วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Tactical vest สวมสบาย ถอดง่าย ปลอดภัยกว่า




ในการปฏิบัติภารกิจแต่นานมา ทหารจะเข้าสู่สนามรบพร้อมอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นมากกว่า1สิ่ง ต้องมีเครื่องช่วยติดตัวไปด้วยเพื่อให้รบได้คล่องแคล่ว มือว่างทั้งสองมือเพื่อป่ายปีนและใช้อาวุธ เริ่มจากเอามีดสั้นเหน็บเข็มขัดดาบยาวสะพายไหล่ ถ้ามีธนูก็สะพายกระบอกใส่ลูกธนู้ไว้ข้างหลัง ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้นจนมีกระสุนดินดำใช้ยุทโธปกรณ์ติดตัวทหารก็มากขึ้น เขาต้องเข้าสู้รบพร้อมกับอาวุธคือปืนและเครื่องกระสุนอันประกอบด้วยไม้กระทุ้ง,กระสุน,แก็ปและดินดำรวมทั้งน้ำดื่มและอาหาร คำถามคือจะเอาพวกเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดนี้ไว้ตรงไหนจึงจะหยิบใช้งานได้ง่ายและเร็วที่สุด? คำตอบอันเกิดจากสามัญสำนึกเมื่อใช้งานคือที่เอว เข็มขัดสนามยุคแรกจึงเกิดขึ้นพร้อมกับปืนคาบศิลาและกระสุนดินดำเมื่อหลายร้อยปีก่อน
ในยุคอุตสาหกรรมเมื่ออาวุธดีขึ้น กระสุนเป็นโลหะหัวแหลมคัดปลอกด้วยการดึงลูกเลื่อน น้ำหนักของยุทโธปกรณ์ติดตัวทหารก็มากขึ้น น้ำหนักมากทำให้กดทับส่วนสำคัญคือเอว เดินมากๆก็เมื่อย ไม่นับถึงความเจ็บปวดยามวิ่งและคลานสูง/ต่ำไปในภูมิประเทศ มีหลายครั้งที่ต้องม้วนพลิกตัวจัดท่าทางการใช้อาวุธ ฉุดกระชากลากถูอุปกรณ์ต่างๆไปตามพื้น ความพยายามเพื่อลดน้ำหนักติดตัวทหารหรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ทหารสบายตัวขึ้นจึงมีอยู่ตลอดเวลา ยิ่งคิดกันมากขึ้นเมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่1ด้วยความคิดว่าต้องนำอุปกรณ์ติดตัวทหารไปให้มากแต่ขณะเดียวกันต้องลดภาระจากความอ่อนล้าเพราะน้ำหนักกดเอว อันจะทำให้ทหารอ่อนล้าจนด้อยประสิทธิภาพได้แม้ยังไม่ได้เข้าสู้รบ
สายรั้งเข็มขัดสนามหรือ”สายเก่ง” จึงเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดเครื่องแบบสนาม ปรากฏให้เห็นในภาพประวัติศาสตร์ทั้งในกองทัพเยอรมัน,อังกฤษ,สหรัฐฯและชาติพันธมิตร ประโยชน์คือมันช่วงแบ่งเบาน้ำหนักกดทับจากบั้นเอวให้กระจายไปยังไหล่และแผ่นหลัง เมื่อเดินและวิ่งน้ำหนักยุทโธปกรณ์จะไม่กดเอวมากจนเจ็บเพราะถูกเฉลี่ยมาไว้ที่สายเก่ง
กองทัพใหญ่ๆใช้สายเก่งกับเข็มขัดสนาม ทั้งที่ผลิตจากหนังแท้และผ้าใบแพร่หลายมาตั้งแต่ประมาณปีค.ศ.1910 ด้วยอุปกรณ์มาตรฐานติดตัวทหารคือเครื่องกระสุน อุปกรณ์ปฐมพยาบาล พลั่วสนาม กระติกน้ำดื่ม ระเบิดขว้าง กระเป๋าอาหาร แผนที่,เข็มทิศ ปืนพกพร้อมซองกระสุนและกระสุนสำรอง มีด/ดาบปลายปืน ทั้งหมดนี้รวมน้ำหนักได้เกือบ10ก.ก.ที่ติดอยู่รอบเอว เปรียบเทียบกับนิยายจะพบว่าทหารหนึ่งนายพกของออกไปรบที่เอวได้มากพอๆกับแบ็ตแมน แต่หนักกว่าเพราะเป็นของใช้งานจริง ถ้าไม่มีสายเก่งมารั้งเฉลี่ยน้ำหนักลงไหล่และแผ่นหลังการเดินทางในภูมิประเทศจะเป็นสิ่งทรมานสังขารที่สุด ยังไม่รวมเป้เครื่องหลังและอาวุธประจำกายหนักรวมกัน30กว่าก.ก.เต็มอัตรา
สายเก่งประกอบเข็มขัดสนามถูกใช้งานมายาวนานเกือบศตวรรษ ถึงจะเปลี่ยนแปรรูปแบบไปบ้างแต่ส่วนประกอบสำคัญก็ยังคงเดิม กองทัพสหรัฐฯให้ชื่อมันเป็นทางการว่าระบบเครื่องสนามเอนกประสงค์(อลิซ : ALICE : All Purposes Light weight Individual Carrying Equipment)และยังใช้มันเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ที่ต้องเรียกว่า”ระบบ”(system)เพราะมีอุปกรณ์ย่อยๆมาประกอบกันเพื่ออำนวยความสะดวก จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้แต่อุปกรณ์หลักๆคือเข็มขัดสนามและสายเก่งยังคงอยู่เป็นฐาน
พัฒนาการระบบนำอุปกรณ์ติดตัวทหารเข้าสนามรบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จาก”อลิซ”ที่เข้ามาแทนที่อุปกรณ์เดิมคือ”แอลซีอี”(LCE M-1956:Load Carrying Equipment)ใช้งานเป็นทางการจากค.ศ.1956-ถึงปีค.ศ.1973ช่วงปลายสงครามเวียตนาม กลายมาเป็น”เอ็มแอลซีอี”(MLCE M-1967:Modernized Load-Carrying Equipment)เพื่อให้ทหารนำยุทโธปกรณ์ติดตัวไปรบได้มากกว่าแต่สบายกว่าเดิม
นอกจากสหรัฐฯแล้วยังมีอีกหลายชาติ ที่พยายามปรับปรุงระบบเดียวกันของตัวเองขึ้นมาใช้งานให้เหมาะกับสภาพอากาศและภูมิประเทศ โดยทั้งหมดยังยึดพื้นฐานใกล้เคียงกับสหรัฐฯที่ว่าต้องมีสายรั้งเข็มขัดเพื่อแบ่งเบาภาระน้ำหนักจากบั้นเอวทหาร ซึ่งข้อดีคือเหมาะสำหรับการรบในเขตป่าที่ต้องการความคล่องตัว เครื่องแบบสนามประกอบLCEทำให้ทหารเคลื่อนไหวง่ายไร้สิ่งเกะกะหน้าและหลัง นำพากระสุนไปได้ทั้งของอาวุธประจำกายและของปืนพก
เมื่อหลักนิยมของการทำสงครามเปลี่ยนไป จากการรบในป่ายิงกันไกลๆมาเป็นการรบในเมืองที่ยิงกันใกล้ขึ้นและซุ่มยิง/ถูกยิงได้รอบตัว ทหารจึงเคลื่อนที่ช้ากว่าเดิมและต้องสวมเกราะ คำถามก็ตามมาอีกว่าถ้าสวมเกราะพร้อมสายเก่งและเข็มขัดสนามจะไม่รุงรังแย่หรือ? คำตอบก็คือต้องมีระบบใหม่ที่ช่วยให้ทหารรบได้ทั้งเสื้อเกราะแต่ในขณะเดียวกันต้องใช้พื้นที่ว่างทั้งด้านหน้า,หลังและข้างลำตัวให้ได้ประโยชน์ เป็นที่มาของตัวย่อว่า”MOLLE”หรือชื่อเต็มว่า”Modular Lightweight Load-carrying Equipment” เรียกง่ายๆให้จำได้ถนัดๆว่า”มอลลี่”
ด้วยวิธีง่ายๆคือใช้แถบผ้าใบหรือไนลอนหนาเย็บติดเข้ากับเป้และอุปกรณ์สนามอื่นๆ เช่นซองปืน,กระเป๋าอุปกรณ์ติดเข็มขัสนามฯลฯ เว้นระยะเย็บเป็นช่องเล็กๆติดไว้หลายแถบเรียงกันลงมาในแนวดิ่ง ช่องพวกนี้จะเป็นจุดสอดตัวยึดหรือแถบยึดของกระเป๋าใส่อุปกรณ์ได้หลากหลาย ทั้งซองกระสุน ซองวิทยุ กระเป๋าอาหารและอื่นๆอีกมากมายที่จะกระจายตัวกันอยู่เต็มแผ่นหน้าและหลัง ตั้งแต่แนวกระดูกไหปลาร้าถึงแนวเข็มขัดของอุปกรณ์อีกตัวที่พร้อมเป็นฐานให้สับเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบได้
อุปกรณ์ที่ว่านี้คือเสื้อหุ้มเกราะเอนกประสงค์(MTV :Modular Tactical Vest) รูปแบบใหม่ของเกราะกันกระสุนแบบเอนกประสงค์ ประกอบด้วยเปลือกระบบมอลลี่และตัวแผ่นเกราะที่ทหารสามารถเปลี่ยนเองได้ แค่ดึงฝาแถบเวลโครออกแล้วเลือกแผ่นเกราะเซรามิกที่มีหลายระดับการป้องกันสอดเข้าไป ตั้งแต่แบบที่ป้องกันแค่กระสุนปืนพก11ม.ม.ได้ไปจนถึงกันกระสุนปืนกลเบาขนาด5.56ม.ม.และกระสุนปืนอาก้าขนาด7.62มิลลิเมตร
เกราะชนิดนี้คือนวัตกรรมที่ช่วยให้ทหารปลอดภัยและสบายตัวได้จริงในการรบเขตเมือง ด้วยเปลือกผ้าคอร์ดูราชั้นนอกพร้อมช่องสอดเกราะ ทหารสามารถเลือกแผ่นเกราะป้องกันได้รอบตัวหน้า,หลัง,ซ้าย,ขวา แถบมอลลี่ที่ติดรอบตัวช่วยให้ทหารเลือกของติดตัวไปได้ตามสะดวก ถอดเปลี่ยนตำแหน่งได้เพื่อไม่ให้กีดขวางการใช้อาวุธ ช่องใส่ซองกระสุนถูกสร้างมาให้ใช้ได้กับทั้งปืนแบบอเมริกันและรัสเซีย ด้วยการปรับความพอดีจากแผ่นเวลโครฝาของมันจึงปิดครอบซองกระสุนได้สนิท หยิบใช้ได้ง่ายเพียงดึงขึ้นตรงๆ ทหารนำกระสุนบรรจุซองเสร็จเข้าสนามได้ไม่อั้นตราบใดที่เขาวิ่งไหวด้วยMTVและมอลลี่!
ราวกับว่านี่คือระบบเครื่องช่วยรบที่ลงตัวแล้ว เมื่อกองทัพสหรัฐฯนำสมรรถนะของการกระจายน้ำหนักและความสะดวกในมอลลี่กับเกราะกันกระสุนมาผนวกกันได้ เสื้อเวสต์ประกอบเกราะแบบที่เห็นได้แพร่หลายในอิรักและอาฟกานิสถานคืออินเตอร์เซ็ปเตอร์(Interceptor) ที่ถูกพัฒนาใช้งานในทศวรรษ1990ให้ป้องกันลำตัวทหารได้รอบทิศรวมลงมาถึงหว่างขาด้วยแผ่นเคฟลาร์สามแหลี่ยม
อีกรูปแบบของTactical VestคือระบบCIRAS(Combat Integrated Releasable Armor System) เป็นเวสต์แบบปรับปรุงให้กระชับขึ้น แต่สวมง่ายด้วยแถบเวลโครรอบตัว ถอดง่ายในยามฉุกเฉินเมื่อต้องการปฐมพยาบาลด้วยการดึงลวดเส้นเดียวที่ร้อยจุดยึดด้านหลัง สอดข้ามไหล่มาเก็บเป็นรูปห่วงตรงหน้าอก เมื่อดึงห่วงปลายลวดอีกด้านจะหลุดจากจุดยึดทั้งหมด ทำให้ทั้งชุดเกราะหลุดจากตัวภายในเวลาไม่ถึงสองวินาที “ไซราส”ออกแบบไว้ให้สอดแผ่นเกราะกันกระสุนระดับต่างๆได้รอบตัว พร้อมช่องใส่ซองกระสุนและกระเป๋าอุปกรณ์อื่นที่ประกอบและถอดได้แบบโมดูลาร์ เหมาะสำหรับหน่วยรบพิเศษที่ต้องการความคล่องตัว แต่ขณะเดียวกันทหารต้องปลอดภัยจากการปกป้องรอบตัว กระจายน้ำหนักตลอดช่วงลำตัวด้านบนโดยไม่กดทับเอวให้เจ็บ
นอกจากรัฐบาลจะผลิตให้ทหารใช้แล้วเอกชนอีกหลายบริษัทยังผลิตจำหน่ายเป็นทางเลือก เช่นแบล็คฮอว์ค อินดัสตรีและแบรนด์อื่นๆทั้งในและนอกสหรัฐฯ มอลลี่ของไทยเองที่ตัดเย็บได้ดีไม่แพ้กันก็คือแบรนด์”ค่าย”(KAIY)ที่ทหารและตำรวจรู้จักดีจากซองปืนรัดต้นขา เวสต์แบบต่างๆที่ใช้งานได้จริงและปัจจุบันเริ่มกลายเป็นทางเลือกของหน่วยงานรักษากฎหมายและกองทัพ ด้วยวัสดุดี ตัดเย็บประณีตและทน ข้อสำคัญคือราคาถูกกว่าแบรนด์นอกเป็นครึ่ง
ปัจจุบันกองทัพไทยเห็นความสำคัญของเกราะมากขึ้น เพียงแต่เวสต์ของเรายังไม่เป็นโมดูลาร์เต็มรูปแบบและยังต้องพัฒนาอีกมากด้านแบบและความกระชับ เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวก,ปลอดภัยและเป็นระเบียบ ข้อสำคัญที่ใครๆอาจลืมคิดไปคือแบบของมันต้อง”เท่”พอให้ทหารอยากสวมได้โดยไม่ต้องบังคับ อะไรที่มีประโยชน์ก็รับของเขามาใช้เถิด ทีเครื่องแบบลายพรางดิจิตอลยังเปลี่ยนตามเขาได้เลยนี่!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น