วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กองทัพเรือไทยกับเรือดำน้ำ(1)


การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยนั้นเป็นข่าวให้ติดตามได้ทุกครั้ง พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่ามันจะคุ้มค่าไหม? จำเป็นหรือเปล่า? และข้อสงสัยที่ถูกนำไปเป็นประเด็นการเมืองบ่อยๆก็คือ"ต้องมีการทุจริตกันแน่ๆ" เรื่องทำนองนี้จะเป็นอย่างไรในอดีตจะไม่พูดถึง แต่เท่าที่เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ผมพบว่าเรามีกระบวนการที่โปร่งใสมากขึ้น ตรวจสอบง่ายและเจ้าของโครงการซื้อยุทโธปกรณ์เองก็อยากให้ตรวจสอบ ด้วยความมั่นใจว่าดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของชาติจริงๆ ที่น่าดีใจก็คือกองทัพมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เริ่มจากโครงการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศบูรณาการกริพเพนของกองทัพอากาศ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วทั้งสองเฟส เหลืออย่างเดียวคือรอรับของส่วนที่เหลือ เราพึ่งพามหาอำนาจน้อยลงแต่ยึดมั่นในความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ทั้งที่เคยถูกโจมตีจากผู้ไม่เห็นด้วยทั้งในกองทัพและนักการเมืองแต่โครงการกริพเพนก็ยังรอด ด้วยความโปร่งใสและด้วยคุณประโยชน์ในตัวมันเอง เราทำโครงการกริพเพนด้วยผลประโยชน์ของชาติจริงๆด้วยการต่อรองเพื่อให้ได้ของที่"เหมาะสม"ที่สุด และด้วยเงื่อนไขที่"คุ้มค่า"ที่สุด ถึงจะไม่ได้ของดีที่สุดมาใช้แต่ของนั้นก็เหมาะสมกับยุทธศาสตร์และงบประมาณอันจำกัดที่สุดของกองทัพ

เรื่องที่จะเขียนถึงต่อไปนี้ก็คือโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ6ลำของกองทัพเรือ ที่ดำเนินตามแบบแผนของโครงการกริพเพน คือจัดหาสิ่งที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ที่สุดมาใช้ โปร่งใส และต่อรองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ของชาติมากที่สุด เน้นการยืนบนลำแข้งของเราเองและพยายามไม่พึ่งพามหาอำนาจ เรือดำน้ำที่จะจัดหาจากประเทศเยอรมนีนี้จะคุ้มค่าหรือไม่นั้นพิสูจน์ได้ด้วยอนาคต แต่กองทัพเรือไทยเคยมีเรือดำน้ำประจำการหรือเปล่า? และเรามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีเรือดำน้ำ? รายละเอียดต่อไปนี้น่าจะช่วยให้ผู้สนใจติดตามได้เข้าใจ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน

ตามประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือนั้นเราเคยมีเรือดำน้ำประจำการมาแล้ว4ลำ ด้วยการจัดหาซึ่งมีพลเรือตรีพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์(พระยศในขณะนั้น)และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่านเป็นกรรมการจัดหา ด้วยชื่อย่อว่า"เรือ ส.(1)" นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งได้ทรงนำทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่6) เมื่อ18มกราคม พ..2453 ด้วยเหตุผลว่า"เรือ ส. คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก….. แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้โดยเห็นว่าต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ "

นี่คือวิสัยทัศน์ของเจ้านายในสมัยนั้นซึ่งได้ทรงรับการศึกษาทางการทหารจากยุโรป โดยเฉพาะกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์นั้นทรงศึกษาที่โรงเรียนนายเรือของอังกฤษ ชาติมหาอำนาจซึ่งมีกำลังทางเรือยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก แต่สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าทรงมีวิสัยทัศน์ก็คือคำพูดที่ว่า"ต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้" จะทรงทราบหรือไม่ก็ตาม แต่กระแสรับสั่งของพระองค์เริ่มจะเป็นจริงแล้วในอนาคตอันใกล้ เมื่อกองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำมาใช้งานรวมทั้งสิ้น6ลำ หลังจากเราเคยมีร..(เรือหลวง)มัจฉานุ,..วิรุณ,..สินสมุทรและร..พลายชุมพล ซึ่งกว่าจะศึกษาความเป็นไปได้และจัดหามาจนถึงขึ้นระวางประจำการก็ล่วงเข้าพ..2481

โดยทั้งสี่ลำนี้เป็นเรือดำน้ำสัญชาติญี่ปุ่น เป็นเรือชั้นเดียวกันทั้งหมด สร้างโดยบริษัทมิตซูบิชิที่เมืองโกเบ ระวางขับน้ำบนผิวน้ำ374.5ตันและขณะดำน้ำ430ตัน ยาวตลอดลำ51เมตร กว้างสุด4.10เมตร กินน้ำลึก3.6เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแล่นลอยลำและใช้แบตเตอรี่แล่นขณะดำน้ำ ซึ่งดำได้นานที่สุด12ชั่วโมง ใช้ลูกเรือทั้งหมด33นาย ได้ออกสงครามใหญ่กับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีนหลังจากร..ธนบุรีและเรือตอร์ปิโดถูกเรือฝรั่งเศสยิงจม ซึ่งเรือดำน้ำทั้งสี่ลำนี้ได้ไปลาดตระเวนอยู่หน้าฐานทัพเรือเรียมของฝรั่งเศส และประจำการอยู่ต่อมาจนกระทั่งถูกปลดประจำการตามกำหนดเมื่อพ..2494

แนวคิดของทหารซึ่งเหมือนกันทั่วโลก ก็คือต้องระวังภัยคุกคาม หาทางป้องปรามไม่ให้ผลประโยชน์ของชาติถูกล่วงละเมิด กองทัพไทยก็ไม่ต่างจากกองทัพไหนๆซึ่งหากมีสิ่งใดที่ทำท่าว่าจะเป็นภัยคุกคามเราก็ต้องป้องปราม คำว่า"ป้องปราม"ไม่ได้หมายถึงกระหายสงคราม ไม่ได้หมายถึงความปรารถนาที่จะทำสงครามขั้นแตกหัก แต่มันหมายถึงการ"ป้องกัน"และ"ปราม"ฝ่ายที่มีทีท่าว่าจะเป็นภัยคุกคามไว้ว่าอย่าเหิมเกริม จะทำสิ่งใดโปรดคิดให้รอบคอบต่อขีดความสามารถของเราซึ่งพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ การ"ป้องปราม"จึงไม่ใช่การ"รุกราน" แต่เป็นความพร้อมในขีดความสามารถซึ่งต้องมีไว้ หากเกิดกรณีพิพาทหรือปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่คนไทยจะได้ไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่ถูกคุกคามผลประโยชน์ของชาติ

ทำไมต้องใช้เรือดำน้ำในเมื่อเทคโนโลยีปราบเรือดำน้ำสมัยนี้ก็ทันสมัย วางใจได้? อ่าวไทยตื้น ใช้เครื่องบินบินให้สูงแล้วมองลงมาก็เห็น? น้ำตื้นๆอย่างอ่าวไทยจะใช้เรือดำน้ำได้หรือ? และอีกหลายๆคำถามที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ต้องศึกษากันถึงเหตุผลของการจัดหาหรือหากจะพูดให้ถูกก็คือการตั้งกองเรือดำน้ำขึ้นใหม่ในขณะนี้

ถ้าดูตามประวัติศาสตร์ ถึงกองทัพเรือจะเคยมีเรือดำน้ำใช้ก็จริง แต่เวลาก็ล่วงเลยมาได้60ปีกว่าแล้วหลังจากปลดประจำการ แล้วหลังจากนั้นก็แทบไม่มีการศึกษาหรือคงขีดความสามารถในการใช้เรือดำน้ำไว้เลย นอกจากเทคโนโลยีปราบเรือดำน้ำด้วยเรือผิวน้ำและเครื่องบิน ด้วยเวลาที่ผ่านมานานขนาดนั้นแล้วจึงถือได้ว่าเราต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ และการเริ่มต้นนี้ก็ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังเพราะการอยู่ใต้น้ำเป็นเรื่องเสี่ยง นักบินว่าเสี่ยงก็จริงแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆที่ขึ้นบิน แต่ทหารประจำเรือดำน้ำนั้นแม้นอนหลับอยู่ก็ยังเสี่ยง รวมทั้งต้องอยู่ในที่อันจำกัดคับแคบแทบกระดิกตัวไม่ได้เป็นเวลานานเกือบเดือนก่อนจะขึ้นบกสักครั้ง การเริ่มต้นใหม่ของกองทัพเรือคือด้วยเรือดำน้ำเยอรมันแบบ206เอ(Type-206A)ซึ่งเป็นเรือดำน้ำมือสอง

ถึงตรงนี้จึงเกิดคำถามว่า"ไปเอาของมือสองมาใช้อีกแล้ว จะปลอดภัยหรือ? เดี๋ยวก็มากลายเป็นเศษเหล็กลอยน้ำสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติเปล่าๆ" ประเด็นนี้คงไม่ต้องไปดูให้ไกล เอาแค่สิงคโปร์ก็พอ ชัดอยู่แล้วว่าถึงจะเล็กกว่าก็ยังร่ำรวยกว่าไทย สิงคโปร์นั้นใช้เรือดำน้ำมือสองที่เก่ากว่าที่ไทยจะใช้เสียอีก ชุดแรกของเขาปลดประจำการไปแล้วชุดที่สองที่ยังใช้อยู่ก็ยังเป็นมือสองอยู่ ประเทศนี้รวยพอจะซื้อเรือดำน้ำมือหนึ่งได้สบายๆ จะให้ดีแค่ไหนก็ได้แต่ทำไมไม่ซื้อ? เหตุผลก็คือการเริ่มใช้เรือดำน้ำนั้นระยะแรกคือการฝึกฝนเพื่อให้ปฏิบัติงานเป็น เพื่อสร้างองค์ความรู้โดยยังไม่ใช้งานทางยุทธการเต็มที่ การใช้ของมือหนึ่งจะสิ้นเปลืองเกินเหตุและไม่คุ้มค่าทั้งด้านยุทธวิธีและยุทธศาสตร์

ถ้าจะวางยุทธศาสตร์สำหรับเรือดำน้ำกันในระยะยาวแล้วการวางรากฐานจึงจำเป็น เมื่อรากฐานแน่นแล้วจะซื้อของใหม่หรือมือสองในช่วงหลังๆก็ค่อยว่ากัน แต่ที่แน่ๆก็คือเราได้องค์ความรู้ กำลังพลคุ้นเคยกับการปฏิบัติงานในเรือดำน้ำซึ่งแตกต่างจากเรือผิวน้ำสิ้นเชิง ทั้งความเป็นอยู่และความกดดันด้านจิตใจ

เราตัดสินใจใช้เรือดำน้ำของเยอรมันแทนที่จะเป็นของเกาหลีใต้แบบ209(Type-209) ก็ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับการจัดหาระบบกริพเพนของกองทัพอากาศ คือแทนที่จะเลือกF-16ซีและดีซึ่งดูเหมือนจะดีนั้นเรากลับเลือกระบบกริพเพนเพราะมันมาเป็นแพคเกจ จ่ายในราคาถูกกว่าซ้ำได้ของมามากกว่าอีก เรือดำน้ำแบบ206เอของเยอรมนีนี่ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เราจ่ายเงินซื้อเรือดำน้ำของเกาหลีในราคาแพงกว่า แต่สิ่งที่ได้มาคงมีแค่ตัวเรือซึ่งเทียบกับของเยอรมันแล้วได้ทั้งตัวเรือและระบบอาวุธแบบครบเครื่อง ทั้งที่ตัวเลข209ซึ่งมาทีหลัง206นั้นทำให้ดูเหมือนทันสมัยกว่า แต่เอาเข้าจริงๆแล้วนี่คือรุ่นส่งออกที่ลดออปชั่นต่างๆลงมาก หากจะเอาให้ครบเครื่องใช้งานได้ทันทีด้วยมาตรฐานเยอรมันอาจต้องใช้งบสูงถึงห้าหมื่นล้าน ต้องตั้งงบประมาณผูกพันกันระยะยาวในขณะที่แบบ206เอนั้นกองทัพเรือไม่ต้องของบประมาณเพิ่ม ถึงจะเป็นงบผูกพันสี่ปีในราคา7.7พันล้าน แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม สามารถเอาเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆได้ตามปกติ

ใน7.7พันล้านนั้นเราได้อะไรนอกจากเรือดำน้ำ? โดยมาตรฐานคือเรือดำน้ำ4ลำประจำการและอีก2ลำเพื่อสำรองฝึกในท่าและใช้เป็นอะไหล่ เรือสองลำหลังน้ีเยอรมันปลดประจำการไปแล้ว แต่สี่ลำที่จะประจำการนั้นเป็นเรือพร้อมใช้ซึ่งมีราคาลำละ200ล้านบาท เรืออะไหล่และใช้ฝึกนั้นราคาเพียงลำละ50ล้าน เทียบกับคุณประโยชน์ที่จะได้รับแล้วต้องถือว่าถูกมากๆเพราะเราได้ทั้งเรือฝึกในท่าเพื่อความปลอดภัย และเรือที่ใช้ปฏิบัติภารกิจจริงๆ แต่ใน7.7พันล้านนั้นไม่ใช่การจัดหาเรืออย่างเดียวยังครอบคลุมถึงการปรับปรุงเรือและระบบอาวุธด้วย เยอรมันจะโอเวอร์ฮอลทั้งสี่ลำให้มีสภาพเหมือนใหม่ นอกจากตัวเรือที่เป็นเหล็กไร้สนิมที่ไม่ต้องดูแลเลยระหว่างการใช้งานแล้ว อุปกรณ์ทุกชิ้นจะถูกถอดมาตรวจสอบและเปลี่ยนใส่ให้ใหม่ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศสำหรับการใช้งานในน่านน้ำเขตร้อน ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของการปรับปรุงอาคารสถานที่ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสงสัยคิดว่ากองทัพเรือกำลังจะทำอะไร ประมวลจากเหตุผลและรายละเอียดก็คงพอสรุปได้ว่าไม่ใช่แค่ซื้อเรือดำน้ำ แต่เป็นการตั้งกองเรือดำน้ำใหม่กันทั้งกองทีเดียว และในราคาที่คุ้มค่าที่สุดด้วย

เรือดำน้ำเยอรมันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน? ลองศึกษาประวัติศาสตร์ดูจะรู้ว่านี่คือหนึ่งในไม่กี่ชาติที่ใช้เรือดำน้ำได้คุ้มค่าและทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เรือ"อู"(U-boat :Unterseeboot)ของเยอรมันคืออาวุธที่ฝ่ายตรงข้ามครั่นคร้าม มันออกอาละวาดไปทั่วทะเลบอลติกและแอตแลนติกเหนือในสงครามโลกทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่2นั้นเรืออูเยอรมันทำเอาอังกฤษย่ำแย่ไป ยังดีที่มาตีตื้นด้วยเทคโนโลยีและความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรตอนท้ายๆ ประกอบกับเยอรมันไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องเพราะโดนสงครามรุมเร้าจากหลายแนวรบ

กึนเธอร์ พรีนคือขุนศึกเรือดำน้ำระดับกางเขนเหล็กอัศวินประดับใบโอ๊ค คือผู้นำเรืออู-47บุกเดี่ยวเข้าไปจมเรือหลวงรอแยลโอ๊ค(ระวางขับน้ำพร้อมรบ33,500ตัน)ของอังกฤษถึงในท่าที่ระดับน้ำลึกไม่ถึง60เมตร แล้วกลับออกมาได้แบบไร้ร่องรอย รวมถึงเรืออื่นๆซึ่งรวมระวางขับน้ำได้200,000กว่าตันก่อนเสียชีวิต ช่วงปลายสงครามเรืออูแบบ21(Type-21)คือเรือดำน้ำต้นแบบเรือดำน้ำอีกหลายรุ่นของอเมริกันและชาติพันธมิตร ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในยุคปัจจุบัน ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำของเยอรมันเป็นตัวตั้งต้นทั้งสิ้น

การจัดหาเรือดำน้ำซึ่งเป็นของใหญ่ มีความซับซ้อนมากทั้งด้านเทคนิคและกำลังพลนั้นต่างจากการจัดหาเครื่องบินซึ่งเราคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะการเคยมีใช้แล้ววางเว้นมาถึง60ปีทำให้เราต้องมาตั้งหลักกันใหม่ จำเป็นต้องมีไว้เพราะภัยคุกคามเป็นตัวกำหนด เราไม่ได้มีไว้เพื่อยิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่เขมรหรือเพื่อส่งไปปิดอ่าวตังเกี๋ยของเวียตนาม แต่ต้องมีไว้เพื่อป้องปรามตามคำจำกัดความเบื้องต้น เมื่อต้องลงทุนมากจึงต้องรอบคอบ การเลือกแบบ206เอแทนที่จะเป็น209จากเกาหลี หรือเรือดำน้ำใดๆของจีน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วว่าคุ้มค่าที่สุดและโปร่งใส เพราะเราเจรจากับรัฐบาลเยอรมันโดยตรง เป็นการคุยกันระหว่างกองทัพซึ่งเขาจัดลำดับความสำคัญของเราไว้ในอันดับต้นๆและพร้อมจะให้ความร่วมมือเต็มที่ การเจรจาต่อรองได้ดำเนินมาจนใกล้จะจบแล้วซึ่งคงไม่มีทางเบี่ยงเบนเป็นอื่นอีกนอกจากแบบ206 ส่วนเมื่อนำมาใช้งานแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ตรงนั้นเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง

ผมได้กล่าวถึงรายละเอียดพอสังเขปทั้งด้านความจำเป็นและงบประมาณไปแล้ว ในตอนหน้านี้แหละที่จะมาพูดกันถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้เรือดำน้ำเพื่อป้องปรามภัยคุกคามจากเรือดำน้ำ ใช้เครื่องบินหรือเรือผิวน้ำยังไม่ดีเท่า

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น