วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

มาคารอฟ อาวุธอนุสรณ์สงครามเย็น


ไม่มีครั้งใดในโลกที่การช่วงชิงอำนาจเป็นไปอย่างดุเดือดแบ่งฝ่ายกันชัดเจนเท่าสงครามเย็น ตั้งแต่หลังสงครามโลกในทศวรรษที่1950จนถึงช่วงโซเวียตล่มสลายต้นทศวรรษ1990 ระหว่างนี้มีเรื่องให้จดจำมากมาย มีสิ่งของหลายสิ่งที่เตือนให้นึกถึง”สงครามเย็น”หลังมันจบสิ้นลง หนึ่งในนั้นคือยุทธภัณฑ์แบบหนึ่งที่เคยเป็นปืนพกมาตรฐานของกองทัพโซเวียต มาคารอฟ หรือปิสโตล มาคาโรวาในภาษารัสเซียนตามชื่อผู้ออกแบบคือนิโคไล ฟีโอโดโรวิช มาคารอฟ ตามธรรมเนียมของรัสเซียที่มักตั้งชื่ออาวุธเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้นออกแบบ
ถึงจะเป็นปืนยอดนิยมพอๆกับโคลต์M1911ขนาด11ม.ม.ของสหรัฐและวัลเธอร์ พีพีเคของเยอรมัน แต่มันมาทีหลังสองกระบอกดังกล่าว เป็นผลจากการชนะการออกแบบเพื่อทดแทนปืนพกกึ่งอัตโนมัติเดิมคือโทคาเรฟ TT-33ใช้กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง7.62X25ม.ม.โทคาเรฟ(หน้าตัดเท่ากระสุนอาก้าแต่สั้นกว่า) นิโคไล มาคารอฟตัดสินใจเปลี่ยนหน้าตัดกระสุนให้เท่าเทียมค่ายตะวันตกช่วงนั้นที่ใช้กระสุน9ม.ม. กระสุนใหม่ของมาคารอฟจึงเป็น9X18มม.มาคารอฟ สำหรับปืนพกรุ่นนี้เท่านั้น
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้และบำรุงรักษาจึงออกแบบให้ยิงด้วยระบบโบลว์แบ็ค มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่น้อย ถึงจะประกาศว่าใช้กระสุน9ม.ม.แต่พอวัดจริงๆแล้วกลับใหญ่ถึง9.25ม.ม. จึงไม่สามารถยัดลงรังเพลิงของปืนพก9ม.ม.พาราเบลลัมของค่ายตะวันตกได้ และ9ม.ม.พาราฯยังยาวกว่า9มาคารอฟถึง1ม.ม. เผื่อไว้ว่าหากทหารโซเวียตมีอันต้องปะทะกับนาโต ทหารฝ่ายนาโตจะได้ไม่เอาลูกกระสุนไปใช้หากทหารฝ่ายตนเสียชีวิตหรือคลังกระสุนถูกยึด แต่ในรุ่นหลังๆได้ออกแบบให้ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวของนาโต(คงจะเพิ่งรู้ว่าตัวเองก็มีสิทธิ์ยึดคลังกระสุนของนาโตได้เหมือนกัน!)
จุดเด่นที่ทำให้มาคารอฟถูกเลือกเข้าประจำการในปี1951ก็เช่นเดียวกับอาวุธทั่วไปของค่ายนี้ มันประกอบด้วยชิ้นส่วนน้อยชิ้น ราคาถูก ผลิตได้ทีละมากๆตามหลักนิยมของโซเวียตตั้งแต่ยุคสตาลิน ที่ยึดมั่นกับหลักการ”ปริมาณคือคุณภาพในตัวเอง” เห็นได้จากสุดยอดรถถังT-34สมัยสงครามโลกครั้งที่2และปืนอาก้า(AK-47)หลังจากนั้น แต่จุดเด่นของมาคารอฟมีมากกว่าแค่ราคาถูกและผลิตได้ปริมาณมาก อานุภาพในการหยุดยั้งเป้าหมายของมันยังสมเหตุสมผลอีกด้วย นับว่าใช่เลยสำหรับปืนพกมิติขนาดนี้ ด้วยขนาดที่เล็กพอพกซุกซ่อนได้แต่กระสุนหน้าตัด9ม.ม.เท่ากับวัลเธอร์P-38และบราวนิ่ง มันจึงติดทำเนียบปืนพกของสายลับได้ไม่ยาก ขึ้นชั้นเดียวกับวัลเธอร์-พีพีเคของเยอรมัน(อดีตอาวุธคู่กาย007ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้P99ของวัลเธอร์เช่นกัน)
ดังที่แจงไว้ว่ามาคารอฟทำงานด้วยระบบโบลว์แบ็ค แต่โบลว์แบ็คของมันไม่ซับซ้อนเลยด้วยเข็มแทงชนวนลอยตัว ไม่มีสปริงหรือบล็อกเข็มแทงชนวนเหมือนปืนค่ายตะวันตก ข้อเสียคือเมื่อไม่มีสปริงแล้วตกพื้นแรงไปนิดอาจลั่นได้ ตรงนี้มาคารอฟให้เหตุผลว่าลั่นได้ก็ลั่นไปอยากให้ผลิตง่ายและมากเข้าไว้ก่อน ทหารเองอย่าทำตกพื้นเสียก็สิ้นเรื่อง แต่มาคารอฟเวอร์ชั่นผลิตในบัลกาเรียกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องส่งไปขายในสหรัฐ(หลังสงครามเย็นจบและโซเวียตล่มสลาย) กฎหมายของบางรัฐโดยเฉพาะแคลิฟอร์เนียระบุไว้ว่าปืนพกต้องผ่านการทดสอบร่วงหล่นด้วยเพื่อความปลอดภัย หมายความว่าปืนต้องหล่นแล้วไม่ลั่นจึงยอมให้นำเข้าได้
ดูจากไกปืนก็น่าจะทราบโดยสังเขปว่ายิงได้สองระบบคือซิงเกิลแอคชั่น(SA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วเหนี่ยวไก คัดปลอกแล้วสไลด์ง้างนกให้เองพร้อมวิ่งกลับดันกระสุนเข้ารังเพลิงพร้อมยิงนัดต่อไป)กับดับเบิลแอคชั่น(DA : ดึงสไลด์ขึ้นลำแล้วลดนกเข้าเซฟ ก่อนยิงปลดเซฟแล้วเหนี่ยวไกง้างนก แล้วยิงนัดต่อไปแบบSA ) ในระบบSAนั้นปืนรุ่นนี้ตั้งไกไว้ค่อนข้างตื้น หลังปลดเซฟแล้วจึงยิงได้เร็วเท่าความคิดแล้วคัดปลอกทิ้งทางขวาของสไลด์ ทั้งที่ใช้กระสุน9ม.ม.คล้ายปืนดังๆของค่ายตะวันตกอย่างเบเรตตาและบราวนิ่งซึ่งยัดลูกลงแมกาซีนได้ทีละ10กว่านัด แต่มาคารอฟกลับไม่ลูกดก แม็กของมันจุลูกได้แค่8นัดแถวเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ด้ามปืนโป่งเกินไปจนยากแก่การพกซุกซ่อน จุดเด่นอีกประการคือลำกล้องของมันติดตายกับโครงปืน ไม่ลอยเป็นอิสระและถอดออกไม่ได้ต่างจากปืนพกกึ่งอัตโนมัติร่วมสมัยจากค่ายตะวันตก เพื่อให้ง่ายต่อการผลิต เมื่อจะเปลี่ยนลำกล้องก็ไม่ต้องเสียดายเปลี่ยนทั้งกระบอกไปเลยเพราะราคาถูกอยู่แล้ว ยิ่งเรื่องความแม่นยำยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะเอามาดัดแปลงติดศูนย์เล็งจุดแดงหรือเรืองแสงยังไงก็คงช่วยเรื่องกลุ่มกระสุนไม่ได้ ในเมื่อมันถูกออกแบบเป็นปืนทหารและเพื่อราชการลับจริงๆ เพื่อยิงต่อสู้ระยะประชิดทั้งในอาคาร หรือในที่แจ้งเมื่อกระสุนอาวุธประจำกาย(ปืนเล็กยาว)หมด
เมื่อพูดถึงขนาดที่กล่าวว่าเป็นหนึ่งในปืนพกซุกซ่อน มาคารอฟเป็นปืนพกขนาดกลาง ใหญ่กว่า.22 เล็กกว่า9ม.ม.ลูกและ11ม.ม. ด้ามแบนกว่าเพราะจุกระสุนแถวเดียวทำให้ใส่ซองแนบลำตัว สะพายไหล่หรือใส่ซองเหน็บหลังก็ได้ เหมาะสำหรับหน่วยสืบราชการลับในค่ายโซเวียตและบริวาร มองผ่านๆคล้ายวัลเธอร์พีพีเคของเยอรมัน ด้วยการออกแบบให้โครงปืนและลำกล้องติดตายเป็นชิ้นเดียวกัน ลำกล้องมาคารอฟจึงไม่เคลื่อนไหวเหมือนปืนพกอัตโนมัติร่วมสมัยอย่างโคลต์11ม.ม.หรือซิกซาวเออร์9ม.ม. เวลาทำความสะอาดก็ถอดเพียงสไลด์และส่วนประกอบอื่นไม่กี่ชิ้น
หลังจากชนะการประกวดแบบและราคา ได้เข้าประจำการเมื่อปี1951 มันก็ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพโซเวียตและบริวารตลอดมา ด้วยเหตุที่ผลิตได้ถูกต้องตามหลักนิยมของโซเวียตคือชิ้นส่วนน้อยและปั๊มปืนออกมาได้มากแต่ละเดือน พอที่จะส่งไปใช้ในส่วนต่างๆของโซเวียตและประเทศอื่นๆที่สนับสนุนอยู่ จากอานุภาพกระสุน9ม.ม.อันหนักหน่วงเกินตัวและมิติอันเหมาะแก่การพกพา มาคารอฟจึงเป็นที่นิยมมากทั้งในโซเวียตและโลกตะวันตก จีนก็ได้ลิขสิทธิ์ไปผลิต แม้แต่ตำรวจของสาธารณรัฐเชค บัลกาเรีย โรเมเนียและเยอรมันตะวันออกก่อนรวมประเทศก็ใช้มันจนถึงปี1991จึงปลดประจำการ หลีกทางให้ปืนยารีกิน พียา(Yarygin PYa MP443 Grach)ที่ใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯแบบเดียวกับนาโตได้มากกว่าคือ10ถึง18นัดเข้ามาแทน
นักสะสมท่านใดก็ตามที่เพิ่งมีมาคารอฟ ข้อควรระวังของปืนแบบนี้คือเรื่องกระสุน ถึงในรุ่นหลังๆนี้จะใช้กระสุน9ม.ม.พาราฯเหมือนชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่ในรุ่นแรกๆยังใช้9ม.ม.เฉพาะมาคารอฟอยู่ จึงอาจทำให้สับสนได้ระหว่าง9X18ม.ม.มาคารอฟกับ.380ACP(Automatic Colt Pistol) หรือที่รู้กันว่าเป็น9X17ม.ม.บราวนิ่งสั้น,9ม.ม.สั้นหรือ9ม.ม.”คูร์ส”(Kurz ภาษาเยอรมันแปลว่า”สั้น”) แม้แต่9X19ม.ม.พาราฯที่ยาวกว่า1ม.ม.ก็ใช้กับมาคารอฟไม่ได้ แล้ว9X18ม.ม.โพลิศหรืออีกชื่อหนึ่งว่า9X18อัลตราที่ดูแต่ตัวหนังสือเหมือนจะเท่ากันทุกอย่างล่ะจะใช้ได้ไหม? ไม่ได้อีกเพราะกระสุน9ม.ม.”เฉพาะ”มาคารอฟ”นั้นเอาเข้าจริงๆก็วัดได้9.25ม.ม.ใหญ่กว่า9ม.ม.ทั่วไปเพียงแต่ไม่บอกว่าใหญ่กว่าเท่านั้น เหตุผลนี้น่าจะเป็นเพื่อหวังประโยชน์ยามสงครามมากกว่าอย่างอื่น
สำหรับปืนมาคารอฟแท้ๆจากโรงงาน กระสุนจึงต้องเป็น9X18ม.ม.มาคารอฟเท่านั้น ถึงปัจจุบันจะมีลำกล้องเปลี่ยนได้เพื่อให้รองรับทั้ง.380ACP
มาคารอฟแตกรุ่นออกไปอีกมากตามประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นและเคยเป็นบริวารของโซเวียต ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกสมัยสงครามเย็น ที่เด่นๆคือเยอรมนีตะวันออก,บัลกาเรีย,จีนและเยอรมนีหลังรวมชาติ โดยเฉพาะหลังเยอรมันรวมชาติได้มีมาคารอฟเดนสงครามเย็นทะลักออกสู่โลกภายนอกจำนวนมาก รุ่นที่รู้จักมากที่สุดในปัจจุบันและยังใช้งานอยู่บางประเทศแถบยุโรปตะวันออก คือมาคารอฟPMMที่ถูกปรับแบบใหม่ในปี1990 ให้ใช้กระสุนแรงขับดินปืนสูงกว่าเดิม เพิ่มความเร็วต้นกว่าเดิม25เปอร์เซ็นต์และใช้แมกาซีนจุ12นัด ใช้กระสุนของมาคารอฟเดิมได้ทั้งยังดัดแปลงเพิ่มอีกเล็กน้อยเช่นด้ามปืนบานออกให้จับถือง่ายขึ้น ออกแบบรังเพลิงใหม่ให้รับกระสุนง่ายและเร็ว
ปัจจุบันเมื่อไร้สหภาพโซเวียตเหลือแต่ประเทศรัสเซีย และเพื่อนบ้านแทนที่จะเป็นบริวารเหมือนเมื่อก่อน มาคารอฟกลายเป็นของสะสมหายากพอๆกับวัลเธอร์พี38ของเยอรมันและโคลต์M1911แท้ของสหรัฐ เป็นของที่มีไว้เพื่อเท่ประดับตู้สำหรับคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักสะสมต้องมีไว้ มาคารอฟแท้ๆต้องมาจากโซเวียตเท่านั้น แต่ถ้าหาไม่ได้จะผลิตในบัลกาเรียหรือจีนก็ไม่มีปัญหาเพราะอย่างไรมันก็คือมาคารอฟ
ด้วยเทคโนโลยีการสร้างปืนที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบัน ทั้งการใช้อัลลอยไร้สนิมและโพลิเมอร์มาสร้างโครงปืนและสไลด์ ทำให้ปืนพกสมัยใหม่ทรงประสิทธิภาพมากกว่ามาคารอฟ อุปกรณ์ประกอบทางยุทธวิธีอื่นๆเช่นศูนย์เลเซอร์,ไฟฉายติดปืน,ศูนย์เล็งจุดแดงทำให้ปืนพกยุคใหม่มีอานุภาพร้ายแรงขึ้น แม่นขึ้นกว่าเดิมสำหรับการสู้รบและปราบปรามอาชญากรรม แต่ในโลกมืดแห่งการจารกรรมที่ยังดำเนินอยู่นั้น ปืนพกซุกซ่อนที่พรางตัวได้เนียนและกลไกเชื่อถือยามคับขันได้ยังเป็นที่ต้องการ และนั่นคือที่อยู่ของปิสโตล มาคาโรวาหรือมาคารอฟ อีกหนึ่งสิ่งที่ย้ำเตือนให้นึกถึงความตึงเครียดของโลกครั้งสงครามเย็น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น