วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

18…16…12 หรือแค่6? (จบ)


ดังที่ขึ้นหัวเรื่องไว้เป็นตัวเลข และตัวเลขนี้คือจำนวนเครื่องบินขับไล่ใน1ฝูงนั่นเอง จะป้องกันชาติให้ได้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยจำนวน ซึ่งตามมาตรฐานของกองทัพอากาศทั่วโลกระบุไว้ว่าต้องเป็นฝูงละ18เครื่องโดยคำนวณจากอัตราความสูญเสีย(attrition rate)ทั้งในยามปกติและยามสงคราม จำนวน16คือทางเลือกเมื่อใช้เครื่องบินประสิทธิภาพสูงขึ้น 14เครื่องคือจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่ยอมให้บินได้โดยยังคงประสิทธิภาพไว้พอประมาณ 12เครื่องคือจำนวนที่กองทัพอากาศไทยต้องการ ซึ่งยังน้อยกว่ามาตรฐานหากเกิดเหตุให้ต้องใช้เครื่องบินรบ น้อยกว่ามาตรฐานคือการนำเครื่องบินฝูงนั้นเข้าสมรภูมิแล้วมีโอกาสอยู่รอดน้อย ต้องใช้เทคโนโลยีเครือข่ายและระบบอาวุธช่วยกันสุดๆเพื่อดำรงความอยู่รอดไว้ให้ได้

จำนวนสุดท้ายคือ6เครื่องอันเป็นล็อตแรกของเครื่องบินขับไล่JAS39”กริปเปน” ซึ่งถือว่ามีไว้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย หากไม่เพิ่มก็มีโอกาสมากกว่า90เปอร์เซ็นต์ที่จะละลายเงินภาษีทิ้งทีละหมื่นกว่าล้านบาท แต่ยังต้องเอามาเพราะมีแผนจะจัดหาให้ได้12เครื่อง การตัดงบประมาณโดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้และไม่กำหนดให้แน่ชัดว่าจะได้เครื่องบินจำนวนหลังอีกเมื่อไรนั้น ถือว่ารัฐบาลเองก็มีส่วนอย่างมากในการผลาญเงินงบประมาณมหาศาลทิ้งไปเปล่าๆ ลองมาดูกันว่าทำไมจำนวนเครื่องบินจึงสำคัญ

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน การจะกำหนดให้เครื่องบินขับไล่/โจมตี มีฝูงละกี่เครื่องนั้น กองทัพอากาศจะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด เช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2นั้นจะทิ้งระเบิดเป้าหมาย1แห่งต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดกับเครื่องบินขับไล่คอยคุ้มกันรวมกันหลายร้อยเครื่อง ครั้นมาถึงสงครามเวียตนามสหรัฐฯใช้เอฟ105จัดหมู่บิน32-36เครื่องเพื่อทำลายเป้าเพียงเป้าเดียว กว่าจะทำลายสะพานธานห์ หัวในเวียตนามเหนือได้ก็เสียเครื่องบินไป11เครื่องกับระเบิดอีกเป็นร้อยลูก ต่างกับปัจจุบันที่ใช้เครื่องบินเพียง2เครื่องที่บินเพียงเที่ยวเดียวกับระเบิดฉลาดไม่กี่ลูกก็เล่นงานเป้าแบบเดียวกันได้

จำนวนเครื่องบินมากๆต่อฝูงเมื่อเกือบ40ปีที่แล้วเพราะเทคโนโลยียังพัฒนาไม่ไกลพอ ขั้นตอนเตรียมตัวของนักบินก่อนจะทำลายเป้าหมายในยุคนั้นยุ่งยาก ต้องบินเล็ดลอดเข้าไปถ่ายภาพเป้าให้ได้เสียก่อนแล้วนำมาตีความ ให้ทราบว่าเป้าสร้างจากอะไรแล้วประมาณระเบิดให้แรงพอทำลาย ได้เป้าแล้วรู้ขนาดระเบิดแล้วยังต้องคำนวณความสูงกับมุมทิ้งให้ได้อีกเพื่อจะทิ้งให้ถูก วิบากกรรมยังไม่หมดเพราะเมื่อบินจนถึงเป้าหมายแล้วยังมีทั้งลมให้ต้องเผื่อระยะ กับระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึกให้หลบหลีก การทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์จึงต้องใช้เครื่องบินมากเพื่อทิ้งปูพรม พึ่งได้แค่จำนวนระเบิดกับโชค

แต่ในปัจจุบันนี้นักบินมีตัวช่วยมากขึ้น ทั้งภาพถ่ายจากดาวเทียม ระบบระบุตำแหน่งภูมิศาสตร์(GPS) ระเบิดฉลาด(Smart Bomb)นำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ซึ่งทำได้ทั้งจากหน่วยรบภาคพื้นดิน เล็ดลอดเข้าไปฉายลำแสงทาบเป้าให้ระเบิดจับก็ได้ หรือจะให้มันพุ่งเกาะสัญญาณดาวเทียมเข้าเป้าตามพิกัดจีพีเอสก็ได้ เมื่อรู้เป้าหมายนักบินแทบไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากนำเครื่องบินมุ่งเข้าหา ภาพถ่ายดาวเทียมระบุได้ถึงโครงสร้างของเป้าและคำนวณขนาดของระเบิดให้เสร็จว่าต้องหนักกี่ปอนด์ แค่บินให้ได้ตามที่คอมพิวเตอร์บนเครื่องบอกเท่านั้นแล้วก็กดปุ่มปล่อยอาวุธ ก่อนจะหันหน้ากลับฐานได้เลยโดยไม่ต้องดูผลงาน เทคโนโลยีปัจจุบันรับประกันความถูกต้องของระบบอาวุธไว้เกือบ100%

จากสามสิบกว่าเครื่องเมื่อเกือบ40ปีก่อนลดมาเหลือ16เครื่องในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องบินและระบบอาวุธฉลาดขึ้น เมื่อผนวกกับระบบการรบแบบเครือข่ายที่สามารถนำเครื่องบินความเร็วสูงมารุมโจมตีเป้าหมายในเวลาอันสั้นได้ด้วยแล้ว อัตราการอยู่รอดของนักบินก็สูงขึ้นด้วย แต่ก็ยังมีข้อแม้ว่าต้องด้วยปริมาณหนึ่งเท่านั้นอันเป็นมาตรฐาน ห้ามต่ำกว่านั้นเพราะบินขึ้นไปก็อาจไม่รอด หรือบินไม่ได้เพราะไม่ปลอดภัย ทำไมจึงพูดอย่างนั้น?

เพราะด้วยอัตราการสูญเสียซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทัพอากาศทั่วโลก เครื่องบินขับไล่/โจมตี1ฝูงจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแค่70% จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อ้างนี้กองทัพอากาศไทยไม่ได้กำหนดแต่เป็นอัตราสากลที่ใช้กันทั่วโลก เพราะเครื่องบินรบไม่เหมือนรถยนต์ มันประกอบด้วยวัสดุชิ้นส่วนและเทคโนโลยีอันละเอียดอ่อนมากมาย เมื่อถึงเวลาจึงต้องนำเข้าซ่อมบำรุงและตรวจสอบ เครื่องบินอย่างเอฟ16เมื่อครบ100ชั่วโมงต้องหยุดบินเพื่อตรวจสอบเครื่องยนต์และโครงสร้างอย่างละเอียด อาจจะเร็วกว่านั้นถ้านักบินรีดเค้นประสิทธิภาพของเครื่องจนเกือบจะเกินรับไหว(เช่นเลี้ยวด้วยแรงจีสูงเกือบสุดขีดจำกัด) โกหกก็ไม่ได้เพราะคอมพิวเตอร์บนเครื่องมันฟ้อง และจะไม่เสี่ยงเพราะหมายถึงชีวิต

เมื่อบินได้จริงๆ70เปอร์เซ็นต์หากจัดฝูงบินไว้ฝูงละ16 ก็จะเหลือเครื่องที่ใช้งานได้จริงๆ(และปลอดภัย)11เครื่อง ซึ่งพอเอาเข้าจริงอาจจะน้อยกว่านั้นหากเกิดอุบัติเหตุ,ถูกยิงตก,ขัดข้อง,ไถลตกรันเวย์ ฯลฯ แล้วอีก11เครื่องถ้าไม่มีเหตุให้ลดจำนวนล่ะจะใช้บินได้เต็มที่หรือเปล่า? ไม่ใช่อีกเพราะต้องจอดพร้อมรบตลอดเวลา(alert)ให้วิ่งขึ้นได้ภายใน5นาที2เครื่อง รอผลัด2ภายใน2ชั่วโมงอีก2เครื่อง เพราะเจ็ตขับไล่สามารถอยู่ในอากาศได้เต็มที่2ชั่วโมงแต่อาจสั้นกว่านั้นถ้าขัดข้องหรือตก 2เครื่องทีเหลือก็ต้องวิ่งขึ้นแทน

สรุปคือจอดไว้นิ่งๆแล้ว4 เหลือบินได้7นักบินก็ต้องเอาออกไปฝึกบินตามวงรอบปกติเพื่อรักษาความสม่ำเสมอจะได้พร้อมรบ บินเดี่ยวบ้างแบ่งข้างฝึกยิงกันเองบ้างเพื่อความชำนาญ พอมีภารกิจจะได้รบแล้วกลับบ้านมาได้แบบเป็นๆทั้งคนและเครื่องบิน ที่ต้องบินทีละ2เครื่องก็เพราะเพื่อความปลอดภัยและผลในทางปฏิบัติตามยุทธวิธี ถ้าเป็นภารกิจอากาศสู่อากาศ(ทำลายเครื่องบินข้าศึก/ครองอากาศ)หนึ่งหมู่จะมี2เครื่อง แต่พอเป็นโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน1หมู่จะใช้4เครื่อง นี่คือคำว่า”มาตรฐาน”และเป็นจำนวนที่”ใช้ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ”

ถ้าเหลือฝูงละ12เครื่อง จำนวน70%ของมันคือ8เครื่อง ยังสแตนด์บายฉุกเฉิน4เครื่องเท่าเดิมเหลือให้บินฝึกแค่4 อันหมายถึงขีดความสามารถของนักบินจะด้อยลงอีก ไม่อยากพูดถึงกริปเปน6เครื่องนี้เลยแต่ต้องพูดเพราะได้มาแค่นี้ ลองคิดดูแบบขมขื่นจะพบว่าแม้จะมีระบบเครือข่ายช่วยก็ตามเจ้าสิงโตมีปีกจากสวีเดนก็จะแทบเหมือนลูกแมวหงอยๆไปเลยด้วยจำนวน เพราะ70%ของ6คือ4เครื่อง! เอาจอดสแตนด์บายให้พร้อมบินขึ้นใน5นาทีแค่2เครื่องนั้นพอได้ แต่ถ้าต้องทำภารกิจต่อเนื่องนั้นอย่าหวังเพราะแทบไม่เหลือ เหลือเครื่องให้นักบินฝึกแค่2เครื่องอีก2เครื่องเข้าตรวจสอบตามกำหนดก็บินไม่ได้ ไหนจะต้องใช้เครื่องบินแบบอื่นมาเป็นข้าศึกสมมุติอีก พอเอฟ5ถูกปลดประจำการไปแล้วคงไม่พ้นต้องโยกฝูงใดฝูงหนึ่งของเอฟ16ไปไว้ที่สุราษฎร์

เรื่องแบบนี้กองทัพอากาศเขาคงไม่ได้นั่งเทียนชงเรื่องของบประมาณมาผลาญหรอกครับ ตัวเลขมาตรฐานมันมีอยู่ตรวจสอบได้ ถ้าจะบิดเบือนว่าแพงก็เพราะจงใจจะพูดให้เสียหาย ที่จริงแล้วเราซื้อทั้งระบบไม่ได้ซื้อแค่เครื่องบินอย่างเดียว(ค้นบทความเดิมของผมในบล็อกหัวเรื่องอ่านได้ ชื่อเรื่อง”กริปเปน ความจำเป็นและเหตุผล) เขายอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เอานักบินและช่างเครื่องเราไปกินไปนอนไปฝึกอยู่สวีเดนเป็นปี โรงงานสร้างอะไหล่ก็จะมาเปิดในบ้านเราอีก ถ้าใครจะโจมตีกันก็ขอให้ดูสักนิดว่าสวีเดนคือประเทศที่โปร่งใสและยินยอมให้ผู้สงสัยเข้าตรวจสอบ เงินทุกบาทที่เราจ่ายนั้นตรงเข้าคลังของรัฐบาลสวีเดนแน่ไม่มีตกหล่น เราไม่ได้ซื้อยุทธภัณฑ์จากประเทศล้าหลังที่มีแต่เรื่องทุจริต แต่ซื้อจากสวีเดนที่สะกดคำว่าคอรัปชั่นไม่ถูกด้วยซ้ำ

ต้นปีพ.ศ.2554นี้กริปเปน6เครื่องแรกจะมาพร้อมระบบเครือข่ายและอื่นๆ ตามความเป็นจริงแล้วสามารถจัดฝูงกริปเปนให้น้อยกว่าเอฟ16ได้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย แต่ให้นักบินเก่งรบได้ไม่โดนยิงตกก็ควรเป็น14ไม่ใช่12 ที่กองทัพอากาศเขาขอไปแค่นี้ก็ถือว่ายอมกันถึงที่สุดแล้ว เพราะเข้าใจว่าเป็นของแพงและรัฐบาลเราไม่มีเงิน ถึงมีก็เอาไปทำอย่างอื่นหมด(ไม่ได้พูดสักคำนะว่าผลาญ) เงินจำนวนเกือบสองหมื่นล้านกับการใช้เครื่องบินทั้งฝูงได้40ปี คิดออกมาเป็นปีเป็นเดือนแล้วยังถูกกว่าการเอาเงินจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าไปละเลงเล่นในโครงการอื่นๆของรัฐบาล

ถึงตรงนี้ถ้าจะบอกว่า”ซื้อยกโหลคุ้มกว่า”ตามเหตุผลที่ยกมาอ้างก็ต้องใช่ เพราะครึ่งโหลมันทำอะไรไม่ได้จริงๆ แล้วไหนจะเครื่องบินทั้งเอฟ5อี/เอฟกับเอฟ16เอ/บีที่จะทยอยปลดประจำการอีกในอนาคตอันใกล้ ไม่นับแอล39กับอัลฟาเจ็ต ความหนักใจจึงใช่ว่าจะมีแต่ปัญหากริปเปนเท่านั้น อาการของกองทัพอากาศน่าเป็นห่วงจริงๆถ้ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของการต่อรองด้วยกำลังทางอากาศ ขนาดเราเลือกเป้าทิ้งระเบิดในเขมรได้ตามใจชอบเขาก็ยังกำแหงขนาดนี้ ถ้าเราอ่อนแอลงโดยไม่มีอะไรทดแทนพี่น้องของเราจะเสียเลือดเนื้ออีกเท่าไรถ้าเขาก่อเรื่องหนักกว่าเดิม?

เรามีกำลังทางอากาศที่ใช้งานได้คุ้มเพื่อสันติ เพื่อไม่ต้องรบครับ สิงคโปร์ไม่เคยรบกับใครแต่มีนภานุภาพมากจนต้องฝากอเมริกากับเราเก็บไว้ มาเลเซียมีซู30ที่บินไกลถึงกรุงเทพโดยไม่ต้องเติมน้ำมันกลางอากาศ พม่าไม่ได้รบกับเราเหมือนกันแต่มีมิก29ที่บินได้ไกล ขนระเบิดได้มากพอกันไว้เพื่ออะไร? ถ้าคุณคิดไม่ซื่ออยากกินมะม่วงของเพื่อนบ้าน ระหว่างบ้านที่เลี้ยงหมาชิสุกับร็อตไวเลอร์คุณจะเลือกปีนรั้วบ้านไหน?

ฝากปัญหานี้ไว้ให้ท่านผู้ทรงเกียรตินำไปไตร่ตรองครับ หวังว่าพวกท่านคงจะคิดได้ถ้ารักชาติกันจริงๆ!


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 กันยายน 2552 เวลา 15:10

    เด๋วเจอกกันที่สนาม บีบี กัน ราบ 11 กร๊าบ พี่ชาย อ่านแล้วน้ำหูน้ำตาไหล ยิ่งเห็นพี่ชายสุดหล่อแต่ง เอซียูถ่ายกะฮัมวี่ยิ่งเท่ห์สุดๆ

    น้องแอ๊ด เครื่องบินกระดาษจิ๋ว

    ตอบลบ