วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

18…16…12 หรือแค่6? (จบ)


ดังที่ขึ้นหัวเรื่องไว้เป็นตัวเลข และตัวเลขนี้คือจำนวนเครื่องบินขับไล่ใน1ฝูงนั่นเอง จะป้องกันชาติให้ได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยจำนวน ซึ่งตามมาตรฐานของกองทัพอากาศทั่วโลกระบุไว้ว่าต้องเป็นฝูงละ18เครื่องโดยคำนวณจากอัตราความสูญเสีย(attrition rate)ทั้งในยามปกติและยามสงคราม จำนวน16คือทางเลือกเมื่อใช้เครื่องบินประสิทธิภาพสูงขึ้น 14เครื่องคือจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่ยอมให้บินได้โดยยังคงประสิทธิภาพไว้พอประมาณ 12เครื่องคือจำนวนที่กองทัพอากาศไทยต้องการ ซึ่งยังน้อยกว่ามาตรฐานหากเกิดเหตุให้ต้องใช้เครื่องบินรบ น้อยกว่ามาตรฐานคือการนำเครื่องบินฝูงนั้นเข้าสมรภูมิแล้วมีโอกาสอยู่รอดน้อย ต้องใช้เทคโนโลยีเครือข่ายและระบบอาวุธช่วยกันสุดๆเพื่อดำรงความอยู่รอดไว้ให้ได้

จำนวนสุดท้ายคือ6เครื่องอันเป็นล็อตแรกของเครื่องบินขับไล่JAS39”กริปเปน” ซึ่งถือว่ามีไว้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย หากไม่เพิ่มก็มีโอกาสมากกว่า90เปอร์เซ็นต์ที่จะละลายเงินภาษีทิ้งทีละหมื่นกว่าล้านบาท แต่ยังต้องเอามาเพราะมีแผนจะจัดหาให้ได้12เครื่อง การตัดงบประมาณโดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้และไม่กำหนดให้แน่ชัดว่าจะได้เครื่องบินจำนวนหลังอีกเมื่อไรนั้น ถือว่ารัฐบาลเองก็มีส่วนอย่างมากในการผลาญเงินงบประมาณมหาศาลทิ้งไปเปล่าๆ ลองมาดูกันว่าทำไมจำนวนเครื่องบินจึงสำคัญ

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การจะกำหนดให้เครื่องบินขับไล่/โจมตี มีฝูงละกี่เครื่องนั้น กองทัพอากาศจะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด เช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2นั้นจะทิ้งระเบิดเป้าหมาย1แห่งต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดกับเครื่องบินขับไล่คอยคุ้มกันรวมกันหลายร้อยเครื่อง ครั้นมาถึงสงครามเวียตนามสหรัฐฯใช้เอฟ105จัดหมู่บิน32-36เครื่องเพื่อทำลายเป้าเพียงเป้าเดียว กว่าจะทำลายสะพานธานห์ หัวในเวียตนามเหนือได้ก็เสียเครื่องบินไป11เครื่องกับระเบิดอีกเป็นร้อยลูก ต่างกับปัจจุบันที่ใช้เครื่องบินเพียง2เครื่องที่บินเพียงเที่ยวเดียวกับระเบิดฉลาดไม่กี่ลูกก็เล่นงานเป้าแบบเดียวกันได้

จำนวนเครื่องบินมากๆต่อฝูงเมื่อเกือบ40ปีที่แล้วเพราะเทคโนโลยียังพัฒนาไม่ไกลพอ ขั้นตอนเตรียมตัวของนักบินก่อนจะทำลายเป้าหมายในยุคนั้นยุ่งยาก ต้องบินเล็ดลอดเข้าไปถ่ายภาพเป้าให้ได้เสียก่อนแล้วนำมาตีความ ให้ทราบว่าเป้าสร้างจากอะไรแล้วประมาณระเบิดให้แรงพอทำลาย ได้เป้าแล้วรู้ขนาดระเบิดแล้วยังต้องคำนวณความสูงกับมุมทิ้งให้ได้อีกเพื่อจะทิ้งให้ถูก วิบากกรรมยังไม่หมดเพราะเมื่อบินจนถึงเป้าหมายแล้วยังมีทั้งลมให้ต้องเผื่อระยะ กับระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึกให้หลบหลีก การทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์จึงต้องใช้เครื่องบินมากเพื่อทิ้งปูพรม พึ่งได้แค่จำนวนระเบิดกับโชค

แต่ในปัจจุบันนี้นักบินมีตัวช่วยมากขึ้น ทั้งภาพถ่ายจากดาวเทียม ระบบระบุตำแหน่งภูมิศาสตร์(GPS) ระเบิดฉลาด(Smart Bomb)นำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ซึ่งทำได้ทั้งจากหน่วยรบภาคพื้นดิน เล็ดลอดเข้าไปฉายลำแสงทาบเป้าให้ระเบิดจับก็ได้ หรือจะให้มันพุ่งเกาะสัญญาณดาวเทียมเข้าเป้าตามพิกัดจีพีเอสก็ได้ เมื่อรู้เป้าหมายนักบินแทบไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากนำเครื่องบินมุ่งเข้าหา ภาพถ่ายดาวเทียมระบุได้ถึงโครงสร้างของเป้าและคำนวณขนาดของระเบิดให้เสร็จว่าต้องหนักกี่ปอนด์ แค่บินให้ได้ตามที่คอมพิวเตอร์บนเครื่องบอกเท่านั้นแล้วก็กดปุ่มปล่อยอาวุธ ก่อนจะหันหน้ากลับฐานได้เลยโดยไม่ต้องดูผลงาน เทคโนโลยีปัจจุบันรับประกันความถูกต้องของระบบอาวุธไว้เกือบ100%

จากสามสิบกว่าเครื่องเมื่อเกือบ40ปีก่อนลดมาเหลือ16เครื่องในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องบินและระบบอาวุธฉลาดขึ้น เมื่อผนวกกับระบบการรบแบบเครือข่ายที่สามารถนำเครื่องบินความเร็วสูงมารุมโจมตีเป้าหมายในเวลาอันสั้นได้ด้วยแล้ว อัตราการอยู่รอดของนักบินก็สูงขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีข้อแม้ว่าต้องด้วยปริมาณหนึ่งเท่านั้นอันเป็นมาตรฐาน ห้ามต่ำกว่านั้นเพราะบินขึ้นไปก็อาจไม่รอด หรือบินไม่ได้เพราะไม่ปลอดภัย ทำไมจึงพูดอย่างนั้น?

เพราะด้วยอัตราการสูญเสียซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทัพอากาศทั่วโลก เครื่องบินขับไล่/โจมตี1ฝูงจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแค่70% จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อ้างนี้กองทัพอากาศไทยไม่ได้กำหนดแต่เป็นอัตราสากลที่ใช้กันทั่วโลก เพราะเครื่องบินรบไม่เหมือนรถยนต์ มันประกอบด้วยวัสดุชิ้นส่วนและเทคโนโลยีอันละเอียดอ่อนมากมาย เมื่อถึงเวลาจึงต้องนำเข้าซ่อมบำรุงและตรวจสอบ เครื่องบินอย่างเอฟ16เมื่อครบ100ชั่วโมงต้องหยุดบินเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และโครงสร้างอย่างละเอียด อาจจะเร็วกว่านั้นถ้านักบินรีดเค้นประสิทธิภาพของเครื่องจนเกือบจะเกินรับไหว(เช่นเลี้ยวด้วยแรงจีสูงเกือบสุดขีดจำกัด) โกหกก็ไม่ได้เพราะคอมพิวเตอร์บนเครื่องมันฟ้อง และจะไม่เสี่ยงเพราะหมายถึงชีวิต

เมื่อบินได้จริงๆ70เปอร์เซ็นต์หากจัดฝูงบินไว้ฝูงละ16 ก็จะเหลือเครื่องที่ใช้งานได้จริงๆ(และปลอดภัย)11เครื่อง ซึ่งพอเอาเข้าจริงอาจจะน้อยกว่านั้นหากเกิดอุบัติเหตุ,ถูกยิงตก,ขัดข้อง,ไถลตกรันเวย์ ฯลฯ แล้วอีก11เครื่องถ้าไม่มีเหตุให้ลดจำนวนล่ะจะใช้บินได้เต็มที่หรือเปล่า? ไม่ใช่อีกเพราะต้องจอดพร้อมรบตลอดเวลา(alert)ให้วิ่งขึ้นได้ภายใน5นาที2เครื่อง รอผลัด2ภายใน2ชั่วโมงอีก2เครื่อง เพราะเจ็ตขับไล่สามารถอยู่ในอากาศได้เต็มที่2ชั่วโมงแต่อาจสั้นกว่านั้นถ้าขัดข้องหรือตก 2เครื่องทีเหลือก็ต้องวิ่งขึ้นแทน

สรุปคือจอดไว้นิ่งๆแล้ว4 เหลือบินได้7นักบินก็ต้องเอาออกไปฝึกบินตามวงรอบปกติเพื่อรักษาความสม่ำเสมอจะได้พร้อมรบ บินเดี่ยวบ้างแบ่งข้างฝึกยิงกันเองบ้างเพื่อความชำนาญ พอมีภารกิจจะได้รบแล้วกลับบ้านมาได้แบบเป็นๆทั้งคนและเครื่องบิน ที่ต้องบินทีละ2เครื่องก็เพราะเพื่อความปลอดภัยและผลในทางปฏิบัติตามยุทธวิธี ถ้าเป็นภารกิจอากาศสู่อากาศ(ทำลายเครื่องบินข้าศึก/ครองอากาศ)หนึ่งหมู่จะมี2เครื่อง แต่พอเป็นโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน1หมู่จะใช้4เครื่อง นี่คือคำว่า”มาตรฐาน”และเป็นจำนวนที่”ใช้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ”

ถ้าเหลือฝูงละ12เครื่อง จำนวน70%ของมันคือ8เครื่อง ยังสแตนด์บายฉุกเฉิน4เครื่องเท่าเดิมเหลือให้บินฝึกแค่4 อันหมายถึงขีดความสามารถของนักบินจะด้อยลงอีก ไม่อยากพูดถึงกริปเปน6เครื่องนี้เลยแต่ต้องพูดเพราะได้มาแค่นี้ ลองคิดดูแบบขมขื่นจะพบว่าแม้จะมีระบบเครือข่ายช่วยก็ตามเจ้าสิงโตมีปีกจากสวีเดนก็จะแทบเหมือนลูกแมวหงอยๆไปเลยด้วยจำนวน เพราะ70%ของ6คือ4เครื่อง! เอาจอดสแตนด์บายให้พร้อมบินขึ้นใน5นาทีแค่2เครื่องนั้นพอได้ แต่ถ้าต้องทำภารกิจต่อเนื่องนั้นอย่าหวังเพราะแทบไม่เหลือ เหลือเครื่องให้นักบินฝึกแค่2เครื่องอีก2เครื่องเข้าตรวจสอบตามกำหนดก็บินไม่ได้ ไหนจะต้องใช้เครื่องบินแบบอื่นมาเป็นข้าศึกสมมุติอีก พอเอฟ5ถูกปลดประจำการไปแล้วคงไม่พ้นต้องโยกฝูงใดฝูงหนึ่งของเอฟ16ไปไว้ที่สุราษฎร์

เรื่องแบบนี้กองทัพอากาศเขาคงไม่ได้นั่งเทียนชงเรื่องของบประมาณมาผลาญหรอกครับ ตัวเลขมาตรฐานมันมีอยู่ตรวจสอบได้ ถ้าจะบิดเบือนว่าแพงก็เพราะจงใจจะพูดให้เสียหาย ที่จริงแล้วเราซื้อทั้งระบบไม่ได้ซื้อแค่เครื่องบินอย่างเดียว(ค้นบทความเดิมของผมในบล็อกหัวเรื่องอ่านได้ ชื่อเรื่อง”กริปเปน ความจำเป็นและเหตุผล) เขายอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เอานักบินและช่างเครื่องเราไปกินไปนอนไปฝึกอยู่สวีเดนเป็นปี โรงงานสร้างอะไหล่ก็จะมาเปิดในบ้านเราอีก ถ้าใครจะโจมตีกันก็ขอให้ดูสักนิดว่าสวีเดนคือประเทศที่โปร่งใสและยินยอมให้ผู้สงสัยเข้าตรวจสอบ เงินทุกบาทที่เราจ่ายนั้นตรงเข้าคลังของรัฐบาลสวีเดนแน่ไม่มีตกหล่น เราไม่ได้ซื้อยุทธภัณฑ์จากประเทศล้าหลังที่มีแต่เรื่องทุจริต แต่ซื้อจากสวีเดนที่สะกดคำว่าคอรัปชั่นไม่ถูกด้วยซ้ำ

ต้นปีพ.ศ.2554นี้กริปเปน6เครื่องแรกจะมาพร้อมระบบเครือข่ายและอื่นๆ ตามความเป็นจริงแล้วสามารถจัดฝูงกริปเปนให้น้อยกว่าเอฟ16ได้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย แต่ให้นักบินเก่งรบได้ไม่โดนยิงตกก็ควรเป็น14ไม่ใช่12 ที่กองทัพอากาศเขาขอไปแค่นี้ก็ถือว่ายอมกันถึงที่สุดแล้ว เพราะเข้าใจว่าเป็นของแพงและรัฐบาลเราไม่มีเงิน ถึงมีก็เอาไปทำอย่างอื่นหมด(ไม่ได้พูดสักคำนะว่าผลาญ) เงินจำนวนเกือบสองหมื่นล้านกับการใช้เครื่องบินทั้งฝูงได้40ปี คิดออกมาเป็นปีเป็นเดือนแล้วยังถูกกว่าการเอาเงินจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าไปละเลงเล่นในโครงการอื่นๆของรัฐบาล

ถึงตรงนี้ถ้าจะบอกว่า”ซื้อยกโหลคุ้มกว่า”ตามเหตุผลที่ยกมาอ้างก็ต้องใช่ เพราะครึ่งโหลมันทำอะไรไม่ได้จริงๆ แล้วไหนจะเครื่องบินทั้งเอฟ5อี/เอฟกับเอฟ16เอ/บีที่จะทยอยปลดประจำการอีกในอนาคตอันใกล้ ไม่นับแอล39กับอัลฟาเจ็ต ความหนักใจจึงใช่ว่าจะมีแต่ปัญหากริปเปนเท่านั้น อาการของกองทัพอากาศน่าเป็นห่วงจริงๆถ้ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการต่อรองด้วยกำลังทางอากาศ ขนาดเราเลือกเป้าทิ้งระเบิดในเขมรได้ตามใจชอบเขาก็ยังกำแหงขนาดนี้ ถ้าเราอ่อนแอลงโดยไม่มีอะไรทดแทนพี่น้องของเราจะเสียเลือดเนื้ออีกเท่าไรถ้าเขาก่อเรื่องหนักกว่าเดิม?

เรามีกำลังทางอากาศที่ใช้งานได้คุ้มเพื่อสันติ เพื่อไม่ต้องรบครับ สิงคโปร์ไม่เคยรบกับใครแต่มีนภานุภาพมากจนต้องฝากอเมริกากับเราเก็บไว้ มาเลเซียมีซู30ที่บินไกลถึงกรุงเทพโดยไม่ต้องเติมน้ำมันกลางอากาศ พม่าไม่ได้รบกับเราเหมือนกันแต่มีมิก29ที่บินได้ไกล ขนระเบิดได้มากพอกันไว้เพื่ออะไร? ถ้าคุณคิดไม่ซื่ออยากกินมะม่วงของเพื่อนบ้าน ระหว่างบ้านที่เลี้ยงหมาชิสุกับร็อตไวเลอร์คุณจะเลือกปีนรั้วบ้านไหน?

ฝากปัญหานี้ไว้ให้ท่านผู้ทรงเกียรตินำไปไตร่ตรองครับ หวังว่าพวกท่านคงจะคิดได้ถ้ารักชาติกันจริงๆ!


18…16…12 หรือแค่6? (1)


แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” เป็นประโยคภาษาไทยที่ถูกแปลมาจากภาษิตภาษาลาตินว่า” Si vis pacem, para bellum” ตรงกับประโยคภาษาอังกฤษว่า”If you wish for peace,prepare for war” แต่ใครจะพูดไว้นั้นผมใคร่จะให้เป็นการบ้านของท่านผู้อ่าน ด้วยไม่อยากให้กลายเป็นบทความทางภาษาศาสตร์ไปเสียเปล่าๆซึ่งไม่ใช่แนวของบทความนี้

ภาษิตตอนต้นเรื่องนั้นฟังดูเหมือนง่าย ถ้าไม่อยากรบก็ต้องเตรียมกองทัพให้พร้อม พอตะพดของเราใหญ่กว่าก็ไม่ต้องเกรงกลัวใครหน้าไหนทั้งนั้น กลัวใจตัวเองจะอดไม่ไหวที่จะไปรุกรานเขาก็พอ การเตรียมทัพให้พร้อมล้อมรั้วบ้านให้แข็งแรงยังใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ไม่ต้องยกตัวอย่างกองทัพสหรัฐก็ได้เพราะเขาถนัดทางรุก อเมริกาไม่เคยมีสงครามในดินแดนตัวเองเพราะส่งทหารไปรบนอกบ้านตั้งแต่เริ่มมีกองทัพ ตั้งแต่ปราบสลัดมุสลิมในชายฝั่งบาบารี่สมัยโธมัส เจฟเฟอร์สันจนเป็นต้นกำเนิดนาวิกโยธิน จนถึงส่งทหารไปรบในยุโรป เกาหลี เวียตนามและล่าสุดคืออิรักกับอาฟกานิสถาน

ตัวอย่างที่ดีของ”แม้หวังตั้งสงบฯ”กลับไปอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน สองชาติเล็กๆในยุโรปที่แม้แต่เยอรมนีและรัสเซียเองก็ยังไม่กล้ายุ่ง ใครที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นานพอจะพบว่าประเทศนี้ไม่ค่อยมีฐานทัพให้เห็น แต่เมื่อพิจารณาให้ดีในจุดสำคัญตามชายแดนจะพบว่าบ้านช่องธรรมดานั้นมีช่องให้ปืนใหญ่โผล่ออกมา ยามปกติจะถูกซ่อนพรางอย่างแนบเนียน เมื่อจะใช้งานปืนใหญ่และปืนกลหนักจึงจะเผยตัว ยิงตามแนวและวิถีกระสุนที่ถูกคำนวณปรับแต่งคลุมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว

หน้าผาหินถูกเจาะเข้าไปเป็นฐานทัพใต้ภูเขาแล้วสร้างประตูโลหะฉาบปูนทับ ตกแต่งเลียนแบบสภาพตามธรรมชาติได้เนียนแม้แต่ปลูกต้นไม้ให้กลมกลืน เมื่อข้าศึกเคลื่อนเข้ามาในแนวทั้งที่ตรวจการณ์หน้าดีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายจะถูกทำลายเมื่อจู่ๆหน้าผาหินก็เลื่อนออกให้ทั้งทหารและยวดยานเข้าประจำที่ตั้ง เยอรมันไม่ยึดสวิตเซอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่2เพราะไม่คุ้ม เว้นไว้สักชาติเพื่ออ้อมไปเคี้ยวชาติอื่นๆที่พร้อมน้อยกว่ายังง่ายกว่าเป็นไหนๆ

ส่วนสวีเดนที่มีประชากรเพียงสิบล้านก็ตั้งยันกองทัพโซเวียตในช่วงสงครามเย็นได้ ด้วยกองทัพอากาศที่ใหญ่เป็นอันดับ4ของโลกที่โซเวียตเองยังครั่นคร้าม ซ่อนทั้งเครื่องบินและเรือดำน้ำไว้ในหน้าผากลเลื่อนได้เช่นเดียวกับสวิส ทั้งสองชาติเน้นยุทธศาสตร์ป้องกันและเตรียมกองทัพไว้ให้พร้อมเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ดังนั้นถ้าใครคิดว่ามีกองทัพแล้วจะต้องรุกรานอย่างเดียวจึงโปรดเปลี่ยนความคิด เพราะเคยปรากฏในประวัติศาสตร์แล้วด้วยเรื่องราวของสองชาตินี้ ว่ารั้วที่แข็งแรงย่อมทำให้เจ้าของบ้านอุ่นใจ

ต้องยกตัวอย่างของสวีเดนในเรื่องการป้องกัน เพราะเขามียุทธศาสตร์แบบเดียวกับเราคือไม่รุกรานคนอื่นแต่ใครๆก็ย่ำยีเขาไม่ได้ และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เครื่องมือป้องกันที่ดีที่สุด เร็วที่สุดก็คือกำลังทางอากาศ ในสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้งนั้นอาจจะเน้นที่จำนวนก็จริงเพราะยังไม่มีเทคโนโลยีไอทีมาช่วย หลังจากมีเครื่องบินเจ็ตความเร็วเหนือเสียงและเครื่องช่วยเดินอากาศ(Avionic)ที่ทันสมัย หลักนิยมการใช้กำลังทางอากาศก็เปลี่ยนไปเป็นการเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แห่งเดียวที่เคยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแห่กันไปถล่มเป้าละหลายร้อยเครื่อง(ไม่นับเครื่องบินขับไล่คุ้มกันอีกมากพอกัน)ในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ปัจจุบันด้วยเป้าแบบเดียวกันกลับใช้เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์แค่ไม่เกิน5เครื่องบินไปทำลาย รับประกันความแม่นได้ด้วยว่าระเบิดจะพุ่งตามพิกัดจีพีเอสลงตรงเป้าทุกลูก เมื่อ20ปีก่อนอิสราเอลทำลายโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรักสำเร็จมาแล้วด้วยเอฟ-16ไม่ถึง10เครื่องด้วยซ้ำทั้งที่ยังไม่มีจีพีเอส!

แต่กว่าจะพัฒนามาถึงขั้นนี้นั้น การใช้กำลังทางอากาศถูกพัฒนามาตั้งแต่เริ่มสร้างเครื่องบินสำเร็จ เมื่อเอาโครงไม้กับผ้ามาประกอบกันแล้วประกอบเครื่องให้ลอยไปมาได้ มนุษย์ก็เริ่มคิดจะใช้มันรบทันที จะเอาอาวุธอะไรมาติด? ติดแล้วจะยิงมันอย่างไร? ใช้ถ่ายภาพได้แล้วจะหย่อนระเบิดใส่ที่หมายได้ไหม?และอื่นๆอีกร้อยแปด

จูลิโอ ดูเอ (1869-1930)นายทหารนักบินชาวอิตาเลียน คือคนแรกที่เสนอแนวคิดคลาสสิกด้านการใช้กำลังทางอากาศในหนังสือที่ตนเองเขียนชื่อ”The Command of The Air” ที่ยังใช้ได้เป็นส่วนใหญ่แม้จะมีแนวความคิดที่ใหม่กว่าของนักการทหารอเมริกันและอังกฤษคือวิลเลียม มิทเชลและฮิวจ์ เทรนเชิร์ดเสนอออกมาภายหลัง

แนวความคิดของดูเอที่ว่า”คลาสสิก”นั้นสรุปได้ดังนี้1.ผู้ครองอากาศได้ก่อนย่อมได้เปรียบ 2.เป้าหมายเบื้องต้นต้องเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและย่านธุรกิจ 3.ชิงทำลายกำลังทางอากาศให้ได้ก่อนบนพื้นดิน ทำลายแหล่งผลิตเครื่องบินเสียเลยถ้ามีโอกาส 4.กำลังภาคพื้นเข้ายึดพื้นที่และตัดการคมนาคม แต่กำลังทางอากาศทำลายขวัญและกำลังใจให้ได้ก่อนเป็นการปูพื้น และ5.ใช้เครื่องบินให้คุ้ม เครื่องบินขับไล่ต้องโจมตีภาคพื้นดินได้ด้วย

ทั้งหมดนี้โดยสังเขปคือต้นกำเนิดของยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อทำลายกำลังทางอากาศของข้าศึกให้ได้ที่พื้นเสียก่อนแล้วซ้ำด้วยการตัดกำลังจากการโจมตีแหล่งอุตสาหกรรม ทั้งฝ่ายเยอรมันและสัมพันธมิตรได้แสวงประโยชน์จากหลักการของดูเอเต็มที่ในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสงครามอีกหลายครั้งที่ใช้กำลังทางอากาศเข้าตัดสินก็ใช้หลักการนี้ จนถึงล่าสุดที่ฝ่ายอเมริกันใช้หลักการเดียวกันในยุทธการ”พายุทะเลทราย”ต้นทศวรรษ90และ”อิรัคเสรี”หลังเหตุการณ์9/11 ความคิดเรื่อง”การใช้เครื่องบินให้คุ้ม”ของเขาได้กลายเป็นแนวความคิดการสร้างเครื่องขินขับไล่เอนกประสงค์(Multi role fighter)ในปัจจุบัน

ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและใช้ยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง กำลังทางอากาศยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาได้ซับซ้อนอันเป็นผลจากการพัฒนาคอมพิวเตอร์แบบก้าวกระโดด ถูกจับยัดลงในเครื่องบินรบเช่นกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เครื่องบินรบยุคดิจิตอลมีสภาพใกล้เคียงเกมเพลย์สเตชั่นเข้าไปเรื่อยๆ บินง่าย นักบินรับทราบและหยั่งรู้สถานการณ์ได้โดยไม่ต้องพูด ลดขั้นตอนการตัดสินใจให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เขาตัดสินใจได้ก่อนข้าศึกแล้วชิงใช้อาวุธก่อนจนทำลายเป้าหมายได้ ความเหนือกว่าด้านจำนวนเปลี่ยนไปเป็นการวัดกันที่เทคโนโลยี หมัดยาวกว่า ข้าศึกมองไม่เห็นเข้าถึงตัวได้ก่อน ยิงก่อนก็ชนะ

เพราะอากาศยานสามารถทะลุทะลวงเขตแดนและใช้เทคโนโลยีสูง กำลังทางอากาศจึงแตกต่างจากกำลังภาคพื้น เครื่องบินเข้าถึงพื้นที่ปะทะเร็วกว่าและใช้กำลังน้อยกว่า ขณะที่ภาคพื้นดินต้องจัดกำลังเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่หมู่ถึงกองพลและทหารต้องทำงานประสานกันเหมือนฟันเฟือง ขณะที่นักบินเพียง1นายก็สามารถพาเครื่องบินเครื่องเดียวบินข้ามแดน เข้าไปทำลายจุดศูนย์ดุล(center of gravity)ของข้าศึกได้ ตัวอย่างชัดเจนคือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองลูก ซึ่งฝ่ายอเมริกันประเมินแล้วว่าอาจเสียทหารเหยียบล้านถ้ายกพลขึ้นเกาะญี่ปุ่น การใช้เครื่องบินบี-29แค่สองลำจึงช่วยสงวนชีวิตทหารและทรัพย์สิน(ของผู้ชนะ)ได้มาก และในทางกลับกันก็ทำลายความสามารถต่อต้านของข้าศึกได้มหาศาล เทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าของยุทโธปกรณ์

เมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ความจริงข้อหนึ่งคือมันแพร่หลายและทุกชาติสามารถครอบครองเทคโนโลยีระดับสุดขั้วได้ ทุกประเทศสามารถมีเครื่องบินรบพร้อมออปชั่นเพียบได้เสมอกันถ้ามีเงินซื้อ ถ้าไม่มีเครื่องบินก็ชดเชยด้วยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ พอมีเหมือนกันหมดยุทธศาสตร์การใช้กำลังทางอากาศเพื่อรุกรานจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นเพื่อการป้องปราม มีเครื่องบินไว้เพื่อไม่ต้องรบ มีของดีๆไว้ใช้เพื่อไม่ต้องให้ลูกหลานของเราเสียเลือดเนื้อ และไทยเราเองก็ใช้เครื่องบินเพื่อสันติมาตลอด

ที่น่าภูมิใจคือเราเคยมีกองทัพอากาศใหญ่สุดในเอเชียรองจากญี่ปุ่นเท่านั้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ตามที่เอ็ดเวิร์ด เอ็ม. ยังก์แห่งสถาบันสมิธโซเนียนอ้างไว้ในหนังสือชื่อ”Aerial Nationalism : A History of Aviation in Thailand” ที่กล่าวถึงกองทัพอากาศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลังการบินครั้งแรกของสองพี่น้องตระกูลไรท์เพียงไม่ถึงสิบปี ถ้ากองทัพอากาศของเราไม่เฉียบจริงสมิธโซเนียนของสหรัฐฯคงไม่เสียเวลามาเขียนหนังสือประวัติศาสตร์อ้างถึงเป็นเล่มๆให้

กำลังทางอากาศจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งโดยเฉพาะถ้าหวังจะ”ตั้งสงบ” การมีเครื่องบินรบทันสมัยไว้ใช้จึงไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย เพราะยุทธศาสตร์ของเราเน้นที่การป้องปรามไม่ใช่การรุกราน เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินใหญ่ที่บินได้ไกลอย่างซู-30หรือเอฟ18 การเลือกใช้เครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์เช่นเอฟ16(เดิม)และกริปเปน(ใหม่)นั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนความเหมาะสมด้านจำนวนของมันที่จะรบแล้วนักบินรอดชีวิตกลับมานั้นจะอยู่ที่กี่ลำต่อ1ฝูง? แต่ละลำในฝูงจะถูกแบ่งไปทำหน้าที่อะไรบ้าง? มีวงรอบการทำงานอย่างไรจึงต้องถูกกำหนดจำนวนไว้เช่นนั้น? ตอนหน้านี้แหละที่ท่านจะเข้าใจถึงตัวเลขที่ใช้เป็นชื่อเรื่อง ว่า”18…16…12หรือแค่6?”



วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Eject! eject!




เมื่อนักบินรบบังคับเครื่องบินคู่ชีพของตนไม่ได้ และการเสียการควบคุมนั้นอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทางเลือกมีอย่างเดียวเท่านั้นคือต้องสละเครื่องด้วยเก้าอี้ดีดตัว(Ejection seat)หรือ”เก้าอี้เพื่อสุขภาพ”ที่กล่าวถึงความเป็นมาไว้ในฉบับที่แล้ว โดยระบบการทำงานของมันตามมาตรฐานถูกแบ่งเป็นสองขั้นตอน เริ่มด้วยฝาครอบห้องนักบินเปิดหรือหลุดลอยออกไป ตามด้วยเก้าอี้และนักบินพุ่งตามไปพร้อมกัน ยุคเริ่มแรกนักบินต้องทำเองทั้งหมดตั้งแต่กดปุ่มให้ฝาครอบหลุดตามด้วยดึงห่วงเริ่มกระบวนการทำงานให้เก้าอี้พุ่งตาม
แต่ปัจจุบันนี้เก้าอี้ดีดตัวรวบสองขั้นตอนมาไว้เป็นหนึ่งเดียว เช่นแบบACESII(Advanced Concept Ejection Seat)ที่ใช้ในเอฟ16 นักบินเพียงแต่เอื้อมมือไปดึงห่วงที่หว่างขาฝาครอบก็จะดีดตัวก่อนแล้วเก้าอี้ยิงตัวตามด้วยเครื่องยนต์จรวด กระบวนการที่เหลือเก้าอี้จะทำให้หมด แต่ห่วงดังกล่าวก็ใช่ว่าจะดึงได้ง่ายๆเพราะต้องใช้แรงข้อหนักเอาเรื่อง เผลอเอามือไปโดนห่วงแล้วเด้งหลุดเองยิ่งไม่มีทาง
เอซเซสทูว์คือเก้าอี้ดีดตัวของมาร์ติน เบเคอร์ ที่ใช้ในเครื่องบินรบหลักๆของสหรัฐฯและค่ายตะวันตก รวมทั้งยาส39(JAS 39Gripen) เริ่มขั้นตอนเมื่อนักบินนั่งในค็อกพิตด้วยการเปิดสวิทช์(armed)ให้พร้อมใช้ตอนขึ้นเครื่อง ถ้าสวิทช์นี้ไม่ถูกเปิดถึงจะดึงห่วงยางให้ขาดคามือเก้าอี้ก็ยังเฉย เครื่องบินสองที่นั่งเรียงกันสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครดีดก่อน ตามปกตินักบินนั่งหลังจะดีดก่อนเพื่อไม่ให้ถูกความร้อนจากเครื่องยนต์จรวดในเก้าอี้ตัวหน้าย่างสด แล้วตามด้วยนักบินนั่งหน้า ถ้าเป็นสองที่นั่งเคียงกันโอกาสรอดของนักบินคนหนึ่งจะน้อยกว่าอีกคน ตามสถิติของกองทัพอากาศสหรัฐฯที่เก็บมาตลอดตั้งแต่เริ่มใช้เก้าอี้ดีดตัวกับเจ็ตขับไล่
เอฟ16มีห่วงยางอันเดียวตรงหว่างขา เพราะค็อกพิตแคบมากเกินกว่าจะวางมันไว้ด้านข้างได้ ทางออกจากเครื่องมีทางเดียวคือให้ฝาครอบดีดตัวออกไปก่อนตามด้วยตัวนักบินพร้อมเก้าอี้ ระบบทำลายฝาครอบให้แตกกระจายก่อนดีดตัวไม่มีเพราะฝาถูกสร้างจากวัสดุคอมโพสิตที่หนาและเหนียว ไม่แตกจากการกระแทกด้วยพนักเก้าอี้ แต่ระบบทำลายฝาครอบให้สลายตัวก่อนนักบินดีดก็มีในเครื่องบินอีกหลายแบบ เช่นแฮริเออร์และฮอว์คของอังกฤษที่ฝังสายระเบิดไว้บนฝาครอบ เครื่องบินดังกล่าวจึงมีเส้นระเบิดเป็นสีขาวหยักๆพาดบนฝาครอบให้เห็น ด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือเพื่อให้มันระเบิดออกก่อนนักบินดีดตัวหนีตาย
เมื่อนักบินหลุดจากเครื่องออกมาแล้วก็ใช่ว่าเก้าอี้จะยุติบทบาทไว้เพียงเท่านั้น แบบอัตโนมัติจะยังไม่เปิดร่มให้ถ้าดีดตัวที่ความสูงมากๆอากาศเบาบางจนนักบินหายใจไม่ออก ไจโรของเก้าอี้จะบังคับให้มันร่วงหล่นลงมาตรงๆ และเร็วจนถึงระดับที่อากาศพอหายใจเสียก่อนจึงจะเปิดร่มแล้วดีดตัวจากนักบิน ให้เขาลงสู่พื้นได้ด้วยร่มชูชีพเหมือนการโดดร่มธรรมดา บางรุ่นเช่นเอซเซสทูว์ของเอฟ16จะมีขวดอากาศสำรองติดไว้ด้านข้างให้นักบินใช้หายใจได้ก่อนเปิดร่ม
ถึงการดีดตัวขึ้นข้างบนจะเป็นวิธีการมาตรฐานแต่ก็ใช่ว่าเครื่องบินทุกเครื่องจะใช้วิธีนี้ได้ เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์แบบบี52ใช้ระบบดีดตัวลงล่างเฉพาะนักบินและนักบินผู้ช่วย ท้องเครื่องบินจะระเบิดหลุดออกเป็นช่องให้ทั้งคนและเก้าอี้หล่นลงก่อนจะแยกกันที่ความสูงปลอดภัย ที่เหลืออีกสี่ที่นั่งในหน้าที่อื่นๆจะยิงตัวเองขึ้นข้างบนทั้งหมดด้วยเครื่องยนต์จรวดเหมือนวิธีการปกติ เครื่องบินขับไล่เอฟ111ออกแบบให้ค็อกพิตเป็นแค็ปซูลที่ดีดออกได้ทั้งค็อกพิต มีร่มชูชีพหลายอันพยุงตัวลงพื้นเหมือนแคปซูลยานอวกาศอพอลโล เจ็ตขับไล่รุ่นแรกๆเช่นเอฟ104ถูกออกแบบให้นักบินมีเดือยติดขาเพื่อเกี่ยวห่วงให้ดึงขาแนบเก้าอี้ แก้ปัญหาขาป่ายเปะปะเมื่อปะทะแรงลมอันจะทำให้บาดเจ็บได้ในการดีดตัวที่ความเร็วสูง
นอกจากการเด้งของฝาครอบและการระเบิดออกก่อนดีด เครื่องบินบางแบบที่ฝาครอบไม่หนาพอและทุบให้แตกได้ ก็มีอุปกรณ์กระแทกติดปลายพนักเช่นเครื่องบินโจมตีเอ10”ธันเดอร์โบลต์2”ของสหรัฐฯ มีตัวกระแทกฝาครอบเป็นโลหะแข็งและคมพอ ติดไว้ให้พุ่งกระแทกฝาแตกก่อนนักบินจะหลุดจากเครื่องในกรณีที่ขัดข้องดีดฝาครอบไม่ทันหรือไม่ยอมดีดตัว หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้ต้องสละเครื่องขณะจอดนักบินก็ใช้ค้อนฉุกเฉินในห้องนักบินทุบฝาให้แตกได้เช่นกัน
เก้าอี้ดีดตัวยุคปัจจุบันนี้ถูกออกแบบด้วยสุดยอดเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักบิน มันถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และช่วยนักบินได้แม้เครื่องจะจอดบนพื้น เก้าอี้ดีดตัวระบบ”Zero-Zero”(ความสูงและความเร็วของเครื่องบินเป็นศูนย์)ถูกออกแบบให้ช่วยชีวิตนักบินได้ทั้งจากความเร็วและความสูงต่ำๆ รวมทั้งที่เครื่องบินจอดอยู่กับพื้นแต่มีเหตุให้นักบินต้องสละเครื่อง เทคโนโลยีซีโร-ซีโรคือการใช้แรงระเบิดขนาดเล็กเพื่อดึงร่มออกอย่างรวดเร็ว ตามหลังการยิงตัวเองพ้นเครื่องบินด้วยเครื่องยนต์จรวดใต้เก้าอี้ ฝาครอบระเบิดหลุดออกเองหรือใช้พนักเก้าอี้กระแทก ไม่ต้องใช้ความเร็วลมขณะบินมาเป่าให้หลุด
เมื่อเก้าอี้ดีดตัวช่วยชีวิตนักบินได้ในเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิด มันย่อมช่วยชีวิตนักบินรบในอากาศยานอื่นได้เหมือนกัน เฮลิคอปเตอร์โจมตีคามอฟ คา-50ของรัสเซียคือเครื่องบินปีกหมุนแบบแรกที่ใช้เก้าอี้ดีดตัว การทำงานของมันไม่ผิดเพี้ยนกับของเครื่องบินขับไล่ แต่แก้ปัญหาใบพัดหลักฟันคอนักบินขาดด้วยน็อตระเบิดตัวเอง สลัดใบพัดทุกกลีบให้หลุดด้วยแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ก่อนนักบินจะดีดตัวออกอย่างปลอดภัย
ยานฝึกเพื่อลงดวงจันทร์ของนาซาก็ใช้ระบบเก้าอี้ดีดตัวเช่นกัน เครื่องยนต์เจ็ตของยานจะดันตัวยานให้ลอยพ้นพื้นจำลองสภาพการลอยตัวของยานลงดวงจันทร์ แต่เมื่อพลาดนักบินอวกาศฝึกหัดก็สามารถเอาตัวรอดได้ นีล อาร์มสตรองใช้เก้าอี้ดีดตัวของยานนี้เป็นคนแรกเมื่อ6พฤษภาคม 1968 ถ้าไม่ได้ระบบช่วยชีวิตนี้ก้าวสั้นๆอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติจะถูกกระทำโดยผู้อื่นแทนที่จะเป็นเขา
โครงการยานขนส่งอวกาศ”บูราน”ของโซเวียต(สมัยนั้น) ที่เริ่มต้นในเวลาใกล้เคียงกับโครงการเดียวกันของสหรัฐฯ(ยานขนส่งอวกาศแชลเลนเจอร์,แอตแลนติสและดิสคัฟเวอรี่) ก็ใช้เก้าอี้ระบบดีดตัวที่ตนพัฒนาขึ้นเองคือK-36RB(K-36M-11F35) โลกไม่มีโอกาสเห็นมันทำงานเพราะโครงการ”บูราน”ของโซเวียตล้มเหลว ระบบดีดตัวจึงไม่ถูกติดตั้ง โซเวียตได้ใช้ระบบดีดตัวเมื่อดำเนินโครงการวอสต็อค ที่นักบินอวกาศต้องดีดตัวออกจากแคปซูลแล้วใช้ร่มที่ความสูง 23,000ฟุต ความจริงข้อนี้ถูกโซเวียตเก็บงำไว้หลายปีจนจำต้องทำตามระเบียบสากลของสมาพันธ์การบินนานาชาติ”FAI”( Fédération Aéronautique Internationale เฟเดเรซิญ็อง แอโรนอตีค แอ็งเตร์นาซิญ็องนาล)ที่กำหนดไว้ว่าจะบันทึกสถิติใดๆได้ ก็ต่อเมื่อนักบินอวกาศลงพื้นพร้อมยานเท่านั้น
โครงการยานขนส่งอวกาศของสหรัฐฯใช้ระบบดีดตัวนักบินทั้งหมด แม้แต่ยานแชลเลนเจอร์ที่ระเบิดกลางอากาศระบบนี้ทำงานก็จริงแต่นักบินก็ยังเสียชีวิต เครื่องบินผาดแผลงเครื่องยนต์เดียวซู-31เอ็มของรัสเซียคือเครื่องบินพลเรือนเพื่อกีฬาแบบเดียวที่ติดเก้าอี้ดีดตัวสเวซดา เอสเคเอส-94สำเร็จจากโรงงาน เทคโนโลยีที่พัฒนาให้ควบคุมอุปกรณ์นิรภัยได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดระบบเอาตัวรอดอื่นด้วยนอกจากเก้าอี้ดีดตัว เครื่องบินพลเรือนน้ำหนักเบาและเพื่อกีฬาการบิน(อัลตราไลต์)ใช้เครื่องยนต์เดียวความเร็วต่ำ เช่นเซอร์รัส เอสอาร์-22ถูกติดตั้งสำเร็จจากโรงงานด้วยร่มชูชีพที่จะพยุงเครื่องบินทั้งลำสู่พื้นเมื่อขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ ปลอดภัยทั้งนักบินและเครื่องบิน โดยนักบินยังอยู่ในเครื่องและตัวเครื่องเองก็ไม่ตกกระแทกพื้น
เก้าอี้ดีดตัวสำหรับเครื่องบินรบมุ่งเน้นที่การรอดตายของนักบิน แต่ไม่รับประกันว่าต้องรอดแบบครบสามสิบสอง มีเปอร์เซ็นต์สูงที่เขาถูกดีดออกมาแล้วจะบาดเจ็บจากปัจจัยหลายๆอย่าง รวมทั้งดีดออกแล้วร่มไม่กางซึ่งต้องดูกันเป็นกรณีๆไป เช่นใช้งานมานานแต่เก่าเก็บขาดการตรวจสอบ หรือนักบินใช้เก้าอี้ผิดวิธีจนมันไม่ทำงานได้ตามสเป็คที่ออกแบบมา การดีดตัวที่ความเร็วใกล้หรือเกิน1มัคก็มีสิทธิ์ทำให้กระดูกหักทั้งตัวจากแรงลมตีแขนขาให้พับ มีโอกาสเสียชีวิตมากเช่นกันเมื่อลงพื้นแล้วไม่ได้รับความช่วยเหลือทัน
เก้าอี้ดีดตัวจึงเป็นนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของอากาศยานแท้ๆ เพราะต้องใช้ระยะมากทั้งความกว้างและความสูงเพื่อให้ดีดออกและลอยลงมาอย่างปลอดภัย มันไม่เหมาะกับสำหรับรถยนต์หรือยานพาหนะอื่น มีที่ใกล้เคียงบ้างก็คือเรือยนต์แข่งความเร็วสูง ที่สร้างค็อกพิตเลียนแบบแต่ให้หลุดออกทั้งยวงแทนที่จะยิงตัวเองเหมือนของเครื่องบิน แต่กับรถยนต์แล้วเก้าอี้แบบนี้คงทำให้ดีดทิ้งได้อย่างเดียวแบบไม่ต้องมีร่มเวลาคนนั่งข้างๆทำตัวน่ารำคาญ ในความเป็นจริงแล้วไม่มี จะมีก็ในภาพยนตร์เท่านั้นที่สายลับอังกฤษรหัส007ใช้ดีดผู้ร้ายพ้นรถตัวเองบ่อยๆ!