วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

เกราะกันกระสุน



โดยสรศักดิ์ สุบงกช
sosak@me.com
ในการสู้รบให้ชนะนั้นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ยุทธวิธีที่เหนือกว่าคือการช่วงชิงความได้เปรียบ อันตีความหมายได้ตั้งแต่ชัยภูมิที่ดีกว่าลงมาถึงกำลังพลที่พร้อมกว่า ซึ่งความพร้อมส่วนใหญ่เกิดความความมั่นใจเมื่อฝึกฝนมาดี มีอาวุธเหนือกว่า แต่ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือทหารต้องมั่นใจด้วยว่าตนเองมีเครื่องป้องกันเพียงพอ และความคิดนี้เองคือที่มาของเกราะ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะ แผ่นเกราะ โล่และเครื่องป้องกันอื่นๆที่เราทำขึ้นใช้ตั้งแต่เพิ่งรู้จักการประหัตประหารกันเองเมื่อหลายพันปีก่อน เมื่ออาวุธถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อำนาจทะลุทะลวงสูงขึ้น เกราะก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทันกันด้วยวัสดุต่างๆตั้งแต่แผ่นเหล็กกล้ามาถึงเคฟลาร์และเซรามิกในปัจจุบัน
สหรัฐฯคือประเทศใหญ่ที่ยึดเสรีภาพเป็นที่ตั้ง แต่บางครั้งก็เสรีกันจนเกินขอบเขตจนเลยเถิดเกิดเหตุล้มตายกันอย่างไร้เหตุผล เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งหนึ่งที่เป็นข่าวไปทั่วโลกคือ"การล้อมปราบในฮอลลีวูดเหนือ"(North Hollywood Shootout)เมื่อปี1997เมื่อเพื่อนสนิทสองคนคือลาร์รี่ ฟิลลิปส์ จูเนียร์กับเอมิล มาตาซาเรนูได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงขึ้น ด้วยการควงอาวุธสงครามทั้งปืนเล็กยาวและปืนพกเข้าปล้นธนาคารแห่งอเมริกาในเขตนอร์ธ ฮอลลีวูด นครลอส แอนเจลิสเมื่อวันที่28กุมภาพันธ์ ทั้งคู่เตรียมการกันมาอย่างดีด้วยการจัดหาอาวุธสงครามมาทั้งปืนเล็กยาวเอเค47 (อาก้า),เอชเค33,ปืนพกกึ่งอัตโนมัติเบเรตตา และกระสุนทั้งขนาด5.56และ7.62..รวมเกือบสี่พันนัด เหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงเร็วกว่านี้และทั้งคู่อาจไม่ได้ใช้กระสุนถึงสองพันนัดตามที่เป็นข่าว ถ้าทั้งลาร์รี่และเอมิลไม่สวมเกราะกันกระสุนคลุมทั้งตัวจนถึงโคนขา

เรื่องมาจบเอาเมื่อลาร์รี่ตัดสินใจยิงตัวเองตายเสียก่อนเมื่อจวนตัวเมื่อปืนอาก้าของเขาขัดลำกล้อง แต่ไม่สามารถดึงคันรั้งลูกเลื่อนคัดปลอกได้เพราะมือถูกยิง ส่วนเอมิลที่รอดและพยายามชิงรถหนีก็พาตัวเองไปได้ไม่ไกล เขาถูกยิงที่ลำตัวซึ่งถูกปกคลุมด้วยเกราะหลายนัดแต่ไม่ระคายผิว มาเสียท่าเอาเมื่อถูกหน่วยสวาทยิงลอดใต้ท้องรถเข้าที่ขาจนทรุดแล้วถูกยิงซ้ำในจุดอ่อนต่างๆก่อนจะถูกรวบ แต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนสิ้นใจตายตกไปตามกัน ผลจากการยิงกันสนั่นเมืองครั้งนั้นคือนอกจากโจรทั้งคู่จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุแล้วยังทำให้ตำรวจ11นายกับพลเรือนอีก7คน ต้องบาดเจ็บทั้งสาหัสและเล็กน้อยตามไปด้วย ทั้งนี้ยังไม่รวมยวดยานและทรัพย์สินในบริเวณที่ต้องพรุนไปด้วยอำนาจของกระสุนรวม2,000นัด!
เหตุการณ์บานปลายและยืดเยื้อได้เป็นชั่วโมงก็เพราะคำๆเดียวคือ"เกราะ"
เกราะที่โจรทั้งคู่สวมนั้นเป็นเกราะกันกระสุนที่กันได้ตั้งแต่กระสุนปืน.22ลูกกรดไปจนถึง7.62มาตรฐานนาโตซึ่งมีใช้ทั้งในปืนอาก้าของรัสเซียและปืนเล็กยาวเอ็ม14กับปืนกลประจำหมู่เอ็ม60ของสหรัฐฯ เพราะลาร์รี่กับเอมิลสวมเกราะกันกระสุนทั้งคู่จึงมั่นใจยืนรับกระสุนปืนพกจากตำรวจนครบาลลอส แอนเจลิสอยู่ได้เป็นชั่วโมง สามารถสาดกระสุนใส่ฝ่ายจับกุมได้แบบไม่กลัวเปลือง นี่คือตัวอย่างอันเด่นชัดที่สุดของประสิทธิภาพแห่งเกราะเคฟลาร์(ชื่อทางการค้าของบริษัทดูป็องต์ ซึ่งแท้จริงแล้วสร้างจากเส้นใยอารามิด(Aramid)บดอัดด้วยแรงดันและความร้อนสูง) ผมยกตัวอย่างสองโจรแห่งนอร์ธ ฮอลลีวูดก็เพราะมันชัดเจน ทุกท่านที่อ่านบทความนี้สามารถเข้าไปดูการดวลกันสดๆได้ที่www.youtube.comด้วยการป้อนคำว่า North Hollywood Shootoutลงไปแล้วทุกสิ่งก็จะประจักษ์แก่ตาของท่านเอง
ในโลกปัจจุบันนี้ที่ การสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบจากการตั้งกระบวนทัพเรียงหน้าชนเหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่1-2มาเป็นสงครามยาเสพติด,สงครามต่อต้านการก่อการร้ายไร้แนวรบ จากการยิงกันในระยะ300-1,000เมตรลดลงมาเหลือใกล้ๆแค่10-30เมตรในรูปแบบของการสู้รบระยะประชิด(Close Quarters Battle:CQB) บางครั้งก็ต้องเคลียร์อาคารกันแบบหลังต่อหลัง เครื่องช่วยเล็งจึงต้องปรับตามจากศูนย์เปิดธรรมดาของปืนเล็กยาวมาเป็นศูนย์จุดแดง(red dot)ที่เพียงทาบจุดเข้ากับเป้าก็สามารถยิงได้ เร็วกว่าศูนย์เปิดซึ่งต้องเรียงทั้งสามจุดให้เป็นแนวเดียวกันทั้งเป้า-ศูนย์หน้า-ศูนย์หลัง ที่สำคัญคือผู้อยู่ในสถานการณ์สู้รบแบบCQBต้องสวมเกราะกันกระสุน ทั้งเพื่อความปลอดภัยและเพื่อบรรเทาความบาดเจ็บ
ตำแหน่งของร่างกายมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือบริเวณลำตัวและช่องท้องทั้งหมด จะถูกป้องกันไว้ด้วยเกราะที่หนาที่สุด เกราะในส่วนนี้มีให้เลือกได้ทั้งแบบที่บางพอจะสวมเสื้อผ้าทับได้ไปจนถึงแบบเป็นแผ่นที่จะสอดไว้ในเสื้อเกราะ(plate carrier) โดยเกราะแบบแรกนั้นถูกสร้างขึ้นจากเคฟลาร์เป็นส่วนใหญ่เพื่อให้กันกระสุนได้ในระดับปืนพก ตั้งแต่.22ถึง11.. สวมซ่อนไว้ภายในเครื่องแบบเพื่อไม่ให้เป็นพิรุธ หรือทำเป็นเสื้อกั๊กไว้ด้านนอกก็ได้ผู้ใช้เกราะอ่อนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามอื่นที่มีโอกาสสู้รบอย่างเต็มรูปแบบได้น้อย


ส่วนอย่างหลังที่เป็นแผ่นเกราะนั้นจะติดตัวผู้ใช้ได้วิธีเดียวคือต้องใช้เสื้อเกราะซึ่งปัจจุบันนี้ออกแบบให้เป็นแบบแยกส่วน(modular) ซึ่งมีช่องให้สอดแผ่นเกราะได้รอบตัวรวมทั้งภายนอกยังทำเป็นช่องไว้ประกอบซองกระสุนสำรอง และอุปกรณ์อื่นๆเช่นระเบิดสังหาร,ระเบิดแสง,สายรัดข้อมือฯลฯ ตามแต่ภารกิจ ผู้ใช้เกราะชนิดนี้จึงต้องเป็นทหารหรือกองกำลังที่เน้นการสู้รบด้วยอาวุธสงคราม ผ่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างเข้มข้น
นอกจากลำตัวซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ถูกยิงง่าย เกราะยังครอบคลุมไปถึงศีรษะซึ่งมีโอกาสถูกยิงได้เช่นกันถ้าฝ่ายตรงข้ามเล็งแม่นพอ ปัจจุบันนี้ในเมื่อยังไม่พบวัสดุใดที่จะทนอำนาจการทะลุทะลวงจากกระสุนได้ดีเท่าเคฟลาร์ มันก็ยังคงเป็นที่พึ่งของกองทัพทั่วโลก หมวกนิรภัยAdvance Combat Helmet(ACH)ของกองทัพสหรัฐฯที่สร้างจากเคฟลาร์นั้นสามารถทนกระสุนปืนพก11..ได้ในระยะ5เมตรขึ้นไป กระสุนปืนเล็กยาวขนาด5.56หรือ7.62อาจทำอันตรายให้ผู้สวมได้เช่นกันถ้ายิงเข้าแนวตั้งฉาก แต่ถ้าแฉลบก็ต้องถือว่าโชคดี นอกจากเคฟลาร์จะถูกนำมาสร้างเกราะป้องกันลำตัวกับศีรษะแล้วมันยังเลยไปถึงบริเวณสำคัญคือโคนขาและอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่โคนขาซึ่งมีเส้นเลือดใหญ่แล่นผ่านนั้นหากถูกยิงตัดเส้นเลือดทหารอาจตายได้เพราะเลือดไหลไม่หยุด ไม่ต่างจากถูกตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ลำคอ
เพื่อให้เกราะกันกระสุนทั่วโลกเป็นมาตรฐานเดียวกัน และหน่วยงานสามารถเลือกใช้เกราะได้เหมาะสมกับภารกิจ สถาบันวิจัยแห่งกระทรวงยุติธรรมแห่งชาติ(National Institute of Justice:NIJ) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาสังกัดกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ จึงได้วางมาตรฐานด้านเกราะกันกระสุนขึ้นเป็นระดับ(level) ไม่ว่าเกราะนั้นจะสร้างจากผ้าไหม,เส้นใยอารามิดหรือเซรามิกก็ตาม ต้องป้องกันกระสุนได้ตามระดับที่NIJกำหนดดังนี้
เกราะอ่อน:
level 1 -ป้องกันกระสุนขนาด.22LRและ.380ACP
level 2A -ป้องกันกระสุนขนาด9..,.40 S&Wและ.45 ACP
level 2 -ป้องกันกระสุนขนาด9..SIGและ.44Magnum
แผ่นเกราะ
level 3 -ป้องกันกระสุน7.62..(NATO),.308 Winchesterได้รวม6นัดสูงสุดร่วมกับเกราะอ่อน
level 3+ -ป้องกันกระสุน 7.62..(NATO),.308 Winchester ได้รวม6นัดสูงสุดโดยไม่ต้องเสริมเกราะอ่อน
level 4 -ป้องกันกระสุนเจาะเกราะขนาด.30-06 Springfield ได้นัดเดียวเมื่อไม่เสริมเกราะอ่อน
จากข้อสรุปของNIJอันเกิดจากการทดลองที่ได้มาตรฐาน ข้อสังเกตที่ผู้ใช้เกราะต้องระวังให้ดีคือแผ่นเกราะใดๆก็ตามไม่สามารถป้องกันกระสุนทำอันตรายต่อตัวท่านได้100เปอร์เซ็นต์ การเลือกใช้แผ่นเกราะเพียงเพราะคิดว่ามันเป็น"เกราะกันกระสุน"โดยไม่ศึกษาข้อกำหนดและขีดจำกัดให้ถ่องแท้จะทำให้ท่านเป็นอันตรายได้ เช่นแผ่นเกราะ(ไม่ว่ามันจะสร้างจากเซรามิกหรือเคฟลาร์)ในlevel3 สามารถป้องกันกระสุนปืนอาก้าและ.308วินเชสเตอร์ได้เพียง6นัดเท่านั้น และต้องสวมในเสื้อเกราะทับแผ่นเกราะอ่อนด้วย(ผมจะกล่าวถึงเสื้อเกราะและอุปกรณ์ทางยุทธวิธีในตอนต่อไป) เพราะคมกระสุนและความเร็วประกอบกับมวลของมันจะทะลุทะลวงแผ่นเกราะเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง ก่อนจะถูกกระจายแรงไปด้วยแผ่นเกราะอ่อน ถ้าไม่มีแผ่นเกราะอ่อนช่วยกระจายแรงผู้ใช้เกราะอาจจะบาดเจ็บสาหัสได้แม้ไม่ตายก็ตาม
การใช้เกราะในlevel3ออกปราบปรามโดยไม่มีเกราะอ่อนเสริมหลัง จะแทบไม่ต่างจากการเอาเนื้อสดๆไปให้กระสุนเจาะเล่นเลย โดยเฉพาะถ้าฝ่ายตรงข้ามใช้อาก้าซึ่งยิงกระสุน7.62..สวนมา ส่วนที่รับกระสุนได้ไม่เกิน6นัดสูงสุดนั้นก็เพราะแรงกระแทกและทะลุทะลวงจะทำให้เนื้อเกราะเสื่อมสภาพไม่สามารถป้องกันกระสุนได้อีก และเมื่อถูกยิงแม้เพียงนัดเดียวหากจะออกปฏิบัติหน้าที่อีกก็ต้องเปลี่ยนแผ่นเกราะเอาแผ่นใหม่ใส่แล้วทิ้งเกราะเก่าไปเลย แผ่นเกราะในlevel3+ก็เช่นกัน แม้ว่าตามข้อกำหนดบอกไว้ว่าสามารถป้องกันกระสุนอาก้าได้ตามลำพังไม่ต้องเสริมเกราะอ่อน แต่ถ้าหาเกราะอ่อนเสริมหลังได้ก็น่าจะดีกว่าเข้าทำนอง"กันไว้ดีกว่าแก้" ความคิดนี้ยังรวมไปถึงแผ่นเกราะในlevel4ด้วย
ด้วยรูปแบบของการรบในเมืองและCQBที่กลายเป็นหลักนิยมของการทำสงครามทั่วโลก เสื้อเกราะและแผ่นเกราะกันกระสุนจึงได้กลายเป็นอุปกรณ์ทางยุทธวิธีอันสำคัญยิ่ง เพื่อช่วยเสริมทั้งขวัญกำลังใจและรักษาชีวิตทหารไว้ การจัดหาเกราะกันกระสุนและอุปกรณ์ทางยุทธวิธีที่ดี สามารถเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ได้จริงจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า การที่กองทัพจัดหาเกราะดีๆได้มาตรฐานสักชุดให้ทหาร ฝึกฝนให้ใช้มันเป็น ตระหนักถึงความสำคัญของเกราะ เลือกใช้เกราะได้เหมาะสมกับภารกิจ ถึงแม้มันอาจจะดูเหมือนแพงแต่ก็ยังถูกมากๆเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องเสียไป เพื่อดูแลคนพิการหรือจิตใจของคนอีกหลายคนที่ต้องสลายจากความสูญเสีย

และเป็นสิ่งที่กองทัพในชาติที่เจริญแล้วเขาปฏิบัติกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น