วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Ejection seat เก้าอี้เพื่อสุขภาพ




เก้าอี้ตามชื่อเรื่อง ไม่ใช่เก้าอี้เข็นคนไข้ในโรงพยาบาลหรือเก้าอี้นวดหยอดเหรียญตามห้าง แต่มันเป็นเก้าอี้เหล็กในเครื่องบินรบเจ็ตที่นักบินใช้ดีดตัวหนีตายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจนบังคับเครื่องต่อไปไม่ได้แล้ว เก้าอี้ดีดตัว(ejection seat)ที่มีอยู่ในเครื่องบินเจ็ตทุกเครื่องปัจจุบันนี้ มีวิวัฒนาการยาวไกลมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่1ไม่กี่ปี แม้สองพี่น้องตระกูลไรท์และนักสร้างเครื่องบินรุ่นต่อมาจะสร้างเครื่องบินได้หลายแบบ แต่นักบินทหารในสงครามโลกครั้งที่1บางส่วน ยังคงยึดความคิดว่าจะเสื่อมเสียเกียรติอย่างมากถ้าโดดหนีตายจากเครื่องบิน มีหลายนายที่ขึ้นบินโดยไม่พกร่มชูชีพ ความเร็วของเครื่องบินตอนนั้นยังช้าเกินกว่าจะมีคนคิดถึงเก้าอี้ดีดตัวกันอย่างจริงจัง กว่าจะตัดสินใจสร้างกันเป็นเรื่องเป็นราวก็เริ่มเอาเมื่อสงครามโลกครั้งที่1สงบ พัฒนาต่อกันมาถึงกลางสงครามโลกครั้งที่2และต้นสงครามเย็น นักบินที่ใช้มันอาจจะสุขภาพไม่ดีขึ้นก็จริงแต่ก็ยังรอด
เทคโนโลยีเจริญขึ้นเครื่องบินก็บินเร็วขึ้น ถ้าเครื่องยนต์ถูกพัฒนาให้แรงขึ้นได้นับแต่วันที่เครื่องบินเครื่องแรกบินได้ มันก็น่าจะแรงกว่าเดิมได้อีกในอีก20-30ปีข้างหน้า ยิ่งเครื่องแรงนักบินก็ยิ่งหนีเอาตัวรอดได้ยากเมื่อต้องสละเครื่อง
เก้าอี้เพื่อสุขภาพ(หรือเพื่อชีวิต)ของนักบินตัวแรกของโลกจึงเกิดขึ้น จากความคิดของเอฟเวอราร์ด คาลธรอป นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นร่มชูชีพซึ่งได้จดสิทธิบัตรเก้าอี้ดีดตัวด้วยอากาศอัดแรงดันสูงเป็นคนแรก ต่อมาไม่กี่ปีมันได้ถูกพัฒนาให้ดีกว่าเดิมด้วยฝีมือของอานาสตาเซ ดราโกมีร์นักประดิษฐ์ชาวโรเมเนีย ทดสอบจนใช้งานได้เมื่อ25สิงหาคม1929ในสนามบินออร์ลีกรุงปารีส เขาจดสิทธิบัตรเอาไว้ที่สำนักจดทะเบียนสิทธิบัตรกรุงปารีสเมื่อ2เมษายน 1930(สิทธิบัตรหมายเลข678566) แต่ยังไม่มีบริษัทสร้างเครื่องบินไหนซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิต เพราะตราบใดที่นักบินยังปีนออกจากค็อกพิตได้สบายๆก็ไม่เห็นจะต้องพึ่งพาเก้าอี้ดีดตัวให้ยุ่งยาก น้ำหนักก็มากแถมยังใช้ลมขับเคลื่อนอีกซึ่งยังถือว่าใหม่เหลือเกินสำหรับนักบินและวิศวกรในสมัยนั้น
กว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันกับความคิดได้ก็ล่วงเลยถึงสงครามโลกครั้งที่2ระเบิด เครื่องบินขับไล่ใบพัดเดียวทำความเร็วได้500-700ก.ม./ช.ม.แล้วเมื่อฮิตเลอร์เปิดฉากรุกรานโปแลนด์ แรงลมและแรงเหวี่ยงหนีศูนย์(แรงG)มากพอที่จะทำให้นักบินบาดเจ็บหรือตาย หากโดดออกไม่ไกลพอจนถูกแรงลมพัดไปฟาดกับแพนหาง หรือถ้าเคราะห์ร้ายดึงร่มเร็วเกินไปสายลมอาจพันกับตัวเครื่องจนร่วงพื้นพร้อมเครื่องบินเสียชีวิตได้เช่นกัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่2จึงมีบริษัทผู้สร้างเครื่องบินรายใหญ่ๆ สองบริษัทที่พัฒนาเก้าอี้ดีดตัวอย่างจริงจังแต่แยกกันทำงานคือไฮน์เกลของเยอรมนีและซาบของสวีเดน ที่พัฒนาเก้าอี้ดีดตัวตามแนวความคิดใช้อากาศอัด ไฮน์เกลทำเสร็จก่อนเพราะเยอรมันกำลังเร่งรุกไล่ประเทศคู่สงคราม แล้วบรรจุเก้าอี้ดีดตัวระบบอากาศอัดของตนลงในเครื่องบินเจ็ตต้นแบบรุ่นHe 280 และใช้เก้าอี้ดีดตัวแบบแรกด้วยในปี1940 เฮลมุท เชงค์คือนักบินทดสอบคนแรกของเยอรมันเช่นกันที่ได้ใช้เก้าอี้ดีดตัว เมื่อพื้นบังคับ(ปีกเล็กแก้เอียง,แพนหางตั้งและดิ่ง)ของเครื่องถูกน้ำแข็งจับจนบับคับเครื่องบินไม่ได้ในวันที่13มกราคม 1942
ส่วนทางสวีเดนที่ใช้อากาศอัดเช่นกันนั้นเริ่มทดสอบเมื่อปี1941 อีกแบบซึ่งใช้แรงระเบิดขับดันเก้าอี้จากดินปืนเป็นฝีมือของบริษัทโบฟอร์สที่มาสำเร็จและทดสอบในปี1943เพื่อจะใช้กับเครื่องบินซาบ21 แต่เก้าอี้ที่ได้ใช้งานจริงๆกลับเป็นซาบ17ที่ทดสอบเมื่อ27กุมภาพันธ์1944 นักบินของสวีเดนได้มีประสบการณ์ตรงกับเก้าอี้ดีดตัวรุ่นแรกนี้ในปฏิบัติการจริงเมื่อ29กรกฎาคม1946 ในอุบัติเหตุชนกันกลางอากาศระหว่างเครื่องบินชาติเดียวกันคือเจ21และเจ22 ผลคือนักบินรอดทั้งคู่เพราะเก้าอี้ดีดตัวรุ่นใช้งานนี้มีอุปกรณ์นิรภัยพร้อม
ย้อนกลับมาทางด้านเยอรมนีในปี1944 เครื่องบินขับไล่เจ็ตของไฮน์เกลรุ่นเอชอี162”โฟล์คชทวร์ม”ดูเหมือนจะไปได้ไกลกว่าสวีเดนตรงที่ใช้เก้าอี้ระบบคล้ายคลึงปัจจุบัน คือพุ่งขึ้นด้วยแรงดันแก๊ซจากดินระเบิด ตัวเก้าอี้เลื่อนขึ้นตามรางด้วยลูกล้อหลังพนัก ดูกันตามสภาพแล้วไม่น่าจะให้นักบินปีนแล้วโดดเองเลยเพราะเครื่องยนต์เจ็ตอยู่เหนือห้องนักบินพอดี มีสิทธิ์ถูกดูดเข้าไปตายคาเครื่องยนต์ตัวเองถ้าไม่ดีดให้ห่าง ช่วงสงครามใกล้สงบเครื่องบินรุ่นปลายๆของเยอรมันต่างติดตั้งเก้าอี้ดีดตัวชนิดนี้เป็นแถว ทั้งดอร์นีร์ โด-335”ฟีล”,เมสเซอร์ชมิตต์ เอ็มอี-262”ชวัลเบ”และเอ็มอี-163”โคเม็ต”
สภาพการณ์เป็นไปดังคาดเอาไว้จริงๆ เครื่องบินรบทำความเร็วสูงขึ้นได้จนใกล้ทะลุกำแพงเสียง ดาวรุ่งพุ่งแรงด้านนี้กลับไม่ใช่สวีเดนและเยอรมนีที่นำแนวคิดของนักประดิษฐ์ชาวโรมาเนียมาพัฒนา ชื่อที่ต่อมาเป็นที่คุ้นหูของนักบินขับไล่ทั่วโลกกลับกลายเป็นของเซอร์เจมส์ มาร์ติน และบริษัทของเขาคือมาร์ติน เบเคอร์ที่ผลิตเก้าอี้ดีดตัวให้เครื่องบินรุ่นแล้วรุ่นเล่าของค่ายตะวันตกมาตลอด เริ่มต้นด้วยแบบดีดตัวลงล่างแทนที่จะพุ่งขึ้นบนเหมือนปัจจุบัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นรูปแบบต่างๆทั้งดีดเก้าอี้ตัวเดียวและดีดได้ทั้งค็อคพิตแบบยกลอยทั้งยวง ปัจจุบันมาร์ติน-เบเคอร์คือเก้าอี้ดีดตัวที่ดีที่สุดที่ได้รับความไว้วางใจ ให้ประกอบเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆรวมทั้งเอฟ16และยาส39”กริปเปน”ที่จะเข้าประจำการในท.อ.ไทย
ระบบเก้าอี้มาร์ติน-เบเคอร์สมบูรณ์แบบประกอบเครื่องบินทดสอบ ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อ24กรกฎาคม 1946 นักบินผู้โชคดีคือเบอร์นาร์ด ลินช์ผู้ดีดตัวออกจากเครื่องบินกลอสเตอร์ มีทีออร์ มาร์ค3 ถัดมาคือ17สิงหาคมปีเดียวกันจ่าสิบเอกลาร์รี่ แลมเบิร์ตแห่งสหรัฐฯก็ดีดตัวตาม แล้วหลังจากนั้นเครื่องบินรบโดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินโจมตีทั้งอังกฤษและอเมริกันทุกแบบต่างต้องติดตั้งเก้าอี้ชนิดนี้
เก้าอี้ดีดตัวใช้งานจริงยุคแรกๆจะใช้เชื้อเพลิงแข็งยิงตัวนักบินออกไปพร้อมเก้าอี้ ด้วยการจุดระเบิดในท่อติดหลังที่นั่งให้เก้าอี้และนักบินพุ่งออกไปตรงๆเหมือนกระสุน พอความเร็วเครื่องบินสูงขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด วิธียิงตัวนักบินพ้นเครื่องแบบนี้ก็เริ่มไม่เหมาะสมเพราะนักบินอาจลอยไม่พ้นตัวเครื่อง และความแรงของระเบิดอาจทำให้กระดูกสันหลังหัก การใช้เครื่องยนต์จรวดจึงเข้ามาแทนที่ในช่วงทศวรรษที่1960กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง เพื่อให้ดีดได้ไกลกว่าและนุ่มนวลกว่ารวมทั้งปลอดภัยกับตัวนักบิน ถึงจะคิดเอาไว้เผื่อให้ดีดตัวได้ในความเร็วเหนือเสียง แต่ในสภาพจริงนักบินมักจะดีดตัวกันที่ความเร็วต่ำกว่าเสียงเป็นส่วนใหญ่ หลังจากพยายามบังคับเครื่องกันสุดความสามารถและดีดตัวออกเมื่อตระหนักว่าควบคุมเครื่องบินไม่ได้แล้วเท่านั้น
วัตถุประสงค์ของเก้าอี้ดีดตัวแท้ๆคือเพื่อให้นักบินรอด คำว่า”รอด”ก็คือยังมีชีวิตอยู่โดยอาจมีอาการไม่ปกตินักหลังจากใช้มัน มีหลายรายที่แข้งขาหักเพราะดีดตัวที่ความเร็วเกิน1มัคจากความเร็วลมที่พัดปะทะจนอวัยวะบิดตัว และอีกมากที่ต้องหยุดบินไปเลยเพราะพิการหรือบาดเจ็บหนักจนการบินความเร็วสูงอาจเป็นอันตราย นอกจากจะพบกับลมปะทะรุนแรงแล้วนักบินยังต้องพบกับแรงเหวี่ยงหนีศูนย์มากถึง 12-14จี ถือว่ากรุณากันมากแล้วสำหรับเก้าอี้ดีดตัวจากยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ เก้าอี้ของค่ายโซเวียตช่วงทศวรรษ1960-70ทารุณกรรมนักบินของตนหนักกว่านั้นด้วยแรงเหวี่ยง20-22จี แต่ปัจจุบันเก้าอี้ดีดตัวทั่วโลกถูกพัฒนาให้นักบินดีดได้สบายตัวยิ่งขึ้นไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปแบกรับแรงจีมากเหมือนยุคแรกๆ
ใช่ว่าตัวนักบินจะได้รับผลกระทบจากการดีดด้วยเครื่องยนต์จรวดหลังที่นั่ง ตัวเครื่องบินเองก็โดนหนักไม่แพ้กัน อุปกรณ์ในห้องนักบินทั้งหมดจะถูกไฟท้ายจรวดเผาไหม้ใช้การไม่ได้ และตัวแอร์เฟรม(โครงสร้าง)เองก็จะถูก”กระทืบหนี”ด้วยพลังมหาศาลประมาณ20จี ในทางเทคนิคแล้วนักบินจะดีดหนีเครื่องเมื่อบังคับเครื่องไม่ได้กลางอากาศ ปล่อยให้เครื่องบินตกพังเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ คำถามต่อมาคือ”ถ้าเครื่องบินขัดข้องบนรันเวย์แล้วนักบินดีดตัวออกล่ะ ตัวเครื่องบินที่ยังไม่ตกแต่จอดบนพื้นจะใช้งานได้หรือไม่?” ตอบได้ว่าเครื่องบินเครื่องนั้นต้องถูกเอ็กซ์เรย์โครงสร้างหารอยร้าวกันทั้งลำ เปลี่ยนอุปกรณ์ภายในห้องนักบินใหม่ทั้งระบบด้วยเงินมหาศาล ไม่จำหน่ายทิ้งก็เหมือนจำหน่ายเพราะซ่อมนานและแพง หลังจากนั้นคงไม่มีใครอยากบินกับมันอีกเพราะคงหาความมั่นใจในความปลอดภัยได้ยาก
“เก้าอี้ตัวนี้ราคาเท่าไร?” คำถามคลาสสิกที่เกิดขึ้นเสมอพร้อมการเสนอบทความทางยุทโธปกรณ์ จะแพงแค่ไหนนั้นขึ้นกับระบบที่มีหลากหลาย ทั้งอัตโนมัติและที่นักบินต้องบังคับเอง ซึ่งมีตั้งแต่ไม่กี่ล้านจนถึง50กว่าล้านบาทหรือมากกว่านั้นได้อีกตามความซับซ้อนของระบบ เครื่องบินขับไล่เอฟ16ที่มีในกองทัพอากาศของไทยนั้นเป็นแบบเอซเซสทูว์(Ace II)ของมาร์ติน-เบเคอร์ สนนราคาตัวละ(ประมาณ)50ล้านบาท นั่งก็ไม่สบายเหมือนเก้าอี้นวมที่บ้านแต่ช่วยนักบินรอดได้ แพงบ้าเลือดแต่ก็คุ้มเมื่อเทียบกับชีวิตมนุษย์ซึ่งประมาณค่ามิได้ โดยเฉพาะนักบินซึ่งกว่าจะฝึกให้พร้อมรบได้รัฐต้องเสียงบประมาณต่อคนไปมากพอๆกับราคาเก้าอี้ อยากให้จบในตอนนี้เหลือเกินแต่ยังมีรายละเอียดให้เสนอต่อ ฉบับหน้าจะได้ทราบกันล่ะว่ามันดีดตัวออกได้อย่างไร





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น