้นเคยระบบอาวุธเดิม แต่จะไม่เป็นปัญหาสำหรับทหารเกณฑ์ที่จะใช้อาวุธใหม่มาตั้งแต่ต้น ปัญหายังรวมถึงด้านเทคนิคการดูแลและซ่อม แม้อิสราเอลจะผลิตปืนทาวอร์ส่งออกกองทัพของประเทศนี้ยังคงใช้M4ของโคลต์อยู่ แล้วทยอยปรับเปลี่ยนโดยไม่ยกเลิกการใช้งานทั้งหมดด้วยเหตุผลข้างต้น
ถ้ากองทัพของเรายังต้องใช้ปืนตระกูลM16ของโคลต์เป็นหลัก(เว้นแต่บางส่วนของหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วที่ใช้ทาวอร์) และด้วยงบประมาณอันจำกัด การเปลี่ยนอาวุธใหม่ทั้งหมดคงไม่ใช่ทางออกที่ดี เว้นแต่จะให้ความสำคัญกับเทคนิคการบำรุงรักษาและเน้นให้ทหารฝังใจ ว่าปืนคือชีวิตและต้องดูแลมันเหมือนอวัยวะสำคัญที่พวกเขาจะพึ่งพาได้ยามคับขัน!

2 ความคิดเห็น:

  1. แวะมาทักทายจ้า
    อิอิ

    ตอบลบ
  2. ติดตามผลงานพี่โตครับ17 เมษายน 2552 เวลา 09:18

    อ่านสนุกมากครับ แต่ขอเสนอว่าถ้ามีรูปปืนมาให้ดูด้วยก็จะดีมาก แม้ว่าตอนลงที่มติชนสุดสัปดาห์จะไม่มีรูป แต่ถ้าทำ blog ใส่รูปด้วยก็น่าจะเพิ่มสีสันให้ blog นะครับ

    ตอบลบ