วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

ใช้หุ่นยนต์รบ ปลอดภัยกว่า


ท่ามกลางความขัดแย้งในหมู่มนุษยชาติที่เกิดมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะใช้ยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีอย่างไร จุดมุ่งหมายหลักของผู้เข้าสู้รบคือทำลายคู่ต่อสู้ให้ได้ในขณะที่ตัวเองยังคงความอยู่รอด ในยุคหินเราใช้หนังสัตว์หนาๆป้องกันตัว พอมาถึงยุคเหล็กเราสร้างเกราะและโล่เพื่อป้องกันคมหอกดาบ และยังใช้เกราะป้องกันตัวจนถึงปัจจุบันเพียงแต่เปลี่ยนจากเหล็กหนักอึ้ง มาเป็นแผ่นเคฟลาร์บางเบาและเซรามิกเพื่อป้องกันกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิด เทคโนโลยีสงครามที่พัฒนาไปพร้อมวิทยาการสาขาอื่นทำให้เรารบกันด้วยอาวุธร้ายแรง จากระยะไกลและซับซ้อนกว่าเดิม เมื่อมนุษย์อยู่ห่างกันมากกว่าเดิมเพราะอานุภาพของอาวุธมาเป็นอุปสรรค การทำลายล้างและดำเนินกิจกรรมเสี่ยงต่างๆจึงต้องใช้เครื่องมือที่สั่งได้ รู้จักกันทั่วไปในนาม”หุ่นยนต์”(robot)
แนวคิดเรื่องใช้หุ่นยนต์ทำสงครามที่เคยเป็นแต่นิยายในอดีตไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบบอกตำแหน่งภูมิศาสตร์พัฒนามาถึงขั้นไว้ใจได้ โดยเฉพาะกิจการทางทหารซึ่งแยกไม่ออกจากอุปกรณ์ทั้งสองชนิดดังกล่าว แต่ก่อนจะมาเป็นหุ่นยนต์ที่ทหารโปรแกรมคำสั่งได้นี้เรื่องราวของมันได้เริ่มขึ้นมานานแล้วเมื่อ60กว่าปีก่อน เมื่อเยอรมันกำลังเพลี่ยงพล้ำในแนวรบทุกด้านตอนปลายสงครามโลกครั้งที่2 “โกไลแอธ”(Goliath)คือหุ่นยนต์ทหารรุ่นบุกเบิกจากมันสมองของนักวิทยาศาสตร์นาซี ด้วยรูปลักษณ์แตกต่างจากหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ชิ้นเชิง มันเป็นระเบิดติดสายพานต่อสายเคเบิลไปยังทหารหลังบังเกอร์ ซึ่งจะคอยบังคับทิศทางให้”ระเบิดคลาน”เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายแล้วค่อยกดระเบิดทำลายเมื่อถึง
แต่โกไลแอธไม่เวิร์คเพราะแทรกแซงการควบคุมได้ง่าย เพียงยิงให้ระเบิดก่อนถึงเป้าหรือส่งใครสักคนคลานไปตัดสายเคเบิลบังคับ เจ้าระเบิดคลานก็กลายเป็นระเบิดง่อยไปทันที เยอรมันใช้โกไลแอธรบช่วงปลายสงครามได้ผลแบบลุ่มๆดอนๆ ทั้งตอนปราบปรามชาวยิวลุกฮือในกรุงวอร์ซอว์และขัดขวางการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ผลงานของมันไม่เข้าตากรรมการเพราะถูกทำลายก่อนถึงเป้าหมายเกือบหมด แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดที่ทำให้กองทัพยุคต่อมาเลิกคิดถึงหุ่นยนต์รบ
โลกในยุคเสี่ยงต่อการทำสงครามยุคนิวเคลียร์-เคมี-ชีวภาพทำให้มนุษย์คิดถึงการส่ง”ตัวแทน”เข้าสู่สมรภูมิมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติคือต้องรบได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อานุภาพร้ายแรง นำทางตัวเองเข้าหาเป้าหมายและกลับมายังที่ตั้งได้ เมื่อเป็นหุ่นยนต์รบก็ต้องรบและสอดแนมได้ตามคำสั่ง ขัดกันสิ้นเชิงกับแนวความคิดหุ่นยนต์เพื่อรับใช้มนุษย์ของไอแซค อาซิมอฟที่วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า 1.ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ 2.ต้องเชื่อฟังคำสั่งเว้นแต่คำสั่งนั้นจะขัดกับกฎข้อแรก และ3.หุ่นยนต์ปกป้องตนเองได้ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ขัดต่อกฎข้อที่1และ2 เพราะนอกจากจะช่วยเหลือมนุษย์ทั้งด้านการหาข่าวและกู้ภัย เมื่อหุ่นยนต์รบต้องทำลายเป้าหมายทั้งที่เป็นสิ่งปลูกสร้างหรือมนุษย์ได้ด้วยเมื่อจำเป็น การใช้งานในปัจจุบันจึงเน้นที่การหาข่าวและทำลายเป็นหลัก
ปัจจุบันกองทัพทั่วโลกใช้หุ่นยนต์มากมายหลายรูปแบบ เพื่อทำหน้าที่แทนทหารในภารกิจที่สิ้นเปลือง น่าเบื่อหน่ายและต้องติดตามเฝ้าดูใกล้ชิดตลอดเวลา หุ่นยนต์รบที่เป็นข่าวบ่อยที่สุดคือหุ่นยนต์ติดปีกในรูปUAV(Unmanned Aerial Vehicle อากาศยานไร้นักบิน) โดยเฉพาะ”พรีเดเตอร์”(Predator drone)เป็นUAVขนาดใหญ่พอๆกับเครื่องบินขับไล่ ทำได้ทั้งสอดแนมหาข่าวและทำลายเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อย สมาชิกชั้นนำของอัล-ไคดาในอาฟกานิสถานหลายคนสิ้นชื่อไปแล้วจากจรวดเฮลไฟร์จากใต้ปีกของมัน ด้วยขีดความสามารถคือบินได้สูงเกินสายตาเห็น ติดกล้องกำลังขยายสูงเห็นภาพเป้าหมายภาคพื้นดินได้ชัด บินได้นานเป็นวันๆโดยไม่เหนื่อยในขณะที่เครื่องบินใช้นักบินใช้เวลาน้อยกว่าแต่เผาผลาญเชื้อเพลิงมหาศาล ติดอาวุธทำลายได้เหมือนเครื่องบินจริงทุกอย่าง ต่างกันตรงที่นักบินไม่ต้องเสี่ยงชีวิตและผลัดเปลี่ยนกันมาบินได้ตลอดเวลาโดยล้อเครื่องไม่แตะพื้น ขณะพรีเดเตอร์กำลังบินค้นหาเป้าหมายในอิรักและอาฟกานิสถาน นักบินของมันกลับนั่งดูจอภาพโยกคันบังคับอยู่ในหน่วยบัญชาการกลาง(Central Command)ที่เมืองแทมปา รัฐฟลอริดา
นอกจากUAVขนาดมาตรฐานอย่างพรีเดเตอร์เพื่อภารกิจทางยุทธศาสตร์ กองทัพสหรัฐยังใช้UAVขนาดเล็ก(Small UAV : SUAV)เช่น”เรฟเวน”(Raven)ด้วยในภารกิจทางยุทธวิธีเช่นการสำรวจเส้นทางก่อนเคลื่อนขบวนยานยนต์ พิสูจน์ทราบพฤติกรรมอันไม่น่าไว้วางใจเช่นการวางระเบิดหรือวางกำลังซุ่มโจมตี
นอกจากหุ่นยนต์บินอย่างUAV หุ่นยนต์คลานรูปร่างคล้ายโกไลแอธของนาซีเยอรมันก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานทางบก ปฏิบัติการกิจได้ทั้งพิสูจน์ทราบวัตถุระเบิดและทำลายเป้าหมาย “เทลอน”(Talon)คือหุ่นยนต์ทหารราบจากบริษัทฟอสเตอร์-มิลเลอร์ของสหรัฐ ถูกสร้างมาเพื่อภารกิจสอดแนมไปจนถึงทำลายเป้าหมาย มันเหมือนรถถังย่อส่วนมากกว่าหุ่นยนต์รบในจินตนาการ ด้วยสายพานที่ช่วยให้ตะลุยได้ทุกพื้นที่ ไม่เคยเกี่ยงไม่ว่าภูมิประเทศจะเป็นดิน ทราย โคลน หรือหิมะ(ลึกสุด100ฟุต) ให้ไต่บันไดด้วยก็ยังได้
ด้วยกล้องติดตัวและขนาดไม่ใหญ่เทอะทะ มันสามารถสอดแนมได้ในที่จำกัด ส่งภาพชัดเจนมายังผู้ควบคุมที่อยู่ห่างออกไปได้ไกลสุดถึง1ก.ม. ทั้งภาพขาวดำ อินฟราเรด ภาพจากรังสีความร้อน(เทอร์มอล)และภาพกลางคืน(night vision)ที่ตาเปล่ามองไม่เห็นหากไม่ใช้ไฟส่อง ทำงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-อิออนจึงเงียบจนไม่เป็นที่สงสัยและอยู่ในพื้นที่ได้นานถึง7ชั่วโมงก่อนจะรีชาร์จ เจ้าเทลอนนี่แหละที่เข้าไปเก็บกู้ซากและค้นหาผู้รอดชีวิตหลังเหตุการณ์อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ถล่มเมื่อ11กันยายน 2001 ที่ตรงนั้นมันทำงานต่อเนื่อง45วันโดยไม่หยุดและระบบอีเลคทรอนิคไม่ขัดข้องแม้แต่ครั้งเดียว
เทลอนมีน้ำหนักไม่ถึง45ก.ก.ด้วยซ้ำ ประมาณ27ก.ก.ในแบบลาดตระเวนสอดแนมและมากขึ้นอีกเล็กน้อยถ้าติดอาวุธเข้าไปด้วยเพื่อภารกิจลาดตระเวนรบ มันแตกรุ่นไปมากมายโดยยังใช้ช่วงล่างเดิม จากรุ่นปกติ(IED/EOD)เพื่อใช้ค้นหาและกู้ระเบิดแสวงเครื่อง ติดตั้งเครื่องตรวจจับและทำลายวัตถุระเบิด แตกออกไปเป็นรุ่นปฏิบัติการพิเศษ(Special Operation : SOTAL) ไม่มีแขนกลเพื่อจัดการกับวัตถุแต่ติดตั้งกล้องวิดีโอภาพสีใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน/ในที่มืด มีไมโครโฟนความไวสูงเพื่อดักฟัง น้ำหนักค่อนข้างเบาเพราะไม่ติดปืนกลแต่ใช้เพียงเพื่อลาดตระเวนหาข่าว
สำหรับเหล่าราบ เทลอนรุ่น”ซอร์ด”(SWORD)คือตัวแทนของหุ่นยนต์ทหารราบในอนาคต เป็นรุ่นติดอาวุธเพื่อเข้าสู้รบของเทลอนที่บริษัทฟอสเตอร์-มิลเลอร์ผลิตเพื่อกองทัพบกโดยเฉพาะ ด้วยช่วงล่างมาตรฐานของเทลอนเป็นหลักมันถูกใช้ติดตั้งอาวุธร้ายแรงได้หลากหลาย เช่นปืนเล็กยาวตระกูลM16,ปืนกลประจำหมู่M249,M240ไปจนถึงปืนกลหนักยอดนิยมขนาดคาลิเบอร์.50 ติดปืนซุ่มยิงขนาดหนักM82 Barrettก็ได้เพื่อภารกิจซุ่มยิงทำลายยานเกราะเบา,ยุทโธปกรณ์และสังหารบุคคล ในรุ่นใช้ทำลายเป้าหมายขนาดใหญ่หรืออยู่ในที่มั่นดัดแปลง “ซอร์ด”จะถูกติดตั้งด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด6ลำกล้อง หรือเครื่องยิงจรวดระเบิดเพลิง4ลำกล้องM202A1”FLASH”
ถึงจะไม่ได้ทำงานเป็นอิสระ คิดเองไม่ได้แต่ก็ให้ความมั่นใจได้มากต่อผู้บังคับเครื่องซึ่งจะสั่งให้เคลื่อนที่และทำลายเป้าหมายได้จากระยะไกล เมื่อควบคุมด้วยคันโยกแบบเดียวกับเครื่องเล่นเกม”เกมบอย”(Game Boy)ประกอบแว่นแสดงผลเสมือนจริง หุ่นยนต์”ซอร์ด”จำนวน3ตัวเข้าประจำการในอิรักปีที่แล้ว แต่ละตัวติดปืนกลM249เป็นอาวุธมาตรฐาน ยังควบคุมระยะไกลด้วยทหารผ่านทางกล้องและเครื่องส่งสัญญาณติดตัวหุ่นยนต์ มันสร้างประวัตศาสตร์ด้วยการเป็นหุ่นยนต์แบบแรกที่ถืออาวุธเข้าสนามรบ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบที่กองทัพบกสหรัฐไม่ให้ทุนสนับสนุนโครงการ”ซอร์ด”ต่อหลังจากการประจำการของมันทั้ง3เครื่อง ทำให้ฟอสเตอร์-มิลเลอร์ต้องหันไปพัฒนาระบบหุ่นยนต์รุ่นต่อมาคือ Modular Advanced Armed Robotic System : MAARSแทน ซึ่งกำลังจะเผยโฉมในอนาคตอันใกล้เพื่อนำไปสู่การใช้หุ่นยนต์ต่อสู้เป็นอิสระเต็มรูปแบบ
เท่าที่ยกตัวอย่างมาทั้งระบบUAVเช่นพรีเดเตอร์ และหุ่นยนต์รบคือเทลอน คือสิ่งที่แสดงให้เห็นแนวโน้มการทำสงครามในอนาคตโดยเฉพาะสงครามในเมือง ซึ่งทหารต้องพร้อมรับสถานการณ์ทั้ง360องศารอบตัว ภัยคุกคามไม่จำกัดทิศทางทำให้ต้องพึ่งพาเครื่องทุ่นแรงมากขึ้น แม้ในปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้ยังใช้มนุษย์ควบคุมจากระยะไกลแต่มันก็ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ใช้ซอฟต์แวร์ซับซ้อนที่แยกออกว่าเป้าหมายใดคือมนุษย์หรือสิ่งปลูกสร้าง ในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์รบที่เลือกยิงเป้าหมายถือปืนศัตรูเช่นAK47(อาก้า)หรือปืนแบบอื่นตามที่ถูกโปรแกรมไว้
ด้วยพัฒนาการอันรวดเร็วของหุ่นยนต์ตามเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ เราได้เห็นหุ่นยนต์”อาซิโมะ”(Azimo)จากบริษัทฮอนด้าที่เดิน2ขาเหมือนคน มันเตะฟุตบอล ขึ้น/ลงบันไดและหยิบของได้เหมือนคน คงไม่ยากถ้าต่อไปจะสร้างโปรแกรมให้มันคิดเองได้ และส่งเข้าสู่สนามรบพร้อมอาวุธร้ายแรงด้วยความมั่นใจว่าจะไม่สังหารฝ่ายเดียวกัน มันจะไม่หลงทาง ไม่ต้องพักผ่อน เมื่อเสียก็ซ่อมแซมตัวเองได้ ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่โต้แย้ง ไม่ต้องเสียเวลาฝึกเพราะซอฟต์แวร์กำหนดหน้าที่และการปฏิบัติต่างๆไว้พร้อมแล้วในตัว
ไม่ว่าหุ่นยนต์จะแพงแค่ไหนแต่ยังคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ เมื่อพังเสียหายก็ไม่มีใครเสียใจเพียงแต่หามาเปลี่ยนใหม่หรือซ่อม ต่างกับคนซึ่งต้องรับผิดชอบคนในครอบครัว เมื่อตายหรือพิการก็จะทำให้คนที่เหลือพลอยเดือดร้อนเพราะขาดกำลังสำคัญของหัวหน้าครอบครัว นับว่าน่ายินดีในระดับหนึ่งที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของตำรวจและทหารไทยได้พยายามนำหุ่นยนต์มาใช้ ทั้งที่นำเข้าและพัฒนาในประเทศโดยร่วมมือกับสถานศึกษาและบริษัทเอกชน ทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างเองราคาต่ำกว่านำเข้าและรัฐควรสนับสนุน ถึงปัจจุบันจะเคลื่อนที่ด้วยสายพานมีแค่ปืนยิงน้ำทำลายวัตถุระเบิด และควบคุมจากระยะตาเห็นเพียง100กว่าเมตร แต่ในอนาคตเราคงได้เห็น”หุ่นยนต์ไทยทำ”ติดกล้องวิดีโอและควบคุมจากระยะไกลขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องไปไกลขนาดให้รบแทนทหารเต็มรูปแบบเหมือนของสหรัฐฯ เอาแค่รักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสี่ยงไว้ได้ก็ดีเหลือเกินแล้ว
จากพัฒนาการอันรวดเร็วของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทำให้มันถูกใช้งานแทนมนุษย์อย่างแพร่หลายทั้งในอุตสาหกรรม อวกาศ และในสนามรบ ถือว่าเป็นนวัตกรรมสงครามอีกชนิดที่เกิดขึ้นเพื่อสงวนชีวิตมนุษย์ซึ่งจะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคต

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 เมษายน 2552 เวลา 19:32

    อ่านข้อเขียนของพี่โต ทั้งสนุกและได้ความรู้ มากจริงๆครับ
    แต่ยังไงยังรองานแปลหนังสือเรื่องยาวของพี่โตอยู่นะครับ

    คิดถึงด้วยความเคารพ
    เบิ้ล

    ตอบลบ
  2. ควบคุมแบบคนต่อคนหรือว่า Server ตัวเดียวครับ
    ไม่ค่อยเข้าใจผมสงสัยว่าหากเป็นการควบคุมแบบนั้น มีข้อเสียประเด็นใหญ่คือหากศัตรูใช้ปืนไวรัสแบบในหนังเรื่อง Surrogate

    http://benkyoshin.blogspot.com/2009/10/benkyoshin-movie-varietysurrogate.html

    มันก็จะไม่ปลอดภัยอิีกเพราะมันจะทำลายถึงคนควบคุมรวมทั้งServerด้วย ลองคิดดูสิครับว่าหากมีอาวุธยังงั้นจริงมันจะไม่ปลอดภัยอีกเลย

    ตอบลบ